Skip to main content

ปลายเดือนตุลาเวียนมาหา               ฝนหายจากฟ้า อากาศเย็นใส
เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวสบายใจ               ข้าวไร่เหลืองอร่ามงามตา
ทุ่งนาเชิงเขาพริ้วไสว พี่น้องปกาเกอญอร่วมแรงใจ               เกี่ยวข้าวไร่ พร้อมพรัก สามัคคี
พืชพันธุ์หลากหลายปลูกไว้               ในไร่ข้าวมีถั่ว พืช ผัก ทุกสิ่งศรี
งา พริก มะเขือ แตง ผัก เผือก มัน สุดแสนดี               เกษตรอินทรีย์ไร้สารพิษ คนปลอดภัย
วันนี้คณะกรรมาธิการจากสภา ฯ               จะมาฟังความเห็นอย่างถ้วนถี่
 “ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. .........” น่ายินดี               คุ้มครองพื้นที่ลาดชันเสี่ยงพังทลาย
พื้นที่ใช้สารเคมีเกิดปนเปื้อน               ไม่แชเชือนประกาศควบคุมไว้ให้ได้
ผู้กระทำความเสียหายต้องชดใช้               พื้นสภาพดินให้กลับเหมือนเดิม
ชาวปกาเกอญอแม่ฮ่องสอน               ใจรุมร้อน นอนไม่หลับทุกข์เหลือที่
ไร่หมุนเวียนทำกันมานับร้อยปี               กฎหมายนี้จะเอาผิดเราหรือไร
ที่โรงแรมอิมพีเรียล ธารา               บ่ายวันศุกร์ ชาวบ้านรุกคณะกรรมาธิการตอบให้ได้
แม่ฮ่องสอนเป็นป่าดอยทุกแห่งไป               ตั้งหมู่บ้าน นา สวน ไร่ ผิดทั้งเพ
หากรัฐมุ่งแต่กฎหมาย               ทุก ๆ วัน จับชาวบ้านได้ไม่มีที่หนี
งานวิจัยภูมิปัญญาชาวบ้านยืนยันได้ดี               ไร่หมุนเวียนถูกวิธีป่าฟื้นเร็ว
ตัดต้นไม้สูงถึงเอว รากไม่ตาย               ใช้ปีเดียวก็ย้าย เวียนไปอีกที่
ปลูกพืชผสมในไร่ข้าวบรรดามี               สุขภาพดี พันธุ์พื้นเมือง เพียบโภชนา
สารเคมีไม่ใช้ ดินไม่เสีย               ลูกไม้มียั้วเยี้ย ขึ้นทึบแน่น
เก้ง หมูป่าชอบมาอยู่ในเขตแดน               สุขใจแสน ไร่หมุนเวียน นิรันดร์กาล

เขียนกลอนพาไปได้หลายย่อหน้าด้วยความประทับใจในการเดินทางไปฟังความเห็นประชาชนของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. ........” ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยนายอดิศักดิ์  ศรีสรรพกิจ ประธาน  พลเอกสุรินทร์  พิกุลทอง รองประธานฯ นายโสภณ ชมชาญ ผู้เชี่ยวชาญอดีตข้าราชการกรมพัฒนาที่ดิน และดิฉัน รวมเป็นกรรมาธิการ 4 คน

คุณบุญยืน คงเพชรศักดิ์ ประธาน กป.อพช. (คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน) ภาคเหนือ กรุณาประสานงานให้มีเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนต่อสาระของ “ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. ....” และพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง กรุณาประสานกับนายไชยา  ประหยัดทรัพย์ นายกอบต.ห้วยปูลิง อ.เมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อพาคณะกรรมาธิการไปดูพื้นที่ไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นระบบเกษตรจากภูมิปัญญาที่สั่งสมมากว่าร้อยปีของชาวปกาเกอญอ

คณะกรรมาธิการเดินทางจากกรุงเทพฯ เช้าวันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม 2550 ต่อเครื่องบินการบินไทยจากชียงใหม่ไปแม่ฮ่องสอน เวลา 10.05 น. ผ่านเทือกเขาสลับซับซ้อนที่ปกคลุมด้วยผืนป่าเขียวขจี ใช้เวลาแค่ 25 นาทีก็ถึงแม่ฮ่องสอน

ช่วงเวลารับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน ตัวแทนชาวบ้าน และ องค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือแสดงความห่วงใยว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนปกคลุมภูเขาและป่าไม้จำนวน90% ที่อยู่และที่ทำกินของชาวบ้านจึงถือว่าอยู่ในเขตอนุรักษ์ทั้งป่าสงวน อุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตต้นน้ำทั้งนั้น หากเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ชาวบ้านก็ถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายได้ทุกวัน

ประชากรแม่ฮ่องสอนประกอบด้วยคนเชื้อสายไทยใหญ่ และชนชาติพันธุ์ ซึ่งชาวปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) มีมากที่สุด มีวิถีชีวิตแบบพอเพียง พึ่งตัวเองทำการเกษตรแบบยังชีพ ที่เหลือจึงขาย อยู่ห่างไกลการคมนาคม การติดต่อสื่อสารทำได้ยาก ผู้คนจึงรักษาธรรมชาติและดำรงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไว้ได้ดี เป็นจุดแข็งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาสู่จังหวัด

1

แนวทางที่ชุมชนชนชาติพันธุ์อนุรักษ์ธรรมชาติ คือ ใช้พิธีบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำเพื่อรักษาป่าและพันธุ์ปลา กำหนดเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จัดระบบควบคุมไฟป่า ทำแนวกันไฟรอบที่ทำกิน รอบหมู่บ้าน เพื่อไม่ให้ไฟไหม้ลุกลาม ใช้มาตรการบังคับทางสังคม ไม่พูด ไม่ร่วมกิจกรรมกับคนทำผิดกฎกติกา รวมทั้ง อบต.เข้ามาหนุนช่วยโดยสร้างข้อบัญญัติท้องถิ่น จัดเวทีปรึกษาหารือ สร้างเครือข่ายอนุรักษ์ส่งเสริมอาชีพที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ เช่นการเลี้ยงวัว ควาย การทอผ้าสีธรรมชาติ การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์

ผืนป่าที่ตำบลห้วยปูลิงจึงสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าหายากมาอยู่อาศัย เช่น ช้างป่า นกเงือก เลียงผา

ผู้เสนอความเห็นทุกคนพูดตรงกันว่าระบบไร่หมุนเวียนทำมากว่า 200 ปี แล้วมีหลักฐานยืนยันงานวิจัยของ ดร.อานันท์  กาญจนพันธุ์ (ซึ่งนายเดโช ไชยทัพ ได้มอบให้ประธานกรรมาธิการนำมาใช้อ้างอิง) ขอให้ระบุในกฎหมายว่าหากชุมชนทำเกษตรแบบไร่เวียน ซึ่งพิสูจน์ได้ มีมาตรการอนุรักษ์ ไม่ก่อปัญหาดินเสื่อม การชะล้างพังทลาย ทั้งยังช่วยฟื้นสภาพป่าให้สมบูรณ์ได้โดยเร็ว ถือว่าไม่เป็นพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้คุ้มครองตามพระราชบัญญัติที่ดิน

ที่ประชุมเสนอให้กฎหมายเข้มงวดกับการใช้พื้นที่แปลงใหญ่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยขาดมาตรการการอนุรักษ์ ซึ่งมักมีนายทุนหรือบริษัทยักษ์ใหญ่สนับสนุนทำให้ดินเสื่อมโทรม ชะล้างพังทลาย จนเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย

ส่วนการใช้สารเคมีจนเกิดปัญหาการปนเปื้อน กลายเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม รัฐควรคุมที่ต้นเหตุ คือ การควบคุมการนำเข้า การขายและการใช้สารเคมีให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ไม่ควรเข้มงวดกับเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นปลายเหตุ

ข้อเสนอในมาตราที่ว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารของกระทรวง กรม ที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิแค่ 3 คน ที่ประชาชนเสนอให้มีตัวแทนภาคประชาชนเพิ่มขึ้นทั้งระดับชาติ และระดับจังหวัด

เมื่อได้เข้าไปศึกษาความเป็นจริงที่ตำบลห้วยปูลิง คณะกรรมาธิการได้ฟังข้อมูลจากนายก อบต. ห้วยปูลิง นายไชยา ประหยัดทรัพย์ ว่า ชาวปกาเกอญอบ้านหนองขาว  ซึ่งประสบความสำเร็จด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทั้งหมู่บ้าน ทำ HOME STAY มีระบบคัดเลือกผู้มาเยือนโดยนักท่องเที่ยวต้องแสดงความจำนงล่วงหน้าว่าสนใจด้านไหน ถ้าต้องการมาลองยาเสพติด หรือสนใจในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางของหมู่บ้าน ก็จะไม่รับ ในฤดูเกษตร นักท่องเที่ยวจะได้ไปร่วมปลูกข้าว ลงนาเกี่ยวข้าวด้วย เป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริงโดยตรง

2

ที่แปลงไร่หมุนเวียนของหมู่บ้านห้วยฮี้  นายก อบต. และผู้ใหญ่บ้านชี้ให้ดูของจริงว่าไร่หมุนเว้นไว้ ฟื้นสภาพป่าให้อุดมสมบูรณ์ได้เร็ว เพราะต้นใหม่จะแตกขึ้นมารองต้นเดิม ที่ถูกตัดสูงราวเอว เมื่อต้นเดิมผุพังไป ต้นไม้ก็งอกงามขึ้นมาทดแทน

ในไร่ข้าวปลูกพืชผสมผสานถึง 40 อย่าง เช่น ต้นกระเจี๊ยบแดง ที่เอามาต้มเป็นน้ำกระเจี๊ยบเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ กำลังออกดอกสีนวลใส งากำลังออกดอกขาว และติดฝัก  แตงลูกเล็ก ๆ เท่าลูกฝรั่งกำลังสุก  มันพื้นเมืองหัวฝังอยู่ใต้ดิน เถาเลื้อยขึ้นไต่ตอไม้ มันสำปะหลัง พริกกำลังสุกเป็นสีเหลือง ส้ม แดง บวบลูกเล็ก ฟักทอง ผักอีหลืน (คล้ายกะเพรา) ถั่วฝักสั้น ถั่วแปป ฯลฯ  สารพัดอย่างเรียกชื่อไม่ถูก

3

เมื่อศึกษาไร่หมุนเวียนเข้าใจดีแล้ว ก็มาทานข้าวกลางวันที่บ้านของรองนายกอบต. (นายทองเปลว  ทวิชากรสีทอง) กลุ่มหญิงแม่เรือนนุ่งซิ่นกับเสื้อที่ทอเองสีสวยสด ช่วยกันยกอาหารมาให้ มีน้ำพริกกะเหรี่ยง ข้าวเบ๊อะ (ข้าวเคี่ยวจนเปื่อยใส่ผักชนิดต่าง ๆ กับเนื้อไก่หรือเนื้อหมู) ผัดผักรวมหลายชนิด ลาบหมูหมกไฟ กินกับข้าวไร่ห่อใบตอง อร่อยจนลืมอิ่ม เสียดายที่เป็นข้าวขาว ไม่ใช่ข้าวไร่ที่ตำครกกระเดื่อง ซึ่งจะมีรสชาดดีกว่า

ภาชนะใส่น้ำชาทำจากกระบอกไม้ไผ่เหลาให้หมดเสี้ยน กลิ่นไม้ไผ่ทำให้รสน้ำชาหอมชื่นใจมากขึ้น

4

ภรรยาผู้ใหญ่บ้านมอบเสื้อทอที่ย้อมสีธรรมชาติให้ดิฉัน 1 ตัว ส่วนผู้ใหญ่บ้านมอบให้พลเอกสุรินทร์  พิกุลทอง ในฐานะที่ได้มาช่วยแก้ปัญหาที่ดินป่าไม้ในนามกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นที่ประทับใจทั้งผู้ให้และผู้รับ

ชาวบ้านชวนไปที่โบสถ์คริสต์ เพื่อรับฟังความเห็นต่อ “ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. .........” อีกครั้ง มีทั้งพ่อเฒ่า แม่เฒ่า พ่อเรือน แม่เรือน เด็กและวัยรุ่นพากันมาเต็มห้องได้เสนอให้คณะกรรมาธิการเพิ่มเนื้อหาของกฎหมายให้คุ้มครองระบบไร่หมุนเวียน และวิถีชีวิตที่อนุรักษ์ธรรมชาติเพื่อชาวบ้านจะได้หมดห่วงกังวล และนอนหลับได้ทุกคืน

5

คณะเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดิน โดยหัวหน้าสถานีพัฒนาที่ดิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน คือนายถาวร  มีชัย ผู้อำนวยการเขต 6 คือ นายสวัสดี บุญชี และผู้แทนจากส่วนกลาง ได้นำคณะกรรมาธิการ ฯ ไปดูโครงการนำร่องพัฒนาที่ดินตามแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงที่บ้านดอยคู ตำบลนาปู่ป้อม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม 2550 จุดแรกดูระบบวิธีพืช คือปลูกหญ้าแฝกเพื่อชะลอการชะล้างดิน โดยปลูกเป็นแถบตามแนวระดับ และใช้ระบบน้ำฉีดกระจายทั่วพื้นที่เจ้าของแปลงปลูกกระเทียม สลับกับถั่วเหลือง มีรายได้ดี โดยต้องคอยดูแลให้แถวหญ้าแฝกอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ให้น้ำสม่ำเสมอ และปลูกซ่อมให้มีความถี่พอเหมาะไม่เปิดช่องให้น้ำเซาะ ชะล้างหน้าดินได้

อีกจุดหนึ่งเป็นแปลงปลูกปอเทือง และถั่วพร้า เพื่อบำรุงดิน ปกคลุมดิน และเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ขาย ร่วมกับวิธีขุดร่องน้ำรอบแนวภูเขาเป็นช่วง ๆ เพื่อชะลอความแรงของน้ำฝน และเพื่อกักตะกอนดิน โดยจ้างแรงงานชาวบ้านเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ และสั่งสมความเข้าใจมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำผ่านการลงมือทำงานโดยตรง

ปอเทืองทั้งแปลงใหญ่กำลังออกดอก ดอกกำลังทยอยบานเป็นสีเหลืองรับกับสีของท้องฟ้า หัวหน้านิพนธ์  ชัยอนันต์ เล่าว่า เวลาดอกบานเต็มทุ่งจะสวยไม่แพ้ทุ่งบัวตอง นักท่องเที่ยวชอบมาถ่ายรูป ส่วนถั่วพร้ำแตกพุ่มงามทั้งแปลง กำลังออกช่อดอกสีม่วง สวยไปอีกแบบ

พระราชบัญญัติพัฒนาที่ดินฉบับนี้มีหลักการมุ่งให้กรมพัฒนาที่ดินเป็นผู้รับผิดชอบให้การพัฒนาที่ดิน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดโดยใช้มาตรการด้านกฎหมายเสริมการปฏิบัติงานด้านวิชาการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และเป็นการคุ้มครองประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการใช้ที่ดิน โดยกำหนดการวางแผนการใช้ที่ดิน และกำหนดบริเวณการใช้ที่ดินตามความเหมาะสมของที่ดิน และจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการชะล้างพังทลายและดินถล่มในที่มีผู้ครอบครองได้

ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกรรมาธิการวิสามัญ ดิฉันชื่นชมในเจตนารมณ์ของร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. ........ ขอให้พระราชบัญญัตินี้ได้รับการสนับสนุนจากสนช. และประชาชน ให้ผ่านวาระ 1-2-3 ได้โดยสะดวก เพื่อพัฒนาที่ดินและทรัพยากรน้ำ ป่า ให้คืนสู่ความสมบูรณ์ และสมดุลโดยเร็ว

บล็อกของ เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา

เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
“ไฟมาป่าเป่ง มดส้มเต้ง ผักหวานโป่ง” คือคำพังเพยที่พ่อกำนันอนันต์ ดวงแก้วเรือน ได้เล่าให้ฟังในที่ประชุมคณะทำงานภูมิภาคภาคเหนือ รางวัลลูกโลกสีเขียว เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2551 ที่บ้านธารแก้ว จังหวัดเชียงใหม่
ไฟคือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ซึ่งชาวเหนือและชาวอีสานผู้ใช้ชีวิตร่วมกับป่ามาช้านาน มีคำพังเพยว่า ช่วงฤดูแล้งต่อต้นฤดูฝนต้องเผาป่า เพื่อให้ไม้ผลิใบใหม่ มดแดงจะมีไข่เป้ง เม็ดใหญ่ เป็นอาหารโปรตีนชั้นดี แกงใส่ยอดผักหวาน ซึ่งจะแตกยอด(โป่ง) ในช่วงฤดูแล้งผักหวานไข่มดแดง(ภาษาเหนือเรียกมดส้ม)เห็ดเผาะ ภาพจาก www.siamensis.org
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
มันเทศย่างร้อน ๆ ปอกเปลือกแล้วเห็นเนื้อสีเหลืองทอง เนื้อนุ่ม รสหวานอ่อนๆละมุนลิ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่สาวชาวจีนประจำสถานทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง ชักชวนให้ดิฉันซื้อกิน พร้อมทั้งอธิบายว่า ชาวจีนเรียกมันเทศว่า “ลูกทอง” เพราะเนื้อในที่สุกแล้วเป็นสีเหลืองอร่ามเหมือนทองคำ ทั้งยังมีสรรพคุณทางยาเป็นเลิศ เช่น ช่วยให้ระบายท้องได้ดี ทำให้ร่างกายอบอุ่น ในช่วงฤดูหนาวเป็นฤดูของมันเทศ ชาวจีนจึงนิยมกินมันเทศย่างกันมาก เป็นความประทับใจของดิฉันในการไปประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรีอาเซียน Asia Pacific Forum of Parliamentarians on Population and Development (AFPPD) ในช่วงวันที่ 26 – 29 พฤศจิกายน…
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
คุณแอ๊ะ ชุติมา  นุ่นมัน นักข่าวสาวร่างใหญ่ผู้มีจิตใจละเอียดอ่อนงดงาม โทรศัพท์มาขอให้ครูแดงเขียนคำนิยมหนังสือของ สสส. (สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ) ซึ่งถ่ายทอดงาน 13 โครงการ อันก่อให้เกิดความสุขแก่สมาชิกในครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม “แต่ละตอนอยากให้คนอ่าน อ่านแล้วมีแรงบันดาลใจที่จะปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดความสุขในชีวิต ทั้งนี้หนทางที่จะนำไปสู่ความสุขนั้นเป็นวิถีพอเพียงที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้”  นี่คือปณิธานของคุณแอ๊ะ ชุติมา   นุ่นมัน ผู้เป็นทั้งผู้เขียนและบรรณาธิการที่ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล สัมภาษณ์ผู้ที่ดำเนินงานโครงการ นำความสุข 13 เรื่อง ในพื้นที่ทุกภาคของประเทศ…
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
ปลายเดือนตุลาเวียนมาหา               ฝนหายจากฟ้า อากาศเย็นใส เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวสบายใจ               ข้าวไร่เหลืองอร่ามงามตา ทุ่งนาเชิงเขาพริ้วไสว พี่น้องปกาเกอญอร่วมแรงใจ               เกี่ยวข้าวไร่ พร้อมพรัก สามัคคี พืชพันธุ์หลากหลายปลูกไว้               ในไร่ข้าวมีถั่ว พืช ผัก ทุกสิ่งศรี งา พริก มะเขือ แตง ผัก เผือก มัน สุดแสนดี               เกษตรอินทรีย์ไร้สารพิษ…
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
สัปดาห์นี้คุณเตือนใจติดภารกิจไม่สามารถเขียนเรื่องลงได้  จึงได้มอบหมายให้ดิฉันจันทราภา (นนทวาสี) จินดาทอง ถ่ายทอดอีกหนึ่งเรื่องราว ซึ่งสอดคล้องกับห้วงเวลาของเทศกาลเข้าพรรษา ความเรียบง่ายแต่งดงามของวิถีชีวิตคนในพื้นที่ห่างไกล เชิญติดตามอ่านค่ะตั้งแต่ตอนที่ยังท้องอยู่ ดิฉันและพ่อของลูกมีความคิดเห็นตรงกันในการอยากให้ลูกเป็นคนที่มีความใกล้ชิดกับพุทธศาสนา ดังนั้น ทุกวันพระเราจึงพากันเข้าวัด ตักบาตร ฟังเทศน์อย่างสม่ำเสมอ แต่พอคลอดน้องต้นหนาว ด้วยภาวะที่เพิ่งมีลูกคนแรก ทุกอย่างดูวุ่นวายไปหมด กิจวัตรการตักบาตรทุกวันพระจึงเป็นอันงดไปโดยปริยายกระทั่งต้นหนาวเติบโตขึ้นตามลำดับ จนอายุครบ 10…
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
ด้วยความประทับใจจากการไปศึกษาดูงานต่างประเทศหลายแห่ง เมื่อครั้งที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา ดิฉันจึงร้อยเรียงเล่าสู่ท่านผู้อ่านในคอลัมน์ “วิถีไทย” ในสยามรัฐรายวันเมื่อเริ่มแรก แล้วย้ายมาเป็นคอลัมน์ในสยามรัฐรายสัปดาห์ ด้วยความเมตตาของบรรณาธิการ และพี่ชัชวาล คงอุดมผู้อ่านหลายท่านกรุณาชี้แนะว่าน่าจะรวมเล่มสักครั้งซึ่ง คุณอาทร เตชะธาดา แห่งประพันธ์สาส์น ยินดีเป็นเจ้าภาพพิมพ์และจัดจำหน่าย  น้องน้ำหวาน (ปิยวรรณ  แก้วศรี)  ก็เห็นดีเห็นงามว่าจะรับเป็นบรรณาธิการและจัดรูปเล่มให้ เพื่อสร้างผลงานหนังสือในโอกาสที่ดิฉันมีอายุ 55 ปี ซึ่งหนังสือได้ช่วยกันตั้งหลายชื่อ เช่น “อนุสติบนบาทวิถีโลก”…
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
ยามปลายฝนต้นหนาว ช่วงเดือนตุลาคม ต้นปีบขาว (กาสะลองเงิน) กำลังออกดอกสีขาวบริสุทธิ์ กลิ่นหอมเย็นชื่นใจ ชวนให้คิดถึงการมาเยือนภาคเหนือเพื่อชื่นชมธรรมชาติและวิถีชีวิตที่สงบสุขของชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประชากรมากที่สุดในภาคเหนือ และสามารถรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างพอเพียงและเรียบง่าย ยิ่งเป็นชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากอิทธิพลสังคมเมือง เช่น อ.อุ้มผาง จ.ตาก จะยิ่งมีการสืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูกได้โดยไม่ขาดสายคุณแมว – จันทราภา (นนทวาสี) จินดาทอง มีเรื่อง “การสืบสานผ้าทอต่อจากแม่” มาฝากท่านผู้อ่าน เชิญติดตามค่ะเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม…
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
เมื่อ พ.ศ.2520 ดิฉันได้ดูหนังเรื่อง "แผลเก่า" ที่สร้างและกำกับโดย เชิด ทรงศรี ดิฉันชื่นชมมาก จนดูซ้ำถึง 3 ครั้ง ทุกครั้งก็ซาบซึ้ง สะเทือนใจ จนน้ำตาไหลพราก หลายฉาก หลายตอนต่อมาดิฉันได้มีโอกาสรู้จักกับพี่เชิด พี่จันทนา น้องไม้ไผ่ น้องผึ้ง และน้องแสงแดด โดยการแนะนำของกัลยาณมิตร ผู้มีคุณูปการต่อชีวิต คือ โย่ง สุจิตรา สุดเดียวไกร ทำให้ครอบครัวของเราทั้งสองผูกพันกันเหมือนญาติพี่เชิดกับคุณธนูชัย ดีเทศน์ เป็นเหมือนพี่น้องที่สื่อสารกันด้วยใจ พี่เชิดกับครอบครัวไปเยี่ยมเยือนมูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา ที่บนดอยแม่สลอง และเมื่อดิฉันมากรุงเทพ ฯ ก็มาพักที่บ้านพี่เชิดเป็นประจำหนังที่พี่เชิดสร้าง…