Skip to main content
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ผมฟังเธอไปด้วย จดบันทึกส่วนที่สำคัญๆไปด้วย เนื้อหาบางอย่างใช้สมองจำไว้ เธอซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องราวชื่อ นางอุไร บุญหมั้น อายุ 45 ปี ไม่น่าเชื่อ ดูหน้าตาเหมือนอายุประมาณ 30 กว่าปีเศษเล็กน้อย ผิวขาวปนเหลือง รวบผมยาวไว้ข้างหลัง บรรยากาศเริ่มเป็นกันเอง คงเพราะเราเป็นคนเหนือหรือคนเมืองด้วยกัน เธอเล่าต่อว่า ในเวลานี้หมู่บ้านมี 159 หลัง มีอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผา 50 หลัง ผู้สร้างผลงานเครื่องปั้นดินเผานี้อยู่ในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ ดินที่ใช้ปั้นเป็นดินในหมู่บ้านส่วนหนึ่ง อีกส่วนจะมีรถบรรทุกมาส่งให้ เมื่อผมเห็นว่าได้ข้อมูลมากพอตามต้องการแล้ว ผมก็กล่าวขอบคุณและกล่าวลา ไม่ลืมซื้อน้ำต้นราคาใบละ 35 บาท 1 ใบมาด้วย ไม่ได้ซื้อเพื่อเอาใจเจ้าของร้าน ผมอยากได้จริงๆ จะนำมาตั้งบนโต๊ะ แต่ไม่ใส่น้ำ เพียงตั้งไว้โชว์ ไว้มองดูเพื่อระลึกถึงความเป็นมาของวิถี “คนเมือง” ในอดีต
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ขับรถจากอำเภอสันป่าตอง มุ่งไปเชียงใหม่ ด้วยความเร็ว 60-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วขนาดนี้ถ้าพูดกับพวกตีนผีหรือวัยรุ่นทั้งหลาย จะถูกปรามาสอย่างรุนแรงว่า ไม่ควรเรียกว่าความเร็วเลยลุง น่าจะเรียกว่า การเคลื่อนที่คลานไปแบบเต่าพันปีมากกว่า ก็ไม่รู้สึกอะไร มันเป็นความจริง ผมขับรถชิดเลนซ้ายแบบสบายอารมณ์ พอมาถึงทางแยกหางดง-สะเมิง ผมหยุดรถเพราะติดไฟแดง มองไปข้างหน้า เฉียงไปทางซ้ายมืออย่างไม่ตั้งใจ เห็นน้ำต้น (คนโท) ใบใหญ่สีน้ำตาล ตั้งโดดเด่นตรงข้างซุ้มประตูเข้าหมู่บ้านเหมืองกุง ทำไมมันใหญ่โตปานนี้ ใครเป็นผู้สร้างแล้วสร้างทำไม เกิดคำถามในสมอง มันตั้งเด่นสะดุดตาจริงๆ น้ำต้นใบใหญ่ใบนี้ดึงดูดสายตาผม ให้มองดูมันทุกครั้งที่ขับรถผ่าน ไฟเขียววาบขึ้น ผมบังคับรถวิ่งตรงเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ มุ่งไปโรงพยาบาลมหาราช(สวนดอก) ไปตามใบนัดหมายของหมอความดัน ผมต้องขับรถผ่านโรงพยาบาลมหาราชไปอีกเล็กน้อย เมื่อถึงปั๊มน้ำมันที่อยู่ซ้ายมือ ผมก็ขับรถเลี้ยวซ้ายเข้าซอยราว 20 เมตร  ทางซ้ายมือเป็นลานดินจอดรถสำหรับผู้ขับรถมาโรงพยาบาล  ไม่มีการเก็บค่าฝากรถ เป็นการบริการที่จอดรถของโรงพยาบาล เนื้อที่กว้างขวางประมาณสนามฟุตบอลสองสนามมาต่อกัน รถจอดเกือบเต็มแล้ว ผมเลี้ยวเข้าไปหาที่จอด จากนั้นต่อรถบริการของโรงพยาบาลเข้าสู่โรงพยาบาลมหาราช เรียกว่าบริการโดยไม่เก็บเงิน ความจริงรอบๆตึกและที่จอดรถในโรงพยาบาลก็มี  แต่ก็มีรถจอดเต็มไปหมด  แน่นอนที่สุด ในอนาคตที่จอดรถจะเป็นปัญหาใหญ่ต่อไปแน่นอน  ขากลับ เมื่อผมขับรถจากเชียงใหม่เป็นระยะทางราว 10 กิโลเมตร ถึงทางแยกหางดง-สะเมิง พอสัญญาณไฟเขียวเปิดวาบ ผมเลี้ยวขวากลับรถ เคลื่อนรถวิ่งไปช้าๆ ตามองน้ำต้นยักษ์เป็นเป้าหมาย เลี้ยวซ้ายอีกครั้งไปตามถนน เห็นซุ้มเข้าหมู่บ้านเหมืองกุง ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ รถได้เคลื่อนผ่านประตูซุ้มเข้าไป อดเหลียวดูน้ำต้นยักษ์ที่ตั้งอยู่ด้านซ้ายมือข้างประตูไม่ได้ อยากเห็นกับตาใกล้ๆ มันจะโตแค่ไหนหนอ ผมจอดรถที่ลานจอดทางซ้าย ลานจอดเป็นคอนกรีต ถนนเข้าหมู่บ้านก็เช่นกัน ผมหยิบกล้องดิจิตอลใส่กระเป๋ากางเกง คว้ากระเป๋าบรรจุสมุด ปากกา สะพายบ่า  เดินตรงไปบ้านแรกที่ปลูกอยู่ข้างหน้าถนน ซึ่งทอดเข้าสู่หมู่บ้านแห่งการปั้น เดินผ่านประตูบ้านเข้าไปก็มองเห็นโอ่งน้ำแจกันหลายรูปแบบ  หม้อน้ำ  น้ำต้นขนาดต่างๆ วางบนพื้นคอนกรีต กระจายปะปนกันไป  หลังคาโรงงานมุงด้วยกระเบื้อง ผมยังไม่พบใคร เดินลึกเข้าไป หากเป็นร้านที่มีของมูลค่าสูงๆ ผมคงไม่กล้าเสี่ยงเข้าไป นี่เป็นดินที่มนุษย์นำมาสร้างขึ้นให้มีมูลค่า  ไม่มีเหตุจูงใจอะไรทำให้ต้องลักขโมย  ผมเห็นชายสองคน  คนหนึ่งกำลังปั้นน้ำต้น(คนโท) อีกคนปั้นแจกันขนาดใหญ่  ทั้งสองคนมองดูสิ่งที่กำลังใช้มือสร้างขึ้นมาอย่างตั้งใจ ชำเลืองตาดูผู้มาใหม่นิดหนึ่ง ไม่พูดอะไร สักครู่ได้ยินเสียงผู้หญิงดังจากบ้านที่ติดกับโรงงาน ผู้หญิงหน้าตาดีโผล่ออกมาทักทายต้อนรับ ผมรีบบอกเหตุผลที่มา ขออนุญาตถ่ายรูปผลงานเครื่องปั้นดินเผา และสอบถามเรื่องราว                 " น้ำต้นหน้าหมู่บ้าน ใหญ่โตแต้ๆ สูงยาวสักเท่าใดครับ ?"                 " สูงราว 16-18 เมตรเจ้า " เจ้าของร้านผู้มีอัธยาศัยดีบอก                 " ค่าก่อสร้างคงเป็นเงินบ่ใจ่น้อยใจ่ก่อครับ ?"                 " เจ้า ! ค่าวัสดุรวมทั้งค่าแรงเป็นเงิน 250,000 บาท เป็นงบตามโครงการหมู่บ้านโอท็อปเจ้า" เธอเล่าให้ฟังว่า หมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาเหมืองกุง มีความเป็นมากว่าสองร้อยปีแล้ว คงราว พ.ศ. 2352  ครอบครัวของเธอเริ่มอาชีพนี้สมัย  "พ่อคำ  บุญหมั้น"  พ่อเสียชีวิตเมื่ออายุ 57  ปี  ในปัจจุบันนี้เป็นรุ่นหลานแล้วที่สืบทอดหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา