Skip to main content
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
หลังจากที่ จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนาได้จากไป เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2544 ตราบจนกระทั่งถึงวันนี้เป็นเวลา 6 ปีเต็ม ๆ ผมคิดว่านอกจากบทเพลงที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวามากมายหลายชุด ที่เขาทิ้งไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่า ที่ทำให้เราคิดถึงถึงเขา ยามได้ยินบทเพลงของเขา ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งแล้ว ยังมีสถานที่และผู้คนที่เคยเกี่ยวข้องผูกพันกับชีวิตของเขา บางสถานที่บางบุคคล ที่ทำให้เราคิดถึงเขา ยามได้ไปเยือนสถานที่แห่งนั้น และได้พบใครบางคนดังกล่าว เช่นร้านอาหาร สายหมอกกับดอกไม้ที่ตั้งอยู่ริมถนนเชียงใหม่ 700 ปี หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ มีใครต่อใครมากมายหลายคนบอกผมเป็นเสียงเดียวกันว่า ยามได้มาเยือนสถานที่แห่งนี้แล้ว ทำให้คิดถึง คุณจรัล มโนเพ็ชร เหลือเกินซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลก เพราะ สายหมอกกับดอกไม้ เป็นร้านอาหารที่คุณอันยา โพธิวัฒน์ คนรักของคุณจรัล ได้ร่วมมือร่วมใจกับคุณจรัลสร้างร้านนี้ขึ้นมาและเริ่มเปิดบริการอย่างเงียบ ๆ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2541 โดยมีเจตนาทำร้านที่มีลักษณะเป็นสวนอาหารขนาดย่อมนี้ เป็นที่ต้อนรับญาติสนิทมิตรสหาย ต่อมาเมื่อคุณจรัล มโนเพ็ชร ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะโยกย้ายจากกรุงเทพฯกลับคืนมาอยู่บ้านเกิด ได้บินจากกรุงเทพฯมาเล่นดนตรีประจำร้านนี้อาทิตย์ละ 2-3 วัน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2543จนกระทั่งจากไปด้วยโรคปัจจุบัน ขณะกำลังเตรียมงานคอนเสิร์ต 25 ปี จรัล มโนเพ็ชร ที่บ้านดวงดอกไม้ ทุ่งหลวง จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2544ร้านสายหมอกกับดอกไม้ จึงกลายเป็นสถานที่และผู้คนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่จากล้านนาที่จากไป นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาแน่ล่ะ หลังจากวันที่คุณจรัลจากไป ถึงแม้ว่าผู้คนจะค่อย ๆบางตาลง แต่คนที่รักและคิดถึงคุณจรัล ก็ยังคงมาเยี่ยมเยือนร้านนี้กันอยู่เสมอ ซึ่งก็ตรงกับใจของคุณอันยาเจ้าของร้าน ที่ไม่อยากเหน็ดเหนื่อยกับการรับแขกมากเกินไป เหมือนสมัยที่คุณจรัลยังมีชีวิตอยู่และมาเล่นดนตรีประจำที่ร้านนี้วันนี้ถ้าคุณย่างก้าวเข้าไปในบริเวณร้านสายหมอกกับดอกไม้ สิ่งแรกที่จะสะดุดตาคุณก็คือรูปปั้นครึ่งตัวของ คุณจรัล ฝีมือของคุณหงส์จร เสน่ห์งามเมือง ที่ตั้งอยู่บนแท่นสูงประมาณเมตรครึ่ง ใกล้ ๆ กับประตูทางเข้าร้านทางด้านขวามือและเมื่อเดินเข้าไปในร้านที่คุณจรัลออกแบบเป็นอาคารไม้หลังคาหน้าจั่วเชิงซ้อนแบบล้านนาประยุกต์ คุณก็จะพบภาพถ่ายของคุณจรัลในอิริยาบถต่าง ๆ ที่คุณอันยา ใส่กรอบแล้วนำมาติดไว้อย่างสวยงามตามซอกมุมต่าง ๆ ภายในร้าน เช่นเดียวกับเวทีที่คุณจรัลเคยมานั่งเล่นกีตาร์และร้องเพลง ก็ถูกจัดวางเอาไว้ในที่เดิมรวมทั้งข้าวของกระจุกกระจิกส่วนตัวและเทปเพลงของคุณจรัลในตู้โชว์ และหนังสือสองเล่มที่คุณอันยา เขียนถึงคุณจรัลเอาไว้อย่างงดงาม นั่นคือรักและคิดถึง จรัล มโนเพ็ชรและตามรอยฝัน จรัล มโนเพ็ชรจึงมิใช่เรื่องที่แปลกที่ร้านอาหารสายหมอกกับดอกไม้ จะเป็นสถานที่ที่ใครต่อใครหลายคนได้เข้ามาเยือนแล้ว จะพากันคิดถึง จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินทระนงผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา โดยเฉพาะตัวผม ที่ได้ร่วมเล่นบนเวทีเล็ก ๆ ที่น่ารักและอบอุ่นร่วมกับคุณจรัล ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายที่สายหมอกกับดอกไม้ร้านสายหมอกกับดอกไม้ จึงเป็นสถานที่แห่งความคิดถึง จรัล มโนเพ็ชร ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะมันคือสถานที่แห่งความรักของเขา และอันยา โพธิวัฒน์ เธอผู้รู้จักตัวตนของเขาอย่างลึกซึ้ง ได้เขียนบทกวีบทหนึ่งไว้อาลัย แด่การจากไปของเขาเอาไว้ว่าดอกไม้ดอกเดียวของฉัน ดอกไม้ดอกเดียวของฉันเป็นนักกีตาร์เป็นนักร้องแสนดีเป็นนักแต่งเพลงแสนวิเศษคุณรู้ โลกก็รู้และตระหนักเขาเป็นนักกีตาร์ที่มีวิถีใช้นิ้วเป็นของตนเองสัมผัสเส้นสายบนเครื่องดนตรีที่ลี้ลับต่อการเรียนรู้มันเป็นศาสตร์ชนิดหนึ่งที่มีผู้เล่นเท่านั้นจะตระหนักได้ว่าจะนำทางไปสู่ทิศทางใดในโลกลี้ลับที่เปี่ยมมนต์ขลังจากเสียงเพียงประการเดียวนี่คือสิ่งที่ฉันเรียก...ศิลปะและเมื่อใครสักคนดุ่มเดินไปในวิถีที่ลี้ลับ ซึ่งรังสรรค์ขึ้นจากตัวตนของเขาเองนั่นคือ ศิลปินดอกไม้ของฉันอยู่กับฉันมาเนิ่นนานหลายปีนำกลิ่นหอมแสนหวานจากเสียงกังวานของกีตาร์มาสู่ฉัน ทั้งกลางวัน กลางคืนตลอดฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาวฉันคงไม่อาจมอบตำแหน่งใดในโลกนี้ให้เขาได้นอกจาก...ศิลปินที่รักสุดหัวใจแด่ดอกไม้เมื่อเสียงนุ่มแผ่วจากดนตรีของเจ้าจางจากไปกังวานยังสะท้านอยู่ในความรู้สึกกลิ่นหอมของกุหลาบเหลืองแสนหวานที่โรยรายังอ้อยอิ่งอยู่ในอารมณ์ที่เร่งเร้าดอกไม้เจ้าเอย...เจ้าเป็นดอกไม้ดอกเดียวของฉันเมื่อกลีบของเจ้าร่วงหล่นทับถมลงบนดินบนฟูกของความตายเมื่อเธอจากไป ความรักจะปิดเปลือกตาลงและหลับสนิทอยู่ในนิทราเช่นเดียวกับร่างไร้ชีวิตซึ่งนิ่งสนิทอยู่ตรงหน้าฉันในห้วงนิทราของความตายเธอยังคงงดงามเช่นเดียวกับเด็กน้อยที่น่ารักด้วยน้ำตาและความเงียบ ฉันกล่าวอำลาเธอ.***อันยา โพธิวัฒน์ เขียนไว้ในหนังสือ แก้วก๊อล้านนา 13 พฤศจิกายน 2550กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่