Skip to main content

นิตยสาร “ราหูอมจันทร์” เกิดขึ้นท่ามกลางความซบเซาทั้งทางด้านการเขียน การอ่านและการวิจารณ์ของแวดวงเรื่องสั้นไทย

ราหูอมจันทร์ เป็นนิตยสารรายครึ่งปีหรือที่ทางผู้จัดทำเรียกว่ารายฤดูกาล เป็นการคัดสรรเรื่องสั้นที่มีผู้ส่งไปจากทั่วสารทิศเพื่อรวมพิมพ์เป็นเล่ม

บรรดาคอเรื่องสั้น ต่างวาดหวังว่าการมาถึงของราหูอมจันทร์อาจช่วยให้วงการคึกคักขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย   อย่างไรก็ตาม เมื่อได้อ่านแล้ว ต้องกล่าวตามตรงว่าราหูอมจันทร์ Vol. 3 “วันปลดปล่อยผีเสื้อ” นั้นมีระดับคุณภาพที่น่าผิดหวังไม่น้อย ทางผู้จัดทำนิตยสารนี้คือกองทุน “กนกพงศ์  สงสมพันธุ์” ก็ยอมรับว่า

“ราหูอมจันทร์ Vol. 3 แม้ว่าระดับความพอใจในคุณภาพจะยังขาดเกินส่วนผสมบางอย่าง แต่จากเรื่องสั้นทั้งหมด 76 เรื่องซึ่งเลือกเฟ้นออกมาได้ 12 เรื่อง คงจะพอร้องแรกแหกกระเชอไล่ราหูได้”

เรื่องสั้นที่ถูกนำมาเป็นชื่อหนังสือคือ “13 กุมภาพันธ์ วันปลดปล่อยผีเสื้อ”  นั้น ผมไม่ค่อยเข้าใจนัก ไม่เข้าใจว่าทำไมวันแห่งการจากไปของ “ฮีโร่” ซึ่งเป็นนักรบจากอเมริกาใต้และเป็นศัตรูตัวฉกาจของมหาอำนาจอเมริกา กับความตายของ “จิมมี่” เพื่อนนักดนตรี จึงกลายเป็นวันปลดปล่อยผีเสื้อไปได้ หรือทั้งคู่เปรียบเหมือนผีเสื้อที่ได้รับการปลดปล่อยด้วยความตาย ? ผมคงอ่านเรื่องสั้นชิ้นนี้ไม่แตกจึงไม่เกิดความรู้สึกประทับใจ

เรื่องสั้น “บักหัวแดง” ของ “ไพฑูรย์  ธัญญา” อ่านสนุกด้วยลีลาภาษาพื้นบ้านอีสาน ประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องสั้นนี้ก็คือการชี้ให้เห็นว่าการแต่งงานของผู้หญิงอีสานกับฝรั่ง แล้วอาศัยตั้งรกรากที่อีสานบ้านเกิดฝ่ายหญิงนั้น คนที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบไม่ใช่ผู้หญิงแต่กลับเป็นฝรั่งพลัดถิ่นที่แทบไม่มีอำนาจต่อรอง เมื่อถูกฝ่ายหญิงและญาติสูบเงินไปหมดแล้ว ฝรั่งก็ไม่มีความหมายอะไรอีก เรื่องสั้นนี้ชวนให้มองความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงไทยกับฝรั่งเสียใหม่ หลังจากที่เรื่องสั้นจำนวนไม่น้อยก่อนหน้านี้เอาแต่คร่ำครวญถึงความทุกข์ยากของคนอีสาน

“ผัวฝรั่งนำความมั่งคั่งมาสู่นางเอกและแม่ผัว พวกหล่อนโก้หรูฟู่ฟ่า เปลี่ยนจากเถียงนามาอยู่คฤหาสน์หลังใหญ่ เปลี่ยนจากนั่งมอเตอร์ไซค์มานั่งโตโยต้าวีโก้ แต่เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ความรักที่เคยหวานชื่นก็แปรมาเป็นขมขื่น อีหล่าเริ่มออกแววน้ำเน่า แม่ยายก็ออกลายขี้งก ปล่อยให้พระเอกของเราคอตกเพราะถูกเมียและแม่ยายช่วยกันทำเรื่อง“ (หน้า22-23)

“สีของดอกไม้” ของ “ประชาคม ลุนาชัย” เบาหวิวเกินไป ฉากและอารมณ์ดูจะซ้ำกับนวนิยายเรื่องก่อนหน้าของเขาคือ “เขียนฝันด้วยชีวิต” ดูเหมือนว่างานบางชิ้นของเขาจะซ้ำไปซ้ำมา

ผมอ่านเรื่องสั้นทั้งหมดอย่างรวดเร็ว เรื่องไหนที่ไม่หยุดตรึงให้อ่าน  ผมก็จะผ่านไป และผมก็ผ่านไปหลายเรื่อง เรื่องสั้น “ขอบคุณแรมโบ้” ของชิด  ชยากร นั้น เป็นตัวอย่าง

“ขอบคุณแรมโบ้” กล่าวถึงการชกมวยระหว่าง “แรมโบ้” กับ “ไอ้เลือดเหล็ก”  ผู้เขียนบรรยายการชกไปทีละยก ๆ เหมือนกับกำลังดูโทรทัศน์ ก่อนจะหักมุมว่าทั้งหมดคือการนึกถึงเรื่องหวาดเสียวในระหว่างการถอนฟันของตัวละครเท่านั้นเอง

“ระฆังยกแรกดังขึ้น... พอกรรมการสับมือลงเป็นสัญญาณให้ชกได้ ทั้งแรมโบ้และและไอ้เลือดเหล็กทะยานเข้าหากันทันที...” (หน้า60)

“พอระฆังยกสองเริ่ม พงษ์ศิริปราดเข้ามายืนคอยถึงมุมน้ำเงินของไพโรจน์...” (หน้า 62)

“ยกสามเริ่ม ต่างฝ่ายต่างไม่รีรอเดินอัดกันในทันที...” (หน้า 63)

ผู้เขียนบรรยายเรื่อยไปจนครบยกที่ห้า  อ่านไปเหนื่อยไปกับการติดตามการต่อสู้ของนักมวยที่ไม่เห็นจะน่าสนใจตรงไหน

เรื่องสั้นของอัศศิริ  ธรรมโชติ เรื่อง “ปีหมูของคน”  นั้นน่าผิดหวังอย่างแรง งานเขียนของอัศศิริ  ธรรมโชติ เคยเป็นแรงดลใจให้ผมสมัยย่างเข้าวัยหนุ่ม ด้วยภาษาที่สวยงามราวร้อยกรอง เนื้อหาที่สะเทือนใจ แต่เรื่องสั้นชิ้นนี้สร้างความผิดหวังสำหรับคนรอคอยงานใหม่ ๆ ของอัศศิริ ธรรมโชติ มันเหมือนงานเขียนลงหนังสือพิมพ์รายวันมากกว่า

เรื่องสั้นเริ่มต้นด้วยการนึกถึงวัยเด็กของตัวละครที่เกิดปีกุน แล้วตัดเข้าสู่ยุคปัจจุบันอันเป็นปีที่ตรงกับปีกุน หมอดูทำนายว่าปีกุน 2550 เป็นปีที่น่ากลัว จะเป็นปีหมูไฟที่เผาผลาญบ้านเรือนให้มีแต่ความเดือดร้อน

จากนั้นก็เป็นการรายงานข่าวถึงสิ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นตั้งแต่เรื่องไข้หวัดนก หมูราคาตกต่ำจนต้องฆ่าทิ้ง รวมทั้งระเบิดส่งท้ายปีเก่า แล้วก็รำพึงว่า “คนเอ๋ย หมูเอ๋ย” แล้วก็รำพึงต่อไปราวกับไม่มีอะไรให้เขียน ก่อนจะสรุปถึงเหตุการณ์ระเบิดส่งท้ายปีเก่าที่ทำให้คนบริสุทธิ์ตายฟรี แล้วทิ้งท้ายว่า

“โอ้... คนเอ๋ย” ผมไม่รู้ว่าบรรณาธิการคิดยังไงจึงปล่อยเรื่องสั้นชิ้นนี้ออกมา ส่วนเรื่อง ”เซโดชา” ของ สุวิชานนท์  รัตนภิมล นั้นบรรยากาศแปลกดี จุดเด่นของเรื่องสั้นเรื่องนี้คือความรู้เกี่ยวกับป่าของผู้เขียน อย่างไรก็ตาม ความลี้ลับที่ผู้เขียนวาดไว้ทำให้อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง

ได้แต่หวังว่าราหูอมจันทร์เล่มต่อไปจะเข้มข้นกว่านี้ คงจะมีเรื่องสั้นชั้นดีให้กองบรรณาธิการได้คัดเลือกมากกว่านี้.

บล็อกของ เมธัส บัวชุม

เมธัส บัวชุม
การประท้วงของกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ภายใต้การนำของ สาวิทย์ แก้วหวาน ผู้ซึ่งเป็นแกนนำสหภาพแรงงาน ฯ เป็นการประท้วงในสไตล์เดียวกับการประท้วงของกลุ่มพันธมิตร นั่นคือเอาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นตัวประกันเพื่อให้ได้ตามความต้องการของตนเอง 
เมธัส บัวชุม
หลังจากอิดออดเพื่อรักษาท่าทีแต่พองามแล้ว “ผู้ร้าย” สองคนก็เปิดตัวเปิดใจกระโจนเข้าสู่วง ”การเมือง” เต็มตัว “ผู้ร้าย” คนแรก
เมธัส บัวชุม
ไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนในอำเภอเล็ก ๆ แห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี นานมาแล้วที่ผมไม่ได้ออกไปไหน เพื่อนพาไปเที่ยวป่าและแวะที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่แลดูลี้ลับ วังเวงและยากไร้
เมธัส บัวชุม
สังคมไทยเป็นสังคมที่อยู่กับความโง่ มีความโง่เป็นเจ้าเรือน นับวันความโง่ยิ่งแผ่ขยายแพร่กระจายไปราวเชื้อโรค หลายคนโง่โดยสุจริต  คนเหล่านี้น่าเห็นใจ ถูกครอบงำด้วยความไม่รู้  อคติ ความเกลียดชังทำให้ประสิทธิภาพในการคิดเสื่อมถอย สติปัญญาถูกบิดเบือนไป คนประเภทนี้โง่เพราะถูกอคติทำลายจนมืดบอด
เมธัส บัวชุม
  ในระหว่างที่รัฐบาลกำลังรวนเรเพราะความไร้ฝีมือและความเน่าจากภายใน แทนที่จะทุ่มสมองและแรงงานเพื่อกระหนาบกระหน่ำรัฐบาลโจร คนเสื้อแดงเฉดต่าง ๆ ก็กลับใช้โอกาสนี้วิพากษ์วิจารณ์กันรุนแรงกระทั่งแตกออกเป็นสาย
เมธัส บัวชุม
ในโลกโลกาภิวัฒน์ที่มนุษย์กำลังเดินทางไปในอวกาศเพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก และเตรียมหาที่อยู่บนดาวดวงอื่น ทั้งวิตกกังวลกับโรคระบาดชนิดใหม่ ๆ ซึ่งอาจทำให้มนุษย์ต้องสูญพันธุ์ ประเทศไทยยังคงสนุกสนานเหมือนเด็กเล่นขายของกับการกล่าวหาเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกระทั่งล้มสถาบันสนุกครับ สนุก
เมธัส บัวชุม
ตื่นเช้าขึ้นมา หากไม่มีอะไรเร่งด่วนต้องทำ ผมจะนั่งเขียนโน่น เขียนนี่พร้อม ๆ กับที่เข้าไปในบอร์ดประชาไท อ่านกระทู้ต่าง ๆ อยู่เงียบ ๆ มานานจนเกือบจะกลายเป็นกิจวัตร (ยกเว้นเสาร์-อาทิตย์) แต่หลังเช้าไปแล้ว ผมก็ทำอย่างอื่น ไม่ได้นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ จึงไม่อาจติดตามความเคลื่อนไหวในบอร์ดประชาไทได้อีก ดังนั้นจึงได้อ่านเพียงบางกระทู้เท่านั้นและล้วนแล้วแต่เป็นการอ่านผ่านๆ ทั้งสิ้น
