Chaya Killer Silent
ภายในสังคม..สังคมหนึ่ง ย่อมปะปนคละเคล้าไปด้วย
Anime Watch
เนตรชนก แดงชาติ อนิเมะที่พูดถึงสงครามไม่ว่าจะเป็นมุมมองของผู้ก่อสงครามหรือมุมมองของผู้ได้รับผลกระทบ ไปจนถึงการก่อสงครามระหว่างประเทศหรือก่อสงครามระดับอวกาศ เป็นวัตถุดิบที่ได้รับความนิยมมาเป็นเวลาช้านาน ไม่ว่าจะเป็น กันดั้ม (ภาคต่าง ๆ), สุสานหิ่งห้อย, Axis Power Hetalia, หรือแม้กระทั่ง “ก้านกล้วย” การ์ตูนไทยที่มีเป้าหมายอยู่ที่เด็กและเยาวชน แต่ในภาค 2 ก็ยังมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับสงคราม สำหรับส่องโลกอนิเมะสัปดาห์นี้ผู้เขียนขอชวนคุยเกี่ยวกับมังงะและอนิเมชัน (ที่เสี่ยงต่อการแบนของกระทรวงวัฒนธรรมบ้านเรา) เรื่อง 'อาวุธสุดท้ายคือเธอ ไซคาโนะ' หรือ 'ไซชูเฮกิคาโนะโจ' (最終兵器彼女) โดย ชิน ทาคาฮาชิ เรื่องนี้ถูกจัดเป็นการ์ตูนแนวเซเน็น (สำหรับผู้อ่านหรือผู้ชมอายุระหว่าง 18 – 25 ปี) เพราะมีทั้งอาวุธสงคราม การต่อสู้แบบ “ระเบิดภูเขา เผากระท่อม” ความรักกุ๊กกิ๊กไปจนถึงขั้น “ติดเรท” ระหว่างหนุ่มแว่นผู้เย็นชากับสาวน้อยจอมซุ่มซ่าม และการตั้งคำถามต่อความเป็นมนุษย์ ไซคาโนะ เปิดเรื่องที่เมืองเล็ก ๆ บนเกาะฮ็อกไกโดอันเงียบสงบ มีการสารภาพรักของ “จิเสะ” ต่อ “ชูจิ” เพื่อนร่วมห้อง แล้วจึงมีการแลกกันอ่านไดอารี จูบแรกที่เคอะเขิน แต่เหตุการณ์ก็เปลี่ยนไปเมื่อมีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายเข้าจู่โจมญี่ปุ่น แล้ว “จิเสะ” แฟนสาวที่ชูจิเริ่มผูกพันธ์กลับกลายเป็นอาวุธที่พัฒนาได้ของกองทัพ ญี่ปุ่น สร้างความสับสน ความกลัว และการกระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคำถามต่อจิเสะ ว่าเธอยังเป็นมนุษย์อยู่หรือไม่ ผู้ที่เคยอ่านหรือชมเรื่องไซคาโนะแล้วมีกระแสตอบรับทั้งชอบและไม่ชอบอยู่พอ ๆ กัน จุดที่ทำให้ไซคาโนะ มีความต่างจากการ์ตูนสงครามเรื่องอื่นอยู่ตรงที่การมองสงครามในมุมของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของการก่อความรุนแรง เช่น จิเสะ เด็กนักเรียน ม.