เมื่อ พ.ศ.2520 ดิฉันได้ดูหนังเรื่อง "แผลเก่า" ที่สร้างและกำกับโดย เชิด ทรงศรี ดิฉันชื่นชมมาก จนดูซ้ำถึง 3 ครั้ง ทุกครั้งก็ซาบซึ้ง สะเทือนใจ จนน้ำตาไหลพราก หลายฉาก หลายตอน
ต่อมาดิฉันได้มีโอกาสรู้จักกับพี่เชิด พี่จันทนา น้องไม้ไผ่ น้องผึ้ง และน้องแสงแดด โดยการแนะนำของกัลยาณมิตร ผู้มีคุณูปการต่อชีวิต คือ โย่ง สุจิตรา สุดเดียวไกร ทำให้ครอบครัวของเราทั้งสองผูกพันกันเหมือนญาติ
พี่เชิดกับคุณธนูชัย ดีเทศน์ เป็นเหมือนพี่น้องที่สื่อสารกันด้วยใจ พี่เชิดกับครอบครัวไปเยี่ยมเยือนมูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา ที่บนดอยแม่สลอง และเมื่อดิฉันมากรุงเทพ ฯ ก็มาพักที่บ้านพี่เชิดเป็นประจำ
หนังที่พี่เชิดสร้าง ดิฉันจะคอยติดตามดู ตั้งแต่พลอยทะเล ทวิภพ อำแดงเหมือนกับนายริด เรือนมยุรา และข้างหลังภาพ ทุกเรื่องมีความงามของวัฒนธรรมไทย ธรรมชาติ และหลักธรรมะ ดูครั้งใดก็ติดตาตรึงใจไปแสนนาน
เสียดายที่พี่เชิดจากไปในวัยที่ควรทำประโยชน์ต่อโลกได้อีกมาก แฟนหนังของพี่เชิดจึงรู้สึกอาลัยอาวรณ์ พยายามจัดกิจกรรมรำลึกถึง โดยจัดนิทรรศการชีวิตและผลงานของพี่เชิดที่บ้านเกิด คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 9 กันยายน 2549 ถึง 24 กันยายน 2550 รวมทั้งทอดกฐินส่งผลบุญไปให้
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน 2550 พี่จันทนา ทรงศรี ได้กรุณาชวนดิฉันไปงานเปิดตัวสัปดาห์ภาพยนตร์เชิด ทรงศรี ที่โรงหนังแกรนด์ อีจีวี สยามดิสคัฟเวอรี่ ชั้น 6 ซึ่งฉายภาพยนตร์เรื่องแผลเก่า เป็นประเดิม เวลา 19.00 น.
ดิฉันมาถึงก็พอดีได้เวลาฉายหนัง ไม่ทันได้ร่วมพิธีการเปิดตัวสัปดาห์หนังของพี่เชิด ทรงศรี ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม กับไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ร่วมจัดโดยหอภาพยนตร์แห่งชาติ สถานทูตฝรั่งเศส สมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ชมรมวิจารณ์บันเทิงและสมาคมผู้กำกับ
สามสิบปีที่ผ่านไป เมื่อได้ดูหนัง “แผลเก่า” อีกครั้งหนึ่ง คำขวัญคู่กับหนังที่พี่เชิดอยากสร้างที่สุด คือ “เราจักสำแดงความเป็นไทยต่อโลก” ยิ่งประจักษ์ชัดในใจของดิฉัน
ฉากแรกที่ยิ่งใหญ่ คือ ฉากเพลงเหย่อย ในพิธีไหว้แม่โพสพที่บ้านกำนันเรือง พ่อของเรียม ทำให้เห็นวัฒนธรรมของชนบทไทย ที่มีความกตัญญูต่อแม่โพสพที่ให้ชีวิตทุกเมื่อเชื่อวัน
ฉากที่ขวัญกับเรียมขี่ควายพาไปเลี้ยงในท้องทุ่ง ผ่านทุ่งนาและลำคลองที่อุดมสมบูรณ์ ฉากเรียมใช้สุ่มจับปลา ฉากรักกลางธรรมชาติ แสดงให้เห็นชีวิตที่สงบสุข เรียบง่าย ผูกพัน กับธรรมชาติของเกษตรกรในชนบทที่ทุ่งบางกะปิ
เมื่อเรียมถูกพ่อตี แล้วจับเรียมผูกโซ่ขังไว้ในยุ้งข้าว โดยแม่พยายามปกป้องลูกสาวที่รักดังดวงใจ แต่แม่กำลังน้อย สู้พ่อไม่ได้ เป็นฉากที่แสดงถึงการกดขี่ผู้หญิงอย่างไม่มีทางสู้ แม่จึงตรอมใจที่ลูกสาวถูกนำไปขายให้คุณนายที่กรุงเทพ ฯ เพื่อไถ่ถอนที่นา
เรียมเริ่มปรับตัวกับวิถีชีวิตคนกรุง ตามที่คุณนายซึ่งรักเรียมเหมือนลูกฝึกฝนให้ โดยหลานชายของคุณนายที่กลับจากต่างประเทศมาหลงรัก
แต่เมื่อรู้ข่าวว่าแม่ป่วย เรียมก็กลับมาสู่ทุ่งบางกะปิอีกครั้ง ภาพที่เรียมซุกหน้าแนบฝ่าเท้าของแม่ ด้วยความรัก ความห่วงใย ทำให้ดิฉันน้ำตาพรั่งพรู ในยุคสมัยนี้มีลูกกี่คนที่กราบเท้าแม่และถวิลหาที่จะปรนนิบัติแม่พ่อด้วยความกตัญญู
ศรินทิพย์ ศิริวรรณ กับ นันทนา เงากระจ่าง เล่นบทแม่ลูก ได้ซึ้งใจจริง ๆก่อนสิ้นลม แม่สอนลูกว่า ขอให้ลูกเลือกชีวิตด้วยตนเอง เลือกความรักแท้ อย่ายอมให้ใครบังคับใจ เพราะจะทุกข์ตลอดชีวิต เหมือนที่แม่ประสบอยู่
ส.อาสนจินดา แสดงเป็นพ่อของขวัญ ผู้รักลูกโทนคนเดียวที่กำพร้าแม่ตั้งแต่เล็ก โดยยอมทำทุกอย่างเพื่อลูก สายตาที่ทอดมองลูกด้วยความรัก ความห่วงใย ตรึงใจผู้ดูทุกคน
สรพงศ์ ชาตรี แสดงเป็นขวัญอย่างได้อารมณ์ สมเป็นพระเอกตุ๊กตาทองเจ้าบทบาทจริง ๆ
ในงานวันนี้สรพงศ์มากับภรรยาคู่ใจ (คุณดวงเดือน จิไธสงค์) ด้วยวัยห้าสิบปีกว่า ๆ สรพงศ์ยังดูสุขภาพดี ไม่มีริ้วรอยของกาลเวลาที่ผ่านไปเลย
เมื่อหนังจบลง เสียงปรบมือดังก้อง แสงไฟส่องสว่างทั่วโรง มองเห็นสีหน้าฉ่ำน้ำตาของผู้ดูทั้งหลาย คงทั้งประทับใจหนังแผลเก่า และระลึกถึงความดีของพี่เชิด ทรงศรี ที่ได้ประกาศศักดาของหนังไทย คว้ารางวัลชนะเลิศจากงานประกวดภาพยนตร์ ณ เมืองน็องต์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2524 และเป็นหนังที่ทำรายได้สูงสุด เมื่อเทียบกับหนังทุกเรื่องที่เคยฉายในประเทศไทย ณ พ.ศ.นั้น
หลังจากความสำเร็จของหนัง แผลเก่า ผลงานทุกเรื่องของพี่เชิด ทรงศรี มักได้รับเชิญไปฉายในงานมหกรรมภาพยนตร์นานาชาติ ทั้งในเอเชีย และประเทศตะวันตก
จึงถือได้ว่า เชิด ทรงศรี เป็นผู้กำกับชาวไทยที่สามารถนำธงไทยไปปักบนแผนที่ภาพยนตร์โลก ช่วงท้ายของสัปดาห์หนัง เชิด ทรงศรี วันที่ 28,29,30 กันยายน ยังมีฉายภาพยนตร์ดังนี้ ศุกร์ 28 กันยายน 19.00 น. พลอยทะเล เสาร์ 29 กันยายน 14.00 น. อำแดงเหมือนกับนายริด และอาทิตย์ 30 กันยายน 14.00 น. เพื่อนแพง
เชิญชื่นชมกับเรื่องย่อและโปสเตอร์หนังทั้งสามเรื่อง ได้ค่ะ
ดิฉันขอเสนอให้กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดให้นักเรียน นักศึกษา ได้มาดูหนังอมตะของพี่เชิด ทรงศรี ในช่วงต่อไป เพื่อปลุกให้เด็กไทยภูมิใจในรากเหง้าของตน ดังปณิธานที่พี่เชิด ทรงศรี ได้ตั้งไว้
ขอให้จิตวิญญาณของพี่เชิด ทรงศรี ผู้สร้างงานด้วยปัญญาและหัวใจ จงอยู่คู่กับวงการภาพยนตร์ไทยนิรันดร์กาล.