Skip to main content
Cinemania
  หมายเหตุ: “บันทึกอิสรา” แสดงที่มะขามป้อมสตูดิโอ ในวันที่ 9-15 ธันวาคม เวลา 19.30น. เสาร์-อาทิตย์ เวลา 14.00น.  รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูไปที่ www.makhampomstudio.net        “เรื่องราว... ถ้าไม่เล่าสู่กันฟัง คนข้างหลังก็จะลืม... เลือนราง” เนื้อร้องท่อนหนึ่งจากละครร้องเรื่อง “บันทึกอิสรา” ว่าเอาไว้ ชวนให้นึกเห็นด้วยไม่น้อย ทุกวันนี้ถ้าจะย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านพ้นมา ก็พบว่า ประวัติศาสตร์ของหลายๆ อย่างในประเทศนี้ไม่เคยจะสมบูรณ์เสียที ประวัติศาสตร์บางแบบแม้จะเรียนแล้วก็ต้องเรียนอีก เช่นเดียวกับอีกหลายประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยได้เรียนอย่างไร ก็ยังคงไม่ได้ถูกบรรจุให้เรียนอยู่อย่างนั้น   มันก็คงเหมือนกันกับความเป็นนักหนังสือพิมพ์ปากกล้า ที่กล้าวิพากษ์บทบาทของ “ผู้มีอำนาจ” ของ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” ที่ถูกทำให้เลือนรางไป แล้วขับเน้นให้เห็นเพียงบทบาทบางเสี้ยวบางด้าน เช่นการเป็นนักเขียนนิยาย “ข้างหลังภาพ” ผ่านนามปากกา “ศรีบูรพา” เท่านั้น  กุหลาบ (ล่างซ้าย) เข้าเจรจากับรัฐบาล จอมพล ป. เพื่อให้รัฐยอมรับในอิสรภาพของสื่อมวลชนภาพโดย poakpong “บันทึกอิสรา” เป็นบทละครร้องที่พัฒนามาจากบทละครร้องเรื่อง “อิสราชน” ซึ่งกลุ่มมะขามป้อม ได้จัดแสดงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2548 เนื่องในวาระ100 ปี ชาตกาลของกุหลาบ สายประดิษฐ์  “บันทึกอิสรา” บอกเล่าประวัติ ผลงาน และแนวคิดของกุหลาบ ผ่านเหตุการณ์ช่วงที่เขาถูกจองจำอยู่ในคุกนานกว่า 4 ปี โดยที่งานเขียนของเขายังทยอยออกมาสู่โลกนอกห้องคุมขังอยู่เรื่อยๆ ด้วยความช่วยเหลือของหลายฝ่าย รวมไปถึง “ชนิด สายประดิษฐ์” คู่ชีวิตของเขาเอง  เรื่องราวถูกเล่าผ่าน “ชนิด สายประดิษฐ์” ภรรยาของ “กุหลาบ”ภาพโดย poakpong   ขณะที่ละครร้องเรื่องนี้ แสดงให้เห็นถึงความพยายามไปพ้นจากข้อจำกัดทางกายภาพอย่างซี่ลูกกรง ทีมงานละครร้องนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการใช้ประโยชน์จากข้อจำกัดทางกายภาพของสถานที่แสดงเช่นกัน มะขามป้อมสตูดิโอเป็นห้องแถวขนาดย่อมๆ ซึ่งเมื่อตั้งแสตนท์สำหรับผู้ชมเข้าไปทั้งสองฝั่งแล้ว ก็เหลือที่สำหรับนักแสดงเพียงไม่กี่มากน้อย (กะด้วยสายตา น่าจะราว 5*5 เมตร) แต่ทีมงานก็ใช้พื้นที่ รวมถึงสัญลักษณ์ต่างๆ ในการสื่อสารได้ดีทีเดียว   นักแสดงและผู้กำกับพูดคุยกับผู้ชม ภาพโดย poakpong    หลังการแสดงจบลง ทีมงานเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ซักถามพูดคุย หลายคนแสดงความชื่นชม รวมถึงอยากให้เพิ่มรอบ ไปจนถึงจัดการแสดงตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย  สมบัติ บุญงามอนงค์ อดีตคนทำละครเวที ถามประดิษฐ ประสาททอง ผู้กำกับการแสดงขึ้นว่า เหตุใดจึงนำละครเรื่องนี้กลับมาเล่นอีกครั้งในช่วงเวลานี้ ผู้กำกับไม่ได้ตอบในทันที หากแต่ถามกลับว่าผู้ชมนั้นคิดอย่างไร  สมบัติตอบว่า เขาชอบประโยคเปิดที่ว่า คนมีชีวิตอยู่มีหน้าที่เล่าเรื่องต่อไป ทำให้ความจริง ไม่ว่าจะมากหรือน้อยดำรงอยู่ได้ อาจเพราะโลกสมัยก่อนนั้นมีข้อจำกัดด้านการสื่อสาร  โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า ถ้อยคำในละครที่มีอายุบางคำก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ “มันร่วมสมัย และตีกันในสมองผม ผมพยายามเปรียบเทียบและอ่านใจว่าคนทำคิดอะไรอยู่”  จากนั้น ประดิษฐ ได้เล่าว่า สาเหตุที่เขานำละครร้องเรื่องนี้ กลับมาทำใหม่นั้น เพราะในห้วงที่ผ่านมา เขาได้รับผลกระทบ ไม่ว่ากับญาติ หรือเพื่อนฝูง “คนที่นั่งกินข้าวอยู่ตรงข้ามกันพูดคุยกันลึกซึ้งไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าเขาต่อต้านเราอยู่รึเปล่าและจะเสียเขาไปไหม” เขาบอกว่า แม้แต่คนในบ้านเดียวกัน หรือแท็กซี่ก็ต้องระวัง เหมือนว่าสังคมกำลังเจ็บป่วย โดยที่เราเป็นหนึ่งในเชื้อโรคตัวนั้น “เราเป็นส่วนหนึ่ง”  ประดิษฐจึงคิดว่าควรหยิบเรื่องนี้กลับมาเล่นใหม่ โดยหวังว่าจังหวะของคนในละคร จะช่วยให้ผู้ชมได้หยุดคิด  “เราเจอละครหลายรูปแบบ ทั้งแนวรักชาติ หรือดูแล้วเกิดอารมณ์ ผมตั้งใจว่าจะไม่ทำให้ดูแล้วเกิดอารมณ์ แต่ให้ได้ปัญญา ความคิดและแรงบันดาลใจ”