Skip to main content
new media watch
ประกาศตัวเป็น 'นิตยสารออนไลน์' รายล่าสุดที่เปิดให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตดาวน์โหลดเนื้อหาข้างในเล่มมาอ่านกันได้ฟรีๆ ทุกหน้า ที่ www.modepanya.com ด้วยความตั้งใจของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไฟแรง คือ ณ พงศ์ วรัญญานนท์, เวสารัช โทณผลิน และ ศิริพร ฤกษ์สิรินุกูล ที่อยากสร้างสรรค์สารคดีเสริมปัญญาให้นักอ่านได้เสพสาระและความบันเทิงกันแบบไม่ต้องอาศัยทุนรอนมากนัก (ที่สำคัญ-ไม่ต้องตัดต้นไม้มาทำหนังสือ ช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนไปได้อีกนิดหน่อย)แม้จะไม่ใช่หนังสือทำอาหาร แต่บทความหลายชิ้นช่วยบำรุงสมองนักอ่านได้ดี มีสรรพคุณด้านการกระตุ้นความคิด ซึ่งอาจจะฟังดูขัดแย้งกับชื่อ 'หมดปัญญา' ที่เป็นหัวนิตยสารอยู่บ้าง แต่คนทำก็แก้ต่างไว้ในบทบรรณาธิการว่า แท้จริงแล้ว 'หมดปัญญา' เป็นคำย่อที่กร่อนมาจาก 'โหมดปัญญา' Modepanya นี่เองบทสัมภาษณ์หลากหลายในฉบับแรก สำแดงความบ้าพลังของคนทำเป็นอย่างดี อาทิ การคุยกับ 'สุชาติ สวัสดิ์ศรี' หรือ 'สิงห์สนามหลวง' 'ประกาย ปรัชญา' ผู้ดำรงชีวิตด้วยการเป็นกวี 'ตุลย์ ไวฑูรย์เกียรติ' นักแต่งเพลงผู้กำลังเล่นเกมภาษา รวมถึง 'สายสวรรค์ ขยันยิ่ง' ผู้คว้ารางวัลเกียรติยศด้านการใช้ภาษาไทย นอกจากนั้นยังมีกราฟิกสวยที่รวมภาพแบบเรียนตั้งแต่ยุคแรกไปจนถึงยุคสร้างชาติและยุคล่า (สุด) ภายใต้คอนเสปต์รวมๆ เรื่อง 'ภาษา' ที่มีความเกี่ยวพันโยงใยกับเราทุกคน...ของดีๆ แล้วยังเปิดให้อ่านฟรีๆ แบบนี้...ใครไม่อ่านก็คง 'หมดปัญญา' เหมือนกันแหละ
เมธัส บัวชุม
นิตยสาร “ราหูอมจันทร์” เกิดขึ้นท่ามกลางความซบเซาทั้งทางด้านการเขียน การอ่านและการวิจารณ์ของแวดวงเรื่องสั้นไทย ราหูอมจันทร์ เป็นนิตยสารรายครึ่งปีหรือที่ทางผู้จัดทำเรียกว่ารายฤดูกาล เป็นการคัดสรรเรื่องสั้นที่มีผู้ส่งไปจากทั่วสารทิศเพื่อรวมพิมพ์เป็นเล่มบรรดาคอเรื่องสั้น ต่างวาดหวังว่าการมาถึงของราหูอมจันทร์อาจช่วยให้วงการคึกคักขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย   อย่างไรก็ตาม เมื่อได้อ่านแล้ว ต้องกล่าวตามตรงว่าราหูอมจันทร์ Vol. 3 “วันปลดปล่อยผีเสื้อ” นั้นมีระดับคุณภาพที่น่าผิดหวังไม่น้อย ทางผู้จัดทำนิตยสารนี้คือกองทุน “กนกพงศ์  สงสมพันธุ์” ก็ยอมรับว่า“ราหูอมจันทร์ Vol. 3 แม้ว่าระดับความพอใจในคุณภาพจะยังขาดเกินส่วนผสมบางอย่าง แต่จากเรื่องสั้นทั้งหมด 76 เรื่องซึ่งเลือกเฟ้นออกมาได้ 12 เรื่อง คงจะพอร้องแรกแหกกระเชอไล่ราหูได้”เรื่องสั้นที่ถูกนำมาเป็นชื่อหนังสือคือ “13 กุมภาพันธ์ วันปลดปล่อยผีเสื้อ”  นั้น ผมไม่ค่อยเข้าใจนัก ไม่เข้าใจว่าทำไมวันแห่งการจากไปของ “ฮีโร่” ซึ่งเป็นนักรบจากอเมริกาใต้และเป็นศัตรูตัวฉกาจของมหาอำนาจอเมริกา กับความตายของ “จิมมี่” เพื่อนนักดนตรี จึงกลายเป็นวันปลดปล่อยผีเสื้อไปได้ หรือทั้งคู่เปรียบเหมือนผีเสื้อที่ได้รับการปลดปล่อยด้วยความตาย ? ผมคงอ่านเรื่องสั้นชิ้นนี้ไม่แตกจึงไม่เกิดความรู้สึกประทับใจเรื่องสั้น “บักหัวแดง” ของ “ไพฑูรย์  ธัญญา” อ่านสนุกด้วยลีลาภาษาพื้นบ้านอีสาน ประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องสั้นนี้ก็คือการชี้ให้เห็นว่าการแต่งงานของผู้หญิงอีสานกับฝรั่ง แล้วอาศัยตั้งรกรากที่อีสานบ้านเกิดฝ่ายหญิงนั้น คนที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบไม่ใช่ผู้หญิงแต่กลับเป็นฝรั่งพลัดถิ่นที่แทบไม่มีอำนาจต่อรอง เมื่อถูกฝ่ายหญิงและญาติสูบเงินไปหมดแล้ว ฝรั่งก็ไม่มีความหมายอะไรอีก เรื่องสั้นนี้ชวนให้มองความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงไทยกับฝรั่งเสียใหม่ หลังจากที่เรื่องสั้นจำนวนไม่น้อยก่อนหน้านี้เอาแต่คร่ำครวญถึงความทุกข์ยากของคนอีสาน“ผัวฝรั่งนำความมั่งคั่งมาสู่นางเอกและแม่ผัว พวกหล่อนโก้หรูฟู่ฟ่า เปลี่ยนจากเถียงนามาอยู่คฤหาสน์หลังใหญ่ เปลี่ยนจากนั่งมอเตอร์ไซค์มานั่งโตโยต้าวีโก้ แต่เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ความรักที่เคยหวานชื่นก็แปรมาเป็นขมขื่น อีหล่าเริ่มออกแววน้ำเน่า แม่ยายก็ออกลายขี้งก ปล่อยให้พระเอกของเราคอตกเพราะถูกเมียและแม่ยายช่วยกันทำเรื่อง“ (หน้า22-23) “สีของดอกไม้” ของ “ประชาคม ลุนาชัย” เบาหวิวเกินไป ฉากและอารมณ์ดูจะซ้ำกับนวนิยายเรื่องก่อนหน้าของเขาคือ “เขียนฝันด้วยชีวิต” ดูเหมือนว่างานบางชิ้นของเขาจะซ้ำไปซ้ำมาผมอ่านเรื่องสั้นทั้งหมดอย่างรวดเร็ว เรื่องไหนที่ไม่หยุดตรึงให้อ่าน  ผมก็จะผ่านไป