Skip to main content
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : นิทานประเทศ ผู้เขียน : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาคร
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : นิทานประเทศ ผู้เขียน : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาคร   ผลงานของนักเขียนไทยในแนวของเมจิกคัลเรียลลิสม์ หรือสัจนิยมมหัศจรรย์ หรือสัจนิยมมายา ที่ได้กล่าวถึงเมื่อตอนที่แล้ว ซึ่งจะนำมาเขียนถึงต่อไป เป็นการยกตัวอย่างให้เห็นถึงข้อเปรียบเทียบระหว่างงานที่แท้กับงานเสแสร้ง เผื่อว่าจะถึงคราวจำเป็นจะต้องเลือกที่รักมักที่ชัง แม้นรู้ดีว่าข้อเขียนนี้เป็นเพียงรสนิยมส่วนบุคคล แต่ฉันคิดว่าบางทีรสนิยมก็น่าจะได้รับคำอธิบายด้วยหลักการได้เช่นเดียวกัน เหมือนจะเป็นการออกตัวตามมารยาทเท่านั้น การเสแสร้งใด ๆ ฉันคิดว่าผู้อ่านเท่านั้นจะตัดสินได้
สวนหนังสือ
เมจิกคัลเรียลลิสม์ หรือที่แปลเป็นไทยว่า สัจนิยมมายา หรือสัจนิยมมหัศจรรย์ เป็นแนวการเขียนที่นักเขียนไทยนำมาใช้ในงานเรื่องสั้น นวนิยายกันมากขึ้น ไม่เว้นในกวีนิพนธ์ โดยส่วนใหญ่จะได้แรงบันดาลใจมาจาก ผลงานของกาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ซึ่งมาเกซเองก็ได้แรงบันดาลใจมาจาก ฮวน รุลโฟ (ฆวน รุลโฟ) จากผลงานนวนิยายเรื่อง เปโดร ปาราโม อีกทอดหนึ่ง เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์วรรณกรรมแนวนี้ถูกตัดตอน ขอกล่าวถึงต้นธารของงานสกุลนี้สักเล็กน้อย กล่าวถึงฮวน รุลโฟ ซึ่งจริงๆ แล้วควรเขียนเป็นภาษาไทยว่า ฆวน รุลโฟ ทำให้หวนระลึกถึงผลงานแปลฉบับของ ราอูล ที่ฉันตกระกำลำบากในการอ่านอย่างแสนสาหัส ในนวนิยายแนวสัจนิยมมหัศจรรย์เรื่อง เปโดร ปาราโม ที่เคยเขียนถึงในคอลัมน์นี้มาแล้ว อ่านตั้งสามรอบกว่าจะพอรู้เรื่องเป็นเลาๆ และต้องอ่านอีกหลายรอบกว่าจะจินตนาการให้ซึมซับความเลอเลิศของสุดยอดนวนิยายเรื่องนี้ได้ ขอบคุณพระเจ้าที่มอบเวลาให้ฉันมากเป็นพิเศษ ท่านคงหัวร่อจนคอเคล็ดแล้วตอบว่า “เพราะแกมันทึ่มเองนี่นา คนทื่อมะลื่ออย่างแกสมควรจะมีเวลามากกว่าคนฉลาดเขา” อย่างไร ฉันก็ขอบคุณล่ะ และไม่ลืมเอาเจ้าเปโดรสุดที่รักไปถ่ายเอกสารเก็บไว้ เป็นสำเนาสำรอง ถ้าหนังสือหาย หรือถูกขอยืมโดยไม่อาจเรียกเก็บได้ ยังไงซะ ฉบับถ่ายเอกสารก็ยังอยู่ ฉันชอบใช้วิธีนี้จัดการกับหนังสือสุดหวง ถ้าตังค์เยอะหน่อยก็สำเนาไว้สักสองชุด ถือเป็นความละโมบได้ไหมนี่