Skip to main content

สัปดาห์นี้คุณเตือนใจติดภารกิจไม่สามารถเขียนเรื่องลงได้  จึงได้มอบหมายให้ดิฉันจันทราภา (นนทวาสี) จินดาทอง ถ่ายทอดอีกหนึ่งเรื่องราว ซึ่งสอดคล้องกับห้วงเวลาของเทศกาลเข้าพรรษา ความเรียบง่ายแต่งดงามของวิถีชีวิตคนในพื้นที่ห่างไกล เชิญติดตามอ่านค่ะ

ตั้งแต่ตอนที่ยังท้องอยู่ ดิฉันและพ่อของลูกมีความคิดเห็นตรงกันในการอยากให้ลูกเป็นคนที่มีความใกล้ชิดกับพุทธศาสนา ดังนั้น ทุกวันพระเราจึงพากันเข้าวัด ตักบาตร ฟังเทศน์อย่างสม่ำเสมอ แต่พอคลอดน้องต้นหนาว ด้วยภาวะที่เพิ่งมีลูกคนแรก ทุกอย่างดูวุ่นวายไปหมด กิจวัตรการตักบาตรทุกวันพระจึงเป็นอันงดไปโดยปริยาย

กระทั่งต้นหนาวเติบโตขึ้นตามลำดับ จนอายุครบ 10 เดือนซึ่งเป็นวัยที่พอจะฟังพ่อแม่พูดรู้ความ พวกเราจึงรื้อฟื้นการตักบาตรทุกวันพระโดยพ่วงเอาลูกชายไปด้วย ตอนนี้ต้นหนาวสามารถกราบพระสามครั้ง แตะมือพ่อตอนตักบาตร และกราบคนเฒ่าคนแก่ผู้ถือศีล 8 และมานอนค้างที่วัดได้แล้ว สังเกตว่าลูกจะดีใจและตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้ร่วมทำบุญ

วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2550 วัดอุ้มผางได้กำหนดให้มีงานตานก๋วยสลากตามฮีต (จารีต) ของวัดทั่วไปในภาคเหนือที่ยึดเอาเดือน ๑๒ เหนือ ( คือเดือน ๑๐ ใต้ เดือนกันยายน ) และสิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ ( เดือน ๑๑ ใต้ ) เป็นช่วงทำบุญสลากภัตรหรือตานก๋วยสลาก ดิฉันจึงตั้งใจพาต้นหนาวไปร่วมงานด้วย

pic1

งานตานก๋วยสลากเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2550 ซึ่งเรียกว่า “วันดา” ที่ทุกบ้านจะตระเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ไทยทาน พวกผู้ชายก็จะจัดการจักตอกสาน “ ก๋วย ” ( ตระกร้า ) ไว้หลาย ๆ ใบ บางครอบครัวอาจจะทำหลายสิบลูก ทางฝ่ายหญิงก็จะจัดเตรียมห่อของ กระจุก กระจิก เช่น ข้าวสาร พริก หอม กระเทียม เกลือ กะปิ ปลาร้า ขนมต้ม และ อาหาร เช่น ห่อหมก ( ทางเหนือเรียกว่าห่อนึ่ง ) ชิ้นปิ้ง ( เนื้อทอด ) เนื้อเค็ม ซึ่งบางครั้งก็จะทำอาหารที่ผู้ล่วงลับไปโปรดปรานเป็นพิเศษและเราต้องการจะตานก๋วยสลากไปหา เพื่อให้ได้รับส่วนบุญนั้น ๆ นอกจากนี้ จะมีพวกหมาก เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ เทียนไข ผลไม้ต่าง ๆ เครื่องใช้สอยต่าง ๆ สิ่งของต่าง ๆ เหล่านี้จะบรรจุลงในก๋วยซึ่งกรุด้วยใบตอง กระดาษหนังสือพิมพ์ หรือกระดาษสีต่าง ๆ เมื่อจัดการบรรจุสิ่งของต่าง ๆ ลงในก๋วยเรียบร้อยแล้ว ก็จะเอา “ ยอด ” คือ สตางค์ หรือ ธนบัตร ผูกติดไม้เรียวเสียบไว้ “ ยอด ” ที่ใส่นั้นไม่จำกัดว่าเท่าใด แล้วแต่กำลังทรัพย์และศรัทธาจะอำนวยให้

ก๋วยสลากมีสองแบบ คือ สลากน้อย คือ สลากกระชุเล็ก และ สลากก๋วยใหญ่ คือ สลากโชค สลากก๋วยเล็ก ใช้ถวายอุทิศแด่ผู้ตาย หรือทำบุญเพื่อเป็นกุศลในภายภาคหน้า ส่วน สลากก๋วยใหญ่ใช้ถวายเป็นมหากุศลสำหรับบุคคลผู้มีกำลังศรัทธา และร่ำรวยเงินทอง หรือศรัทธาหลาย ๆ คนที่มีความต้องการจะทำบุญร่วมกันช่วยกันแต่งดาให้เป็นสลากก๋วยใหญ่ ทำถวายเพื่อเป็นพลวปัจจัยให้มีบุญกุศลมากขึ้น

เช้าวันรุ่งขึ้นในวันตานสลาก เขาก็ใช้เด็กลูกหลานเอาเสื่อไปปูที่ลานวัด หรือตามศาลาและเอา “ก๋วยสลาก” ไปวางเรียงไว้เป็นแถว ๆ ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะจัดเตรียมขัน ( พาน ) ไปวัดกันเป็นกลุ่ม บ้างก็จูงมือลูกหลานไปด้วย ส่วนพวกหนุ่ม ๆ สาว ๆ ก็ไปเหมือนกัน ส่วนมากไปกันเกือบหมดทั้งครอบครัว เพราะถือว่าการทานสลากภัตรนี้มีอนิสงฆ์มาก และจะได้ช่วยกันเอา “ ก๋วยสลาก ” ไปถวายพระในเวลามีการเรียก “ เส้นสลาก ”

pic2

“ เส้นสลาก ” ที่กล่าวนี้ ผู้เป็นเจ้าของ “ ก๋วยสลาก ” จะต้องเอาใบลานหรือกระดาษมาตัดเป็นแผ่นยาว ๆ จารึกชื่อเจ้าของไว้และบอกด้วยว่า อุทิศส่วนกุศลนั้นให้ใครบ้าง คำจารึกในเส้นสลากนั้นจะเขียนดังนี้  “ สุทินฺนํ วตเมทานํ สลากภัตตทานํ อาสวคฺ คยวหํ นิพฺพาน ปจฺจโยโหตุ ข้าพเจ้า............................................พร้อมด้วย.................................................ได้พร้อมกันจัดหามายัง สลากภัตรทานกัณฑ์นี้ เพื่อน้อมถวายแด่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนานี้ และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่................................................................... ขอให้ได้รับสลากภัตรทานนี้ สมความปรารถนาในสัมปรายภพเบื้องหน้าโน้นด้วยเทอญฯ” “ เส้นสลาก ” ที่กล่าวนี้จะต้องเขียนไว้ให้ครบจำนวนก๋วยสลาก เมื่อชาวบ้านนำเอาก๋วยสลากไปที่วัดแล้ว ก็จะเอาสลากไปรวมกันไว้ที่หน้าพระประธานในวิหาร ซึ่งผู้รวบรวมสลากมักจะเป็น มัคทายก หรือที่เรียกกันว่า “ อาจารย์ ” รวบรวมได้เท่าไร ก็จะเอาจำนวนพระภิกษุสามเณรที่นิมนต์มาจากวัดต่าง ๆ นั้น หารจำนวนสลาก และหักเหลือไว้ส่วนหนึ่งเป็นส่วนของ “ พระเจ้า ” ( คำว่า พระเจ้า เมืองเหนือหมายถึง พระพุทธรูปเช่น พระเจ้าเก้าตื้อ พระเจ้าทองทิพย์ ฯลฯ )

ในส่วนของก๋วยสลากที่พระภิกษุแต่ละรูปได้รับ ยอดอาจจะนำมารวมกันไว้หรือแบ่งปันไปตามจำนวนพระ เณรในแต่ละวัดก็แล้วแต่ ส่วนที่ตกอยู่ที่พระเจ้า ยอดจะเป็นเงินกองกลางสำหรับใช้จ่ายในกิจของวัดต่อไป

pic3

พิธีการในงานตานก๋วยสลากของวัดอุ้มผาง เริ่มต้นเกือบ 11 โมงเช้า ที่มีการจัดภัตตาหารถวายพระสงฆ์จากวัดและสำนักสงฆ์ต่าง ๆ ที่ได้รับนิมนต์ให้มาร่วมงานนี้ทั้งหมดประมาณ 70 กว่ารูป ในส่วนของอาหารได้รับความอนุเคราะห์จากบรรดาญาติโยมร่วมทำบุญคนละอย่างสองอย่าง ขณะที่พระฉันภัตตาหารเพลบนศาลา บริเวณเต้นท์ด้านล่างมีการตั้งโรงทานแจกจ่ายอาหารให้กับฆราวาสที่พากันมาร่วมงาน ทั้งคนในตำบลอุ้มผาง หมู่บ้านอื่น ๆ พี่น้อง ปกาเกอญอ พี่น้องจากพม่า ให้อิ่มหนำกันทั่วหน้า

ระหว่างที่พระสงฆ์ฉันภัตตาหารและฆราวาสรับประทานอาหารอยู่นั้น มีการบรรเลงเพลงโดยวงสะล้อซอซึงขับกล่อมให้ความสำราญ แต่ที่ดิฉันประทับใจมาก คือ ช่างฟ้อน (นางรำ) ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่มีอายุพอสมควร พากันฟ้อนรำด้วยท่วงท่าสบาย ๆ การเปลี่ยนท่ารำคอยทำตามหญิงที่เป็นผู้นำ เรียกว่าไม่ต้องซ้อมล่วงหน้า อีกทั้งเครื่องแต่งกายของพวกเธอก็แต่งตามสะดวกของใครของมัน ไม่จำเป็นต้องตัดให้เหมือน ๆ กัน อันเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ พอเปลี่ยนทำนองเพลงให้เร็วขึ้น บรรดาผู้มาร่วมงานหลายคนนึกสนุกการร่วมรำจนกลายเป็นวงใหญ่ ต้นหนาวยืนดูอยู่ก็พลอยขยับไม้ขยับมือรำไปกับเขาด้วย

pic5

ล่วงเลยมาจนถึงช่วงบ่าย พิธีกรรมทางสงฆ์จึงเริ่มขึ้น โดยการสวดมนต์ ไหว้พระ ฟังเทศน์ มัคทายกบอกเล่าถึงความเป็นมาและความสำคัญของงานตานก๋วยสลาก หลังจากนั้นพระภิกษุสามเณรได้รับส่วนแบ่งเส้นสลากแล้ว ก็จะไปยึดเอาชัยภูมิแห่งหนึ่งในวัด ทั้งบนศาลา ข้างศาลา ใต้ต้นไม้ ภายในเต้นท์ เพื่อจัดการออกสลาก ความชุลมุนและสนุกสนานจากเสียงตะโกนโหวกเหวกของลูกศิษย์(ขะโยม)แต่ละวัดที่ขานชื่อในเส้นสลาก ญาติโยม ทั้งพวกหนุ่ม ๆ สาว ๆ เฒ่าชะแรแก่ชรา ไม่ว่าเด็กน้อยหรือหนุ่มใหญ่ ก็จะหิ้ว “ ก๋วยสลาก ” ออกตามเส้นกันขวักไขว่ เพื่อตามหาว่าสลากของตนไปตกอยู่กับวัดหรือสำนักสงฆ์ใด บรรดาหนุ่ม ๆ ถือโอกาสเรียกคะแนนนิยมด้วยการช่วยสาว ๆ   ตามหาเส้นสลาก  เมื่อพบเส้นสลากของตนแล้ว ก็จะเอา “ ก๋วยสลาก ” ไปถวายพระ พระก็จะช่วยอ่านข้อความในเส้นสลากให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง แล้วรับเอา “ ก๋วยสลาก ” และกล่าวอนุโมทนาให้พร แล้วก็คืนสลากนั้นให้เจ้าของสลากไปเจ้าของสลากก็นำเอาเส้นสลากนั้นไปรวมไว้ในวิหาร เมื่อเสร็จแล้ว “ แก่วัด ” หรือมัคทายก ก็จะเอาเส้นสลากนั้นไปเผาไฟหรือทิ้งเสีย แม้จะดูโกลาหลแต่ทุกคนก็มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ดูอิ่มเอิบในบุญจากการตานก๋วยสลาก เพราะนานปีถึงจะมีการ “ กิ๋นก๋วย ” สักครั้ง บางวัด ๓ ปี จะมีการตานก๋วยสลากนี้สักครั้งหนึ่ง

pic4

โดยมากยามที่วัดมีงานบุญ เรามักพบผู้มาร่วมงานอยู่ในอาการมึนเมา หลายครั้งมีการนำสุราเข้ามาดื่มในวัด จนเกิดปัญหาทะเลาะวิวาท ชกต่อย ทำร้ายกัน แต่งานตานก๋วยสลากที่วัดอุ้มผาง ไม่ปรากฏการดื่มสุราในงาน จากการสอบถามได้ความว่า หลวงพ่อเจ้าอาวาส (พระสมุห์จรินทร์ กัลยาโน) ไม่อนุญาตให้นำสุราเข้ามาดื่มภายในบริเวณวัด ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นที่รู้กันทั่วทั้งอำเภออุ้มผางว่า วัดอุ้มผางมีพระสงฆ์ที่ค่อนข้างเคร่งครัดในการปฏิบัติเพราะเป็นสาขาของวัดสังฆทาน จังหวัดนนทบุรี

ประมาณบ่ายสามโมงกว่า ๆ งานตานก๋วยสลากของวัดอุ้มผางก็สิ้นสุดลง พระสงฆ์และญาติโยมแต่ละวัดพากันเดินทางกลับ ช่วงเวลาหลังจากนี้เป็นของศรัทธาแต่ละวัดที่กลับไปแกะก๋วยสลาก ในส่วนของยอดที่เป็นเงินจะมอบให้เป็นกองทุนส่วนกลางของวัดหรือแบ่งกันระหว่างพระสงฆ์ สามเณรก็แล้วแต่ ขณะที่ข้าวของในก๋วยทั้งของสดและของแห้งจะแจกจ่ายกันทังเด็กวัด ญาติโยม เด็ก ๆ จะตั้งตารอคอยเพื่อกินขนมในก๋วยสลาก

ดิฉันรู้สึกทึ่ง และนึกชื่นชมอยู่ในใจเป็นอย่างยิ่งกับภูมิปัญญาของคนโบราณที่คิดค้นการทำบุญสลากภัตรหรือตานก๋วยสลาก ที่สอดแทรกการสอนให้พุทธศาสนิกชนปล่อยวางการเลือกทำบุญกับเฉพาะพระที่ตนเคารพนับถือ อย่างน้อยในช่วงเวลาสั้น ๆ ของแต่ละปีที่ทุกคนจะตั้งอกตั้งใจตกแต่งก๋วยสลากของตนอย่างดีเพื่ออุทิศให้กับผู้ล่วงลับไป อีกทั้งต้องนำไปถวายกับพระสงฆ์ที่จับได้เส้นสลากโดยไม่เฉพาะเจาะจง นับเป็นความล้ำลึกที่สามารถสั่งสอนผู้คนโดยการปฏิบัติที่ดูจะได้ผลมากกว่าการเทศนาสั่งสอนหรือบอกกล่าวด้วยคำพูดมากมายนัก

 

เตือนใจ (กุญชร ณ อยุธยา) ดีเทศน์
Tuenjai_d@yahoo.com

บล็อกของ เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา

เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
“ไฟมาป่าเป่ง มดส้มเต้ง ผักหวานโป่ง” คือคำพังเพยที่พ่อกำนันอนันต์ ดวงแก้วเรือน ได้เล่าให้ฟังในที่ประชุมคณะทำงานภูมิภาคภาคเหนือ รางวัลลูกโลกสีเขียว เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2551 ที่บ้านธารแก้ว จังหวัดเชียงใหม่
ไฟคือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ซึ่งชาวเหนือและชาวอีสานผู้ใช้ชีวิตร่วมกับป่ามาช้านาน มีคำพังเพยว่า ช่วงฤดูแล้งต่อต้นฤดูฝนต้องเผาป่า เพื่อให้ไม้ผลิใบใหม่ มดแดงจะมีไข่เป้ง เม็ดใหญ่ เป็นอาหารโปรตีนชั้นดี แกงใส่ยอดผักหวาน ซึ่งจะแตกยอด(โป่ง) ในช่วงฤดูแล้งผักหวานไข่มดแดง(ภาษาเหนือเรียกมดส้ม)เห็ดเผาะ ภาพจาก www.siamensis.org
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
มันเทศย่างร้อน ๆ ปอกเปลือกแล้วเห็นเนื้อสีเหลืองทอง เนื้อนุ่ม รสหวานอ่อนๆละมุนลิ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่สาวชาวจีนประจำสถานทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง ชักชวนให้ดิฉันซื้อกิน พร้อมทั้งอธิบายว่า ชาวจีนเรียกมันเทศว่า “ลูกทอง” เพราะเนื้อในที่สุกแล้วเป็นสีเหลืองอร่ามเหมือนทองคำ ทั้งยังมีสรรพคุณทางยาเป็นเลิศ เช่น ช่วยให้ระบายท้องได้ดี ทำให้ร่างกายอบอุ่น ในช่วงฤดูหนาวเป็นฤดูของมันเทศ ชาวจีนจึงนิยมกินมันเทศย่างกันมาก เป็นความประทับใจของดิฉันในการไปประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรีอาเซียน Asia Pacific Forum of Parliamentarians on Population and Development (AFPPD) ในช่วงวันที่ 26 – 29 พฤศจิกายน…
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
คุณแอ๊ะ ชุติมา  นุ่นมัน นักข่าวสาวร่างใหญ่ผู้มีจิตใจละเอียดอ่อนงดงาม โทรศัพท์มาขอให้ครูแดงเขียนคำนิยมหนังสือของ สสส. (สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ) ซึ่งถ่ายทอดงาน 13 โครงการ อันก่อให้เกิดความสุขแก่สมาชิกในครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม “แต่ละตอนอยากให้คนอ่าน อ่านแล้วมีแรงบันดาลใจที่จะปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดความสุขในชีวิต ทั้งนี้หนทางที่จะนำไปสู่ความสุขนั้นเป็นวิถีพอเพียงที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้”  นี่คือปณิธานของคุณแอ๊ะ ชุติมา   นุ่นมัน ผู้เป็นทั้งผู้เขียนและบรรณาธิการที่ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล สัมภาษณ์ผู้ที่ดำเนินงานโครงการ นำความสุข 13 เรื่อง ในพื้นที่ทุกภาคของประเทศ…
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
ปลายเดือนตุลาเวียนมาหา               ฝนหายจากฟ้า อากาศเย็นใส เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวสบายใจ               ข้าวไร่เหลืองอร่ามงามตา ทุ่งนาเชิงเขาพริ้วไสว พี่น้องปกาเกอญอร่วมแรงใจ               เกี่ยวข้าวไร่ พร้อมพรัก สามัคคี พืชพันธุ์หลากหลายปลูกไว้               ในไร่ข้าวมีถั่ว พืช ผัก ทุกสิ่งศรี งา พริก มะเขือ แตง ผัก เผือก มัน สุดแสนดี               เกษตรอินทรีย์ไร้สารพิษ…
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
สัปดาห์นี้คุณเตือนใจติดภารกิจไม่สามารถเขียนเรื่องลงได้  จึงได้มอบหมายให้ดิฉันจันทราภา (นนทวาสี) จินดาทอง ถ่ายทอดอีกหนึ่งเรื่องราว ซึ่งสอดคล้องกับห้วงเวลาของเทศกาลเข้าพรรษา ความเรียบง่ายแต่งดงามของวิถีชีวิตคนในพื้นที่ห่างไกล เชิญติดตามอ่านค่ะตั้งแต่ตอนที่ยังท้องอยู่ ดิฉันและพ่อของลูกมีความคิดเห็นตรงกันในการอยากให้ลูกเป็นคนที่มีความใกล้ชิดกับพุทธศาสนา ดังนั้น ทุกวันพระเราจึงพากันเข้าวัด ตักบาตร ฟังเทศน์อย่างสม่ำเสมอ แต่พอคลอดน้องต้นหนาว ด้วยภาวะที่เพิ่งมีลูกคนแรก ทุกอย่างดูวุ่นวายไปหมด กิจวัตรการตักบาตรทุกวันพระจึงเป็นอันงดไปโดยปริยายกระทั่งต้นหนาวเติบโตขึ้นตามลำดับ จนอายุครบ 10…
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
ด้วยความประทับใจจากการไปศึกษาดูงานต่างประเทศหลายแห่ง เมื่อครั้งที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา ดิฉันจึงร้อยเรียงเล่าสู่ท่านผู้อ่านในคอลัมน์ “วิถีไทย” ในสยามรัฐรายวันเมื่อเริ่มแรก แล้วย้ายมาเป็นคอลัมน์ในสยามรัฐรายสัปดาห์ ด้วยความเมตตาของบรรณาธิการ และพี่ชัชวาล คงอุดมผู้อ่านหลายท่านกรุณาชี้แนะว่าน่าจะรวมเล่มสักครั้งซึ่ง คุณอาทร เตชะธาดา แห่งประพันธ์สาส์น ยินดีเป็นเจ้าภาพพิมพ์และจัดจำหน่าย  น้องน้ำหวาน (ปิยวรรณ  แก้วศรี)  ก็เห็นดีเห็นงามว่าจะรับเป็นบรรณาธิการและจัดรูปเล่มให้ เพื่อสร้างผลงานหนังสือในโอกาสที่ดิฉันมีอายุ 55 ปี ซึ่งหนังสือได้ช่วยกันตั้งหลายชื่อ เช่น “อนุสติบนบาทวิถีโลก”…
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
ยามปลายฝนต้นหนาว ช่วงเดือนตุลาคม ต้นปีบขาว (กาสะลองเงิน) กำลังออกดอกสีขาวบริสุทธิ์ กลิ่นหอมเย็นชื่นใจ ชวนให้คิดถึงการมาเยือนภาคเหนือเพื่อชื่นชมธรรมชาติและวิถีชีวิตที่สงบสุขของชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประชากรมากที่สุดในภาคเหนือ และสามารถรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างพอเพียงและเรียบง่าย ยิ่งเป็นชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากอิทธิพลสังคมเมือง เช่น อ.อุ้มผาง จ.ตาก จะยิ่งมีการสืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูกได้โดยไม่ขาดสายคุณแมว – จันทราภา (นนทวาสี) จินดาทอง มีเรื่อง “การสืบสานผ้าทอต่อจากแม่” มาฝากท่านผู้อ่าน เชิญติดตามค่ะเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม…
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
เมื่อ พ.ศ.2520 ดิฉันได้ดูหนังเรื่อง "แผลเก่า" ที่สร้างและกำกับโดย เชิด ทรงศรี ดิฉันชื่นชมมาก จนดูซ้ำถึง 3 ครั้ง ทุกครั้งก็ซาบซึ้ง สะเทือนใจ จนน้ำตาไหลพราก หลายฉาก หลายตอนต่อมาดิฉันได้มีโอกาสรู้จักกับพี่เชิด พี่จันทนา น้องไม้ไผ่ น้องผึ้ง และน้องแสงแดด โดยการแนะนำของกัลยาณมิตร ผู้มีคุณูปการต่อชีวิต คือ โย่ง สุจิตรา สุดเดียวไกร ทำให้ครอบครัวของเราทั้งสองผูกพันกันเหมือนญาติพี่เชิดกับคุณธนูชัย ดีเทศน์ เป็นเหมือนพี่น้องที่สื่อสารกันด้วยใจ พี่เชิดกับครอบครัวไปเยี่ยมเยือนมูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา ที่บนดอยแม่สลอง และเมื่อดิฉันมากรุงเทพ ฯ ก็มาพักที่บ้านพี่เชิดเป็นประจำหนังที่พี่เชิดสร้าง…