Skip to main content

หวังให้ประเทศเล็กที่มีพลเมืองน้อย
มีอาหารพอที่จะเลี้ยงดูพลเมือง
มากกว่าที่เขาต้องการถึงสิบเท่าร้อยเท่า
ให้ประชาชนเห็นคุณค่าของชีวิต
และไม่ท่องเที่ยวพเนจรไปไกล
ถึงแม้จะมีพาหนะเรือและรถ
ก็ไม่มีใครปรารถนาจะขับขี่
ถึงแม้จะมีเกราะและอาวุธ
ก็ไม่มีโอกาสจะใช้
ให้กลับไปใช้การจดจำเรื่องราว
ด้วยการผูกเงื่อนแทนการเขียนหนังสือ
ให้เขานึกว่าอาหารพื้นๆนั้นโอชะ
เสื้อผ้าอันสามัญนั้นสวยงาม
บ้านเรือนธรรมดานั้นสุขสบาย
ประเพณีวิถีชีวิตนั้นน่าชื่นชม
ในระหว่างเพื่อนบ้านต่างเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน
จนอาจได้ยินเสียงไก่ขันสุนัขเห่าจากข้างบ้าน
และตราบจนวันสุดท้ายของชีวิต
จะไม่มีใครได้เคยออกไปนอกประเทศของตนเลย

(บทที่ 80 ประเทศในฝัน,วิถีแห่งเต๋า พจนา จันทรสันติแปลและเรียบเรียง,สำนักพิมพ์เคล็ดไทย 2535)

 

วาระแห่งการมีคณะผู้ปกครองประเทศชุดใหม่ของชาวไทยเวียนมาถึงอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งแม้จะดูเหมือนว่า ความตื่นตัวในเรื่องการเมืองของประชาชนจะเพิ่มมากขึ้น ทว่า คำถามเรื่อง "ใคร?" ก็ยังถูกให้ความสำคัญมากกว่าคำถามเรื่อง"อย่างไร?"
เมล็ดพืชที่หว่านไว้ในอดีตยังคงหวังผลได้ถึงวันนี้ ถึงแม้คนปลูกจะไม่ได้เก็บเกี่ยวเองก็ตาม

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้ปกครองล้วนรู้ดีว่าประชาชนต้องการอะไร สิ่งใดเร่งด่วน สิ่งใดรอได้ สิ่งใดจำเป็นสูงสุด สิ่งใดไม่จำเป็นเลย และทุกสิ่งนั้น ผู้ปกครอง ล้วนสามารถดำเนินการได้ทั้งสิ้น แต่น้อยเหลือเกินที่จะมีการสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนอย่างที่ควรจะเป็น แม้แต่สิ่งพื้นฐานที่สุดอย่างปัจจัยสี่ก็ยังมีผู้คนอีกมากมายที่ขาดแคลน
อย่างเหลือแสน  เราจะหวังให้ประเทศเข้มแข็งได้อย่างไรในเมื่อคนส่วนใหญ่ยังยากจนแร้นแค้น? ประเทศที่มีผืนดินกว้างใหญ่และทรัพยากรอันอุดมไม่อาจแบ่งปันให้กันได้เชียวหรือ?

ฟังดูเหมือนเรื่องเพ้อฝันในอุดมคติ แต่มันเป็นความจริงที่ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงไม่สนใจไม่ต้องการยอมรับ ราวกับว่าความเอื้ออาทรและความเข้าอกเข้าใจระหว่างชนชั้นเป็นเรื่องต้องห้าม  ผลของช่องว่างระหว่างชนชั้นแสดงออกที่ผลของการจัดตั้งคณะผู้ปกครอง คณะผู้ปกครองที่เป็นที่รักของชนชั้นล่างและไม่เป็นที่รักของชนชั้นกลาง แต่รัฐบาลนี้เป็นของใครไม่ใช่ของคนทั้งประเทศละหรือ ดังนั้น คำถามสำคัญไม่ควรเป็น "ใครคือผู้ปกครอง" แต่ควรจะเป็น "จะควบคุมผู้ปกครองได้อย่างไร" ผู้ปกครองจึงจะปกครองเพื่อผลประโยชน์แก่ชนทุกชั้นมิใช่เพียงบางชนชั้น

สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่อาจเป็นได้หากความชังยังมีอยู่หากคิดจะเปลี่ยนแปลงต้องยอมรับและเข้าใจว่าเราทุกคนล้วนมีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น  คำประณามใดๆ ก็ล้วนไร้ประโยชน์เพราะมันมิได้เปลี่ยนแปลงสิ่งใดเลย

และสำหรับผู้ปกครองแล้ว การปกครองเพื่อความผาสุกที่แท้ของประชาชนคือสิ่งใดกัน คือการเฝ้าสนองตอบความฟุ่มเฟือยไม่มีขีดจำกัด การกระตุ้นเร้าความต้องการที่ไม่สิ้นสุดซึ่งสนับสนุนให้กอบโกยเอาเปรียบและเห็นแก่ตัว หรือการสนองตอบต่อความต้องการพื้นฐานอย่างเพียงพอ มากจนความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ถมทับการแก่งแย่งแข่งขัน

ดัชนีความสุขมิได้วัดกันที่ตัวเงิน แต่เมื่อผู้ปกครองไม่เคยเข้าใจ ประชาชนเองก็มิได้สนใจ ต่างคนจึงต่างมุ่งไปตามความปรารถนาของตนเรียกร้องแต่สิ่งที่ตนต้องการ เหลือที่ว่างให้การคิดถึงส่วนรวมเพียงน้อยนิด

ประเทศในฝันมิใช่อยู่เพียงในฝัน แต่มันไม่มีทางเป็นจริง เพราะผู้ปกครองและประชาชนไม่เคยมี "ประเทศในฝัน" ร่วมกัน

 

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
“...พูดอย่างกว้างที่สุดคือ สิ่งเลวร้ายทั้งหมดเกิดจากการเลือกของเธอเอง ความผิดพลาดไม่ได้อยู่ที่การเลือกนั้นแต่อยู่ที่การเรียกว่าเลวร้าย เพราะเมื่อเธอบอกว่ามันเลวร้ายก็เท่ากับบอกว่าตัวเธอเองเลวร้ายด้วย เพราะเธอเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง เธอไม่อาจยอมรับการตราหน้านี้ได้ ดังนั้น แทนที่จะตราหน้าตัวเองว่าเป็นคนเลวร้าย เธอกลับปฏิเสธสิ่งต่างๆ ที่ตนสร้างขึ้นมาเสียเลย อสัตย์ทางสติปัญญาและจิตวิญญาณนี้เองที่ทำให้เธอยอมรับโลกอันมีสภาพอย่างนี้ หากเธอจะยอมรับหรือแม้เพียงรู้สึกลึกๆ ข้างในว่าตนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อโลกใบนี้บ้าง โลกจะต่างออกไปกว่านี้มาก มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หากทุกคนรู้สึกถึงความรับผิดชอบ…
ฐาปนา
“...เราจะต้องดำรงชีวิตที่เป็นของเราเอง การงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น และงานคือชีวิตก็ต่อเมื่อเราทำงานนั้นด้วยสติเท่านั้น มิฉะนั้นเราก็จะเหมือนกับคนตายที่มีชีวิตอยู่ เราแต่ละคนจะต้องจุดคบเพลิงของชีวิตด้วยตนเอง แต่ชีวิตของเราแต่ละคนเกี่ยวพันกับชีวิตของบุคคลรอบๆ เราด้วย หากเรารู้จักวิธีปกปักรักษา และระวังจิตใจและหฤทัยของเราเอง นั่นแหละจะช่วยให้พี่น้องเพื่อนมนุษย์รอบข้างเรา รู้จักการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติ...”(ติช นัท ฮันห์,ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ: มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งที่ 17,กันยายน 49) ความเปลี่ยนแปลง คือสัจธรรม ไม่มีสิ่งใดที่จะคงทนถาวรโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง…