Skip to main content
ทศพล ทรรศนพรรณ
การเมืองในโลกออนไลน์ที่ฮือฮาในช่วงปลายปีก่อนต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นปีหนีไม่พ้นเรื่องกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ที่ สนช. ภายใต้การผลักดันของรัฐบาล คสช.
จีรนุช เปรมชัยพร
เกี่ยวกับประชาไท
จีรนุช เปรมชัยพร
26 มิถุนายน 2552 เป็นอีกวันที่ต้องตื่นเช้า เพื่อเตรียมพบกับประสบการณ์ใหม่ การรายงานตัวที่สำนักงานอัยการตามนัดหมายการสั่งคดี หลังจากที่เจ้าพนักงานสอบสวน(ตำรวจกองปราบ) ได้นัดหมายส่งสำนวนคดีให้กับอัยการเมื่อวันทีี่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา ประสบการณ์การรายงานตัวเพื่อรับฟังการสั่งคดี รวดเร็วเสร็จสิ้นภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที เนื่องด้วยอัยการได้สั่งสอบข้อมูลเพิ่มเติม จึงได้เลื่อนการสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 29 กรกฎาคม แทน (เร็วชนิดที่เพื่อนๆที่จะตามมาเป็นเพื่อนมาให้กำลังใจมากันไม่ทันค่ะ เลยต้องเปลี่ยนเป็นการกินอาหารเช้าร่วมกันแทน) ในฐานะที่ตกเป็นผู้ต้องหา และต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ใกล้ชิดแบบคิดไม่ถึงเช่นนี้ ถือเป็นโอกาสที่จะบันทึกเป็นเรื่องเล่าและเรื่องราว เผื่อจะเป็นประโยชน์บ้าง สำหรับท่านอื่นๆที่ต้องจับพลัดจับผลูไปอยู่เฉียด ๆ คุกตะราง นับจากวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2552 วันยากจะลืมของตัวเองจากประสบการณ์ถูกบุกจับถึงสำนักงานประชาไท เป็นปฏิบัติการเงียบชนิดที่ตัวเองยังงง ๆ เลยว่า จากสถานะของการเป็นพยานอยู่ดี ๆ ได้แปรเปลี่ยนเป็นผู้ต้องหาไปเสียแล้ว ด้วยข้อหากระทำความผิดตามมาตรา 15 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ คือ ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมา โชคดีที่การจับกุมตัวเองได้รับอนุญาตให้ประกันตัวแล้วเสร็จภายในสองทุ่มเศษของวันนั้นจึงไม่ต้องไปแกร่วค้างคืนในห้องขัง เนื่องจากหมดเวลาราชการและตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์พอดี ดังที่ได้ยินเรื่องเล่าในลักษณะสะเทือนขวัญมามาก (มีเพื่อนต่างชาติบอกด้วยว่า ทริคแบบนี้มีเกือบทุกประเทศ ไม่เฉพาะเมืองไทยของเรา..ฟังแล้วเศร้า) อันที่จริงการได้สิทธิประกันตัวโดยไม่ติดเงื่อนไขระบบราชการควรเป็นสิทธิพื้นฐานปกติที่ไม่ต้องให้ผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาต้องสวดภาวนาหาโชคเป็นการพิเศษ ผ่านไปเกือบเดือนพนักงานสอบสวนแจ้งผ่านมาทางทนายความเพื่อนัดหมายไปพบอีกครั้ง โดยทั้งทนายและตัวเองสะดวกวันที่ 7 เมษายน จึงแจ้งยืนยันว่าจะไปพบตามที่พนักงานเจ้าของคดีแจ้งมา แล้วก็เป็นอีกครั้งที่ต้องเกิดอาการเข็มขัดสั้น เพราะจากที่คิดว่าคงเป็นการสอบปากคำเพิ่มเติมเท่านั้น กลับกลายเป็นแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มอีก 9 กระทง โดยสาเหตุมาจากกระทู้ในเว็บบอร์ดประชาไทจำนวน 9 กระทู้ ที่โพสต์ไว้ตั้งแต่ช่วง เมษายน-สิงหาคม 2551 และทั้งหมดก็ถูกลบออกไปนานแล้ว รวมทั้งสิ้นข้อกล่าวหาที่มีติดตัวทั้งหมดมี 10 กระทง ในข้อหาเดียวกัน (ลองนับนิ้วดูกับเพื่อน ๆ ถ้าถูกตัดสินด้วยโทษสูงสุดชนิดคูณสิบ ก็จะได้ประมาณว่าจำคุกไม่เกิน 50 ปี และปรับเต็มที่ไม่เกินล้านบาท - -" โชคดีได้ยินมาว่าเขาไม่ใช้วิธีคูณหรือบวกโทษแบบนี้) ล่วงเลยมาอีกเดือนเศษพนักงานสอบสวนได้แจ้งผ่านมาทางทนายเพื่อจะนัดหมายส่งสำนวนคดีและผู้ต้องหา(ซึ่งคือข้าพเจ้าเอง -_-' ) ให้แก่อัยการ โดยตกลงกับทางพนักงานสอบสวนได้วันที่ตรงกับวันสะดวกผู้ต้องหา, ทนาย และที่สำคัญของอาจารย์ฉันทนา บรรพศิริโชค หวันแก้ว ผู้กรุณาเป็นนายประกันให้ตั้งแต่ในชั้นพนักงานสอบสวน ได้ข้อสรุปว่าจะไปรายงานตัวให้พนักงานสอบสวนส่งมอบตัวให้อัยการแต่โดยดีในวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา บ่ายสองโมงวันที่ 1 มิถุนายน ตัวเองพร้อมทนายความ, อ.ฉันทนา ผู้เป็นนายประกัน, พี่สาวที่เตรียมหลักฐานมาเผื่อจะต้องเป็นนายประกันสำรอง หากมีการกำหนดวงหลักประกันในชั้นอัยการเพิ่มขึ้นจากในชั้นพนักงานสอบสวน และเพื่อน ๆ ที่มาเป็นกำลังใจอีกกว่าสิบคน กระบวนการเริ่มต้นจากการไปลงลายมือชื่อเพื่อรายงานตัว พร้อมนายประกัน โดยทางสำนักงานอัยการได้ดำเนินการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นอัยการ รออยู่ที่สำนักงาน(จำชื่อฝ่ายงานไม่ได้แล้ว) ที่ดูเหมือนจะเป็นด่านหน้าของการรับคดีและจ่ายคดีไปยังฝ่ายย่อย ๆ ให้ดำเนินการอีกที ผ่านไปไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้ไปติดต่อที่สำนักงานอัยการพิเศษผ่ายคดีอาญา 8 ซึ่งเป็นส่วนงานที่จะรับผิดชอบในคดี  นิติกรของฝ่ายอาญา 8 รับสำนวนและดำเนินการทั้งการประกันตัว พร้อมนัดหมายเพื่อมารายงานตัวในการนัดสั่งคดี ได้ข้อสรุปว่าเป็น 9 โมงเช้า วันที่ 26 มิถุนายน 2552 กระบวนการทั้งหมดแล้วเสร็จในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงอีกเช่นกัน ก่อนหน้าวันนัดสั่งคดีหนึ่งวันได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ซึ่งอยู่แถวสนามหลวง อันที่จริงตั้งใจจะดำเนินการยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้เร็วกว่านี้ แต่เนื่องจากภารกิจงานที่ติดพันทำให้ไม่สามารถดำเนินการให้ลุล่วงได้เร็วกว่านี้ สิ่งที่ได้เรียนรู้และยังงง ๆ อยู่บ้างกับการยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม เนื่องจากมีประสบการณ์ขลุกขลักบางประการ เพราะทันทีที่หนังสือร้องความเป็นธรรมเรียบร้อยพร้อมยื่น ตัวเองก็ได้เดินทางไปที่สำนักงานอัยการ ในฝ่ายที่รับผิดชอบคดีเพื่อยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม โดยในหนังสือระบุ "เรียน อัยการสูงสุด (ผ่านพนักงานอัยการเจ้าของคดี)" ซึ่งเจ้าหน้าที่ของฝ่ายในขณะนั้น แจ้งว่า หากยื่นถึงอัยการสูงสุด ต้องไปยื่นที่สำนักงานอัยการสูงสุด ที่อยู่ใกล้กับสนามหลวง แต่ถ้ายื่นที่นี่ต้องเป็นการยื่นตัวหัวหน้าสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 หลังจากโทรปรึกษากับทนายและเห็นว่ายังน่าจะทันเวลาทำการของสำนักงานอัยการสูงสุด จึงตัดสินใจเดินทางดิ่งตรงจากอัยการที่ถนนรัชดาภิเษกสู่สำนักงานอัยการสูงสุด ที่ใกล้สนามหลวง ก่อนยื่นหนังสือเพื่อให้เอกสารเรียบร้อย เดินข้ามคลองหลอด (ครั้งแรกอีกเช่นกัน ให้ความรู้สึกแปลก ๆ) มุ่งตรงสู่ 7-11 เพื่อซื้อปากกาน้ำยาลบความผิด เอ๊ยย !!! คำผิด เพื่อมาลบข้อความวงเล็บต่อท้ายในเอกสาร บ่ายสามโมงนิด ๆ เอาหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปยื่น เจ้าหน้าที่ถามหาเอกสาร 'สำเนาคู่ฉบับ' ชี้ให้เจ้าหน้าที่ดู เขาก็หยิบมาประทับตรารับเรื่อง ส่งสำเนากลับคืนมาให้ ทั้งหมดเสร็จสิ้นในเวลาไม่ถึงนาที (ไม่นับรวมการเดินทางและตามหาซื้อน้ำยาลบคำผิดอีกเกือบชั่วโมง) ก่อนที่จะมาได้รับคำชี้แจงจากนิติกรของฝ่ายคดีอาญา 8 ว่า "ยื่นที่นี่ได้ เพราะยื่นอัยการสูงสุดก็ต้องส่งมาที่อัยการเจ้าของคดีอยู่ดี" ในที่สุดเพื่อให้มั่นใจว่าหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึงมืออัยการแน่ ๆ เลยถ่ายสำเนา และยื่นสำเนาต่ออัยการเจ้าของคดีอีกทางหนึ่งไว้ด้วย) บทเรียน ผู้ต้องหา 101 พอสรุปได้คร่าว ๆ ว่า: เบื้องต้นหากมีเจ้าพนักงานตำรวจมาแสดงตัวและแสดงหมายค้น หรือหมายจับจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขอให้เจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจำตัว การให้แสดงบัตรเป็นการป้องกันไม่ให้มีการหลอกลวงเกิดขึ้นได้ และเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าใจในสิทธินี้ย่อมไม่รู้สึกโกรธ หรือคิดว่าเป็นเรื่องไม่ไว้ใจ ในวันที่มีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสองท่านซึ่งเป็นผู้ดำเนินการหลักในการสอบสวนและจับกุมได้แสดงบัตรประจำตัวเจ้าที่โดยที่ไม่ต้องรอให้ถามหา และถ้าสามารถทำได้การขอให้มีทนายความมาอยู่ร่วมด้วยในระหว่างการตรวจค้น หรือจับกุม ช่วยทำให้อุ่นใจขึ้น ยังไม่รวมถึงเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่มาเป็นกำลังใจ ก็ช่วยให้อบอุ่นใจอย่างมาก และเรื่องยาก ๆ หนัก ๆ ในวันนั้นก็ผ่อนคลาย เป็นเครื่องประกันสิ่งที่ใครบางคนพูดไว้ว่า "ความทุกข์มันแบ่งเบากันได้" สิทธิอีกประการที่ผู้ต้องหาทุกท่านควรรู้ว่ามีคือในการสอบปากคำ ผู้ต้องหาสามารถยืนยันที่จะให้มีทนายมาอยู่ร่วมในการสอบปากคำ และยืนกรานที่จะไม่ให้ปากคำหากไม่มีทนายอยู่ด้วยได้ ที่สำคัญเป็นสิทธิที่สามารถร้องขอทนายประชาชน ซึ่งเป็นทนายอาสาที่รัฐมีหน้าที่จัดหาให้ ในกรณีที่ผู้ต้องหาไม่มีทนายของตนเอง ทั้งด้วยไม่รู้จักใคร หรือไม่มีเงินค่าทนาย กระบวนการยุติธรรมแบ่งเป็นขั้นตอนตามลำดับ เริ่มจากขั้นพนักงานสอบสวนซึ่งดำเนินการจับกุมและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อสรุปสำนวนคดีและผู้ต้องหาส่งต่ออัยการ(เข้าใจว่ามีระยะเวลากำหนดไว้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการจับกุมว่าต้องสรุปสำนวนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้) จากนั้นพนักงานอัยการก็จะรับสำนวนคดีพร้อมรับตัวผู้ต้องหา ซึ่งก็ต้องมีการดำเนินการขอปล่อยตัวชั่วคราวใหม่ในขั้นของอัยการ ตามปกติวินิจฉัยก็จะเป็นไปในทางเดียวกับขั้นพนักงานสอบสวน รวมทั้งสามารถใช้หลักประกัน/นายประกันเดิมได้ ในขั้นของอัยการสิ่งที่ผู้ต้องหาสามารถกระทำได้ ก็คือการทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมจากอัยการสูงสุดได้ หลังจากที่อัยการรับคดีมาจากพนักงานสอบสวนแล้ว ก็จะนัดผู้ต้องหาพร้อมนายประกันมาตามนัดการสั่งคดี จนกว่าอัยการจะตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใด คือสั่งไม่ฟ้อง หรือสั่งฟ้อง หากมีการสั่งฟ้องก็จะต้องไปดำเนินกระบวนการต่าง ๆ ในขั้นศาลต่อไป รวมถึงการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง ประสบการณ์ร่วมสี่เดือนของการเป็นผู้ต้องหามีคดี ท่ามกลางวิถีชีวิตการงานที่เป็นอยู่และเป็นไปตามปกติ ตอบอย่างซื่อสัตย์กับตัวเองก็ต้องบอกว่าไม่อาจรู้สึกเป็นปกติสุข และเข้าใจชัดเจนถึงความรู้สึกของคนที่มีหนี้แบกไว้บนบ่า แต่แม้รู้สึกยากจะเป็นสุข ทว่าการทำใจยอมรับให้ได้ว่านี้คือราคาที่ต้องจ่ายของเสรีภาพ..ก็น่าจะคุ้มกัน