หัวไม้ story
ภาวะความขัดแย้งทางการเมืองไทยขณะนี้ ได้ก่อให้เกิดความกังวล 2 ประการคือ รัฐจะใช้ความรุนแรงกับผู้เคลื่อนไหวในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และอีกประการคือ การรัฐประหารซึ่งสื่อกระแสหลักยังคงต้องเกาะติด ‘น้ำเสียง' และ ‘ท่าที' ของนายทหารระดับสูงอย่างต่อเนื่องเมื่อย้อนดูสถิติการรัฐประหารของไทยจะพบว่า ความถี่ในการรัฐประหารของไทยคือ ประมาณ 7 ปีต่อการรัฐประหาร 1 ครั้ง การรัฐประหารที่เว้นช่วงสั้นที่สุดคือการรัฐประหารครั้งที่ 7 วันที่ 6 ตุลาคม 2519 - 20 ตุลาคม 2520 ( 1 ปีกับอีก 15 วัน)ช่วงที่เว้นระยะนานที่สุดคือ 23 ก.พ. 2534 - 19 กันยายน 2549 เว้นช่วงนาน 15 ปี 6 เดือน กับอีก 28 วัน ตารางการรัฐประหารที่สำเร็จในประเทศไทยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 - ปัจจุบันวัน เดือน ปีผู้นำการรัฐประหารผู้ถูกทำรัฐประหาร1 เมษายน 2476พระยามโนปกรณ์นิติธาดารัฐประหารตัวเองโดยงดใช้รัฐธรรมนูญ20 มิถุนายน 2476พระยาพหลพลพยุหเสนาพระยามโนปกรณ์นิติธาดา8 พฤศจิกายน 2490จอมพลผิน ชุณหวัณพลเรือเอก ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ 29 พฤศจิกายน 2494จอมพล ป. พิบูลสงครามรัฐประหารตัวเอง16 กันยายน 2500จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จอมพลป. พิบูลสงคราม20 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จอมพลถนอม กิตติขจร17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอม กิตติขจรรัฐประหารตัวเอง 6 ตุลาคม 2519พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช20 ตุลาคม 2520พลเรือเอกสงัด ชลออยู่นายธานินทร์ กรัยวิเชียร23 กุมภาพันธ์ 2534พลเอกสุนทร คงสมพงษ์พลเอกชาติชาย ชุณหวัณ 19 กันยายน 2549พลเอกสนธิ บุณยรัตกลินพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หมายเหตุ: แก้ไข 7 มิ.ย. 51 -- 17.34น. ตามการท้วงติงของธนาพล อิ๋วสกุล บางที การเว้นช่วงครั้งหลังสุดที่ยาวนานกระทั่งทำให้สังคมไทยตายใจว่า ทหารกลับเข้ากรมกรองไปทำหน้าที่ ทหารอาชีพ แล้วนั้น อาจจะเป็นเพียงข้อยกเว้นอย่างไรก็ตาม การรัฐประหารที่ผ่านก็ยังได้รับการยอมรับกันว่าเป็นไปโดยสงบไม่มีการเสียเลือดเนื้อ และซ้ำคณะทหารที่ขึ้นมาคุ้มครองประเทศก็ยังมีสายใยและความร่วมมืออันดีกับผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวภาคประชานเป็นอย่างดี นับเป็นสิ่งที่ต่างออกไปจากการรัฐประหารที่เคยมีมาครั้งใดๆ ในประเทศนี้แน่นอนว่าปัจจัยส่วนหนึ่งคือ ทหารเรียนรู้มากขึ้นที่จะอยู่ร่วมกับประชาสังคมไทย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนที่เข้มแข็งและไม่เปิดโอกาสให้คณะรัฐประหารได้ควบคุมความรับรู้ทุกอย่างในสังคมนี้ก็คือโลกไซเบอร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ใหม่ที่อำนาจรัฐและคณะรัฐประหารใดๆ ไม่เคยเผชิญมาก่อนการควบคุมความรับรู้หรือการแสดงออกของประชาชนภายหลังการรัฐประหารนั้น เป็นสูตรสำเร็จที่จะต้องทำทันทีเมื่อมีการยึดอำนาจ ทั้งนี้ เนื่องจากข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นตัวกำหนดความรับรู้และท่าทีของประชาชน ดังจะเห็นได้ว่า ในการรัฐประหารใดๆ ก็ตาม ผู้ทำรัฐประหารต้องเข้ายึดพื้นที่ที่นำเสนอข้อมูลข่าวสาร ซึ่งสมัยก่อนได้แก่ สถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุ ทั้งการควบคุมการแสดงออกของประชาชนก็อาจทำได้โดยการออกกประกาศและใช้กองกำลัง แต่ สำหรับโลกไซเบอร์แล้ว นั่นอีกเรื่องที่ต่างออกไป มันหมายถึงความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ต้องไล่กวดกันเหมือนแมวไล่จับหนูภายหลังการรัฐประหารเมื่อ 24 ก.พ. 2534 และหลังเกิดเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทองได้จับพิมพ์หนังสือ ‘ต้านรัฐประหาร' ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของภาคประชาชนในการต่อสู้กับการต้านรัฐประหารโดยผู้เขียนคือนักสันติวิธีนาม จีน ชาร์ป แน่นอนว่าหนังสือเล่มนั้นพูดถึงเรื่องการปฏิบัติในโลกจริงซึ่งอาจจะเชยไปสักหน่อยสำหรับมนุษย์ยุคไซเบอร์ แต่หากใครสนใจก็ยังหาซื้ออ่านได้ นั่นเป็นแนวทางการต้านรัฐประหารโดยประชาชนซึ่งขณะนี้ คงจะต้องเพิ่มเติมวิธีการสำหรับประชากรไซเบอร์เข้าไปด้วย ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยทันที มีเว็บไซต์อย่างน้อย 2 แห่งกำเนิดขึ้นในโลกไซเบอร์นั่นก็คือ http://www.19sep.org/ และ http://www.dcode.net/ ทั้งสองเว็บเป็นต่อต้านการรัฐประหารแต่เห็นต่างในรายละเอียด โดยเว็บไซต์หลังนั้นเป็นกลุ่มนักเล่นเน็ต ที่ชื่นชมในนโยบายของพรรคไทยรักไทยและทักษิณ ชินวัตร แต่เว็บแรกนั้นไม่ใช่ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 เว็บไซต์ได้พัฒนามาสู่การจัดตั้งมวลชนผ่านโลกไซเบอร์และได้เคลื่อนตัวจากพื้นที่ในโลกไซเบอร์สู่สนามหลวง ในชื่อของ กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ และกลุ่มประชาชนต้านรัฐประหารในที่สุดผลพวงอันเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน ต่อความตื่นตัวของประชาชนที่เข้าถึงเว็บไซต์ ยังได้ก่อให้เกิดเว็บไซต์และบล็อกเกอร์อีกจำนวนมากในการติดต่อสื่อสารกัน ทั้งในฐานะผู้รับและส่งสาร กระทั่งทำให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ใหม่ในการแย่งชิงความรับรู้ แต่ก็ยังคงเป็นสิ่งยากสำหรับภาครัฐ แม้จะมีกฎหมายอา๙ญากรรมว่าด้วยการกระทำความผิดด้วยคอมพิวเตอร์ออกมาก็ตาม เพราะ....ย้ำ...นี่คือเรื่องของเทคโนโลยีที่รัฐต้องคอยวิ่งไล่จับให้ทัน ‘ผมคิดว่าอินเทอร์เน็ตมันจะทำให้ความคิดของคนมันวิ่งไปมาหากันได้เร็วขึ้น ทำให้เกิดการสทนาแลกเปลี่ยนได้อย่างกว้างขว้างขึ้น มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากขึ้น และเหล่านี้อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมก็เป็นได้. ซึ่งรัฐอาจจะกลัวตรงนี้ ก็เลยต้องการเข้ามาควบคุมจัดระเบียบ. พวกเราพลเมืองและพลเมืองอินเทอร์เน็ตทุกคน ก็ต้องพยายามรักษาพื้นที่ของเราตรงนี้ไว้ให้ปลอดจากการแทรกแซงโดยอำนาจรัฐและอำนาจอื่น ๆ. ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ พื้นที่สื่อพวกนั้นเราพลเมืองธรรมดาเข้าถึงได้ยากมาก. พวกเราพลเมืองจึงต้องรักษาพื้นที่ที่เรามีอยู่ไม่มากนักในอินเทอร์เน็ตเอาไว้. ไม่ใช่เพื่อตัวอินเทอร์เน็ตหรือตัวผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเอง แต่เพื่อสังคมทั้งหมด' อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล นักวิชาการด้านคอมพิวเตอร์จากสถาบันเทคโนโลยี SIIT มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เขียนไว้ให้สัมภาษณ์วาวสร ‘ปฏิรูปสื่อ' เมื่อปลายปีที่แล้ว เขาตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่รัฐพยายามทำกับพื้นที่อินเตอร์เน็ตปัจจุบันนี้คือ 1) สั่งปิดเว็บไซต์ โดยติดต่อไปที่เว็บโฮสติ้ง (ผู้ให้บริการเช่าพื้นที่บนอินเทอร์เน็ตสำหรับสร้างเว็บไซต์) ขอหรือสั่งให้ปิดเว็บไซต์นั้นลง หรือหาทางเจาะระบบเข้าไปทำลายเว็บไซต์ลง ผลก็คือเว็บไซต์นั้นก็จะหายไปจากอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้ไม่ว่าจากประเทศไหนก็จะเข้าไม่ได้อีกแล้ว.2) ปิดกั้นเว็บไซต์ หรือที่เรียกว่าการบล็อค (block) ซึ่งก็ทำกันได้หลายระดับ ทั้งที่ระดับเกตเวย์ (gateway - เป็นประตูเชื่อมเครือข่ายภายในประเทศออกสู่อินเทอร์เน็ต) ที่ระดับไอเอสพี หรือที่ระดับองค์กรอย่างสถานศึกษาหรือบริษัทบางแห่งก็พบว่ามี. ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการหรือองค์กรนั้น ๆ ไม่สามารถเข้าเว็บไซต์ที่ถูกบล็อคได้. หรือถ้าเป็นการบล็อคที่เกตเวย์ระดับประเทศ ก็จะมีผลทำให้ผู้ใช้ในประเทศทั้งประเทศไม่สามารถเข้าเว็บไซต์เหล่านั้นได้ - อย่างไรก็ตามผู้ใช้อื่น ๆ ก็จะยังเข้าได้อยู่. วิธีนี้เป็นวิธีที่ช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐของไทยใช้กันมาก เพราะสะดวกไม่ต้องขอความร่วมมือจากใคร ทำได้เองเลย หรือว่าสามารถกดดันผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ทำได้ไม่ยาก, ซึ่งก็อาจจะเกี่ยวกับเรื่องใบอนุญาตประกอบธุรกิจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตด้วย.3) ระดมโจมตีก่อกวนเว็บไซต์ 3.1 ให้ทำงานช้าลงมาก ๆ จนใช้งานไม่ได้ หรือที่เรียกว่า DoS (Denial of Service). หรือ3.2 คัดกรองเนื้อหา วิธีนี้จะเนียนกว่า คือยังเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้ตามปกติอยู่ แต่เนื้อหาบางส่วนในเว็บไซต์จะหายไป ซึ่งแบบนี้จะทำให้สังเกตได้ยากกว่าวิธีแรก.ตัวอย่างเช่นในประเทศจีนที่เสิร์ชเอนจิ้นหลายเจ้า ยอมกรองเว็บไซต์บางอย่างออกจากผลลัพธ์การค้นหา. คือถ้าเรารู้ที่อยู่ของเว็บไซต์นั้น ก็ยังอาจจะพิมพ์เข้าไปได้เอง แต่มันจะไม่ปรากฎอยู่ในรายการผลลัพธ์ของเสิร์ชเอนจิ้นเลยถ้าค้นหาจากประเทศจีน. ซึ่งถ้าพิจารณาว่าปริมาณการจราจรส่วนใหญ่ของเว็บนั้น วิ่งผ่านเสิร์ชเอนจิ้น, วิธีนี้ก็เป็นวิธีที่ได้ผลดีมาก อีกทั้งสังเกตได้ยากกว่าการทำให้เข้าเว็บไซต์ไม่ได้หรือกรณีประเทศไทย ที่ขอความร่วมมือจากกูเกิ้ลให้บล็อคคลิปบางคลิปใน YouTube ไม่ให้ผู้ใช้จากประเทศไทยเห็น ก็เข้าข่ายนี้3.3 บิดเบือนเนื้อหา ปล่อยข่าว หรือก่อกวนสร้างความปั่นป่วนในกระดานสนทนาออนไลน์ เว็บไซต์บางแห่งถูกก่อกวนด้วยโปรแกรมหรือคนที่ถูกจ้างมาโพสต์ข้อความไร้สาระซ้ำ ๆ กัน หรือโพสต์ข้อความบิดเบือนเบี่ยงประเด็นต่าง ๆ หรือล่อให้เกิดการทะเลาะกัน ที่เรียกว่า "ล่อเป้า" ทำให้คุณภาพของข้อมูลข่าวสารโดยรวมในอินเทอร์เน็ตลดลง4 วิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คือการสร้างความเชื่อ หรือความกลัว เพื่อทำให้เกิด "การเซ็นเซอร์ตัวเอง". ทำหผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ไม่อยาก/ไม่กล้าโพสต์ไม่อยาก/ไม่กล้าเปิดดู ไม่อยาก/ไม่กล้าพูดถึง. ผมคิดว่าอันนี้น่ากลัวที่สุด และมีผลกว้างขวางมากกว่าแค่ในอินเทอร์เน็ต แต่รวมถึงทั้งสังคมเลยการสร้างความกลัวนี่ รวมถึงการใส่มาตราบางมาตราลงมาใน พ.ร.บ.การกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นี่ด้วย ในส่วนที่เกี่ยวกับตัวเนื้อหาในคอมพิวเตอร์ในอินเทอร์เน็ต. มาตรา 14, 15, 16. ซึ่งกว้างมาก แล้วแต่เจ้าหน้าที่รัฐจะตีความอย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ในปี 2550 นอกเหนือจากลุ่มต้านรัฐประหารและรัฐบาลที่ไม่ได้มาตามิถีทางประชาธิปไตย จะสร้างข่ายใยเติบโตขึ้นในพื้นที่อินเตอร์เน็ตของไทยแล้ว กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ต่อสู้เรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในอินเตอร์เน็ตก็ทำงานไปพร้อมๆ กันด้วย กลุ่มเล็กๆ ที่ชื่อว่า FACT ได้ทำหน้าที่นี้อย่างแข็งขันในช่วงกว่าขวบปีที่ผ่านมา ทั้งในแง่การพยายามเผยแพร่เรื่องราวการถูกปิดกั้นข้อมูลข่าวสารในอินเตอร์เน็ต และรวมถึงการแจกจ่ายแปรแกรม ‘มุด' เพื่อให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูก ‘บล็อก'ในเรื่องร้ายมีเรื่องให้เรียนรู้ และก็คงต้องจับตากันต่อไปว่า พัฒนาการของประชากรในโลกไซเบอร์ของไทยจะถูกเร่งให้เติบโตขึ้นอีกหรือไม่.... แต่หากพื้นที่ในโลกไซเบอร์ของไทยได้เติบโตไปแบบไม่ต้องมีตัวเร่ง และแรงเสียดทานแบบเอาประเทศเป็นตัวประกัน...นั่น น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
Hit & Run
จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์หลังจากได้อ่านข้อความในหนังสือที่ คมช. ส่งถึงคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ ของ กกต. ที่ตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบว่า หนังสือ ซึ่งออกโดย คมช. (สปค.ศปศ.คมช. ลับ-ด่วนมาก ที่ คมช ๐๐๐๓.๕/๔๘๐ ลง ๑๔ กันยายน ๒๕๕๐) นั้น เข้าข่ายความผิดฐาน เจ้าหน้าที่ของรัฐวางตัวไม่เป็นกลางในการเลือกตั้ง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๕๗ หรือไม่ เพื่อขอให้ทบทวนบทบาทของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน เนื่องจากการออกหนังสือฉบับดังกล่าวของ คมช.เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ แล้ว ก็เกิดความรู้สึก ‘สบายใจ' ชอบกลเนื่องด้วยการให้เหตุผลของ คมช. ทำให้เห็นแล้วว่า ภาระต่างๆ ที่ประชาชนอย่างเราๆ จะต้องแบกรับในการเลือกตั้งครั้งนี้มันออกจะน้อยแสนน้อย นั่นเพราะ คมช.วาดภาพให้เห็นแล้วว่า พรรคไทยรักไทยนั้นได้เปลี่ยนโฉมมาเป็นพรรคพลังประชาชน และเตรียมจะแก้แค้น "คิดบัญชี" กับผู้เกี่ยวข้องอันเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย และสร้างความแตกสามัคคีให้สืบเนื่องต่อไป ทำให้ คมช.และคณะรัฐมนตรี "ต้องใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในการป้องปรามมิให้มีการดำเนินการในลักษณะที่เป็นการทำลายความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของประเทศ"ก็ในเมื่อที่ผ่านมา ‘ความมั่นคง' เป็นเรื่องของทหารมาตลอดอยู่แล้ว เราก็คงต้องให้เขาจัดการกันไป !ไล่เรียงมาตั้งแต่ เริ่มต้นรัฐประหาร ซึ่งบรรดาทหารก็ทำเพราะไม่ต้องการให้เกิดการนองเลือดในการชุมนุมใหญ่ที่จะมีขึ้น (แม้ว่า ที่ผ่านมา การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะได้รับการกล่าวขวัญว่า ‘เป็นไปด้วยความเรียบร้อย' ก็ตาม) หรือ เพราะเหตุว่าอาจมีการขนส่งยาเสพติดกันในบริเวณชายแดน มีปัญหาแรงงานข้ามชาติ จึงต้องมีการคงกฎอัยการศึกเอาไว้ (ทั้งก่อน-หลังประชามติ) เพื่อรักษา ‘ความมั่นคงภายใน'การรณรงค์ให้ไปลงประมาติรับรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บ้านเมืองสงบ นี่ก็เรื่องของความมั่นคง (แม้ว่า การไปลงประชามติ รับ-ไม่รับรัฐธรรมนูญ จะเป็น ‘สิทธิ' ที่หลายคนในกองทัพบอกว่า ‘เคารพ' ก็ตาม) งบประมาณจากภาษีของประชาชนไม่รู้กี่....ล้าน ที่จะต้องนำไปใช้ซื้อรถหุ้มเกราะ เครื่องบินรบ เรือดำน้ำ ซึ่งก็เพื่อ ‘ความมั่นคง' ของกองทัพ ของประเทศล้วนๆ การผ่านวาระแรกของ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายใน ที่ประชาชนอาจถูกกักบริเวณได้ ค้นบ้านได้ ห้ามชุมนุมได้ ปิดถนนได้ แต่...ก็เพื่อ ‘ความมั่นคง' ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เอกสารลับคราวนี้ ก็อย่างที่ทหารบอกนั่นแหละว่า เพื่อป้องกันการ "คิดบัญชี" อันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของทหารที่ทำรัฐประหารของชาติ ก็เท่านั้น ส่วนเรื่องความเป็นกลางนั้น ก็ให้เป็นหน้าที่ของ กกต.ช่วยตีความให้ ไล่ดูตั้งแต่การจัดการลงประชามติที่ผ่านมาก็ได้ แม้ว่า กกต.บางคน (สองคน) จะเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะนำมาลงประชามติด้วย และบางทีเจ้าหน้าที่ กกต.บางคนก็ออกมาห้ามการรณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญเป็นระยะๆ หรือไม่ก็ปล่อยให้องค์กรของรัฐบาล ซึ่งมีหน้าที่จัดการลงประชามติ ออกโรงมารณรงค์เรื่องรับรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองแต่ก็ยังยืนยันว่า กกต. ‘เป็นกลาง' มาตลอดเพราะฉะนั้น เลือกตั้งคราวนี้จึง ‘ไม่น่ากังวล' เลยแม้แต่น้อย ความมั่นคงเป็นเรื่องของทหาร ความเป็นกลางก็ยกให้เป็นหน้าที่ของ กกต. ส่วนประชาชนตาดำๆ อย่างเราๆ เขาบอกว่า มีหน้าที่กา (ก็กาไป) ขออย่างเดียว ผลออกมาเป็นยังไง อย่ามาว่า... ‘โง่' ก็แล้วกัน
กานต์ ณ กานท์
ใครที่ได้อ่านบทความ “นายกฯ ของวิกฤตการเมือง” [1] ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เพิ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คงรู้สึกงุนงงไม่น้อยว่า อาจารย์นิธิ “กำลังคิดอะไรอยู่”เพราะไม่เพียงในเนื้อหาของบทความดังกล่าว อาจารย์นิธิได้ประกาศไว้ชัดเจนว่า คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “เหมาะจะเป็นนายกรัฐมนตรีในยามนี้ที่สุด” แต่เหตุผลของความ “เหมาะสมที่สุด” คือ “นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องกล้าเผชิญกับแรงกดดันจากกองทัพ รวมทั้งแรงกดดันจากองค์กรอิสระอีกมากที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น อย่างอาจหาญและมีศักดิ์ศรีด้วย ดังที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้แสดงให้เห็นอย่างนุ่มนวล แต่สง่างามในครั้งนี้”ซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาแบบทันทีทันควันจากสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล [2] ในหน้าเวบบอร์ดของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ตั้งแต่วันแรกที่บทความดังกล่าวเผยแพร่สู่สาธารณะแม้หลายคนอาจอคติว่า สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล คือ “ขาประจำ” ที่ติดตามวิพากษ์วิจารณ์ “นิธิและมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน” มาโดยตลอด แต่ผมกลับเห็นว่า หากตัดอคติดังกล่าว และสำนวนที่เป็นอารมณ์ออกไป ประเด็นในข้อวิจารณ์ของอาจารย์สมศักดิ์เป็นสิ่งที่ต้องรับฟังและพิจารณา โดยไม่จำเป็นต้องมีจุดยืนข้างประชาธิปไตยและรังเกียจรัฐประหาร, ผู้ที่สนใจติดตามการเมืองไทยอย่างจริงจัง และไม่ความจำสั้นเกินไป ก็น่าจะมองเห็นไม่ต่างจากสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเพราะปัญหาสำคัญไม่ได้อยู่ที่การเห็นว่าคุณอภิสิทธิ์เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แต่อยู่ที่เหตุผล ที่อาจารย์นิธิให้ไว้ในบทความดังกล่าวต่างหากยิ่งเมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่า อาจารย์นิธิเป็นศาสตราจารย์ทาง “ประวัติศาสตร์”อาจารย์นิธิเป็น “นักวิชาการสาธารณะ” ผู้ยืนอยู่แถวหน้าสุดของ “มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน” ซึ่งประกาศ “ไม่เห็นด้วย” กับ “รัฐประหาร 19 กันยายน” (แม้ว่าท่าทีและถ้อยคำที่ใช้แสดงความ “ไม่เห็นด้วย” จะชวนให้หลายคนตั้งข้อสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์อยู่มาก) และล่าสุด อาจารย์นิธิเป็นผู้ที่ถูกชูขึ้นเป็น “ผู้นำ” ในการรณรงค์ “ไม่รับ” รัฐธรรมนูญ 2550 (ตอนหนึ่งในบทความนี้ อาจารย์นิธิได้อ้างถึง การ “ปกป้องสิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐานซึ่งให้หลักประกันไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ” ซึ่งผมอ่านแล้วก็ไม่แน่ใจว่าอาจารย์หมายถึงรัฐธรรมนูญฉบับใด ระหว่างฉบับที่ถูกฉีกทิ้งไปเมื่อปีที่แล้ว กับฉบับที่อาจารย์เพิ่งรณรงค์ให้ “ไม่รับ”?) ก็ยิ่งชวนให้งุนงงต่อสิ่งที่ปรากฏในบทความ และชวนให้ตั้งคำถามว่า คนอย่างอาจารย์นิธิ “ลืม” ไปได้อย่างไรว่าคุณอภิสิทธิ์ “ยืน” อยู่ที่ใดในห้วงเวลาแห่งการชู “มาตรา 7” ?ตลอดปีกว่าๆ ที่ผ่านมา คุณอภิสิทธิ์มีปฏิกิริยาอย่างไรต่อรัฐประหาร และการดำเนินการต่างๆ ของคมช., กองทัพ และ “องค์กรอิสระอีกมากที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น” ?หรือล่าสุด, คุณอภิสิทธิ์แสดงท่าทีอย่างไรต่อ “รัฐธรรมนูญ 2550” ที่อาจารย์บอกให้ประชาชน “ไม่รับ” ? “กล้าเผชิญ…อย่างอาจหาญและมีศักดิ์ศรี” ?!?!? ---------[1] นิธิ เอียวศรีวงศ์, “นายกฯ ของวิกฤตการเมือง”, มติชนรายวัน, 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550, ปีที่ 30 ฉบับที่ 10852 [2] โปรดดูหลายกระทู้เกี่ยวกับบทความนี้ ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ใน http://www.sameskybooks.org/board