จำเลย

บทพิสูจน์การต่อสู้

  

ใครจะเชื่อว่าคนอย่างพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรและครอบครัวที่ร่ำรวยเงินทองและอำนาจอย่างมหาศาลต้องขึ้นศาลในคดีฉ้อโกงและคดีอื่นๆมากมาย    ใครจะคาดคิดว่าคนอย่างพลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์  อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องเดินเชิดหน้าขึ้นศาลจังหวัดสงขลาในฐาน "จำเลย" บุคคลทั้งสองได้ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของขบวนการต่อสู้ของพี่น้องภาคประชาชนในการคัดค้านโครงการยักษ์ใหญ่ กรณีโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย  อำเภอจะนะ  จังหวัดสงขลา

นับช่วงเวลาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่  ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๕ จนถึงวันนี้ร่วมระยะเวลาห้าปีเศษ  หากนึกย้อนหลังไปหลายคนคงจำภาพข่าวเหตุการณ์ในวันนั้นได้ดี ภาพการชุมนุมของชาวบ้านอำเภอจะนะ  จังหวัดสงขลาที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ปกป้องสิทธิชุมชนจากการรุกรานของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ในนามของโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ดำเนินการโดยบริษัทปตท.และบริษัทปิโตรนาส  ร่วมทุนเป็นบริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย(ประเทศไทย)จำกัด

            เหตุการณ์วันนั้นท่ามกลางการนั่งชมละครทีวีหลังข่าวภาคค่ำกันอย่างเพลิดเพลิน แต่ผู้คนต้องมึนงงเมื่อๆอยู่ภาพละครหลังข่าวถูกแทนที่ด้วยภาพเหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวาย ประจันหน้าระหว่างชาวบ้านผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจปืนบนรถยนต์หกล้อของผู้ชุมชนทุบตีกระจกหน้ารถ  ทุบตีทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุมและมีการจับกุมผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ 

หลังเหตุการณ์วุ่นวายผ่านไม่ไม่กี่นาทีมีนายตำรวจระดับสูงคือพลตำรวจเอกสันต์  ศรุตานนท์ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติในเวลานั้นออกมาให้สัมภาษณ์ว่า "ได้ใช้ความอดทน ความพยายามและละมุนละม่อมอย่างที่สุดแล้ว" มีเสียงนักข่าวถามสวนทันทีว่า "อย่างนี้หรือค่ะที่เรียกว่าละมุนละม่อม"  และในวันรุ่งขึ้นได้ออกมาให้สัมภาษณ์อีกว่าภาพผู้หญิงที่อยู่ในเหตุการณ์เสื้อด้านหลังขาดจนเห็นเสื้อชั้นในนั้นผู้ชุมนุมสร้างสถานการณ์ฉีกเสื้อผ้าตนเอง แล้วใส่ร้ายว่าตำรวจเป็นคนทำ  อนิจานั่นคือเป็นบทสัมภาษณ์นายตำรวจผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

            เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นหลังพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ตัดสินใจประกาศเดินหน้าโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย โดยไม่ชี้แจงเหตุผลใดๆตามที่รับปากกลุ่มคัดค้านเมื่อลงมารับฟังข้อมูลที่ลานหอยเสียบ อำเภอจะนะ

ดังนั้นเมื่อพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร จัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรมาประชุมที่โรงแรมเจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีคณะรัฐมนตรีจากประเทศมาเลเซียมาร่วมประชุมด้วย  ทางกลุ่มคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซธรรมชาติและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาจึงได้ประสานงานผ่านนายวัชรพันธุ์  จันทรขจร ผู้ประสานงานฝ่ายรัฐบาล  เพื่อแจ้งความประสงค์เดินทางมายื่นหนังสือขอให้พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร  ยุติและทบทวนโครงการนี้ใหม่ ที่อย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อยและตกลงกำหนดจุดที่จะไปพักชุมนุมเพื่อรอยื่นหนังสือ

            แต่ปรากฏว่าในบ่ายวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๕ หลังจากที่ชาวบ้านเคลื่อนขบวนออกจากบ้านโคกสัก ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามสกัดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินทางเข้ามายื่นหนังสืออย่างน้อยสองจุดโดยนำรถยนต์ที่ใช้คุมขังผู้ต้องหามาจอดขวาง  จนกระทั่งมีการเจรจาและตำรวจย่อมเปิดทางและมีรถตำรวจนำขบวน แต่เมื่อมาถึงบริเวณสะพานจุติบุญสูงอุทิศ กลุ่มคัดค้านไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เนื่องจากตำรวจตั้งแผงเหล็กปิดกั้นกถนน และมีตำรวจหลายกองร้อยตั้งแถวสกัด จนกระทั่งกลุ่มตัดค้านฯต้องหยุดรอการประสานงาน  ระหว่างนั้นพี่น้องประชาชนกลุ่มคัดค้านจึงได้หยุดพักกินข้าวและทำพิธีละหมาดตามหลักการศาสนาอิสลาม