เมธัส บัวชุม
พักหลัง ผมเข้าไปเยื่ยมชมเว็บไซต์ "ASTVผู้จัดการ" บ่อยครั้ง เพื่ออยากรู้ว่าชาวสีเหลืองหรือกลุ่มพันธมิตรคิดอ่านกันอย่างไร มีนวัตกรรมอะไรบ้างในการทำลายฝ่ายตรงข้าม ศึกษากลวิธีในการเต้าข่าว การใส่ไคล้ การใช้ภาษาของบรรดาคอลัมนิสต์ กระทั่งแวะเข้าไปอ่าน "เรื่องนินทาราวตาเห็น" ของ "ซ้อเจ็ด" ผู้โด่งดัง
เมธัส บัวชุม
หลายวันก่อน ได้อ่านบทความของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง “ทางออกจากทักษิณ” (มติชนรายวัน, 20 ก.ค. 52.) บทความนี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างมากเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนเสื้อเหลืองและแดง  เนื้อหาของบทความ นอกจากปัญญาชนรายนี้จะออกตัวให้กลุ่มพันธมิตรหรือเสื้อเหลืองโดยยกระดับความคิด และการกระทำของคนกลุ่มนี้ว่าเกิดจากทัศนะและความเข้าใจในประชาธิปไตยที่แตกต่างจากกลุ่มเสื้อแดงซึ่งทั้งสองกลุ่มล้วนแล้วแต่มีจุดอ่อน  
เมธัส บัวชุม
นานมาแล้ว ที่ผมไม่เคยเจ็บป่วยขนาดต้องไปโรงพยาบาลหรือหาหมอ อย่างมากก็แค่ซื้อยาแก้เจ็บคอมากิน แต่ครั้งนี้เจ็บคอหลายวัน บวกกับอาการมึนหัว เบื่ออาหาร เพลีย และปวดเมื่อยเนื้อตัวอย่างหนักขนาดทาถูสบู่ตามตัวยังรู้สึกปวดไปถึงกระดูก เวลานอนต้องนอนตะแคงอย่างเดียวจะนอนหงายหรือคว่ำไม่ได้เพราะปวดเมื่อย(ขนาดนั้น) ผมจึงตัดสินใจไปโรงพยาบาลแม้จะยังสงสัยอยู่ว่าคิดถูกหรือผิดกันแน่ น่าตกใจพอสมควรที่คนป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่เต็มล้นโรงพยาบาล (แต่แทบไม่มีคนที่อยู่วัยเดียวกับผม) ผมคิดในใจว่าถ้าตนเองเป็นเพียงโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ก็คงจะมารับเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่โรงพยาบาลนี่แหละ…
เมธัส บัวชุม
การล่า 1 ล้านรายชื่อของสามเกลอแห่ง "ความจริงวันนี้" เพื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่อดีตนายก ฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นประเด็นให้คนเสื้อแดงถกเถียงแก้เซ็งไปพลาง ๆ โหมโรงการเคลื่อนไหวครั้งต่อไป มีความคิดเห็นค่อนข้างหลากหลายในหมู่คนเสื้อแดงด้วยกัน ทั้งนี้เพราะคนเสื้อแดงนั้นมีความหลากหลายในตัวเองอยู่แล้ว คือมีตั้งแต่ "แดงอนุรักษ์" ไปจนถึง "แดงถอนรากถอนโคน" ซึ่งลักษณะที่ว่านี้ไม่มีในหมู่คนเสื้อเหลือง
เมธัส บัวชุม
เป็นความคิดที่ดีของกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีความพยายามจะ “รื้อฟื้น” วันชาติขึ้น เพราะมันมีความหมายและนัยสำคัญต่อประชาธิปไตยและการเมืองไทยอย่างมาก วันชาติเป็นผลพวงของการยึดอำนาจของคณะราษฎรเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยสู่ระบอบการปกครองแบบใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเสียงและความคิดเห็นของประชาชน ภายใต้หลักนิติรัฐที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเสมอกัน