Skip to main content

 

:::Spoil::: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาที่สำคัญของภาพยนตร์ :::Spoil:::

 

เวลา 2 ชั่วโมงกว่า (158 นาที) ในหนัง There will be blood - ผลงานเรื่องที่ 5 ของผู้กำกับ Paul Thomas Anderson คือเรื่องราวในด้านที่มืดดำของมนุษย์ เต็มไปด้วยความโลภ ความอ่อนแอ สันดานดิบ และแน่นอน...มันรวมไปถึงการสร้างศรัทธา' ด้วยวิธีการอันน่าขนลุกด้วย...

เราได้รู้จัก เดเนียล เพลนวิว' (Daniel Day-Lewis) นักเสี่ยงโชคที่ตั้งใจทำเหมืองเงิน แต่บังเอิญได้ที่ดินซึ่งมีน้ำมันดิบนอนสงบนิ่งอยู่ใต้พื้นมาแทน

โลกของเดเนียลไม่มีคำว่า สุดแท้แต่โชคชะตา' หรือ ศรัทธา' ไม่มีแม้กระทั่งคำว่า พระผู้เป็นเจ้า' แต่สิ่งที่เขายึดถือเป็นสรณะแห่งชีวิตคือ ความมั่งคั่ง' ไม่ว่ามันจะมาในรูปแบบไหนก็ตาม

เมื่อที่ดินซึ่งคิดว่าเป็นเหมืองเงินกลายเป็นขุมน้ำมันซึ่งเปรียบเหมือน ทองคำสีดำ' หรือ Black Gold เดเีนียลก็พร้อมที่จะเบนเข็มจากการทำเหมืองไปขุดหาน้ำมันโดยทันที จนในที่สุด เขาก็ได้เป็น นักธุรกิจขุดเจาะน้ำมันรายย่อย' ที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง

ทุกๆ การกระทำของเขาเกิดจากความมานะบากบั่น ผนวกกับเล่ห์เหลี่ยมฉ้อฉลเพื่อให้ตัวเองบรรลุถึงเป้าหมาย ซึ่งจะว่าไปแล้วการกระทำของเดเนียลไม่แตกต่างจากสิ่งที่นายทุนทุกยุคทุกสมัยพึงกระทำ นั่นคือการคาดหวังว่าจะได้' ในสิ่งที่ดีที่สุด แต่ยินยอมจะสูญเสีย' ในสิ่งที่ตัวเองมีให้น้อยที่สุด

แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม There will be blood ไม่ได้เป็นแค่เรื่องราวของนายทุนขี้โกงที่แพ้ภัยตัวเองในตอนจบ หากนี่คือการปะทะสังสรรค์กันระหว่างความศรัทธาในพระเจ้า และความศรัทธาในวัตถุอันนำมาซึ่งความมั่งคั่ง

สำหรับเดเนียล น้ำมัน' คือสิ่งเดียวที่เขาหลงใหล ยึดมั่น และศรัทธา

น้ำมันในหนังเรื่องนี้จึงทำหน้าที่เหมือน เลือด' ที่หล่อเลี้ยงความศรัทธา ความบ้าคลั่ง ความลุ่มหลง ความมั่งคั่ง และความโลภไม่มีที่สิ้นสุดของ มนุษย์' ที่เกี่ยวพันกับมัน

ในฉากที่น้ำมันดิบสีดำเข้มข้นค่อยๆ ผุดขึ้นมาในบ่อแห่งแรกที่เดเนียลขุดเจาะ เขาต้องเสี่ยงชีวิต (ของคนอื่น) เพื่อจะได้เข้าถึง เส้นเลือด' ที่หล่อเลี้ยง ชีวิตใหม่'

