มันเทศย่างร้อน ๆ ปอกเปลือกแล้วเห็นเนื้อสีเหลืองทอง เนื้อนุ่ม รสหวานอ่อนๆละมุนลิ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่สาวชาวจีนประจำสถานทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง ชักชวนให้ดิฉันซื้อกิน พร้อมทั้งอธิบายว่า ชาวจีนเรียกมันเทศว่า “ลูกทอง” เพราะเนื้อในที่สุกแล้วเป็นสีเหลืองอร่ามเหมือนทองคำ ทั้งยังมีสรรพคุณทางยาเป็นเลิศ เช่น ช่วยให้ระบายท้องได้ดี ทำให้ร่างกายอบอุ่น ในช่วงฤดูหนาวเป็นฤดูของมันเทศ ชาวจีนจึงนิยมกินมันเทศย่างกันมาก เป็นความประทับใจของดิฉันในการไปประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรีอาเซียน Asia Pacific Forum of Parliamentarians on Population and Development (AFPPD) ในช่วงวันที่ 26 – 29 พฤศจิกายน 2550
แม้ประเทศจีนจะเปลี่ยนไปสู่ความทันสมัย หลังช่วงเปิดประเทศ นำโดยท่าน เติ้ง เสี่ยวผิง แต่ภูมิปัญญาด้านอาหารและสมุนไพรของจีน ยังดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งดิฉันจะเล่าให้ฟังในตอนต่อไป
ย้อนกลับมามองพฤติกรรมการกินอาหารของคนไทยยุคนี้ ดิฉันสังเกตว่าเราละเลยอาหารและสมุนไพรอันทรงคุณค่าของไทยไปมาก เช่น มันเทศ มันสำปะหลัง เผือก กล้วย ที่เคยทำกินที่บ้านหรือทำขาย ทั้ง ปิ้ง ต้ม แกง บวด เดี๋ยวนี้หายาก
ยุคนี้คนไทยหันมากินอาหารแบบฝรั่ง คือ นิยมกินขนมอบ จำพวกเค้ก คุกกี้ ไพน์ ซึ่งต้องนำเข้าเครื่องมือ อุปกรณ์ แป้งข้าวสาลี และเครื่องปรุงต่าง ๆ ทำให้เสียทั้งดุลการค้าและสูญเสียภูมิปัญญาอย่างนึกไม่ถึง
ในขณะที่ชนชาติพันธุ์ในชนบทห่างไกล ยังรักษาภูมิปัญญาด้านอาหารและสมุนไพรได้ดี ดังข้อเขียนของคุณแมว จันทราภา (นนทวาสี) จินดาทอง จากอุ้มผาง เชิญอ่านได้แล้วค่ะ
กระแสสังคมโลกโดยเฉพาะในซีกตะวันตก ที่ได้ชื่อว่ามีความเจริญทางวัตถุถึงขีดสุด วิทยาการความก้าวหน้าทางการแพทย์ การผลิตยาและเวชภัณฑ์ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้คนจำนวนมากเริ่มหันกลับมาสู่การดูแลสุขภาพตนเองด้วยวิธีทางธรรมชาติเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มคนค่อนข้างมีความรู้ที่กลับมาใส่ใจสุขภาพโดยอาศัยภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เคยมีอยู่มากมายในอดีต แต่ถูกหลงลืม ละทิ้งและถูกแทนที่ด้วยความเจริญทางการแพทย์แผนใหม่ที่พึ่งพายาซึ่งผ่านกระบวนการผลิตและสังเคราะห์ทางเคมี ทำให้เกิดผลข้างเคียงมากมาย
การดูแลสุขภาพที่ไม่ส่งผลต่อเนื่องกับร่างกายประการหนึ่ง คือ การใช้สมุนไพรในการป้องกันและรักษาโรค ซึ่งนับเป็นความโชคดีอย่างยิ่งของคนไทยที่มีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะกับการเจริญเติบโตของพรรณพืชที่มีคุณค่า ให้ประโยชน์ทางด้านเป็นยารักษาโรคหลากหลายชนิดและมีปริมาณมากมาย
วิถีชีวิตคนไทยในอดีต สมัยที่การแพทย์ยังไม่เจริญ โดยเฉพาะในสังคมชนบท รวมทั้งสังคมชนเผ่าจึงมีการพึ่งพาตัวเองในเรื่องการรักษาโรคสูงมาก ผู้คนในสมัยนั้นมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสมุนไพรแทบทุกคน
หมอยาสมุนไพรเป็นผู้มีบทบาทสูงในสังคม ได้รับการยกย่องเพราะนอกจากคุณสมบัติที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ยาอย่างเชี่ยวชาญแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรมในการรักษาผู้คนที่เจ็บไข้ได้ป่วย การจะฝึกฝนตนเองให้ชำนาญในการใช้สมุนไพรต้องฝากเนื้อฝากตัวกับหมอยาสมุนไพร เรียนรู้ด้วยความอดทน พากเพียรพยายามอยู่นาน เนื่องจากการศึกษาในสมัยก่อนมักเป็นลักษณะปากต่อปาก ไม่ได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ความรู้เรื่องสมุนไพรหลายเรื่องจึงสูญหายไปกับกาลเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรายาลึกลับหลายอย่างที่มีสูตรเฉพาะ ที่เรียกกันว่า “ยาผีบอก”
ต่อมาเมื่อวงการแพทย์ของไทย ได้รับอิทธิพลมาจากชาติตะวันตก การรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ได้ป่วยและดูแลสุขภาพยามปกติ ถูกยกให้เป็นภาระของหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีบริการตั้งแต่ระดับหมู่บ้านที่มี อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) ประจำอยู่เพื่อทำหน้าที่สำรวจข้อมูลสาธารณสุข ป้องกันโรค เช่น ไข้เลือดออกโดยกำจัดยุงลาย ให้ไอโอดีนป้องกันโรคคอพอกและดูแลอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้น ระดับตำบลมีสถานีอนามัยประจำตำบล คอยดูแลความเจ็บไข้ที่ไม่รุนแรงมากนัก กรณีที่อาการค่อนข้างหนักจะส่งต่อไปยัง โรงพยาบาลประจำอำเภอและจังหวัดเป็นลำดับไป
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำสถานีอนามัยตำบลแม่จัน ที่ดูแลครอบคลุมบ้านทีจอชีซึ่งเป็นหมู่บ้านนำร่องของโครงการฟื้นฟูภูมิปัญญาปกาเกอญอในผืนป่าอุ้มผาง ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ให้บริการซึ่งเป็นชาวปกาเกอญอทั้งหมดว่า โรคภัยไข้เจ็บที่มีสาเหตุมาจากความอ้วน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต ไม่ปรากฏในชุมชน รวมทั้งโรคมะเร็ง ทั้งนี้มาจากอาหารการกินที่โดยมากชาวบ้านจะบริโภคอาหารจากธรรมชาติ กินตามฤดูกาล และมักจะเป็นอาหารจำพวกพืชผักพื้นบ้านมากกว่าเนื้อสัตว์ ประกอบกับการใช้ชีวิตที่ไม่หยุดนิ่ง ทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำ โดยเฉพาะงานในไร่ในนาที่อาศัยแรงงาน จึงทำให้คนปกาเกอญอแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วยกระเสาะกระแสะ โรคที่พบมากมักมาจากยุงเป็นพาหะ เช่น มาเลเรีย ไข้เลือดออก รวมทั้งโรคผิวหนัง ผื่นคันต่าง ๆ
ในพื้นที่ตำบลแม่จันยังพบลักษณะเฉพาะที่พิเศษแตกต่างไปจากปกาเกอญอหลายพื้นที่ คือ ประมาณปี พ.ศ. 2513 มีการเข้ามาตั้งฐานที่มั่นของ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ที่บ้านแม่จันทะ แผ่ขยายแนวคิดมายังหมู่บ้านรอบ ๆ สมัยนั้นตำบลแม่จันถูกระบุเป็นพื้นที่สีแดง นอกจากระบบแนวคิด การทำนารวม การต่อต้านรัฐบาล พคท. ยังฝึกให้ชาวปกาเกอญอให้สามารถดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยของตนเองและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ แกนนำในหมู่บ้านทีจอชี 2-3 คนที่เข้าร่วมเป็นแนวร่วมหรือเป็นสหายครั้งนั้น สามารถใช้การฝังเข็มรักษาพยาบาลผู้ป่วยได้
จากการเก็บข้อมูลงานสมุนไพรของหมู่บ้านนำร่อง พบการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอยู่ที่กลุ่มผู้ใช้สมุนไพรในการรักษาโรค มักเป็นผู้ที่มีอายุเลยวัยกลางคนขึ้นไป ส่วนคนวัยหนุ่มสาวลงมามักใช้ยาเคมีและการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบัน แต่เกือบทุกคนมีความรู้พื้นฐานง่าย ๆ ว่า สมุนไพรชนิดใดมีสรรพคุณอย่างไรในการรักษา ความรู้เรื่องอาหารการกินที่ส่งผลดีต่อสุขภาพหรือใช้ในการรักษา ถูกบอกกล่าวต่อ ๆ กันมา เช่น ในแต่ละปี ชาวบ้านจะต้องกินปลาไหลต้มกับมะเฟืองอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เพื่อขับนิ่วที่อาจเกาะอยู่ในไต
ส่วนของบุคคลที่มีความรู้เรื่องสมุนไพรในชุมชน โดยมากจะเป็นคนอายุเกิน 30 ปีขึ้นไป ซึ่งจะทราบชื่อภาษาปกาเกอญอ ส่วนที่ใช้ วิธีการใช้ สรรพคุณและสามารถปรุงยาจากสมุนไพรรักษาโรคที่พบบ่อย ๆ มีอาการไม่รุนแรงได้ รวมทั้งทราบแหล่งที่พบพืชสมุนไพรในป่ารอบ ๆ หมู่บ้าน แต่ในจำนวนผู้รู้ทั้งหมดของบ้านทีจอชี ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญถึงขั้นเป็นหมอยาสมุนไพรรักษาทุกโรคประจำหมู่บ้าน แกนนำอาวุโสบอกว่า หมอยาสมุนไพรที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่บ้านกล้อทอ (ห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร)
กิจกรรมการสำรวจสมุนไพรจากผืนป่ารอบหมู่บ้านทีจอชี จึงประกอบไปด้วยผู้รู้เรื่องสมุนไพร แกนนำชาวบ้าน และตัวแทนเยาวชน เน้นการค้นหาพืชสมุนไพรที่ยังคงมีการใช้และหายาก เพื่อนำมาทดลองเพาะในแปลงทดลอง ระหว่างการเดินสำรวจ ผู้รู้เรื่องสมุนไพรจะคอยอธิบายชื่อ ส่วนที่ใช้ และสรรพคุณให้กับเยาวชนที่ทำหน้าที่จดบันทึก มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันภายในทีมสำรวจ รวมทั้งสาธิตการใช้สมุนไพรจริง เช่น เครือจอลอดิเดอ มีลักษณะเป็นเถาวัลย์ ที่เมื่อตัดเป็นท่อน จะมีน้ำสะอาดใช้ล้างตา หยอดแก้ตาเจ็บตาอักเสบได้ จุดอ่อนของการสำรวจครั้งนี้ คือ ชาวบ้านรู้จักแต่ชื่อภาษาปกาเกอญอของสมุนไพร จึงวางแผนสืบเสาะหาหนังสือพืชสมุนไพร แล้วนำมาเปรียบเทียบชื่อและสรรพคุณที่รู้จักกันทั่วไปในภายหลัง
จากการสำรวจและนำตัวอย่างสมุนไพรชนิดที่หายากมาทดลองเพาะในแปลง เพื่อใช้ดูแลรักษาคนในชุมชนยามเจ็บป่วยเบื้องต้นได้แล้ว พบว่า ยังมีพื้นที่เหลืออีกเป็นจำนวนมาก จึงมีการหารือกัน แกนนำที่เคยเป็นสหาย รับอาสาที่จะติดต่อประสานกับอดีตสหายที่เคยเข้าป่าด้วยกัน ปัจจุบันเจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรในจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อขอคำปรึกษา หากชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันปลูกสมุนไพรเพื่อจำหน่าย สหายจากเพชรบูรณ์เห็นด้วย พร้อมทั้งแนะนำให้ปลูกพืชที่ให้น้ำมัน เช่น ตะไคร้หอม มิ้น และสนับสนุนโดยการให้เครื่องมือสำหรับการกลั่นเอาน้ำมันจากพืชสมุนไพร อันเป็นการเพิ่มมูลค่ามากกว่าการจำหน่ายพืชสด ๆ
การรวมกลุ่มเพื่อทดลองทำธุรกิจชุมชนเล็ก ๆ มุ่งเน้นไปที่กลุ่มเยาวชนของหมู่บ้านเพราะแกนนำต่างมีความเห็นพ้องต้องกันว่า หากส่งเสริมให้เยาวชนนรุ่นหนุ่มสาวสามารถสร้างรายได้เพียงพอกับการใช้จ่าย จะทำให้พวกเขาไม่ต้องดิ้นรนออกจากหมู่บ้านเข้าทำงานในเมืองใหญ่และกลายเป็นแรงงานราคาถูก หารายได้ไม่พอใช้จนสร้างปัญหาต่าง ๆ เช่น อาชญากรรม ยาเสพติดให้กับสังคม ส่วนในฤดูกาลผลิต ชุมชนก็จะได้ไม่ขาดแคลนแรงงานของคนหนุ่มสาวเหมือนกับชุมชนชนบทของคนพื้นราบหลายแห่งในปัจจุบัน
ชาวบ้านทีจอชีที่รวมกลุ่มกัน เริ่มต้นทำธุรกิจชุมชนวางแผนจะพัฒนาคุณภาพ ความหลากหลายของสมุนไพรและรูปแบบผลิตภัณฑ์ ให้สามารถเป็นงานที่มั่นคง รายได้นอกฤดูกาลผลิตอย่างเพียงพอ เพราะมีความเชื่อว่า หากคนในครอบครัวปกาเกอญออยู่ร่วมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ไม่ว่าจะพานพบกับอุปสรรคใด ๆ ทุกคนจะช่วยกันฟันฝ่าจนสามารถผ่านพ้นไปได้ และเมื่อครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ชุมชนรวมถึงสังคมที่อยู่รายรอบก็จะมีความสงบและศานติสุขไปด้วยเช่นกัน
...