Skip to main content
Cinemania
      ซาเสียวเอี้ย   แต่ไหนแต่ไรมา...ระบบการศึกษาในพื้นที่หลายแห่งทั่วโลกมักถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการ ‘ดับฝัน’ ของคนวัยหนุ่มสาว เพราะทำให้ความอยากรู้อยากเห็นและกระตือรือร้นที่จะ ‘เรียนรู้’ สิ่งแปลกใหม่ในวัยเยาว์ถูกลบเลือนหายไปในกรอบ-กฎเกณฑ์-เหตุผล-เงื่อนไข และข้อเท็จจริงทั้งหลายทั้งปวง (ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีโอกาสเกิดมาใช้ชีวิตบนโลกก่อนหน้าเรา...)   กระนั้น...ใครหลายคนก็ยังยินดีเดินตามแนวทางหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่ถูกวางไว้แล้วโดยไม่เคยคิดตั้งคำถาม เพื่อแลกเปลี่ยนกับ ‘การยอมรับ’ จากสังคมรอบข้าง...เพื่อที่มนุษย์ทั้งหลาย (ซึ่งเป็นสัตว์สังคม) จะได้ไม่ต้องรู้สึกวุ่นวายใจไปกับความโดดเดี่ยวแปลกแยกหรือแหกคอก   การตั้งคำถามกับระบบการศึกษาจึงเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส และไม่ค่อยมีใครกล้าลุกขึ้นมาปฏิเสธระบบกันมากนัก แม้จะมีกระแส ‘Drop Out’ ที่ชักชวนให้นักเรียนนักศึกษาหันหลังให้กับตำราและออกไปเผชิญโลกกว้างอยู่บ้างในยุคหนึ่งทางซีกโลกตะวันตก แต่กาลเวลาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเป็นอย่างบิล เกตส์ หรือสตีฟ จ๊อบส์ได้...                                                                   00000   แต่ในภาพยนตร์ตลกวัยรุ่นฮอลลีวู้ดที่ออกฉายปี 2549 เรื่อง Accepted ผลงานเรื่องแรกในฐานะผู้กำกับของ ‘สตีฟ พิงค์’ (อดีตคนเขียนบทหนัง Grosse Point Blank และ High Fidelity และผู้อำนวยการสร้างเรื่อง America Sweetheart) ได้พยายามตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะเป็นคำถามที่มาพร้อมกับลีลาโปกฮามากกว่าจะจริงจังขึงขังอะไรมากมาย แต่ก็เป็นภาพยนตร์วัยรุ่นเรื่องล่าสุดที่พูดถึงปัญหาของระบบการศึกษาออกมาตรงๆ   เรื่องราวในหนังเริ่มต้นด้วยการบอกเล่าชะตากรรมของ ‘บาร์เทิลบี เกนส์’ (แสดงโดยจัสติน ลอง จาก Die Hard ภาคล่าสุด) เด็กนักเรียนไฮสคูลปีสุดท้ายที่ยังเคว้งคว้างไร้อนาคต เพราะไม่มีมหาวิทยาลัยแห่งไหนตอบรับใบสมัครเรียนของเขาเลย ในขณะที่พ่อและแม่ต่างก็คาดหวังว่าลูกชายคนเดียวจะต้องมีอนาคตที่ดีและได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ไหนสักแห่ง ทำให้บาร์เทิลบียิ่งกดดันว่าพ่อกับแม่คงผิดหวังถ้าได้รู้ว่าลูกชายกลายเป็นคน ‘ไร้อนาคต’ ไปเสียแล้ว   ขณะที่ ‘เชอร์แมน เชรดเดอร์’ (แสดงโดยโจนาห์ ฮิล) เพื่อนสนิทของบาร์เทิลบี และ ‘รอรี่’ (แสดงโดย มาเรีย เทเยอร์) สาวผมแดงเด็กเรียนเพื่อนร่วมชั้น ล้วนไม่ผ่านการพิจารณาจากมหาวิทยาลัยที่สมัครไปกันถ้วนหน้า ทำให้ทั้งหมดคิดแผนการขึ้นมาตบตาบรรดาพ่อแม่ว่าพวกเขาได้รับการตอบรับเข้าเรียนแล้วจากมหาวิทยาลัยที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ และพวกเขาได้สร้างเว็บไซต์แนะนำมหาวิทยาลัยอุปโลกน์ให้พ่อและแม่เข้าไปดูประกอบคำโกหกให้ฟังน่าเชื่อถือมากขึ้น   เว็บไซต์มหาวิทยาลัยกำมะลอเกิดขึ้นได้เพราะภาพตัดต่อจากโปรแกรมโฟโตชอป แสดงบรรยากาศและอาคารสถานที่สมจริงสมจัง แถมยังมีปุ่มให้ ‘ผู้ที่สนใจเข้าศึกษาต่อ’ คลิกส่งใบสมัครมาพิจารณากันอีกด้วย และนอกจากพ่อแม่ของทั้งหมดจะเคลิ้มเชื่อตามไปด้วยแล้ว ปรากฏว่านักเรียนนับร้อยคนพลาดหวังจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่เสิร์ชเจอข้อมูลปลอมๆ ในเว็บไซต์ก็ยังหลงเชื่อและส่งใบสมัครเข้ามาจริงๆ และระบบอัตโนมัติซึ่งเชอร์แมนเผลอตั้งค่าไว้ก็ดันส่งใบตอบรับเข้าเรียนไปให้คนที่ส่งใบสมัครเข้ามาทั้งหมดจริงๆ อีกเหมือนกัน!   ตัวการต้นคิดทั้ง 3 คนจึงต้องไปเช่าอาคารโรงพยาบาลร้างมาปรับปรุงใหม่ให้เป็น ‘สถาบันเทคโนโลยีเซาท์ฮาร์มอน’ หรือ South Harmon Institute of Technology ซึ่งใช้คำย่อว่า S.H.I.T ได้พอดี!! โดยใช้เงินทุนหลักล้านดอลลาร์ซึ่งได้มาจากค่าเทอมที่นักศึกษาบ้าจี้นับร้อยคนโอนมาให้ ก่อนที่ชีวิตใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย (เก๊) จะเริ่มขึ้นอย่างทุลักทะเล   ด้วยพล็อตเรื่องเฮฮาและไม่เน้นความสมจริงสมจัง ทำให้หนังไม่ได้รับคำวิจารณ์ในแง่ดีเท่าไหร่เมื่อนำออกฉายในอเมริกา แต่ถ้าพูดถึงเรื่องรายได้ก็ถือว่าไม่เจ็บตัว ถึงอย่างนั้นหนังก็ไม่มีโอกาสได้ฉายในโรงหนังบ้านเราอยู่ดี ส่วนดีวีดีลิขสิทธิ์ที่ออกวางจำหน่ายก็ตั้งชื่อออกแนวเบาสมองว่า ‘จิ๊จ๊ะมหาวิทยาลัยรักแห้ว’ ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของหนังยิ่งเบาโหวงไปกันใหญ่   แต่ในความไร้สาระที่เคลือบอยู่ด้านนอก พอกะเทาะปลอกออกพบว่าตัวหนังยังมีแก่นแกนที่ชัดเจน แม้จะดูพยายามจนเกินไปในหลายๆ ฉาก แต่ก็เป็นการตั้งคำถามตรงไปตรงมาชวนให้คิดต่ออยู่ใช่น้อย   ไม่ว่าจะเป็นฉากที่บาร์เทิลบีเปิดโอกาสให้นักศึกษาของ S.H.I.T ช่วยกันเสนอหลักสูตรที่แต่ละคนอยากเรียนขึ้นมาแทนที่การ ‘กำหนดหลักสูตร’ ซึ่งยึดตามแนวทางการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาในแบบแผนดั้งเดิม ซึ่งมีกรอบชัดเจนว่านักศึกษามีสิทธิ์เลือกได้เฉพาะสิ่งที่ทางสถาบันเสนอให้เท่านั้น ทว่าไม่มีสิทธิ์เรียกร้องหลักสูตรหรือแนวทางที่แตกต่างออกไป   รวมถึงฉากที่บาร์เทิลบีต้องไปชี้แจงหลักสูตรการเรียนรู้ของ S.H.I.T ในฐานะ ‘ผู้ก่อตั้งสถาบันฯ’ ต่อหน้าคณะกรรมาธิการพิจารณามาตรฐานสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านการรับรองคุณภาพและวิทยฐานะของสถาบันการศึกษาตัวจริง นำไปสู่การปะทะคารมว่าอะไรกันแน่ที่จำเป็นและยั่งยืนต่อการดำรงชีวิตมากกว่า ระหว่าง‘การศึกษา’ กับ ‘การเรียนรู้’ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลากหลายแนวทาง และไม่มีใครเป็นผู้ผูกขาดองค์ความรู้อยู่ฝ่ายเดียว   00000   หากประเด็นที่ Accepted วิพากษ์วิจารณ์อย่างชัดเจนที่สุดก็คือความคับแคบของระบบการศึกษาที่ปฏิเสธความแตกต่างหลากหลายทางวิธีคิดเรื่องการเรียนรู้ และกระบวนการ ‘คัดทิ้ง’ ที่ไม่ต่างจากการประทับตรา (ผิดๆ) ว่าผู้ที่ไม่ผ่านมาตรฐานการคัดเลือกนั้น ‘บกพร่อง’ หรือ ‘ด้อยคุณภาพ’   "ในความคิดคำนึงถึงระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นเพียงความสามารถหรือคุณสมบัติเฉพาะด้านเช่นนี้จะต่างอะไรจากระบบสายพานการผลิตผลไม้กระป๋องซึ่งเน้นที่การคัดเลือ 'ผลโตๆ' เป็นหลัก...ผลไม้ลูกเล็กที่ขนาดเล็ก 'ต่ำกว่ามาตรฐาน' ย่อมถูกคัดทิ้งและนำไปแปรรูปเป็นสินค้าอย่างอื่นโดยไม่ได้รับการพิจารณาหรือคำนึงถึงคุณสมบัติภายในอื่นๆ เช่น ความหวาน ความสด หรือความอร่อย แม้แต่นิดเดียว"   ขณะที่ในหนัง-บาร์เทิลบีมองว่าบรรดานักศึกษา S.H.I.T ไม่ได้รับการ ‘ยอมรับ’ จากสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นเพราะพวกเขาถูก ‘พิพากษา’ ไปแล้วว่าเป็นพวกขี้แพ้ไม่เอาไหน และเป็นพวกที่ถูก ‘คัดทิ้ง’ จากที่อื่น แต่นักศึกษาของ S.H.I.T ทั้งหมดก็ไม่เคยคิดที่จะหยุดเรียนรู้ในสิ่งที่พวกเขายังไม่รู้...     ประโยคยืดยาวของบาร์เทิลบีในฉากนี้คล้ายจะเป็นแถลงการณ์ของผู้กำกับสตีฟ พิงค์ อดีตนักกิจกรรมทางสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับการบริการชุมชนอยู่พักใหญ่ก่อนจะผันตัวสู่แวดวงบันเทิง แต่ถ้าใครจะมองว่าหนังเรื่องนี้ทำขึ้นเพื่อตอบสนองจินตนาการที่ไม่มีวันเป็นจริงของพวกขี้แพ้ซึ่งอยากตอบโต้ระบบที่ตัวเองไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วม...ก็ย่อมทำได้อีกเช่นกัน   แต่ในชีวิตจริงซึ่งทางแก้ปัญหาไม่ได้มีแค่ ก ข ค ง หรือข้อ 1 2 3 4 บางทีการมองต่างมุมเรื่องการเรียนรู้อาจช่วยเตือนสติได้ว่าโลกยังมีอะไรที่มากกว่าและกว้างกว่าการวัดผลคะแนนสอบจากกระดาษคำตอบที่มีตัวเลือกให้เลือกแค่ไม่กี่ข้อ…  
Cinemania
        ซาเสียวเอี้ย   ‘ชาร์ลี วิลสัน’ ตายแล้ว...   แม้การตายของเขาจะไม่ได้ทำให้โลกสะท้านสะเทือนอะไรมากนัก แต่ก็มีความหมายสลักสำคัญมิใช่น้อย เพราะบทบาทของวิลสันในสมัยที่เขายังหนุ่มแน่นและดำรงตำแหน่ง สว.รัฐเท็กซัสของสหรัฐอเมริกา เป็นประเด็นให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ถกเถียงกันไม่สิ้นสุดว่าควรจะจดจำเขาไว้ในฐานะอะไร...   บ้างก็ว่า ชาร์ลี วิลสัน คือ ‘นักการเมืองเจ้าสำราญ’ เจ้าของฉายา Good Time Charlie ผู้มีชีวิตโลดโผนเต็มไปด้วยสีสัน หรือเป็น ‘วีรบุรุษชาวอเมริกัน’ ผู้ช่วยให้นักรบมูจาฮิดีนขับไล่กองทัพสหภาพโซเวียตอันโหดร้ายป่าเถื่อนไปจากอัฟกานิสถาน ขณะที่บางคนมองเขาเป็นผู้จุดชนวนสงครามในต่างแดน และเป็นผู้ปลดปล่อย‘ปีศาจร้าย’ ให้หลุดออกสู่โลกยุคหลังสงครามเย็น...   00000   แต่ที่แน่ๆ.....ช่วงชีวิตหนึ่งของชาร์ลี วิลสัน ถูกถ่ายถอดออกมาเป็นหนังฮอลลีวู้ดเรื่อง Charlie Wilson’s War ซึ่งออกฉายเมื่อปี 2550 และเป็นผลงานล่าสุดของผู้กำกับไมค์ นิโคลส์ (The Graduate, Birdcage, Closer) พูดถึงปฏิบัติการลับของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้ความสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์แก่นักรบชาวอัฟกันที่ต่อต้านการบุกเข้ายึดครองของกองทัพสหภาพโซเวียตระหว่างปี 2522-2533 (ค.ศ.1979-1992)   หนังเข้าฉายในบ้านเราอย่างเงียบๆ ไม่ได้มีกระแสอะไรหนุนส่งให้โด่งดังตามสื่อต่างๆ มากนัก แต่หนังก็ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลบนเวทีออสการ์ปี 2551 หลายสาขาด้วยกัน แถมยังได้นักแสดงนำที่มีภาพลักษณ์ดีอย่าง ‘ทอม แฮงค์’ มารับบท ‘ชาร์ลี วิลสัน’ ตามด้วย ‘จูเลีย โรเบิร์ตส์’ รับบท ‘โจแอนน์ แฮร์ริ่ง’ สาวสังคมอนุรักษ์นิยมซึ่งมีตัวตนจริงอีกเช่นกัน และเป็นคนสำคัญอีกคนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการลับในสงครามอัฟกานิสถานครั้งที่ 1   เมื่อชาร์ลี วิลสัน ‘ตัวจริง’ เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายเมื่อวันที่ 10 ก.พ.2553 ที่ผ่านมา ก็เป็นโอกาสให้ใครหลายคนได้ทบทวนประวัติศาสตร์กันอีกรอบผ่านการอ่านคำอุทิศและข่าวคราวการเสียชีวิตของวิลสันตามสื่อต่างๆ ทางฝั่งอเมริกาและยุโรป และหนัง Charlie Wilson’s War ก็ถูกหยิบยกมาวิพากษ์ใหม่ด้วย   เนื้อหนังบอกเล่าเรื่องราวการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง และการต่อสู้ของอุดมการณ์ต่างขั้วระหว่างเสรีนิยม-อนุรักษ์นิยมในดินแดนเสรีประชาธิปไตยนามว่า ‘สหรัฐอเมริกา’ และแนวทางการพลีชีพปกป้องมาตุภูมิของบรรดานักรบมูจาฮีดินที่ต่อสู้เพื่อดินแดนอัฟกานิสถาน แต่ที่ถูกขุดคุ้ยลึกลงไปกว่านั้นคือการชี้เป้าว่าบทบาทของสหรัฐฯ ที่เข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในประเทศต่างๆ นั้นส่งผล (หายนะ?) อย่างไร   ในความทรงจำเลือนลางยุคสงครามเย็น ‘สหภาพโซเวียต’ เคยเป็นเสาหลักในโลกคอมมิวนิสต์ คอยคัดง้างกับมหาอำนาจในโลกทุนนิยมอย่างสหรัฐฯ ซึ่งหวาดผวาว่ากองทัพแดงของบรรดาสหายทั้งหลายจะยึดกุมพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกจนคุกคามเสถียรภาพของ (ทุนนิยม) ประชาธิปไตยให้สั่นคลอน ผู้นำรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคนั้นจึงพยายาม ‘เตะตัดขา’ ปิดกั้นหนทางแพร่ระบาดของลัทธิคอมมิวนิสต์ในทุกวิถีทาง   ไม่ว่าจะเป็นยุคอดีตประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ หรือยุคของโรนัลด์ เรแกน รัฐบาลของผู้นำทั้งสองล้วนให้ความสนใจกับการรุกคืบของโซเวียตเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียใต้ จึงได้มีการออกคำสั่งอย่างลับๆ ภายในรัฐบาลสหรัฐฯ ให้หน่วยข่าวกรองและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจับตาดูความเคลื่อนไหวในอัฟกานิสถานให้ดี   เมื่อโซเวียตเคลื่อนกองทัพเข้าสู่อัฟกานิสถานเพื่อบุกเข้ายึดครองเบ็ดเสร็จ และจัดตั้ง ‘รัฐบาลหุ่นเชิด’ ของประธานาธิบดีบาบรุค คาร์มาล ขึ้นครองประเทศในปี 2523 ทำให้ชาร์ลี วิลสัน ซึ่งมีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมค่ายผู้อพยพลี้ภัยชาวอัฟกันบริเวณชายแดนปากีสถาน เกิดความตั้งใจแรงกล้าที่จะช่วยชาวอัฟกัน ‘ขับไล่’ กองทัพโซเวียตออกไป   วิลสันกลายเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญในการต่อรอง จัดสรร และใช้วิธีตุกติกต่างๆ โน้มน้าวให้รัฐบาลยอมอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือประชาชนในอัฟกานิสถาน และได้ความสนับสนุนจากสาวสังคมคนดังในฮุสตันอย่าง ‘โจแอนน์ แฮร์ริง’ เป็นตัวกลางแนะนำให้รู้จักกับคนดังในแวดวงต่างๆ เพื่อช่วยต่อยอดภารกิจช่วยเหลือชาวอัฟกันให้สำเร็จเสร็จสิ้น   แต่ผู้วางแผนปฏิบัติการที่สำคัญอีกคนหนึ่งคือ ‘กัสต์ อะฟราโคโทส’ เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองที่ได้รับฉายา Mr.Dirty ในฐานะผู้ผลักดันให้ ‘ปฏิบัติการไซโคลน’ เป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งในหนังได้ ‘ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟแมน’ เจ้าของรางวัลนักแสดงนำชายจากเรื่อง Capote มารับบทบาทนี้   00000   ปฏิบัติการไซโคลนถูกอ้างถึงในรายงานด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นปฏิบัติการลับครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐอเมริกา และใช้เงินไปกว่าหมื่นล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่กองกำลังนักรบมูจาฮีดินซึ่งต่อต้านโซเวียต และทำสงครามในนามของพระเจ้าเพื่อนำอัฟกานิสถานไปสู่หนทางการเป็นรัฐอิสลามเต็มรูปแบบ   อาจเป็นไปได้ว่าในยุคที่สหรัฐอเมริกากำลังต่อสู้กับโซเวียตซึ่งไม่เชื่อมั่นศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า การให้ความสนับสนุนแก่กลุ่มนักรบซึ่งประกาศตัวว่ายอมอุทิศตนเพื่อศาสนา คงเป็นเรื่องซึ่งยอมรับได้ง่ายกว่าสำหรับคนในประเทศที่พิมพ์ข้อความลงไปในธนบัตรว่า “In God We Trust”   เรื่องราวในหนังทำให้เรามองเห็นการสู้รบแบบกองโจรของกลุ่มมูจาฮีดิน สลับกับวิธีเจรจาต่อรองหลอกล่อแบบนอกกรอบของวิลสัน ไม่ว่าจะเป็นการพานักเต้นระบำหน้าท้องไปร่วมวงคุยกับผู้นำการเมืองเพราะหวังเบี่ยงเบนความสนใจ หรือการโน้มน้าวให้พ่อค้าอาวุธชาวยิวยอมขายของให้กับชาวมุสลิมที่เป็นปฏิปักษ์กันมานาน และการยื่นหมูยื่นแมวกับเพื่อน สว.ให้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนอนุมัติงบช่วยเหลือชาวอัฟกัน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่วิลสันจะลงคะแนนคัดค้านการตรวจสอบพฤติกรรมทุจริตของอีกฝ่ายแทน   เราจึงได้เห็นการหลับตาข้างเดียว ทำเป็นลืมๆ เรื่องการตรวจสอบ-ถ่วงดุลย์-คานอำนาจ เพื่อให้เกิดการสมประโยชน์ทางการเมือง