จากชีวิตของเดเนียล-นักเสี่ยงโชค' ได้เกิดใหม่ในฐานะ เดเนียล-ผู้บุกเบิกธุรกิจขุดเจาะน้ำมันรายย่อย' และที่ถือกำเนิดขึ้นอีกครั้งในเวลาเดียวกัน คือ เอช.ดับเบิลยู (Dillon Frasier) เด็กชายกำพร้า ผู้สูญเสียพ่อไปเพราะอุปกรณ์ขุดเจาะไม่ได้มาตรฐานที่เดเนียลเลือกใช้

แม้ในความเป็นจริง เอช.ดับเบิลยู.และเดเนียลจะไม่มีความเกี่ยวพันใดๆ ทางสายเลือดเลย แต่ น้ำมัน' ได้ทำหน้าที่เสมือนสายเลือดเชื่อมโยงทั้งสองคนเข้าด้วยกัน เพราะ เอช.ดับเบิลยู.กลายเป็น ลูกชาย' ของเดเนียลนับแต่นั้นเป็นต้นมา

การที่เดเนียลยกให้ เอช.ดับเบิลยู.เป็น หุ้นส่วน' ช่วยให้ธุรกิจขุดเจาะน้ำมัน ขนาดครอบครัว' ของเขาดำเนินไปได้ด้วยดี เพราะแววตาเย็นชาของเดเนียล ถูกบดบังด้วยใบหน้าใสซื่อของ เอช.ดับเบิลยู.ซึ่งติดตาม พ่อ' ไปทุกหนทุกแห่ง

เมื่อประกอบกับคำพูดของเดเนียลที่มักจะกล่าวบ่อยๆ จนกลายเป็นคาถาประจำตัวว่า "ผมเป็นคนรักครอบครัว" หรือเมื่อเขาแนะนำตัว เอช.ดับเบิลยู.ในฐานะ ลูกชายคนเดียว' และ หุ้นส่วนคนสำคัญ' ผู้คนที่เจรจาต่อรองธุรกิจกับเดเนียลก็คงอดไม่ได้ที่จะคล้อยตามว่า ผู้ชายที่รักลูกมากๆ อย่างเขา คงไม่ใช่คนมีเล่ห์เหลี่ยมหรือใจร้ายใจดำอะไร

การสร้าง จุดขาย' ว่าเป็นคนรักครอบครัวของเดเนียล จึงไม่ต่างอะไรกับนักธุรกิจ นายทุน ชนชั้นสูง หรือนักโฆษณาที่อวดอ้างว่าพวกตนนั้น ใส่ใจ' ในเรื่องราวต่างๆ รอบตัว นับตั้งแต่ สถาบันครอบครัว, สิ่งแวดล้อม, มนุษย์ร่วมโลก ไปจนถึงสัตว์เล็กสัตว์น้อยทั้งหลาย ซึ่งคงมีแต่พวกเขาเท่านั้นแหละที่รู้ว่า--การสร้างภาพเหล่านั้นขึ้นมา--เกิดจากวัตถุประสงค์อะไรกันแน่

ในกรณีของเดเนียล-เขารู้ดีว่าการเป็นคนรักครอบครัวจะช่วยให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้คน เพราะเขาไม่ได้เป็นแค่ นักธุรกิจ' ที่มาต่อรองกับชาวบ้าน แต่เขาพา ครอบครัว' ของตัวเองมาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนด้วย

เมื่อเดเนียลเดินทางมายังเมือง ลิตเติลบอสตัน' ตามข้อมูลที่ได้จากเด็กหนุ่มคนหนึ่งว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ เขาก็พา เอช.ดับเบิลยู.มาสำรวจสถานที่ด้วยเช่นเคย

ที่นี่ เดเนียลได้พบกับ อีไล ซันเดย์' ลูกชายเจ้าของที่ดินและเป็นพี่ชายของเด็กหนุ่มผู้นำข้อมูลมาบอกกับเขา

อีไลพยายามต่อรองราคาที่ดิน เพราะรู้ดีว่าน้ำมันที่อยู่ใต้ผิวดินมีค่ามหาศาล แม้ว่าเดเนียลจะพยายามยกเอาความแห้งแล้งของผืนดินบริเวณนั้นมาเป็นข้ออ้างก็ตามที เดเนียลจึงต่อรองกับอีไลว่าเขาจะจ่ายเงินมัดจำไว้ก่อน เป็นเงินครึ่งหนึ่งของราคาที่ตกลงกันไว้

อีไลต้องการนำเงินจากการขายที่ดินไปสร้างโบสถ์ประจำชุมชน เพราะเขาเชื่อว่ามีเพียง พระผู้เป็นเจ้า' เท่านั้นที่จะยึดเหนี่ยวจิตใจผู้คนซึ่งอยู่อย่างไร้ความหวังในดินแดนอันแห้งแล้ง แม้แต่จะปลูกข้าวสาลีก็ยังไม่ขึ้น'

นั่นจึงเป็นการต่อรองครั้งแรกระหว่างผู้อ้างตัวว่าเป็น สาวกของพระเจ้า' และเดเนียลผู้เป็น ตัวแทนแห่งความโลภ' โดยสันดาน

ในขณะที่อีไลสร้างโบสถ์ ตติยาภินิหาร' ขึ้นมาจนได้ เดเนียลก็ยื่นข้อเสนอให้คนในชุมชนด้วยสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากกว่าความรักจากพระผู้เป็นเจ้า นั่นคือ เขาสัญญาว่าจะมีโีรงเรียน มีถนนหนทาง มีแหล่งน้ำ และชาวบ้านจะมีการมีงานทำ

การแย่งชิงความเชื่อมั่นศรัทธาจากคนในชุมชนจึงเป็นเรื่องที่เดเนียลและอีไลรู้กันอยู่เพียงสองคน...

ฉากหนึ่งซึ่ง ผู้ไม่ศรัทธาในพระเจ้า' อย่างเดเนียลต้องจำใจเข้าร่วม พิธีล้างบาป' หรือรับศีลจุ่มในโบสถ์ของอีไล เพื่อให้ได้สิทธิในการเช่าที่ดินของชายชราคนหนึ่งซึ่งเชื่อในพระเจ้า นั่นจึงเป็น การต่อรองครั้งที่สอง' ของสาวกแห่งพระเจ้าและตัวแทนแห่งความโลภ

ในการต่อรองครั้งแรก อีีไล-ผู้เอ่ยอ้างพระเจ้า ดูจะมีความชอบธรรมในการทวงถามสิ่งที่ครอบครัวของเขาควรจะได้จากการขายที่ดินซึ่งมีมูลค่ามากมายกว่าราคาที่เดเนียลเสนอ แต่ต่อมาเดเนียลกลับปฏิเสธที่จะทำตามข้อตกลงที่ให้ไว้ การต่อรองครั้งที่สองจึงเป็นการ ทวงคืน' อันสาสมของอีไล เพราะเขา ยอม' ให้เดเนียลก้าวเข้ามาในโบสถ์และอาศัยพระนามของพระเจ้าเป็นเครื่องมือ แต่เดเนียลก็ต้องยอม' คุกเข่าให้กับสิ่งที่เขาไม่เคยเชื่อ-ไม่เคยศรัทธาเลยแม้แต่น้อย...

ความน่าเกลียดน่ากลัวของชาย 2 คนแสดงให้เห็นชัดเจนในฉากนี้ เพราะนี่คือการสมสู่กันระหว่างผู้อ้างว่าพระเจ้าสถิตย์อยู่กับตนและคนบาปผู้มองไม่เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

จริงอยู่...เดเนียลไม่ใช่ตัวแทนแห่งความดีงาม เขาไม่เคยไว้ใจใครเลยสักคน หากลึกๆ แล้วเขายังคงปรารถนา ผู้มีสายเลือดเดียวกัน' มาคอยยึดเหนี่ยวและย้ำเตือนว่า เขาไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว'

