เมธัส บัวชุม
บทความที่แล้วพยายามจะให้ความหมายของ “กวีเกรียน” ว่ามีลักษณะอย่างไร แล้วเมื่อลองมาวิเคราะห์ พิจารณา สามารถสรุปรวบยอดได้ว่า กวีเกรียน นั้นเดินทางล้าหลัง อยู่ถึง 3 ก้าวด้วยกัน ก้าวที่ 1 คือ ขาดการทบทวนอดีต ไม่สามารถนำอดีตมาเป็นบทเรียนได้ ไม่สามารถสกัดเก็บซับเอาข้อดี ข้อเสียในอดีตมาเป็นฐานคิดในการวิเคราะห์สังคมการเมือง จะว่าไปบทเรียนในอดีตของสังคมไทยก็มีให้ศึกษาเรียนรู้อยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลง 2475, การต่อสู้ของเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการในอดีตหรือกระทั่งการต่อสู้อยู่ในป่าของพคท.ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นเนื้อหาการต่อสู้อันเข้มข้นที่เป็นขุมทรัพย์ของการเรียนรู้และแรงดลใจ แต่กวีกลับเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้แบบผิด ๆ ก้าวที่ 2 คือ ตามสังคมไม่ทัน กวีอาจมัวเมาหมกมุ่นอยู่กับจิตวิญญาณหรืออะไรที่สูงส่งเสียจนไม่ทราบว่าโลกได้ก้าวไปถึงไหนแล้ว ดังนั้นจึงไม่แปลกที่กวีมักจะมองไม่เห็นข้อดีของความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและมักจะมีท่าทีต่อต้านความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในโลกทุนนิยม กวีต่อต้านทุนนิยมโดยไม่ตระหนักแม้แต่นิดเดียวว่าตนเองเป็นผู้หนึ่งที่ช่วย “แบก” ให้โลกแห่งทุนนิยมเคลื่อนไปข้างหน้า กวีประณามนายทุนในขณะที่นั่งดื่มไวน์ชั้นดีหรือใช้เทคโนโลยีที่นายทุนผู้นั้นเป็นเจ้าของ ก้าวที่ 3 มองไปข้างหน้าไม่ได้ สองข้อที่กล่าวมาทำให้กวีไม่สามารถมองไปข้างหน้าอย่างถูกต้อง แม่นตรงได้ ไม่สามารถประเมินแนวโน้มหรือจับทิศทางความเป็นไปของโลกและสังคม ขาดวิสัยทัศน์ คาดการณ์ผิดพลาด