เดือนสองจันทร์
October Sonata: รักที่รอคอย
ถ้าจะมีหนังแห่งปีสักเรื่อง ผมคงยกให้กับ October Sonata ที่เข้าฉายในช่วงส่งท้ายปีเก่าและรับปีใหม่ และให้เป็นหนังแห่งปี 2552 ที่เพิ่งผ่านไป และไม่น่าจะมีหนังไทยไหนคว้าตำแหน่งนี้ไปในปี 2553
ด้วยคนดูเพียง 6 คนทั้งโรง ในค่ำคืนหนึ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่ ทำให้หนังที่ผมยกให้เป็นหนังแห่งปี น่าจะสอบไม่ผ่าน 5 วันอันตรายของการขาย และคงจะได้เวลายืนโรงฉายอยู่เพียงน้อยนิด ความผิดประการสำคัญก็คือ การโฆษณาหนังชิ้นนี้ให้เป็น ‘หนังรัก’ โดยข้ามนัยอันทรงคุณค่าและแหลมคมไปอย่างน่าเสียดายและไม่น่าให้อภัย
นี่เป็นงานวัฒนธรรมที่บำบัดใจของผู้คนที่อึดอัดคับข้องใจในสถานการณ์สังคมการเมืองแห่งปีงานหนึ่งได้อย่างไม่ต้องสงสัย
ผมไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเรื่องหนังมากไปกว่านักวิจารณ์ทั้งหลาย กระนั้นหนังเรื่องนี้ก็ท้าทายนักวิจารณ์ว่าจะเข้าถึง หรือเลือกหยิบมุมไหนมาเสนอได้มากแค่ไหน
หนังเรื่องนี้เป็นหนังรัก เท่าๆ กับหนังการเมือง ฉากของเรื่องแม้ไม่ได้มีสถานการณ์ทางการเมืองให้เห็นมากนัก ทว่าตัวละครกลับโลดแล่นอยู่ในสถานการณ์การเมือง อยู่กับมัน ได้รับผลกระทบจากมัน และหนังก็แอบกระซิบเรื่องราวแห่งความฝันมากหลายกับเราด้วยภาษาของหนัง
เรื่องของหญิงสาวช่างฝัน เริ่มในปี 2513 ในวันที่มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิต 8 ตุลาคม ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519 ป่าแตก ไปจนถึงนโยบาย 66/23 ทว่าเรื่องที่หนังบอกเรากลับเป็นเรื่อง ‘ฝัน’ ที่เริ่มขึ้นนับเนื่องไปไกลถึงปี 2475
หนังจบด้วยคำอุทิศที่มอบให้ ‘ศรีบูรพา’ หลัง ‘แสงอาทิตย์’ ของเรื่องดับลง ทว่า ‘แสงจันทร์’ ที่สะท้อนอยู่ปลายขอบฟ้า กลับสว่างใส เยือกเย็น หนักแน่น
นี่ไม่ใช่พล็อตเรื่องของ แสงจันทร์ ที่รอคอยว่า สักวันจะได้เจอพระอาทิตย์ ประมาณนิยายรักประโลมโลกธรรมดาๆ แน่ๆ มันเปิดให้คนดูได้ตีความ คิดต่อ กระทั่งฝันต่อ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีของหนังและบทที่ดี
แน่ล่ะ หนังเรื่องนี้ออกโทนเรียบๆ ไม่เร้าใจ กระนั้นก็ไม่น่าเบื่อ และออกจะฟูใจ โดยเฉพาะเมื่อเราสัมผัสได้ถึง ‘มนุษยภาพ’ ที่แฝงอยู่ในเนื้อหาของเรื่อง เหมือนที่เราจะพบเช่นนั้นได้เสมอๆ ในบทประพันธ์ของ ‘ศรีบูรพา’
ใน พ.ศ.ที่คนไทยไม่เท่ากัน นี่ก็คือหนังที่แหลมคม ที่แอบปลุกให้คุณได้ ‘ฝัน’ สู้ และ ‘รอคอย’
แน่ล่ะ มันอาจจะจบลงด้วยความสิ้นหวังก็ได้ ทว่าระหว่างทางนั้น มันก็เปลี่ยนคนจาก ‘ไพร่’ สู่ ‘เสรีชน’
ตัวอย่างภาพยนตร์ October Sonata: รักที่รอคอย