Skip to main content

ไม่ทราบว่าใครเป็นเหมือนผมบ้าง
หลังจากข้าวของพาเหรดกันขึ้นราคา แต่รายได้มันไม่ได้ขึ้นตามไปด้วย ทำให้ต้องปรับตัวทุกทางเพื่อเอาชีวิตรอดให้ได้

ถีงขั้นต้องใช้คำว่า “เพื่อเอาชีวิตรอดให้ได้” นั่นละครับ
เพราะรายได้ที่ไม่แน่นอน ไม่มากมาย บวกกับสภาพหนี้ทั้งงานราษฎร์งานหลวง จากที่เคยตามใจปากตามใจตัวได้บ้างก็ต้องกลายมาเป็น “งด” แทบจะทุกรายการ จะกินขนมสักสิบยี่สิบบาทก็เปลี่ยนไปเป็นอาหารญี่ปุ่นสำหรับคนจน (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) ดีกว่า

นี่ก็แว่วว่า บะหมี่ซองเหล่านี้จะขึ้นราคากันแล้ว
เราคงต้องไปหาดินอร่อยๆ กินกันแทนข้าวแล้วกระมัง ก่อนที่ดินอร่อยๆ จะได้รับความนิยมขึ้นมา แล้วดินก็จะขึ้นราคาอีก

ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ผมจะทำอาหารทานเอง เพราะหนึ่งถูกปาก สอง ปลอดภัย และสาม ประหยัด สำหรับสองคนสี่มื้อ ยกเว้นขี้เกียจทำ ถึงจะไปซื้อกับข้าวถุงมาไว้อุ่นตอนเช้า

ทว่า เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป วัตถุดิบและเครื่องปรุงทุกอย่างขึ้นราคา โดยเฉพาะน้ำมันพืชที่ขึ้นไปแตะขวดละสี่สิบกว่าถึงห้าสิบบาทแล้ว ทำให้การทำกับข้าวที่บ้านกลายเป็นของแพงไปเลย

คิดสะระตะไปๆ มาๆ จนได้ข้อสรุปว่า ซื้อกับข้าวถูกกว่าทำเอง ตั้งแต่นั้นมา เราอันหมายถึงผมและภรรยาก็เข้าเป็นสมาชิกขบวนการแม่บ้านถุงพลาสติกเช่นเดียวกับหลายๆ ครอบครัว

ทานกับข้าวถุงก็ไม่ถึงกับน่าเบื่อหรอกครับ หากมีหลายร้านให้เลือก เพราะแต่ละร้านก็ขายอยู่หลายอย่าง สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป แต่ถึงกระนั้นก็ยังต้องรับผลกระทบจากภาวะของแพง เพราะเมื่อวัตถุดิบขึ้นราคา แม่ค้าก็จำต้องลดปริมาณอาหารลง จากเคยตักให้เกือบครึ่งถุง ก็เหลือแค่สองในห้า
ก็ไม่แย่เท่าไรหรอกครับ คนที่แย่กว่าเรามีเยอะกว่านี้

จากเมื่อก่อน ผมไปตลาดสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ตอนนี้ก็เลยต้องไปทุกวัน โชคดีที่ไม่ได้ไกลที่พักมาก ถ้าเบื่อก็ยังมีอีกสามตลาดที่อยู่ไกลออกไปหน่อย
พอได้เดินตลาดบ่อยๆ ก็ทำให้ผมได้สังเกตเห็นบางสิ่ง ซึ่งที่จริงก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ ตลาดไหนๆ ในเมืองใหญ่ก็คงไม่ต่างกัน สาเหตุคงเป็นเพราะผมชอบทานน้ำพริกด้วยกระมัง เลยทำให้ต้องเลือกซื้อผักเพื่อไปทานกับน้ำพริกอยู่แทบทุกวัน

ปัญหาก็คือ ถ้าต้องทานอยู่แทบทุกวัน จะให้ทานผักซ้ำๆ ติดๆ กันมันก็คงได้ไม่บ่อย แต่ในเมื่อมันมีให้เลือกอยู่แค่นั้นก็ต้องทำใจ ถ้าเบื่อจนทนไม่ไหวก็ต้องงด