และเอ่ยอ้างว่าจำเป็นต้องยอมเบนหลักการเพื่อมุ่งสู่ผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่กว่า ซึ่งในหนังเป็นการเอ่ยถึง ‘อิสรภาพ’ ของชาวอัฟกัน แม้ว่ามันจะนำไปสู่การต่อสู้ถึงเลือดถึงเนื้อยืดเยื้อยาวนานตั้งแต่ปี 2526-2533 และทำให้ชาวอัฟกันหลายแสนคนต้องอพยพบ้านแตกไปทั่วโลก   ขณะที่ช่วงท้ายๆ ของหนัง (และความเป็นจริงช่วงท้ายๆ ของเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต) ได้ตีแผ่ความจอมปลอมของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่สั่งตัดงบประมาณช่วยเหลือเยียวยาชาวอัฟกันทิ้งทันทีที่โซเวียตยอมถอนทหารออกไปจากดินแดนอัฟกานิสถาน ไม่เว้นแม้แต่งบประมาณสร้างโรงเรียนหรือฟื้นฟูระบบการศึกษาทั้งที่วิลสันและอะฟราโคโทสพยายามต่อรองโน้มน้าวคนในรัฐบาลทุกวิถีทางแล้วเช่นกัน   ชาร์ลี วิลสัน จึงรำพึงรำพันในตอนท้ายของหนังว่า “เราทำทุกอย่างพังในตอนจบ” เพราะแทนที่จะสานต่อภารกิจให้ลุล่วงด้วยการเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างกลุ่มกองกำลังต่างๆ เพื่อหาข้อตกลงแนวทางสันติภาพที่จะนำไปสู่การก่อตั้งรัฐบาลหรือการวางรูปแบบการปกครองที่ประชาชนทุกฝ่ายมีส่วนร่วม รัฐบาลสหรัฐฯ กลับตีจากและไม่สนใจที่จะเข้าไปดูดำดูดีอะไรอีก เพราะเป้าหมายหลักในการกำจัดศัตรูตัวฉกาจอย่างโซเวียตถือว่าสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว   ชะตากรรมของชาวอัฟกันที่ต้องดิ้นรนกันต่อท่ามกลางเศษซากสงคราม ทำให้กองกำลังติดอาวุธ (ที่ได้มาจากสหรัฐฯ) ตั้งตัวเป็นกลุ่มอำนาจต่างๆ และแย่งชิงการเป็นผู้นำ ขณะที่กองกำลังตาลีบันและโอซามา บิน ลาเดน ผู้นำกลุ่มก่อการร้ายอัล-เคดา ซึ่งกลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของสหรัฐอเมริกายุคหลังสหัสวรรษก็เริ่มก่อร่างสร้างแนวร่วมในช่วงเวลาเดียวกันนี้...ที่ดินแดนอัฟกานิสถาน...   00000   สงครามของชาร์ลี วิลสัน ในหนังของไมค์ นิโคลส์ จบลงตรงที่ ส.ว.ชาร์ลี เป็นพลเรือนคนแรกที่ได้ขึ้นรับเหรียญเกียรติยศจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นผู้ผลักดันให้สงครามอัฟกานิสถานยุติลง แต่เมื่อวิลสันตัวจริงเสียชีวิตลง บทบรรณาธิการของนิตยสารไทม์สในลอนดอนกลับกล่าวถึงบทบาทของวิลสันในฐานะที่เป็น ‘ผู้ปลดปล่อยปีศาจร้าย’ ซึ่งกำลังหลอกหลอนกองทัพสหรัฐฯ และกองทัพพันธมิตรอย่างหนักจนต้องประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้ายมาจนถึง ณ ปัจจุบันขณะ   เช่นเดียวกับที่จำนวนทหารอเมริกันและทหารของกองกำลังนาโตถูกส่งไปรบใน‘สงครามอัฟกานิสถาน’ (รอบใหม่) มีจำนวนมากกว่า 150,000 นาย ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา   หากวิลสันเป็นผู้ปลดปล่อยปีศาจร้าย.... มีใครอีกบ้างที่ควรทบทวนบทบาทในฐานะผู้หลอเลี้ยงให้ปีศาจยังดำรงความเกลียดชังอยู่ได้ด้วยนโยบายการเมืองและต่างประเทศที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลเพียงอย่างเดียว?