การที่เดเนียลทำทุกวิถีทางให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ ส่วนหนึ่งมาจากความอุตสาหะพยายามและไม่ยอมแพ้่ต่อโชคชะตา เพียงแต่ว่า ระหว่างทางไปยังจุดหมายปลายทางของเขานั้นมันเต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบและวิธีการอันโสมม ต้องแลกมาด้วยชีวิต ความสูญเสีย และน้ำตาของผู้คนจำนวนไม่น้อย

ขณะเดียวกัน ความศรัทธาในพระเจ้าของอีไล (ซึ่งควรจะนับว่าเป็นสิ่งดีงาม) กลับถูก แปรรูป' ได้ง่ายดายไม่ต่างกัน นับตั้งแต่การต่อรองครั้งแรกที่อีไลต้องการสร้างโบสถ์ เพื่อเป็นตัวแทนพระเจ้า เยียวยาความเจ็บปวดของคนในชุมชน แต่เขาก็ต้องต่อรองกับคนอย่างเดเนียลให้ได้มาซึ่ง เงิน' และได้มาซึ่ง วัตถุ' ที่จะนำไปสร้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารกับพระเจ้า

ถ้าจะว่าไป ความทะยานอยากของเดเนียลอาจทำให้เขา ฉกฉวย' มาจากผู้อื่น แต่เขาก็ยังต่อรอง แลกเปลี่ยน และให้' บางสิ่งบางอย่างกลับคืน' ไป ในขณะที่อีไลต่างหากที่เอาแต่ รับ' อยู่ฝ่ายเดียว และไม่เคยให้อะไรใครกลับไปนอกจาก ความศรัทธาและคำเทศนาจอมปลอม'

แม้กระทั่ง การต่อรองครั้งที่สอง' ที่เดเนียลยอมกลืนเลือดตัวเองด้วยการเดินเข้ามาในโบสถ์ สิ่งที่อีไลมอบให้เดเนียลกลับไม่ใช่การ ล้างบาป' แต่เป็นเพียงการ ล้างอาย' ให้ตัวเองเท่านั้น

ด้วยประเด็นที่หนักหน่วงที่ว่ามาทั้งหมด รวมถึงการใช้ความเงียบงันสลับกับเสียงเหตุการณ์อันอึกทึก (ดนตรีประกอบฝีมือ Jonny Greenwood จากวง Radiohead) ทำให้เรื่องราวใน There will be blood ดูกดดันและหม่นมัวชวนให้อึดอัดใจ

นี่จึงไม่ใช่หนังที่คนดูจะเดินออกจากโรงพร้อมกับความรู้สึกดีๆ แต่เป็นหนังที่ทำให้เกิดคำถาม ทั้งกับตัวเองและผู้คนรอบตัว

เพราะถึงแม้ว่านี่จะเป็นหนังวิพากษ์สังคมอเมริกันใน ยุคทอง' ของการขุดหาน้ำมันเมื่อตอนต้นศตวรรษที่ 20 แต่เรื่องราวที่กล่าวถึงความโลภ-การแสวงหาน้ำมัน-ผลประโยชน์มหาศาล รวมถึงการอ้างศรัทธาในพระเจ้า ได้สะท้อนภาพอีกมากมายที่เราคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยเห็นเช่นกันในช่วงเวลาปัจจุบันของศตวรรษที่ 21

คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจถ้าใครบางคนดูเรื่องนี้แล้วจะนึกไปถึงสงครามที่อิรัก, สงครามที่อัฟกานิสถาน หรือแม้แต่การที่สหรัฐอเมริกาส่งทหารไปรบในสงครามอ่าวที่ประเทศคูเวตเมื่อสิบกว่าปีก่อน

เพราะประโยคที่ว่า ‘In God We Trust' เคียงคู่ชาวอเมริกันผู้เชื่อมั่นในพระเจ้ามายาวนานหลายทศวรรษแล้ว...

รวมถึงการกล่าวอ้างคุณธรรม-ความชอบธรรม-มนุษยธรรม-และภารกิจสำคัญที่สหรัฐอเมริกาต้องทำในฐานะที่เป็นผู้อภิบาลความดีของโลกห่วยแตกใบนี้ด้วย

ถึงตอนนี้คงตอบได้ยากว่า ระหว่าง มนุษย์ผู้ชั่วร้าย' กระหายเลือด เห็นแ่ก่ตัว กับผู้กล่าวอ้างพระเจ้าที่ไม่เคยเข้าถึงพระเจ้า' อย่างไหนจะน่ากลัวกว่ากัน

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ถ้าคุณสมบัติสองประเภทที่ว่ามารวมกันได้ คงเป็นเรื่องน่ากลัวที่สุดแล้ว...

 

บล็อกของ Cinemania

Cinemania
โดย… พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ
Cinemania
      ซาเสียวเอี้ย   แต่ไหนแต่ไรมา...ระบบการศึกษาในพื้นที่หลายแห่งทั่วโลกมักถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการ ‘ดับฝัน’ ของคนวัยหนุ่มสาว เพราะทำให้ความอยากรู้อยากเห็นและกระตือรือร้นที่จะ ‘เรียนรู้’ สิ่งแปลกใหม่ในวัยเยาว์ถูกลบเลือนหายไปในกรอบ-กฎเกณฑ์-เหตุผล-เงื่อนไข และข้อเท็จจริงทั้งหลายทั้งปวง (ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีโอกาสเกิดมาใช้ชีวิตบนโลกก่อนหน้าเรา...)   กระนั้น...ใครหลายคนก็ยังยินดีเดินตามแนวทางหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่ถูกวางไว้แล้วโดยไม่เคยคิดตั้งคำถาม เพื่อแลกเปลี่ยนกับ ‘การยอมรับ’ จากสังคมรอบข้าง...เพื่อที่มนุษย์ทั้งหลาย (ซึ่งเป็นสัตว์สังคม)…
Cinemania
        ซาเสียวเอี้ย   ‘ชาร์ลี วิลสัน’ ตายแล้ว...   แม้การตายของเขาจะไม่ได้ทำให้โลกสะท้านสะเทือนอะไรมากนัก แต่ก็มีความหมายสลักสำคัญมิใช่น้อย เพราะบทบาทของวิลสันในสมัยที่เขายังหนุ่มแน่นและดำรงตำแหน่ง สว.รัฐเท็กซัสของสหรัฐอเมริกา เป็นประเด็นให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ถกเถียงกันไม่สิ้นสุดว่าควรจะจดจำเขาไว้ในฐานะอะไร...   บ้างก็ว่า ชาร์ลี วิลสัน คือ ‘นักการเมืองเจ้าสำราญ’ เจ้าของฉายา Good Time Charlie ผู้มีชีวิตโลดโผนเต็มไปด้วยสีสัน หรือเป็น ‘วีรบุรุษชาวอเมริกัน’ ผู้ช่วยให้นักรบมูจาฮิดีนขับไล่กองทัพสหภาพโซเวียตอันโหดร้ายป่าเถื่อนไปจากอัฟกานิสถาน…
Cinemania
themadmon หมายเหตุ: ข้อเขียนชิ้นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น บทสะท้อนย้อนคิดหลังจากการชมภาพยนตร์เรื่อง Air Doll ผมในฐานะที่เป็นผู้เขียนจงใจจะหยิบเลือกประเด็น (ซึ่งผ่านการตีความของผม) โดยไม่ได้อ้างอิงอย่างชัดเจนไปสู่ตัวภาพยนตร์ในแต่ละฉากแต่ละตอน โดยหวังว่าผู้ที่ยังไม่ได้ชมภาพยนตร์ก็สามารถอ่านได้ และผู้ที่ได้ชมภาพยนตร์แล้วจะสามารถระลึกถึงฉากต่างๆ ในภาพยนตร์ได้ด้วยเช่นกัน     หากลองพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ในสามประโยค  ผมคงพูดสั้นๆ ว่า.. “ผู้คนหลากหลาย เราต่างก็ว่างเปล่า และเหงามากมาย”  เพราะอะไรน่ะหรือ …
Cinemania
  บริวารเงา   ขงจื๊อ เป็นชื่อหนึ่งที่ผมได้ยินมาเนิ่นนาน ถ้าจำไม่ผิดอาจจะเป็นหนังจีนกำลังภายในสักเรื่องหนึ่งที่อ้างชื่อนี้ขึ้นมาเพื่อพูดถึงปรัชญาในเรื่องคุณธรรมน้ำมิตร ผมมารู้จักเขาอีกครั้งในห้องสมุดช่วงที่กำลังสนใจพวกวิชาปรัชญา จิตวิทยา วรรณกรรม ฯลฯ  แต่ผมกลับไปชอบปรมาจารย์จีนอีกคนคือ เล่าจื๊อ เสียมากกว่า เพราะว่าแกมีความคิดที่ 'แนว' ดี (อารมณ์ของวัยรุ่นเช่นนี้แล) อีกนัยหนึ่งก็ดูเพี้ยน ๆ อีกนัยหนึ่งก็มีอารมณ์ศิลปินกว่าขงจื๊อ ขณะที่ผมเห็นว่าขงจื๊อเอาแต่พร่ำบ่นอะไรที่เป็นหลักจริยธรรมน่าเบื่อ ๆ ซึ่งความน่าเบื่อนี้ไม่ใช่ความผิดของขงจื๊อเสียทีเดียว…
Cinemania
เดือนสองจันทร์   October Sonata: รักที่รอคอย
Cinemania
สุพิชชา โมนะตระกูล ตลอดช่วงเวลาขณะชมภาพยนตร์สารคดี “Our Daily Bread” ผู้เขียนรู้สึกตะลึงกับภาพที่ได้รับชม โดยสาเหตุหลักหาใช่ “ความงาม” ของสีสันหรือองค์ประกอบศิลป์แบบภาพที่ผู้กำกับภาพบรรจงจัดวางอย่างภาพยนตร์ที่มีภาพงามเรื่องอื่นๆ...หากเป็น “ความจริง” ของภาพที่ตรึงผู้เขียนไว้ตลอดระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง
Cinemania
  สาวกท่านเป้า ขณะที่กำลังตุรัดตุเหร่ในร้านหนังสือแอร์เย็นเฉียบ เพื่อตามหานิตยสารมือถือฉบับหนึ่ง บังเอิญเหลือบไปเห็นนิตยสารฉบับหนึ่งที่นำภาพโปรโมทภาพยนตร์ “วงษ์คำเหลา” มาขึ้นปก แต่เมื่อหยิบมาจึงรู้ว่าเป็นปกหลัง แต่ปกหน้าก็ยังเป็นวงษ์คำเหลาอยู่ดี จึงเริ่มรู้ตัวว่าถูกหลอกแดกเสียแล้ว มีที่ไหนวางขายนิตยสารโดยเอาปกหลังเป็นตัวชูโรง นิตยสารฉบับนั้นคือนิตยสารภาพยนตร์ของกลุ่มคนทวนกระแสที่ชื่อว่า “ไบโอสโคป”
Cinemania
   เคยได้ยินครูสอนประวัติศาสตร์บอกว่าคนอเมริกันมีปมเรื่องรากเหง้าทางวัฒนธรรม เพราะไม่ได้มีฐานที่มั่นคงแข็งแรงเท่าประเทศแถบยุโรปที่ผ่านการต่อสู้ก่อร่างสร้างชาิติและบ่มเพาะอารยธรรมมานานหลายศตวรรษ และต่อให้ ‘สหรัฐอเมริกา' เป็นถึงประเทศมหาอำนาจแห่งโลกสมัยใหม่ ก็ยังไม่วายถูกมองเป็นแค่ ‘เศรษฐีใหม่' หรือ ‘ชนชาติที่ไร้วัฒนธรรม' แถมยัง ‘บ้าอำนาจ' อีกต่างหากในสายตาของคนบางชาติถึงจะไม่แน่ใจว่าประโยคที่ได้ยินมาถูกต้องมากน้อยแค่ไหน แต่การที่สังคมอเมริกันให้ความสำคัญ (อย่างมาก)กับการเก็บรวบรวมประวัติศาสตร์ชาตินิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็คงพอจะเป็นภาพสะท้อนได้กลายๆ ว่าคนอเมริกันคงมี ‘ปม'…