ลองไปดูเถอะครับ ผมคิดว่าตลาดไหนๆ ก็คงไม่ต่างกัน คือผักพื้นบ้านที่ทานกับน้ำพริกมันชักจะหายากขึ้นทุกที พวกที่เห็นหน้ากันอยู่ทุกวันอย่างมะเขือลาย แตงกวา ถั่วพู ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักกาดจอ นี่ไม่ต้องพูดถึง ช่วงนี้ยังพอจะมีใบบัวบก มะระขี้นก ให้เห็นบ้าง แต่อย่างขมิ้นขาว สายบัว นี่นานๆ ถึงจะได้เจอกันสักที ที่ว่ามานี้ยังไม่ได้พูดถึงผักพื้นบ้านภาคเหนือแบบแท้ๆ เลยนะครับ

ถ้าไม่ได้เข้าร้านลาบเมือง ก็อย่าหวังจะได้เจอผักรูปร่างแปลกตารสชาติแปลกลิ้นเลย วนเวียนทานกันอยู่แค่ไม่กี่อย่าง

คิดๆ ดูแล้วก็คงมีหลายๆ เหตุผลที่ผักพื้นบ้านในตลาดทั่วไปลดน้อยลงไปมากจนถึงกับหาทานไม่ได้เลย
ทั้งความนิยมของผู้บริโภค ทั้งการนำเสนอของผู้ขาย ของที่ไม่มีคนซื้อ ก็ไม่มีใครอยากเอามาขาย ของที่ผุ้ขายไม่แนะนำผู้ซื้อก็ไม่รู้จัก ผักพื้นบ้านหลายชนิดเมื่อไม่มีคนรู้จัก ก็มีค่าไม่ต่างจากวัชพืช ถูกถางทิ้งไปมากกว่าจะถูกเก็บเอามาขยายพันธุ์

ต่อไปหากใครต้องการจะทานผักพื้นบ้านแบบไม่ต้องลำบากมากก็คงต้องหาพันธุ์มาปลูกไว้เองเท่านั้น
ส่วนคนที่อยู่ห้องเช่าไม่มีที่แบบผมก็ต้องเดินหาผักพื้นบ้านตามตลาดกันต่อไป

ที่จริง เศรษฐกิจแบบนี้กลับมาทานผักกับน้ำพริกกันน่าจะดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพกระเป๋าสตางค์
แต่ก็อีกนั่นแหละครับ ผักพื้นบ้านมักจะซุกอยู่ตามมุมเล็กๆ ของแผงผัก ไม่ถูกวางกลางแผงเหมือนแตงกวา คะน้า กะหล่ำปลี

ดูเหมือนลูกเมียน้อยยังไงก็ไม่รู้

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
“...พูดอย่างกว้างที่สุดคือ สิ่งเลวร้ายทั้งหมดเกิดจากการเลือกของเธอเอง ความผิดพลาดไม่ได้อยู่ที่การเลือกนั้นแต่อยู่ที่การเรียกว่าเลวร้าย เพราะเมื่อเธอบอกว่ามันเลวร้ายก็เท่ากับบอกว่าตัวเธอเองเลวร้ายด้วย เพราะเธอเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง เธอไม่อาจยอมรับการตราหน้านี้ได้ ดังนั้น แทนที่จะตราหน้าตัวเองว่าเป็นคนเลวร้าย เธอกลับปฏิเสธสิ่งต่างๆ ที่ตนสร้างขึ้นมาเสียเลย อสัตย์ทางสติปัญญาและจิตวิญญาณนี้เองที่ทำให้เธอยอมรับโลกอันมีสภาพอย่างนี้ หากเธอจะยอมรับหรือแม้เพียงรู้สึกลึกๆ ข้างในว่าตนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อโลกใบนี้บ้าง โลกจะต่างออกไปกว่านี้มาก มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หากทุกคนรู้สึกถึงความรับผิดชอบ…
ฐาปนา
“...เราจะต้องดำรงชีวิตที่เป็นของเราเอง การงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น และงานคือชีวิตก็ต่อเมื่อเราทำงานนั้นด้วยสติเท่านั้น มิฉะนั้นเราก็จะเหมือนกับคนตายที่มีชีวิตอยู่ เราแต่ละคนจะต้องจุดคบเพลิงของชีวิตด้วยตนเอง แต่ชีวิตของเราแต่ละคนเกี่ยวพันกับชีวิตของบุคคลรอบๆ เราด้วย หากเรารู้จักวิธีปกปักรักษา และระวังจิตใจและหฤทัยของเราเอง นั่นแหละจะช่วยให้พี่น้องเพื่อนมนุษย์รอบข้างเรา รู้จักการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติ...”(ติช นัท ฮันห์,ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ: มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งที่ 17,กันยายน 49) ความเปลี่ยนแปลง คือสัจธรรม ไม่มีสิ่งใดที่จะคงทนถาวรโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง…