เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
ยามปลายฝนต้นหนาว ช่วงเดือนตุลาคม ต้นปีบขาว (กาสะลองเงิน) กำลังออกดอกสีขาวบริสุทธิ์ กลิ่นหอมเย็นชื่นใจ ชวนให้คิดถึงการมาเยือนภาคเหนือเพื่อชื่นชมธรรมชาติและวิถีชีวิตที่สงบสุขของชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประชากรมากที่สุดในภาคเหนือ และสามารถรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างพอเพียงและเรียบง่าย ยิ่งเป็นชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากอิทธิพลสังคมเมือง เช่น อ.อุ้มผาง จ.ตาก จะยิ่งมีการสืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูกได้โดยไม่ขาดสายคุณแมว – จันทราภา (นนทวาสี) จินดาทอง มีเรื่อง “การสืบสานผ้าทอต่อจากแม่” มาฝากท่านผู้อ่าน เชิญติดตามค่ะเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม หนึ่งในปัจจัยสี่ที่มนุษย์ต้องการเป็นพื้นฐาน นอกเหนือจากอาหาร ยารักษาโรคและที่อยู่อาศัย คนในอดีตใช้ประโยชน์จากเสื้อผ้าในฐานะที่เป็นเครื่องปกปิดร่างกายไม่ให้ดูอุจาดตา เครื่องแต่งกาย เครื่องนุ่งห่มเมื่อครั้งกระนั้นจึงมีลักษณะเรียบง่ายวิวัฒนาการแต่ละยุคที่ผ่านมา ทำให้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ค่อย ๆ กลายเป็นส่วนสำคัญที่บ่งบอกถึงอารยธรรมของผู้คน และยังเป็นตัวชี้วัดฐานะความยากดีมีจน รวมทั้งสถานภาพทางสังคม ยิ่งอยู่ในระดับชนชั้นปกครอง เครื่องแต่งกายยิ่งต้องวิจิตรบรรจงปัจจุบันเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ยังสามารถบอกรสนิยมของผู้สวมใส่และแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแผ่ขยายอิทธิพลของอารยธรรมที่เจริญทางวัตถุไปสู่ทั่วทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในสังคมเมืองใหญ่ที่ผู้คนต้องรีบเร่งวิ่งตามแฟชั่นเพื่อไม่ให้ตกยุค ส่วนในสังคมชนบทรวมถึงสังคมของพี่น้องชนเผ่า แม้จะอยู่ห่างไกล แต่สื่อต่าง ๆ ที่ซอกซอนไปทุกหย่อมหญ้าก็ยังส่งผลกระทบไปถึงวัฒนธรรมการแต่งกายอยู่ไม่น้อยเอกลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมโดดเด่นให้คนภายนอกรับรู้ได้ทันทีถึงความเป็นพี่น้องแต่ละชนเผ่า คือ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ในประเทศไทยประกอบไปด้วยชนเผ่ามากมาย เฉพาะในภาคเหนือของประเทศมีผู้คนต่างเผ่าพันธุ์ อาทิ กะเหรี่ยง ม้ง ลาหู่(มูเซอ) อาข่า(อีก้อ) ลีซู(ลีซอ) เมี่ยน(เย้า) ลัวะ มลาบรี ไทลื้อ ไทใหญ่ จีนฮ่อ เป็นต้น การจำแนกแยกแยะโดยสายตาในสมัยก่อน วิธีที่ง่ายที่สุดดูได้จากเสื้อผ้าที่พวกเขาสวมใส่สมัยนี้แทบทุกชนเผ่าในเวลาปกติ จะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าเหมือนคนพื้นราบทั่วไป โดยเฉพาะผู้ชายและเด็กวัยรุ่น ไม่ว่าหญิงหรือชายจะไม่ค่อยแต่งชุดชนเผ่าดั้งเดิมของตน หากไม่ใช่การต้องร่วมงานพิธีสำคัญ ผิดกับผู้หญิงวัยกลางคนขึ้นไป ที่ยังคงใส่ชุดประจำเผ่ายามใช้ชีวิตประจำวันเป็นปกติพื้นที่ผืนป่าอุ้มผาง ประชากรเกือบทั้งหมดเป็นชาวปกาเกอญอ(กะเหรี่ยง) มีชนเผ่าม้งอาศัยอยู่เพียงหมู่บ้านเดียว คือ บ้านแม่กลองใหญ่ ตำบลโมโกร ชาวปกาเกอญอดั้งเดิมส่วนใหญ่ เป็นสะกอ หรือที่คนอุ้มผางเรียกว่า กะเหรี่ยงดอย มีบางส่วนที่อพยพเข้ามาภายหลังจากจังหวัดกาญจนบุรีและจากประเทศพม่า เป็น โปว์ หรือ กะเหรี่ยงน้ำ ซึ่งการแต่งกายของทั้งสองกลุ่มจะแตกต่างกันในส่วนของสะกอเอง ยังมีกลุ่มย่อยที่มีความเชื่อต่างออกไป คือ กลุ่มที่นับถือฤาษี โดยเฉพาะที่บ้านเลตองคุ และ บ้านซอแหมะ ทำให้มีรายละเอียดปลีกย่อยของเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ผิดแผกจากหมู่บ้านอื่น ๆการเก็บข้อมูลงานผ้าทอของโครงการฟื้นฟูภูมิปัญญาปกาเกอญอในผืนป่าอุ้มผาง จึงสุ่มตัวอย่างสามหมู่บ้าน ได้แก่ บ้านทีจอชี หมู่ที่ 11 ตำบลแม่จัน ที่เป็นหมู่บ้านนำร่อง และเป็นชุมชนที่ผู้หญิงทั้งหมู่บ้าน ตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ หญิงสาว แม่บ้านแม่เรือนหรือหญิงชรา ล้วนแล้วแต่แต่งกายด้วยชุดปกาเกอญออยู่ตลอดเวลาบ้านยะแมะคี หมู่ที่ 7 ตำบลโมโกร เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ห่างจากถนนสายแม่สอด-อุ้มผางเพียง 6 กิโลเมตร จะเห็นว่า ผู้ชายและคนในวัยหนุ่มสาวจนถึงเด็ก ๆ แต่งกายด้วยเสื้อผ้าเหมือนคนพื้นราบโดยทั่วไปในการใช้ชีวิตปกติประจำวัน แต่ทุกคนก็ยังมีชุดปกาเกอญอสำหรับใส่ในพิธีการสำคัญ และเด็กสาวทุกคนยังสามารถทอผ้าอย่างง่าย ๆ ได้ เช่น ย่าม เสื้อที่ไม่มีลวดลายมากนักขณะที่บ้านซอแหมะที่ประชากรเกือบทั้งหมดนับถือฤาษี จะสวมเสื้อผ้าปกาเกอญอเหมือนทั่วไป มีพิเศษในส่วนของเสื้อคลุมฝ่ายหญิง เป็นเสื้อที่มีส่วนลำตัวสั้นแต่แขนยาว และมีผ้าโพกศรีษะของทั้งหญิงชายในตอนร่วมงานหรือพิธีการสำคัญ ผู้ชายที่นับถือฤาษีจะไว้ผมยาวและเกล้าจุกไว้ด้านหน้ากระบวนการสืบค้นข้อมูลเชิงลึกของงานผ้าทอจากหมู่บ้านทีจอชี ได้รับคำยืนยันว่า งานผ้าทอไม่มีวันสูญหายไปแน่นอน เพราะเป็นภาระหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของหญิงผู้เป็นแม่ที่ต้องถ่ายทอดการทอผ้าต่อไปยังบุตรสาว แม้กระทั่งเด็กสาวที่ออกจากหมู่บ้านไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านกล้อทอ ที่ห่างออกไป 12 กิโลเมตร จะกลับบ้านเฉพาะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์และช่วงปิดเทอม ก็ยังถูกสั่งสอนให้ต้องทอผ้าอย่างง่าย ๆ ให้เป็นผ้าทอของทีจอชี นอกเหนือจากเสื้อผ้าของหญิงสาว (ชุดเชวาสีขาวหรือสีอื่น ๆ ที่ทอยาวเป็นชุดกระโปรง) เสื้อของหญิงที่แต่งงานแล้ว (เชซู เสื้อแขนสั้นพื้นสีดำ ทอลวดลายด้านล่าง) ผ้าถุง ชุดยาวของผู้ชายสำหรับใส่ในพิธีกรรม เสื้อผู้ชายแขนสั้น เสื้อและชุดสำหรับเด็กชายหญิง ชาวปกาเกอญอบ้านทีจอชี ยังใช้ย่าม ผ้าโพกหัว ผ้าห่ม (สามารถใช้เป็นผ้าสำหรับแบกลูกน้อยได้ด้วย) ที่ทอกันเองภายในหมู่บ้านลักษณะของเสื้อผ้าที่คนปกาเกอญอทุกกลุ่มสวมใส่ ไม่มีกระดุม ซิป หรือผ้าผูก ใช้เพียงผ้าทอหน้าแคบที่อาศัยเพียงอุปกรณ์การทออย่างง่าย ๆ สามารถทำได้เองในครัวเรือน โดยใช้ผ้าสองผืนมาเย็บติดกัน เวลาใส่ก็สวมผ่านศีรษะ เสื้อผ้าของเด็ก ผู้ใหญ่ ชายหรือหญิงก็มีลักษณะเดียวกัน แตกต่างกันเฉพาะสีสันและลวดลายเท่านั้นความแตกต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่งของเสื้อผ้าผู้ชายที่ใช้พิธีกรรม กล่าวคือ ชาวปกาเกอญอในอุ้มผาง จะใส่ชุดยาวสีชมพูสดหรือสีอื่น ๆ คล้ายชุดเชวาของหญิงสาว ขณะที่หากเป็นเวลาปกติ ผู้ชายจะสวมโสร่งแทนกางเกง ซึ่งเป็นการรับอิทธิพลมาจากประเทศพม่า ซึ่งไม่เหมือนกับปกาเกอญอในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่จะใส่เสื้อสั้นสีแดงกับกางเกงลวดลายที่ใช้บนผืนผ้ามีทั้งลายดั้งเดิมที่สืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต แม่เฒ่าคนหนึ่งเล่าว่า ส่วนใหญ่ลายของปกาเกอญอมาจากของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ลายกระบุง ตะกร้าที่สานด้วยไม้ไผ่ น่าเสียดายที่ประวัติความเป็นมา สัญลักษณ์และเรื่องราวจากลายผ้าถูกลบเลือนไปตามกาลเวลา ลวดลายใหม่ ๆ ที่นำเสนอรูปธรรมตรง ๆ เช่น ลายนกคู่ รูปหัวใจ มักได้มาจากผ้าทอฝั่งพม่า ซึ่งชาวบ้านหลายคนในทีจอชียังมีเครือญาติและการไปมาหาสู่กันอย่างสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับสีของชุดเชวาที่แต่เดิมมีเพียงสีขาว ในยุคหลัง ๆ นี้เริ่มมีสีอื่น ๆ เช่น เขียว น้ำเงิน ดำ แต่ยังคงรูปแบบเป็นชุดกระโปรงยาวความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นกับผ้าทอ นอกเหนือจากลวดลายใหม่ ๆ ที่นำเข้ามา คือ ด้ายที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการทอ แต่ก่อนชาวบ้านจะปลูกต้นฝ้ายไว้ในไร่ข้าว แล้วนำมาตี ปั่นและกรอจนเป็นเส้นด้าย โดยเครื่องมือพื้นบ้านที่ผลิตกันเอง จากนั้นนำด้ายมาย้อมด้วยสีที่ได้จากธรรมชาติ จึงจะนำมาทอเป็นผืนผ้า ซึ่งแต่ละขั้นตอนต้องอาศัยเวลาและความพากเพียรของผู้ทอเป็นอย่างยิ่งปัจจุบันมีทางเลือกที่สะดวกสบาย โดยการซื้อด้ายสำเร็จรูปที่ย้อมด้วยสีเคมีฉูดฉาด ราคาไม่สูงนัก เดิมทีต้องเดินทางออกมาซื้อถึงตัวอำเภออุ้มผางที่อยู่ไกลถึง 60 กิโลเมตร เดี๋ยวนี้ชาวบ้านสามารถเดินทางเพียง 10 กิโลเมตรเพื่อซื้อหาด้ายจากศูนย์อพยพนุโพที่มีตลาดค้าขายข้าวของแทบทุกชนิดเหมือนในตัวอำเภอแกนนำอาวุโสของบ้านทีจอชี มีความเป็นห่วงว่า ภูมิปัญญาในการผลิตวัตถุดิบสำหรับทอผ้าจะสูญหายไป ทั้งการปลูกฝ้าย การย้อมด้วยสีธรรมชาติ ตลอดจนลายผ้าเก่า ๆ จึงตกลงร่วมกันรื้อฟื้นการปลูกฝ้ายในไร่ข้าวขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับตีฝ้าย เครื่องกรอฝ้ายเป็นเส้นด้ายโดยช่างฝีมือในหมู่บ้านที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่คนส่วนการย้อมสีธรรมชาติพบว่า เหลือเพียงแม่เฒ่าคนเดียวซึ่งแก่มากแล้วที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องนี้ บรรดาเยาวชนและแกนนำหมู่บ้านได้หารือว่าน่าจะมีการเรียนรู้เรื่องย้อมสีธรรมชาติจากชุมชนที่ทำกันเป็นประจำมาเป็นพื้นฐานก่อน แล้วค่อยขอคำปรึกษาจากแม่เฒ่าเพิ่มเติมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานผ้าทอ โดยเน้นเรื่องการย้อมสีธรรมชาติจากบ้านโป่ง หมู่ที่ 12 ตำบลบ้านกาศ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงเกิดขึ้น มีการพาตัวแทนแกนนำเยาวชนและผู้นำของหมู่บ้านไปศึกษาถึงวัตถุดิบในการย้อมผ้าจากป่าของแม่สะเรียง อุปกรณ์การย้อมผ้า ลวดลายต่าง ๆ การผลิตผ้าทอให้สวยงามหากจะนำมาจำหน่าย รวมทั้งได้ฝึกปฏิบัติจริงในเรื่องการย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งรายละเอียดกิจกรรมดังกล่าวปรากฏอยู่ในบทความเรื่อง “เส้นใย ปกาเกอญอที่ทอถัก จากอุ้มผางสู่แม่สะเรียง”ภายหลังกลับจากการเรียนรู้ แกนนำที่มีโอกาสออกไปศึกษาดูงาน ได้จัดให้มีการสาธิตย้อมสีธรรมชาติขึ้นในหมู่บ้านทีจอชี โดยเชิญแม่เฒ่าผู้รู้เรื่องการย้อมสีธรรมชาติมาร่วมให้คำแนะนำด้วย ซึ่งได้รับความสนใจ ความร่วมมือช่วยเหลือจากชาวบ้านทุกคนเป็นอย่างดี สิ่งที่พบจากการเสาะหาวัตถุดิบในการย้อมผ้า คือ ต้นไม้ที่ให้สีตามธรรมชาติในป่ารอบ ๆ หมู่บ้านทีจอชี มีความหลากหลายของชนิดและมีปริมาณมากกว่าที่พบในป่าของแม่สะเรียง เนื่องจากผืนป่ายังคงมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า แกนนำเยาวชนจึงขอร้องให้ชาวบ้านช่วยกันดูแลผืนป่า เพื่อให้มีวัตถุดิบในการย้อมสีธรรมชาติต่อเนื่องไปตลอดนอกเหนือจากการแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนทั้งหมู่บ้าน การจัดให้รื้อฟื้นงานผ้าทอ ยังช่วยชาวบ้านได้ฉุกคิดเรื่องราวของบทบาทหญิงชาย โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนชาย ที่ก่อนหน้านี้เมื่อพูดถึงการทอผ้า พวกเขาจะไม่สนใจและคิดว่าเป็นงานของผู้หญิง แต่หลังจากมีการร่วมกันปลูกฝ้ายในไร่ ช่วยกันเสาะหาวัตถุดิบสำหรับใช้ในการย้อมสีธรรมชาติ รวมถึงการสร้างเครื่องมือทอผ้าอันเป็นบทบาทเฉพาะที่สำคัญของฝ่ายชาย จึงทำให้การพูดคุยเรื่องงานผ้าทอในช่วงหลัง มีผู้ชายเข้าร่วมมากขึ้นและมีส่วนในการแลกเปลี่ยนมากกว่าเดิมสิ่งที่ยังคงเป็นความคาดหวังของแม่เฒ่าและแกนนำอาวุโสของบ้านทีจอชี คือ การให้เยาวชนรื้อฟื้นและสืบค้นเรื่องราวของลายผ้าปกาเกอญอโบราณที่อาจต้องเสาะหาจากชุมชนอื่น แล้วนำมาฝึกทอ ทั้งนี้อยากให้เน้นการทอผ้าจากฝ้ายที่ย้อมสีธรรมชาติ เพื่อใช้เองในวิถีชีวิตประจำวันแทนการซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูป อันเป็นพึ่งพาตนเองเสียก่อน หากในอนาคตงานผ้าทอถูกพัฒนาจนมีคุณภาพ จึงค่อยคิดถึงการนำออกจำหน่ายหากเสื้อผ้าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่บ่งบอกตัวตนและอุปนิสัยของผู้สวมใส่ การแต่งกายของคนปกาเกอญอ แสดงให้เห็นถึงความเรียบง่ายแต่ประณีตบรรจงจากลวดลายที่ถักทอ บ่งบอกถึงความสามารถในการพึ่งพาตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์นี้ และเป็นความภาคภูมิใจของหญิงปกาเกอญอโดยเฉพาะผู้เป็นแม่ ที่มีโอกาสส่งผ่านวิถีอันงดงามต่อไปยังบุตรสาวของตนรุ่นแล้วรุ่นเล่าอย่างไม่มีวันสิ้นสุด
new media watch
http://culturegap.wordpress.com เรื่องเล็กของบางคน อาจเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับอีกหลายคน ด้วยเหตุผลที่มาจาก "ความแตกต่างทางวัฒนธรรม" เรื่องวุ่นๆ ของการมองต่างมุมจึงเกิดขึ้นเสมอบนโลกใบนี้ เมื่อเกิดการถกเถียงกันโดยใช้มุมมองและเหตุผลคนละชุด ช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมยิ่งถูกถ่างกว้างออกไป แต่พื้นที่ของความเข้าใจกัน--กลับหดแคบลงอาจเพราะเหตุนี้ บล็อกเกอร์ช่างคิดแห่งเวิร์ดเพรสคนหนึ่ง จึงรวบรวมเรื่องราวนานาสารพันให้คนช่างสงสัยติดตามอ่านกันตามอัธยาศัย ไล่มาตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น ตำนาน 'เตาอั้งโล่' หรือ 'กำแพงคร่ำครวญ' ในดินแดนพันธสัญญา รวมถึงที่มาของสุภาษิตนานาชาติ เรตหนัง ระบบอุปถัมภ์ และโพลห่วยๆ ฯลฯ ตบท้ายด้วยการบอกเล่า 'วิธีคิด' ที่แฝงอยู่ในเรื่องราว สถานที่ สิ่งของ และความเชื่อต่างๆ ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละพื้นที่ ทั้งหมดนี้สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ http://culturegap.wordpress.com แล้วจะเข้าใจถึงความมุ่งมั่นที่จะถมความต่างในช่องว่างวัฒนธรรมเหล่านั้นให้เต็ม...เพราะคงจะดีไม่น้อย หากใครต่อใครพยายามทำความเข้าใจ ก่อนจะ 'ตัดสิน' ว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรคือความดีงาม และอะไรคือความเลวร้าย ด้วยเหตุผลที่สนับสนุนการกระทำของเรา อาจเป็นเหตุผลคนละชุดกับของคนอื่น