            ในที่สุดเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อตำรวจชั้นผู้สูงเป่านกหวีดและโบกมือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินอ้อมแผงเหล็กข้ามมายังฝั่งกลุ่มคัดค้านฯและเดินหน้าผลักดันผู้ชุมนุมจนนำไปสู่เหตุการณ์วุ่นวาย มีผู้บาดเจ็บพี่น้องประชาชนและถูกจับกุมดำเนินคดีในฐานะจำเลย

            กลุ่มคัดค้านฯต้องขึ้น-ลงศาลเป็นสัปดาห์ละสองถึงสี่วันในระยะสองปีสำหรับคดีชุดแรกและอีกหลายชุดหลายคดี  แต่ผลจากการกระทำสิ่งที่ถูกตามสิทธิส่งผลให้ศาลพิพากษายกฟ้องกลุ่มพี่น้องชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดี   ซึ่งในคำพิพากษาศาลจังหวัด ระบุว่า "โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียเป็นโครงการขนาดใหญ่ทางด้านพลังงานที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพ  สิ่งแวดล้อม สุขภาพ  อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ชุมชนท้องถิ่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๕ ประชาชนย่อยมีสิทธิในการนำเสนอความคิดเห็นต่อโครงการดังกล่าว" "ประชาชนหรือจำเลยย่อมมีสิทธิร่วมชุมนุมกันแสดงพลังพลังมวลชนคัดค้านโครงการดังกล่าวภายในขอบเขตแห่งกฎหมายเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการดำเนินโครงการนี้ได้"

            และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค๙ ระบุว่า"จะเห็นได้ว่าที่มาและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าวในรัฐธรรมนูญได้นำหลักการสำคัญ และเป็นหลักสากลที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรมีและใช้สิทธิเสรีภาพอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน เพื่อกำหนดวิถีชีวิต  แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ  สังคม และวัฒนธรรมของตนเอง  รวมทั้งมีสิทธิเข้าร่วมกับรัฐจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยมีสิทธิดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน  การที่จำเลยที่ ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่องค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและทรัพยากรธรรมชาติ  และชุมชนดั้งเดิมในท้องถิ่นร่วมกับประชาชนในพื้นที่รวมตัวกันเคลื่อนไหวชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย  ที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนในพื้นที่โดยตรง  สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวของจำเลย กับพวกย่อมมีอยู่แม้ยังไม่มีการออกกฎหมายตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ  ในเมื่อสิทธิเหล่านี้มนุษย์มีและเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติควบคูกับทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นของมนุษย์ทุกคน 

ในส่วนของกลุ่มคัดค้านฯจำนวน ๒๕ คนได้ร่วมยื่นฟ้องกลับตำรวจที่ใช้กำลังและความรุนแรงสลสายการชุมนุมในวันนี้ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค๙ได้รับฟ้องตำรวจระดับผู้สูง ๖ นายใน  โดยคำพิพากษาบางส่วนระบุ  ข้อเท็จจริงไต่สวนว่า โจทย์ทั้งยี่สิบห้าและประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านได้รวมตัวชุมนุมคัดค้านได้รวมตัวชุมนุมกันโดยมีมูลเหตุมาจากรัฐบาลตัดสินใจดำเนินการตามโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ต่อจากรัฐบาลชุดก่อนที่ได้อนุมัติไว้ โดยโครงการดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศวิทยาชายฝั่งทะเลและคุณภาพสิ่งแวดล้อม และอาจก่ออันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาคชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวและโจทก์ทั้งยี่สิบห้าย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูลคำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยงานของทางราชการก่อนการดำเนินการ ตามโครงการท่อส่งก๊าซฯ ดังที่กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา  ๕๙  รับรองไว้ แต่ปรากฏจากการแถลงการณ์ของสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๕   ซึ่งไม่มีการชี้แจง อธิบายข้อมูลและเหตุผลของการพิจารณาตัดสินใจให้ดำเนินการตามโครงการท่อส่งก๊าซฯ ต่อจากรัฐบาลชุดก่อนแต่อย่างใดและก่อนหน้านี้ได้ความจากโจทก์ที่ ๑๕ เบิกความยืนยันว่า ชาวบ้านเคยรวมกลุ่มยื่นหนังสือต่อหน่วยงานราชการแต่ไม่ได้รับคำตอบเลย เมื่อครั้งพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเดินทางมารับฟังความเห็นจากกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่บริเวณลานหอยเสียบ ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา นายกรัฐมนตรีรับว่าจะให้คำตอบที่ชัดเจนแก่ชาวบ้าน แต่ในที่สุดไม่ได้ให้คำตอบเช่นกัน ดังนี้ การร่วมชุมนุมของโจทก์ทั้งยี่สิบห้าและประชาชนกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซฯ จึงเป็นการใช้สิทธิของประชาชนที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐเพื่อที่จะแสดงเจตนารมณ์ ในการจัดการบำรุงรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้ประชาชนดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่อง  ดังนั้น การใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อการมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นในส่วนได้เสียของตนหรือของชุมนุมซึ่งรัฐบาลต้องรับฟังชาวบ้านก่อนการตัดสินใจ ดำเนินการโครงการที่มีผลกระทบต่อชุมชนดังที่ได้รับรองไว้ในบทบัญญัติ มาตรา ๔๖,๕๖ และ ๕๙ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ ดังกล่าว กรณีจึงเป็นที่ประจักษ์ว่าโจทก์ทั้งยี่สิบห้าและประชาชนได้ชุมนุมกันในวันเกิดเหตุมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะแสดงมติของกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซฯ โดยยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลทบทวนการตัดสินใจดำเนินการโครงการท่อส่งก๊าซฯ ต่อจากรัฐบาลชุดก่อนซึ่งหาได้มีเจตนาก่อความรุนแรงหรือขัดขวางการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรแต่อย่างไร

โจทก์ทั้ง ๒๕ และประชาชนที่คัดค้านและใช้สิทธิเรียกร้องที่พวกตนมีส่วนได้เสียและมีผลกระทบต่อตนสำหรับโครงการที่รัฐจะดำเนินการต่อเป็นการใช้สิทธิ์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๔๔ ในเรื่องการชุมนุมในที่สาธารณะโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยไม่มีเจตนากีดขวางทางสาธารณะ ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวกและดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุมเพื่อมิให้เกิดชนวนนำไปสู่ความวุ่นวาย แต่จากทัศนคติในเชิงลบชองพลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์ ซึ่งมีต่อกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านดังกล่าว ดังจะเห็นได้ตามคำให้การพลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์  ที่ให้ข้อมูลต่อคระกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเป็นกลุ่มที่มีความขัดแย้งต่อการตัดสินใจของรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ "ที่พูดอย่างไรก็ไม่รู้เรื่อง" ต่างกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ประท้วงหน้าสถานทูตกัมพูชาในประเทศไทยเป็นกลุ่มผู้รักชาติ "พูดแป๊บเดียวเข้าใจ" ประกอบกับพลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์  นำข้อเท็จจริงที่เกิดเหตุรุนแรงในวันทำประชาพิจารณ์สองครั้งที่หอประชุมเทศบาลนครหาดใหญ่ และที่สนามกีฬาจิระนคร มาคาดคะเนว่ากลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้นเตรียมกานำแนวทางความรุนแรงมาใช้

เมื่อพลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์  เป็นผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติและเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าพนักงานตำรวจในระดับสูงในขณะเกิดเหตุ อันเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์มีหน้าที่ปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดตามกฎหายบ้านเมือง เพื่อให้สังคมในบ้านเมืองเกิดความสงบสุขและเป็นระเบียบเรียบร้อย จำเลยที่ ๑ จึงมีความรับผิดชอบดูแลทุกข์สุขของประชาชนโดยเฉพาะ กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้าน เป็นผู้มีความเดือดร้อน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการท่อส่งก๊าซ จึงได้รวมตัวชุมนุมกันสะท้อนปัญหาให้รัฐบาลทราบ พลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์  ยิ่งต้องใช้ความรอบคอบดูแลบุคคลดังกล่าวบนพื้นฐานหลักความเมตตาธรรม ควบคู่กับหลักยุติธรรม โดยหลีกเลี่ยงการใช้กำลังเพื่อให้เกิดเหตุการณ์วุ่นวาย และลุกลามบานปลายอันนำมาซึ่งความสูญเสียถึงแก่ชีวิตและทรัพย์สินของทั้งสองฝ่าย   ที่ยากแก่การควบคุมได้     ในเรื่องนี้พลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์  ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของตำรวจในระดับสูง ในการสั่งการเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงต้องออกมาตรวจดูเหตุการณ์ในที่เกิดเหตุด้วยตนเองในทันทีก่อนที่จะสั่งการอย่างใดเพื่อหาทางแก้ไข  เพราะที่เกิดเหตุอยู่ไม่ไกลจากโรงแรมเจบีซึ่งสามารถเดินทางด้วยรถยนต์ใช้เวลาไม่เกินสามนาที ดังที่ พลตำรวจเอกประทิน  เบิกความยืนยันพลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์ออกมาตรวจสอบด้วยตนเอง    ก็จะได้ความจริงอันจะทำให้พลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์  มีโอกาสเลือกใช้ดุลพินิจให้เหมาะสมต่อเหตุการณ์ที่เป็นจริงว่ามีความรุนแรงหรือไม่เพียงใดและทำให้เห็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่ายังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะสลายการชุมนุมแต่อย่างไร ดังที่พลตำรวจเอกธวัชชัย ภัยลี้ให้การต่อกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา  ดังนั้นคำสั่งของพลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์  ที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมนั้นไม่อยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง  แต่อยู่บนพื้นฐานจากรายงานข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จของพลตำรวจตรีสัณฐาน  ชยานนท์ ซึ่งคำสั่งของพลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์  ที่สลายการชุมนุมดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พลตำรวจเอกสันต์  ศรุตานนท์ จะอ้างว่าได้รับรายงานเท็จจากผู้ใต้บังคับบัญชาย่อมฟังไม่ขึ้น  ส่วนพลตำรวจเอกสุรชัย  สืบสุข  ร้อยตำรวจเอกเล็ก  มียัง  ร้อยตำรวจโทบัณฑูรย์  บุญเครือ ร้อยตำรวจโทอภิชัย  สมบูรณ์  ได้ความว่าขณะนั้นพลตำรวจเอกสุรชัย  สืบสุข  ซึ่งเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา หลังจากได้รับคำสั่งจาก พลตำรวจตรีสัณฐานแล้ว  ได้มีคำสั่งให้  จำเลยที่ ๕  ถึง ๓๘กับเจ้าพนักงานตำรวจอื่นเข้าสลายการชุมนุมตามที่ร้อยตำรวจเอกอภิชัย สมบูรณ์ เบิกความเห็นว่าพ.ต.อ.สุรชัย  สืบสุข  จำเลยที่ ๔  ร.ต.อ.เล็ก  มียัง จำเลยที่ ๖  ร.ต.ท.บัณฑูรย์  บุญเครือ จำเลยที่ ๑๓  และร.ต.ท.อธิชัย สมบูรณ์  ๑๔         ต่างเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาการของพลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์ และพลตำรวจตรีสัณฐาน  ปฏิบัติราชการตามคำสั่งของพลตำรวจตรีสัณฐาน  ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่ออกคำสั่งให้สลายการชุมนุม  โดยรายงานข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จต่อพลตำรวจเอกสันต์  จนเป็นเหตุให้พลตำรวจเอกสันต์ ให้ความเห็นชอบต่อการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม  ซึ่งจำเลยที่ ๔ , ๖,๑๓,๑๔ ต่างอยู่ในที่เกิดเหตุในลักษณะเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้าน ย่อมรู้เห็นเหตุการณ์และเข้าใจโดยตลอดว่า กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านไม่ได้กระทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด  แต่ยังกระทำตามคำสั่งซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย  โดยการใช้กำลังสลายการชุมนุมดังกล่าว จึงต้องรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๐ ที่โจทก์ทั้ง ๒๕ นำสืบในชั้นต้น  ข้อหาดังกล่าวสำหรับจำเลยที่ ๑,๔ ,๖,๑๓,๑๔ จึงมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ๑๕๗,๒๙๕,๓๘ 


วันนี้เราหวังว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตำรวจทั้งหกนายคงได้ทบทวนทิศทางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้ชุมนุมในทุกประเด็นปัญหาทุกกรณี  คงไม่มีใครหรือกลุ่มคนใดอยู่ดีๆอยากออกมาชุมนุมเรียกร้องกินนอนบนท้องถนน  หากเขาไม่ได้รับความเดือดร้อน เอาเปรียบหรือไม่ได้รับความยุติธรรมจริงๆ เพราะที่ผ่านมารัฐไม่เคยสนใจเพราะเขา อ้างเพียงการชุมนุมเรียกร้องของพวกเขามีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง หรือเป็นคนกลุ่มน้อยที่ต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ อย่าเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวต้องเห็นกับผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก  โดยบางครั้งลืมไปว่าพวกเขาเป็นคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่จะเลือกอยู่ เลือกเป็นเท่าเทียมกับคนอื่นๆในสังคมเช่นกัน

 

 

 

 

 

 


 

 

Subscribe to จำเลย