Skip to main content

 


 
 
ซาเสียวเอี้ย
 
แต่ไหนแต่ไรมา...ระบบการศึกษาในพื้นที่หลายแห่งทั่วโลกมักถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการ ‘ดับฝัน’ ของคนวัยหนุ่มสาว เพราะทำให้ความอยากรู้อยากเห็นและกระตือรือร้นที่จะ ‘เรียนรู้’ สิ่งแปลกใหม่ในวัยเยาว์ถูกลบเลือนหายไปในกรอบ-กฎเกณฑ์-เหตุผล-เงื่อนไข และข้อเท็จจริงทั้งหลายทั้งปวง (ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีโอกาสเกิดมาใช้ชีวิตบนโลกก่อนหน้าเรา...)
 
กระนั้น...ใครหลายคนก็ยังยินดีเดินตามแนวทางหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่ถูกวางไว้แล้วโดยไม่เคยคิดตั้งคำถาม เพื่อแลกเปลี่ยนกับ ‘การยอมรับ’ จากสังคมรอบข้าง...เพื่อที่มนุษย์ทั้งหลาย (ซึ่งเป็นสัตว์สังคม) จะได้ไม่ต้องรู้สึกวุ่นวายใจไปกับความโดดเดี่ยวแปลกแยกหรือแหกคอก
 
การตั้งคำถามกับระบบการศึกษาจึงเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส และไม่ค่อยมีใครกล้าลุกขึ้นมาปฏิเสธระบบกันมากนัก แม้จะมีกระแส ‘Drop Out’ ที่ชักชวนให้นักเรียนนักศึกษาหันหลังให้กับตำราและออกไปเผชิญโลกกว้างอยู่บ้างในยุคหนึ่งทางซีกโลกตะวันตก แต่กาลเวลาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเป็นอย่างบิล เกตส์ หรือสตีฟ จ๊อบส์ได้...
 
                                                                00000
 
แต่ในภาพยนตร์ตลกวัยรุ่นฮอลลีวู้ดที่ออกฉายปี 2549 เรื่อง Accepted ผลงานเรื่องแรกในฐานะผู้กำกับของ ‘สตีฟ พิงค์’ (อดีตคนเขียนบทหนัง Grosse Point Blank และ High Fidelity และผู้อำนวยการสร้างเรื่อง America Sweetheart) ได้พยายามตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะเป็นคำถามที่มาพร้อมกับลีลาโปกฮามากกว่าจะจริงจังขึงขังอะไรมากมาย แต่ก็เป็นภาพยนตร์วัยรุ่นเรื่องล่าสุดที่พูดถึงปัญหาของระบบการศึกษาออกมาตรงๆ
 
เรื่องราวในหนังเริ่มต้นด้วยการบอกเล่าชะตากรรมของ ‘บาร์เทิลบี เกนส์’ (แสดงโดยจัสติน ลอง จาก Die Hard ภาคล่าสุด) เด็กนักเรียนไฮสคูลปีสุดท้ายที่ยังเคว้งคว้างไร้อนาคต เพราะไม่มีมหาวิทยาลัยแห่งไหนตอบรับใบสมัครเรียนของเขาเลย ในขณะที่พ่อและแม่ต่างก็คาดหวังว่าลูกชายคนเดียวจะต้องมีอนาคตที่ดีและได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ไหนสักแห่ง ทำให้บาร์เทิลบียิ่งกดดันว่าพ่อกับแม่คงผิดหวังถ้าได้รู้ว่าลูกชายกลายเป็นคน ‘ไร้อนาคต’ ไปเสียแล้ว
 
ขณะที่ ‘เชอร์แมน เชรดเดอร์’ (แสดงโดยโจนาห์ ฮิล) เพื่อนสนิทของบาร์เทิลบี และ ‘รอรี่’ (แสดงโดย มาเรีย เทเยอร์) สาวผมแดงเด็กเรียนเพื่อนร่วมชั้น ล้วนไม่ผ่านการพิจารณาจากมหาวิทยาลัยที่สมัครไปกันถ้วนหน้า ทำให้ทั้งหมดคิดแผนการขึ้นมาตบตาบรรดาพ่อแม่ว่าพวกเขาได้รับการตอบรับเข้าเรียนแล้วจากมหาวิทยาลัยที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ และพวกเขาได้สร้างเว็บไซต์แนะนำมหาวิทยาลัยอุปโลกน์ให้พ่อและแม่เข้าไปดูประกอบคำโกหกให้ฟังน่าเชื่อถือมากขึ้น
 
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยกำมะลอเกิดขึ้นได้เพราะภาพตัดต่อจากโปรแกรมโฟโตชอป แสดงบรรยากาศและอาคารสถานที่สมจริงสมจัง แถมยังมีปุ่มให้ ‘ผู้ที่สนใจเข้าศึกษาต่อ’ คลิกส่งใบสมัครมาพิจารณากันอีกด้วย และนอกจากพ่อแม่ของทั้งหมดจะเคลิ้มเชื่อตามไปด้วยแล้ว ปรากฏว่านักเรียนนับร้อยคนพลาดหวังจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่เสิร์ชเจอข้อมูลปลอมๆ ในเว็บไซต์ก็ยังหลงเชื่อและส่งใบสมัครเข้ามาจริงๆ และระบบอัตโนมัติซึ่งเชอร์แมนเผลอตั้งค่าไว้ก็ดันส่งใบตอบรับเข้าเรียนไปให้คนที่ส่งใบสมัครเข้ามาทั้งหมดจริงๆ อีกเหมือนกัน!
 
ตัวการต้นคิดทั้ง 3 คนจึงต้องไปเช่าอาคารโรงพยาบาลร้างมาปรับปรุงใหม่ให้เป็น ‘สถาบันเทคโนโลยีเซาท์ฮาร์มอน’ หรือ South Harmon Institute of Technology ซึ่งใช้คำย่อว่า S.H.I.T ได้พอดี!! โดยใช้เงินทุนหลักล้านดอลลาร์ซึ่งได้มาจากค่าเทอมที่นักศึกษาบ้าจี้นับร้อยคนโอนมาให้ ก่อนที่ชีวิตใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย (เก๊) จะเริ่มขึ้นอย่างทุลักทะเล
 
ด้วยพล็อตเรื่องเฮฮาและไม่เน้นความสมจริงสมจัง ทำให้หนังไม่ได้รับคำวิจารณ์ในแง่ดีเท่าไหร่เมื่อนำออกฉายในอเมริกา แต่ถ้าพูดถึงเรื่องรายได้ก็ถือว่าไม่เจ็บตัว ถึงอย่างนั้นหนังก็ไม่มีโอกาสได้ฉายในโรงหนังบ้านเราอยู่ดี ส่วนดีวีดีลิขสิทธิ์ที่ออกวางจำหน่ายก็ตั้งชื่อออกแนวเบาสมองว่า ‘จิ๊จ๊ะมหาวิทยาลัยรักแห้ว’ ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของหนังยิ่งเบาโหวงไปกันใหญ่
 
แต่ในความไร้สาระที่เคลือบอยู่ด้านนอก พอกะเทาะปลอกออกพบว่าตัวหนังยังมีแก่นแกนที่ชัดเจน แม้จะดูพยายามจนเกินไปในหลายๆ ฉาก แต่ก็เป็นการตั้งคำถามตรงไปตรงมาชวนให้คิดต่ออยู่ใช่น้อย
 
ไม่ว่าจะเป็นฉากที่บาร์เทิลบีเปิดโอกาสให้นักศึกษาของ S.H.I.T ช่วยกันเสนอหลักสูตรที่แต่ละคนอยากเรียนขึ้นมาแทนที่การ ‘กำหนดหลักสูตร’ ซึ่งยึดตามแนวทางการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาในแบบแผนดั้งเดิม ซึ่งมีกรอบชัดเจนว่านักศึกษามีสิทธิ์เลือกได้เฉพาะสิ่งที่ทางสถาบันเสนอให้เท่านั้น ทว่าไม่มีสิทธิ์เรียกร้องหลักสูตรหรือแนวทางที่แตกต่างออกไป
 
รวมถึงฉากที่บาร์เทิลบีต้องไปชี้แจงหลักสูตรการเรียนรู้ของ S.H.I.T ในฐานะ ‘ผู้ก่อตั้งสถาบันฯ’ ต่อหน้าคณะกรรมาธิการพิจารณามาตรฐานสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านการรับรองคุณภาพและวิทยฐานะของสถาบันการศึกษาตัวจริง นำไปสู่การปะทะคารมว่าอะไรกันแน่ที่จำเป็นและยั่งยืนต่อการดำรงชีวิตมากกว่า ระหว่าง‘การศึกษา’ กับ ‘การเรียนรู้’ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลากหลายแนวทาง และไม่มีใครเป็นผู้ผูกขาดองค์ความรู้อยู่ฝ่ายเดียว
 
00000
 
หากประเด็นที่ Accepted วิพากษ์วิจารณ์อย่างชัดเจนที่สุดก็คือความคับแคบของระบบการศึกษาที่ปฏิเสธความแตกต่างหลากหลายทางวิธีคิดเรื่องการเรียนรู้ และกระบวนการ ‘คัดทิ้ง’ ที่ไม่ต่างจากการประทับตรา (ผิดๆ) ว่าผู้ที่ไม่ผ่านมาตรฐานการคัดเลือกนั้น ‘บกพร่อง’ หรือ ‘ด้อยคุณภาพ’
 

"ในความคิดคำนึงถึงระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นเพียงความสามารถหรือคุณสมบัติเฉพาะด้านเช่นนี้จะต่างอะไรจากระบบสายพานการผลิตผลไม้กระป๋องซึ่งเน้นที่การคัดเลือ 'ผลโตๆ' เป็นหลัก...ผลไม้ลูกเล็กที่ขนาดเล็ก 'ต่ำกว่ามาตรฐาน' ย่อมถูกคัดทิ้งและนำไปแปรรูปเป็นสินค้าอย่างอื่นโดยไม่ได้รับการพิจารณาหรือคำนึงถึงคุณสมบัติภายในอื่นๆ เช่น ความหวาน ความสด หรือความอร่อย แม้แต่นิดเดียว"

 
ขณะที่ในหนัง-บาร์เทิลบีมองว่าบรรดานักศึกษา S.H.I.T ไม่ได้รับการ ‘ยอมรับ’ จากสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นเพราะพวกเขาถูก ‘พิพากษา’ ไปแล้วว่าเป็นพวกขี้แพ้ไม่เอาไหน และเป็นพวกที่ถูก ‘คัดทิ้ง’ จากที่อื่น แต่นักศึกษาของ S.H.I.T ทั้งหมดก็ไม่เคยคิดที่จะหยุดเรียนรู้ในสิ่งที่พวกเขายังไม่รู้...  
 
ประโยคยืดยาวของบาร์เทิลบีในฉากนี้คล้ายจะเป็นแถลงการณ์ของผู้กำกับสตีฟ พิงค์ อดีตนักกิจกรรมทางสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับการบริการชุมชนอยู่พักใหญ่ก่อนจะผันตัวสู่แวดวงบันเทิง แต่ถ้าใครจะมองว่าหนังเรื่องนี้ทำขึ้นเพื่อตอบสนองจินตนาการที่ไม่มีวันเป็นจริงของพวกขี้แพ้ซึ่งอยากตอบโต้ระบบที่ตัวเองไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วม...ก็ย่อมทำได้อีกเช่นกัน
 
แต่ในชีวิตจริงซึ่งทางแก้ปัญหาไม่ได้มีแค่ ก ข ค ง หรือข้อ 1 2 3 4 บางทีการมองต่างมุมเรื่องการเรียนรู้อาจช่วยเตือนสติได้ว่าโลกยังมีอะไรที่มากกว่าและกว้างกว่าการวัดผลคะแนนสอบจากกระดาษคำตอบที่มีตัวเลือกให้เลือกแค่ไม่กี่ข้อ…

 

บล็อกของ Cinemania

Cinemania
โดย… พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ
Cinemania
      ซาเสียวเอี้ย   แต่ไหนแต่ไรมา...ระบบการศึกษาในพื้นที่หลายแห่งทั่วโลกมักถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการ ‘ดับฝัน’ ของคนวัยหนุ่มสาว เพราะทำให้ความอยากรู้อยากเห็นและกระตือรือร้นที่จะ ‘เรียนรู้’ สิ่งแปลกใหม่ในวัยเยาว์ถูกลบเลือนหายไปในกรอบ-กฎเกณฑ์-เหตุผล-เงื่อนไข และข้อเท็จจริงทั้งหลายทั้งปวง (ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีโอกาสเกิดมาใช้ชีวิตบนโลกก่อนหน้าเรา...)   กระนั้น...ใครหลายคนก็ยังยินดีเดินตามแนวทางหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่ถูกวางไว้แล้วโดยไม่เคยคิดตั้งคำถาม เพื่อแลกเปลี่ยนกับ ‘การยอมรับ’ จากสังคมรอบข้าง...เพื่อที่มนุษย์ทั้งหลาย (ซึ่งเป็นสัตว์สังคม)…
Cinemania
        ซาเสียวเอี้ย   ‘ชาร์ลี วิลสัน’ ตายแล้ว...   แม้การตายของเขาจะไม่ได้ทำให้โลกสะท้านสะเทือนอะไรมากนัก แต่ก็มีความหมายสลักสำคัญมิใช่น้อย เพราะบทบาทของวิลสันในสมัยที่เขายังหนุ่มแน่นและดำรงตำแหน่ง สว.รัฐเท็กซัสของสหรัฐอเมริกา เป็นประเด็นให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ถกเถียงกันไม่สิ้นสุดว่าควรจะจดจำเขาไว้ในฐานะอะไร...   บ้างก็ว่า ชาร์ลี วิลสัน คือ ‘นักการเมืองเจ้าสำราญ’ เจ้าของฉายา Good Time Charlie ผู้มีชีวิตโลดโผนเต็มไปด้วยสีสัน หรือเป็น ‘วีรบุรุษชาวอเมริกัน’ ผู้ช่วยให้นักรบมูจาฮิดีนขับไล่กองทัพสหภาพโซเวียตอันโหดร้ายป่าเถื่อนไปจากอัฟกานิสถาน…
Cinemania
themadmon หมายเหตุ: ข้อเขียนชิ้นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น บทสะท้อนย้อนคิดหลังจากการชมภาพยนตร์เรื่อง Air Doll ผมในฐานะที่เป็นผู้เขียนจงใจจะหยิบเลือกประเด็น (ซึ่งผ่านการตีความของผม) โดยไม่ได้อ้างอิงอย่างชัดเจนไปสู่ตัวภาพยนตร์ในแต่ละฉากแต่ละตอน โดยหวังว่าผู้ที่ยังไม่ได้ชมภาพยนตร์ก็สามารถอ่านได้ และผู้ที่ได้ชมภาพยนตร์แล้วจะสามารถระลึกถึงฉากต่างๆ ในภาพยนตร์ได้ด้วยเช่นกัน     หากลองพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ในสามประโยค  ผมคงพูดสั้นๆ ว่า.. “ผู้คนหลากหลาย เราต่างก็ว่างเปล่า และเหงามากมาย”  เพราะอะไรน่ะหรือ …
Cinemania
  บริวารเงา   ขงจื๊อ เป็นชื่อหนึ่งที่ผมได้ยินมาเนิ่นนาน ถ้าจำไม่ผิดอาจจะเป็นหนังจีนกำลังภายในสักเรื่องหนึ่งที่อ้างชื่อนี้ขึ้นมาเพื่อพูดถึงปรัชญาในเรื่องคุณธรรมน้ำมิตร ผมมารู้จักเขาอีกครั้งในห้องสมุดช่วงที่กำลังสนใจพวกวิชาปรัชญา จิตวิทยา วรรณกรรม ฯลฯ  แต่ผมกลับไปชอบปรมาจารย์จีนอีกคนคือ เล่าจื๊อ เสียมากกว่า เพราะว่าแกมีความคิดที่ 'แนว' ดี (อารมณ์ของวัยรุ่นเช่นนี้แล) อีกนัยหนึ่งก็ดูเพี้ยน ๆ อีกนัยหนึ่งก็มีอารมณ์ศิลปินกว่าขงจื๊อ ขณะที่ผมเห็นว่าขงจื๊อเอาแต่พร่ำบ่นอะไรที่เป็นหลักจริยธรรมน่าเบื่อ ๆ ซึ่งความน่าเบื่อนี้ไม่ใช่ความผิดของขงจื๊อเสียทีเดียว…
Cinemania
เดือนสองจันทร์   October Sonata: รักที่รอคอย
Cinemania
สุพิชชา โมนะตระกูล ตลอดช่วงเวลาขณะชมภาพยนตร์สารคดี “Our Daily Bread” ผู้เขียนรู้สึกตะลึงกับภาพที่ได้รับชม โดยสาเหตุหลักหาใช่ “ความงาม” ของสีสันหรือองค์ประกอบศิลป์แบบภาพที่ผู้กำกับภาพบรรจงจัดวางอย่างภาพยนตร์ที่มีภาพงามเรื่องอื่นๆ...หากเป็น “ความจริง” ของภาพที่ตรึงผู้เขียนไว้ตลอดระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง
Cinemania
  สาวกท่านเป้า ขณะที่กำลังตุรัดตุเหร่ในร้านหนังสือแอร์เย็นเฉียบ เพื่อตามหานิตยสารมือถือฉบับหนึ่ง บังเอิญเหลือบไปเห็นนิตยสารฉบับหนึ่งที่นำภาพโปรโมทภาพยนตร์ “วงษ์คำเหลา” มาขึ้นปก แต่เมื่อหยิบมาจึงรู้ว่าเป็นปกหลัง แต่ปกหน้าก็ยังเป็นวงษ์คำเหลาอยู่ดี จึงเริ่มรู้ตัวว่าถูกหลอกแดกเสียแล้ว มีที่ไหนวางขายนิตยสารโดยเอาปกหลังเป็นตัวชูโรง นิตยสารฉบับนั้นคือนิตยสารภาพยนตร์ของกลุ่มคนทวนกระแสที่ชื่อว่า “ไบโอสโคป”
Cinemania
   เคยได้ยินครูสอนประวัติศาสตร์บอกว่าคนอเมริกันมีปมเรื่องรากเหง้าทางวัฒนธรรม เพราะไม่ได้มีฐานที่มั่นคงแข็งแรงเท่าประเทศแถบยุโรปที่ผ่านการต่อสู้ก่อร่างสร้างชาิติและบ่มเพาะอารยธรรมมานานหลายศตวรรษ และต่อให้ ‘สหรัฐอเมริกา' เป็นถึงประเทศมหาอำนาจแห่งโลกสมัยใหม่ ก็ยังไม่วายถูกมองเป็นแค่ ‘เศรษฐีใหม่' หรือ ‘ชนชาติที่ไร้วัฒนธรรม' แถมยัง ‘บ้าอำนาจ' อีกต่างหากในสายตาของคนบางชาติถึงจะไม่แน่ใจว่าประโยคที่ได้ยินมาถูกต้องมากน้อยแค่ไหน แต่การที่สังคมอเมริกันให้ความสำคัญ (อย่างมาก)กับการเก็บรวบรวมประวัติศาสตร์ชาตินิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็คงพอจะเป็นภาพสะท้อนได้กลายๆ ว่าคนอเมริกันคงมี ‘ปม'…
Cinemania
 'มาริโอ โรปโปโร' เป็นลูกชายชาวประมง เติบโตมาบนเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งในอิตาลี ที่ซึ่งไม่มีน้ำประปาและผู้คนบนเกาะส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ...‘ปาโบล เนรูด้า' เป็นกวี-นักการทูต-นักการเมือง และเป็น ‘คอมมิวนิสต์' ชาวชิลี มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก แต่ต้องลี้ภัยไปอยู่บนเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งในอิตาลีช่วงปี 1952 และที่นั่นมีบุรุษไปรษณีย์เพียงคนเดียว...บุรุษไปรษณีย์นามว่า ‘มาริโอ โรปโปโร':::บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์::: Il Postino หรือ The Postman เป็นหนังภาษาอิตาลี แต่เป็นผลงานของผู้กำกับชาวอังกฤษ ‘ไมเคิล แรดฟอร์ด' ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์หลายสาขาเมื่อปี 2538…
Cinemania
  ..mad mon..::ข้อเขียนชิ้นนี้เปิดเผยเรื่องราวบางส่วนในภาพยนตร์:: 1. จุดเริ่มต้นของจุดจบและ/หรือจุดเริ่มต้นอันใหม่เรื่องราวปัจจุบันในภาพยนตร์บอกให้เรารู้ว่าเมื่อ 30 ปีก่อนนั้น Laura (Belén Rueda) เคยใช้ชีวิตช่วงเวลาหนึ่งอยู่ในสถานเลี้ยงดูเด็กกำพร้าแห่งหนึ่งก่อนที่เธอจะถูกรับไปเลี้ยง สถานเลี้ยงเด็กนั้นอาจเรียกว่าอยู่ในพื้นที่ชนบทซึ่งห่างไกลผู้คน ตั้งอยู่ไม่ไกลชายหาดและทะเลซึ่งมีประภาคารสูงใหญ่คอยส่องไฟนำทาง และถ้ำอีกอันหนึ่ง, สถานที่ซึ่งเป็นอดีตแห่งความทรงจำของเธอ ... 30 ปีต่อมา Laura กลับมาที่แห่งนี้อีกครั้ง เมื่อเธอ, สามีของเธอ - Carlos (Fernando Cayo), และ Simón (Roger Príncep)…
Cinemania
(เขียนเมื่อ 31 ธ.ค.51)จันทร์ ในบ่อ สิ้นปีกันเสียที บรรยากาศตึงๆ ปีนี้อาจทำให้ใครหลายคนอึดอัดและทำท่าจะลากยาวไปถึงปีหน้า ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ  คนสู้ๆ กับปัญหาที่รุมเร้า แต่ถ้าเครียดมากลองผ่อนคลายกันด้วยการหาหนังดูมาสักเรื่องสองเรื่อง จะซื้อ จะเช่ามานั่งดูที่บ้านหรือจะออกไปดูตามโรงภาพยนตร์ต่างๆ ก็ได้ ลองออกจากโลกความจริงไปอยู่ในโลกอื่นสักชั่วโมงสองชั่วโมงอาจจะสบายใจขึ้นส่วนถ้าใครยังไม่รู้จะดูเรื่องอะไร ที่ไหนอย่างไร ผมก็มีโปรแกรมหนังรับปีใหม่มาฝาก เป็นหนังฟรีกลางแปลงครับหลายคนคงไม่ค่อยทราบว่าที่มหาวิทยาลัยศิลปากรจะจัดเทศการหนังกลางแปลงกันทุกปี ในวันที่ 7-8-9 มกราคม 2552…