Hit & Run
อรพิณ ยิ่งยงพัฒนาในเกมช่วงชิงพื้นที่สื่อ กลยุทธ์หนึ่งก็คือ ทำยังไงก็ได้ ให้ฝ่ายตรงข้ามไม่ได้เป็นข่าว ส่วนฝ่ายตนนั้น ต่อให้เป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายแต่ถ้าได้พื้นที่ข่าวก็ถือว่าได้เปรียบใน ระดับหนึ่ง เพราะอย่างน้อยก็พอทำให้ชื่อเสียงเรียงนามเป็นที่คุ้นหูอยู่ในความจดจำ ดีกว่าเป็นบุคคลโนเนมที่ไม่มีใครรู้จักเช่นเดียวกัน ช่วงนี้ ดูเหมือนว่านายกรัฐมนตรีพูดอะไร ให้สัมภาษณ์ว่าอะไร สื่อมักจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ สังเกตได้ว่าเวลาอ่านหรือฟังข่าวในเวลานี้ ผู้สื่อข่าวจะหยิบคำพูดของนายกรัฐมนตรีมาเปิดเผยแบบยาวๆพูดแบบตามตำรา ก็คือ แหล่งข่าวเป็นผู้นำในรัฐบาล พูดอะไรก็ย่อมเป็นข่าวอยู่แล้ว แต่นั่นอาจจะไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดของกรณีที่เกิดขึ้น ผู้นำฝ่ายค้านแม้จะมีฐานะเป็นผู้นำประเทศเช่นกัน แต่กลับไม่ได้มีโอกาสได้เป็นข่าวเท่าไรการเปิดเผยคำพูดของนายกฯ สมัครแบบคำต่อคำ ให้พื้นที่ข่าวแก่ท่านนายกฯ แบบไม่น้อยนั้น เชื่อได้ว่าเป็นเพราะสิ่งที่นายสมัคร สุนทรเวชพูดนั้น ไม่ใช่แค่เรื่อง ‘พูดอะไร' แต่เป็นเรื่อง ‘พูดอย่างไร' คือ สื่ออาจเห็นว่าลักษณะวิธีพูดของนายกฯ มีนัยยะที่ต้องการเสนอ คือ มีความไหวตัวและละเอียดอ่อนกับคำพูดของผู้นำประเทศคนนี้เป็นพิเศษสื่อภาคสนาม สื่อที่ต้องคอยประกบติดนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ต้องอาศัยความอดทนอดมากอยู่แล้ว มายุคของนายกฯ คนนี้ คงต้องใช้ขันติและอุเบกขาให้มากยิ่งกว่าเดิมเป็นเท่าตัว บุคลิกของผู้นำเช่นนี้ เรียกร้องให้สื่อจำเป็นต้องมีภูมิต้านทานแข็งแกร่ง ไม่เช่นนั้นคงจะเผลอไปอยู่ในขั้วใดขั้วหนึ่งในความขัดแย้งทางการเมืองโดย ไม่ทันตั้งใจนั่นคือ งานข่าวสำหรับสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ภายใต้รัฐบาลสมัคร 1 นี้ คงต้องอาศัยพลังใจที่แข็งแกร่งมาก ไม่อ่อนไหวจนกลายเป็นการให้น้ำหนักกับท่านนายกรัฐมนตรีไปโดยไม่รู้ตัว รวมทั้งไม่อ่อนไหวจนไม่สามารถทำงานได้พูดภาษาปาก อาจจำเป็นต้องพูดว่า เพื่อให้สอดคล้องกับผู้นำประเทศ สื่อมวลชนต้องไม่หน้าบางจนเกินไปความอ่อนไหวนี้ อาจรวมถึงที่มาของบรรยากาศการแทรกแซงสื่อที่ร่ำลือกันในช่วงเวลานี้ ดังกรณีที่เกิดขึ้นในข่าวการถอนตัว จนนำมาสู่การยกเลิกจัดรายการ ‘มุมมองเจิมศักดิ์' ซึ่งจัดโดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และคู่หู เถกิง สมทรัพย์ ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกเช้า ที่คลื่นวิทยุ เอฟเอ็ม 105 เมกะเฮิรตซ์ คลื่นวิทยุในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ โดยวิสดอมเรดิโอเป็นผู้ได้สัมปทานคลื่นเรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่ระหว่างดร.เจิมศักดิ์จัดรายการ ซึ่งกำลังกล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งนายสมัคร สุนทรเวช ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวจากอัลจาซีร่าว่า มีคนตายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพียง 1 คน โดยดร.เจิมศักดิ์ ได้หยิบข้อมูลต่างๆ ทางประวัติศาสตร์มาเล่าในรายการ หลังจากนั้น ดร.เจิมศักดิ์ ให้ข่าวแก่สื่อมวลชนว่า ระหว่างกำลังจัดรายการ มีรัฐมนตรีโทรศัพท์ไปยังคลื่นวิทยุวิสดอมเรดิโอว่าจะโละผังรายการทั้งหมด ของคลื่นวิทยุวิสดอม ทำให้เจ้าของคลื่นโทรศัพท์มาสอบถามว่า ดร.เจิมศักดิ์จะบรรเทาความเสียหายให้แก่วิสดอมได้อย่างไร สุดท้าย ดร.เจิมศักดิ์ ตัดสินใจถอนตัวจากการจัดรายการแม้กระแสข่าวต่อจากนั้น จะยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าที่แท้แล้วอะไรเกิดขึ้น เพราะนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก็ให้ข่าวปฏิเสธ ย้ำว่าไม่มีการโทรศัพท์ไปแทรกแซง ทั้งยังสั่งให้นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ประสานงานไปยังบริษัทฟาติมา ซึ่งเป็นเจ้าของคลื่น 105 เปิด การแถลงข่าวเพื่อแสดงข้อเท็จจริง ซึ่งนายแสงชัย อภิชาติธนพัฒน์ ประธาน บริษัท ฟาติมา บรอดคาสติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานคลื่นวิทยุ เอฟเอ็ม 105 เมกะเฮิรตซ์ ก็ เปิดเผยว่า ไม่ได้ถูกแทรกแซงจากกรมประชาสัมพันธ์ หรือรัฐบาล แต่มีการพูดคุยกับนายเจิมศักดิ์ ถึงความไม่สบายใจกับเนื้อหารายการที่วิพากษ์วิจารณ์บุคคลอื่น ซึ่งเขาอยากให้สังคมเกิดความสมานฉันท์ และยอมรับว่ามีความกังวลว่าหากยังดำเนินรายการที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ บุคคลอื่นต่อไป อาจจะมีปัญหาเรื่องคลื่นหลุด ซึ่งจะส่งผลเสียหายกับบริษัทให้ไม่สามารถดำเนินกิจการอยู่ได้ต่อเรื่องนี้ จริงเท็จอย่างไร คงยังไม่รู้แน่ชัด แต่อย่างน้อยสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ฐานะของคนทำสื่อ มีความเปราะบางมากเหลือเกินเรื่องเก่าๆ อย่างปัญหาโครงสร้างสื่อ กลายเป็นสิ่งที่จองจำการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนให้ไม่สามารถทำงานได้อย่าง เต็มที่ ไม่เว้นวงการข่าวเท่านั้น ล่าสุด เมื่อปลายปีที่ผ่านมา คลื่นวิทยุรายการเพลงที่ดีที่สุดเพียงคลื่นเดียว อย่าง The Radio ก็ถูกปลดกลางอากาศแบบที่คนฟังหรือแม้แต่ผู้จัดรายการไม่ทันได้ตั้งตัวปัญหาของสองกรณี มาจากเหตุเดียวกัน คือ นายทุนผู้ได้สัมปทานคลื่น มีความประสงค์จะเปลี่ยนเนื้อหารายการ กรณีที่ดร.เจิมศักดิ์เจอ คือรายการวิพากษ์การเมืองแรง นายทุนคลื่นมีความกังวล ส่วนกรณีที่ The Radio เจอ คือ นายทุนอยากเปลี่ยนแนวรายการ จากรายการดนตรี ไปเป็นการ ‘โฆษณาดนตรี' ที่มีรายได้มากกว่าคลื่นวิทยุโทรทัศน์กระแสหลัก อยู่ในภายใต้การดูแลของหน่วยงานรัฐและหน่วยงานทหาร หน่วยงานเหล่านี้ก็ปล่อยสัมปทานออกมาปีต่อปี เพื่อให้นายทุนที่วิ่งเต้นทุกๆ ช่วงสิ้นปีเพื่อให้ ‘ได้รับคัดเลือก' ได้คลื่นไปบริหาร ก่อนจะมาปล่อยถึงมือคนทำสื่อเป็นทอดสุดท้าย โครงสร้างแบบนี้ หนีไม่พ้นทั้งอำนาจรัฐและอำนาจทุนถามว่า ระบบโครงสร้างเวลานี้ ยังหลงเหลือให้ที่ทางสำหรับจิตวิญญาณสื่อสารมวลชนบ้างหรือไม่ สิ่งที่น่าสนใจต่อกรณีของ The Radio คือ ผู้คนตื่นตัวมากกับปัญหาที่ว่า รายการดีดีมักไม่มีที่ให้อยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีคนตั้งกระทู้เรื่องนี้ หลายคนขอให้รายการไม่ล้มหายจากไป แต่เปลี่ยนมาออกอากาศในอินเตอร์เน็ตแทน พร้อมทั้งเสนอตัวช่วยด้านเทคนิคทุกอย่าง แต่อย่างไรก็ดี สื่อแต่ละประเภทก็มีธรรมชาติของสื่อที่ต่างๆ กัน แม้อินเทอร์เน็ตดูจะเป็นที่ทางสำหรับคนไม่มีทางเลือกในการส่งสาร แต่สำหรับคนรับสาร ดูเหมือนทางเลือกจะน้อยลงทุกที นี่อาจจะเป็นอีกความท้าทายของรัฐบาล ชุดที่ประกาศว่าจะมีการ จัดระบบสื่อ เพราะรัฐมนตรีที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องนี้ จำเป็นต้องรู้ต้นตอปัญหาของระบบการสื่อสารมวลชนในประเทศไทย หากกล้าจริง ต้องทำลายโครงสร้างที่มัดมือสื่ออยู่ในเวลานี้ และเลิกคิดว่าตนจะเป็นผู้เข้ามาทำเนื้อหาสื่อให้ดีเอง เพราะการครอบงำแบบนั้น ประชาชนไม่ต้องการ เพิ่มเติม :คอลัมน์ บ้านบรรทัดห้าเส้น ประชาไท : 99.5 The Radio : เมื่อรายการวิทยุดีๆ จะไม่มีที่อยู่คลิปเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์ ของนายสมัคร สุนทรเวช ต่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศข่าวมติชน : 'จักรภพ'ปัดสั่งปลดพิธีกรคลื่น105 เจ้าของยืดอกรับขอให้ถอนตัว เพื่อรักษา'ธุรกิจ'ข่าวผู้จัดการ : "หมัก" สั่งรื้อช่อง 11 ท้า "เจิมศักดิ์" หาหลักฐาน รมต.สั่งถอดรายการ
Hit & Run
"ต้นตอของปัญหาใหญ่ๆ ในสังคม พบว่าเรื่องหนึ่งคือ คนที่เป็นเจ้าของปัญหาไม่มีช่องทางส่งเสียงของตัวเองในช่องทางสื่อสารมวลชน ยิ่งวิทยุและทีวีนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง พื้นที่ของคนเดือดร้อน ถูกเบียดออกมาบนท้องถนนที่ออกมาประท้วงให้คนเมืองใหญ่รำคาญ"
Hit & Run
อรพิณ ยิ่งยงพัฒนาดูเหมือนเรื่องน่าจะจบลงไปแล้ว กับความพยายามของ สนช.กว่า 60 คน ที่เข้าชื่อกันยื่นแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก่อนที่สุดท้าย สนช.จะตัดสินใจถอนการแก้ไขออกไปก่อนแม้เรื่องนี้มีนัยยะที่น่าสนใจหลายประเด็น แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ กระแสความคิดที่เกิดขึ้น แม้ภายหลังการถอยและถอนการเสนอแก้กฎหมายแล้วก็ตามสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีจำนวน 242 คน โดย สนช. สามารถเข้าชื่อกันเพื่อเสนอหรือแก้ไขกฎหมายได้ ผ่านการเข้าชื่อเพียงจำนวนไม่น้อยกว่า 25 คน ยกเว้นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน เราอาจจะไม่สามารถเหมารวมได้ทันที ว่าผู้ที่เข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย จะมีความเห็นที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่เสนอไปหรือไม่ เพราะการเข้าชื่อเป็นเพียงกระบวนการขั้นแรกที่ทำให้กฎหมายได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาถกเถียงเพื่อแก้ไขต่อไป ซึ่งจะเห็นต่างหรืออยากแก้ไขอย่างไรนั้น เป็นเรื่องของ สนช. 