Skip to main content
Cinemania
      ซาเสียวเอี้ย   แต่ไหนแต่ไรมา...ระบบการศึกษาในพื้นที่หลายแห่งทั่วโลกมักถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการ ‘ดับฝัน’ ของคนวัยหนุ่มสาว เพราะทำให้ความอยากรู้อยากเห็นและกระตือรือร้นที่จะ ‘เรียนรู้’ สิ่งแปลกใหม่ในวัยเยาว์ถูกลบเลือนหายไปในกรอบ-กฎเกณฑ์-เหตุผล-เงื่อนไข และข้อเท็จจริงทั้งหลายทั้งปวง (ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีโอกาสเกิดมาใช้ชีวิตบนโลกก่อนหน้าเรา...)   กระนั้น...ใครหลายคนก็ยังยินดีเดินตามแนวทางหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่ถูกวางไว้แล้วโดยไม่เคยคิดตั้งคำถาม เพื่อแลกเปลี่ยนกับ ‘การยอมรับ’ จากสังคมรอบข้าง...เพื่อที่มนุษย์ทั้งหลาย (ซึ่งเป็นสัตว์สังคม) จะได้ไม่ต้องรู้สึกวุ่นวายใจไปกับความโดดเดี่ยวแปลกแยกหรือแหกคอก   การตั้งคำถามกับระบบการศึกษาจึงเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส และไม่ค่อยมีใครกล้าลุกขึ้นมาปฏิเสธระบบกันมากนัก แม้จะมีกระแส ‘Drop Out’ ที่ชักชวนให้นักเรียนนักศึกษาหันหลังให้กับตำราและออกไปเผชิญโลกกว้างอยู่บ้างในยุคหนึ่งทางซีกโลกตะวันตก แต่กาลเวลาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเป็นอย่างบิล เกตส์ หรือสตีฟ จ๊อบส์ได้...                                                                   00000   แต่ในภาพยนตร์ตลกวัยรุ่นฮอลลีวู้ดที่ออกฉายปี 2549 เรื่อง Accepted ผลงานเรื่องแรกในฐานะผู้กำกับของ ‘สตีฟ พิงค์’ (อดีตคนเขียนบทหนัง Grosse Point Blank และ High Fidelity และผู้อำนวยการสร้างเรื่อง America Sweetheart) ได้พยายามตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะเป็นคำถามที่มาพร้อมกับลีลาโปกฮามากกว่าจะจริงจังขึงขังอะไรมากมาย แต่ก็เป็นภาพยนตร์วัยรุ่นเรื่องล่าสุดที่พูดถึงปัญหาของระบบการศึกษาออกมาตรงๆ   เรื่องราวในหนังเริ่มต้นด้วยการบอกเล่าชะตากรรมของ ‘บาร์เทิลบี เกนส์’ (แสดงโดยจัสติน ลอง จาก Die Hard ภาคล่าสุด) เด็กนักเรียนไฮสคูลปีสุดท้ายที่ยังเคว้งคว้างไร้อนาคต เพราะไม่มีมหาวิทยาลัยแห่งไหนตอบรับใบสมัครเรียนของเขาเลย ในขณะที่พ่อและแม่ต่างก็คาดหวังว่าลูกชายคนเดียวจะต้องมีอนาคตที่ดีและได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ไหนสักแห่ง ทำให้บาร์เทิลบียิ่งกดดันว่าพ่อกับแม่คงผิดหวังถ้าได้รู้ว่าลูกชายกลายเป็นคน ‘ไร้อนาคต’ ไปเสียแล้ว   ขณะที่ ‘เชอร์แมน เชรดเดอร์’ (แสดงโดยโจนาห์ ฮิล) เพื่อนสนิทของบาร์เทิลบี และ ‘รอรี่’ (แสดงโดย มาเรีย เทเยอร์) สาวผมแดงเด็กเรียนเพื่อนร่วมชั้น ล้วนไม่ผ่านการพิจารณาจากมหาวิทยาลัยที่สมัครไปกันถ้วนหน้า ทำให้ทั้งหมดคิดแผนการขึ้นมาตบตาบรรดาพ่อแม่ว่าพวกเขาได้รับการตอบรับเข้าเรียนแล้วจากมหาวิทยาลัยที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ และพวกเขาได้สร้างเว็บไซต์แนะนำมหาวิทยาลัยอุปโลกน์ให้พ่อและแม่เข้าไปดูประกอบคำโกหกให้ฟังน่าเชื่อถือมากขึ้น   เว็บไซต์มหาวิทยาลัยกำมะลอเกิดขึ้นได้เพราะภาพตัดต่อจากโปรแกรมโฟโตชอป แสดงบรรยากาศและอาคารสถานที่สมจริงสมจัง แถมยังมีปุ่มให้ ‘ผู้ที่สนใจเข้าศึกษาต่อ’ คลิกส่งใบสมัครมาพิจารณากันอีกด้วย และนอกจากพ่อแม่ของทั้งหมดจะเคลิ้มเชื่อตามไปด้วยแล้ว ปรากฏว่านักเรียนนับร้อยคนพลาดหวังจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่เสิร์ชเจอข้อมูลปลอมๆ ในเว็บไซต์ก็ยังหลงเชื่อและส่งใบสมัครเข้ามาจริงๆ และระบบอัตโนมัติซึ่งเชอร์แมนเผลอตั้งค่าไว้ก็ดันส่งใบตอบรับเข้าเรียนไปให้คนที่ส่งใบสมัครเข้ามาทั้งหมดจริงๆ อีกเหมือนกัน!   ตัวการต้นคิดทั้ง 3 คนจึงต้องไปเช่าอาคารโรงพยาบาลร้างมาปรับปรุงใหม่ให้เป็น ‘สถาบันเทคโนโลยีเซาท์ฮาร์มอน’ หรือ South Harmon Institute of Technology ซึ่งใช้คำย่อว่า S.H.I.T ได้พอดี!! โดยใช้เงินทุนหลักล้านดอลลาร์ซึ่งได้มาจากค่าเทอมที่นักศึกษาบ้าจี้นับร้อยคนโอนมาให้ ก่อนที่ชีวิตใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย (เก๊) จะเริ่มขึ้นอย่างทุลักทะเล   ด้วยพล็อตเรื่องเฮฮาและไม่เน้นความสมจริงสมจัง ทำให้หนังไม่ได้รับคำวิจารณ์ในแง่ดีเท่าไหร่เมื่อนำออกฉายในอเมริกา แต่ถ้าพูดถึงเรื่องรายได้ก็ถือว่าไม่เจ็บตัว ถึงอย่างนั้นหนังก็ไม่มีโอกาสได้ฉายในโรงหนังบ้านเราอยู่ดี ส่วนดีวีดีลิขสิทธิ์ที่ออกวางจำหน่ายก็ตั้งชื่อออกแนวเบาสมองว่า ‘จิ๊จ๊ะมหาวิทยาลัยรักแห้ว’ ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของหนังยิ่งเบาโหวงไปกันใหญ่   แต่ในความไร้สาระที่เคลือบอยู่ด้านนอก พอกะเทาะปลอกออกพบว่าตัวหนังยังมีแก่นแกนที่ชัดเจน แม้จะดูพยายามจนเกินไปในหลายๆ ฉาก แต่ก็เป็นการตั้งคำถามตรงไปตรงมาชวนให้คิดต่ออยู่ใช่น้อย   ไม่ว่าจะเป็นฉากที่บาร์เทิลบีเปิดโอกาสให้นักศึกษาของ S.H.I.T ช่วยกันเสนอหลักสูตรที่แต่ละคนอยากเรียนขึ้นมาแทนที่การ ‘กำหนดหลักสูตร’ ซึ่งยึดตามแนวทางการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาในแบบแผนดั้งเดิม ซึ่งมีกรอบชัดเจนว่านักศึกษามีสิทธิ์เลือกได้เฉพาะสิ่งที่ทางสถาบันเสนอให้เท่านั้น ทว่าไม่มีสิทธิ์เรียกร้องหลักสูตรหรือแนวทางที่แตกต่างออกไป   รวมถึงฉากที่บาร์เทิลบีต้องไปชี้แจงหลักสูตรการเรียนรู้ของ S.H.I.T ในฐานะ ‘ผู้ก่อตั้งสถาบันฯ’ ต่อหน้าคณะกรรมาธิการพิจารณามาตรฐานสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านการรับรองคุณภาพและวิทยฐานะของสถาบันการศึกษาตัวจริง นำไปสู่การปะทะคารมว่าอะไรกันแน่ที่จำเป็นและยั่งยืนต่อการดำรงชีวิตมากกว่า ระหว่าง‘การศึกษา’ กับ ‘การเรียนรู้’ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลากหลายแนวทาง และไม่มีใครเป็นผู้ผูกขาดองค์ความรู้อยู่ฝ่ายเดียว   00000   หากประเด็นที่ Accepted วิพากษ์วิจารณ์อย่างชัดเจนที่สุดก็คือความคับแคบของระบบการศึกษาที่ปฏิเสธความแตกต่างหลากหลายทางวิธีคิดเรื่องการเรียนรู้ และกระบวนการ ‘คัดทิ้ง’ ที่ไม่ต่างจากการประทับตรา (ผิดๆ) ว่าผู้ที่ไม่ผ่านมาตรฐานการคัดเลือกนั้น ‘บกพร่อง’ หรือ ‘ด้อยคุณภาพ’   "ในความคิดคำนึงถึงระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นเพียงความสามารถหรือคุณสมบัติเฉพาะด้านเช่นนี้จะต่างอะไรจากระบบสายพานการผลิตผลไม้กระป๋องซึ่งเน้นที่การคัดเลือ 'ผลโตๆ' เป็นหลัก...ผลไม้ลูกเล็กที่ขนาดเล็ก 'ต่ำกว่ามาตรฐาน' ย่อมถูกคัดทิ้งและนำไปแปรรูปเป็นสินค้าอย่างอื่นโดยไม่ได้รับการพิจารณาหรือคำนึงถึงคุณสมบัติภายในอื่นๆ เช่น ความหวาน ความสด หรือความอร่อย แม้แต่นิดเดียว"   ขณะที่ในหนัง-บาร์เทิลบีมองว่าบรรดานักศึกษา S.H.I.T ไม่ได้รับการ ‘ยอมรับ’ จากสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นเพราะพวกเขาถูก ‘พิพากษา’ ไปแล้วว่าเป็นพวกขี้แพ้ไม่เอาไหน และเป็นพวกที่ถูก ‘คัดทิ้ง’ จากที่อื่น แต่นักศึกษาของ S.H.I.T ทั้งหมดก็ไม่เคยคิดที่จะหยุดเรียนรู้ในสิ่งที่พวกเขายังไม่รู้...     ประโยคยืดยาวของบาร์เทิลบีในฉากนี้คล้ายจะเป็นแถลงการณ์ของผู้กำกับสตีฟ พิงค์ อดีตนักกิจกรรมทางสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับการบริการชุมชนอยู่พักใหญ่ก่อนจะผันตัวสู่แวดวงบันเทิง แต่ถ้าใครจะมองว่าหนังเรื่องนี้ทำขึ้นเพื่อตอบสนองจินตนาการที่ไม่มีวันเป็นจริงของพวกขี้แพ้ซึ่งอยากตอบโต้ระบบที่ตัวเองไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วม...ก็ย่อมทำได้อีกเช่นกัน   แต่ในชีวิตจริงซึ่งทางแก้ปัญหาไม่ได้มีแค่ ก ข ค ง หรือข้อ 1 2 3 4 บางทีการมองต่างมุมเรื่องการเรียนรู้อาจช่วยเตือนสติได้ว่าโลกยังมีอะไรที่มากกว่าและกว้างกว่าการวัดผลคะแนนสอบจากกระดาษคำตอบที่มีตัวเลือกให้เลือกแค่ไม่กี่ข้อ…