สืบสานงานผ้าทอต่อจากแม่

11 October, 2007 - 02:09 -- tuenjai

ยามปลายฝนต้นหนาว ช่วงเดือนตุลาคม ต้นปีบขาว (กาสะลองเงิน) กำลังออกดอกสีขาวบริสุทธิ์ กลิ่นหอมเย็นชื่นใจ ชวนให้คิดถึงการมาเยือนภาคเหนือเพื่อชื่นชมธรรมชาติและวิถีชีวิตที่สงบสุขของชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประชากรมากที่สุดในภาคเหนือ และสามารถรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างพอเพียงและเรียบง่าย ยิ่งเป็นชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากอิทธิพลสังคมเมือง เช่น อ.อุ้มผาง จ.ตาก จะยิ่งมีการสืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูกได้โดยไม่ขาดสาย

คุณแมว – จันทราภา (นนทวาสี) จินดาทอง มีเรื่อง “การสืบสานผ้าทอต่อจากแม่” มาฝากท่านผู้อ่าน เชิญติดตามค่ะ

เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม หนึ่งในปัจจัยสี่ที่มนุษย์ต้องการเป็นพื้นฐาน นอกเหนือจากอาหาร ยารักษาโรคและที่อยู่อาศัย คนในอดีตใช้ประโยชน์จากเสื้อผ้าในฐานะที่เป็นเครื่องปกปิดร่างกายไม่ให้ดูอุจาดตา เครื่องแต่งกาย เครื่องนุ่งห่มเมื่อครั้งกระนั้นจึงมีลักษณะเรียบง่าย

วิวัฒนาการแต่ละยุคที่ผ่านมา ทำให้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ค่อย ๆ กลายเป็นส่วนสำคัญที่บ่งบอกถึงอารยธรรมของผู้คน และยังเป็นตัวชี้วัดฐานะความยากดีมีจน รวมทั้งสถานภาพทางสังคม ยิ่งอยู่ในระดับชนชั้นปกครอง เครื่องแต่งกายยิ่งต้องวิจิตรบรรจง

ปัจจุบันเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ยังสามารถบอกรสนิยมของผู้สวมใส่และแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแผ่ขยายอิทธิพลของอารยธรรมที่เจริญทางวัตถุไปสู่ทั่วทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในสังคมเมืองใหญ่ที่ผู้คนต้องรีบเร่งวิ่งตามแฟชั่นเพื่อไม่ให้ตกยุค ส่วนในสังคมชนบทรวมถึงสังคมของพี่น้องชนเผ่า แม้จะอยู่ห่างไกล แต่สื่อต่าง ๆ ที่ซอกซอนไปทุกหย่อมหญ้าก็ยังส่งผลกระทบไปถึงวัฒนธรรมการแต่งกายอยู่ไม่น้อย

เอกลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมโดดเด่นให้คนภายนอกรับรู้ได้ทันทีถึงความเป็นพี่น้องแต่ละชนเผ่า คือ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ในประเทศไทยประกอบไปด้วยชนเผ่ามากมาย เฉพาะในภาคเหนือของประเทศมีผู้คนต่างเผ่าพันธุ์ อาทิ กะเหรี่ยง ม้ง ลาหู่(มูเซอ) อาข่า(อีก้อ) ลีซู(ลีซอ) เมี่ยน(เย้า) ลัวะ มลาบรี ไทลื้อ ไทใหญ่ จีนฮ่อ เป็นต้น การจำแนกแยกแยะโดยสายตาในสมัยก่อน วิธีที่ง่ายที่สุดดูได้จากเสื้อผ้าที่พวกเขาสวมใส่

picture

สมัยนี้แทบทุกชนเผ่าในเวลาปกติ จะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าเหมือนคนพื้นราบทั่วไป โดยเฉพาะผู้ชายและเด็กวัยรุ่น ไม่ว่าหญิงหรือชายจะไม่ค่อยแต่งชุดชนเผ่าดั้งเดิมของตน หากไม่ใช่การต้องร่วมงานพิธีสำคัญ ผิดกับผู้หญิงวัยกลางคนขึ้นไป ที่ยังคงใส่ชุดประจำเผ่ายามใช้ชีวิตประจำวันเป็นปกติ

พื้นที่ผืนป่าอุ้มผาง ประชากรเกือบทั้งหมดเป็นชาวปกาเกอญอ(กะเหรี่ยง) มีชนเผ่าม้งอาศัยอยู่เพียงหมู่บ้านเดียว คือ บ้านแม่กลองใหญ่ ตำบลโมโกร ชาวปกาเกอญอดั้งเดิมส่วนใหญ่ เป็นสะกอ หรือที่คนอุ้มผางเรียกว่า กะเหรี่ยงดอย มีบางส่วนที่อพยพเข้ามาภายหลังจากจังหวัดกาญจนบุรีและจากประเทศพม่า เป็น โปว์ หรือ กะเหรี่ยงน้ำ ซึ่งการแต่งกายของทั้งสองกลุ่มจะแตกต่างกัน

picture

ในส่วนของสะกอเอง ยังมีกลุ่มย่อยที่มีความเชื่อต่างออกไป คือ กลุ่มที่นับถือฤาษี โดยเฉพาะที่บ้านเลตองคุ และ บ้านซอแหมะ  ทำให้มีรายละเอียดปลีกย่อยของเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ผิดแผกจากหมู่บ้านอื่น ๆ

การเก็บข้อมูลงานผ้าทอของโครงการฟื้นฟูภูมิปัญญาปกาเกอญอในผืนป่าอุ้มผาง จึงสุ่มตัวอย่างสามหมู่บ้าน ได้แก่ บ้านทีจอชี หมู่ที่ 11 ตำบลแม่จัน ที่เป็นหมู่บ้านนำร่อง และเป็นชุมชนที่ผู้หญิงทั้งหมู่บ้าน ตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ หญิงสาว แม่บ้านแม่เรือนหรือหญิงชรา ล้วนแล้วแต่แต่งกายด้วยชุดปกาเกอญออยู่ตลอดเวลา

บ้านยะแมะคี หมู่ที่ 7 ตำบลโมโกร เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ห่างจากถนนสายแม่สอด-อุ้มผางเพียง 6 กิโลเมตร จะเห็นว่า ผู้ชายและคนในวัยหนุ่มสาวจนถึงเด็ก ๆ แต่งกายด้วยเสื้อผ้าเหมือนคนพื้นราบโดยทั่วไปในการใช้ชีวิตปกติประจำวัน แต่ทุกคนก็ยังมีชุดปกาเกอญอสำหรับใส่ในพิธีการสำคัญ และเด็กสาวทุกคนยังสามารถทอผ้าอย่างง่าย ๆ ได้ เช่น ย่าม เสื้อที่ไม่มีลวดลายมากนัก

ขณะที่บ้านซอแหมะที่ประชากรเกือบทั้งหมดนับถือฤาษี จะสวมเสื้อผ้าปกาเกอญอเหมือนทั่วไป มีพิเศษในส่วนของเสื้อคลุมฝ่ายหญิง เป็นเสื้อที่มีส่วนลำตัวสั้นแต่แขนยาว และมีผ้าโพกศรีษะของทั้งหญิงชายในตอนร่วมงานหรือพิธีการสำคัญ ผู้ชายที่นับถือฤาษีจะไว้ผมยาวและเกล้าจุกไว้ด้านหน้า

กระบวนการสืบค้นข้อมูลเชิงลึกของงานผ้าทอจากหมู่บ้านทีจอชี ได้รับคำยืนยันว่า งานผ้าทอไม่มีวันสูญหายไปแน่นอน เพราะเป็นภาระหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของหญิงผู้เป็นแม่ที่ต้องถ่ายทอดการทอผ้าต่อไปยังบุตรสาว แม้กระทั่งเด็กสาวที่ออกจากหมู่บ้านไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านกล้อทอ ที่ห่างออกไป 12 กิโลเมตร จะกลับบ้านเฉพาะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์และช่วงปิดเทอม ก็ยังถูกสั่งสอนให้ต้องทอผ้าอย่างง่าย ๆ ให้เป็น

ผ้าทอของทีจอชี นอกเหนือจากเสื้อผ้าของหญิงสาว (ชุดเชวาสีขาวหรือสีอื่น ๆ ที่ทอยาวเป็นชุดกระโปรง) เสื้อของหญิงที่แต่งงานแล้ว (เชซู เสื้อแขนสั้นพื้นสีดำ ทอลวดลายด้านล่าง) ผ้าถุง ชุดยาวของผู้ชายสำหรับใส่ในพิธีกรรม เสื้อผู้ชายแขนสั้น เสื้อและชุดสำหรับเด็กชายหญิง ชาวปกาเกอญอบ้านทีจอชี ยังใช้ย่าม ผ้าโพกหัว ผ้าห่ม (สามารถใช้เป็นผ้าสำหรับแบกลูกน้อยได้ด้วย) ที่ทอกันเองภายในหมู่บ้าน

ลักษณะของเสื้อผ้าที่คนปกาเกอญอทุกกลุ่มสวมใส่ ไม่มีกระดุม ซิป หรือผ้าผูก ใช้เพียงผ้าทอหน้าแคบที่อาศัยเพียงอุปกรณ์การทออย่างง่าย ๆ สามารถทำได้เองในครัวเรือน โดยใช้ผ้าสองผืนมาเย็บติดกัน เวลาใส่ก็สวมผ่านศีรษะ เสื้อผ้าของเด็ก ผู้ใหญ่ ชายหรือหญิงก็มีลักษณะเดียวกัน แตกต่างกันเฉพาะสีสันและลวดลายเท่านั้น

ความแตกต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่งของเสื้อผ้าผู้ชายที่ใช้พิธีกรรม กล่าวคือ ชาวปกาเกอญอในอุ้มผาง จะใส่ชุดยาวสีชมพูสดหรือสีอื่น ๆ คล้ายชุดเชวาของหญิงสาว ขณะที่หากเป็นเวลาปกติ ผู้ชายจะสวมโสร่งแทนกางเกง ซึ่งเป็นการรับอิทธิพลมาจากประเทศพม่า ซึ่งไม่เหมือนกับปกาเกอญอในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่จะใส่เสื้อสั้นสีแดงกับกางเกง

ลวดลายที่ใช้บนผืนผ้ามีทั้งลายดั้งเดิมที่สืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต แม่เฒ่าคนหนึ่งเล่าว่า ส่วนใหญ่ลายของปกาเกอญอมาจากของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ลายกระบุง ตะกร้าที่สานด้วยไม้ไผ่ น่าเสียดายที่ประวัติความเป็นมา สัญลักษณ์และเรื่องราวจากลายผ้าถูกลบเลือนไปตามกาลเวลา ลวดลายใหม่ ๆ ที่นำเสนอรูปธรรมตรง ๆ เช่น ลายนกคู่ รูปหัวใจ มักได้มาจากผ้าทอฝั่งพม่า  ซึ่งชาวบ้านหลายคนในทีจอชียังมีเครือญาติและการไปมาหาสู่กันอย่างสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับสีของชุดเชวาที่แต่เดิมมีเพียงสีขาว ในยุคหลัง ๆ นี้เริ่มมีสีอื่น ๆ เช่น เขียว น้ำเงิน ดำ แต่ยังคงรูปแบบเป็นชุดกระโปรงยาว

picture

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นกับผ้าทอ นอกเหนือจากลวดลายใหม่ ๆ ที่นำเข้ามา คือ ด้ายที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการทอ แต่ก่อนชาวบ้านจะปลูกต้นฝ้ายไว้ในไร่ข้าว แล้วนำมาตี ปั่นและกรอจนเป็นเส้นด้าย โดยเครื่องมือพื้นบ้านที่ผลิตกันเอง จากนั้นนำด้ายมาย้อมด้วยสีที่ได้จากธรรมชาติ จึงจะนำมาทอเป็นผืนผ้า ซึ่งแต่ละขั้นตอนต้องอาศัยเวลาและความพากเพียรของผู้ทอเป็นอย่างยิ่ง

ปัจจุบันมีทางเลือกที่สะดวกสบาย โดยการซื้อด้ายสำเร็จรูปที่ย้อมด้วยสีเคมีฉูดฉาด ราคาไม่สูงนัก เดิมทีต้องเดินทางออกมาซื้อถึงตัวอำเภออุ้มผางที่อยู่ไกลถึง 60 กิโลเมตร เดี๋ยวนี้ชาวบ้านสามารถเดินทางเพียง 10 กิโลเมตรเพื่อซื้อหาด้ายจากศูนย์อพยพนุโพที่มีตลาดค้าขายข้าวของแทบทุกชนิดเหมือนในตัวอำเภอ

picture

แกนนำอาวุโสของบ้านทีจอชี มีความเป็นห่วงว่า ภูมิปัญญาในการผลิตวัตถุดิบสำหรับทอผ้าจะสูญหายไป ทั้งการปลูกฝ้าย การย้อมด้วยสีธรรมชาติ ตลอดจนลายผ้าเก่า ๆ จึงตกลงร่วมกันรื้อฟื้นการปลูกฝ้ายในไร่ข้าวขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับตีฝ้าย เครื่องกรอฝ้ายเป็นเส้นด้ายโดยช่างฝีมือในหมู่บ้านที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่คน

ส่วนการย้อมสีธรรมชาติพบว่า เหลือเพียงแม่เฒ่าคนเดียวซึ่งแก่มากแล้วที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องนี้ บรรดาเยาวชนและแกนนำหมู่บ้านได้หารือว่าน่าจะมีการเรียนรู้เรื่องย้อมสีธรรมชาติจากชุมชนที่ทำกันเป็นประจำมาเป็นพื้นฐานก่อน แล้วค่อยขอคำปรึกษาจากแม่เฒ่าเพิ่มเติม

กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานผ้าทอ โดยเน้นเรื่องการย้อมสีธรรมชาติจากบ้านโป่ง  หมู่ที่ 12  ตำบลบ้านกาศ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงเกิดขึ้น มีการพาตัวแทนแกนนำเยาวชนและผู้นำของหมู่บ้านไปศึกษาถึงวัตถุดิบในการย้อมผ้าจากป่าของแม่สะเรียง อุปกรณ์การย้อมผ้า ลวดลายต่าง ๆ การผลิตผ้าทอให้สวยงามหากจะนำมาจำหน่าย รวมทั้งได้ฝึกปฏิบัติจริงในเรื่องการย้อมสีธรรมชาติ     ซึ่งรายละเอียดกิจกรรมดังกล่าวปรากฏอยู่ในบทความเรื่อง “เส้นใย ปกาเกอญอที่ทอถัก จากอุ้มผางสู่แม่สะเรียง”

ภายหลังกลับจากการเรียนรู้ แกนนำที่มีโอกาสออกไปศึกษาดูงาน ได้จัดให้มีการสาธิตย้อมสีธรรมชาติขึ้นในหมู่บ้านทีจอชี โดยเชิญแม่เฒ่าผู้รู้เรื่องการย้อมสีธรรมชาติมาร่วมให้คำแนะนำด้วย ซึ่งได้รับความสนใจ ความร่วมมือช่วยเหลือจากชาวบ้านทุกคนเป็นอย่างดี สิ่งที่พบจากการเสาะหาวัตถุดิบในการย้อมผ้า คือ ต้นไม้ที่ให้สีตามธรรมชาติในป่ารอบ ๆ หมู่บ้านทีจอชี มีความหลากหลายของชนิดและมีปริมาณมากกว่าที่พบในป่าของแม่สะเรียง เนื่องจากผืนป่ายังคงมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า แกนนำเยาวชนจึงขอร้องให้ชาวบ้านช่วยกันดูแลผืนป่า เพื่อให้มีวัตถุดิบในการย้อมสีธรรมชาติต่อเนื่องไปตลอด

picture

นอกเหนือจากการแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนทั้งหมู่บ้าน การจัดให้รื้อฟื้นงานผ้าทอ ยังช่วยชาวบ้านได้ฉุกคิดเรื่องราวของบทบาทหญิงชาย โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนชาย ที่ก่อนหน้านี้เมื่อพูดถึงการทอผ้า พวกเขาจะไม่สนใจและคิดว่าเป็นงานของผู้หญิง แต่หลังจากมีการร่วมกันปลูกฝ้ายในไร่ ช่วยกันเสาะหาวัตถุดิบสำหรับใช้ในการย้อมสีธรรมชาติ รวมถึงการสร้างเครื่องมือทอผ้าอันเป็นบทบาทเฉพาะที่สำคัญของฝ่ายชาย จึงทำให้การพูดคุยเรื่องงานผ้าทอในช่วงหลัง มีผู้ชายเข้าร่วมมากขึ้นและมีส่วนในการแลกเปลี่ยนมากกว่าเดิม

สิ่งที่ยังคงเป็นความคาดหวังของแม่เฒ่าและแกนนำอาวุโสของบ้านทีจอชี คือ การให้เยาวชนรื้อฟื้นและสืบค้นเรื่องราวของลายผ้าปกาเกอญอโบราณที่อาจต้องเสาะหาจากชุมชนอื่น แล้วนำมาฝึกทอ ทั้งนี้อยากให้เน้นการทอผ้าจากฝ้ายที่ย้อมสีธรรมชาติ เพื่อใช้เองในวิถีชีวิตประจำวันแทนการซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูป อันเป็นพึ่งพาตนเองเสียก่อน หากในอนาคตงานผ้าทอถูกพัฒนาจนมีคุณภาพ จึงค่อยคิดถึงการนำออกจำหน่าย

หากเสื้อผ้าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่บ่งบอกตัวตนและอุปนิสัยของผู้สวมใส่ การแต่งกายของคนปกาเกอญอ      แสดงให้เห็นถึงความเรียบง่ายแต่ประณีตบรรจงจากลวดลายที่ถักทอ บ่งบอกถึงความสามารถในการพึ่งพาตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์นี้ และเป็นความภาคภูมิใจของหญิงปกาเกอญอโดยเฉพาะผู้เป็นแม่   ที่มีโอกาสส่งผ่านวิถีอันงดงามต่อไปยังบุตรสาวของตนรุ่นแล้วรุ่นเล่าอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

100 วันอันตราย ร่วมใจต้านหมอกควันและไฟป่า ขอให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ไข

“ไฟมาป่าเป่ง มดส้มเต้ง ผักหวานโป่ง” คือคำพังเพยที่พ่อกำนันอนันต์ ดวงแก้วเรือน ได้เล่าให้ฟังในที่ประชุมคณะทำงานภูมิภาคภาคเหนือ รางวัลลูกโลกสีเขียว เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2551 ที่บ้านธารแก้ว จังหวัดเชียงใหม่

ไฟคือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ซึ่งชาวเหนือและชาวอีสานผู้ใช้ชีวิตร่วมกับป่ามาช้านาน มีคำพังเพยว่า ช่วงฤดูแล้งต่อต้นฤดูฝนต้องเผาป่า เพื่อให้ไม้ผลิใบใหม่ มดแดงจะมีไข่เป้ง เม็ดใหญ่ เป็นอาหารโปรตีนชั้นดี แกงใส่ยอดผักหวาน ซึ่งจะแตกยอด(โป่ง) ในช่วงฤดูแล้ง

20080304 ผักหวาน
ผักหวาน

20080304 ไข่มดแดง(ภาษาเหนือเรียกมดส้ม)
ไข่มดแดง(ภาษาเหนือเรียกมดส้ม)

20080304 เห็ดเผาะ
เห็ดเผาะ ภาพจาก www.siamensis.org

สุขภาพดีแน่ ด้วยสมุนไพรใกล้ตัว

9 December, 2007 - 00:30 -- tuenjai

p1

มันเทศย่างร้อน ๆ ปอกเปลือกแล้วเห็นเนื้อสีเหลืองทอง เนื้อนุ่ม รสหวานอ่อนๆละมุนลิ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่สาวชาวจีนประจำสถานทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง ชักชวนให้ดิฉันซื้อกิน พร้อมทั้งอธิบายว่า ชาวจีนเรียกมันเทศว่า “ลูกทอง” เพราะเนื้อในที่สุกแล้วเป็นสีเหลืองอร่ามเหมือนทองคำ ทั้งยังมีสรรพคุณทางยาเป็นเลิศ เช่น ช่วยให้ระบายท้องได้ดี ทำให้ร่างกายอบอุ่น ในช่วงฤดูหนาวเป็นฤดูของมันเทศ ชาวจีนจึงนิยมกินมันเทศย่างกันมาก เป็นความประทับใจของดิฉันในการไปประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรีอาเซียน Asia Pacific Forum of Parliamentarians on Population and Development (AFPPD) ในช่วงวันที่ 26 – 29 พฤศจิกายน 2550

แม้ประเทศจีนจะเปลี่ยนไปสู่ความทันสมัย หลังช่วงเปิดประเทศ นำโดยท่าน เติ้ง เสี่ยวผิง แต่ภูมิปัญญาด้านอาหารและสมุนไพรของจีน ยังดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งดิฉันจะเล่าให้ฟังในตอนต่อไป

ย้อนกลับมามองพฤติกรรมการกินอาหารของคนไทยยุคนี้ ดิฉันสังเกตว่าเราละเลยอาหารและสมุนไพรอันทรงคุณค่าของไทยไปมาก เช่น มันเทศ มันสำปะหลัง เผือก กล้วย ที่เคยทำกินที่บ้านหรือทำขาย ทั้ง ปิ้ง ต้ม แกง บวด เดี๋ยวนี้หายาก

ยุคนี้คนไทยหันมากินอาหารแบบฝรั่ง คือ นิยมกินขนมอบ จำพวกเค้ก คุกกี้ ไพน์ ซึ่งต้องนำเข้าเครื่องมือ อุปกรณ์ แป้งข้าวสาลี และเครื่องปรุงต่าง ๆ ทำให้เสียทั้งดุลการค้าและสูญเสียภูมิปัญญาอย่างนึกไม่ถึง

ในขณะที่ชนชาติพันธุ์ในชนบทห่างไกล ยังรักษาภูมิปัญญาด้านอาหารและสมุนไพรได้ดี ดังข้อเขียนของคุณแมว  จันทราภา (นนทวาสี) จินดาทอง จากอุ้มผาง เชิญอ่านได้แล้วค่ะ

กระแสสังคมโลกโดยเฉพาะในซีกตะวันตก ที่ได้ชื่อว่ามีความเจริญทางวัตถุถึงขีดสุด วิทยาการความก้าวหน้าทางการแพทย์ การผลิตยาและเวชภัณฑ์ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้คนจำนวนมากเริ่มหันกลับมาสู่การดูแลสุขภาพตนเองด้วยวิธีทางธรรมชาติเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มคนค่อนข้างมีความรู้ที่กลับมาใส่ใจสุขภาพโดยอาศัยภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เคยมีอยู่มากมายในอดีต แต่ถูกหลงลืม ละทิ้งและถูกแทนที่ด้วยความเจริญทางการแพทย์แผนใหม่ที่พึ่งพายาซึ่งผ่านกระบวนการผลิตและสังเคราะห์ทางเคมี ทำให้เกิดผลข้างเคียงมากมาย

การดูแลสุขภาพที่ไม่ส่งผลต่อเนื่องกับร่างกายประการหนึ่ง คือ การใช้สมุนไพรในการป้องกันและรักษาโรค ซึ่งนับเป็นความโชคดีอย่างยิ่งของคนไทยที่มีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะกับการเจริญเติบโตของพรรณพืชที่มีคุณค่า ให้ประโยชน์ทางด้านเป็นยารักษาโรคหลากหลายชนิดและมีปริมาณมากมาย

วิถีชีวิตคนไทยในอดีต สมัยที่การแพทย์ยังไม่เจริญ โดยเฉพาะในสังคมชนบท รวมทั้งสังคมชนเผ่าจึงมีการพึ่งพาตัวเองในเรื่องการรักษาโรคสูงมาก ผู้คนในสมัยนั้นมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสมุนไพรแทบทุกคน

หมอยาสมุนไพรเป็นผู้มีบทบาทสูงในสังคม ได้รับการยกย่องเพราะนอกจากคุณสมบัติที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ยาอย่างเชี่ยวชาญแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรมในการรักษาผู้คนที่เจ็บไข้ได้ป่วย การจะฝึกฝนตนเองให้ชำนาญในการใช้สมุนไพรต้องฝากเนื้อฝากตัวกับหมอยาสมุนไพร เรียนรู้ด้วยความอดทน พากเพียรพยายามอยู่นาน เนื่องจากการศึกษาในสมัยก่อนมักเป็นลักษณะปากต่อปาก ไม่ได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ความรู้เรื่องสมุนไพรหลายเรื่องจึงสูญหายไปกับกาลเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรายาลึกลับหลายอย่างที่มีสูตรเฉพาะ ที่เรียกกันว่า “ยาผีบอก”

p2

ต่อมาเมื่อวงการแพทย์ของไทย ได้รับอิทธิพลมาจากชาติตะวันตก การรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ได้ป่วยและดูแลสุขภาพยามปกติ ถูกยกให้เป็นภาระของหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีบริการตั้งแต่ระดับหมู่บ้านที่มี อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) ประจำอยู่เพื่อทำหน้าที่สำรวจข้อมูลสาธารณสุข ป้องกันโรค เช่น ไข้เลือดออกโดยกำจัดยุงลาย ให้ไอโอดีนป้องกันโรคคอพอกและดูแลอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้น ระดับตำบลมีสถานีอนามัยประจำตำบล คอยดูแลความเจ็บไข้ที่ไม่รุนแรงมากนัก กรณีที่อาการค่อนข้างหนักจะส่งต่อไปยัง โรงพยาบาลประจำอำเภอและจังหวัดเป็นลำดับไป

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำสถานีอนามัยตำบลแม่จัน ที่ดูแลครอบคลุมบ้านทีจอชีซึ่งเป็นหมู่บ้านนำร่องของโครงการฟื้นฟูภูมิปัญญาปกาเกอญอในผืนป่าอุ้มผาง ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ให้บริการซึ่งเป็นชาวปกาเกอญอทั้งหมดว่า โรคภัยไข้เจ็บที่มีสาเหตุมาจากความอ้วน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต ไม่ปรากฏในชุมชน รวมทั้งโรคมะเร็ง ทั้งนี้มาจากอาหารการกินที่โดยมากชาวบ้านจะบริโภคอาหารจากธรรมชาติ กินตามฤดูกาล และมักจะเป็นอาหารจำพวกพืชผักพื้นบ้านมากกว่าเนื้อสัตว์ ประกอบกับการใช้ชีวิตที่ไม่หยุดนิ่ง ทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำ โดยเฉพาะงานในไร่ในนาที่อาศัยแรงงาน จึงทำให้คนปกาเกอญอแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วยกระเสาะกระแสะ โรคที่พบมากมักมาจากยุงเป็นพาหะ เช่น มาเลเรีย ไข้เลือดออก รวมทั้งโรคผิวหนัง ผื่นคันต่าง ๆ

ในพื้นที่ตำบลแม่จันยังพบลักษณะเฉพาะที่พิเศษแตกต่างไปจากปกาเกอญอหลายพื้นที่ คือ ประมาณปี พ.ศ. 2513 มีการเข้ามาตั้งฐานที่มั่นของ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ที่บ้านแม่จันทะ แผ่ขยายแนวคิดมายังหมู่บ้านรอบ ๆ สมัยนั้นตำบลแม่จันถูกระบุเป็นพื้นที่สีแดง นอกจากระบบแนวคิด การทำนารวม การต่อต้านรัฐบาล พคท. ยังฝึกให้ชาวปกาเกอญอให้สามารถดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยของตนเองและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ แกนนำในหมู่บ้านทีจอชี 2-3 คนที่เข้าร่วมเป็นแนวร่วมหรือเป็นสหายครั้งนั้น สามารถใช้การฝังเข็มรักษาพยาบาลผู้ป่วยได้

จากการเก็บข้อมูลงานสมุนไพรของหมู่บ้านนำร่อง พบการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอยู่ที่กลุ่มผู้ใช้สมุนไพรในการรักษาโรค มักเป็นผู้ที่มีอายุเลยวัยกลางคนขึ้นไป ส่วนคนวัยหนุ่มสาวลงมามักใช้ยาเคมีและการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบัน แต่เกือบทุกคนมีความรู้พื้นฐานง่าย ๆ ว่า สมุนไพรชนิดใดมีสรรพคุณอย่างไรในการรักษา ความรู้เรื่องอาหารการกินที่ส่งผลดีต่อสุขภาพหรือใช้ในการรักษา ถูกบอกกล่าวต่อ ๆ กันมา เช่น ในแต่ละปี ชาวบ้านจะต้องกินปลาไหลต้มกับมะเฟืองอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เพื่อขับนิ่วที่อาจเกาะอยู่ในไต

p3

ส่วนของบุคคลที่มีความรู้เรื่องสมุนไพรในชุมชน โดยมากจะเป็นคนอายุเกิน 30 ปีขึ้นไป ซึ่งจะทราบชื่อภาษาปกาเกอญอ ส่วนที่ใช้ วิธีการใช้ สรรพคุณและสามารถปรุงยาจากสมุนไพรรักษาโรคที่พบบ่อย ๆ มีอาการไม่รุนแรงได้ รวมทั้งทราบแหล่งที่พบพืชสมุนไพรในป่ารอบ ๆ หมู่บ้าน แต่ในจำนวนผู้รู้ทั้งหมดของบ้านทีจอชี ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญถึงขั้นเป็นหมอยาสมุนไพรรักษาทุกโรคประจำหมู่บ้าน แกนนำอาวุโสบอกว่า หมอยาสมุนไพรที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่บ้านกล้อทอ (ห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร)

