นิตยสาร “ราหูอมจันทร์” เกิดขึ้นท่ามกลางความซบเซาทั้งทางด้านการเขียน การอ่านและการวิจารณ์ของแวดวงเรื่องสั้นไทย
ราหูอมจันทร์ เป็นนิตยสารรายครึ่งปีหรือที่ทางผู้จัดทำเรียกว่ารายฤดูกาล เป็นการคัดสรรเรื่องสั้นที่มีผู้ส่งไปจากทั่วสารทิศเพื่อรวมพิมพ์เป็นเล่ม
บรรดาคอเรื่องสั้น ต่างวาดหวังว่าการมาถึงของราหูอมจันทร์อาจช่วยให้วงการคึกคักขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อได้อ่านแล้ว ต้องกล่าวตามตรงว่าราหูอมจันทร์ Vol. 3 “วันปลดปล่อยผีเสื้อ” นั้นมีระดับคุณภาพที่น่าผิดหวังไม่น้อย ทางผู้จัดทำนิตยสารนี้คือกองทุน “กนกพงศ์ สงสมพันธุ์” ก็ยอมรับว่า
“ราหูอมจันทร์ Vol. 3 แม้ว่าระดับความพอใจในคุณภาพจะยังขาดเกินส่วนผสมบางอย่าง แต่จากเรื่องสั้นทั้งหมด 76 เรื่องซึ่งเลือกเฟ้นออกมาได้ 12 เรื่อง คงจะพอร้องแรกแหกกระเชอไล่ราหูได้”
เรื่องสั้นที่ถูกนำมาเป็นชื่อหนังสือคือ “13 กุมภาพันธ์ วันปลดปล่อยผีเสื้อ” นั้น ผมไม่ค่อยเข้าใจนัก ไม่เข้าใจว่าทำไมวันแห่งการจากไปของ “ฮีโร่” ซึ่งเป็นนักรบจากอเมริกาใต้และเป็นศัตรูตัวฉกาจของมหาอำนาจอเมริกา กับความตายของ “จิมมี่” เพื่อนนักดนตรี จึงกลายเป็นวันปลดปล่อยผีเสื้อไปได้ หรือทั้งคู่เปรียบเหมือนผีเสื้อที่ได้รับการปลดปล่อยด้วยความตาย ? ผมคงอ่านเรื่องสั้นชิ้นนี้ไม่แตกจึงไม่เกิดความรู้สึกประทับใจ
เรื่องสั้น “บักหัวแดง” ของ “ไพฑูรย์ ธัญญา” อ่านสนุกด้วยลีลาภาษาพื้นบ้านอีสาน ประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องสั้นนี้ก็คือการชี้ให้เห็นว่าการแต่งงานของผู้หญิงอีสานกับฝรั่ง แล้วอาศัยตั้งรกรากที่อีสานบ้านเกิดฝ่ายหญิงนั้น คนที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบไม่ใช่ผู้หญิงแต่กลับเป็นฝรั่งพลัดถิ่นที่แทบไม่มีอำนาจต่อรอง เมื่อถูกฝ่ายหญิงและญาติสูบเงินไปหมดแล้ว ฝรั่งก็ไม่มีความหมายอะไรอีก เรื่องสั้นนี้ชวนให้มองความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงไทยกับฝรั่งเสียใหม่ หลังจากที่เรื่องสั้นจำนวนไม่น้อยก่อนหน้านี้เอาแต่คร่ำครวญถึงความทุกข์ยากของคนอีสาน
“ผัวฝรั่งนำความมั่งคั่งมาสู่นางเอกและแม่ผัว พวกหล่อนโก้หรูฟู่ฟ่า เปลี่ยนจากเถียงนามาอยู่คฤหาสน์หลังใหญ่ เปลี่ยนจากนั่งมอเตอร์ไซค์มานั่งโตโยต้าวีโก้ แต่เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ความรักที่เคยหวานชื่นก็แปรมาเป็นขมขื่น อีหล่าเริ่มออกแววน้ำเน่า แม่ยายก็ออกลายขี้งก ปล่อยให้พระเอกของเราคอตกเพราะถูกเมียและแม่ยายช่วยกันทำเรื่อง“ (หน้า22-23)
“สีของดอกไม้” ของ “ประชาคม ลุนาชัย” เบาหวิวเกินไป ฉากและอารมณ์ดูจะซ้ำกับนวนิยายเรื่องก่อนหน้าของเขาคือ “เขียนฝันด้วยชีวิต” ดูเหมือนว่างานบางชิ้นของเขาจะซ้ำไปซ้ำมา
ผมอ่านเรื่องสั้นทั้งหมดอย่างรวดเร็ว เรื่องไหนที่ไม่หยุดตรึงให้อ่าน ผมก็จะผ่านไป และผมก็ผ่านไปหลายเรื่อง เรื่องสั้น “ขอบคุณแรมโบ้” ของชิด ชยากร นั้น เป็นตัวอย่าง
“ขอบคุณแรมโบ้” กล่าวถึงการชกมวยระหว่าง “แรมโบ้” กับ “ไอ้เลือดเหล็ก” ผู้เขียนบรรยายการชกไปทีละยก ๆ เหมือนกับกำลังดูโทรทัศน์ ก่อนจะหักมุมว่าทั้งหมดคือการนึกถึงเรื่องหวาดเสียวในระหว่างการถอนฟันของตัวละครเท่านั้นเอง
“ระฆังยกแรกดังขึ้น... พอกรรมการสับมือลงเป็นสัญญาณให้ชกได้ ทั้งแรมโบ้และและไอ้เลือดเหล็กทะยานเข้าหากันทันที...” (หน้า60)
“พอระฆังยกสองเริ่ม พงษ์ศิริปราดเข้ามายืนคอยถึงมุมน้ำเงินของไพโรจน์...” (หน้า 62)
“ยกสามเริ่ม ต่างฝ่ายต่างไม่รีรอเดินอัดกันในทันที...” (หน้า 63)
ผู้เขียนบรรยายเรื่อยไปจนครบยกที่ห้า อ่านไปเหนื่อยไปกับการติดตามการต่อสู้ของนักมวยที่ไม่เห็นจะน่าสนใจตรงไหน
เรื่องสั้นของอัศศิริ ธรรมโชติ เรื่อง “ปีหมูของคน” นั้นน่าผิดหวังอย่างแรง งานเขียนของอัศศิริ ธรรมโชติ เคยเป็นแรงดลใจให้ผมสมัยย่างเข้าวัยหนุ่ม ด้วยภาษาที่สวยงามราวร้อยกรอง เนื้อหาที่สะเทือนใจ แต่เรื่องสั้นชิ้นนี้สร้างความผิดหวังสำหรับคนรอคอยงานใหม่ ๆ ของอัศศิริ ธรรมโชติ มันเหมือนงานเขียนลงหนังสือพิมพ์รายวันมากกว่า
เรื่องสั้นเริ่มต้นด้วยการนึกถึงวัยเด็กของตัวละครที่เกิดปีกุน แล้วตัดเข้าสู่ยุคปัจจุบันอันเป็นปีที่ตรงกับปีกุน หมอดูทำนายว่าปีกุน 2550 เป็นปีที่น่ากลัว จะเป็นปีหมูไฟที่เผาผลาญบ้านเรือนให้มีแต่ความเดือดร้อน
จากนั้นก็เป็นการรายงานข่าวถึงสิ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นตั้งแต่เรื่องไข้หวัดนก หมูราคาตกต่ำจนต้องฆ่าทิ้ง รวมทั้งระเบิดส่งท้ายปีเก่า แล้วก็รำพึงว่า “คนเอ๋ย หมูเอ๋ย” แล้วก็รำพึงต่อไปราวกับไม่มีอะไรให้เขียน ก่อนจะสรุปถึงเหตุการณ์ระเบิดส่งท้ายปีเก่าที่ทำให้คนบริสุทธิ์ตายฟรี แล้วทิ้งท้ายว่า
“โอ้... คนเอ๋ย” ผมไม่รู้ว่าบรรณาธิการคิดยังไงจึงปล่อยเรื่องสั้นชิ้นนี้ออกมา ส่วนเรื่อง ”เซโดชา” ของ สุวิชานนท์ รัตนภิมล นั้นบรรยากาศแปลกดี จุดเด่นของเรื่องสั้นเรื่องนี้คือความรู้เกี่ยวกับป่าของผู้เขียน อย่างไรก็ตาม ความลี้ลับที่ผู้เขียนวาดไว้ทำให้อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง
ได้แต่หวังว่าราหูอมจันทร์เล่มต่อไปจะเข้มข้นกว่านี้ คงจะมีเรื่องสั้นชั้นดีให้กองบรรณาธิการได้คัดเลือกมากกว่านี้.