Chiangmai

ระเบิดในบ้านเรา

 

[^_^]/

ระเบิด (bomb) [n.] คือวัตถุที่ทำให้เกิด การระเบิด' จะบรรจุ วัตถุระเบิด' หรือสารที่ทำให้เกิด การระเบิด' ไว้ภายใน

000

25 เมษายน 2551 เวลา 6.30 น.

วัดแสนฝาง ถนนท่าแพ จ.เชียงใหม่

นายนที อนันทปัญญสุทธิ์ อายุ 45 ปี พ่อค้าขายเสื้อผ้า กำลังรถไปจอดภายในบริเวณวัดแสนฝาง เขาพบกล่องพัสดุสีขาวไม่ระบุชื่อผู้รับ วางอยู่หน้าทางขึ้นศาลาวัด  นายนทีหยิบกล่องนั้นขึ้นมารู้ว่ามีน้ำหนัก คิดว่าเป็นของมีค่าอยู่ภายในจึงได้แกะดูพร้อมกับเดินไปตามถนนเพื่อเข้ามาเปิดร้านขายเสื้อผ้าที่ตลาดวโรรสหรือที่คนเชียงใหม่เรียกว่า กาดหลวง'

แต่พอใกล้ถึงร้านเขาเปิดฝากล่องออกมาดูพบว่าเป็นระเบิดแสวงเครื่องจริงๆ มีสายพันและแบตเตอรี่ขนาด 9 โวลต์พ่วงสายออกมา เขาตกใจมาก โยนกล่องนั้นทิ้งลงถังขยะที่ตรงมุมถนนท่าแพ ปากทางเข้ากาดหลวงด้านตรอกเล่าโจ๊ว เยื้องกับห้างตันตราภัณฑ์เก่า และรีบไปแจ้งตำรวจสายตรวจที่ผ่านมาพอดี

เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรแจ้งกับ พ.ต.ต.วิสูตร วงศ์ใหญ่ สารวัตรเวร สภ.เมืองเชียงใหม่ ให้เดินทางมาทำการตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยดังกล่ว เมื่อถึงที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้กันผู้คนที่อยู่ใกล้บริเวณดังกล่าวออกนอกพื้นที่เกรงจะระเบิดจนได้รับความเสียหาย

จากนั้นจึงได้ประสานไปยังชุดเก็บกู้ระเบิดจาก ตชด.ที่ 33 อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

เบื้องต้น เจ้าหน้าที่พบว่า วัตถุต้องสงสัยดังกล่าวเป็นกระป๋องสีสเปรย์สีขาวน้ำเงินขูดยี่ห้อข้างกระป๋องออกจนหมด และตัดหัวออก มีการต่อสายวงจรไฟฟ้าและใช้แบตเตอรี่เป็นตัวจุดชนวน

25 เมษายน 2551 เวลา 9.00 น.

ถนนท่าแพ ปากทางตรอกเล่าโจ๊ว จ.เชียงใหม่

เวลานี้รถติดไปทั้งเมือง เพราะถนนท่าแพซึ่งเป็นถนนสายหลักเข้าสู่กลางเมืองเชียงใหม่และย่านธุรกิจ ย่านพาณิชยกรรมเป็นอัมพาต มีเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดหัวปิดท้ายถนนสายนี้เกือบทั้งสาย ใครที่ข้ามสะพานนวรัฐเพื่อจะเข้าเมือง แทนที่จะตรงไปเหมือนเคย ก็ต้องเลี่ยงเลี้ยวซ้ายไปทางถนนช้างคลาน แถวไนท์บาร์ซาร์อันเป็นย่านการค้าสำคัญของเมืองแทน

ร้านรวงพากันปิดไปหมดช่วงที่มีการกู้ระเบิด ธุรกิจในย่านนั้นหยุดชะงักไปหมดราวกับฝากผลประกอบการไว้กับระเบิด และเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด ที่ต่างแข่งกันว่าใครจะทำงานสำเร็จก่อนกัน ระเบิด หรือ เจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด

หากอย่างแรกทำงานสำเร็จ ไม่ต้องนึกถึงความสูญเสียชีวิต ความเสียหายทางเศรษฐกิจ ความมั่นใจต่อการลงทุนและบรรยากาศท่องเที่ยวใน จ.เชียงใหม่ คงจะพังพาบไปพร้อมกับความสำเร็จของระเบิดลูกนั้น

ระหว่างที่รอว่าใครจะทำงานสำเร็จก่อนกันอย่างใจจดจ่อประกอบกับแดดระอุบนถนน ทำให้ผมนึกถึงหนังสือบางเล่ม ... ซึ่งแม้จะไม่เกี่ยวกัน แต่ก็พอจะเทียบเคียงกัน

... เมื่อกลับไปพลิกอ่านรีวิวของ ประจักษ์ ก้องกีรติ กับหนังสือที่มีชื่อว่า ยานยนต์ของนายบุดา: ประวัติศาสตร์ย่อของคาร์บอมบ์ (Buda's Wagon: A Brief History of the Car Bomb) เขียนโดย ไมค์ เดวิส (Mike Davis) ศาสตราจารย์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, เออร์วิน ตีพิมพ์ในปี 2550

ไมค์ สรุปคุณลักษณะพื้นฐานของคาร์บอมบ์คือ มันเป็นอาวุธในการก่อร้ายในพื้นที่เขตเมือง วัตถุประสงค์หลักๆ ของการใช้คาร์บอมบ์มีอยู่สี่ประการ คือ การสังหารชีวิตศัตรู การทำลายวิถีชีวิตประจำวันอันเป็นปรกติสุขของผู้คนในสังคม สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และสุดท้ายเพื่อโฆษณาหลักการหรือข้อเรียกร้องของขบวนการให้สาธารณชนรับรู้ในวงกว้าง

ในฐานะการเป็นอาวุธในการก่อการร้าย คาร์บอมบ์มีคุณลักษณะพิเศษอยู่ 7 ประการที่ทำให้มันแตกต่างจากยุทธวิธีอื่นๆ

บางประการจาก 7 ข้อนั้น เช่น ต้นทุนของมันถูกอย่างน่าใจหายเมื่อเทียบกับความเสียหายที่มันสร้างขึ้น

มันทำงานดุจเครื่องบินทิ้งระเบิดเพราะเป็นอาวุธที่ไม่แยกแยะเป้าการสังหารระหว่างศัตรูกับพลเรือนผู้บริสุทธิ์ทั่วไป จึงมักถูกใช้เป็นเครื่องมือในกรณีที่กลุ่มก่อการเล็งพลเรือนเป็นเป้าหมาย ต้องการสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในวงกว้าง และทำให้สังคมที่ตกเป็นเหยื่อของการระเบิดเกิดอาการขวัญเสีย

และคาร์บอมยังเป็นอาวุธที่เพิ่มอำนาจการต่อรองให้กับขบวนการต่อสู้ทางการเมืองที่ด้อยอำนาจทั้งหลาย เพราะแม้แต่กลุ่มที่สมาชิกเพียงไม่กี่คน มีงบประมาณจำกัด หรือขาดฐานมวลชนอันกว้างขวางสนับสนุนก็สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจการเมืองอันมหาศาลในสังคมหนึ่งๆ ได้ องค์กรที่กระจัดกระจายไร้ฐานมวลชนของกลุ่มเซลล์ย่อยๆ ทั้งหลาย ที่มีคาร์บอมบ์โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เนทเป็นโครงสร้างพื้นฐาน จึงไม่จำเป็นต้องการมีการจัดตั้งองค์กรอย่างเข้มแข็งหรือมีโครงสร้างการบังคับบัญชาที่ชัดเจนอีกต่อไปแบบยุคปฏิวัติมวลชน เป็นต้น

25 เมษายน 2551 เวลา 11.00 น.

ถนนท่าแพ ปากทางตรอกเล่าโจ๊ว จ.เชียงใหม่

ผ่านแนวรั้วกันรถราของตำรวจมาที่ถนนท่าแพ บัดนี้กลายเป็นถนนปลอดยานยนต์ไปเกือบทั้งเส้น มีคนที่ทำงานในย่านเศรษฐกิจนั้นออกมามุงบริเวณที่มีวัตถุต้องสงสัยเป็นจำนวนมาก บ้างเอากล้องถ่ายรูป กล้องติดโทรศัพท์มือถือบันทึกภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นที่สนุกสนาน ระคนไปกับความไม่มั่นใจว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าหากเป็นระเบิดและระเบิดขึ้นมาขณะนั้นจะเกิดความสูญเสียอย่างไร

เวลายิ่งผ่านไปนานเข้าคนที่รู้ข่าวกู้ระเบิดกลางเมืองยิ่งมากันมากเข้าๆ

ต่อมา ร.ต.อ.สมศักดิ์ ศิริเวช หัวหน้ากลุ่มงานเก็บกู้วัตถุระเบิด กก.ตชด.33 ตัดสินใจนำหุ่นยนต์เข้าเก็บกู้วัตถุต้องสงสัย แต่เนื่องจากจุดทำลายตั้งอยู่ในย่านชุมชนและร้านค้า หากยิงทำลายในที่ดังกล่าวเกรงว่าบ้านเรือน และทรัพย์สินของประชาชนจะได้รับความเสียหาย ดังนั้นตำรวจชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดจึงตัดสินใจใช้วิธียิงตัดสายชนวนระเบิดออก แล้วนำระเบิดไปกำจัดที่อื่น

ตำรวจเริ่มไล่ไทยมุงให้ออกห่าง ตามมาด้วยการประกาศ

"ยิงทำลายวัตถุระเบิด เข้าที่กำบัง สาม... สอง... หนึ่ง..."

"ปุ๋ง"...

... เสียงอัดอากาศดัง ปุ๋ง' เล็กๆ ทำเอาคนที่มุงแถวนั้นตื่นเต้นกันใหญ่ ตอนนี้ยังไม่มีการระเบิดใดๆ เป็นเพียงการปลดชนวนระเบิด แต่ตำรวจ ตชด. ในชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดสภาพคล้ายมนุษย์ต่างดาว ยังก้มๆ เงยๆ อยู่ตรงจุดเกิดเหตุ โดยเขาหยิบกระป๋องเหล็กที่คาดว่าจะเป็นวัตถุระเบิดขึ้นรถย้ายไปทำลายที่ข่วงประตูท่าแพ ซึ่งห่างจากบริเวณเก็บกู้ 500 เมตร

การยิงทำลายวัตถุต้องสงสัยเกิดขึ้นที่ประตูท่าแพ ซึ่งมีบริเวณกว้างและปลอดคนกว่าย่านเศรษฐกิจอย่าง ถ.ท่าแพ คราวนี้เสียง ตูม' จริงๆ แน่นๆ ก็ดังขึ้น แต่ไม่มีใครเป็นอะไร เพราะนี่เป็นขั้นตอนกำจัดวัตถุระเบิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบก็พบว่าเป็นระเบิดแสวงเครื่อง วัตถุระเบิดหนัก 500 กรัม อยู่ในกระป๋องดีดีที ภายในบรรจุดินเทา มีเศษขวดแก้วเป็นสะเก็ดระเบิด และใช้ใส้ในของหลอดไฟ 2 ตัวสำหรับเป็นตัวจุดชนวน

โดยระเบิดดังกล่าวแม้มีอำนาจทำลายล้างต่ำ (Low - Explosive) มีคลื่นกระแทก (shock wave) ที่เกิดจากการระเบิด มีความเร็วในการแล่นผ่านตัววัตถุระเบิดน้อยกว่า 1,000 เมตรต่อวินาที แต่ถ้าหากเกิดระเบิดขึ้นจริงจะมีรัศมีทำลายล้างโดยรอบในวงกว้างไม่ต่ำกว่า 300 เมตร!

ร.ต.อ.สมศักดิ์ ศิริเวช หัวหน้ากลุ่มงานเก็บกู้วัตถุระเบิด กก.ตชด.33 เปิดเผยว่า ระเบิดที่พบครั้งนี้เป็นลักษณะเดียวกันกับที่คนร้ายนำมาวางไว้สำหรับปล้นแบงก์ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาย่อยถนนราชดำเนินเมื่อเดือนก่อน แต่ครั้งนี้มีความซับซ้อนกว่า และเป็นระบบไฟฟ้า หากกดรีโมทก็จะทำงานทันที เชื่อว่าจะเป็นฝีมือของมืออาชีพที่มีความรู้ด้านอิเล็กทรอนิกส์เป็นอย่างดี

ระเบิดดังกล่าวนับเป็นลูกที่ 2 ในรอบเดือนนี้ของเชียงใหม่

โดยเมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมา มีเหตุชายสวมแว่นดำ สวมเสื้อยีนส์และกางเกงยีนส์ คล้องกระเป๋าเป้สะพายสีดำ บุกปล้นธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาย่อยท่าแพ ต.ศรีภูมิ อ.เมืองเชียงใหม่ โดยใช้ปืนจี้และขู่พนักงานธนาคารว่าในกระเป๋ามีระเบิด ให้พนักงานส่งเงินให้รวม 1.5 แสนบาท ก่อนทิ้งกระเป๋าเป้และหลบหนีไป เมื่อเจ้าหน้าที่นำกระเป๋าออกมาทำลายด้านนอกโดยใช้ปืนแรงดันน้ำยิงทำลาย ซึ่งเกิดระเบิดเสียงดังสนั่น โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจพบเป็นระเบิดแสวงเครื่อง รัศมีทำลาย 15 เมตร

ส่วนคนร้ายก็ขับจักรยานยนต์หลบหนีไป และจนบัดนี้มีการตั้งรางวัลนำจับ 50,000 บาท แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้ตัวคนร้าย

เช่นเดียวกับที่หามือระเบิดลูกล่าสุดยังไม่พบ!

000

แม้เหตุวางระเบิดที่เชียงใหม่จะไม่เกิดขึ้นบ่อย แต่ก็เป็นภาพจำลองเหตุการณ์ระเบิดแทบจะรายวันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นอย่างดี

คงทำให้คนที่อยู่ทางเหนือ นึกถึงหัวอกคนทางใต้ที่ต้องใช้ชีวิตประจำวันแบบไม่รู้ชะตากรรมชีวิตของตัวเองเป็นอย่างดี คงนึกถึงสิ่งที่รบกวนปรกติสุขของชีวิตที่ชื่อว่า ความกลัว' ภายใต้เคอร์ฟิวส์ ภายใต้กฎอัยการศึกในพื้นที่เหล่านั้น

และคงพอนึกถึงหัวอกคนอิรัก ที่ต้องเผชิญสงครามอันเนื่องมาจากการเข้าไปทำในสิ่งที่สหรัฐอเมริกาเรียกว่าเป็นการ ปลดปล่อย' และ คาร์บอม' รายวันในประเทศของตนเอง ได้บ้าง!

ย้อนกลับไปที่งานรีวิวประวัติศาสตร์คาร์บอมของประจักษ์ ซึ่งตบท้ายการสู้กับคาร์บอมไว้ว่า ...

"เจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโสในไอร์แลนด์เหนือคนหนึ่งซึ่งรับมือกับคาร์บอมบ์มาอย่างหนักหน่วงโชกโชนมากกว่าใครๆ  ตอบคำถามนี้ไว้อย่างน่าสนใจตั้งแต่ 12 ปีที่แล้วว่า คาร์บอมบ์ "ไม่ใช่ประเด็นทางการทหาร มันเป็นประเด็นทางการเมือง ความเสียหายและความตายส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น... มาจากระเบิดซึ่งคนที่มีความรู้ทางเคมีแค่ระดับประถมก็สามารถผลิตได้ คนสองคนกับเครื่องมือง่ายๆ ก็สามารถผลิตระเบิดขนาด 500 กิโลกรัมได้สบายๆ... เราไม่มีความสามารถที่จะไปสู้กับอาวุธแบบนี้ได้หรอก การปลดชนวนความคิดและจิตใจของผู้ก่อการต่างหากที่ควรเป็นเป้าหมายของเรา"

 