และผมก็ผ่านไปหลายเรื่อง เรื่องสั้น “ขอบคุณแรมโบ้” ของชิด  ชยากร นั้น เป็นตัวอย่าง “ขอบคุณแรมโบ้” กล่าวถึงการชกมวยระหว่าง “แรมโบ้” กับ “ไอ้เลือดเหล็ก”  ผู้เขียนบรรยายการชกไปทีละยก ๆ เหมือนกับกำลังดูโทรทัศน์ ก่อนจะหักมุมว่าทั้งหมดคือการนึกถึงเรื่องหวาดเสียวในระหว่างการถอนฟันของตัวละครเท่านั้นเอง “ระฆังยกแรกดังขึ้น... พอกรรมการสับมือลงเป็นสัญญาณให้ชกได้ ทั้งแรมโบ้และและไอ้เลือดเหล็กทะยานเข้าหากันทันที...” (หน้า60)“พอระฆังยกสองเริ่ม พงษ์ศิริปราดเข้ามายืนคอยถึงมุมน้ำเงินของไพโรจน์...” (หน้า 62)“ยกสามเริ่ม ต่างฝ่ายต่างไม่รีรอเดินอัดกันในทันที...” (หน้า 63)ผู้เขียนบรรยายเรื่อยไปจนครบยกที่ห้า  อ่านไปเหนื่อยไปกับการติดตามการต่อสู้ของนักมวยที่ไม่เห็นจะน่าสนใจตรงไหนเรื่องสั้นของอัศศิริ  ธรรมโชติ เรื่อง “ปีหมูของคน”  นั้นน่าผิดหวังอย่างแรง งานเขียนของอัศศิริ  ธรรมโชติ เคยเป็นแรงดลใจให้ผมสมัยย่างเข้าวัยหนุ่ม ด้วยภาษาที่สวยงามราวร้อยกรอง เนื้อหาที่สะเทือนใจ แต่เรื่องสั้นชิ้นนี้สร้างความผิดหวังสำหรับคนรอคอยงานใหม่ ๆ ของอัศศิริ ธรรมโชติ มันเหมือนงานเขียนลงหนังสือพิมพ์รายวันมากกว่า เรื่องสั้นเริ่มต้นด้วยการนึกถึงวัยเด็กของตัวละครที่เกิดปีกุน แล้วตัดเข้าสู่ยุคปัจจุบันอันเป็นปีที่ตรงกับปีกุน หมอดูทำนายว่าปีกุน 2550 เป็นปีที่น่ากลัว จะเป็นปีหมูไฟที่เผาผลาญบ้านเรือนให้มีแต่ความเดือดร้อนจากนั้นก็เป็นการรายงานข่าวถึงสิ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นตั้งแต่เรื่องไข้หวัดนก หมูราคาตกต่ำจนต้องฆ่าทิ้ง รวมทั้งระเบิดส่งท้ายปีเก่า แล้วก็รำพึงว่า “คนเอ๋ย หมูเอ๋ย” แล้วก็รำพึงต่อไปราวกับไม่มีอะไรให้เขียน ก่อนจะสรุปถึงเหตุการณ์ระเบิดส่งท้ายปีเก่าที่ทำให้คนบริสุทธิ์ตายฟรี แล้วทิ้งท้ายว่า “โอ้... คนเอ๋ย” ผมไม่รู้ว่าบรรณาธิการคิดยังไงจึงปล่อยเรื่องสั้นชิ้นนี้ออกมา ส่วนเรื่อง ”เซโดชา” ของ สุวิชานนท์  รัตนภิมล นั้นบรรยากาศแปลกดี จุดเด่นของเรื่องสั้นเรื่องนี้คือความรู้เกี่ยวกับป่าของผู้เขียน อย่างไรก็ตาม ความลี้ลับที่ผู้เขียนวาดไว้ทำให้อ่านไม่ค่อยรู้เรื่องได้แต่หวังว่าราหูอมจันทร์เล่มต่อไปจะเข้มข้นกว่านี้ คงจะมีเรื่องสั้นชั้นดีให้กองบรรณาธิการได้คัดเลือกมากกว่านี้.