กิจกรรมการสำรวจสมุนไพรจากผืนป่ารอบหมู่บ้านทีจอชี จึงประกอบไปด้วยผู้รู้เรื่องสมุนไพร แกนนำชาวบ้าน และตัวแทนเยาวชน เน้นการค้นหาพืชสมุนไพรที่ยังคงมีการใช้และหายาก เพื่อนำมาทดลองเพาะในแปลงทดลอง ระหว่างการเดินสำรวจ ผู้รู้เรื่องสมุนไพรจะคอยอธิบายชื่อ ส่วนที่ใช้ และสรรพคุณให้กับเยาวชนที่ทำหน้าที่จดบันทึก มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันภายในทีมสำรวจ รวมทั้งสาธิตการใช้สมุนไพรจริง เช่น เครือจอลอดิเดอ มีลักษณะเป็นเถาวัลย์ ที่เมื่อตัดเป็นท่อน จะมีน้ำสะอาดใช้ล้างตา หยอดแก้ตาเจ็บตาอักเสบได้ จุดอ่อนของการสำรวจครั้งนี้ คือ ชาวบ้านรู้จักแต่ชื่อภาษาปกาเกอญอของสมุนไพร จึงวางแผนสืบเสาะหาหนังสือพืชสมุนไพร แล้วนำมาเปรียบเทียบชื่อและสรรพคุณที่รู้จักกันทั่วไปในภายหลัง

p4

จากการสำรวจและนำตัวอย่างสมุนไพรชนิดที่หายากมาทดลองเพาะในแปลง เพื่อใช้ดูแลรักษาคนในชุมชนยามเจ็บป่วยเบื้องต้นได้แล้ว พบว่า ยังมีพื้นที่เหลืออีกเป็นจำนวนมาก จึงมีการหารือกัน แกนนำที่เคยเป็นสหาย รับอาสาที่จะติดต่อประสานกับอดีตสหายที่เคยเข้าป่าด้วยกัน ปัจจุบันเจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรในจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อขอคำปรึกษา หากชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันปลูกสมุนไพรเพื่อจำหน่าย สหายจากเพชรบูรณ์เห็นด้วย พร้อมทั้งแนะนำให้ปลูกพืชที่ให้น้ำมัน เช่น ตะไคร้หอม มิ้น และสนับสนุนโดยการให้เครื่องมือสำหรับการกลั่นเอาน้ำมันจากพืชสมุนไพร อันเป็นการเพิ่มมูลค่ามากกว่าการจำหน่ายพืชสด ๆ

การรวมกลุ่มเพื่อทดลองทำธุรกิจชุมชนเล็ก ๆ มุ่งเน้นไปที่กลุ่มเยาวชนของหมู่บ้านเพราะแกนนำต่างมีความเห็นพ้องต้องกันว่า หากส่งเสริมให้เยาวชนนรุ่นหนุ่มสาวสามารถสร้างรายได้เพียงพอกับการใช้จ่าย จะทำให้พวกเขาไม่ต้องดิ้นรนออกจากหมู่บ้านเข้าทำงานในเมืองใหญ่และกลายเป็นแรงงานราคาถูก หารายได้ไม่พอใช้จนสร้างปัญหาต่าง ๆ เช่น อาชญากรรม ยาเสพติดให้กับสังคม ส่วนในฤดูกาลผลิต  ชุมชนก็จะได้ไม่ขาดแคลนแรงงานของคนหนุ่มสาวเหมือนกับชุมชนชนบทของคนพื้นราบหลายแห่งในปัจจุบัน

p5

ชาวบ้านทีจอชีที่รวมกลุ่มกัน เริ่มต้นทำธุรกิจชุมชนวางแผนจะพัฒนาคุณภาพ ความหลากหลายของสมุนไพรและรูปแบบผลิตภัณฑ์ ให้สามารถเป็นงานที่มั่นคง รายได้นอกฤดูกาลผลิตอย่างเพียงพอ เพราะมีความเชื่อว่า หากคนในครอบครัวปกาเกอญออยู่ร่วมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ไม่ว่าจะพานพบกับอุปสรรคใด ๆ ทุกคนจะช่วยกันฟันฝ่าจนสามารถผ่านพ้นไปได้ และเมื่อครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ชุมชนรวมถึงสังคมที่อยู่รายรอบก็จะมีความสงบและศานติสุขไปด้วยเช่นกัน

... 

สุข 13 ที่สนามหน้าบ้าน ปิติเบิกบานขยายผลความดี

19 November, 2007 - 00:01 -- tuenjai

คุณแอ๊ะ ชุติมา  นุ่นมัน นักข่าวสาวร่างใหญ่ผู้มีจิตใจละเอียดอ่อนงดงาม โทรศัพท์มาขอให้ครูแดงเขียนคำนิยมหนังสือของ สสส. (สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ) ซึ่งถ่ายทอดงาน 13 โครงการ อันก่อให้เกิดความสุขแก่สมาชิกในครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม

“แต่ละตอนอยากให้คนอ่าน อ่านแล้วมีแรงบันดาลใจที่จะปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดความสุขในชีวิต ทั้งนี้หนทางที่จะนำไปสู่ความสุขนั้นเป็นวิถีพอเพียงที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้”  นี่คือปณิธานของคุณแอ๊ะ ชุติมา   นุ่นมัน ผู้เป็นทั้งผู้เขียนและบรรณาธิการที่ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล สัมภาษณ์ผู้ที่ดำเนินงานโครงการ นำความสุข 13 เรื่อง ในพื้นที่ทุกภาคของประเทศ แล้วนำมากรั่นกรอง เรียบเรียงเป็น 13 เรื่อง ในหนังสือ 1 เล่ม

ดิฉันตั้งใจอ่านต้นฉบับตั้งแต่เรื่องที่ 1 จนถึงเรื่องที่ 13 ด้วยใจจดจ่อ ทุกเรื่องอ่านแล้วมีความปลื้มปิติ มีความสุข อยากไปเห็น ไปเรียนรู้ อยากไปชื่นชมกับผู้มีส่วนร่วมในโครงการทุกคน อยากให้คนในสังคมไทยนำไปปฏิบัติ ขยายผลโดยปรับให้เข้าเหตุปัจจัยของตน

น่าชื่นชม สสส.ที่สนับสนุนโครงการดี ๆ เหล่านี้ ทำให้คนในสังคมแก้ปัญหาด้วยปัญญา ด้วยความไม่ย่อท้อ ไม่ยอมจำนน ด้วยความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกครอบครัว เริ่มจากในบ้าน ขยายผลต่อไปสู่ชุมชน สร้างเครือข่ายถักทอให้เกิดพลังที่เข้มแข็ง มั่นคง จนแก้ปัญหาได้สำเร็จจากระดับบุคคล สู่สังคมวงกว้าง

ตัวอย่างของความสุขที่เริ่มได้ในบ้าน คือ เรื่องเลือดในอกผสม กลั่นเป็น “น้ำนม” ที่แสนเปี่ยมสุข จากโครงการจัดการศูนย์นมแม่เพื่อลูกนาวีแข็งแรง พื้นที่ค่ายตากสิน จันทบุรี ซึ่งเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ของชุมชนในกองทัพ โดยคุณวาสนา งามกาล พยาบาลแม่ลูก 2 เป็นหัวหน้าโครงการ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2536 ในโรงพยาบาลพระปกเกล้า โดยรณรงค์ให้ความรู้เรื่องประโยชน์ของการให้ลูกกินนมแม่มาจนบัดนี้

1

ผู้บังคับหมวดขนส่ง ค่ายตากสิน สนับสนุนงานของภรรยาอย่างเต็มที่ ซึ่งคุณวาสนาเล่าอย่างภูมิใจว่า “สามีเข้าใจหลังจากเห็นเราทำงานด้านนมแม่มาตลอด เขาเห็นว่านมแม่มีประโยชน์อย่างแท้จริง ด้านสุขภาพลูกได้อย่างเต็ม ๆ ด้านจิตใจลูกมีสุขภาพจิตดี แม่ก็มีความสุข สามีจึงสนใจมาก หาความรู้จนอธิบายเรื่องนมแม่ได้ดี และยังส่งเสริมให้ลูกน้องเข้าร่วมกิจกรรมกับเรา เป็นพ่อแม่อาสากันเกือบทั้งค่าย”    

จ่าเอกพีระพงศ์  ปทุมมาศ คุณพ่ออาสาแห่งกองทัพตากสิน เป็นผู้ร่วมอุดมการณ์ สานใยรักครอบครัวจากนมแม่ ย้ำว่า “พ่อเป็นกำลังหลักสำคัญ ถ้าพ่อไม่ทำตัวเกเร อยู่บ้านกับครอบครัว แม่ก็มีกำลังใจ สารที่มีประโยชน์ต่าง ๆ ก็จะหลั่งออกมาในน้ำนม ลูกได้ไปเต็ม ๆ นมผงยังไงก็สู้ไม่ได้ผมพิสูจน์มาแล้วครับ”

ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย โดย แพทย์หญิงศิราพร สวัสดิวร เลขาธิการได้ขยายเครือข่ายการทำงาน  โดยมุ่งให้คนไทยกลับมาให้ความสำคัญกับการให้นมแม่ ซึ่งต้องสู้กับอิทธิพลการโฆษณาของบริษัทนมผงที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น  โดยสร้างระบบการส่งต่อของโรงพยาบาล ครอบคลุมถึงโรงพยาบาลชุมชน สถานีอนามัย และหมู่บ้านต่าง ๆ

เป้าหมายที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ผลักดันให้มีกฎหมายบังคับไม่ให้โฆษณานมผงตามสื่อ รวมทั้งรณรงค์ไม่ให้แจกนมผงแก่เด็กแรกเกิดในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ซึ่งทำให้แม่รุ่นใหม่ไขว้เขวได้

ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ยังคงดำเนินงานและเพิ่มเครือข่ายอย่างรวดเร็ว เพื่อในอนาคตแม่ ๆ รุ่นใหม่จะให้นมลูกด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ เพื่อให้ลูกแข็งแรงตลอดชีวิต ทำให้คนไทยมีความสุขที่สุดในโลก ขอให้ความหวังนี้เป็นจริงโดยเร็ว

ตัวอย่างความสุขที่ 2 คือ “พอเพียงจากค่าย สุขใจแบบไม่จำกัด” ซึ่งได้เปลี่ยนความคิดจิตใจของเยาวชนวัยใส ด้วยค่าย “เทิดไท้องค์ราชัน:เยาวชนไทยใช้ชีวิตพอเพียง” ทำให้สาวน้อยวัย 16 ปีจากโรงเรียนบัวขาว จ.กาฬสินธุ์ นางสาวกมลวรรณ ภูนาคพันธุ์ (น้องฝน) ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในค่ายร่วมวงหมู่คณะเป็นเวลา 7 วัน เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ตัดจากความสะดวกสบายแบบเดิม และมีความตั้งใจมั่นที่จะทำความดีให้ได้ในแต่ละวัน โดยมีสมุดบันทึกความดี จารึกสิ่งดีงามที่ได้ทำรายวันตามคำมั่นสัญญา เพื่อจะส่งให้ทีมงานคัดเลือก จัดทำหนังสือ “บันทึก 60 ความดี ถวายในหลวง” เพื่อเผยแพร่ต่อไป

2

ตัวอย่างความสุขที่ 3 “กีฬาภูมิปัญญาไทย สร้างสุขในความพอเพียง” เรื่องของครูวิชิต ชี้เชิญ ผู้เชียวชาญพิเศษ สถาบันอาศรมศิลป์วัย 64 ปี ที่พลิกผันชีวิตหลังเกษียนจากราชการ จากกองพลศึกษา ซึ่งเป็นทั้งครู เป็นโค้ชกรีฑาทีมชาติไทย มาเป็นครูกีฬาภูมิปัญญาไทย นำมวยไทย ตะกร้อ กระบี่กระบอง ว่าว ชักเย่อ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยโบราณ ที่แฝงคติความเชื่อ หล่อหลอมให้คนไทยมีคุณลักษณะเฉพาะต่างจากชนชาติอื่น มีครบทั้งกาย ใจ อารมณ์ และจิตวิญญาณ

3

ครูวิชิต ต้องการให้เด็ก ๆ มีร่างกายแข็งแรง ไม่เห็นแก่ตัว รู้จักการให้และภูมิใจที่เป็นคนไทย หากได้ดำเนินการและขยายผลอย่างต่อเนื่อง ที่สุดแล้วสังคมไทยจะได้เด็กรุ่นใหม่ที่เป็นคนดี มีความคิด ทำให้สังคมไทยมีแต่ความสุข    โครงการนี้นำร่องที่โรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือกวิถีพุทธ

ยกตัวอย่างมวยไทยก่อนขึ้นชก นักกีฬาต้องไหว้ครูก่อน มีการครอบมงคลที่ศีรษะ แล้วหมุนรอบเวที ไหว้พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ให้เกิดความอบอุ่น มั่นใจ ดูชัยภูมิ สอนให้รู้จักสังเกต เวลาเคลื่อนไหวต้องมีชั้นเชิง ที่เรียกว่า “เป็นมวย” ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ควบคุมตัวเองได้

ปัจจุบันวิชาการนี้ ขยายต่อยอดไปยังโรงเรียน 10 กว่าแห่งในจังหวัดต่างๆ เช่น ขอนแก่น ปราจีนบุรี กาญจนบุรี สงขลา เป็นการเรียนการสอนแนวใหม่ ที่จะสร้างเด็กรุ่นใหม่ให้เป็นคนดีในอนาคต

ตัวอย่างความสุขที่ 4  Happy work place ตัวอย่างนี้ใช้ชื่อโครงการเป็นภาษาอังกฤษ โดยเริ่มที่ซึ่งให้ความหมายชัดเจนดี (แต่น่าจะใช้ภาษาไทยนำนะคะ : ครูแดง)

4

ชลบุรีเป็นจังหวัดที่มีประชากรมากกว่าหนึ่งล้านคน โดยเป็นแรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีแรงงานจำนวนมาก จำนวนถึงห้าแสนคน

การอพยพของแรงงานต่างถิ่นทำให้สังคมชลบุรีมีความหลากหลายในวิถีชีวิตและวัฒนธรรม
ภาพชินตาที่เห็นหน้าโรงงานตอนเช้า คือพนักงานเดินเข้าไปตอกบัตร ด้วยสีหน้าเคร่งเครียด รอยยิ้มอย่างเป็นสุขจะเกิดขึ้นครั้งเดียว คือ เวลาเลิกงาน

เป้าหมายที่จะทำให้คนงานเกือบห้าแสนคนมีความสุขในการทำงาน คือ ขจัดความเอารัดเอาเปรียบจากสถานที่ประกอบการ ในการจ่ายเงินสวัสดิการ จ่ายเงินชดเชยเมื่อเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ หรือเลิกจ้าง ไม่ให้เจ้าของกิจการอาศัยช่องว่างทางกฎหมายเอาเปรียบคนทำงานเพื่อลดต้นทุนของตัวเอง

โครงการ Happy work place มีเป้าหมายหลักให้พนักงานทุกคนมีความสุข 8 ประการ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์สุดทั้งแก่พนักงานและผู้ประกอบการ “ถ้าคนงานรู้สึกดีกับเรา เขาก็จะตั้งใจทำงาน ความผิดพลาดก็จะน้อยลง ความร่วมมือโดยสมัครใจ จะเกิดเพิ่มขึ้นมาก”

ความสุข 8 ประการ มีดังนี้

1.สุขภาพดี (Happy Body)
2.น้ำใจงาม (Happy Heart)
3.สังคมดี   (Happy Society) มีความสามัคคีเอื้อเฟื้อต่อชุมชน
4.มีความผ่อนคลาย  (Happy Relax) พักผ่อนเพียงพอ มีกิจกรรมบันเทิง
5.หาความรู้ (Happy Brain) ศึกษาหาความรู้ พัฒนาตนเองตลอดเวลา
6.ทางสงบ (Happy Soul) มีศรัทธาในศาสนาและศีลธรรมในการดำเนินชีวิต
7.ปลอดหนี้ (Happy  Money) รู้จักใช้ รู้จักเก็บเงิน
8.ครอบครัวดี (Happy Family) มีครอบครัวอบอุ่น มั่นคง เปิดโอกาสให้สมาชิกครอบครัวได้มาเยี่ยมชมโรงงาน มีสถานเลี้ยงดูเด็กเล็กในที่ประกอบการ เป็นการเพิ่มความสุขในการทำงาน

โรงงานที่สร้างให้เกิดความสุขทั้ง 8 ข้อ จะได้ชื่อว่าเป็นโรงงานผลิตความสุข มิใช่แค่โรงงานผลิตสินค้า
โลกใบนี้จะมีความสุขแค่ไหน ถ้าทุกที่ทำงานสร้างความสุขเช่นนี้ขึ้นได้

ตัวอย่างความสุขที่ 5 “เครือข่ายชุมชน สุขภาวะอินแปง สร้างสุขจากประสบการณ์ทุกข์” เครือข่ายองค์กรชุมชนตีนภูพาน มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดสกลนคร บางพื้นที่อยู่ในอุดรธานี กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร มีถึงเกือบพันหมู่บ้านใน 80 ตำบล ศูนย์อินแปงตั้งอยู่ในสถานที่ร่มรื่นด้วยธรรมชาติสีเขียว

5

สิบกว่าปีที่ผ่านมาศูนย์อินแปงได้เปลี่ยนแผ่นดินที่แห้งแล้งให้กลายเป็นผืนป่า เพาะพันธุ์กล้าไม้พื้นบ้านซึ่งได้จากป่า รวม 25 ล้านต้น คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่าร้อยล้านบาท มีทั้งไม้ผล ไม้ยืนต้นเนื้ออ่อน เนื้อแข็ง ผักนานาชนิด และหวาย ทั้งยังมีสมุนไพรอีกหลายร้อยชนิด นำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้มากมาย เช่น หมากเม่า เอามาทำเครื่องดื่ม ที่อุดมด้วยวิตามินซี ทำไวน์หมากเม่า โดยมีโรงแปรรูปน้ำผลไม้อยู่ในศูนย์ ฯ

รอบ ๆ ศูนย์อินแปง มีนาข้าวเขียวชอุ่ม เป็นข้าวพันธุ์พื้นบ้าน แข็งแรง กินอร่อย
มีโรงผลิตปุ๋ยชีวภาพ โรงแปรรูปสมุนไพร มีร้านค้า ทุกส่วนสอดรับกันอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นตัวอย่างวิถีชีวิตพอเพียงที่เชื่อมโยงกัน เป็นเครือข่าย พิสูจน์ให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นจริงได้ ด้วยการลงมือทำอย่างจริงจัง

ขอยกตัวอย่างเพียง 5 โครงการที่นำความสุขมาสู่สนามหน้าบ้านทุกหนทุกแห่ง ถ้ามีใจศรัทธา มีปัญญา และทุ่มเทปฏิบัติอย่างจริงจัง อีก 8 โครงการ กรุณารออ่านเมื่อหนังสือของ สสส.พิมพ์เสร็จแล้วนะคะ แค่อ่าน 5 โครงการสร้างสุขนี้ แล้วนำไปเผยแพร่ขยายผล แผ่นดินไทยก็จะเปี่ยมสุข ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระเจ้าอยู่หัวของเราทุกคนค่ะ

 

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความนี้เป็นภาพจากอินเตอร์เน็ต เนื่องจากภาพประกอบงานเขียนกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวม โปรดติดตามอ่านหนังสือเรื่องสุข 13 ที่สนามหน้าบ้านและชมภาพประกอบของแต่ละโครงการแห่งความสุขจากหนังสือของ สสส.

แม่ฮ่องสอนขุนเขาเขียวขจี

4 November, 2007 - 02:36 -- tuenjai

ปลายเดือนตุลาเวียนมาหา               ฝนหายจากฟ้า อากาศเย็นใส
เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวสบายใจ               ข้าวไร่เหลืองอร่ามงามตา
ทุ่งนาเชิงเขาพริ้วไสว พี่น้องปกาเกอญอร่วมแรงใจ               เกี่ยวข้าวไร่ พร้อมพรัก สามัคคี
พืชพันธุ์หลากหลายปลูกไว้               ในไร่ข้าวมีถั่ว พืช ผัก ทุกสิ่งศรี
งา พริก มะเขือ แตง ผัก เผือก มัน สุดแสนดี               เกษตรอินทรีย์ไร้สารพิษ คนปลอดภัย
วันนี้คณะกรรมาธิการจากสภา ฯ               จะมาฟังความเห็นอย่างถ้วนถี่
 “ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. .........” น่ายินดี               คุ้มครองพื้นที่ลาดชันเสี่ยงพังทลาย
พื้นที่ใช้สารเคมีเกิดปนเปื้อน               ไม่แชเชือนประกาศควบคุมไว้ให้ได้
ผู้กระทำความเสียหายต้องชดใช้               พื้นสภาพดินให้กลับเหมือนเดิม
ชาวปกาเกอญอแม่ฮ่องสอน               ใจรุมร้อน นอนไม่หลับทุกข์เหลือที่
ไร่หมุนเวียนทำกันมานับร้อยปี               กฎหมายนี้จะเอาผิดเราหรือไร
ที่โรงแรมอิมพีเรียล ธารา               บ่ายวันศุกร์ ชาวบ้านรุกคณะกรรมาธิการตอบให้ได้
แม่ฮ่องสอนเป็นป่าดอยทุกแห่งไป               ตั้งหมู่บ้าน นา สวน ไร่ ผิดทั้งเพ
หากรัฐมุ่งแต่กฎหมาย               ทุก ๆ วัน จับชาวบ้านได้ไม่มีที่หนี
งานวิจัยภูมิปัญญาชาวบ้านยืนยันได้ดี               ไร่หมุนเวียนถูกวิธีป่าฟื้นเร็ว
ตัดต้นไม้สูงถึงเอว รากไม่ตาย               ใช้ปีเดียวก็ย้าย เวียนไปอีกที่
ปลูกพืชผสมในไร่ข้าวบรรดามี               สุขภาพดี พันธุ์พื้นเมือง เพียบโภชนา
สารเคมีไม่ใช้ ดินไม่เสีย               ลูกไม้มียั้วเยี้ย ขึ้นทึบแน่น
เก้ง หมูป่าชอบมาอยู่ในเขตแดน               สุขใจแสน ไร่หมุนเวียน นิรันดร์กาล

เขียนกลอนพาไปได้หลายย่อหน้าด้วยความประทับใจในการเดินทางไปฟังความเห็นประชาชนของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. ........” ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยนายอดิศักดิ์  ศรีสรรพกิจ ประธาน  พลเอกสุรินทร์  พิกุลทอง รองประธานฯ นายโสภณ ชมชาญ ผู้เชี่ยวชาญอดีตข้าราชการกรมพัฒนาที่ดิน และดิฉัน รวมเป็นกรรมาธิการ 4 คน

คุณบุญยืน คงเพชรศักดิ์ ประธาน กป.อพช. (คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน) ภาคเหนือ กรุณาประสานงานให้มีเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนต่อสาระของ “ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. ....” และพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง กรุณาประสานกับนายไชยา  ประหยัดทรัพย์ นายกอบต.ห้วยปูลิง อ.เมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อพาคณะกรรมาธิการไปดูพื้นที่ไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นระบบเกษตรจากภูมิปัญญาที่สั่งสมมากว่าร้อยปีของชาวปกาเกอญอ

คณะกรรมาธิการเดินทางจากกรุงเทพฯ เช้าวันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม 2550 ต่อเครื่องบินการบินไทยจากชียงใหม่ไปแม่ฮ่องสอน เวลา 10.05 น. ผ่านเทือกเขาสลับซับซ้อนที่ปกคลุมด้วยผืนป่าเขียวขจี ใช้เวลาแค่ 25 นาทีก็ถึงแม่ฮ่องสอน

ช่วงเวลารับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน ตัวแทนชาวบ้าน และ องค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือแสดงความห่วงใยว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนปกคลุมภูเขาและป่าไม้จำนวน90% ที่อยู่และที่ทำกินของชาวบ้านจึงถือว่าอยู่ในเขตอนุรักษ์ทั้งป่าสงวน อุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตต้นน้ำทั้งนั้น หากเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ชาวบ้านก็ถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายได้ทุกวัน

ประชากรแม่ฮ่องสอนประกอบด้วยคนเชื้อสายไทยใหญ่ และชนชาติพันธุ์ ซึ่งชาวปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) มีมากที่สุด มีวิถีชีวิตแบบพอเพียง พึ่งตัวเองทำการเกษตรแบบยังชีพ ที่เหลือจึงขาย อยู่ห่างไกลการคมนาคม การติดต่อสื่อสารทำได้ยาก ผู้คนจึงรักษาธรรมชาติและดำรงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไว้ได้ดี เป็นจุดแข็งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาสู่จังหวัด

1

แนวทางที่ชุมชนชนชาติพันธุ์อนุรักษ์ธรรมชาติ คือ ใช้พิธีบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำเพื่อรักษาป่าและพันธุ์ปลา กำหนดเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จัดระบบควบคุมไฟป่า ทำแนวกันไฟรอบที่ทำกิน รอบหมู่บ้าน เพื่อไม่ให้ไฟไหม้ลุกลาม ใช้มาตรการบังคับทางสังคม ไม่พูด ไม่ร่วมกิจกรรมกับคนทำผิดกฎกติกา รวมทั้ง อบต.เข้ามาหนุนช่วยโดยสร้างข้อบัญญัติท้องถิ่น จัดเวทีปรึกษาหารือ สร้างเครือข่ายอนุรักษ์ส่งเสริมอาชีพที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ เช่นการเลี้ยงวัว ควาย การทอผ้าสีธรรมชาติ การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์

ผืนป่าที่ตำบลห้วยปูลิงจึงสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าหายากมาอยู่อาศัย เช่น ช้างป่า นกเงือก เลียงผา

ผู้เสนอความเห็นทุกคนพูดตรงกันว่าระบบไร่หมุนเวียนทำมากว่า 200 ปี แล้วมีหลักฐานยืนยันงานวิจัยของ ดร.อานันท์  กาญจนพันธุ์ (ซึ่งนายเดโช ไชยทัพ ได้มอบให้ประธานกรรมาธิการนำมาใช้อ้างอิง) ขอให้ระบุในกฎหมายว่าหากชุมชนทำเกษตรแบบไร่เวียน ซึ่งพิสูจน์ได้ มีมาตรการอนุรักษ์ ไม่ก่อปัญหาดินเสื่อม การชะล้างพังทลาย ทั้งยังช่วยฟื้นสภาพป่าให้สมบูรณ์ได้โดยเร็ว ถือว่าไม่เป็นพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้คุ้มครองตามพระราชบัญญัติที่ดิน

ที่ประชุมเสนอให้กฎหมายเข้มงวดกับการใช้พื้นที่แปลงใหญ่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยขาดมาตรการการอนุรักษ์ ซึ่งมักมีนายทุนหรือบริษัทยักษ์ใหญ่สนับสนุนทำให้ดินเสื่อมโทรม ชะล้างพังทลาย จนเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย

ส่วนการใช้สารเคมีจนเกิดปัญหาการปนเปื้อน กลายเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม รัฐควรคุมที่ต้นเหตุ คือ การควบคุมการนำเข้า การขายและการใช้สารเคมีให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ไม่ควรเข้มงวดกับเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นปลายเหตุ

ข้อเสนอในมาตราที่ว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารของกระทรวง กรม ที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิแค่ 3 คน ที่ประชาชนเสนอให้มีตัวแทนภาคประชาชนเพิ่มขึ้นทั้งระดับชาติ และระดับจังหวัด

เมื่อได้เข้าไปศึกษาความเป็นจริงที่ตำบลห้วยปูลิง คณะกรรมาธิการได้ฟังข้อมูลจากนายก อบต. ห้วยปูลิง นายไชยา ประหยัดทรัพย์ ว่า ชาวปกาเกอญอบ้านหนองขาว  ซึ่งประสบความสำเร็จด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทั้งหมู่บ้าน ทำ HOME STAY มีระบบคัดเลือกผู้มาเยือนโดยนักท่องเที่ยวต้องแสดงความจำนงล่วงหน้าว่าสนใจด้านไหน ถ้าต้องการมาลองยาเสพติด หรือสนใจในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางของหมู่บ้าน ก็จะไม่รับ ในฤดูเกษตร นักท่องเที่ยวจะได้ไปร่วมปลูกข้าว ลงนาเกี่ยวข้าวด้วย เป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริงโดยตรง

2

ที่แปลงไร่หมุนเวียนของหมู่บ้านห้วยฮี้  นายก อบต. และผู้ใหญ่บ้านชี้ให้ดูของจริงว่าไร่หมุนเว้นไว้ ฟื้นสภาพป่าให้อุดมสมบูรณ์ได้เร็ว เพราะต้นใหม่จะแตกขึ้นมารองต้นเดิม ที่ถูกตัดสูงราวเอว เมื่อต้นเดิมผุพังไป ต้นไม้ก็งอกงามขึ้นมาทดแทน

ในไร่ข้าวปลูกพืชผสมผสานถึง 40 อย่าง เช่น ต้นกระเจี๊ยบแดง ที่เอามาต้มเป็นน้ำกระเจี๊ยบเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ กำลังออกดอกสีนวลใส งากำลังออกดอกขาว และติดฝัก  แตงลูกเล็ก ๆ เท่าลูกฝรั่งกำลังสุก  มันพื้นเมืองหัวฝังอยู่ใต้ดิน เถาเลื้อยขึ้นไต่ตอไม้ มันสำปะหลัง พริกกำลังสุกเป็นสีเหลือง ส้ม แดง บวบลูกเล็ก ฟักทอง ผักอีหลืน (คล้ายกะเพรา) ถั่วฝักสั้น ถั่วแปป ฯลฯ  สารพัดอย่างเรียกชื่อไม่ถูก

3

เมื่อศึกษาไร่หมุนเวียนเข้าใจดีแล้ว ก็มาทานข้าวกลางวันที่บ้านของรองนายกอบต. (นายทองเปลว  ทวิชากรสีทอง) กลุ่มหญิงแม่เรือนนุ่งซิ่นกับเสื้อที่ทอเองสีสวยสด ช่วยกันยกอาหารมาให้ มีน้ำพริกกะเหรี่ยง ข้าวเบ๊อะ (ข้าวเคี่ยวจนเปื่อยใส่ผักชนิดต่าง ๆ กับเนื้อไก่หรือเนื้อหมู) ผัดผักรวมหลายชนิด ลาบหมูหมกไฟ กินกับข้าวไร่ห่อใบตอง อร่อยจนลืมอิ่ม เสียดายที่เป็นข้าวขาว ไม่ใช่ข้าวไร่ที่ตำครกกระเดื่อง ซึ่งจะมีรสชาดดีกว่า

ภาชนะใส่น้ำชาทำจากกระบอกไม้ไผ่เหลาให้หมดเสี้ยน กลิ่นไม้ไผ่ทำให้รสน้ำชาหอมชื่นใจมากขึ้น

4

ภรรยาผู้ใหญ่บ้านมอบเสื้อทอที่ย้อมสีธรรมชาติให้ดิฉัน 1 ตัว ส่วนผู้ใหญ่บ้านมอบให้พลเอกสุรินทร์  พิกุลทอง ในฐานะที่ได้มาช่วยแก้ปัญหาที่ดินป่าไม้ในนามกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นที่ประทับใจทั้งผู้ให้และผู้รับ

ชาวบ้านชวนไปที่โบสถ์คริสต์ เพื่อรับฟังความเห็นต่อ “ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. .........” อีกครั้ง มีทั้งพ่อเฒ่า แม่เฒ่า พ่อเรือน แม่เรือน เด็กและวัยรุ่นพากันมาเต็มห้องได้เสนอให้คณะกรรมาธิการเพิ่มเนื้อหาของกฎหมายให้คุ้มครองระบบไร่หมุนเวียน และวิถีชีวิตที่อนุรักษ์ธรรมชาติเพื่อชาวบ้านจะได้หมดห่วงกังวล และนอนหลับได้ทุกคืน

5

คณะเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดิน โดยหัวหน้าสถานีพัฒนาที่ดิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน คือนายถาวร  มีชัย ผู้อำนวยการเขต 6 คือ นายสวัสดี บุญชี และผู้แทนจากส่วนกลาง ได้นำคณะกรรมาธิการ ฯ ไปดูโครงการนำร่องพัฒนาที่ดินตามแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงที่บ้านดอยคู ตำบลนาปู่ป้อม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม 2550 จุดแรกดูระบบวิธีพืช คือปลูกหญ้าแฝกเพื่อชะลอการชะล้างดิน โดยปลูกเป็นแถบตามแนวระดับ และใช้ระบบน้ำฉีดกระจายทั่วพื้นที่เจ้าของแปลงปลูกกระเทียม สลับกับถั่วเหลือง มีรายได้ดี โดยต้องคอยดูแลให้แถวหญ้าแฝกอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ให้น้ำสม่ำเสมอ และปลูกซ่อมให้มีความถี่พอเหมาะไม่เปิดช่องให้น้ำเซาะ ชะล้างหน้าดินได้

อีกจุดหนึ่งเป็นแปลงปลูกปอเทือง และถั่วพร้า เพื่อบำรุงดิน ปกคลุมดิน และเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ขาย ร่วมกับวิธีขุดร่องน้ำรอบแนวภูเขาเป็นช่วง ๆ เพื่อชะลอความแรงของน้ำฝน และเพื่อกักตะกอนดิน โดยจ้างแรงงานชาวบ้านเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ และสั่งสมความเข้าใจมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำผ่านการลงมือทำงานโดยตรง

ปอเทืองทั้งแปลงใหญ่กำลังออกดอก ดอกกำลังทยอยบานเป็นสีเหลืองรับกับสีของท้องฟ้า หัวหน้านิพนธ์  ชัยอนันต์ เล่าว่า เวลาดอกบานเต็มทุ่งจะสวยไม่แพ้ทุ่งบัวตอง นักท่องเที่ยวชอบมาถ่ายรูป ส่วนถั่วพร้ำแตกพุ่มงามทั้งแปลง กำลังออกช่อดอกสีม่วง สวยไปอีกแบบ

พระราชบัญญัติพัฒนาที่ดินฉบับนี้มีหลักการมุ่งให้กรมพัฒนาที่ดินเป็นผู้รับผิดชอบให้การพัฒนาที่ดิน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดโดยใช้มาตรการด้านกฎหมายเสริมการปฏิบัติงานด้านวิชาการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และเป็นการคุ้มครองประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการใช้ที่ดิน โดยกำหนดการวางแผนการใช้ที่ดิน และกำหนดบริเวณการใช้ที่ดินตามความเหมาะสมของที่ดิน และจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการชะล้างพังทลายและดินถล่มในที่มีผู้ครอบครองได้

ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกรรมาธิการวิสามัญ ดิฉันชื่นชมในเจตนารมณ์ของร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. ........ ขอให้พระราชบัญญัตินี้ได้รับการสนับสนุนจากสนช. และประชาชน ให้ผ่านวาระ 1-2-3 ได้โดยสะดวก เพื่อพัฒนาที่ดินและทรัพยากรน้ำ ป่า ให้คืนสู่ความสมบูรณ์ และสมดุลโดยเร็ว

ตานก๋วยสลาก บุญที่ไม่เฉพาะเจาะจง

29 October, 2007 - 00:10 -- tuenjai

สัปดาห์นี้คุณเตือนใจติดภารกิจไม่สามารถเขียนเรื่องลงได้  จึงได้มอบหมายให้ดิฉันจันทราภา (นนทวาสี) จินดาทอง ถ่ายทอดอีกหนึ่งเรื่องราว ซึ่งสอดคล้องกับห้วงเวลาของเทศกาลเข้าพรรษา ความเรียบง่ายแต่งดงามของวิถีชีวิตคนในพื้นที่ห่างไกล เชิญติดตามอ่านค่ะ

ตั้งแต่ตอนที่ยังท้องอยู่ ดิฉันและพ่อของลูกมีความคิดเห็นตรงกันในการอยากให้ลูกเป็นคนที่มีความใกล้ชิดกับพุทธศาสนา ดังนั้น ทุกวันพระเราจึงพากันเข้าวัด ตักบาตร ฟังเทศน์อย่างสม่ำเสมอ แต่พอคลอดน้องต้นหนาว ด้วยภาวะที่เพิ่งมีลูกคนแรก ทุกอย่างดูวุ่นวายไปหมด กิจวัตรการตักบาตรทุกวันพระจึงเป็นอันงดไปโดยปริยาย

กระทั่งต้นหนาวเติบโตขึ้นตามลำดับ จนอายุครบ 10 เดือนซึ่งเป็นวัยที่พอจะฟังพ่อแม่พูดรู้ความ พวกเราจึงรื้อฟื้นการตักบาตรทุกวันพระโดยพ่วงเอาลูกชายไปด้วย ตอนนี้ต้นหนาวสามารถกราบพระสามครั้ง แตะมือพ่อตอนตักบาตร และกราบคนเฒ่าคนแก่ผู้ถือศีล 8 และมานอนค้างที่วัดได้แล้ว สังเกตว่าลูกจะดีใจและตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้ร่วมทำบุญ

วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2550 วัดอุ้มผางได้กำหนดให้มีงานตานก๋วยสลากตามฮีต (จารีต) ของวัดทั่วไปในภาคเหนือที่ยึดเอาเดือน ๑๒ เหนือ ( คือเดือน ๑๐ ใต้ เดือนกันยายน ) และสิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ ( เดือน ๑๑ ใต้ ) เป็นช่วงทำบุญสลากภัตรหรือตานก๋วยสลาก ดิฉันจึงตั้งใจพาต้นหนาวไปร่วมงานด้วย

pic1

งานตานก๋วยสลากเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2550 ซึ่งเรียกว่า “วันดา” ที่ทุกบ้านจะตระเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ไทยทาน พวกผู้ชายก็จะจัดการจักตอกสาน “ ก๋วย ” ( ตระกร้า ) ไว้หลาย ๆ ใบ บางครอบครัวอาจจะทำหลายสิบลูก ทางฝ่ายหญิงก็จะจัดเตรียมห่อของ กระจุก กระจิก เช่น ข้าวสาร พริก หอม กระเทียม เกลือ กะปิ ปลาร้า ขนมต้ม และ อาหาร เช่น ห่อหมก ( ทางเหนือเรียกว่าห่อนึ่ง ) ชิ้นปิ้ง ( เนื้อทอด ) เนื้อเค็ม ซึ่งบางครั้งก็จะทำอาหารที่ผู้ล่วงลับไปโปรดปรานเป็นพิเศษและเราต้องการจะตานก๋วยสลากไปหา เพื่อให้ได้รับส่วนบุญนั้น ๆ นอกจากนี้ จะมีพวกหมาก เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ เทียนไข ผลไม้ต่าง ๆ เครื่องใช้สอยต่าง ๆ สิ่งของต่าง ๆ เหล่านี้จะบรรจุลงในก๋วยซึ่งกรุด้วยใบตอง กระดาษหนังสือพิมพ์ หรือกระดาษสีต่าง ๆ เมื่อจัดการบรรจุสิ่งของต่าง ๆ ลงในก๋วยเรียบร้อยแล้ว ก็จะเอา “ ยอด ” คือ สตางค์ หรือ ธนบัตร ผูกติดไม้เรียวเสียบไว้ “ ยอด ” ที่ใส่นั้นไม่จำกัดว่าเท่าใด แล้วแต่กำลังทรัพย์และศรัทธาจะอำนวยให้

ก๋วยสลากมีสองแบบ คือ สลากน้อย คือ สลากกระชุเล็ก และ สลากก๋วยใหญ่ คือ สลากโชค สลากก๋วยเล็ก ใช้ถวายอุทิศแด่ผู้ตาย หรือทำบุญเพื่อเป็นกุศลในภายภาคหน้า ส่วน สลากก๋วยใหญ่ใช้ถวายเป็นมหากุศลสำหรับบุคคลผู้มีกำลังศรัทธา และร่ำรวยเงินทอง หรือศรัทธาหลาย ๆ คนที่มีความต้องการจะทำบุญร่วมกันช่วยกันแต่งดาให้เป็นสลากก๋วยใหญ่ ทำถวายเพื่อเป็นพลวปัจจัยให้มีบุญกุศลมากขึ้น

เช้าวันรุ่งขึ้นในวันตานสลาก เขาก็ใช้เด็กลูกหลานเอาเสื่อไปปูที่ลานวัด หรือตามศาลาและเอา “ก๋วยสลาก” ไปวางเรียงไว้เป็นแถว ๆ ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะจัดเตรียมขัน ( พาน ) ไปวัดกันเป็นกลุ่ม บ้างก็จูงมือลูกหลานไปด้วย ส่วนพวกหนุ่ม ๆ สาว ๆ ก็ไปเหมือนกัน ส่วนมากไปกันเกือบหมดทั้งครอบครัว เพราะถือว่าการทานสลากภัตรนี้มีอนิสงฆ์มาก และจะได้ช่วยกันเอา “ ก๋วยสลาก ” ไปถวายพระในเวลามีการเรียก “ เส้นสลาก ”

pic2

“ เส้นสลาก ” ที่กล่าวนี้ ผู้เป็นเจ้าของ “ ก๋วยสลาก ” จะต้องเอาใบลานหรือกระดาษมาตัดเป็นแผ่นยาว ๆ จารึกชื่อเจ้าของไว้และบอกด้วยว่า อุทิศส่วนกุศลนั้นให้ใครบ้าง คำจารึกในเส้นสลากนั้นจะเขียนดังนี้  “ สุทินฺนํ วตเมทานํ สลากภัตตทานํ อาสวคฺ คยวหํ นิพฺพาน ปจฺจโยโหตุ ข้าพเจ้า............................................พร้อมด้วย.................................................ได้พร้อมกันจัดหามายัง สลากภัตรทานกัณฑ์นี้ เพื่อน้อมถวายแด่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนานี้ และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่................................................................... ขอให้ได้รับสลากภัตรทานนี้ สมความปรารถนาในสัมปรายภพเบื้องหน้าโน้นด้วยเทอญฯ” “ เส้นสลาก ” ที่กล่าวนี้จะต้องเขียนไว้ให้ครบจำนวนก๋วยสลาก เมื่อชาวบ้านนำเอาก๋วยสลากไปที่วัดแล้ว ก็จะเอาสลากไปรวมกันไว้ที่หน้าพระประธานในวิหาร ซึ่งผู้รวบรวมสลากมักจะเป็น มัคทายก หรือที่เรียกกันว่า “ อาจารย์ ” รวบรวมได้เท่าไร ก็จะเอาจำนวนพระภิกษุสามเณรที่นิมนต์มาจากวัดต่าง ๆ นั้น หารจำนวนสลาก และหักเหลือไว้ส่วนหนึ่งเป็นส่วนของ “ พระเจ้า ” ( คำว่า พระเจ้า เมืองเหนือหมายถึง พระพุทธรูปเช่น พระเจ้าเก้าตื้อ พระเจ้าทองทิพย์ ฯลฯ )

ในส่วนของก๋วยสลากที่พระภิกษุแต่ละรูปได้รับ ยอดอาจจะนำมารวมกันไว้หรือแบ่งปันไปตามจำนวนพระ เณรในแต่ละวัดก็แล้วแต่ ส่วนที่ตกอยู่ที่พระเจ้า ยอดจะเป็นเงินกองกลางสำหรับใช้จ่ายในกิจของวัดต่อไป

pic3

พิธีการในงานตานก๋วยสลากของวัดอุ้มผาง เริ่มต้นเกือบ 11 โมงเช้า ที่มีการจัดภัตตาหารถวายพระสงฆ์จากวัดและสำนักสงฆ์ต่าง ๆ ที่ได้รับนิมนต์ให้มาร่วมงานนี้ทั้งหมดประมาณ 70 กว่ารูป ในส่วนของอาหารได้รับความอนุเคราะห์จากบรรดาญาติโยมร่วมทำบุญคนละอย่างสองอย่าง ขณะที่พระฉันภัตตาหารเพลบนศาลา บริเวณเต้นท์ด้านล่างมีการตั้งโรงทานแจกจ่ายอาหารให้กับฆราวาสที่พากันมาร่วมงาน ทั้งคนในตำบลอุ้มผาง หมู่บ้านอื่น ๆ พี่น้อง ปกาเกอญอ พี่น้องจากพม่า ให้อิ่มหนำกันทั่วหน้า

ระหว่างที่พระสงฆ์ฉันภัตตาหารและฆราวาสรับประทานอาหารอยู่นั้น มีการบรรเลงเพลงโดยวงสะล้อซอซึงขับกล่อมให้ความสำราญ แต่ที่ดิฉันประทับใจมาก คือ ช่างฟ้อน (นางรำ) ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่มีอายุพอสมควร พากันฟ้อนรำด้วยท่วงท่าสบาย ๆ การเปลี่ยนท่ารำคอยทำตามหญิงที่เป็นผู้นำ เรียกว่าไม่ต้องซ้อมล่วงหน้า อีกทั้งเครื่องแต่งกายของพวกเธอก็แต่งตามสะดวกของใครของมัน ไม่จำเป็นต้องตัดให้เหมือน ๆ กัน อันเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ พอเปลี่ยนทำนองเพลงให้เร็วขึ้น บรรดาผู้มาร่วมงานหลายคนนึกสนุกการร่วมรำจนกลายเป็นวงใหญ่ ต้นหนาวยืนดูอยู่ก็พลอยขยับไม้ขยับมือรำไปกับเขาด้วย

pic5

ล่วงเลยมาจนถึงช่วงบ่าย พิธีกรรมทางสงฆ์จึงเริ่มขึ้น โดยการสวดมนต์ ไหว้พระ ฟังเทศน์ มัคทายกบอกเล่าถึงความเป็นมาและความสำคัญของงานตานก๋วยสลาก หลังจากนั้นพระภิกษุสามเณรได้รับส่วนแบ่งเส้นสลากแล้ว ก็จะไปยึดเอาชัยภูมิแห่งหนึ่งในวัด ทั้งบนศาลา ข้างศาลา ใต้ต้นไม้ ภายในเต้นท์ เพื่อจัดการออกสลาก ความชุลมุนและสนุกสนานจากเสียงตะโกนโหวกเหวกของลูกศิษย์(ขะโยม)แต่ละวัดที่ขานชื่อในเส้นสลาก ญาติโยม ทั้งพวกหนุ่ม ๆ สาว ๆ เฒ่าชะแรแก่ชรา ไม่ว่าเด็กน้อยหรือหนุ่มใหญ่ ก็จะหิ้ว “ ก๋วยสลาก ” ออกตามเส้นกันขวักไขว่ เพื่อตามหาว่าสลากของตนไปตกอยู่กับวัดหรือสำนักสงฆ์ใด บรรดาหนุ่ม ๆ ถือโอกาสเรียกคะแนนนิยมด้วยการช่วยสาว ๆ   ตามหาเส้นสลาก  เมื่อพบเส้นสลากของตนแล้ว ก็จะเอา “ ก๋วยสลาก ” ไปถวายพระ พระก็จะช่วยอ่านข้อความในเส้นสลากให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง แล้วรับเอา “ ก๋วยสลาก ” และกล่าวอนุโมทนาให้พร แล้วก็คืนสลากนั้นให้เจ้าของสลากไปเจ้าของสลากก็นำเอาเส้นสลากนั้นไปรวมไว้ในวิหาร เมื่อเสร็จแล้ว “ แก่วัด ” หรือมัคทายก ก็จะเอาเส้นสลากนั้นไปเผาไฟหรือทิ้งเสีย แม้จะดูโกลาหลแต่ทุกคนก็มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ดูอิ่มเอิบในบุญจากการตานก๋วยสลาก เพราะนานปีถึงจะมีการ “ กิ๋นก๋วย ” สักครั้ง บางวัด ๓ ปี จะมีการตานก๋วยสลากนี้สักครั้งหนึ่ง

pic4

โดยมากยามที่วัดมีงานบุญ เรามักพบผู้มาร่วมงานอยู่ในอาการมึนเมา หลายครั้งมีการนำสุราเข้ามาดื่มในวัด จนเกิดปัญหาทะเลาะวิวาท ชกต่อย ทำร้ายกัน แต่งานตานก๋วยสลากที่วัดอุ้มผาง ไม่ปรากฏการดื่มสุราในงาน จากการสอบถามได้ความว่า หลวงพ่อเจ้าอาวาส (พระสมุห์จรินทร์ กัลยาโน) ไม่อนุญาตให้นำสุราเข้ามาดื่มภายในบริเวณวัด ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นที่รู้กันทั่วทั้งอำเภออุ้มผางว่า วัดอุ้มผางมีพระสงฆ์ที่ค่อนข้างเคร่งครัดในการปฏิบัติเพราะเป็นสาขาของวัดสังฆทาน จังหวัดนนทบุรี

ประมาณบ่ายสามโมงกว่า ๆ งานตานก๋วยสลากของวัดอุ้มผางก็สิ้นสุดลง พระสงฆ์และญาติโยมแต่ละวัดพากันเดินทางกลับ ช่วงเวลาหลังจากนี้เป็นของศรัทธาแต่ละวัดที่กลับไปแกะก๋วยสลาก ในส่วนของยอดที่เป็นเงินจะมอบให้เป็นกองทุนส่วนกลางของวัดหรือแบ่งกันระหว่างพระสงฆ์ สามเณรก็แล้วแต่ ขณะที่ข้าวของในก๋วยทั้งของสดและของแห้งจะแจกจ่ายกันทังเด็กวัด ญาติโยม เด็ก ๆ จะตั้งตารอคอยเพื่อกินขนมในก๋วยสลาก

ดิฉันรู้สึกทึ่ง และนึกชื่นชมอยู่ในใจเป็นอย่างยิ่งกับภูมิปัญญาของคนโบราณที่คิดค้นการทำบุญสลากภัตรหรือตานก๋วยสลาก ที่สอดแทรกการสอนให้พุทธศาสนิกชนปล่อยวางการเลือกทำบุญกับเฉพาะพระที่ตนเคารพนับถือ อย่างน้อยในช่วงเวลาสั้น ๆ ของแต่ละปีที่ทุกคนจะตั้งอกตั้งใจตกแต่งก๋วยสลากของตนอย่างดีเพื่ออุทิศให้กับผู้ล่วงลับไป อีกทั้งต้องนำไปถวายกับพระสงฆ์ที่จับได้เส้นสลากโดยไม่เฉพาะเจาะจง นับเป็นความล้ำลึกที่สามารถสั่งสอนผู้คนโดยการปฏิบัติที่ดูจะได้ผลมากกว่าการเทศนาสั่งสอนหรือบอกกล่าวด้วยคำพูดมากมายนัก

 

เตือนใจ (กุญชร ณ อยุธยา) ดีเทศน์
Tuenjai_d@yahoo.com