Skip to main content
พันธกุมภา
- 1 - ข้าพเจ้าได้อ่าน บทเขียนของ “กลางชล” ในนิตยสาร “ธรรมะใกล้ตัว” ฉบับที่ 29 ประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550 http://www.dungtrin.com/mag  ซึ่งเป็นบทบรรณาธิการของนิตยสารดังกล่าว ที่ได้พาตัวข้าพเจ้าให้นำใจเข้าศึกษาและเรียนรู้ธรรมะจากนิตยสารธรรมเล่มนี้ในบทบรรณาธิการ “กลางชล” เล่าว่า ได้เสียงของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ดังขึ้นจากแผ่นซีดีว่า “การศึกษาธรรมะ คือการลงทุนให้กับชีวิตตัวเองนะ หลวงพ่อจะบอกให้ หลวงพ่อเองตอนอยู่กับโลก ก็ไม่ได้เป็นรองใครหรอก อยู่ในโลกก็มีความสุข แต่แล้วก็พบว่า ความสุขของโลกนี่นะ ไม่ได้เรื่องเลย ไม่ได้เรื่องเลย...”อย่างตอนเด็ก ๆ เราก็คิดว่า ถ้าเราเอนท์ติดคณะนั้นคณะนี้ เราจะมีความสุข...ถ้าเรียนจบแล้ว เราจะมีความสุข... ถ้าได้เรียนต่อปริญญาโทด้วย เราจะมีความสุข...แล้วเราก็พบว่ามันก็อย่างนั้น ๆ จบมาแล้วก็ไม่เห็นจะสุขได้นานสักเท่าไหร่ ต่อไปอีก ถ้าได้งานดี ๆ เราจะมีความสุข... ถ้าได้เงินเดือนเยอะ ๆ เราจะมีความสุข...ถ้าตำแหน่งใหญ่ ๆ อีก เราจะมีความสุข... ถ้ามีแฟนสักคน เราจะมีความสุข...ถ้ามีครอบครัวดี ๆ เราจะมีความสุข... ถ้าลูกเราประสบความสำเร็จ เราจะมีความสุข...กระทั่งพอแก่ไป เจ็บป่วยทรมาน นอนทำอะไรไม่ได้แล้วอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลยังว่า ถ้าตายไปเสียได้ คงจะมีความสุข... หลวงพ่อท่านเคยฉายภาพให้ฟังอย่างนั้นการที่เราทะยานวิ่งไล่คว้าความสุขด้วยแรงผลักดันของกิเลสอยู่ตลอดชีวิต ก็ไม่ต่างอะไรกับลาที่เอาแต่จดจ้องเดินไปข้างหน้า เพื่อไล่คว้าแครอทที่ปลายไม้ โดยที่ไม่รู้เลยว่า มันจะไม่มีวันเอื้อมคว้าแครอทนั้นมาเข้าปากได้เต็มคำอย่างแท้จริงเมื่อไม่มีใครมองเห็นความสุขที่เหนือกว่า กระทั่งว่าสามารถตัดวงจรความทุกข์ทั้งหมดได้ ก็ไม่มีใครคิดแสวงหาวิธีการลงทุนเพื่อเป้าหมายสูงสุดเช่นนั้นนอกจากนี้ “กลางชล” ยังถามผู้อ่านอีกว่า มีใครเคยอ่านหนังสือชื่อดังเรื่อง “พ่อรวยสอนลูก” (Rich Dad Poor Dad) หรือไม่ ซึ่งมีอยู่ตอนหนึ่ง ที่ผู้เขียนเปรียบเทียบชีวิตมนุษย์เงินเดือนเหมือน “สนามแข่งหนู” (Rat Race) เขาเปรียบวลี “สนามแข่งหนู” เสมือนกับวังวนของการเป็นลูกจ้างที่ต่างคนก็เหมือนสาละวนวิ่งไปอย่างไร้จุดหมาย ด้วยอาการตะเกียกตะกายของ “หนู” คือวิ่ง ๆ ๆ ทำงานตัวเป็นเกลียว เพียงเพื่อได้รับเงินเดือนตอบแทนพอกินพออยู่ไปวัน ๆผู้เขียนบอกว่า แม้จะมีคนเห็นช่องทาง ชี้ทางออกไปสู่อิสรภาพจากสนามแข่งหนูแห่งนี้ให้ แต่ก็น้อยคนเหลือเกินที่จะเชื่อว่าอิสรภาพทางการเงินเช่นนั้นมีอยู่จริง และน้อยคนเหลือเกินที่แม้รู้ว่ามีอยู่จริง แล้วจะลุกขึ้นมาจนดีดตัวออกมาจากสนามแข่งนี้ได้หนังสือชื่อดังเล่มนี้ แนะนำคนอ่านให้หนีให้พ้นจาก “สนามแข่งหนู” หรือหลุดออกจากการมีชีวิตอยู่ด้วยเงินเดือนประจำ จากการเป็นลูกจ้าง ด้วยกลยุทธ์ “ให้เงินทำงาน” แทนที่เราจะเหนื่อยทำงานเพื่อหาเงินไปชั่วชีวิต“กลางชล” ท้าทายว่า “อันที่จริง ชีวิตมนุษย์เรา ก็ไม่ต่างอะไรกับสนามแข่งหนูอย่างที่ว่าไว้นั้นนักหรอกนะคะ ถ้าถอยขึ้นมามองอีกชั้น แม้จะออกมาจากสนามแข่งหนูได้แล้ว มั่นคงทางการเงินแล้ว เราก็ยังติดอยู่กับสนามแข่งมหึมาของสังสารวัฏ ที่หนีสุขทุกข์ หนีการเวียนเกิดเวียนตายไม่พ้น แทบจะไม่มีใครเคยมองเห็นว่า เราก็เหมือนหนูที่ติดกับดักอยู่ในสนามนั่นแหละดิ้นรน ตะเกียกตะกายวิ่งไล่หาความสุขกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แล้วก็พอใจอยู่กับการได้เสพความสุขหยาบ ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ ไปชาติหนึ่ง ชาติหนึ่ง”แม้จะมีบรมครูผู้ประเสริฐชี้ทางออกไปสู่อิสรภาพจากวงจรแห่งการเวียนเกิดเวียนตายนี้ให้ แต่ก็น้อยคนเหลือเกินที่จะเชื่อว่าการพ้นทุกข์ทางใจโดยสิ้นเชิงได้เช่นนั้นมีอยู่จริงและน้อยคนเหลือเกินที่แม้รู้ว่ามีอยู่จริง แล้วจะเพียรพยายามจนดีดตัวพ้นจากสังสารวัฏนี้ได้- 2 -เมื่อทราบว่า ชีวิตเรากว่าจะได้พบกับความสุขที่แท้จริง และพ้นออกไปจากสังสารวัฎนี้ได้ ก็ถือว่าไม่ยากเสียทีเดียวสำหรับตัวเองที่จะเข้าถึงธรรมก่อนที่จะลิ้นลมหายใจ แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเรายังขาดไปอยู่คือ “การลงทุนศึกษาธรรมะ” ทั้งจากการทำความเข้าใจและการลงมือปฏิบัติให้ประจักษ์ด้วยตัวเอง“กลางชล” บอกว่า ถ้าใครเคยได้ยินโฆษณาของกองทุน เขาจะต้องมีประโยคที่อ่านเร็ว ๆ ปิดท้ายนะคะว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” - ธรรมะก็เหมือนกันคือ ถ้าจะเริ่มต้น ก็ควรต้องศึกษาให้เข้าใจหลักการและวิธีก่อน เพราะความเสี่ยงก็มีอยู่ตรงที่ ถ้าจับหลักผิด หรือไปยึดถือศรัทธาในแนวทางที่ไม่ถูกตรงเราก็มีสิทธิ์ดำเนินชีวิต หรือปฏิบัติไปด้วยความผิดเพี้ยน แล้วนับวันก็จะยิ่งออกอ่าว ลากเราห่างไปจากเป้าหมาย จนสุดท้าย อาจต้องขาดทุนอีกยาวกว่าจะเจอทางที่แท้จริงแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าคำสอนอันไหนเป็นทางตรง เป็นทางที่แท้จริง? ขอให้เราศึกษาและยึดคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลักให้แม่นไว้ดีที่สุด ธรรมะรุ่นหลัง ๆ นั้น มีการตีความ แปลความหมาย และแต่งตำรากันออกมามากมาย ถ้าไม่แน่ใจ ขอให้เปิดพระไตรปิฏกเทียบเคียงดูว่า เป็นวจนะของพระพุทธเจ้าจริง หรือดูเบื้องต้นว่า คำสอนนั้น เป็นไปเพื่อการลดละกิเลส เป็นไปเพื่อความเล็กลงของตัวตน ให้การปฏิบัตินั้นอยู่ในขอบเขตของกายใจ เป็นไปเพื่อละวางความเห็นผิดว่าตัวตนนั้นเป็นเราทีนี้เราจะลงทุนยังไงได้บ้างกับธรรมะ, ประเด็นนี้ “กลางชล” บอกว่า 3 อย่างที่ควรจะลงมือทำอย่างจริงจัง คือ  การทำทาน การรักษาศีล และการภาวนาโดยมีเงื่อนไขพิเศษคือ ลงทุนไปแล้ว ห้ามหวังผลตอบแทน เพราะผลที่รอให้เราเก็บเกี่ยวนั้น มันจะมาเองตามเหตุปัจจัยที่ได้ทำ สั่งให้เกิด ก็ไม่ได้ ห้ามไม่ให้เกิด ก็ไม่ได้ แถมยิ่งโลภอยากได้มาก ผลตอบแทนยิ่งน้อยลงหากรู้ตัวว่าเป็นคนไม่ค่อยทำทาน หรือยังไม่ได้ทำทานจนเป็นนิสัย ก็ลองหมั่นหัดให้ออกมาจากใจ วันละเล็ก วันละน้อย โดยทำความเข้าใจไว้แต่ต้นก่อนว่า การทำทาน เป็นการสละความตระหนี่ถี่เหนียวออกจากใจไม่ใช่ทำเพื่อชื่อเสียงหน้าตา ไม่ใช่เพื่อล้างซวย หรือกระทั่งเพื่อโลภเอาบุญแล้วเราก็ไม่จำเป็นต้องรวยก่อนถึงจะให้ได้ และไม่จำเพาะว่าจะต้องเป็นเงินเท่านั้น แต่เล็งแล้วว่าสิ่งที่เราอยากให้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ ไม่ว่าจะเป็นของเล็กของน้อย  การบริจาคโลหิต อวัยวะ แรงกาย แรงใจ ความรู้ ธรรมทาน หรือกระทั่ง การให้อภัย ให้จนเหมือนจิตแผ่เมตตาออกไปก่อน อยากให้ก่อน เจอใครอยากได้อะไรค่อยว่ากันอีกทีอย่างนี้ ก็จะทำให้จิตอยู่ในสภาพที่สงบลงและเปิดกว้างเป็นธรรมชาติเบื้องต้นถัดมา รักษาศีล ให้ศีลเป็นเรื่องปกติของชีวิต ศีล 5 ศีลจะเป็นเสมือนกรอบล้อมรั้ว ไม่ให้เราล่วงเกินผู้อื่น ทั้งด้วยกาย และด้วยวาจา แล้วเมื่อเราเป็นผู้ไม่ก่อเหตุแห่งเวรภัย ประตูสู่อบายก็ย่อมปิดแคบลง เท่ากับศีลจะช่วยรักษาเราให้อยู่ในเส้นทางที่จะไม่ไหลลื่นลงต่ำได้ทางหนึ่ง และศีลก็จะเป็นเครื่องหนุนให้จิตเรามีความสงบตั้งมั่น เอื้อต่อการภาวนาต่อไปสุดท้าย แบ่งเวลาให้กับ การภาวนา ซึ่งไม่ได้แปลว่าการสวดมนต์อ้อนวอน แต่ “ภาวนา” แปลว่า การทำให้เจริญ คือการฝึกหรือพัฒนาให้เจริญขึ้น ซึ่งมีหลัก ๆ 2 อย่าง อย่างแรก ภาวนา แบบสมถะ อันนี้มุ่งเอาความสงบเป็นหลักเป็นการจับลิงที่ซุกซน อยู่ไม่สุข ไปโน่นมานี่ตลอดเวลา (คือใจของเราเอง) ให้สงบนิ่ง ด้วยการทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว เช่น นั่งสมาธิดูลมหายใจไปก็ได้ พุทโธไปก็ได้ ที่ฟุ้งซ่านก็จะสงบ ที่เร่าร้อนก็จะสบาย ที่เป็นอกุศลก็จะเปลี่ยนเป็นกุศลแต่ถ้าเจออะไรกระทบหน่อยเดียว เดี๋ยวก็วิ่งหนีไปหลบอยู่ในถ้ำของความสงบทุกที แบบนี้ก็เห็นทีจะชนะกิเลสไม่ได้เสียทีหรอกค่ะ เราต้องออกไปเผชิญกับมันตัวต่อตัวนั่นก็คือ การภาวนาอย่างที่สอง ที่สำคัญและควรเจริญให้มาก คือ แบบวิปัสสนา  ซึ่งการเป็นภาวนาที่มุ่งเจริญปัญญาเพื่อให้เห็น “ความจริง” ของกายและใจ วิธีการก็คือ หมั่นเจริญสติ รู้สึกตัวให้บ่อย ๆ แต่คราวนี้ไม่ต้องไปบังคับลิงให้นิ่งแล้ว เพราะเป้าหมายคือ เราต้องการเห็น ความจริงของกายของใจ อย่างที่มันเป็นจริง ๆเริ่มต้นก็คอยทำความรู้จักกับสภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในกาย ภายในใจ ของเรานี้กายขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ก็รู้... มีความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉย ๆ เกิดขึ้น ก็รู้... มีราคะ โทสะ โมหะผุดขึ้น ก็รู้... มีสภาวธรรมใด ๆ เกิดขึ้น ก็รู้...คือพอมันเกิดแล้วก็รู้ให้ทันไว ๆ อย่างเป็นกลาง อย่างเป็นคนวงนอกนั่งดูละครเรื่องกายใจอย่าโดดเข้าไปเล่นด้วย อย่าไปสั่งคัท อย่าไปสั่งแอ็คชั่น แต่ดูมันเปลี่ยนแปลงของมันเองดูไปอย่างไม่คาดหวัง จนกระทั่งวันหนึ่งเราจะเห็นเองว่า กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรามันเป็นเพียงของชั่วคราว เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อเข้าใจความเป็นจริงของกายของใจว่าไม่ใช่ตัวเราแล้ว จะหมดความดิ้นรนและจิตที่หมดความดิ้นรน หมดความปรุงแต่งนั้นเอง จะเป็นอิสระพ้นจากทุกข์ทั้งปวงหลวงพ่อปราโมทย์ท่านบอกว่า “ถ้าเราภาวนาเป็น เราจะรู้เลยว่า ถ้าหากเราไม่มีโอกาสได้ภาวนา เราจะเสียโอกาสอย่างร้ายแรงที่สุดในชีวิตแต่ถ้าเราภาวนาไม่เป็นทั้งชาติ เราจะไม่รู้สึกอย่างนี้หรอก..เราก็จะรู้สึกว่าเราโอกาสดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น มันเป็นการลงทุนให้ชีวิตตัวเองนะ ค่อย ๆ เรียนธรรมะไป ถ้าเข้าใจสิ่งที่หลวงพ่อบอก จิตใจเกิดสติขึ้นมาเกิดสมาธิ เกิดปัญญาขึ้นมา อีกหน่อยจะรู้เลยว่า ศาสนาพุทธนั้น มีประโยชน์มหาศาล”- 3 -ข้าพเจ้าได้ลองนั่งคิด ทบทวนดู แล้วพบว่าการที่คนๆ หนึ่งเกิดมานั้น เมื่อเราไม่ได้เกิดมาเป็นเดรัจฉาน-เปรต-ภูต-ผี-ปีศาจ นั้น ย่อมหมายว่า หากเราเป็นมนุษย์แล้ว เราสามารถพาดวงจิตที่อยู่ใน “กายเนื้อ” นี้ เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงธรรมและปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นได้ ซึ่งหากเราเกิดมาเป็นคน และตายไปนั้น แม้ว่า “กายเนื้อ” เราจะตายไป แต่ “จิต” ของเรายังคง “เป็นอยู่” ยังไม่ได้ตายไปจริงๆ เพราะเรายังคงจะต้องเวียนว่ายไปมาในสังสารวัฎต่อไป ไม่ว่าจะไปนรกภูมิ เปรตภูมิ เดรัจฉานภูมิ มนุษย์ เทวดา หรือพรหมซึ่งหากเราไม่อยากไปในทางทั้ง 6 ที่กล่าวมา ก็มีทางเดียวที่จะทำให้จิตดับลงไป ไม่มีเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฎ นั่นคือ นิพพาน นั่นเองหากใครที่เกิดมาเป็นคนแล้ว ยังไม่ได้ลงทุนเข้าถึงธรรม เข้าถึงสัจธรรมอันสูงแล้วไซร้ คงน่าเสียดายที่ได้เกิดมาในเนื้อนาบุญแห่งนี้จริงๆ ...