Skip to main content

20080216 ดอกกุหลาบสีแดง

ต้นเดือนกุมภาพันธ์
ลมหนาวคลายความยะเยือกลง เหลือเพียงลมเย็นโชยเฉื่อย เจือกลิ่นหอมของไม้เมืองหนาวหลายชนิดที่ยังคงผลิดอกแม้ฤดูหนาวสิ้นสุด
แล้วเมืองเชียงใหม่ก็เข้าสู่ช่วงเวลาพิเศษของคนหนุ่มสาวอีกครั้ง
“วันแห่งความรัก” (Valentines Day) ที่ใครหลายคนรอคอย

อันที่จริง แม้จะเรียกกันว่า วัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป บริบทของสังคมเปลี่ยนไป ด้วยอานุภาพแห่งความรักและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความรัก จึงไม่อาจจำกัดให้วันแห่งความรักอยู่แค่เพียง วันที่ 14 ของเดือนกุมภาพันธ์เท่านั้น วันแห่งความรักได้ขยายช่วงเวลาเป็น สัปดาห์แห่งความรัก จนกระทั่งเป็น เดือนแห่งความรัก ในที่สุด

นอกจากบรรยากาศแห่งความรัก ดูเหมือนจะล่องลอยอยู่ในอากาศในทุกๆ ที่ ที่มีคู่หนุ่มสาวอิงแอบกันแล้ว คนที่รอคอยเดือนนี้ไม่น้อยกว่ากันเลย เห็นจะได้แก่พ่อค้า-แม่ค้า “ดอกไม้” ทุกคน

เพราะ “กุหลาบ” ดอกไม้ที่มีตำนานเล่าว่าเกิดจากโลหิตของ Saint Valentine นักบุญผู้ให้กำเนิดวันวาเลนไทน์ คือสัญลักษณ์แห่งความรัก จึงทำให้กุหลาบคือดอกไม้ที่สวยที่สุด แพงที่สุด เป็นที่ต้องการที่สุด รวมทั้งขายดีที่สุดในช่วงเวลานี้ของปี

กุหลาบไม่ใช่ไม้พื้นเมืองของไทย แม้จะมีการพบพันธุ์กุหลาบป่าที่ดอยหลวงเชียงดาวซึ่งมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี แต่พันธุ์กุหลาบส่วนใหญ่ในปัจจุบันนำเข้าจากต่างประเทศ มีข้อสันนิษฐานว่า ผู้ที่นำกุหลาบเข้ามาปลูกแรกสุดในไทย น่าจะเป็นพวกมิชชันนารี หรือพวกเจ้านายชั้นสูงในสมัยรัชกาลที่ 5

ที่เชียงใหม่ มีกุหลาบชื่อดังอยู่ 2 สายพันธุ์ หนึ่งนั้นคือ “ควีนสิริกิติ์” กุหลาบพระนามในองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ใครมาเที่ยวพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์แล้ว ต้องมาชมให้ได้ กับอีกหนึ่งนั้นคือ “จุฬาลงกรณ์” กุหลาบพันธุ์ที่พระราชชายา เจ้าดารารัศมี สั่งจากอังกฤษเพื่อมาปลูกที่เชียงใหม่ และทรงตั้งชื่อพันธุ์ ตามพระนามของผู้เป็นที่รักยิ่งของท่าน

จากพื้นที่ปลูกกุหลาบประมาณ 7,000 ไร่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน เชียงใหม่มีพื้นที่ปลูกกุหลาบมากถึง 658 ไร่ ในพื้นที่ 67 หมู่บ้านในเกือบทุกอำเภอของเชียงใหม่  ในแต่ละปี ช่วงวันที่ 12-14 กุมภาพันธ์นี้ จะมีดอกกุหลาบจากเชียงใหม่กระจายออกสู่ตลาดทั่วประเทศวันละกว่าสามแสนดอก

สำหรับราคาขายปลีกของกุหลาบในช่วงเวลาแห่งความรักเช่นนี้ มีตั้งแต่ดอกละ 20-30 บาทไปจนถึงดอกละ 200-300 บาท ขึ้นอยู่กับสี ขนาดดอก ความยาวของก้าน และที่มา ซึ่งมีทั้งที่ปลูกในเชียงใหม่ นำเข้าจากฮอลแลนด์ หรือนำเข้าจากจีน และหากนำไปจัดเข้าช่อตามร้านขายและรับจัดช่อดอกไม้หลายแห่ง ก็อาจมีราคาสูงถึง ดอกละ 500-2,000 บาท เลยทีเดียว

แม้ว่าในช่วงเดือนแห่งความรัก ราคาของกุหลาบอาจจะสูงกว่าปกติถึง 10 เท่า แต่นั่นก็ใช่ว่า จะใช้ตรรกะของราคากุหลาบไปเทียบกับราคาของความรักได้ กุหลาบราคาแพงใช่จะหมายถึงความรักสูงค่า ขณะเดียวกัน กุหลาบราคาถูก ก็ใช่จะหมายถึงความรักต่ำต้อยด้อยค่า

กุหลาบ คือดอกไม้ที่งามและโดดเด่นด้วยตัวของมันเองไม่ว่าจะพันธุ์ไหนหรือเฉดสีใด เฉกเช่น ความรัก ที่เปี่ยมด้วยคุณค่าในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความรักของใคร ในรูปแบบไหน หรือในขอบเขตใด

กลางเดือนกุมภาพันธ์
เมืองเชียงใหม่ เต็มไปด้วยดอกไม้ และ อวลกลิ่นความรัก
ใต้แสงแดดอุ่น หรือใต้แสงไฟสลัวยามราตรี ความรักถูกมอบให้กันผ่านสัญลักษณ์ของมัน
กุหลาบดอกนั้น สวยที่สุด เมื่ออยู่ในมือคนรักของคุณ


ข้อมูลจาก : wikipedia,สำนักงานสถิติจังหวัดเชียงใหม่,ศูนย์วิจัยกสิกร,นิตยสาร compass

** หมายเหตุ บทความชิ้นนี้ ผมเขียนเก็บไว้นานแล้ว คิดว่าน่าจะเข้ากับบรรยากาศช่วงนี้
ขอให้ทุกท่านมีความสุขในวันแห่งความรัก และขอให้ทุกวันเป็นวันแห่งความรักของคุณ

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
“...พูดอย่างกว้างที่สุดคือ สิ่งเลวร้ายทั้งหมดเกิดจากการเลือกของเธอเอง ความผิดพลาดไม่ได้อยู่ที่การเลือกนั้นแต่อยู่ที่การเรียกว่าเลวร้าย เพราะเมื่อเธอบอกว่ามันเลวร้ายก็เท่ากับบอกว่าตัวเธอเองเลวร้ายด้วย เพราะเธอเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง เธอไม่อาจยอมรับการตราหน้านี้ได้ ดังนั้น แทนที่จะตราหน้าตัวเองว่าเป็นคนเลวร้าย เธอกลับปฏิเสธสิ่งต่างๆ ที่ตนสร้างขึ้นมาเสียเลย อสัตย์ทางสติปัญญาและจิตวิญญาณนี้เองที่ทำให้เธอยอมรับโลกอันมีสภาพอย่างนี้ หากเธอจะยอมรับหรือแม้เพียงรู้สึกลึกๆ ข้างในว่าตนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อโลกใบนี้บ้าง โลกจะต่างออกไปกว่านี้มาก มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หากทุกคนรู้สึกถึงความรับผิดชอบ…
ฐาปนา
“...เราจะต้องดำรงชีวิตที่เป็นของเราเอง การงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น และงานคือชีวิตก็ต่อเมื่อเราทำงานนั้นด้วยสติเท่านั้น มิฉะนั้นเราก็จะเหมือนกับคนตายที่มีชีวิตอยู่ เราแต่ละคนจะต้องจุดคบเพลิงของชีวิตด้วยตนเอง แต่ชีวิตของเราแต่ละคนเกี่ยวพันกับชีวิตของบุคคลรอบๆ เราด้วย หากเรารู้จักวิธีปกปักรักษา และระวังจิตใจและหฤทัยของเราเอง นั่นแหละจะช่วยให้พี่น้องเพื่อนมนุษย์รอบข้างเรา รู้จักการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติ...”(ติช นัท ฮันห์,ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ: มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งที่ 17,กันยายน 49) ความเปลี่ยนแปลง คือสัจธรรม ไม่มีสิ่งใดที่จะคงทนถาวรโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง…