Skip to main content
Cinemania
 :::Spoil::: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาที่สำคัญของภาพยนตร์ :::Spoil::: เวลา 2 ชั่วโมงกว่า (158 นาที) ในหนัง There will be blood - ผลงานเรื่องที่ 5 ของผู้กำกับ Paul Thomas Anderson คือเรื่องราวในด้านที่มืดดำของมนุษย์ เต็มไปด้วยความโลภ ความอ่อนแอ สันดานดิบ และแน่นอน...มันรวมไปถึง ‘การสร้างศรัทธา' ด้วยวิธีการอันน่าขนลุกด้วย...เราได้รู้จัก ‘เดเนียล เพลนวิว' (Daniel Day-Lewis) นักเสี่ยงโชคที่ตั้งใจทำเหมืองเงิน แต่บังเอิญได้ที่ดินซึ่งมีน้ำมันดิบนอนสงบนิ่งอยู่ใต้พื้นมาแทน โลกของเดเนียลไม่มีคำว่า ‘สุดแท้แต่โชคชะตา' หรือ ‘ศรัทธา' ไม่มีแม้กระทั่งคำว่า ‘พระผู้เป็นเจ้า' แต่สิ่งที่เขายึดถือเป็นสรณะแห่งชีวิตคือ ‘ความมั่งคั่ง' ไม่ว่ามันจะมาในรูปแบบไหนก็ตาม เมื่อที่ดินซึ่งคิดว่าเป็นเหมืองเงินกลายเป็นขุมน้ำมันซึ่งเปรียบเหมือน ‘ทองคำสีดำ' หรือ Black Gold เดเีนียลก็พร้อมที่จะเบนเข็มจากการทำเหมืองไปขุดหาน้ำมันโดยทันที จนในที่สุด เขาก็ได้เป็น ‘นักธุรกิจขุดเจาะน้ำมันรายย่อย' ที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง ทุกๆ การกระทำของเขาเกิดจากความมานะบากบั่น ผนวกกับเล่ห์เหลี่ยมฉ้อฉลเพื่อให้ตัวเองบรรลุถึงเป้าหมาย ซึ่งจะว่าไปแล้วการกระทำของเดเนียลไม่แตกต่างจากสิ่งที่นายทุนทุกยุคทุกสมัยพึงกระทำ นั่นคือการคาดหวังว่าจะ ‘ได้' ในสิ่งที่ดีที่สุด แต่ยินยอมจะ ‘สูญเสีย' ในสิ่งที่ตัวเองมีให้น้อยที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม There will be blood ไม่ได้เป็นแค่เรื่องราวของนายทุนขี้โกงที่แพ้ภัยตัวเองในตอนจบ หากนี่คือการปะทะสังสรรค์กันระหว่างความศรัทธาในพระเจ้า และความศรัทธาในวัตถุอันนำมาซึ่งความมั่งคั่งสำหรับเดเนียล ‘น้ำมัน' คือสิ่งเดียวที่เขาหลงใหล ยึดมั่น และศรัทธาน้ำมันในหนังเรื่องนี้จึงทำหน้าที่เหมือน ‘เลือด' ที่หล่อเลี้ยงความศรัทธา ความบ้าคลั่ง ความลุ่มหลง ความมั่งคั่ง และความโลภไม่มีที่สิ้นสุดของ ‘มนุษย์' ที่เกี่ยวพันกับมันในฉากที่น้ำมันดิบสีดำเข้มข้นค่อยๆ ผุดขึ้นมาในบ่อแห่งแรกที่เดเนียลขุดเจาะ เขาต้องเสี่ยงชีวิต (ของคนอื่น) เพื่อจะได้เข้าถึง ‘เส้นเลือด' ที่หล่อเลี้ยง ‘ชีวิตใหม่' จากชีวิตของ ‘เดเนียล-นักเสี่ยงโชค' ได้เกิดใหม่ในฐานะ ‘เดเนียล-ผู้บุกเบิกธุรกิจขุดเจาะน้ำมันรายย่อย' และที่ถือกำเนิดขึ้นอีกครั้งในเวลาเดียวกัน คือ เอช.ดับเบิลยู (Dillon Frasier) เด็กชายกำพร้า ผู้สูญเสียพ่อไปเพราะอุปกรณ์ขุดเจาะไม่ได้มาตรฐานที่เดเนียลเลือกใช้แม้ในความเป็นจริง เอช.ดับเบิลยู.และเดเนียลจะไม่มีความเกี่ยวพันใดๆ ทางสายเลือดเลย แต่ ‘น้ำมัน' ได้ทำหน้าที่เสมือนสายเลือดเชื่อมโยงทั้งสองคนเข้าด้วยกัน เพราะ เอช.ดับเบิลยู.กลายเป็น ‘ลูกชาย' ของเดเนียลนับแต่นั้นเป็นต้นมา การที่เดเนียลยกให้ เอช.ดับเบิลยู.เป็น ‘หุ้นส่วน' ช่วยให้ธุรกิจขุดเจาะน้ำมัน ‘ขนาดครอบครัว' ของเขาดำเนินไปได้ด้วยดี เพราะแววตาเย็นชาของเดเนียล ถูกบดบังด้วยใบหน้าใสซื่อของ เอช.ดับเบิลยู.ซึ่งติดตาม ‘พ่อ' ไปทุกหนทุกแห่ง เมื่อประกอบกับคำพูดของเดเนียลที่มักจะกล่าวบ่อยๆ จนกลายเป็นคาถาประจำตัวว่า "ผมเป็นคนรักครอบครัว" หรือเมื่อเขาแนะนำตัว เอช.ดับเบิลยู.ในฐานะ ‘ลูกชายคนเดียว' และ ‘หุ้นส่วนคนสำคัญ' ผู้คนที่เจรจาต่อรองธุรกิจกับเดเนียลก็คงอดไม่ได้ที่จะคล้อยตามว่า ผู้ชายที่รักลูกมากๆ อย่างเขา คงไม่ใช่คนมีเล่ห์เหลี่ยมหรือใจร้ายใจดำอะไรการสร้าง ‘จุดขาย' ว่าเป็นคนรักครอบครัวของเดเนียล จึงไม่ต่างอะไรกับนักธุรกิจ นายทุน ชนชั้นสูง หรือนักโฆษณาที่อวดอ้างว่าพวกตนนั้น ‘ใส่ใจ' ในเรื่องราวต่างๆ รอบตัว นับตั้งแต่ สถาบันครอบครัว, สิ่งแวดล้อม, มนุษย์ร่วมโลก ไปจนถึงสัตว์เล็กสัตว์น้อยทั้งหลาย ซึ่งคงมีแต่พวกเขาเท่านั้นแหละที่รู้ว่า--การสร้างภาพเหล่านั้นขึ้นมา--เกิดจากวัตถุประสงค์อะไรกันแน่ในกรณีของเดเนียล-เขารู้ดีว่าการเป็นคนรักครอบครัวจะช่วยให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้คน เพราะเขาไม่ได้เป็นแค่ ‘นักธุรกิจ' ที่มาต่อรองกับชาวบ้าน แต่เขาพา ‘ครอบครัว' ของตัวเองมาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนด้วย เมื่อเดเนียลเดินทางมายังเมือง ‘ลิตเติลบอสตัน' ตามข้อมูลที่ได้จากเด็กหนุ่มคนหนึ่งว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ เขาก็พา เอช.ดับเบิลยู.มาสำรวจสถานที่ด้วยเช่นเคย ที่นี่ เดเนียลได้พบกับ ‘อีไล ซันเดย์' ลูกชายเจ้าของที่ดินและเป็นพี่ชายของเด็กหนุ่มผู้นำข้อมูลมาบอกกับเขาอีไลพยายามต่อรองราคาที่ดิน เพราะรู้ดีว่าน้ำมันที่อยู่ใต้ผิวดินมีค่ามหาศาล แม้ว่าเดเนียลจะพยายามยกเอาความแห้งแล้งของผืนดินบริเวณนั้นมาเป็นข้ออ้างก็ตามที เดเนียลจึงต่อรองกับอีไลว่าเขาจะจ่ายเงินมัดจำไว้ก่อน เป็นเงินครึ่งหนึ่งของราคาที่ตกลงกันไว้ อีไลต้องการนำเงินจากการขายที่ดินไปสร้างโบสถ์ประจำชุมชน เพราะเขาเชื่อว่ามีเพียง ‘พระผู้เป็นเจ้า' เท่านั้นที่จะยึดเหนี่ยวจิตใจผู้คนซึ่งอยู่อย่างไร้ความหวังในดินแดนอันแห้งแล้ง ‘แม้แต่จะปลูกข้าวสาลีก็ยังไม่ขึ้น'นั่นจึงเป็นการต่อรองครั้งแรกระหว่างผู้อ้างตัวว่าเป็น ‘สาวกของพระเจ้า' และเดเนียลผู้เป็น ‘ตัวแทนแห่งความโลภ' โดยสันดานในขณะที่อีไลสร้างโบสถ์ ‘ตติยาภินิหาร' ขึ้นมาจนได้ เดเนียลก็ยื่นข้อเสนอให้คนในชุมชนด้วยสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากกว่าความรักจากพระผู้เป็นเจ้า นั่นคือ เขาสัญญาว่าจะมีโีรงเรียน มีถนนหนทาง มีแหล่งน้ำ และชาวบ้านจะมีการมีงานทำ การแย่งชิงความเชื่อมั่นศรัทธาจากคนในชุมชนจึงเป็นเรื่องที่เดเนียลและอีไลรู้กันอยู่เพียงสองคน...ฉากหนึ่งซึ่ง ‘ผู้ไม่ศรัทธาในพระเจ้า' อย่างเดเนียลต้องจำใจเข้าร่วม ‘พิธีล้างบาป' หรือรับศีลจุ่มในโบสถ์ของอีไล เพื่อให้ได้สิทธิในการเช่าที่ดินของชายชราคนหนึ่งซึ่งเชื่อในพระเจ้า นั่นจึงเป็น ‘การต่อรองครั้งที่สอง' ของสาวกแห่งพระเจ้าและตัวแทนแห่งความโลภในการต่อรองครั้งแรก อีีไล-ผู้เอ่ยอ้างพระเจ้า ดูจะมีความชอบธรรมในการทวงถามสิ่งที่ครอบครัวของเขาควรจะได้จากการขายที่ดินซึ่งมีมูลค่ามากมายกว่าราคาที่เดเนียลเสนอ แต่ต่อมาเดเนียลกลับปฏิเสธที่จะทำตามข้อตกลงที่ให้ไว้ การต่อรองครั้งที่สองจึงเป็นการ ‘ทวงคืน' อันสาสมของอีไล เพราะเขา ‘ยอม' ให้เดเนียลก้าวเข้ามาในโบสถ์และอาศัยพระนามของพระเจ้าเป็นเครื่องมือ แต่เดเนียลก็ต้อง ‘ยอม' คุกเข่าให้กับสิ่งที่เขาไม่เคยเชื่อ-ไม่เคยศรัทธาเลยแม้แต่น้อย...ความน่าเกลียดน่ากลัวของชาย 2 คนแสดงให้เห็นชัดเจนในฉากนี้ เพราะนี่คือการสมสู่กันระหว่างผู้อ้างว่าพระเจ้าสถิตย์อยู่กับตนและคนบาปผู้มองไม่เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น จริงอยู่...เดเนียลไม่ใช่ตัวแทนแห่งความดีงาม เขาไม่เคยไว้ใจใครเลยสักคน หากลึกๆ แล้วเขายังคงปรารถนา ‘ผู้มีสายเลือดเดียวกัน' มาคอยยึดเหนี่ยวและย้ำเตือนว่า ‘เขาไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว' การที่เดเนียลทำทุกวิถีทางให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ ส่วนหนึ่งมาจากความอุตสาหะพยายามและไม่ยอมแพ้่ต่อโชคชะตา เพียงแต่ว่า ระหว่างทางไปยังจุดหมายปลายทางของเขานั้นมันเต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบและวิธีการอันโสมม ต้องแลกมาด้วยชีวิต ความสูญเสีย และน้ำตาของผู้คนจำนวนไม่น้อย ขณะเดียวกัน ความศรัทธาในพระเจ้าของอีไล (ซึ่งควรจะนับว่าเป็นสิ่งดีงาม) กลับถูก ‘แปรรูป' ได้ง่ายดายไม่ต่างกัน นับตั้งแต่การต่อรองครั้งแรกที่อีไลต้องการสร้างโบสถ์ เพื่อเป็นตัวแทนพระเจ้า เยียวยาความเจ็บปวดของคนในชุมชน แต่เขาก็ต้องต่อรองกับคนอย่างเดเนียลให้ได้มาซึ่ง ‘เงิน' และได้มาซึ่ง ‘วัตถุ' ที่จะนำไปสร้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารกับพระเจ้า ถ้าจะว่าไป ความทะยานอยากของเดเนียลอาจทำให้เขา ‘ฉกฉวย' มาจากผู้อื่น แต่เขาก็ยังต่อรอง แลกเปลี่ยน และ ‘ให้' บางสิ่งบางอย่าง ‘กลับคืน' ไป ในขณะที่อีไลต่างหากที่เอาแต่ ‘รับ' อยู่ฝ่ายเดียว และไม่เคยให้อะไรใครกลับไปนอกจาก ‘ความศรัทธาและคำเทศนาจอมปลอม' แม้กระทั่ง ‘การต่อรองครั้งที่สอง' ที่เดเนียลยอมกลืนเลือดตัวเองด้วยการเดินเข้ามาในโบสถ์ สิ่งที่อีไลมอบให้เดเนียลกลับไม่ใช่การ ‘ล้างบาป' แต่เป็นเพียงการ ‘ล้างอาย' ให้ตัวเองเท่านั้นด้วยประเด็นที่หนักหน่วงที่ว่ามาทั้งหมด รวมถึงการใช้ความเงียบงันสลับกับเสียงเหตุการณ์อันอึกทึก (ดนตรีประกอบฝีมือ Jonny Greenwood จากวง Radiohead) ทำให้เรื่องราวใน There will be blood ดูกดดันและหม่นมัวชวนให้อึดอัดใจนี่จึงไม่ใช่หนังที่คนดูจะเดินออกจากโรงพร้อมกับความรู้สึกดีๆ แต่เป็นหนังที่ทำให้เกิดคำถาม ทั้งกับตัวเองและผู้คนรอบตัว เพราะถึงแม้ว่านี่จะเป็นหนังวิพากษ์สังคมอเมริกันใน ‘ยุคทอง' ของการขุดหาน้ำมันเมื่อตอนต้นศตวรรษที่ 20 แต่เรื่องราวที่กล่าวถึงความโลภ-การแสวงหาน้ำมัน-ผลประโยชน์มหาศาล รวมถึงการอ้างศรัทธาในพระเจ้า ได้สะท้อนภาพอีกมากมายที่เราคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยเห็นเช่นกันในช่วงเวลาปัจจุบันของศตวรรษที่ 21 คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจถ้าใครบางคนดูเรื่องนี้แล้วจะนึกไปถึงสงครามที่อิรัก, สงครามที่อัฟกานิสถาน หรือแม้แต่การที่สหรัฐอเมริกาส่งทหารไปรบในสงครามอ่าวที่ประเทศคูเวตเมื่อสิบกว่าปีก่อน เพราะประโยคที่ว่า ‘In God We Trust' เคียงคู่ชาวอเมริกันผู้เชื่อมั่นในพระเจ้ามายาวนานหลายทศวรรษแล้ว...รวมถึงการกล่าวอ้างคุณธรรม-ความชอบธรรม-มนุษยธรรม-และภารกิจสำคัญที่สหรัฐอเมริกาต้องทำในฐานะที่เป็นผู้อภิบาลความดีของโลกห่วยแตกใบนี้ด้วยถึงตอนนี้คงตอบได้ยากว่า ระหว่าง ‘มนุษย์ผู้ชั่วร้าย' กระหายเลือด เห็นแ่ก่ตัว กับ ‘ผู้กล่าวอ้างพระเจ้าที่ไม่เคยเข้าถึงพระเจ้า' อย่างไหนจะน่ากลัวกว่ากันแต่ที่แน่ๆ ก็คือ ถ้าคุณสมบัติสองประเภทที่ว่ามารวมกันได้ คงเป็นเรื่องน่ากลัวที่สุดแล้ว...