ปลายธรรมดาที่อยู่ดี ๆ ทางกองทัพญี่ปุ่นก็พาเธอไปดัดแปลงร่างกายให้เป็นอาวุธขึ้นมา ไปจนถึง "อัทสึชิ" เพื่อนของชูจิ ทหารแนวหน้าตัวเล็กตัวน้อยที่สงครามทำให้เขาลุกขึ้นมาสมัครเป็นทหารเพราะ อยากปกป้องแฟนสาวของตัวเอง ไปจนถึงการนำเสนอความหงอยเหงาเปล่าเปลี่ยวของผู้ ที่ต้องพรากจากบุคคลผู้เป็นที่รัก ด้านมืดในจิตใจของแนวหลังที่แทบจะสิ้นหวังกับการรอคอย และความรู้สึกไร้คุณ ค่าที่ไม่สามารถปกป้องสิ่งที่พวกเขารักได้ ซึ่งจะเห็นได้จากข้อความที่ทั้ง สองเขียนไว้ในไดอารี “... พวกเราไม่อยากจะคิดถึงมันอีกแล้ว ถึงจะยกเรื่องนั้นมาคุยกัน แม้จะคิดถึงเรื่องใครสักคนก็ตามแต่ ก็ไม่ได้ช่วยให้อะไร ๆ เปลี่ยนแปลงได้อีกแล้ว ...” – ชูจิ “... หมู่นี้ชูจังใจดีจังเลยนะ แต่ว่าเห็นชูจังยิ้มแบบนั้น ฉันกลับยิ่งเป็นห่วง ยิ่งชูจังฝืนยิ้มให้ฉันเท่าไร ตัวฉันยิ่งรู้สึกอยากจะหายไปมากขึ้นเท่านั้น ทำไมร่างกายฉันถึงเป็นแบบนี้ด้วยนะ ตัวฉันทำอะไรผิดลงไปหรือเปล่า นี่เป็นการลงโทษฉันอย่างนั้นเหรอ เรื่องอาวุธสุดท้ายนี่เป็นความลับสำหรับทุกคน ฉันอึดอัดมากที่ไม่สามารถปรึกษาใครได้ ...” – จิเสะ สำหรับการก่อสงครามในเรื่องไม่ได้บอกว่าใครเป็นผู้เริ่ม ใครเป็นผู้บงการ หรือใครเป็นฝ่ายผิดถูก เสมือนจะบอกกับผู้ชมว่า “ถึงรู้ไปก็ช่วยให้อะไรดีขึ้นไม่ได้” ส่วนจิเสะแม้ว่าจะไม่ได้เต็มใจที่จะเป็นอาวุธในตอนแรกแต่พออยู่ในสนามรบนานวันเข้าก็เริ่มเข้าใจตรรกะของสงครามได้ว่า “ถ้าเราไม่ฆ่าเขา เขาก็จะฆ่าเรา” ขอเพียงหันอาวุธไปที่เธอเท่านั้น เธอก็สามารถจัดการศัตรูข้างหน้าได้อย่างราบคาบ แต่หลังจากที่ภารกิจเสร็จสิ้นในการจู่โจมหรือป้องกันแต่ละครั้งเธอก็จะเจ็บปวดกับความเป็นมนุษย์ที่ถูกตรรกะของสงครามกลืนกินหัวใจไปจนหมดสิ้นในชั่วขณะนั้น และขอโทษกับสิ่งที่ทำลงไปด้วยน้ำตาในทุกครั้ง ที่ซ้ำร้ายก็คือ ร่างกายของเธอนับวันก็ลดความรู้สึกทางผัสสะแบบมนุษย์ลงทุกวันแต่กลับสามารถ ปล่อยอาวุธจู่โจมโดยอัตโนมัติมากขึ้นทุกครั้งที่เธอกลับจากสมรภูมิ จิเสะทำให้ผู้เขียนนึกถึงเด็ก ๆ ในประเทศต่าง ๆ ที่ยังไม่สงบจากการสู้รบ หากท่านผู้อ่านเคยชมภาพยนตร์เรื่อง Blood Diamond จะเห็นภาพของเด็กชาวเซียร์รา ลีโอน (Sierra Leone) ในแอฟริกา ถูกนำไปฝึกเป็นทหาร หรือกรณีสองฝาแฝดลิ้นดำ “จอห์นนี” และ “อาร์เธอร์” ทหารเด็กแห่งกองกำลัง God’s Army คงไม่ต่างจากจิเสะและตัวละครที่เป็นเด็กภายในเรื่องไซคาโนะ ผู้เขียนเชื่อว่าต่อไปข้างหน้าอีกสิบหรือหรืออีกร้อยปี โลกใบนี้ของเราก็ยังคงก่อสงครามกันอยู่ดั่งบรรพบุรุษของเรานับหมื่นกว่าปีที่ผ่านมา ตราบใดที่ “ความแตกต่าง” กลายเป็น “ความเป็นอื่น” ที่สามารถลดทอนความเป็นมนุษย์ได้ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงเชิงกายภาพหรือความรุนแรงในโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะฝ่ายกดขี่หรือเป็นผู้ถูกกดขี่จะเป็นฝ่ายเริ่มใช้ความรุนแรง ผลที่เกิดก็คงหลีกหนีไม่ผลความสูญเสีย ดังที่เราเห็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในโปแลนด์ กัมพูชา และอินโดนิเซีย สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งของเรื่องนี้คือการเลือกเอาลักษณะของ “ผู้หญิง” ที่ผู้ชายอยากปกป้องแบบจิเสะมาเป็นตัวละครที่ต้องประหัตประหารผู้คน ทั้งยังเป็นผู้บังคับบัญชาผู้ชายหรือเหล่าทหารขณะเดียวกันก็ยังเป็นตัวละครที่ เหล่าผู้บัญชาการชั้นสูงและนักวิทยาศาสตร์ออกคำสั่งและมีสิทธิเหนือร่างกายของเธอ ผู้เขียนคิดว่าแม้ในสงครามที่คนอื่นอาจจะมองว่าเป็นเรื่องของผู้ชายเพียงผ่ายเดียว แต่เรื่องนี้ทำให้บทบาทของผู้หญิงในสงครามเด่นชัดขึ้น ฉายภาพของผู้หญิงที่ยังคงอยู่ภายใต้การบงการของผู้ชาย ตลอดจนอยู่ภายใต้อำนาจของ “ความรู้” ทางวิทยาศาสตร์ที่ผู้ชายนำมาใช้กับเธอ คล้ายกับในสมัยสงครามเวียดนามที่กองทัพสหรัฐอเมริกาต้องการทั้งผู้ชายที่จะไปเป็นทหารและแรงงานของผู้หญิงที่จะผลิตปัจจัยต่าง ๆ เพื่อไปสนับสนุนการก่อสงคราม แม้ไซคาโนะอาจไม่ใช่อนิเมชันที่สั่นสะเทือนสังคมได้อย่างเรื่อง สุสานหิ่งห้อย ของสตูดิโอ จิบลิ หรือสะท้อนความปวดร้าวเหมือน Voice of a distance star แต่คงเป็นการ์ตูนอีกเรื่องที่สะท้อนมุมมองของสงครามในอีกมุมหนึ่ง ที่เพียงหวังว่าเราจะเข้าใจคนที่แตกต่างจากเรา หากสักวันหนึ่งเขากลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับชาติที่รักสงบแต่ถึงรบไม่ 'ขาด' กับประเทศเพื่อนบ้านเพียงแค่ที่ดินแปลงเล็ก ๆ บนภูเขาที่ประวัติศาสตร์ไม่ประกาศว่าเป็นของประเทศใดกันแน่ (เพราะตอนนั้นยังเป็นอาณาจักรมิใช่รัฐชาติ) หรือเพียงชาติพันธุ์ที่ต่าง เพศที่ต่าง ไปจนถึง มุมมองทางการเมืองที่ต่าง หากนำความต่างเหล่านั้นออกไป เราก็ต่างเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน หวังว่าหัวใจของเราในตอนนั้นจะไม่กลายเป็นอาวุธเหมือนที่จิเสะเคยเป็นอยู่นะขอรับ