Skip to main content

 

สาวกท่านเป้า
ขณะที่กำลังตุรัดตุเหร่ในร้านหนังสือแอร์เย็นเฉียบ เพื่อตามหานิตยสารมือถือฉบับหนึ่ง บังเอิญเหลือบไปเห็นนิตยสารฉบับหนึ่งที่นำภาพโปรโมทภาพยนตร์ “วงษ์คำเหลา” มาขึ้นปก แต่เมื่อหยิบมาจึงรู้ว่าเป็นปกหลัง แต่ปกหน้าก็ยังเป็นวงษ์คำเหลาอยู่ดี จึงเริ่มรู้ตัวว่าถูกหลอกแดกเสียแล้ว มีที่ไหนวางขายนิตยสารโดยเอาปกหลังเป็นตัวชูโรง นิตยสารฉบับนั้นคือนิตยสารภาพยนตร์ของกลุ่มคนทวนกระแสที่ชื่อว่า “ไบโอสโคป”
เมื่อซื้อกลับมาพลิกอ่านก็เหมือนว่าถูกหลอกแดกเป็นครั้งที่สอง เพราะเนื้อหาแทบจะไม่มีเรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่ผู้เขียนลงทุนไปดูมา แต่ยังดีที่พอมีเรื่องราวของเหล่าหมู่มวลตลกคาเฟ่ทำหนัง และหนังไทยเรื่องสองเรื่องที่ผู้เขียนสนใจอยู่ในใจมาสามสี่วันนี้แล้วคือข้อเขียนสั้นๆ คือเรื่อง “สามชุก ขอเพียงโอกาสอีกสักครั้ง” และ “หนีตามกาลิเลโอ” (รวมถึงเอาคำพูดเท่ๆ ในไบโอสโคปฉบับนี้มาโคว้ทในข้อเขียนอันนี้อีกที รวมถึงข้อมูลที่เขาค้นๆ มา ถือว่ามีประโยชน์กับเงินที่ได้จ่ายไป)
“วงษ์คำเหลา” แค่ “ท่านเป้า” ก็คุ้มค่าตั๋วแล้วอย่างมากมายเลยทีเดียว
 

“ผมทำหนังไทย ผมไม่ต้องการจะโกอินเตอร์ เพราะผมโกไม่ได้ แต่จะทำทำยังไงถึงจะทำหนังไทยให้คนไทยดูแล้วได้อรรถรสของมัน เหมือนผมจะแกงป่าปลาดุกแล้วไปใส่ชีส คุณกินได้ไหมเล่า แต่บางคนกำลังพยายามทำตรงนี้อยู่ คืออายในการทำหนังแบบพวกผม อายในการทำหนังแบบหม่ำ จ๊กม๊ก แบบจาตุรงค์ แต่ถามว่าพวกผมอายมั๊ย ผมรวยอ่ะ (หัวเราะ)”

  โน้ต เชิญยิ้ม, ไบโอสโคป ฉบับที่ 92 กรกฎาคม 2552
ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้น หน้าชา เหงื่อไหลท่วมตามง่ามนิ้ว ขณะเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนัง เนื่องจากโปรแกรมถัดไปหลังจากการถวายความจงรักภักดีนี้ ผู้เขียนจะต้องเจอกับความฮาที่ได้คาดคิดไว้แล้ว ในภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของคุณหม่ำ “วงษ์คำเหลา”
ตัดฉากสลับมาที่ร้านก๋วยเตี๋ยวติดแอร์แห่งหนึ่งหลังดูวงษ์คำเหลาจบ ผู้เขียนได้ยินเสียงซุบซิบนินทาหนังเรื่องนี้ในแง่ลบ ว่าไม่ดีหยั่งงั้นหยั่งงี้อย่างมากมายเลยทีเดียว (คำของท่านเป้า)
ตัดฉากกลับมาก่อนเข้าโรง การมาดูหนังของคนกลุ่มหนึ่ง (แบบผู้เขียน) เป็นการเลือกดูหนังที่คาดหวังไว้แล้วว่ามันจะเป็นอย่างไร ถือว่าทำการบ้านสำรวจตรวจตราเงินในกระเป๋ามาพอสมควรแล้วว่าเงินที่เสียจะได้แลกมากับอะไร แน่นอนเลยทีเดียวว่าคนส่วนหนึ่ง(หรืออาจจะเป็นคนส่วนใหญ่) ที่ยอมเสียเงินย่างเหยียบตีนเข้าไปในโรงเพื่อดู “วงษ์คำเหลา” นี้นั้น มักจะเป็นแฟนพันธุ์แท้คุณหม่ำ แบบว่าแค่คุณหม่ำหันหน้าก็ฮากันอุตลุดแล้ว … เช่นเดียวกับผมและหลายคนในโรงวันนั้น
และเหตุการณ์ “ขำคุณหม่ำโดยใช่เหตุ” นี้ก็เกิดขึ้นอย่างมากมายเลยทีเดียว (คำของท่านเป้า) ทั้งๆ ที่คนที่เริ่มจะมาสนใจหม่ำอาจจะคาดไปไกลถึงหนังเสียดสีแบบอาร์ตๆ ให้ตีความกันได้ อย่างมากมายเลยทีเดียว (คำของท่านเป้า) ซึ่งอาจจะมีบ้าง เช่น การเล่นกับความสกปรกของคนระดับไฮโซตระกูลวงษ์คำเหลา เป็นขี้กลาก เป็นชันนะตุ, การนำคำหยาบคายใส่ปากผู้ดีที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนในหนังสกุลเดียวกัน เช่น ชักว่าว ขี้แตก และอีกมากมายเลยทีเดียว (คำของท่านเป้า) จนถึงแก่นของเรื่องที่เอาคนอีสานคนบ้านๆ มายัดในบทผู้ดีของหนังเรื่องนี้ การล้อเลียนข้ามชนชั้นเหมือนเอาตีนลูบหน้าชันชั้นดึกดำบรรพ์ในสังคมไทย หรือการล้อเลียนพล็อตเรื่องที่ตายไปแล้วแบบหนังสกุลบ้านทรายทองแท้ๆ
แต่แท้จริงแล้วคุณหม่ำนั้นได้แรงบันดาลใจในการสร้างเรื่องนี้จากหนังของตนเองคือ “แหยมยโสธร” โดยคุณหม่ำนั้นอยากทำหนังแบบ “แหยมๆ” ในเวอร์ชั่นของคนรวยบ้าง (เว็บไซต์ข่าวสด, 4 กรกฎาคม 2552)
ประเด็นที่ว่าไป (การตีความหนังเรื่องนี้ให้ดูอาร์ตๆ) อาจจะสลักสำคัญอย่างมากมายเลยทีเดียว (คำของท่านเป้า) สำหรับนักวิจารณ์หนังมืออาชีพ แต่สำหรับผู้เขียนที่เป็นเพียงผู้เสพย์หนังเพื่อความบันเทิง จึงไม่ได้ใส่อะไรอย่างมากมายเลยทีเดียว (คำของท่านเป้า) มากนักกับสิ่งที่ได้กล่าวไปนั้น ผู้เขียนเพียงสะดุดใจและเซอร์ไพรส์กับนักแสดงคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่คุณหม่ำ ที่แสดงโดยเพื่อนพี่น้องและลูกทีมหม่ำโมเดลลิ่ง ไม่ว่าจะเป็นคุณอาภาพร (พราวแพรว) คุณแวววาว (พลอยวรินทร์) คุณตุ๊กกี้ (หญิงนุช) คุณเฉลิมศักดิ์ (จูเนียร์) และคุณอนุวัตน์ (ท่านเป้า)
สำหรับท่านเป้าที่ผู้เขียนปลื้มเป็นพิเศษนั้นมีแบบเบ้าหลอมมาจากคนจริงๆ อย่าง “สายันต์ สัญญา” นักร้องแหบเสน่ห์ไอดอลของคนบ้านนอกสี่สิบอัพจนถึงห้าสิบ อย่างคุณธงชัย ประสงค์สันติ หรือแม้แต่คุณหม่ำเอง ซึ่งมันพาลให้ผู้เขียนนึกย้อนไปถึงแม่บังเกิดเกล้าที่สะสมเทปของคุณสายันต์ไว้อย่างมากมายเลยทีเดียว (คำของท่านเป้า) เพลงอย่าง “บัวตูมบัวบาน” ที่กรอกหูผู้เขียนมาตั้งแต่เด็ก รวมถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับอาการคลั่งสายันต์ของวัยรุ่นบ้านนอกในสมัยที่ยังไม่มี mp 3 บรรยากาศเก่าๆ งานบวช งานแต่ง ไมโครโฟนเหลี่ยมๆ ผูกผ้าแพร และเสียงเพลงของคุณสายันต์ ..ทำไมนะ นักร้องคนนี้ถึงอยู่ในใจหลายต่อหลายคนอย่างมากมายเลยทีเดียว (คำของท่านเป้า)
และถึงแม้จะมีเรื่องราวกับคุณยอดรัก ในประเด็นวิจารณ์แกล้งเป็นมะเร็ง-วงไฮโล จนถึงการโปรนายกทักษิณออกนอกหน้า ก็มิได้อาจทำให้ตำนานที่มีชีวิตอยู่คนนี้จะเสื่อมเกียรติด่างดำไปอย่างมากมายเลยทีเดียว (คำของท่านเป้า)
ที่สำคัญที่สุด คุณสายันต์มีคุณูปการต่อตลกคาเฟ่อย่างมากมายเลยทีเดียว (คำของท่านเป้า) เพราะผู้เขียนรับประกันได้เลยว่า ตลกคาเฟ่เกือบทุกวงในเมืองไทยล้วนแล้วแต่เอาคุณสายันต์มาล้อเป็นมุขแล้วอย่างมากมายเลยทีเดียว (คำของท่านเป้า)
ผู้เขียนลองทำเสียงหล่อและแหบพร่าแบบท่านเป้าในเรื่องวงษ์คำเหลาดูแล้ว ก็รู้สึกว่าเหนื่อยอย่างมากมายเลยทีเดียว (คำของท่านเป้า) การแสดงเป็นท่านเป้านี้จึงใช้ “พลัง” สูงเป็นอย่างมากมายเลยทีเดียว (คำของท่านเป้า) เสน่ห์ของหนังเรื่องนี้คือ การไม่โชว์ตัวคุณหม่ำเองมากมายเลยทีเดียว (คำของท่านเป้า) และนักแสดงตลกที่ไม่ใช่ตลกปัญญาชนจะยังไม่ตายไปไหน ดังวลีที่ว่า “ชีวิตแสนสั้น ตลกคาเฟ่นั้นยืนยัง” และเงาของคุณสายันต์จะยังคอยติดตามประคับประคองพวกเขาไปอย่างมากมายเลยทีเดียว (คำของท่านเป้า)

 
เรื่องย่อหนัง วงษ์คำเหลา
 
“ท่าน ชายเพชราวุธ” หนุ่มนักเรียนนอกผู้เงียบขรึม ทายาทผู้ดูแลธุรกิจพันล้าน “วงษ์คำเหลาจิวเวอร์รี่” และ “อภิมหาคฤหาสน์อลังการประจำตระกูล” เสาหลักที่ดูแลมวลเหล่าสมาชิกในตระกูลวงษ์คำเหลาที่ว่ากันว่าแต่ละคนล้วน เอ่อล้นไปด้วยเสน่ห์ที่แสนเจิดจรัสโดดเด่นท้าทายทุกสายตาในสังคมชั้นสูงได้ อย่างไม่เป็นสองรองตระกูลมหาเศรษฐีรายใดในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น คุณหญิงแม่พราวพิลาศ คุณผู้หญิงผู้รักศักดิ์ศรีและความเป็นผู้ดีทุกอณูแห่งลมหายใจ หญิงใหญ่พลอยวรินทร์ สาวโสดทึนทึกสุดเฮี้ยบ แถมเจ้าระเบียบอย่างสุดสุด
 
หญิง เล็กพราวแพรว ขากรี๊ดปรี๊ดแตก จอมวีนตัวจริงเสียงจริง และไพฑูรย์ น้องเล็กประจำตระกูลที่มีนิกเนมว่าจูเนียร์ ชายเล็กเด็กพิเศษที่แสนซื่อ แต่แสบบริสุทธิ์อย่างร้ายเดียงสา โดยเจ้าคุณปู่พรจรัส ชายชราที่ทำตัวลึกลับ ผู้ก่อตั้งตระกูลวงษ์คำเหลา วันๆ คอยเก็บตัวอยู่บริเวณตึกในของคฤหาสน์หรือที่รู้กันว่าเป็นเขตต้องห้ามประจำ ตระกูลเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญ นี่ขนาดยังไม่รวม 2 สมาชิกอย่าง ผักบุ้ง สาวใช้ร้อยชื่อบ่าวชั่งยุของหญิงเล็กที่ดูเผินๆ นึกว่าหลุดมาจากแคทวอร์คสยองขวัญ และนายเขื่อง ผู้รับโชคสองชั้นครองตำแหน่งโชเฟอร์และการ์เดนเนอร์ (คนสวน) ประจำตระกูล ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลต่างรวมตัวกันสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะแห่งความสนุก สนานให้พาลบังเกิดกับทุกคนทีได้พบพาน
 
จนกระทั่งความเปลี่ยนแปลงครั้ง ยิ่งใหญ่ที่ผู้ใดก็หาได้คาดคิดไม่ บังเกิดขึ้นในตระกูลวงษ์คำเหลาแห่งนี้ เมื่อพิรมน ครูสอนภาษาอังกฤษประจำตัวคนใหม่ของจูเนียร์ น้องชายคนเล็กประจำตระกูล ได้ปรากฏตัวขึ้น ทันทีที่หญิงสาวผู้งามงดหมดจดทั้งรูปร่างหน้าตาและก้านสมองได้ย่างกรายเข้า มาในเขตชายรั้วของคฤหาสน์วงษ์คำเหลา ไม่เพียงทำให้ ท่านชายเพชราวุธ ชายหนุ่มผู้เก็บงำความรู้สึกของตัวเองและไม่เคยมอบหัวใจอุ่นๆ ให้กับหญิงใดกลับต้องเสน่ห์ถึงขั้นอดไม่ได้ที่จะตกหลุมรักอย่างจังเบอร์กับ คุณพิรมน หนำซ้ำความงามของเธอยังสะกิดต่อมดวงใจของ ท่านเป้า ชายหนุ่มผู้สูงศักดิ์ คู่หมั้นของหญิงสาวพราวแพรว จนทำให้เกิดอาการ “ตาสว่าง” อยากเปลี่ยนคู่หมั้นแทบทันที เมื่อเกิดอาการ “รักหมดใจ” ต่อคุณพิรมนไปอีกคน
 
ในขณะเดียวกัน หญิงนุช เจ้าแม่แฟชั่นขนเฟอร์น้องสาวของท่านเป้าเองก็เกิดอาการ “แห้วรับประทาน” ที่จู่ๆ จะต้องสูญเสียท่านชายเพชร ยอดชายในดวงใจที่หมายมั่นมานามนมเป็นแน่แท้ จึงตัดสินใจแท็คทีมกับหญิงพราวแพรวที่กำลังจะสูญเสียท่านเป้าไปเฉกเช่นเดียว กันจัดแจงนัดแนะสารพัดวิธีและงัดแงะกลเม็ดสุดแพรวพราวเพื่อกันท่าและขวางลำ อย่างสุดชีวิตมิให้ “ท่านชายเพชรและพิรมน” พระเอกนางเอกของเราได้ครอบครองหัวใจของกันและกันได้สำเร็จ เพียงทว่าปัญหาเรื่องหัวใจที่นอกจากจะไม่ทั้งเข้าหรือออกหัวหงายก้อยตกไป อยู่ในมือใครแล้ว ท่านชายเพชรเองกลับตกอยู่ในสถานะภาพน้ำท่วมปากเมื่อท่านเป้ามาเอ่ยปากขอพิร มนด้วยตนเอง แถมยังมีอีกหลากหลายเรื่องราววุ่นๆ อีรุงตุงฮาที่เกี่ยวโยงผูกกันพัลวันไปหมดที่ต้องแก้ไข รวมไปถึงการค้นพบความลับบางอย่างในตระกูลวงษ์คำเหลา อันนำไปสู่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวสนุกสนานหรรษาฮาในแบบฉบับหนังรักไฮโซ สไตล์หม่ำ จ๊กม๊ก
 
http://movie.sanook.com/movie/movie_15711.php
 
 
 
 “คนจนหนีตามบังรอน” ส่วน “ไฮโซตะลอนหนีตามกาลิเลโอ” ใคร “ขบถกว่า”
“หนังไทยที่พูดถึงประชาชน ส่วนมากมักจะเป็นเรื่องความขัดแย้งระดับบุคคล อย่างเช่น ผัวทะเลาะกับเมีย หรือ เกย์ทะเลาะกับพ่อแม่ ทั้งๆ ที่ความขัดแย้งใน 3 จังหวัดภาคใต้คือวัตถุดิบที่หน้าสนใจ แต่ไม่มีใครหยิบมาทำ ถ้าเป็นฮอลลีวู้ดหรือยุโรปคงสร้างเป็นอุตสาหกรรมหนังสกุลหนึ่งเหมือนการนำสงครามอิรัก, อ่าวเปอร์เซีย หรือเหตุการณ์ 9/11 ที่ตอนนี้มีล้นตลาด”
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, ไบโอสโคป ฉบับที่ 92 กรกฎาคม 2552
จะด้วยปัจจัยอะไรไม่รู้ทำวัยรุ่นบ้านนอก (ที่มีตัวตนจริงๆ) กลุ่มหนึ่งหนีปัญหาชีวิตด้วยการสูบม้า ล่องลอยเหนือจินตนาการไปอย่างที่ใครหลายคนให้อภัยบ้างไม่ให้อภัยบ้าง ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมีม้าเม็ดไหนที่เขาสูบเป็นผลิตภัณฑ์ของบังรอน แต่ติ๊ต่างเอาในทางสัญลักษณ์ไปเลยก็แล้วกันว่าพวกเขาได้เข้าสู่โลกในการตามหา ศาสดาด้านม้าเม็ดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทยอย่าง “บังรอน” … ส่วนอีกมุมหนึ่งที่ต่างวาระต่างกรรมกัน วัยรุ่นไฮโซ (สมมติ) 2 คน หนีปัญหาจากการเรียนและเรื่องรักใคร่ไปตามประเทศเพื่อไปตามหาอะไรสักอย่างที่เขาว่ากันว่ามันเกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลกอย่าง “กาลิเอโอ”
ผู้เขียนโตมาในยุคที่ไม่มีใครไม่รู้จัก กระทาชายนาย “บังรอน” ที่พึ่งรอดพ้นโทษประหารไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เขาถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของมนุษย์เหนือกฎหมายที่เรียกได้ว่า “ขบถของจริง” และผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ของเขา ก็ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนที่ดูไม่จืดแทบทั้งสิ้น

 
 
ประหารแก๊งค้ายาบ้าแสนเม็ด สารภาพจำคุก 50 ปี-ตลอดชีวิต
 
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 21 พฤษภาคม ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลพิพากษาประหารชีวิต นายอัครเดช หรือบังรอน สอนพ่วง, นายเอกสิทธิ์ หรือเสี่ยวหลิง แซ่ฟุ้ง และ นายอุหมัด บุญส่ง เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐาน ร่วมกันมียาบ้าเพื่อจำหน่าย
 
คดีนี้พนักงานอัยการฝ่ายคดียาเสพติด 1 เป็นโจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2550 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามกับพวกที่ยังหลบหนี ร่วมกันมียาบ้า 100,000 เม็ดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 12,425,000 บาท เหตุเกิดที่แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กทม. โดยจำเลยที่ 1 เคยถูกศาลจังหวัดสตูลพิพากษาจำคุก 6 ปี 4 เดือน ฐานร่วมกันมียาบ้าไว้ในครอบครอง แต่กลับมากระทำความผิดซ้ำภายในเวลาห้าปี ขอศาลได้เพิ่มโทษ จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตามกฎหมายด้วย
 
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1-3 กระทำความผิดตามฟ้องจริง พิพากษาลงโทษประหารชีวิต    แต่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 50 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นพนักงานสอบสวน เป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2 และ 3 ไว้ตลอดชีวิต ส่วนที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษนั้นศาลเห็นว่า จำเลยได้ถูกล้างมลทินเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2550 กรณีจึงไม่มีเหตุให้เพิ่มโทษจำเลยได้
 
เว็บไซต์มติชน, 22 พฤษภาคม 2552
 
 
 
ว่ากันว่าในยุคเศรษฐกิจแฟบเพราะโรคต้มยำกุ้ง สิ่งหนึ่งที่ช่วยประคับประคองไม่ให้เศรษฐกิจไทยล่มจมก็คือ เม็ดเงินจากธุรกิจขายม้าเม็ด และการบริโภคต่อเนื่องของพ่อค้ารายเล็กรายใหญ่ ที่จับจ่ายใช้สอยสร้างบ้านแปงเมือง ซื้อรถเก๋งกะบะกันเกลื่อน
เช่นเดียวกับผู้บริโภคม้าเม็ดที่ต้องดินรนทำงานง่ายบ้างยากบ้าง (ขโมย หรือรับจ้างอย่างสุจริต หรือทำตัวเป็นผู้ประกอบการณ์รายย่อยเสียเอง) เสาะหาเงินมาบริโภคมัน .. เมื่อเงินมันหมุนไปหมุนมา เศรษฐกิจเราจึงไม่ได้ทรุดไปอย่างมากมายเลยทีเดียว (นึกว่าจะลืมวลีนี้เสียแล้ว)
จำได้ว่าขณะที่เรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนของผู้เขียนได้มีโอกาสต้อนรับเพื่อนนักเรียนชายจากสุพรรณ ที่สายข่าวปูดข้อมูลมาว่า เขาโดนไล่ออกจากโรงเรียนเก่าเนื่องจากข้อหาการเป็น “จ็อกกี้”
บอยเป็นคนขรึมๆ เรียบร้อย ไม่เหมือนจ็อกกี้เจ้าถิ่นในโรงเรียนของผู้เขียน ที่การจะเป็นจ็อกกี้นั้นจะต้องเป็นนักเลง เป็นอันทพาลก่อน และต้องเป็นควบคู่กันต่อเนื่องไปด้วย ซึ่งบอยเข้ากับพวกเขาได้ดี และเหล่าบันดาเด็กเรียน เด็กเรียบร้อยในโรงเรียนก็เริ่มเผยตัวว่าอยู่วงการนี้ออกมาทีละคน – การเป็นจ็อกกี้โดยเด็กเก๋าถูกทลายกำแพงการผูกขาดไปเสียแล้ว
อีกสิ่งที่ได้ปฏิวัติวงการจ็อกกี้ในโรงเรียนก็คือ เมื่อยามอด ยามขัดสน บอยนั้นไม่ได้ใช้วิธีนอกกฎหมายเพื่อให้ได้ม้าเม็ดมาเล่น บอยทำในสิ่งที่แปลกใหม่ แตกต่างและสร้างสรรค์กว่า คือเขานำยาแก้ปวดบูรามาดูดแทนม้า และหลังจากนั้นเขาก็ได้รับฉายาว่า “บอย บูรา”
การมาของ “บอย บูรา” ถือว่าได้สร้างปรากฏการณ์สำคัญให้แก่โรงเรียน นวัตกรรมการสูบม้าได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่อาจจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิม เพราะหากว่าเหล่าจ็อกกี้ทั้งหลายขัดสนเรื่องเงินทอง อาชญากรรมและการไถเงินพ่อแม่เปลี่ยนรูปไป เมื่อมีการหาอะไรต่อมิอะไรมาสูบกันเกลื่อนไล่ตั้งแต่ยาพาราไปจนถึงหญ้าแปลกๆ ที่ขึ้นตามกำแพงโรงเรียน หรือบางทีก็มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมเช่นเอายาเพื่อสุขภาพมามิกซ์ผสมกับม้าเม็ดในการดูด!
ผู้เขียนคิดว่าเหล่าจ็อกกี้เหล่านี้ไม่ได้โง่ ไม่ได้เลวร้าย แต่กลับมีความคิดสร้างสรรค์อย่างมากมายเลยทีเดียว (คำของท่านเป้า) และการขบถแบบนี้ แม้มันจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีสำหรับกฎเกณฑ์ของสังคม แต่ที่พูดเขียนจะเถียงไม่ได้สักแอะ ว่าจ๊อกกี้เหล่านี้ คือขบถของจริง! ขบถสุดขั้วเท่าที่ชีวิตผู้เขียนได้เคยพบปะมา
นอกจะเติบโตมาในยุคของ “บังรอน” แล้ว ผู้เขียน (คนเดียวกันนี้) ยังเติบโตมาในยุคของการแสวงหาตัวตนของวัยรุ่นในยุค “เบเกอรี่มิวสิค” อีกด้วย
เมื่อย่างเข้าวัยเขื่อง ผู้เขียนได้ไปเรียนในสถาบันอาชีวะศึกษาแห่งหนึ่งในตัวเมือง ที่เพื่อนร่วมรุ่นส่วนใหญ่จะมาจากที่ต่างๆ ใกล้ ไกล ตัวเมืองกันต่างๆ กันไป ช่วงวัยรุ่นสิ่งที่เราต้องพิสูจน์ต้องพิสูจน์ว่าเรานั้น “ไม่ธรรมดา” กว่าผู้อื่น
การที่จะไม่ธรรมดากว่าผู้อื่นนั้นเราต้อง สมาทานสิ่งไม่เหมือนคนทั่วไป เพื่อนคนนึงหันไปจับเอาวงเมทัลลิกา เพื่อนอีกคนหันไปจับดรีมเธียเตอร์ และเพื่อนอีกคนนึงไปจับเอาเพลงฮิปฮอบ ส่วนผมและเพื่อนอีกคนสองคนหันมาจับ วัฒนธรรมเบเกอรรี่มิวสิค (แต่ยังเป็นแนวร่วมกับไอ้สามตัวแรก เพราะมันผ่านการประเมินด้านความเก๋ไก๋) ค่ายเพลงที่ดูเก๋ไก๋อินดี้มากที่สุดของไทยในช่วงนั้น เราต้องฟัง บอยด์ ฟังโซล อาฟเตอร์ซิก ฟังนภ ฯลฯ ..และเราได้ทิ้งช่องว่างระหว่างเพื่อนกลุ่มที่ชอบเพลงเพื่อชีวิต อาร์เอส แกรมมี่ ไกลออกไป ค่อยๆ ไกลออกไป..
เรามีศาสดาคือ “พี่ป็อด โมเดิร์นด็อก” ขวัญใจเด็กแนวในยุคผม แกดังถึงขณะที่บริการมือถือเติมเงินยี่ห้อหนึ่งเอาแกไปเป็นตัวโฆษณาว่าด้วยการเป็นสัญลักษณ์ของความอิสระเสรีอะไรสักอย่าง …จนมาถึงปัจจุบันพี่ป็อดก็ยังพอขายได้ เห็นผ่านตาว่าแกได้ไปเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับกอ.รมน.ในโฆษณาชุด "สู้วิกฤติเศรษฐกิจ ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" … นี่แหละครับเทพเจ้าศิลปินอินดี้ของพวกเรา

 
 
"มาร์ค"จับมือ กอ.รมน. เดินหน้าโครงการเศรษฐกิจพอเพียง
 
เมื่อเวลา 14.00 น. ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ. รมน.) เป็นประธานเปิดโครงการ "สู้วิกฤติเศรษฐกิจ ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ดำเนินโครงการโดยกอ.รมน. โดยมีพล.อ.ประยุทธ จันโอชา เสนาธิการทหารบก ในฐานะเลขานุการกอ.รมน. นายวิชัย ศรีชวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมตัวแทนภาครัฐ-เอกชน ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ นายกฯได้ชมวีดีทัศน์การดำเนินโครงการ รวมทั้งหุ่นละครเล็ก คณะอักศรา ของนายเสกสรร ชัยเจริญ หรือ หนุ่มเสก ที่แสดงประจำอยู่ที่โรงแรมพูลแมน คิงส์พาวเวอร์ และการแสดงคอนเสิร์ตเพลงประจำโครงการ โดยนายยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ดคาราบาว และป๊อด โมเดิร์นด๊อก 
 
จากนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวเปิดโครงการตอนหนึ่ง ว่า โครงการดังกล่าว ครม.มีมติเห็นชอบตามที่ กอ.รมน.เสนอเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมาให้อนุมัติเงินงบประมาณ จำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลมองเห็นว่า สภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นปัญหาที่ต้องเร่งคลี่คลายและแก้ไขใน ทุกระดับ ที่สำคัญทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสแม้ความพยายามของรัฐบาลในเบื้องต้นจะมุ่ง บรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ และสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทย เพิ่มขีดความสามารถให้แข่งขันกับเศรษฐกิจโลกได้ แต่เรายังต้องอาศัยโอกาสจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงและปฏิรูปเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาเศรษฐกิจ
 
" รัฐบาลได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาขับเคลื่อนในการดำเนินการและเสริม สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยยึดสถาบันหลักของชาติคือสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิต ใจ ไม่ให้มีการล่วงละเมิด ระยะดำเนินโครงการช่วงแรก 6 เดือน ทั้งนี้ตลอดระยะกว่า 60 ปีของการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำ นิหลายโครงการ ด้วยพระอัฉริยภาพและประปรีชาสามารถ เป็นปรัชญาที่ใช้สติปัญญาผสมกับความรู้ สร้างความคุ้มค่าบวกกับคุ้มทุน สร้างความร่วมรักสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันทำ ทรงมีพระราชดำรัสว่า เศรษฐกิจพอเพียงต้องเริ่มที่พออยู่พอกินก่อนมุ่งไปถึงความเจริญทางเศรษฐกิจ การพัฒนาประเทศต้องทำตามลำดับ ต้องสร้างความพอกินพอใช้ก่อน ทรงบอกว่าถ้าไปเร่งสร้างความเจริญอย่างเดียว อาจเกิดความไม่สมดุลขึ้น และเป็นความล้มเหลวในที่สุด รัฐบาลเองจึงดำเนินโครงการชุมชนพอเพียงโดยนำปลักปรัชญาดังกล่าวมาใช้เพื่อ รักษาความยั่งยืนและความสงบสุขของสังคมของเราเอง ในภาวะที่ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจรัฐบาลเห็นว่าควรรณรงค์ให้ ประชาชนนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อเป็นอีกส่วนหนึ่งในการบรรเทา ผลกระทบที่เกิดขึ้น" นายกฯกล่าว
 
http://breakingnews.quickze.com/readnews-83029
 
 
ชีวิตในช่วงนั้น เราไม่มีอะไรเป็นแก่นสารมากมายเลยทีเดียว (คำของท่านเป้า) กิจวัตรประจำวันก็คือ แขวะเพื่อนๆ ที่เป็นพวกคนธรรมดาๆ (พวกฟังเพื่อชีวิต อาร์เอส แกรมมี่) ตามหาเสื้อผ้ามือสองเก๋ๆ อ่านนิตยสารแนวๆ อย่าง อะเดย์, แคท, มังก้าแคท (สองเล่มหลังนี่ของเบเกอรี่) หาวีซีดีหนังอาร์ตมาดูและวิจารณ์กัน ฯลฯ และเราก็รู้สึกได้ว่าคนกลุ่มอย่างพวกเรานี่มันช่างเป็นคนกลุ่มที่ถูกเลือกสรร มาให้พิเศษกว่าคนอื่น
ชีวิตผู้เขียนเริ่มไปบิดออกไปอีกแนว เมื่อไม่มีตังค์เรียนต่อ เพราะโควตาเงินกู้ยืมหมด กลับบ้านมาขายก๋วยเตี๋ยวใช้หนี้จนถึงทุกวันนี้ และแน่นอนว่าไม่มีตังค์เอาไปทำตัวเป็นอินดี้ สาวกเบเกอรี่ได้อีกตั้งแต่บัดนั้น ออกจากวงการอย่างเงียบๆ แล้วมาหาเพลงไรฟังไปตามมีตามเกิดโดยไม่เกี่ยงค่าย
ไม่รู้ว่าผู้อ่านจะตามทันเรื่องที่ผู้เขียนเกริ่นก่อนเข้าเรื่องหนังสองเรื่องที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ได้อย่างไร แต่ถ้าไม่เข้าใจหรือเดาไม่ออกว่ามันเกี่ยวกันอย่างไร ก็ไม่ได้ว่าอะไรผู้อ่าน เพราะนิ้วห้านิ้วยังไม่เท่ากัน บัวยังมีสี่เหล่า นับประสาอะไรกับความคิดความอ่านและรอยหยักในสมองของคน

 
“สามชุก ขอเพียงโอกาสอีกสักครั้ง” ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากเค้าโครงเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมเมื่อปี 2536 ในโรงเรียนสามชุกรัตนโภคาราม อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี เมื่อนักเรียนกลุ่มหนึ่งจำนวน 7 ชุก ติดยาบ้าอย่างหนัก ท่ามกลางเสียงก่นด่าของผู้คนว่าพวกเขาเป็น “เด็กเลวของสังคม” ครูพินิจ พุทธิวาส คุณครูธรรมดาๆ คนหนึ่งได้ลุกขึ้นประกาศกับสังคมว่า เด็กทั้ง 7 เป็นเพียงเหยื่อของความเสื่อมในสังคมเท่านั้น และเขาได้ยืนหยัดอยู่เคียงข้างเด็กๆ นำเด็กทั้ง7 เข้าค่ายอดยาด้วยวิธีการของเขาเอง จนพวก เด็กๆ กลับมาเป็นคนดีของสังคมได้ในที่สุด ด้วยความเชื่อที่ว่า… “หากใครสักคนที่ได้ให้ความรักแท้จริงกับผู้ที่ประสบความล้มเหลว โดยไม่มีเงื่อนไข จะทำให้ผู้นั้นมีพลังในการเปลี่ยนแปลง” และหนังเรื่องนี้ มีแรงบันดาลใจมากจาก สารคดี “ยาม้า มหันตภัยในสถานศึกษา” (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ยาบ้า) ผลิตโดย บริษัท เจเอสแอล ออกอากาศทางช่อง7 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2537 ที่ได้สร้างกระแสอันเป็นปรากฏการณ์ระดับชาติ เนื่องจากเป็นตัวจุดประกายเร่งเร้าให้รัฐบาลประกาศเปรี้ยงว่าต้องรีบแก้ไข (เว็บไซต์สยามรัฐ, 6 ก.ค. 2552)
 
“หนีตามกาลิเลโอ” ปลายศตวรรษที่ 16 เมืองปิซ่า ประเทศอิตาลี “กาลิเอโอ กาลิเลอิ” นักคิด นักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์หนุ่มไฟแรงแห่งยุคสมัย ทำการทดลองเรื่องแรงโน้มถ่วงของโลก ด้วยการโยนลูกบอลไม้จากยอดหอเอนปิซ่าต่อหน้าสาธารณะ ผลการทดลองครั้งนั้น กาลิเลโอได้ข้อสรุปว่า วัตถุ 2 ชิ้น ที่มีรูปทรงเดียวกัน และประกอบขึ้นด้วย มวลสารเดียวกัน จะตกถึงพื้นพร้อมกัน แม้ว่าจะมีน้ำหนักไม่เท่ากันก็ตาม ข้อสรุปของกาลิเลโอขัดแย้งกับแนวคิดของศาสนจักร ส่งผลให้กาลิเลโอถูกหมายหัวว่าเป็นพวก ‘จอม ขบถ’ ที่ต้องจับตาเฝ้าระวังใกล้ชิดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลายปีต่อมา กาลิเลโอ ‘งานเข้า’ อีกครั้ง เพราะดันไปประกาศตัวสนับสนุนแนวคิด “โลกไม่ใช่ ศูนย์กลางของจักรวาล” เป็นอีกครั้งที่ข้อสรุปของกาลิเลโอขัดแย้งกับสิ่งที่ศาสนจักรปรารถนาจะให้ ใครๆ เชื่อ และครั้งนี้ ศาสนจักรก็เห็นควรต้องจัดการหมอนี่ขั้นเด็ดขาด กาลิเลโอถูกจับขัง สิ้นสูญอิสรภาพ และ ชีวิตก็ตกระกำลำบาก หาความสะดวกสบายไม่ได้นับจากนั้น
 
ปี 2009 กรุงเทพฯ ประเทศไทย ห่างจากที่เกิดเหตุแรก เส้นรอบวงโลก เด็กสาว 2 คนกำลังประสบปัญหาชีวิตรุนแรงหนักหน่วงที่สุดในชีวิต “เชอรี่” นักศึกษาชั้นปีสุดท้ายของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ถูกตัดสิทธิ์สอบและสั่งพักการเรียนเป็น เวลา 1 ปีด้วยความผิด – ที่เจ้าตัวเห็นว่า - เล็กน้อย นั่นคือ การปลอมลายเซ็นต์อาจารย์ในใบขอ อนุญาตใช้ห้องเขียนแบบ “ก็แค่แบบฟอร์มโง่ๆ ที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไรและไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน” เชอรี่ว่า แต่ไม่ว่าเธอจะว่าอย่างไรก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลการลงโทษที่เธอได้รับ เชอรี่ต้องเรียนจบช้ากว่าเพื่อนคนอื่นๆ และโอกาสที่จะทำงานหาเงินให้พ่อภาคภูมิใจ ก็ต้องถูกขยับร่น ลงไปนานถึง 1 ปี
 
“นุ่น” หญิงสาวร่าเริง น่ารัก แสนงอน ก่อนหน้านี้ท้าเลิกกับ “ตั้ม” แฟนหนุ่ม มาแล้วหลายครั้ง ทว่า ลงท้าย ตั้มเป็นต้องงอนง้อ ไม่เคยยอมเลิกกับเธอเลยสักครั้ง อย่างไรก็ตาม กับครั้งนี้ ทุกอย่างแตกต่างออกไป “เพราะฉันถามว่า ‘เลิกกันไหม’ แล้วไอ้ตั้มบอกว่า ‘เออ’ “ไม่รงไม่เรียนมันแล้ว!” เชอรี่ตะโกนก้องแบบฉุนขาด “มีไอ้ตั้มที่ไหน ไม่มีนุ่นที่นั่น” นุ่นเอาบ้าง สองสาวตัดสินใจหนีให้ไกลจากสถานที่เกิดเหตุของปัญหา จูงมือกันมุ่งหน้าสู่ยุโรป บินข้ามหลายเส้นรุ้ง และอีกหลายเส้นแวง ปลดแอกตัวเองจากแรงดึงดูดของโลกทันที ผนของทั้งคู่นั้นแสนง่าย ลงคอร์สภาษา (บังหน้า) – เสิร์ฟ เสิร์ฟ เสิร์ฟ – เก็บตังค์ เก็บตังค์ เก็บ ตังค์ – เที่ยว เที่ยว เที่ยว เป้าหมาย คือ บิ๊กธรีแห่งยุโรป ลอนดอน - ปารีส – เวนิส สโตนเฮนจ์, ทาวเวอร์ บริดจ์, หอไอเฟล, พิพิธภัณธ์ลูฟร์, โคลอสเซียม, เรือกอนโดล่า, หอเอน ปิซ่า... แลนมาร์คสำคัญๆ ของโลกถูกหมุดหมายลงในใจของทั้งเชอรี่และนุ่น ก่อนออกเดินทาง ทั้งคู่จับมือจับไม้ ทำสัญญาใจกัน กฎข้อหนึ่ง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ห้ามทิ้งกัน กฎข้อสอง ห้ามแหกกฎข้อแรกเด็ดขาด! อย่างไรก็ตาม ลงท้ายมันก็เป็นอย่างที่เขาว่ากัน – ชีวิตเต็มไปด้วยเรื่อง ‘เซอร์ไพรส์’ คาดไม่ถึงสารพัด เชอรี่และนุ่น คาดไม่ถึงหรอกว่า บางครั้ง คำสัญญาเป็นมั่นเป็นเหมาะก็ถูกสั่นคลอนเสียง่ายๆ เมื่อ เจ้าของคำสัญญาเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าจากภาระหน้าที่ในชีวิตประจำวัน พวกเธอคาดไม่ถึงหรอกว่า บางที มิตรภาพยาวนานก็แทบจะถึงกาลแตกหักล่มสลายด้วยเหตุผลที่ เหมือนจะไม่เป็นเหตุผลว่า “กูเบื่อขี้หน้ามึง!” และนุ่นคาดไม่ถึงหรอกว่า เธอหนี ‘ตั้ม’ คนหนึ่งไปไกลถึงโลก เพียงเพื่อจะไปพบความ สัมพันธ์ครั้งใหม่กับ ‘อีกตั้มหนึ่ง’ เช่นกัน เชอรี่ก็คาดไม่ถึง ว่าความตั้งใจเดิมที่ออกเดินทางเพื่อพาตัวเองหลุดพ้นจากกฎโง่ๆ ทั้งหลาย ของโลกครั้งนี้ ที่สุดแล้วจะนำพาเธอไปแล่นลงจอด ณ ปลายทางของการเรียนรู้ว่า ไม่ว่าจะอย่างไร ไม่ว่าจะหนีไปไกลแค่ไหน เธอและใครๆ ต่างต้องอยู่บนกฎพื้นฐานข้อเดียวกัน ว่าเราไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก เช่นเดียวกับที่ โลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล อย่างที่กาลิเลโอว่าไว้ (http://thaicinema.org/kits149galileo.asp)
 
 
 
 “สามชุก ขอเพียงโอกาสอีกสักครั้ง” ภาพยนตร์เหลืองจ๋า (ที่ยังไม่เข้าโรง) ของ “ปื๊ด - ธนิตย์ จิตต์นุกูล” ที่ไฮบริดจ์แรงบันดาลใจความดีงามทั้งหมดในสังคมซึ่งคาดว่าจะฉายภาพของวัยรุ่นติดม้า มาแนว “น้ำพุ” หรือ “เสียดาย” กับ “หนีตามกาลิเลโอ” หนังเก๋ไก๋ซากเดนของคนรุ่นเบเกอรี่เจเนเรชั่น ว่าด้วยความขบถแบบเก๋ไก๋ของสังคมคนชั้นกลางค่อนข้างสูง ที่มีปัญญาหนีปัญหาไปยุโรปได้ หนังทั้งสองเรื่องแม้เรื่องแรกที่ผู้เขียนยังไม่ได้ดูและมีข้อมูลพูดถึงมันน้อยมาก กับอีกเรื่องที่พอแพลมๆ ได้ดูตัวอย่างและพอมีข้อมูลปะติดปะต่อแล้วว่ามันจะออกมาในรูปไหน และชูเรื่อง “ขบถ” เป็นจุดขาย (แต่เรื่องแรกคนทำเขาไม่ชู แต่ผู้เขียนขอชูมันเอง)ดังคำกล่าวของผู้กำกับเรื่อง “หนีตามกาลิเลโอ”
“หนังทั้งสองเรื่อง (Seasons Change และ หนีตามกาลิเลโอ) พูดถึงความขบถต่ออะไรบางอย่าง ซึ่งพอเป็นหนังวัยรุ่น สิ่งแรกที่ตัวละครขบถด้วยก็คือครอบครัว จู่ๆ เด็กผู้หญิงคนนึงมาบอกพ่อว่าจะไปอยู่เมืองนอก พ่อคงต้องถามแน่ๆ ว่าจะไปได้ยังไง จะอยู่ยังไง หรือเด็กผู้ชายบอกว่าอยากเรียนดนตรี พ่อก็มีคำถามอีกแหละว่าจบแล้วจะไปทำอะไรกิน
หรือเพราะตัวผมเองอาจจะเคยเป็นแบบนั้น ผมว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตอย่างหนึ่งนะ เรามีช่วงที่ตั้งคำถามกับตัวเองกับครอบครัว เช่นที่บ้านอยากให้เป็นอย่างหนึ่ง แต่เราชอบอีกอย่างหนึ่งมันจะมีปัญหาเกิดขึ้นไหม ของผมอาจไม่ถึงขั้นนั้น เพียงแต่มันเป็นความรู้สึกในใจที่เราอยากพิสูจน์ตัวเองให้ได้มากกว่า
คือตอนผมจบมัธยมกำลังจะเอ็นท์ฯ เข้ามหาวิทยาลัย แล้วพ่ออยากให้เรียนวิศวะ เพราะเขามองว่ามั่นคง แต่ผมเอ็นท์ฯ ไม่ติด ลึกๆ ก็พอรู้ตัวว่าอยากเรียนนิเทศฯ ยุคนั้นไม่ค่อยได้เรื่องอะไรในสายตาพ่อรู้สึกว่าเขาคงมีคำถามกับการตัดสินใจของเรา เพียงแต่เขาไม่เคยบังคับในสิ่งที่เราอยากทำ ผมก็เลยเอ็นท์ฯ ใหม่ ทำในสิ่งที่เราชอบให้ดีที่สุด เหมือนผมรอเวลาที่จะพิสูจน์ให้พ่อเห็นว่าเราไม่ได้ทำให้เขาผิดหวัง”
(นิธิวัฒน์ ธราธร, ไบโอสโคป ฉบับที่ 92 กรกฎาคม 2552)
ทั้งนี้ผู้เขียนรอดูเรื่อง  “สามชุก ขอเพียงโอกาสอีกสักครั้ง”อย่างใจจดจ่อ ถึงรู้ว่าจะได้ดูอะไร ผู้เขียนอยากดูภาพเก่าๆ “บังรอน” “บอย บูรา” และบรรดาเหล่าจ็อกกี้ ขบถแบบบ้านๆ (และผิดกฎหมายด้วย) แต่สำหรับอีกเรื่อง ที่ผู้เขียนได้ดูตัวอย่างมาในโรงแล้วนั้น มันก็พาลให้ตนเองคิดถึงคนในวัยเดียวกัน เราเคยเป็นคนกลุ่มน้อยที่คิดถึงแต่เรื่องของตัวเอง เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราคิดว่ามันแสนวิเศษ … ขบถจากยุคเบเกอรี่ยังไม่ตาย ทั้งๆ ซึ่งไม่ตายก็ไม่เป็นไร แต่เราก็น่าจะโตและคิดถึงเรื่องที่มากกว่าเรื่องแบบว่า “เล็กๆ นั้นงดงาม” หรือ “ขบถไม้จิ้มฟัน เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ” ไปได้เสียที!
 
.. แด่ “ท่านเป้า” และ “บอย บูรา”
we are the world รักกันๆ
 
หมายเหตุจากผู้เขียน
ถึงแม้ข้อเขียนชิ้นนี้อาจจะดูโปร “หนังตลก” และ “หนังบ้านๆ” ไปบ้าง และเสียดสี “หนังอินดี้ หนังอาร์ต” ไปเสียเยอะ แต่เมื่อลองละวางความพยาบาทต่อรสนิยมเท่เก๋ไก๋ที่แต่งแต้มใส่อารมณ์เหงาเศร้าสร้อย ขมุกขมัว เข้าใจยาก ของคนในอุตสาหกรรมและผู้บริโภค “หนังอินดี้ หนังอาร์ต” ไปแล้วเราจะพบว่า ทุกคนมีสิทธิชอบ แสร้งทำเป็นเคารพ และมีสิทธิ์ดูถูก รสนิยมคนอื่นได้ทั้งนั้น ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาอะไร
และถึงแม้ว่าผู้เขียนจะละวางสิ่งที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่ก็ยังยืนยันด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าการเปิดใจเป็นศัตรูกับคนในอุตสาหกรรมและผู้บริโภค “หนังอินดี้ หนังอาร์ต” และตั้งหน้าตั้งตาสรรหาเรื่องมาด่าพวกเขา ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร เป็นเรื่องขี้ตีนขี้ผงด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับการรัฐประหารหรือการยึดเอาศักดิ์ศรีความเป็นคนในระบอบประชาธิปไตยไป – อย่าไปซีเรียสในการจะทำร้ายจิตใจคนพวกนี้
คุณค่าของการตีความอะไรสักอย่างที่แฝงมาในงานศิลปะ ยังคงเป็นที่ถกเถียงว่าอรรถประโยชน์ต่อผู้บริโภคมันคืออะไร เพื่อจรรโลงสังคม เพื่อความบันเทิง หรือไม่เพื่ออะไรเลย (ศิลป์เพื่อศิลป์)
การกระแดะออกมาปกป้องหนังตลก หนังบ้านๆ หนังถ่อยสถุลไร้รสนิยมของผู้เขียนนั้นก็เป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับของการดูถูกดูแคลนก่อนหน้านี้ที่พวกเขาจะทำโดยจะตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม การเป็นคนส่วนน้อยในคนหมู่มากไม่ใช่จะเป็นคนที่ถูกหรือมีราคามากกว่าคนอื่นส่วนใหญ่เสมอไป ผู้เขียนคิดว่าการโปรวัฒนธรรมคนส่วนน้อย ที่ดูอาร์ตกว่า อินดี้กว่า มีระดับทางศิลปะกว่า เป็นผลสืบเนื่องมาจากนวัตกรรมการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่ ของพวกเอ็นจีโอน้ำเน่า ที่ชอบต้านประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งแบบตัวแทน โปรคนชายขอบ และเกลียดทักษิณ และกลุ่มคนสองกลุ่มนี้มีแนวโน้มว่าจะไปด้วยกันได้ดี เป็นสัญญาณอันตรายของสังคมไทยของการหนี mass ไปอย่างไร้หลักการ เน้นแต่ความ “เก๋ไก๋” ที่ดู “เปล่ากลวง” มันจะเป็นอันตรายอย่างมากมายเลยทีเดียว (คำของท่านเป้า) ต่อวัฒนธรรมประชาธิปไตยในผืนภิภพนี้

บล็อกของ Cinemania

Cinemania
โดย… พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ
Cinemania
      ซาเสียวเอี้ย   แต่ไหนแต่ไรมา...ระบบการศึกษาในพื้นที่หลายแห่งทั่วโลกมักถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการ ‘ดับฝัน’ ของคนวัยหนุ่มสาว เพราะทำให้ความอยากรู้อยากเห็นและกระตือรือร้นที่จะ ‘เรียนรู้’ สิ่งแปลกใหม่ในวัยเยาว์ถูกลบเลือนหายไปในกรอบ-กฎเกณฑ์-เหตุผล-เงื่อนไข และข้อเท็จจริงทั้งหลายทั้งปวง (ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีโอกาสเกิดมาใช้ชีวิตบนโลกก่อนหน้าเรา...)   กระนั้น...ใครหลายคนก็ยังยินดีเดินตามแนวทางหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่ถูกวางไว้แล้วโดยไม่เคยคิดตั้งคำถาม เพื่อแลกเปลี่ยนกับ ‘การยอมรับ’ จากสังคมรอบข้าง...เพื่อที่มนุษย์ทั้งหลาย (ซึ่งเป็นสัตว์สังคม)…
Cinemania
        ซาเสียวเอี้ย   ‘ชาร์ลี วิลสัน’ ตายแล้ว...   แม้การตายของเขาจะไม่ได้ทำให้โลกสะท้านสะเทือนอะไรมากนัก แต่ก็มีความหมายสลักสำคัญมิใช่น้อย เพราะบทบาทของวิลสันในสมัยที่เขายังหนุ่มแน่นและดำรงตำแหน่ง สว.รัฐเท็กซัสของสหรัฐอเมริกา เป็นประเด็นให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ถกเถียงกันไม่สิ้นสุดว่าควรจะจดจำเขาไว้ในฐานะอะไร...   บ้างก็ว่า ชาร์ลี วิลสัน คือ ‘นักการเมืองเจ้าสำราญ’ เจ้าของฉายา Good Time Charlie ผู้มีชีวิตโลดโผนเต็มไปด้วยสีสัน หรือเป็น ‘วีรบุรุษชาวอเมริกัน’ ผู้ช่วยให้นักรบมูจาฮิดีนขับไล่กองทัพสหภาพโซเวียตอันโหดร้ายป่าเถื่อนไปจากอัฟกานิสถาน…
Cinemania
themadmon หมายเหตุ: ข้อเขียนชิ้นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น บทสะท้อนย้อนคิดหลังจากการชมภาพยนตร์เรื่อง Air Doll ผมในฐานะที่เป็นผู้เขียนจงใจจะหยิบเลือกประเด็น (ซึ่งผ่านการตีความของผม) โดยไม่ได้อ้างอิงอย่างชัดเจนไปสู่ตัวภาพยนตร์ในแต่ละฉากแต่ละตอน โดยหวังว่าผู้ที่ยังไม่ได้ชมภาพยนตร์ก็สามารถอ่านได้ และผู้ที่ได้ชมภาพยนตร์แล้วจะสามารถระลึกถึงฉากต่างๆ ในภาพยนตร์ได้ด้วยเช่นกัน     หากลองพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ในสามประโยค  ผมคงพูดสั้นๆ ว่า.. “ผู้คนหลากหลาย เราต่างก็ว่างเปล่า และเหงามากมาย”  เพราะอะไรน่ะหรือ …
Cinemania
  บริวารเงา   ขงจื๊อ เป็นชื่อหนึ่งที่ผมได้ยินมาเนิ่นนาน ถ้าจำไม่ผิดอาจจะเป็นหนังจีนกำลังภายในสักเรื่องหนึ่งที่อ้างชื่อนี้ขึ้นมาเพื่อพูดถึงปรัชญาในเรื่องคุณธรรมน้ำมิตร ผมมารู้จักเขาอีกครั้งในห้องสมุดช่วงที่กำลังสนใจพวกวิชาปรัชญา จิตวิทยา วรรณกรรม ฯลฯ  แต่ผมกลับไปชอบปรมาจารย์จีนอีกคนคือ เล่าจื๊อ เสียมากกว่า เพราะว่าแกมีความคิดที่ 'แนว' ดี (อารมณ์ของวัยรุ่นเช่นนี้แล) อีกนัยหนึ่งก็ดูเพี้ยน ๆ อีกนัยหนึ่งก็มีอารมณ์ศิลปินกว่าขงจื๊อ ขณะที่ผมเห็นว่าขงจื๊อเอาแต่พร่ำบ่นอะไรที่เป็นหลักจริยธรรมน่าเบื่อ ๆ ซึ่งความน่าเบื่อนี้ไม่ใช่ความผิดของขงจื๊อเสียทีเดียว…
Cinemania
เดือนสองจันทร์   October Sonata: รักที่รอคอย
Cinemania
สุพิชชา โมนะตระกูล ตลอดช่วงเวลาขณะชมภาพยนตร์สารคดี “Our Daily Bread” ผู้เขียนรู้สึกตะลึงกับภาพที่ได้รับชม โดยสาเหตุหลักหาใช่ “ความงาม” ของสีสันหรือองค์ประกอบศิลป์แบบภาพที่ผู้กำกับภาพบรรจงจัดวางอย่างภาพยนตร์ที่มีภาพงามเรื่องอื่นๆ...หากเป็น “ความจริง” ของภาพที่ตรึงผู้เขียนไว้ตลอดระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง
Cinemania
  สาวกท่านเป้า ขณะที่กำลังตุรัดตุเหร่ในร้านหนังสือแอร์เย็นเฉียบ เพื่อตามหานิตยสารมือถือฉบับหนึ่ง บังเอิญเหลือบไปเห็นนิตยสารฉบับหนึ่งที่นำภาพโปรโมทภาพยนตร์ “วงษ์คำเหลา” มาขึ้นปก แต่เมื่อหยิบมาจึงรู้ว่าเป็นปกหลัง แต่ปกหน้าก็ยังเป็นวงษ์คำเหลาอยู่ดี จึงเริ่มรู้ตัวว่าถูกหลอกแดกเสียแล้ว มีที่ไหนวางขายนิตยสารโดยเอาปกหลังเป็นตัวชูโรง นิตยสารฉบับนั้นคือนิตยสารภาพยนตร์ของกลุ่มคนทวนกระแสที่ชื่อว่า “ไบโอสโคป”
Cinemania
   เคยได้ยินครูสอนประวัติศาสตร์บอกว่าคนอเมริกันมีปมเรื่องรากเหง้าทางวัฒนธรรม เพราะไม่ได้มีฐานที่มั่นคงแข็งแรงเท่าประเทศแถบยุโรปที่ผ่านการต่อสู้ก่อร่างสร้างชาิติและบ่มเพาะอารยธรรมมานานหลายศตวรรษ และต่อให้ ‘สหรัฐอเมริกา' เป็นถึงประเทศมหาอำนาจแห่งโลกสมัยใหม่ ก็ยังไม่วายถูกมองเป็นแค่ ‘เศรษฐีใหม่' หรือ ‘ชนชาติที่ไร้วัฒนธรรม' แถมยัง ‘บ้าอำนาจ' อีกต่างหากในสายตาของคนบางชาติถึงจะไม่แน่ใจว่าประโยคที่ได้ยินมาถูกต้องมากน้อยแค่ไหน แต่การที่สังคมอเมริกันให้ความสำคัญ (อย่างมาก)กับการเก็บรวบรวมประวัติศาสตร์ชาตินิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็คงพอจะเป็นภาพสะท้อนได้กลายๆ ว่าคนอเมริกันคงมี ‘ปม'…
Cinemania
 'มาริโอ โรปโปโร' เป็นลูกชายชาวประมง เติบโตมาบนเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งในอิตาลี ที่ซึ่งไม่มีน้ำประปาและผู้คนบนเกาะส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ...‘ปาโบล เนรูด้า' เป็นกวี-นักการทูต-นักการเมือง และเป็น ‘คอมมิวนิสต์' ชาวชิลี มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก แต่ต้องลี้ภัยไปอยู่บนเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งในอิตาลีช่วงปี 1952 และที่นั่นมีบุรุษไปรษณีย์เพียงคนเดียว...บุรุษไปรษณีย์นามว่า ‘มาริโอ โรปโปโร':::บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์::: Il Postino หรือ The Postman เป็นหนังภาษาอิตาลี แต่เป็นผลงานของผู้กำกับชาวอังกฤษ ‘ไมเคิล แรดฟอร์ด' ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์หลายสาขาเมื่อปี 2538…
Cinemania
  ..mad mon..::ข้อเขียนชิ้นนี้เปิดเผยเรื่องราวบางส่วนในภาพยนตร์:: 1. จุดเริ่มต้นของจุดจบและ/หรือจุดเริ่มต้นอันใหม่เรื่องราวปัจจุบันในภาพยนตร์บอกให้เรารู้ว่าเมื่อ 30 ปีก่อนนั้น Laura (Belén Rueda) เคยใช้ชีวิตช่วงเวลาหนึ่งอยู่ในสถานเลี้ยงดูเด็กกำพร้าแห่งหนึ่งก่อนที่เธอจะถูกรับไปเลี้ยง สถานเลี้ยงเด็กนั้นอาจเรียกว่าอยู่ในพื้นที่ชนบทซึ่งห่างไกลผู้คน ตั้งอยู่ไม่ไกลชายหาดและทะเลซึ่งมีประภาคารสูงใหญ่คอยส่องไฟนำทาง และถ้ำอีกอันหนึ่ง, สถานที่ซึ่งเป็นอดีตแห่งความทรงจำของเธอ ... 30 ปีต่อมา Laura กลับมาที่แห่งนี้อีกครั้ง เมื่อเธอ, สามีของเธอ - Carlos (Fernando Cayo), และ Simón (Roger Príncep)…
Cinemania
(เขียนเมื่อ 31 ธ.ค.51)จันทร์ ในบ่อ สิ้นปีกันเสียที บรรยากาศตึงๆ ปีนี้อาจทำให้ใครหลายคนอึดอัดและทำท่าจะลากยาวไปถึงปีหน้า ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ  คนสู้ๆ กับปัญหาที่รุมเร้า แต่ถ้าเครียดมากลองผ่อนคลายกันด้วยการหาหนังดูมาสักเรื่องสองเรื่อง จะซื้อ จะเช่ามานั่งดูที่บ้านหรือจะออกไปดูตามโรงภาพยนตร์ต่างๆ ก็ได้ ลองออกจากโลกความจริงไปอยู่ในโลกอื่นสักชั่วโมงสองชั่วโมงอาจจะสบายใจขึ้นส่วนถ้าใครยังไม่รู้จะดูเรื่องอะไร ที่ไหนอย่างไร ผมก็มีโปรแกรมหนังรับปีใหม่มาฝาก เป็นหนังฟรีกลางแปลงครับหลายคนคงไม่ค่อยทราบว่าที่มหาวิทยาลัยศิลปากรจะจัดเทศการหนังกลางแปลงกันทุกปี ในวันที่ 7-8-9 มกราคม 2552…