Skip to main content

หากให้ลองย้อนคิดดูว่า ในหนึ่งวันที่ผ่านไปเราได้ทำอะไรไปบ้าง คงไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะระบุให้ครบถ้วน เพราะการกระทำเป็นรูปธรรม มีผลลัพธ์ชัดเจน มีร่องรอยที่ติตตามได้

แต่หากให้ลองย้อนคิดดูว่า ในหนึ่งวันที่ผ่านไป เราได้ "พูด" อะไรไปบ้าง ต้องไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ เว้นเสียแต่ว่า วันนั้นเราจะพูดน้อยจนนับคำได้

คำพูด คือความคิดที่แสดงออกเพื่อสื่อสาร ซึ่งเนื้อแท้ของสิ่งที่ต้องการสื่อสารนั้นก็คือ ความรู้สึก ความรู้สึกคือภาษาของวิญญาณ เป็นหัวใจเป็นแก่นแกนกลางของการสื่อสารทุกชนิด แต่เราก็มักจะหลงลืมหัวใจของการสื่อสารนี้ไป และไปให้ค่ากับคำพูดเสียมากกว่า

ฉะนั้น หากเปลี่ยนคำถามเสียใหม่ว่า ในหนึ่งวันที่ผ่านไป เราได้สื่อสารด้วยความรู้สึกใดบ้าง บางทีเราอาจระลึกได้ง่ายกว่า เพราะที่สุดแล้วความรู้สึกที่มนุษย์แสดงออกในแต่ละวันมีเพียงความรักและความกลัว เท่านั้น

แต่คำถามที่สำคัญที่น่าสนใจที่สุดคือคำถามที่ว่า ในหนึ่งวันที่ผ่านไป เราได้ "คิด" อะไรไปบ้าง?

หนึ่งวันอาจจะมากเกินไป เอาเพียงแค่หนึ่งชั่วโมงที่ผ่านไป เราก็ไม่สามารถระบุได้เสียแล้วว่าเราได้คิดอะไรไปบ้าง

ความคิดเป็นสิ่งที่มีความซับซ้อนมาก เพียงหนึ่งวินาที อาจมีความคิดเกิดขึ้นพร้อมกันได้นับสิบเรื่อง ทั้งที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว ทั้งที่เราสั่งการได้ และทั้งที่เราสั่งการไม่ได้ ขณะที่เรากำลังคิดสิ่งหนึ่ง อาจมีความคิดเบื้องหลังกำลังทำงานอยู่อีกร้อยความคิด และเบื้องหลังของความคิดร้อยความคิดอาจมีอีกพันความคิดกำลังขับเคลื่อนให้กระบวนการแห่งความคิดนี้ดำเนินต่อไป

แต่ละวันที่ผ่านไป มีความคิดที่เกิดขึ้นทั้งที่เราตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทั้งที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว อาจมากถึงหลายพันหรือหลายหมื่นเรื่อง

ความคิดคือพลังงาน ความคิดขับเคลื่อนทุกคำพูด ทุกการกระทำของเรา แต่ด้วยความซับซ้อน และเกิดดับอย่างรวดเร็วของมัน จึงทำให้ความคิดกลายเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากกว่าคำพูดและการกระทำ 

เราเคยชินกับการปล่อยให้ความคิดทำงานแทบจะไม่ได้หยุดพัก ยกเว้นเวลานอน หรือหลายครั้งที่แม้แต่เวลานอน เรายังคงปล่อยให้ความคิดทำงานต่อไป  การจะให้ความคิดหยุดอยู่กับที่ จดจ่ออยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใด กลับกลายเป็นเรื่องยาก

โดยปกติแล้ว ความคิดของเรา หากไม่หยุดอยู่กับปัจจุบัน ก็จะกระโดดไปมาระหว่างอดีตและอนาคต ไม่คิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ก็คิดถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง

"...หากแต่จิตของเรานั่นเองเป็นทาสของความเคยชิน มันคอยแต่จะวิ่งวนอยู่กับสิ่งที่ล่วงไปแล้ว หรือมิฉะนั้นก็วิ่งไปหาสิ่งที่ยังมาไม่ถึง โดยไม่ไม่ต้องการที่จะอยู่กับปัจจุบันเลย นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้จิตของเรา มีแต่ความปั่นป่วนเร่าร้อนอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็เพราะมันไม่รู้จักวิธีการมีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน..."
(ธรรมบรรยายหลักสูตร 10 วัน โดยท่านอาจารย์โกเอ็นก้า : มูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐานในพระสังฆราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์)

หากไม่สามารถหยุดคิดได้ ความคิดของเราก็จะยิ่งฟุ้งซ่าน สับสน จับต้นชนปลายไม่ถูก หนักๆ เข้าก็ส่งผลต่อพฤติกรรม ต่อคำพูด ต่อการกระทำ บางครั้งคนเราจึงจำเป็นต้องหยุดการใช้ความคิด แล้วหันไปทำกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้ความคิด หรือกิจกรรมที่ทำให้จิตเป็นสมาธิจดจ่อ ไม่ฟุ้งซ่านเสียบ้าง

ฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่าการพักผ่อน จุดประสงค์สำคัญก็คือการออกไปจากความคิดของตัวเรานั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายด้วยการเล่นกีฬา การทำงานบ้าน การทำกิจกรรมใช้แรง เช่น ขุดดิน ตัดหญ้า หรือ การมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งบันเทิงต่างๆ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ร้องเพลง ดูหนัง เล่นเกม หรือ แม้แต่การนั่งสมาธิ

แต่แท้ที่จริงแล้ว แม้จะไม่ทำกิจกรรมใดๆ เราก็สามารถที่จะออกจากความคิดของเราได้ด้วยตัวเราเอง เพียงแต่เรามีสติรู้ตัวในสิ่งที่เรากำลังทำ โดยไม่ย้อนกลับไปจ่อมจมอยู่กับความคิด เราก็สามารถที่จะออกจากความคิดได้ทุกเวลาที่เราต้องการ

ตามธรรมชาติของมนุษย์ การหยุดคิดเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากยิ่ง เพราะจิตเป็นธาตุที่ไม่อาจหยุดนิ่งได้นานๆ จะต้องวิ่งไปวิ่งมาอยู่ตลอดหากเราไปเพิ่มกำลังให้จิตด้วยการใส่ความคิดเข้าไป จิตก็จะยิ่งวิ่งเร็ว ซับซ้อน สับสน  แต่เมื่อใดที่เราถอยออกมาจากความคิด และมุ่งไปที่การกระทำกิจกรรมใดๆ  จิตก็จะวิ่งช้าลง ฉะนั้น เมื่อเราทำกิจกรรมใดซ้ำๆ จนกระทั่งไม่ต้องใช้ความคิด หรือใช้ความคิดน้อยมาก ก็เท่ากับเราได้ออกจากความคิด และปล่อยให้จิตได้พักผ่อน

ในแต่ละวันที่เราต้องใช้ความคิดมากมาย จิตต้องวิ่งวุ่นตลอดเวลา จึงควรจะมีเวลาสักช่วงหนึ่งของวันที่เราได้ออกจากความคิด โดยไม่ต้องเอาอารมณ์ ความรู้สึกใดๆ ไปขับเคลื่อน อาจแค่นั่งเฉยๆ ฟังเสียงที่เกิดขึ้นรอบตัว อาจเพียงแค่มองสิ่งต่างๆ ผ่านไป หรืออาจเฝ้าดูลมหายใจเข้าออกของตนเอง เพียงแต่ขอให้อยู่กับปัจจุบันเท่านั้น

สังคมแห่งข่าวสารข้อมูล ชี้นิ้วบังคับให้คนต้องใช้ความคิด คิดเสียจนฟุ้งซ่าน เหน็ดเหนื่อย ไม่สามารถหยุดคิดได้ กระทั่งติดอยู่ในการจ่อมจมอยู่กับความคิดของตนเอง

ออกจากความคิดกันบ้างเถิด จะได้มีมีที่ว่างให้ความสงบบังเกิดขึ้นในใจบ้าง

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
“...พูดอย่างกว้างที่สุดคือ สิ่งเลวร้ายทั้งหมดเกิดจากการเลือกของเธอเอง ความผิดพลาดไม่ได้อยู่ที่การเลือกนั้นแต่อยู่ที่การเรียกว่าเลวร้าย เพราะเมื่อเธอบอกว่ามันเลวร้ายก็เท่ากับบอกว่าตัวเธอเองเลวร้ายด้วย เพราะเธอเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง เธอไม่อาจยอมรับการตราหน้านี้ได้ ดังนั้น แทนที่จะตราหน้าตัวเองว่าเป็นคนเลวร้าย เธอกลับปฏิเสธสิ่งต่างๆ ที่ตนสร้างขึ้นมาเสียเลย อสัตย์ทางสติปัญญาและจิตวิญญาณนี้เองที่ทำให้เธอยอมรับโลกอันมีสภาพอย่างนี้ หากเธอจะยอมรับหรือแม้เพียงรู้สึกลึกๆ ข้างในว่าตนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อโลกใบนี้บ้าง โลกจะต่างออกไปกว่านี้มาก มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หากทุกคนรู้สึกถึงความรับผิดชอบ…
ฐาปนา
“...เราจะต้องดำรงชีวิตที่เป็นของเราเอง การงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น และงานคือชีวิตก็ต่อเมื่อเราทำงานนั้นด้วยสติเท่านั้น มิฉะนั้นเราก็จะเหมือนกับคนตายที่มีชีวิตอยู่ เราแต่ละคนจะต้องจุดคบเพลิงของชีวิตด้วยตนเอง แต่ชีวิตของเราแต่ละคนเกี่ยวพันกับชีวิตของบุคคลรอบๆ เราด้วย หากเรารู้จักวิธีปกปักรักษา และระวังจิตใจและหฤทัยของเราเอง นั่นแหละจะช่วยให้พี่น้องเพื่อนมนุษย์รอบข้างเรา รู้จักการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติ...”(ติช นัท ฮันห์,ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ: มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งที่ 17,กันยายน 49) ความเปลี่ยนแปลง คือสัจธรรม ไม่มีสิ่งใดที่จะคงทนถาวรโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง…