'มาริโอ โรปโปโร' เป็นลูกชายชาวประมง เติบโตมาบนเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งในอิตาลี ที่ซึ่งไม่มีน้ำประปาและผู้คนบนเกาะส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ...
‘ปาโบล เนรูด้า' เป็นกวี-นักการทูต-นักการเมือง และเป็น ‘คอมมิวนิสต์' ชาวชิลี มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก แต่ต้องลี้ภัยไปอยู่บนเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งในอิตาลีช่วงปี 1952 และที่นั่นมีบุรุษไปรษณีย์เพียงคนเดียว...
บุรุษไปรษณีย์นามว่า ‘มาริโอ โรปโปโร'
:::บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์::: |
Il Postino หรือ The Postman เป็นหนังภาษาอิตาลี แต่เป็นผลงานของผู้กำกับชาวอังกฤษ ‘ไมเคิล แรดฟอร์ด' ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์หลายสาขาเมื่อปี 2538 และดูเหมือนว่าจะไม่ได้รางวัลใหญ่ติดไม้ติดมือมามากนัก แต่จัดเป็นหนังที่ผู้ชมกล่าวถึงมากมาย ถึงขั้นกลายเป็นหนังในดวงใจของคอหนังหลายคน
สิบกว่าปีผ่านไป แผ่นดีวีดีลิขสิทธิ์ของหนังเรื่องนี้ถูกนำมาวางขาย พร้อมติดป้าย ‘ลดราคา' ตามร้านขายหนังทั่วไปในบ้านเรา ถือเป็นการลดราคาได้ถูกกาละเทศะอย่างยิ่ง! โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ฝนตก อากาศชวนหดหู่ และเศรษฐกิจฝืดเคืองจนไม่อยากออกจากบ้านไปผลาญเงินเล่น แต่เหมาะควรกับการนอนเอกเขนกดูหนังดีๆ สักเรื่องมากกว่า
หนังของผู้กำกับแรดฟอร์ดเรื่องนี้บอกเล่าชีวิตเรียบเรื่อยของ ‘มาริโอ' ซึ่งเปรียบเหมือนเรือลอยเท้งเต้งกลางทะเล ขาดหางเสือและไม่มีเข็มทิศ เพราะถึงแม้ว่าจะเิติบโตมาในชุมชนชาวประมง แต่เขาก็ไม่เคยคิดจะเอาดีทางการหาปลา และทางเลือกอื่นๆ ในชีวิตก็ใช่ว่าจะมีมาให้เลือกมากมายนัก
หลายคนมองว่ามาริโอเป็นเพียงหนุ่มขี้เกียจ หนักไม่เอา เบาไม่สู้ แต่สิ่งที่เขาพยายามพูดอ้อมๆ ให้พ่อเข้าใจมาตลอดว่าคลื่นลมรุนแรงในท้องทะเลทำให้เขารู้สึกวิงเวียนเกินกว่าจะทำอะไรได้ ส่วนพ่อที่เลี้ยงลูกชายโข่งมาหลายปีดีดักก็ตัดสินใจยื่นคำขาดในวันหนึ่งให้มาริโอไปหางานอื่นทำเป็นหลักแหล่งเสียที
เมื่อเห็นป้ายประกาศรับสมัคร ‘บุรุษไปรษณีย์ 1 ตำแหน่ง' มาริโอจึงเดินเข้าไปของานทำ พร้อมจูงจักรยานเก่าแก่ของตัวเองไปด้วย และคุณสมบัติแค่ ‘พออ่านออกเขียนได้' กับ ‘มีจักรยานเป็นของตัวเอง' ทำให้มาริโอได้งานนี้ไปอย่างง่ายดาย
ผู้ที่มาริโอต้องไปส่งจดหมายให้มีเพียงคนเดียว...
ผู้รับจดหมายนามว่า ‘ปาโบล เนรูดา'
เมื่อปี 1952 ‘ปาโบล เนรูด้า' ต้องลี้ภ้ยไปจากชิลี หลังประธาธิบดีกาเบรียล กอนซาเลส วิเดลา ผู้นำพรรคแรดิคัลขอร้องให้เนรูด้าช่วยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการหาเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่เมื่อได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกลับหักหลัง สั่งเจ้าหน้าที่รัฐกวาดล้างและจับกุมผู้สนับสนุนพรรคคอมนิวนิสต์ รวมถึงบรรดานักคิด-นักเคลื่อนไหวหัวเอียงซ้ายทั้งหมด
ที่หมายปลายทางของเนรูด้าจึงมุ่งไปที่เกาะเล็กๆ ในอิตาลี และที่นั่นเป็นที่ที่กวีกับบุรุษไปรษณีย์ได้รู้จักกัน
เนรูด้า หรือ ‘ดอน ปาโบล' ตามที่มาริโอเรียกด้วยความยกย่อง เป็นลูกค้าเพียงคนเดียวของที่ทำการไปรษณีย์บนเกาะ เพราะด้วยเหตุผลที่บอกไปแล้วคือคนส่วนใหญ่ที่นั่น ‘ไม่รู้หนังสือ' และวุ่นอยู่กับการทำมาหากิน ไม่มีเวลามาเขียนหรืออ่านจดหมายสักฉบับ
กระนั้น วงจรชีวิตของคนบนเกาะก็เปลี่ยนแปลงไปเมื่อบุคคลระดับโลกอย่างเนรูด้าแวะมาอยู่อาศัย จดหมายนับสิบนับร้อยฉบับถูกส่งมาจากทั่วโลก เพื่อรอให้เนรูด้าเปิดอ่าน และมาริโอเป็นบุรุษไปรษณีย์ที่ได้รับการว่าจ้าง เพื่อส่งจดหมายให้กับเนรูด้าโดยเฉพาะ
ในตอนแรกมาริโอเพียงหวังว่าเขาจะผูกมิตรกับกวีชื่อดัง เืผื่อเอาไว้ไปอวดให้คนอื่นๆ ฟังในภายภาคหน้า แ่ต่เมื่อมีโอกาสได้สนทนากับ ‘ดอน ปาโบล' และอีกฝ่ายอดทนตอบคำถามซื่อๆ เกี่ยวกับข้อสงสัยต่างๆ นานาที่เขาถาม โดยไม่มีท่าทีรังเกียจ ‘คนความรู้น้อย' มิตรภาพระหว่างกวีและบุรุษไปรษณีย์ก็แน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆ
มาริโอเปรียบคำพูดและบทกวีของเนรูด้ากับ ‘คลื่นในทะเล' ซึ่งซัดสาดใส่เขาจนรู้สึกโคลงเคลงเหมือนเป็นเรือปะทะคลื่นลมปั่นป่วน ขณะเดียวกันก็เป็นแรงดลใจให้เขาขวนขวายหาหนังสือและบทกวีอืนๆ มาอ่านด้วยความใคร่รู้ ส่วนดอน ปาโบลก็ได้ครุ่นคิด-ทบทวน และแลกเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อโลกผ่านคำถามซื่อๆ ตรงไปตรงมาของมาริโอ
หากจะพูดให้เจาะจงกว่านั้นก็คือมาริโอได้กระตุ้นเตือนให้เนรูด้ารำลึกถึงความมหัศจรรย์ของถ้อยคำ การสื่อสาร และการใช้ภาษา ขณะที่ดอน ปาโบล ทำให้คนที่ไม่มั่นใจในตัวเองอย่างมาริโอรู้สึก ‘มีคุณค่า' และได้รับการยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น
ยิ่งไปกว่านั้น ดอน ปาโบล ยังเป็นพ่อสื่อคนสำคัญที่ทำให้ ‘เบียทริซ' สาวงามประจำเกาะ หลานสาวของดอนน่า โรซ่า เจ้าของร้านเหล้าเคร่งศาสนา ยอมตกลงปลงใจกับหนุ่มที่ดูเหมือนจะไร้อนาคตคนนี้ด้วยความยินดี เพราะอานุภาพแห่งบทกวีแปลกหูและจับใจสาวน้อยมากกว่าคำหยอกล้อที่มักไ้ด้ยินจากปากลูกค้าขี้เหล้าในร้านของป้าเธอหลายเท่าตัวนัก
การมาเยือนของปาโบล เนรูด้าเปรียบเหมือนกุญแจไขสู่โลกใหม่ของมาริโอ โลกซึ่งเขาไม่อับจนถ้อยคำที่จะนำมาสะท้อนความรู้สึกนึกคิด และกระตุ้นให้ตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการค้นพบความกล้าที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาโต้แย้งแทนคนอื่นในสิ่งที่เห็นว่าไม่ถูกไม่ควร แม้ผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่ใช่อย่างที่คิด แต่ถือได้ว่ามาิริโอค้นพบ ‘เสียง' ของตัวเองแล้ว
แต่เมื่อรัฐบาลประธานาธิบดีกอนซาเลส-วิเอลาของชิลี อยู่ในช่วงขาลงเพราะแพ้ภัยในคดีทุจริตฉ้อฉล ผู้นำพรรคสังคมนิยม ‘ซัลวาดอร์ อัลเยนเด' ก็ได้รับเลือกดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อมาด้วยคะแนนถล่มทลาย เนรูด้าจึงได้รับคำเชิญให้เดินทางกลับบ้านเกิดได้
ตำแหน่ง ‘บุรุษไปรษณีย์' ของมาริโอจึงพลอยหลุดลอยไปด้วย เพราะลูกค้าคนเดียวที่มีอยู่ เดินทางไปไกลเกินกว่าเขาจะตามไปส่งจดหมายได้
จากนั้นข่าวคราวของดอน ปาโปล ที่เคยรู้จักก็ห่างไกลออกไปทุกที มุมมองที่มีต่อโลกของมาริโอก็ไม่สดสวยเหมือนเก่า เพราะถูกความจริงปล่อยหมัดน็อคเข้าใส่ไม่ยั้ง พร้อมกับที่บทกวีไพเราะเร้าอารมณ์ซึ่งเคยได้อ่านได้ฟังกลายเป็นเสียงตะโกนสั่งงานของดอนน่า โรซ่า ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายภรรยาที่กุมอำนาจสูงสุดในครอบครัว ตามด้วยเสียงมีดกระทบเขียง เพราะเขาต้องรับหน้าที่พ่อครัวจำเป็นเพื่อช่วยกิจการร้านเหล้าที่กำลังขยายตัว
นอกจากนี้ ดอนน่า โรซ่า มักกระทบกระเทียบให้ฟังเสมอว่าเนรูด้าเป็นเพียง ‘นกกระจอกกินอิ่มแล้วก็บินหนีไป' เพราะหลังจากที่มาใช้เกาะเป็นที่ลี้ภัยและสร้างความทรงจำให้คนมากมาย เนรูด้ากลับไม่เคยส่งจดหมายหรือติดต่อกลับมาหาพวกเขาอีกเลย
ชีวิตเรียบเรื่อยของชนชั้นแรงงานหาเช้ากินค่ำเช่นมาริโอ, ดอนน่า โรซ่า หรือแม้แต่จอร์จิโอ หัวหน้าของมาริโอที่มีชีวิตทั้งชีวิตผูกโยงกับที่ทำการไปรษณีย์เล็กๆ โทรมๆ อาจไม่น่าอภิรมย์ในความเป็นจริง แต่เรื่องราวที่ถ่ายทอดใน Il Postino เต็มไปด้วยความงดงามของรายละเอียดปลีกย่อยในชีวิตที่เราอาจเคยมองข้ามไป
ส่วนฉากหลังซึ่งคู่ขนานไปกับชะตากรรมของมาริโอคือบันทึกการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในอิตาลีและชิลี ที่ซึ่งไม่มีคำตัดสินถูกผิดว่าอะไรดีกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์ เผด็จการ หรือประชาธิปไตย ถ้าจะบอกว่ามันคือบันทึกการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองโลกในช่วงนั้นด้วยก็คงไม่ผิดนัก และคำตอบที่ซ่อนอยู่ในหนังของ ‘คนส่งสาร' เรื่องนี้ ก็อยู่ที่การ ‘ตีความ' เหตุการณ์ที่ล้อมรอบตัวเราให้ถ่องแท้
แม้ในสายตาของดอนน่า โรซ่า มองเห็นดอน ปาโบล เป็นเพียงนักฉวยโอกาส และจอร์จิโอชื่นชม ปาโบล เนรูด้า ในฐานะผู้เผยแพร่แนวคิดคอมมิวนิสต์คนสำคัญ และมองว่านั่นคือสถานะที่ทรงคุณค่ามากกว่าการเป็นกวี แ่ต่มาริโอกลับประทับใจมุมมองของเนรูด้าที่สอนให้เขา ‘รู้สึกรู้สา' ต่อสรรพสิ่งรอบตัว ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเล็กน้อยหรือดูเหมือนไร้ค่าในสายตาคนอื่นเพียงใด
การที่เนรูด้า ‘มองเห็น' และรับรู้การดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง ทำให้เขาไม่มองข้ามมาริโอ และปฏิบัติต่อ ‘บุรุษไปรษณีย์บ้านนอก' อย่างเพื่อนมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ขณะที่ในชีวิตจริงอีกด้านหนึ่ง เนรูด้าเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของโจเซฟ สตาลิน ผู้นำคอมมิวนิสต์ของอดีตสหภาพโซเวียตซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการใช้ความโหดเหี้ยมในการกำจัดศัตรูทางการเมือง
สาระสำคัญใน Il Postino จึงมิได้จำกัดวงแคบเฉพาะเรื่องราวของบทกวีแห่งความรัก หรือการฝ่าฟันอุปสรรคของหนุ่มสาว แต่มันตั้งคำถามถึงการมองชีวิตของตัวเองและคนอื่นๆ ที่มีปฏิสมพันธ์กันอยู่ หนังเรื่องนี้จึงไม่มีการตัดสินหรือพิพากษา หากแต่มี ‘เหตุ' และ ‘ผล' อันเกิดจากสิ่งที่ตัวละครแต่ละคนคิด เชื่อ และลงมือทำ
ในตอนท้ายเรื่อง ความคิดสับสนวนเวียนของมาริโอเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อได้กลับไปบ้านพักริมทะเลที่ดอน ปาโบล เคยใช้ชีวิตอยู่ช่วงหนึ่ง ที่นั่นมาริโอได้ค้นพบความจริงของการมีชีวิต รวมถึงความงดงามของการใช้ชีวิตบนเกาะเล็กๆ ที่ดูเหมือนจะน่าเบื่อแห่งนี้
มาริโอเริ่มต้นบันทึกเสียงลมพัดผ่านช่องเขา เสียงลมพัดยอดไม้ไหว เสียงคลื่นลูกย่อมซัดหาดทราย และเสียงคลื่นลูกใหญ่กระทบโขดหินดังสนั่น หวังจะส่งไปให้ดอน ปาโบล ได้ฟัง
แม้ว่าจดหมายฉบับสุดท้ายของเขาไม่มีวันส่งไปถึงชิลีก็ตาม...
มัสซิโม ทรอยซี (Massimo Troisi) ผู้กำกับ นักเขียนบท และนักแสดงชาวอิตาลีที่รับบทเป็นมาริโอ เสียชีวิตหลังถ่ายทำหนังเรื่องนี้เสร็จเพียง 2 วัน ขณะมีอายุเพียง 41 ปี สาเหตุเพราะเขาขอเลื่อนการผ่าตัดขยายหลอดเลือดหัวใจไปจนกว่าจะถ่ายหนังเสร็จ แต่ไม่ทันได้ผ่าตัดก็จากไปเสียก่อน ฟิลิปป์ นัวเรต์ (Philipe Noiret) นักแสดงชาวฝรั่งเศสผู้โด่งดังจากหนังอิตาลีอีกเรื่อง ‘Cinema Paradiso' รับบทเป็นปาโบล เนรูด้า เสียชีวิตแล้วเช่นกัน เมื่อปี 2549 ป.ล. Il Postino ดัดแปลงจากหนังเรื่อง Aciente Paciencia ของผู้กำกับ Antonio Skarmeta และหนังสือชื่อเกียวกัน ซึ่งมาริโอเป็นตัวละครสมมติ ขณะที่ปาโบล เนรูด้า ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมในปี 2514 |