หากจะเอาชนะกับการก่อการร้ายที่มีคาร์บอมบ์เป็นอาวุธ หนทางทางการทหารจึงไม่ใช่คำตอบ มีแต่การปฏิรูปทางสังคมและเศรษฐกิจ บวกกับจินตนาการใหม่เกี่ยวกับโครงสร้างสถาบันทางการเมืองเท่านั้นที่จะหยุดยั้งอาวุธมีชีวิตที่ไร้หัวใจนี้ได้"

ก็ไม่รู้ว่าเชียงใหม่ ภาคใต้ หรือที่ไหนก็ตามในโลกจะพบกับระเบิด คาร์บอม ลูกสุดท้ายเมื่อไหร่ คำถามนี้ราวค้นหาแสงสว่างในปลายอุโมงค์

อ่านประกอบ

ประจักษ์ ก้องกีรติ, รีวิวหนังสือโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ : ว่าด้วย คาร์บอมบ์': อาวุธมีชีวิต, ประชาไท, 21/3/2551

 

 

Strawberry Field Forever ('สตรอเบอรี่' อินทรีย์ที่ 'สะเมิง')

 

พืชผักผลไม้ในท้องตลาด เสี่ยงต่อการมีสารเคมีและยาฆ่าแมลงตกค้างจากการผลิตแบบเกษตรเชิงพาณิชย์ ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ ทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรผู้ผลิต

ดังนั้นจึงมีเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งแสวงหาทางเลือกใหม่ หนึ่งในทางเลือกนั้นคือการทำ เกษตรอินทรีย์'

พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ

เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา องค์กรมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ (มอน.) และสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน (ISAC) จัดกิจกรรมผู้บริโภคสัญจรไร่สตรอเบอรี่อินทรีย์ ที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ผู้บริโภคได้พบกับเกษตรกรผู้ผลิตพืชผักอินทรีย์ สร้างความเข้าใจร่วมกันถึงกระบวนการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ดังกล่าว

หนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกสตรอเบอรี่อินทรีย์ที่ได้ไปเยี่ยมเยียนกันคือ สิงห์แก้ว แสนเทชัย หรือพะตี ชีแนะ' ชาวบ้านปกาเกอะญอ หมู่ 4 ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่

พี่ชีแนะ เล่าให้ฟังว่า ทำสวนตั้งแต่ปี 2526 เป็นต้นมา เคยปลูกพืชผักเมืองหนาวมาหลายอย่าง ทั้งกาแฟ ถั่วแดง สตรอเบอรี่ โดยมีนายทุนจากเพชรบุรีเอาพันธุ์ เอาปุ๋ยเคมี เอายากำจัดศัตรูพืชมาให้ แต่ต้องขายพืชผลให้กับเขาเท่านั้น บางปีได้ผลผลิตมาก บางปีได้ผลผลิตน้อย บางปีเป็นโรค ขายได้ราคาดีบ้างไม่ดีบ้าง ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้สารเคมีมากขึ้น และอันตรายขึ้น ทำมา 20 ปี เป็นหนี้สะสมกว่า 150,000 บาท

พี่ชีแนะบอกว่ากระบวนการเพาะปลูกพืชปัจจุบัน ทั้งผู้ปลูก ผู้บริโภคต่างมีโอกาสได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายทั้งนั้น

"ถึงชาวบ้านไม่ปลูกสตรอเบอรี่เอง ก็ไปรับจ้างเก็บสตรอเบอรี่ ถางหญ้า ยังไงก็ต้องสัมผัสสารเคมี เพราะท้องร่องสวนเขาพ่นยาฆ่าหญ้าตลอด เวลาเข้าสวนต้องสวมรองเท้าบูท เดินเท้าเปล่าไม่ได้"

"พ่นวันนี้ พรุ่งนี้เก็บก็มี พ่นวันนี้ เย็นวันนี้เก็บก็มี อันตรายมาก"

วันหนึ่ง พี่ชีแนะเจ็บป่วย ต้องผ่าท้อง หมอบอกว่าถ้ายังใช้สารเคมี หมอรักษาให้ไม่ได้แล้ว

"ผมเลยอยากหาทางออกที่ยั่งยืน"

วันหนึ่งหลังจากมีโอกาสอบรมเรื่องทำเกษตรอินทรีย์ที่ ต.แม่ทา กิ่ง อ.แม่ทา จ.เชียงใหม่ พี่ชีแนะจึงเริ่ม ลด ละ เลิก ใช้เวลาปรับเปลี่ยนกว่า 5 ปี จากการทำเกษตรที่ใช้สารเคมี หันมาเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ด้วยวิธีโบราณแบบที่คนรุ่นพ่อทำ

โดยปี 2550 นี้ เป็นปีแรกของการเริ่มปลูกสตรอเบอรี่อินทรีย์เต็มรูปแบบของพี่ชีแนะ พร้อมกับเพื่อนบ้านอีก 1 หลัง ทำให้เป็นบ้าน 2 ครอบครัวแรก จากทั้งหมด 20 หลังคาเรือน ที่เริ่มต้นชีวิตเกษตรกรใหม่ด้วยเกษตรอินทรีย์

"เริ่มแรกก็มีปัญหา ก่อนหน้านี้ลูกเมียไม่เชื่อ ผมเลยบอกว่าใช้ยาแล้วไม่ดี" พี่ชีแนะพูดถึงอุปสรรคแรกของการปลูกสตรอเบอรี่แบบเกษตรอินทรีย์จาก ทางบ้าน' แต่ก็ผ่านไปได้ เพราะหลังๆ มาครอบครัวเริ่มเข้าใจ

000

พี่ชีแนะกับไร่สตรอเบอร์รี่อินทรีย์

จากบ้านพี่ชีแนะ พวกเราเดินทางขึ้นเขาลงห้วย ทั้งทางรถทางคน ก็มาถึงไร่สตรอเบอรี่ของพี่ชินะ เป็นเนินอยู่ริมลำธารเล็กๆ กลางหุบเขา พื้นที่ประมาณ 2 งาน สภาพเหมือนแปลงสตรอเบอรี่ทั่วไป ผิดกันตรงที่แทนที่จะใช้ยาฆ่าหญ้ากำจัดวัชพืชที่คลุมแปลงสตรอเบอรี่ ไร่สตรอเบอรี่แห่งนี้เลือกใช้ใบตองตึงมาเรียงๆ กันแทนเพื่อคลุมคันดินกันวัชพืช ใช้ปุ๋ยหมักที่ผสมวัสดุเอง ไม่ใช้ฮอร์โมนเร่งดอก เร่งผล และไม่ใช้ยากำจัดศัตรูพืชใดๆ

พี่ชีแนะ เชิญชวนผู้บริโภคจากเมืองใหญ่ที่มาเยือนไร่สตรอเบอรี่อินทรีย์ของเขา ให้หยิบชะลอม แล้วไปเลือกเก็บสตรอเบอรี่ตามอัธยาศัย

หนาวนี้พี่ชีแนะ เริ่มปลูกสตรอเบอรี่ตั้งแต่เดือนตุลาคม เมื่อปลูกสตรอเบอรี่จนได้อายุ 60 วัน ก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ ตั้งแต่เดือนธันวาคม ไปจนถึงปลายเดือนมีนาคมหรืออาจถึงต้นเดือนเมษายนจึงจะหมดรุ่น โดยผลสตรอเบอรี่จะค่อยๆ ออกผลมาเรื่อยๆ ไม่พร้อมกัน

พี่ชีแนะจะเก็บผลสตรอเบอรี่ 1 ครั้งต่อสามวันไปเรื่อยๆ เมื่อเก็บแล้วจะฝากรถสองแถวสายสะเมิง - เชียงใหม่ ลงมาขายที่ตลาดนัดและคลังเกษตรอินทรีย์ในเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นร้านกระจายสินค้าเจ้าประจำ และก็มีบางเที่ยวของการเดินทางที่สตรอเบอรี่จากสวนพี่ชีแนะเดินทางไปถึงร้านค้าเกษตรอินทรีย์ที่กรุงเทพฯ

สวนของพี่ชีแนะเก็บสตรอเบอรี่ได้ครั้งละ 4-5 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าให้ผลผลิตต่อเนื้อที่น้อยลงเมื่อเทียบกับไร่สตรอเบอรี่ที่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่สตรอเบอรี่อินทรีย์ก็ให้ราคาดีถึงกิโลกรัมละ 150 บาท ผลเล็กผลใหญ่ไม่แยกเกรด กิโลกรัมละ 150 บาทเท่ากันหมด ราคาดีกว่าสตรอเบอรี่ทั่วไปถึงเท่าตัว ยิ่งกว่านั้นราคาสตรอเบอรี่สวนอื่นยังขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนกลางกำหนด หรือกำหนดราคามาแล้วจากนายทุนที่มาจ้างปลูก ตั้งแต่ผลสตรอเบอรี่ยังไม่ออก

000

แขกจากเมืองใหญได้สตรอเบอรี่มาคนละชะลอม สองชะลอม ระหว่างนั้นก็ถ่ายรูปกับไร่สตรอเบอรี่ กับเจ้าของไร่สตรอเบอรี่ บ้างลองชิมสตรอเบอรี่สดที่เพิ่งเด็ดมา พี่ชีแนะให้ความเชื่อมั่นว่าสตรอเบอรี่สวนของเขาไม่มีสารเคมีแน่นอน

"ถ้าเป็นสตรอเบอรี่ที่ใช้ยา กินดูก็รู้จะขมลิ้นขมปากไปหมด" พี่ชีแนะเปรียบเทียบ

ที่จริงผลสตรอเบอรี่ของสวนพี่ชีแนะ ก็มีผลผลิตบางส่วนที่ยังไม่สวยนัก บางผลที่เด็ดมาที่ผิวมีจุดสีดำๆ ทำให้สีของผลสตรอเบอรี่คล้ำ นี่คือผลที่เป็นโรค ไรดำ'

"ให้น้ำน้อยจะทำให้สตรอเบอรี่เจอไรดำ แต่ถ้าให้น้ำมากไปผลสตรอเบอรี่จะเน่า นอกจากนี้หากในไร่สตรอเบอรี่ยังปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือปลูกแต่สตรอเบอรี่ โอกาสที่จะเจอศัตรูพืชก็มีมาก ต้องปลูกพืชให้หลากหลายชนิดเพื่อลดความเสี่ยงต่อการถูกแมลงทำลายพืชผล" แสงทิพย์ เข็มราช ผู้จัดการคลังเกษตรอินทรีย์ สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน (ISAC) สะท้อนปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาโรคพืชในสวนของพี่ชีแนะ

"ไรด่าง ไรแดง ไรต่างๆ ยังแก้ไม่ได้ แต่จะใช้วิธีที่อุ๊ยสอนคือไปหาสมุนไพรในป่า" พี่ชีแนะคิดหาทางแก้ปัญหา

"ลองชิมดู อร่อยดี" อาจารย์กนกวรรณ อุโฆษกิจ เจ้าหน้าที่องค์กรมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ (มอน.) แนะนำว่าให้ลองเอาผลที่เป็นไรดำมาชิม น่าแปลกที่สตรอเบอรี่ผลนี้กลับหวานกว่าสตรอเบอรี่ผลที่ไม่เป็นโรค

แสงทิพย์ เข็มราช สะท้อนอุปสรรคของการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ว่ามีสองประการ คือ ความมั่นใจของชาวบ้าน และแรงกดดันของเพื่อนบ้าน

"หนึ่ง ชาวบ้านเองยังไม่มีความเชื่อมั่นว่าทำเกษตรอินทรีย์จะสามารถลดหนี้ได้ไหม ผลผลิตออกมาจะสวยไหม ถ้ามันไม่สวยจะไปขายที่ไหน จะขายได้ไหมในตลาด เพราะตอนใช้สารเคมีต้องสวยๆ พ่อค้าถึงจะรับ แต่กับเกษตรอินทรีย์ คลังเกษตรอินทรีย์มีนโยบายให้ชาวบ้านทำตลาดเอง ไม่พยายามสร้างความสัมพันธ์อีกชั้นหนึ่ง พยายามสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคให้มากที่สุด

สองคือ ภาวะแรงกดดันของเพื่อนบ้าน เพราะในหมู่บ้านมีคนทำเกษตรอินทรีย์ไม่เยอะ ชาวบ้านที่หันมาทำ จะถูกหาว่าเป็นบ้าหรือเปล่า คิดอะไรไม่เหมือนคนอื่น ทำเกษตรอินทรีย์จะไหวหรือ จะรอดไหมหนอ เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์จะเจอแรงกดดันของเพื่อนบ้าน พวกบริษัทขายสารเคมีก็กดดัน เพราะเขาเข้ามาในหมู่บ้านพยายามขายสารเคมีให้ได้ บอกชาวบ้านว่าเกษตรอินทรีย์มันไปไม่ได้

... ร้านขายสารเคมีอยู่ใกล้เขามาก ชาวบ้านจะไปหาได้เร็ว ถ้าเจ้าหน้าที่ส่งเสริมไม่เกาะติดพื้นที่ เราต้องใช้เวลา ส่งเสริมสารพัดวิธีให้ชาวบ้านเชื่อมั่นว่าเกษตรอินทรีย์ไปได้มีทางรอด" แสงทิพย์ กล่าว

แต่พี่ชีแนะยังมั่นอกมั่นใจว่าจะฝากชีวิตไว้กับไร่สตรอเบอรี่อินทรีย์ที่กำลังให้ผลผลิตสม่ำเสมอ พี่ชีแนะคิดว่าพืชผลจากเกษตรอินทรีย์จะอยู่รอดก็ด้วย

"ถ้ามีชาวหมู่มาช่วยซื้อมากๆ ผมคงทำเรื่อยๆ คนซื้อ คนกิน คนขายถ้าไม่ช่วยกัน คนปลูกก็ได้รับผลกระทบ คนกินก็ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าใครก็ไม่รอด"

และ "ที่สำคัญต้องทำในระดับนโยบาย ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ต้องแนะนำชาวบ้านหาทางออกด้วยการปลูกเกษตรอินทรีย์ แต่ตอนนี้ยังไม่ตื่นตัว ยังใส่ยา ใส่ปุ๋ยกันอยู่"

000

แขกเหรื่อที่มาเยี่ยมสวนพี่ชีแนะ ได้สตรอเบอรี่ติดไม้ติดมือจำนวนมากแล้ว ตอนนี้ได้เวลาร่ำลากัน

"เอาไว้มาเยี่ยมกันใหม่" พี่ชีแนะบอกกับคณะที่กำลังจะกลับ

"ขอให้โชคดี ขอบคุณพี่มากสำหรับทางเลือกก้าวแรกๆ ที่จะทำให้สังคมได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย" ผมกล่าวในใจ

 

ข่าวประชาไทที่เกี่ยวข้อง

รายงาน วัฒนเสวนา : เกษตรอินทรีย์ และธนาคารเมล็ดพันธุ์ ของขวัญแห่งชีวิต', โดย ฐาปนา พึ่งละออ, ประชาไท, 3 พ.ค. 2550

มีอะไรในผืนป่าสุดท้ายกลางเมืองใหญ่

มีเพื่อนผู้หวังดีส่งเมลมาว่า ให้เขียนเรื่องดี ๆ เพื่อเมืองเชียงใหม่บ้าง ทำไมถึงมองไม่เห็นความงามของเมืองบ้าง 
ฉันจึงเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมา               

1

1

ถ้ามองลงมาจากฟ้า เราจะเห็นเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ตรงกลาง มีป่าดอยสุเทพอยู่ทางตะวันตก มีแม่น้ำปิงไหลผ่านทางตะวันออก  ช่างเป็นเมืองงดงามที่สมบูรณ์

เล่ากันว่า เดิมทีผู้คนในเมืองนี้อยู่กันอย่างสงบสันติ แต่แน่นอนเมืองที่ดีงามเช่นนี้ ย่อมมีผู้คนต้องการ เข้ามาอยู่มาครอบครอง โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติบนดอยสูง

หลายร้อยปีต่อมา เมืองเชียงใหม่เติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมกับนโยบายเพื่อการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในเมืองหมดไปอย่างรวดเร็ว และสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงอย่างมากโดยเฉพะสิบปีที่ผ่านมา  

ดอยสุเทพเป็นเป้าหมายหลัก ไม่ว่าจะเป็นโครงการขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ การท่องเที่ยวได้รุกคืบเข้าไปถึงขั้นกันพื้นที่อุทยานออกมาใช้ บางโครงการใช้พื้นที่ไปแล้วและหลังจากนั้นขอถอนพื้นที่ออกจากอุทยาน อีกทั้งยังมีโครางการขนาดใหญ่ที่เรียกว่า เมกกะโปรเจค ค้างอยู่อีกหลายโครงการ

ชาวเมืองเชียงใหม่ และผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองเชียงใหม่ จำนวนมาก ที่เป็นกังวลหวงใยเรื่องป่าดอยสุเทพ วัดพระธาตุดอยสุเทพ และลานครูบาศรีวิชัย   พวกเขาพยายามดูแลจัดการมาหลายชั่วอายุคนเหมือนกัน พยายามคัดค้านโครงการต่าง ๆ รอบ ๆ ดอยสุเทพ รวมทั้งผืนป่าในพื้นที่อุทยาน ที่ถูกทำลายภายใต้นโยบายของรัฐ

โครงการของรัฐบาลบางโครงการ ส่งผลกระทบต่อศรัทธาของคนเชียงใหม่อย่างรุนแรง และในช่วงนั้นเกิดภาคีคนฮักเชียงใหม่ขึ้นมา  เป็นการรวมตัวกันด้วยศรัทธา  

หลังจากนั้น ปีที่ผ่านมา มีชมรมเพื่อดอยสุเทพเกิดขึ้นโดยความร่วมมือของหัวหน้าอุทยานดอยสุเทพในสมัยนั้น มีการจัดกิจกรรมร่วมกันหลายครั้ง ทั้งการเดินสำรวจดอยสุเทพ การจัดนิทรรศการ จนเปลี่ยนหัวหน้าอุทยาน และวันนี้มีความพยายามจะสานต่อกันอยู่

2

2

ดอยสุเทพได้ชื่อว่า เป็นดอยวิเศษ ป่าแห่งดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เป็นจิตวิญญาณของชาวล้านนา  ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุดอยสุเทพยาวนานกว่า 600 ปี พื้นที่ดังกล่าว ส่วนใหญ่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และบางส่วนเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำบางส่วนยังคงมีสภาพป่าสมบูรณ์

นอกจากความงดงามของสถานที่แล้ว ยังถือเป็นป่าที่มีคุณค่า มีทรัพยากรธรรมชาติ ที่อุดมสมบูรณ์ หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมายาวนาน 

ในช่วงปลายฝนต้นหนาวที่ผ่านมา มีการเดินขึ้นดอยสุเทพอย่างช้า ๆ ของคนเชียงใหม่ เพื่อระลึกถึงจอบแรกของครูบาศรีวิชัย ผู้สร้างขึ้นไปสู่ยอดดอย  ผู้คนที่เดินดอยแบ่งเป็นสองกลุ่มเดินทางถนนและเดินทางป่า ผู้เดินทางป่าที่สูงวัยคนหนึ่งมาบอกเล่าให้ใคร ๆ ฟังว่า แม้ว่าการเดินป่าดอยสุเทพเดี๋ยวนี้  จะไม่เห็นสัตว์ป่าชนิดใดบนดอย นอกจากนกกระรอก และแมลงต่าง ๆ และคิดว่าที่ถูกบันทึกเอาไว้ มันอาจจะไม่มีแล้วก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นนกสามร้อยกว่าชนิด ผีเสื้อกลางวันห้าร้อยชนิด ผีเสื้อกลางคืนอีกสามร้อย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนับกว่าครึ่งร้อย สัตว์เลื่อยคลานอีกมากมาย และสัตว์หายากพวกชะนี หมีควาย กวางป่า หมูป่า และพืชหลากหลาย ทั้งพืชเฉพาะถิ่นที่มีอยู่ที่เฉพาะที่นั้น ๆ เท่านั้น รวมทั้งกล้วยไม้ป่าหายาก แต่เมื่อเดินไปเรื่อย ๆ ก็จะรู้สึกได้ถึงความมีชีวิตและที่เขากล่าวกันว่า เราต่างมีชีวิตที่ธรรมชาติเป็นผู้ดูแลนั้นสัมผัสได้จริง ๆ

และเพียงแค่นี้ พอเพียงไหมสำหรับการจะดูแลรักษาไว้ ให้เป็นผืนป่าผืนสุดท้ายกลางเมืองใหญ่ เพื่อช่วยให้โลกร้อนน้อยลง

ไม่ว่าคุณจะเป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิด “คนเมือง” หรือคุณจะเป็นเพียงมาอาศัยอยู่ในเมืองเชียงใหม่อย่างถาวร หรือมาอยู่ชั่วคราว คุณหรือใครก็มีสิทธิ์ที่จะรักเมืองเชียงใหม่ และช่วยกันดูแล ช่วยกันบอกต่อถึงเรื่องราวของป่าผืนสุดท้าย ให้ตระหนักถึงความสำคัญร่วมกันว่านี้คือปอดของเมือง ไม่ควรมีสิ่งใดที่แอบแฝงอยู่ในป่าผืนนั้น ไม่ควรปลูกสร้างอะไรอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ หรือที่พัก ร้านอาหารของเอกชน อย่าปลูกสร้างอะไรขึ้นมาอีกเลย นอกจากต้นไม้   

ปล. ฉันเขียนเรื่องดีงามแล้วใช่ไหมเพื่อน

ไม่รักไม่บอก

ไม่รักไม่บอก  เออ...เหมือนมีใครมาพูดอยู่ข้างหู บอกว่า ฉันรักเธอนะจึงบอก แต่ว่าเรื่องที่ฉันจะบอกนั้น เธออาจไม่ชอบ เธออาจจะโกรธฉัน  แต่ที่ฉันต้องบอกเพราะว่า ฉันรักเธอและปรารถนาดีต่อเธอจริง ๆ

“ฉันไม่บอกไม่ได้แล้ว”
ถึงตอนนี้คุณอาจจะรู้สึกรำคาญใจ พูดพร่ำอยู่ทำไม อยากบอกอะไรก็บอกมาเถอะ

ใช่...ไม่รักไม่บอกค่ะ เป็นชื่อหนังสือเล่มเล็ก ๆ บาง ๆ มีการ์ตูนน่ารักๆ เปิดไปหน้าแรก

ผู้เขียนบอกว่า ที่ทำหนังสือเล่มนี้ เพราะว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์เป็นเรื่องน่ารัก มีเรื่องดีงามที่เขาค้นพบอยู่มากมาย

pic1

เขาเล่าถึงเรื่อง เด็กชายคนหนึ่ง ตามแม่ไปซื้อของที่ร้านเกษมสโตร์ เขากินไอศกรีมรอแม่ แล้วแม่ไม่ได้จ่ายเงินค่าไอศกรีม เขากังวลใจที่ไม่ได้จ่ายเงินเสียที เพราะแม่ไม่ยอมไปที่นั่นอ้างว่าจอดรถยาก แม่บอกรอไปก่อน ในที่สุดวันหนึ่งเขาก็ได้ไปจ่ายเงินค่าค่าไอศกรีม เขามีความสุขมาก ๆ เจ้าของร้านบอกว่าเขาเป็นเด็กดี จึงให้ขนมเขามามากมาย

7 ปีต่อมา เด็กชายอายุ 15 ปี  เขาได้รับสิ่งดีงามทดแทน เขาบอกว่า เขาไปกินอาหารที่ร้านแซนวิชบาร์ ตรงแจงหัวลินกับพ่อ ที่ร้านคืนเงินให้หนึ่งร้อยบาทเพราะครั้งก่อนเก็บเงินเกินไป

เรื่องเล่าที่งดงามในสองหน้าแรก ทำให้ฉันมีความสุขไปด้วยในยามเช้าที่ได้นั่งอ่าน
ใช่...จริง ๆ ด้วยความสัมพันธ์ของคนเป็นเรื่อน่ารัก มีเรื่องน่ารักมากกมาย

pic2

ตอนนี้...คุณนึกออกไหมมีเรื่องน่ารักอะไรเกี่ยวกับคุณบ้างในหนึ่งวัน 

ผู้เขียนซึ่งไม่ประสงค์จะออกนาม คือทิ้งนามไว้ที่หน้าปก หลังปก หรือที่อื่นใด ดูหรือทำเรื่อง ๆ ดี ๆ เช่นนี้แต่ไม่เปิดเผยตัวเอง เขาสรุปว่า...

“ชีวิตมีให้พวกเรา เริ่มต้นใหม่ทุกวัน
ชีวิตมีให้เราเลือกหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าพวกเราพร้อมที่จะเลือกไหม”

เปิดผ่านไป มีภาพการ์ตูน เด็กหญิงหัวโต...มาบอกว่า ขออภัยร้านใหญ่ ๆ ดัง ๆ ด้วยนะคะ งานนี้เราลงแต่ร้านเล็ก ๆ ค่ะ

อ้าว...เป็นแผนที่ร้านอาหารค่ะ พี่น้อง
โอโห...น่าไปกินทั้งนั้น เป็นร้านอาหาร ร้านเล็กร้านน้อย เริ่มตั้งแต่บริเวณสะพานนวรัฐ สะพานนครพิงค์ น่าไปกินทั้งนั้น กาดหลวง ราชวงศ์ ช้างม่อย แม่เหี๊ยะ สันป่าข่อย สันกำแพงก็มี

ว้าย! มีทุกแห่งเลย ร้านเล็กๆ อร่อยและไม่แพงด้วย ร้านที่ไม่มีในไกด์บุค และไม่มีในหนังสือฟรีก็อปปี้ด้วย
ดีละ...คราวนี้ มีเพื่อนมาเชียงใหม่จะมอบไกด์บุค นอกกระแสเล่มนี้ให้เลือกเลยว่า จะไปกินที่ไหน อร่อยและไม่แพงอย่างนี้ชอบ...คนทำหนังสือเล่มนี้ต้องมีความสุขแน่ ๆ

มาเที่ยวเชียงใหม่หากินหาอยู่แบบไม่แพงก็ได้นะคุณ

จบการกินแล้ว เขาจะบอกเรื่องอะไรอีกล่ะ หนังสือเล่มนี้เขียนว่า รวมแผนที่ร้านอาหารแซกซอกนอกกระแส ไม่มีเส้น ไม่เล่นพวก

เอาล่ะค่ะ...แค่นี้ก่อนนะคะ แล้วจะมาเล่าใหม่ ของไปกินก่อนค่ะ

(อยากได้หนังสือไม่รักไม่บอก ติดต่อภาคีคนฮักเชียงใหม่ค่ะ 16 ถ. เทพสถิต ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200  หรือ 08 4041 5096)

Subscribe to Chiangmai