“ไฟมาป่าเป่ง มดส้มเต้ง ผักหวานโป่ง” คือคำพังเพยที่พ่อกำนันอนันต์ ดวงแก้วเรือน ได้เล่าให้ฟังในที่ประชุมคณะทำงานภูมิภาคภาคเหนือ รางวัลลูกโลกสีเขียว เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2551 ที่บ้านธารแก้ว จังหวัดเชียงใหม่
ไฟคือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ซึ่งชาวเหนือและชาวอีสานผู้ใช้ชีวิตร่วมกับป่ามาช้านาน มีคำพังเพยว่า ช่วงฤดูแล้งต่อต้นฤดูฝนต้องเผาป่า เพื่อให้ไม้ผลิใบใหม่ มดแดงจะมีไข่เป้ง เม็ดใหญ่ เป็นอาหารโปรตีนชั้นดี แกงใส่ยอดผักหวาน ซึ่งจะแตกยอด(โป่ง) ในช่วงฤดูแล้ง
ผักหวาน
ไข่มดแดง(ภาษาเหนือเรียกมดส้ม)
เห็ดเผาะ ภาพจาก www.siamensis.org
วิถีชีวิตซึ่งแปรเปลี่ยนตามฤดูกาลอย่างสงบสุขได้เปลี่ยนแปลงไป จากผลของการพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมบริโภคนิยม วัตถุนิยม
ในยุคโลกาภิวัตน์ พื้นที่ป่าถูกรุกด้วยวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ทั้งเพื่อการทำเกษตรปลูกพืชเชิงเดี่ยวส่งขายตลาดโลก ทำรีสอร์ท ทำสนามกอล์ฟ ทำถนน อ่างเก็บน้ำ ตามกระแสทุนนิยม ทำให้ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าไม้น้อยกว่า 20 % จากพื้นที่ 320 ล้านไร่ของทั้งประเทศ
การเผาซากพืชในไร่ นา การชิงเผาป่า การเผาเศษไม้ใบไม้ในฤดูแล้ง กลายเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายพยายามหาสาเหตุและแนวทางแก้ไข คุณสุพจน์ หลี่จา เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา จังหวัดเชียงราย ขอโอกาสให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะต่อผู้อ่านดังนี้ค่ะ
“ในสถานการณ์ปัจจุบัน ทุกคนทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหาสภาวะโลกร้อนในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป จึงร่วมมือกันหาทางป้องกันแก้ไข เพื่อลดปัญหาให้น้อยลง สื่อทุกแขนงต่างเสนอบทความและแนะแนวทางอย่างมีส่วนร่วม ภาวะโลกร้อนจึงเป็นปัญหาที่ผู้คนตระหนักถึงอันตรายที่จะตามมา หากไม่ได้รับการป้องกันแก้ไขโดยเร็ว
สำหรับประเทศไทยนั้น หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ภาวะโลกร้อนให้แก่ประชาชน รวมทั้งขอความร่วมมือในการลดปัญหาโลกร้อน เช่น เปิดปิดไฟเท่าที่จำเป็น การใช้พลังงานหารสอง เป็นต้น
ไฟไหม้ป่า ภาพจาก www.thaiwaterdirds.com
ไฟไหม้ป่าหรือที่ผู้คนเรียกกันว่าไฟป่า เป็นอีกหนึ่งสาเหตุแห่งการเกิดปัญหาภาวะโลกร้อน สิ่งที่น่าสนใจมื่อพูดถึงปัญหาไฟป่า ก็คือ การเอาไฟที่เกิดจากการเผาเศษวัชพืชในไร่ นา ของเกษตรกรรวมเข้าไปด้วย แต่ในมุมมองของชาวนา ชาวไร่ การกำจัดเศษวัชพืชด้วยการเผานั้น เป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านการเตรียมพื้นที่ทำกิน ลดปัญหาการใช้สารเคมีในการฆ่าแมลงศัตรูพืช
เนื่องจากช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ปี 2550 ที่ผ่านมา ได้เกิดวิกฤติการณ์ปัญหาหมอกควันไฟในพื้นที่ภาคเหนืออย่างรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่แม่ฮ่องสอน และน่าน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในท้องที่นั้น ๆ อีกทั้งยังส่งผลกระทบถึงสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว
การเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ไฟป่าในปี 2551 และป้องกันการเกิดวิกฤติมลพิษหมอกควันไฟในอากาศ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้จัดโครงการ 100 วันอันตราย ร่วมใจต้านภัยหมอกควันและไฟป่า เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 ณ ห้องประชุมเชียงรายคอนเวนชั่นฮอลล์ โรงแรมลิตเติ้ลดั๊ก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ได้รับจดหมายเชิญเข้าร่วมเวทีเสวนา เรื่องสถานการณ์หมอกควันพิษและไฟป่าในภาคเหนือ จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 จังหวัดเชียงราย
ในพิธีเปิดโครงการฯได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติคุณอนงวรรณ เทพสุทิน มาเป็นประธานกล่าวเปิดงานและมอบธงรณรงค์ต้านหมอกควันและไฟป่า เฉลิมพระเกียรติ ฯ ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทนจาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน
ประธานในพิธีเปิดงานโครงการฯมอบธงรณรงค์ต้านหมอกควันและไฟป่า เฉลิมพระเกียรติ ฯ
ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทนจาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน
คุณศรัณย์ ใสสะอาด ผู้อำนวยการสำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติและพันธุ์พืช กล่าวไว้ในเวทีเสวนา ว่าสาเหตุของการเกิดไฟป่ามี 2 สาเหตุหลัก คือ เกิดจากธรรมชาติและมนุษย์ ข้อมูลปี 2528 - 2542 มีไฟป่าเกิดขึ้น 77,000 ครั้ง เกิดจากธรรมชาติ 4 ครั้ง ที่ภูกระดึง,เขาใหญ่ ,ห้วยน้ำดัง และท่าแพะ
ในปี พ.ศ.2550 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2549 ถึง 30 กันยายน 2550 เกิดไฟป่าขึ้นประมาณ 7,700 กว่าครั้ง และในปี 2551ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2550 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2551 เกิดไฟป่าขึ้น 579 ครั้ง ข้อมูลทั้งหมดนี้มิได้กล่าวรวมถึงไฟที่เผาในไร่นาของเกษตรกรแต่อย่างใด
การเผาไฟในไร่นาของเกษตรกร มักทำในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคมของทุกปี รวมระยะเวลาประมาณ 4 เดือน ของการเตรียมพื้นที่ทำกินก่อนถึงฤดูกาลเพาะปลูก ควันไฟและความร้อนที่เกิดจากการเผาไฟในไร่ นา ซึ่งเกิดขึ้นในอาณาบริเวณที่มีการควบคุมเปลวไฟไม่ให้ลุกลาม เมื่อเศษวัชพืชที่กองรวมกันไว้ถูกไฟไหม้จนหมด ไม่นานไฟก็วอดดับไป สร้างความมั่นคงในชีวิตของเกษตรกรได้อย่างดีเพราะความมั่นคงทางอาหาร คือ ความมั่นคงของชีวิตมวลมนุษย์ แต่ควันไฟและความร้อนที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมและการคมนาคมของมนุษย์ที่เกิดขึ้นทุกวันและยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องอย่างไม่มีวันหยุด ตามกระแสการพัฒนาประเทศที่มุ่งสู่การเป็นสังคมบริโภคนิยม วัตถุนิยม ในยุคโลกาภิวัฒน์
แม้ว่าการเกิดไฟป่าจะมีสาเหตุหลักมาจากการกระทำของมนุษย์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดจากการกระทำของเกษตรกรชาวไร่ ชาวนา เสมอไป อาจจะเกิดจากนักท่องเที่ยว การเข้าป่าล่าสัตว์ หรือจากความคึกคนองของมนุษย์บางกลุ่ม เป็นต้น
ทุกครั้งที่มีไฟป่าเกิดขึ้น เกษตรกรมักจะเป็นแพะรับบาปของสังคมโดยปริยาย ถูกกล่าวหาว่าการจุดไฟเผาเศษวัชพืช คือ จุดเริ่มต้นของการเกิดไฟป่า สร้างปัญหาภาวะหมอกควัน ผมในฐานะที่ทำงานกับพี่น้องเกษตรกรมานานจึงใคร่ขอโอกาสให้เกษตรกรได้อธิบายถึงความจำเป็นในการจุดไฟในไร่ นา เนื่องจากเป็นวิถีชีวิตที่ถือปฏิบัติกันมานานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ และขอให้ช่วยเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วม มิใช่มองแต่ปัญหาและการกำหนดมาตรการบังคับเพราะมุมมองและความเข้าใจที่แตกต่างกัน
จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น ภาครัฐมักมองว่าปัญหาไฟป่าทำให้เกิดภาวะหมอกควัน ทำให้อากาศเป็นพิษ ประชาชนป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โรคตาอักเสบ การคมนาคมไม่สะดวก โดยเฉพาะเครื่องบิน ที่บินวันละหลายๆเที่ยวบิน ไม่สามารถบินได้ตามกำหนดเวลา จึงทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง
รัฐบาลจึงต้องออกมาตรการต่างๆเพื่อหาวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมองว่าสาเหตุของปัญหา คือ พี่น้องเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะเชียงราย พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำปาง ลำพูน แพร่และน่าน ล้วนถูกกล่าวหาว่าเป็นจังหวัดที่ก่อให้เกิดปัญหาไฟป่าและหมอกควันมากที่สุด โดยลืมคิดไปว่าทุกคนมีส่วนก่อให้เกิดปัญหานี้อย่างเท่าเทียมกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในชนบทหรือในสังคมเมือง
การดำเนินวิถีชีวิตในแต่ละวันของบุคคล ล้วนก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนและหมอกควัน เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ โรงงานอุตสาหกรรม และการเกษตร แต่รัฐกลับมองว่าสาเหตุหลักอยู่ที่เกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สูงตามจังหวัดดังที่กล่าวมา
มาตรการต่างๆที่ออกมาจึงเป็นการบังคับไม่ให้เกษตรกรปฏิบัติ เช่น ห้ามเผาเศษวัชพืชในไร่นา ห้ามเผาป่า หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกจับกุมและดำเนินคดีตามกฎหมาย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วิถีชีวิตของเกษตรกรเปลี่ยนไป ชาวบ้านบางคนแทบไม่กล้าทำอะไรเลย ไม่กล้าที่จะไปทำไร่ นา สวน ของตัวเอง เพราะเกรงว่าหากมีใครแกล้งจุดไฟในไร่นาของตน แล้วตนจะถูกจับทั้งที่ไม่ได้เป็นคนทำ
ไร่นาจึงรกร้าง เพราะชาวบ้านถางวัชพืชกองรวมกันไว้ เพื่อรอเผา เมื่อมีการประกาศห้ามเผา จึงต้องกองทิ้งไว้ ผู้คนเริ่มทยอยออกจากชุมชนไปหางานทำในเมือง หากใครได้งานทำก็โชคดีไป แต่ถ้าได้งานไม่ดีก็อาจมีปัญหาเกิดขึ้นอีก
ทางเลือกในการประกอบอาชีพในชุมชนนั้นมีไม่มาก เพราะอาชีพการเกษตรเป็นวิถีชีวิตเป็นวัฒนธรรม เป็นความมั่นคงของคนในชุมชน
ชุมชนได้เสนอทางออกไว้หลายทาง เพื่อแก้ปัญหาการเผาไฟในไร่นา เช่น การทำแนวกันไฟ เพื่อไม่ให้ไฟลุกลามไปในป่า เผาในขณะที่ลมไม่แรง และวัชพืชต้องตากแดดจนแห้งสนิทเพื่อให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ เป็นการลดปริมาณควันลง การขุดนา ไร่ ขั้นบันไดเพื่อทำการเกษตรตลอดปี จะได้ไม่มีวัชพืชมาก ลดการเผา ซึ่งเกษตรกรก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของสังคม ขอเพียงสังคมให้โอกาสในการเปลี่ยนแปลง ให้เวลาในการปรับตัว มิใช่การบังคับกันอย่างปัจจุบันทันด่วน ควรมีมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ระยะยาว โดยให้ชุมชนหรือเกษตรกรมีส่วนร่วมในการจัดการ จะเป็นทางเลือกให้เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง
ช่วงนี้ใกล้ถึงเวลาทำการเพาะปลูกของเกษตรกรแล้ว เป็นการเริ่มต้นของการมีชีวิตที่ดีในปีต่อไป จึงขอฝากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกส่วน โดยเร่งจัดมาตรการแก้ไขโดยด่วน ก่อนที่เกษตรกรจะไม่มีทางเลือกในการดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนอีกต่อไป
การแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น หากทุกคนดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาไฟป่า ภาวะโลกร้อนและหมอกควันได้ในที่สุด”