Cinemania
 'มาริโอ โรปโปโร' เป็นลูกชายชาวประมง เติบโตมาบนเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งในอิตาลี ที่ซึ่งไม่มีน้ำประปาและผู้คนบนเกาะส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ...‘ปาโบล เนรูด้า' เป็นกวี-นักการทูต-นักการเมือง และเป็น ‘คอมมิวนิสต์' ชาวชิลี มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก แต่ต้องลี้ภัยไปอยู่บนเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งในอิตาลีช่วงปี 1952 และที่นั่นมีบุรุษไปรษณีย์เพียงคนเดียว...บุรุษไปรษณีย์นามว่า ‘มาริโอ โรปโปโร':::บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์::: Il Postino หรือ The Postman เป็นหนังภาษาอิตาลี แต่เป็นผลงานของผู้กำกับชาวอังกฤษ ‘ไมเคิล แรดฟอร์ด' ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์หลายสาขาเมื่อปี 2538…
Cinemania
  ..mad mon..::ข้อเขียนชิ้นนี้เปิดเผยเรื่องราวบางส่วนในภาพยนตร์:: 1. จุดเริ่มต้นของจุดจบและ/หรือจุดเริ่มต้นอันใหม่เรื่องราวปัจจุบันในภาพยนตร์บอกให้เรารู้ว่าเมื่อ 30 ปีก่อนนั้น Laura (Belén Rueda) เคยใช้ชีวิตช่วงเวลาหนึ่งอยู่ในสถานเลี้ยงดูเด็กกำพร้าแห่งหนึ่งก่อนที่เธอจะถูกรับไปเลี้ยง สถานเลี้ยงเด็กนั้นอาจเรียกว่าอยู่ในพื้นที่ชนบทซึ่งห่างไกลผู้คน ตั้งอยู่ไม่ไกลชายหาดและทะเลซึ่งมีประภาคารสูงใหญ่คอยส่องไฟนำทาง และถ้ำอีกอันหนึ่ง, สถานที่ซึ่งเป็นอดีตแห่งความทรงจำของเธอ ... 30 ปีต่อมา Laura กลับมาที่แห่งนี้อีกครั้ง เมื่อเธอ, สามีของเธอ - Carlos (Fernando Cayo), และ Simón (Roger Príncep)…
Cinemania
(เขียนเมื่อ 31 ธ.ค.51)จันทร์ ในบ่อ สิ้นปีกันเสียที บรรยากาศตึงๆ ปีนี้อาจทำให้ใครหลายคนอึดอัดและทำท่าจะลากยาวไปถึงปีหน้า ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ  คนสู้ๆ กับปัญหาที่รุมเร้า แต่ถ้าเครียดมากลองผ่อนคลายกันด้วยการหาหนังดูมาสักเรื่องสองเรื่อง จะซื้อ จะเช่ามานั่งดูที่บ้านหรือจะออกไปดูตามโรงภาพยนตร์ต่างๆ ก็ได้ ลองออกจากโลกความจริงไปอยู่ในโลกอื่นสักชั่วโมงสองชั่วโมงอาจจะสบายใจขึ้นส่วนถ้าใครยังไม่รู้จะดูเรื่องอะไร ที่ไหนอย่างไร ผมก็มีโปรแกรมหนังรับปีใหม่มาฝาก เป็นหนังฟรีกลางแปลงครับหลายคนคงไม่ค่อยทราบว่าที่มหาวิทยาลัยศิลปากรจะจัดเทศการหนังกลางแปลงกันทุกปี ในวันที่ 7-8-9 มกราคม 2552…