สุพิชชา โมนะตระกูล
ตลอดช่วงเวลาขณะชมภาพยนตร์สารคดี “Our Daily Bread” ผู้เขียนรู้สึกตะลึงกับภาพที่ได้รับชม โดยสาเหตุหลักหาใช่ “ความงาม” ของสีสันหรือองค์ประกอบศิลป์แบบภาพที่ผู้กำกับภาพบรรจงจัดวางอย่างภาพยนตร์ที่มีภาพงามเรื่องอื่นๆ...หากเป็น “ความจริง” ของภาพที่ตรึงผู้เขียนไว้ตลอดระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง
\\/--break--\>
ภาพจาก http://www.ourdailybread.at/
ตลอดช่วงเวลาขณะชมภาพยนตร์สารคดี “Our Daily Bread” ผู้เขียนรู้สึกตะลึงกับภาพที่ได้รับชม โดยสาเหตุหลักหาใช่ “ความงาม” ของสีสันหรือองค์ประกอบศิลป์แบบภาพที่ผู้กำกับภาพ (cinematography director) บรรจงจัดวางอย่างภาพยนตร์ที่มีภาพงามเรื่องอื่นๆ...หากเป็น “ความจริง” ของภาพที่ตรึงผู้เขียนไว้ตลอดระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง พร้อมๆ กับนำสมองผู้เขียนไปสู่ห้วงความคิดที่สับสนย้อนแย้งอันเป็นปฏิกิริยาจากภาพที่ปรากฏตรงหน้า
ภาพใน “Our Daily Bread” เป็นการร้อยเรียงกระบวนการผลิตอาหารของมนุษย์ในยุคสมัยใหม่ (modern agricultural production) ซึ่งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้บริโภคในยุโรปซึ่งต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยสูง ทว่า ด้วยสภาพสังคมเศรษฐกิจยุโรปในปัจจุบันที่จัดว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ค่าจ้างแรงงานได้ปรับตัวสูงขึ้น กระบวนการผลิตสินค้าเกษตรที่เคยเป็นอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้นจึงมีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายไปสู่การเป็นอุตสหกรรมเทคโนโลยีเข้มข้น เพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูงโดยที่เกิดต้นทุนต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยผู้ผลิตมีกำไรและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้
ผลที่ตามมา หรือสิ่งที่ต้องแลกได้แลกเสีย (trade-off) กับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ปรากฏในภาพยนตร์ “Our Daily Bread” ดังจะแยกประเด็นได้ดังนี้
นัยทางศาสนาของ “Our Daily Bread” : มนุษย์ในฐานะพระเจ้าในโลกสมัยใหม่?
Pray like this: 'Our Father in heaven, may your name be kept holy. Let your Kingdom come. Let your will be done, as in heaven, so on earth. Give us today our daily bread. Forgive us our debts, as we also forgive our debtors. Bring us not into temptation, but deliver us from the evil one. For yours is the Kingdom, the power, and the glory forever. Amen.'
Matthew 6:9-13
จากการสอบถามครูสอนศาสนาคริสต์ที่โบสถ์คริสตจักรชีวิตใหม่สวนพลูซึ่งผู้เขียนบังเอิญรู้จัก เขาได้อธิบายถึงคำว่า “Our Daily Bread” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำสวดอธิษฐานต่อพระเจ้าของชาวคริสเตียน แปลได้ว่า “อาหารประจำวัน” ซึ่งมีนัยถึง “การเลี้ยงดูของพระเจ้า” โดยที่พระเจ้าสอนคริสเตียนให้ถวายเกียรติทั้งหมดแด่พระองค์ ให้พึ่งพาพระองค์ในแต่ละวันและทุกๆ วัน คริสเตียนจึงต้องสวดอธิษฐานขออาหารประจำวันจากพระองค์ เพราะอาหารประจำวันที่มีกินล้วนแต่เป็นอาหารที่พระเจ้ามอบให้เท่านั้น ไม่มีจากแหล่งอื่น นอกจากนี้คริสเตียนยังศรัทธาว่าพระวจนะของพระเจ้าเปรียบได้กับอาหารประจำวัน การอ่านพระคัมภีร์จึงต้องอ่านทุกวันเพราะเปรียบได้กับการกินอาหารที่มนุษย์ต้องกินทุกวัน
แต่ภาพที่ปรากฏใน “Our Daily Bread” กลับไม่ได้เล่าเรื่องของชีวิตมนุษย์ในแบบเดียวกับพระวจนะเลย ไม่มีปาฏิหาริย์แห่งพระเจ้า ไม่มีพระเมตตาจากพระองค์ ล้วนเป็นภาพจริงของมนุษย์ในสหัสวรรษนี้ที่ต้องใช้แรงงานแลกกับขนมปังของเขาในแต่ละวัน
ยิ่งไปกว่านั้น การทำงานของมนุษย์ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันก็เข้าใกล้กับงานของพระเจ้าเสียจนผู้มิใช่คริสตศาสนิกชนอย่างผู้เขียน (ความเห็นส่วนบุคคล – ขออภัยเพื่อนคริสเตียนไว้ ณ ที่นี้) เกิดความสงสัยว่าเหตุใดพระองค์จึงยังไม่ทรงลงโทษเหล่ามนุษย์เหมือนดั่งที่ทรงลงโทษมนุษย์ผู้ริอาจสร้างหอคอยบาเบล
ในยุคปัจจุบัน มนุษย์กำหนดได้ว่าจะให้กำเนิดสัตว์อะไรจำนวนเท่าไหร่ หมู ไก่ วัวพ่อพันธุ์ถูกควบคุมการสืบพันธุ์ – มีชีวิตอยู่เพื่อถูกรีดน้ำเชื้อออกขายราคาแพง ลูกวัวจะคลอดเมื่อใดก็ “หยิบ” ออกมาจากท้องแม่วัวได้เหมือนเล่นกล ฝนฟ้าอากาศไม่เป็นใจก็เนรมิตรโรงเพาะชำปรับอุณหภูมิให้ได้ผลผลิตงดงาม ทุ่งทานตะวันเหลืองสดอร่ามตาถูกสั่งให้เหี่ยวตายเป็นทุ่งเศษซากดอกไม้แห้งกรังได้ในชั่วพริบตา อยากกินเนื้อกินปลาก็ดั่งมีมนต์คาถาแบบ “สังข์ทอง” เพียงนิ้วกดปุ่มเดินเครื่องจักรกลก็มีปลาเป็นพันๆ ตัวทะลักสู่สายพานการผลิต
ฉากหนึ่งในตอนต้นๆ เรื่อง จากภาพที่มืดมิด มนุษย์เปิดช่อง “ส่องสัตว์” บนประตูบานหนึ่ง ในห้องที่มีแสงส่องสว่างพบกรงสิ่งมีชีวิตที่ผู้ชมอาจดูไม่ชัดว่าเป็นสิ่งมีชีวิตอะไร ภาพยนตร์ฉายภาพในมุมกว้างอีกนิด พบมนุษย์คนเดียวกันเดินไปตามทางเดินยาวที่มีประตูดังกล่าวอยู่สองข้างทางคอยเปิดช่องห้องเก็บสิ่งมีชีวิตที่ผู้ชมค่อยๆ รับรู้จากภาพและเสียงร้องว่าเป็นฝูงลูกเจี๊ยบ ในที่สุดผู้ชมก็ต้องตะลึงเมื่อภาพฉายความยาวของทางเดินนั้น
นอกจากทางเดินที่ยาวเหยียดสุดจุดลับสายตา ผู้ชมยังได้ชมภาพโรงเพาะชำที่ส่องสว่างจำนวนมากพอที่เราจะเห็นจากบนเครื่องบินได้ ภูเขาหลายลูกที่ถูกปรับพื้นที่อย่างดีและปลูกพืชชนิดเดียวกันเป็นแถวแนวยาวสุดลูกหูลูกตา เนื้อหมูและเนื้อวัวชำแหละเสร็จแขวนโตงเตงเรียงรายนับไม่ถ้วน ไก่ที่แออัดกันจนไม่เห็นพื้นดินในโรงเลี้ยงขนาดใหญ่ การเลือกฉายภาพแบบ Landscape เช่นนี้ผู้เขียนเห็นว่า “Our Daily Bread” ต้องการให้เรารับรู้ถึงขนาดของการผลิตแบบ Mass production ซึ่งมนุษย์ไม่เพียงประสบความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายการประหยัดจากขนาด (Economies of scale) และการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังประสบความสำเร็จในการเป็นผู้สร้างและผู้ทำลาย (ผู้กำหนดการเกิด – กิน – สืบพันธุ์ – ตาย) เป็นมนุษย์ที่เอาชนะธรรมชาติและคิดค้นเทคโนโลยีในการผลิตอาหารประจำวันด้วยตัวเองโดยไม่ต้องท่องบทสวดอธิษฐานใดๆ: มนุษย์ในบทบาทของ “พระเจ้า”
Industrialization and Human characteristics/ ความแปลกแยกของมนุษย์กับงาน และความแปลกแยกของผู้บริโภคกับอาหารประจำวัน/ “The Machine”
จากแนวคิดของ อาดัม สมิธ จากงาน The Wealth of Nations ที่ตอนหนึ่งกล่าวว่าประเทศจะมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหากสามารถเพิ่มผลิตภาพของแรงงานได้ ซึ่ง อาดัม สมิธ เสนอว่าผลิตภาพจะเพิ่มได้หากแรงงานมีการแบ่งงานกันทำ (Division of Labour) เมื่อโลกวิวัฒน์มาจนถึงยุคหลัง “Fordism” (มานาน) ในปัจจุบัน ภาพโรงงานที่นำเสนอใน “Our Daily Bread” จึงเป็นประจักษ์พยานที่ยิ่งกว่าพอในความถูกต้องของแนวคิดดังกล่าวของอาดัม สมิธ
นอกจากการแบ่งงานกันทำแล้ว เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเป็นสิ่งจำเป็นเมื่อต้องการผลิตด้วยต้นทุนต่ำสุดอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด “Our Daily Bread” ฉายภาพของโรงงานผลิตสินค้าเกษตรตั้งแต่พืชผลไปจนถึงเนื้อสัตว์ ที่ใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างมาก เป็นการทำงานด้วยระบบสายพานอย่างมีประสิทธิภาพสูงจนน่าตกใจแรงงานแทบไม่ต้องกระดิกตัวเคลื่อนย้ายไปไหน เช่น ฉากการรีดนมวัวที่อาจใช้คนงานเพียงสองคนในการรีดนมวัวฝูงใหญ่ คือคนต้อนวัวเข้าสู่อาคารรีดนมทรงกระบอก กับผู้สวมเครื่องรีดนมให้กับวัวที่สายพานนำมาหยุดอยู่ตรงหน้า
ภาพที่เห็นเป็นส่วนใหญ่ในภาพยนตร์ก็คือภาพของเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้านำความสะดวกสบายมาสู่ชีวิตมนุษย์และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเป็นอย่างมาก แต่ในด้านหนึ่ง ภาพมนุษย์ที่ยืนอยู่เคียงข้างเครื่องจักรกลกลับมีใบหน้าที่ปราศจากซึ่งอารมณ์ของมนุษย์ ทั้งนี้เพราะวิถีการผลิต (Mode of production) แบบทุนนิยมนอกจากจะเปลี่ยนวีธีการผลิตสินค้าแล้วยังได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์ไปพร้อมๆ กัน
ในปัจจุบันสังคมมนุษย์ได้พัฒนาผ่านยุคล่าสัตว์ (Hunting) ยุคสังคมเลี้ยงสัตว์ (Pastoral) ยุคสังคมเกษตร (Farming) และยุคสังคมพานิชย์ (Commerce) อันเป็นสี่ขั้นตอนของการพัฒนาสังคมมนุษย์ตามแนวคิด อาดัม สมิธ มานานโขแล้ว ในยุคเหล่านั้นปฏิสัมพันธ์ของคนกับงานต่างไปจากภาพที่เห็นใน “Our Daily Bread” อย่างแทบจะสิ้นเชิง
ในยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม คนใช้มือในการทำเกษตรและประดิษฐ์สิ่งของ แรงงานหนึ่งคนจะทำงานหลายอย่าง หลายขั้นตอน มีการรวมตัวกันของกลุ่มช่างฝีมือและอาชีพต่างๆ (guild) กล่าวได้ว่าในอดีต ผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของคน คำว่า manufacture จึงมีรากศัพท์ของคำว่า “มือ” แต่หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปซึ่งนำมาสู่การพัฒนาของเทคโนโลยีในการผลิตต่างๆ และระดับการแบ่งงานกันทำที่เพิ่มขึ้น ความสัมพันธ์ของคนกับงานได้เปลี่ยนแปลงไป สถานะของแรงงานเปลี่ยนจากช่างฝีมือ (artisan) กลายเป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งในขั้นตอนการผลิตสินค้าซึ่งถูกแยกส่วนเป็นหลายสิบหลายร้อยขั้นตอน กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าฝีมือแรงงานก็ถูกลดคุณค่าเป็นสินค้าที่แลกเปลี่ยนได้ในตลาดเหมือนสินค้าอื่นๆ เราจึงเห็นในภาพยนตร์มีฉากคนงานถูกลำเลียงไปตามสายพาน (รถบัส) เพื่อไปทำงานในพื้นที่เพาะปลูกต่างๆ และมีผู้คุมยืนส่องกล้องจับตาดูการทำงานตลอดเวลา พวกเขาต่างจากลูกเจี๊ยบในกรงหรือไม่?
เมื่อผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ไม่ใช่ผลงานที่ทำด้วยมือของเขาเองทั้งหมด การให้คุณค่าต่องานซึ่งก็คือการหาเลี้ยงชีพของมนุษย์จึงเปลี่ยนแปลงไป แนวคิดและวิถีชีวิตจึงเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เราเห็นภาพคนงานที่ไร้อารมณ์ทำงานแบบโมโนโทน ไร้ซึ่งความกระตือรือร้น ความภาคภูมิใจ หรือความปิติยินดีในการทำงาน เพราะความสัมพันธ์ระหว่างงานกับคน คนกับคน และคนกับสัตว์เลี้ยงเพื่อการบริโภคที่เคยเป็นสัตว์ที่ต้องดูแลเองทุกขั้นตอน บัดนี้ถูกแทนที่ด้วยความสัมพันธ์แบบตลาด เราจึงเห็นภาพคนงานกินอาหารอย่างเดียวดาย (ซึ่งต่างจากคนงานต่างด้าวผู้ทำงานที่ใช้เทคโนโลยีต่ำซึ่งจับกลุ่มกินอาหารและคุยกันอย่างมีชีวิตชีวา) และไร้ซึ่งบทสนทนา ส่วนหนึ่งเนื่องจากในโรงงานต้องใส่หูฟังป้องกันเสียงเครื่องจักร และเพื่อนร่วมงานก็คือเครื่องจักรนั่นเอง
หากจะกล่าวให้ถูกต้อง ภาพเครื่องจักรที่เราเห็นจาก “Our Daily Bread” มิใช่เพื่อนร่วมงานของมนุษย์แต่เป็นนายของมนุษย์ เพราะมนุษย์จะต้องทำงานไปตามจังหวะการทำงานของเครื่องจักรและสายพาน เช่น ฉากการเก็บผักกระหล่ำ ตัดคอไก่ ชำแหละปลา การแบ่งงานกันทำทำให้มนุษย์ผูกพันกับสิ่งมีชีวิตน้อยลง และเครื่องจักรเข้ามาทำให้มนุษย์ตัดขาดกับความรู้สึกผิดบาปหรือสงสารเห็นใจในการต้องฆ่าสัตว์ เพราะมนุษย์แทบไม่ได้ลงมือ เพียงแต่ต้อนสัตว์เหล่านั้นเข้าสู่เครื่องปลิดชีวิตเท่านั้น นอกเหนือจากนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้เผยภาพการผลิตให้กับผู้บริโภคอย่างเราได้รับรู้ถึงกระบวนการผลิตและที่มาของชิ้นเนื้อและผักผลไม้ที่ถูกจัดวางอย่างน่ากินในซุปเปอร์มาร์เก็ต และตระหนักถึงความแปลกแยกของเรา (ผู้ไม่ได้ทำงานในภาคการผลิตอาหาร) กับอาหารประจำวันที่เราบริโภคอยู่ ความเป็นจริงก็คือผู้บริโภคอย่างเราก็ยอมรับความแปลกแยกนี้เพื่อแลกกับการได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์คุณภาพดีและราคาถูก
ดังนั้นในแง่หนึ่ง การลดลงของความรู้สึกผิดบาปในอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์เป็นเรื่องดีสำหรับผู้ประกอบอาชีพฆ่าและชำแหละสัตว์ (แต่การถูกควบคุมจังหวะชีวิตจากเครื่องจักร “The Machine” ยังคงเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับผู้เขียน) เพราะผู้ฆ่าสัตว์ประกอบอาชีพนี้ก็เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเช่นกันกับอาชีพอื่นๆ หากไม่มีผู้ประกอบอาชีพนี้ก็เราไม่มีเนื้อสัตว์บริโภค การที่มือของเราไม่ต้องเปื้อนเลือดแต่ยังบริโภคเนื้อสัตว์ไม่ทำให้เรามีศีลธรรมสูงกว่าผู้ฆ่าสัตว์ เราจึงไม่ควรโยนบาปไปให้กับอาชีพนี้
และถึงแม้มนุษย์จะพัฒนาเทคโนโลยีไปได้ไกลเพียงใดและเล่นบทบาทของพระเจ้าได้มากเพียงใด มีการต้องแลกได้แลกเสียกับการเปลี่ยนแปลงนี้ซึ่งส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ความนึกคิด วิถีชีวิตของมนุษย์ แต่ความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ก็ไม่ได้ถูกตัดขาดได้อย่างง่ายดายทั้งหมด มนุษย์ยังคงต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ใน “Our Daily Bread” เราจะเห็นฉากจบของภาพยนตร์เป็นกิจกรรมเดียวกับฉากเปิด นั่นก็คือ การชำระล้างทำความสะอาดโรงงาน คนงานอาจคิดว่านั่นเป็น metaphor ของการชำระล้างบาป เพราะไม่ว่างานของเขาคืออะไร เขาก็เลือกทำงานนั้นเพื่อให้ได้มีขนมปังกินให้ชีวิตอยู่รอด ผู้เขียนจินตนาการว่าคนงานคงสวดขอให้พระเจ้าอวยพรในขณะชำระล้าง... And forgive us our sins. และหน้าที่ทุกวันก็จบลงเช่นนี้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเริ่มใหม่ในวันต่อไป
ภาพยนตร์สารคดี “Our Daily Bread” โดย Nikolaus Geyrhalter นำเราไปร่วมชมกระบวนการผลิตอาหารของบริษัทผลิตอาหารในยุคปัจจุบันซึ่งอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทำให้ประหยัดแรงงานและเวลาในการผลิตลงได้มหาศาล โดยเสนอภาพในมุมมองราวกับเราได้ไปยืนชมกระบวนการผลิตอยู่ ณ ที่แห่งนั้น โดยไม่มีบทสนทนา บทพากย์ หรือ แม้แต่ตัวหนังสือที่ต้องการจะอธิบายหรือสื่อสารปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้เลย ภาพยนตร์เพียงนำเสนอภาพที่หนักแน่นทรงพลัง และอันเนื่องจากความ “จริง” (realistic) ของภาพ และมุมกล้องที่เป็นภาวะวิสัย – หรือพยายามจะเป็นภาวะวิสัยอย่างที่สุดในการสื่อสารกับผู้ชมภาพยนตร์ ทำให้กล่าวได้ว่า “Our Daily Bread” เป็นสารคดีที่เผยภาพ โดยปล่อยให้ผู้ชมได้คิดต่อด้วยตัวเอง โดยปราศจากความต้องการจะชี้นำซึ่งต่างภาพยนตร์สารคดีที่มีธงอยู่และพยายามนำเราไปสู่ธงนั้น เช่น ภาพยนตร์สารคดีของ Michael Moore (Bowling for Columbine, Fahrenheit 9/11, Sicko) หรือภาพยนตร์ที่มีประเด็นคล้ายกันคือเรื่องอุตสาหกรรมอาหารฟาสต์ฟู้ดอเมริกันแต่เลือกนำเสนอภาพแง่ลบและแง่ร้ายอย่าง Fast Food Nation (2006)
สำหรับตัวผู้เขียนเมื่อได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วความรู้สึกแรกคือทึ่งในเทคโนโลยีที่มนุษย์คิดค้นขึ้น และตะลึงกับขนาดการผลิตของอุตสหกรรมผลิตอาหาร รู้สึกสงสัยว่าในโลกยังมีคนอดอยากอยู่ได้อย่างไรเมื่อการเทคโนโลยีการผลิตอาหารก้าวหน้าไปถึงเพียงนี้ (และเดาคำตอบของคำถามจากที่เคยได้รับรู้ว่าบ่อยครั้งมีการเททิ้งหรือฝังกลบผลผลิตบางส่วนเพื่อให้กลไกราคาจัดการให้ได้ราคาที่ต้องการ) เกิดคำถามว่าผลิตภัณฑ์ที่ถูกพ่นยาโดยคนใส่ชุดป้องกันราวชุดอวกาศนั้นกินได้จริงหรือ มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบ้างไหม รวมถึงรู้สึกสับสนและมีความคิดขัดแย้งในตัวเอง (เช่น ความสงสารลูกเจี๊ยบ กับความชอบกินเนื้อย่างโคขุน จินตนาการของฟาร์มหรือไร่แสนสุขหรือชุมชนพอเพียงตามโทรทัศน์ กับประสิทธิภาพของการผลิตที่ทำให้ได้ผลผลิตราคาถูก และอื่นๆ) ที่สำคัญหลังจากดูภาพยนตร์จบแล้วรู้สึกว่าเสียงตนเองที่ต้องยอมรับความเห็นส่วนตัวประการหนึ่งนั้นช่างอ้อมแอ้มและเขินอาย… “Meat is Murder. Tasty, tasty murder.”