'ที่เหลือ' ที่จะแปรญัตติเมื่อจำนวนเพียง 25 ชื่อ ก็เพียงพอแล้วสำหรับการเปิดพื้นที่ให้กฎหมายสักฉบับเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาแต่งตั้ง แต่โดยธรรมเนียมของสภาที่ผ่านๆ มา หากเป็นกฎหมายสำคัญๆ จำนวนของรายชื่อ ก็มีนัยยะที่สื่อสารกับสังคมได้เช่นกัน ยิ่งมากก็ยิ่งเห็นดีกรีที่สภาแสดงออกถึงความจำเป็น ความเร่งด่วนในการผลักดัน แล้วก็ไม่ค่อยจะมีใครที่ลงนามในกฎหมายที่ตนไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้ขาดสิทธิในการแปรญัตติ จำนวนมากกว่า 60 รายนาม จึงมีนัยยะสำคัญที่ประวัติศาสตร์ได้จารึกเอาไว้แล้ว การแก้ไข ป.อาญา มี สนช.แต่งตั้งเข้าชื่อถึง 64 รายชื่อ ส่วนป.วิอาญา มีสนช.แต่งตั้งร่วมเข้าชื่อถึง 61 รายชื่อ สาระของการเสนอแก้ไข ประเด็นแรก คือ การเพิ่มเติมความคุ้มครอง ในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไปถึงพระราชโอรส พระราชธิดา ประธานองคมนตรี องคมนตรี หรือผู้แทนพระองค์ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง เรื่องนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย สนช. ผู้เสนอ ให้เหตุผลของการแก้เนื้อหาไว้ว่า เพราะที่ผ่านมา "บางท่านกลายเป็นหยื่อทางการเมือง"การแก้ไขแบบนี้ มีผู้วิพากษ์วิจารณ์หนาหู ถึงการวางให้คณะองคมนตรีอยู่ในฐานะพิเศษเหนือปุถุชนสามัญ และคณะองคมนตรีก็แสดงความไม่สบายใจ จนท้ายที่สุด นายพรเพชร ก็ตัดสินใจถอนการแก้ไขกฎหมายออกไปการเสนอแก้ไขอีกฉบับหนึ่งนั้น เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14/1 ของ ป.วิอาญา ซึ่งมีสาระว่า ในระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาคดีที่มีการกล่าวหาหรือฟ้องในความผิดต่อองค์พระ มหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในกรณีเห็นสมควร พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือคู่ความ อาจยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้สั่งห้ามมิให้โฆษณาข้อเท็จจริง พฤติการณ์ต่างๆ การวิพากษ์วิจารณ์หรือความเห็นเกี่ยวกับคดีไม่ว่าสื่อประเภทใด และหากศาลพิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้ว เห็นว่ามีเหตุอันสมควรเพื่อการคุ้มครองปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้ศาลสั่งอนุญาตตามคำร้องและอาจกำหนดเงื่อนไขหรือวิธีการใดๆ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามคำสั่งห้ามของศาลดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม การเสนอแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ก็ถูกถอนตามไปด้วย โดยนายพรเพชรให้เหตุผลว่า เมื่อถอนก็ต้องถอนทั้งสองฉบับ เพราะมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน มาตรา 14/1 ที่แก้ไขนั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งปรากฏว่า มีสื่อที่แสดงท่าทีชัดเจนต่อเรื่องนี้ ตัวอย่างหนึ่งคือ บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 11 ตุลาคม 2550 หรือ 2 วันหลังการถอนการแก้กฎหมาย และอาจเพราะเป็นธรรมเนียมของ 'รูปแบบ' บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ อันเป็นพื้นที่แสดงจุดยืนของหนังสือพิมพ์นั้นๆ งานชิ้นนี้จึงไม่ระบุชื่อผู้เขียน ขออนุญาตคัดบางส่วนที่น่าสนใจของบทบรรณาธิการชิ้นนี้... "เป็นที่เข้าใจได้ว่า สำนักข่าวต่างประเทศจำนวนไม่น้อย ขาดความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับคนไทย อันเนื่องมาจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงการก่อกำเนิดของชาติที่ต่างกัน จึงนำเสนอข่าวสารคัดค้านในแง่มุมของตะวันตก น่าตระหนกที่ สาระตามมาตรา 14/1 กลับถูกสื่อมวลชนไทยจำนวนหนึ่ง และนักสิทธิมนุษยชนบางคน พยายามเคลื่อนไหวคัดค้าน กล่าวประณาม สนช.กลุ่มที่นำเสนอร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เพราะตีความว่า มาตรานี้เป็นการปิดกั้นเสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข่าวสาร ทำให้ศาลมีอำนาจสั่งห้าม มิให้โฆษณาข้อเท็จจริง พฤติการณ์ต่างๆ การวิพากษ์วิจารณ์หรือความเห็นเกี่ยวกับคดีไม่ว่าสื่อประเภทใด ในฐานะสื่อมวลชนไทยเช่นกัน จำเป็นต้องสอบถามถึงเพื่อนร่วมวิชาชีพต่อการแสดงท่าทีดังกล่าวด้วยความเคารพว่า ท่านต้องการเสรีภาพ โฆษณาข้อเท็จจริง พฤติการณ์ต่างๆ การวิพากษ์วิจารณ์หรือความเห็นเกี่ยวกับคดีที่มีการกล่าวหาหรือฟ้องในความ ผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จริงๆ น่ะหรือ หากเป็นเช่นนั้น ก็สมควรที่เข้าชื่อเปิดเผยตัวตนต่อประชาชน เพื่อบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ของความเป็นนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพให้ประจักษ์ เสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารล้วนเป็นที่หมายปองของคนในวิชาชีพสื่อสารมวลชนทุกผู้คน หากแต่เสรีภาพนั้นย่อมมีขอบเขตข้อจำกัดด้วยจารีต ประเพณี หน้าที่ของพลเมืองในแต่ละสังคม หน้าที่ของคนไทย คือ ทำนุบำรุง ปกป้อง รักษาซึ่งสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หากเสรีภาพจะได้มาด้วยการสูญเสียซึ่งสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสามสิ่งนี้ เราขอยืนหยัดคัดค้านอย่างสุดกำลัง" แม้ท้ายที่สุด สนช. จะ 'หยุดชะงัก' การแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับไปแล้วก็ตาม แต่ใช่ว่าจะลบล้างเรื่องทั้งหมดได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น และกระแสที่ตามมา ได้สะท้อนเรื่องราวหลายอย่าง และเป็นคุณประโยชน์ต่อหลายๆ แวดวงในเมืองไทย โดยเฉพาะสถาบันวิชาชีพและสถาบันการศึกษา ด้าน 'สื่อมวลชน' ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยเสื้อเหลืองแบบนี้ ความกังวลใจของ 'เขา' ไม่ได้อยู่ที่คุ้มครองใคร แต่ตรงกันข้าม สิ่งที่ 'เขา' เกรงกลัว น่าจะเป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินคดีหมิ่น และมูลเหตุของคดีหมิ่น นั่นคือ การแก้ไขกฎหมายเพื่อระบุว่า ห้ามเสนอข่าวคดีหมิ่น มีความสำคัญที่เป็นอันตราย ยิ่งกว่าการให้สถานะอภิสิทธิ์ชนเป็นไหนๆสังคมไทยมีบรรยากาศของความเงียบ ที่ปกคลุมความรู้สึกสงสัยแบบตรงไปตรงมาอันมีต่อสถาบันกษัตริย์ เรื่องนี้ไม่เป็นผลดีไม่ว่ากับฝ่ายใด แม้แต่กับชาวเสื้อเหลืองแห่งสยามประเทศ เพราะไม่เพียงแต่สถาบันอันเป็นที่รักของชาวเสื้อเหลืองจะไม่มีผู้ใดตรวจสอบได้เท่านั้น แต่ยิ่งเปิดช่องให้สถาบันอันเป็นที่รัก ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ผ่านความศรัทธาของชาวเสื้อเหลืองเอง (ไม่แน่ใจว่า บทบรรณาธิการของโพสต์ทูเดย์คิดกับเรื่องนี้อย่างไร) เรื่องนี้ น่าจะเป็นคำถามท้าทาย ให้คนแวดวงสื่อ และแวดวงวิชาการสื่อสารมวลชน ว่าจะอยู่ภายใต้ฟ้าเหลืองอย่างเท่าทันได้อย่างไรอย่างไรก็ดี ไม่เคยมีตำราทางนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์ที่สอนว่า มีเรื่องประเภทใดที่ห้ามหรือไม่ควรเอ่ยถึงในสื่อมวลชน สิ่งที่เป็นข้อห้าม จะมีก็แต่การห้ามละเมิดหรือเหยียดในสีผิว ชาติพันธุ์ ศาสนา กล่าวความเท็จให้ผู้อื่นเสียหายตรงกันข้าม สิ่งใดยิ่งมีความสำคัญมาก ยิ่งต้องพูดถึง วิจารณ์มาก เปิดพื้นที่ให้เห็นความคิดที่หลากหลายให้มาก เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งสำคัญนั้นๆ โดยไม่มีข้อยกเว้นสำหรับการตรวจสอบ ไม่ว่าเรื่องใดเรื่องนี้อาจจะไม่แปลกหรือไม่มีนัยยะสำคัญ หากผู้พูดไม่ได้มาในนามของสื่อ และสิ่งที่เกิดขึ้นคือ สื่อมวลชนเสนอตัวในการประกาศเรื่องความจำเป็นในการจำกัดเสรีภาพเสียเองบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ แสดงอาการยินยอมอย่างเต็มที่ หากศาลจะวินิจฉัยมิให้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับคดีที่มีการกล่าวหา ฟ้องร้อง ว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พร้อมทั้งประกาศความเชื่อด้วยว่า การมีเสรีภาพภายใต้ขอบเขตที่จำกัดด้วยจารีตประเพณี หน้าที่พลเมือง จะเป็นทางหนึ่งที่จะทำนุบำรุง ปกป้อง รักษา ซึ่งสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ได้ หลายคนคงรู้ดีว่า การถูกรัก ด้วย 'วิธีรัก' ในบางรูปแบบ เป็นอันตราย และการทำให้เรื่องสำคัญที่ยากตรวจสอบได้ถูกตรวจสอบ ว่าไปก็เป็นเรื่องจรรโลง สร้างสรรค์ มากกว่าเพื่อหวังจะเอาใจชั่วครู่ชั่วยามในฐานะที่ไม่ใช่นักต่อสู้เพื่อเสรีภาพ แต่เชื่อมั่นว่า หากประชาชนไทยมีพื้นที่ให้ได้รับรู้ เข้าถึงข้อเท็จจริง มีโอกาสและมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับคดีที่มีการกล่าวหาหรือฟ้องร้องในความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จะเป็นผลดีต่อทุกๆ สถาบันและทุกๆ อุดมการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยค่ะ ...ดิฉันชื่อ อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา
กอแก้ว วงศ์พันธุ์
เพื่อนสาวชาวมาเลย์ชื่นชมและคลั่งไคล้ในตัวกวีผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศอินโดนีเซีย เป็นฮีโร่ของเธอเลยทีเดียว ถึงกับนำชื่อของเขาไปตั้งเป็นชื่อลูกชายคนโต ผู้เขียนคาดเดาว่า กวีผู้นี้คงมีอิทธิพลทางด้านวิถีชีวิตที่อิสระเสรี ผู้เชื่อในสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ ที่ใฝ่หาเสรีภาพ และคงมีอิทธิพลครอบงำเพื่อนสาวไม่น้อย เพราะเธอแม้จะเป็นมุสลิม แต่แหกกฎหลายอย่างที่หญิงชาวมุสลิมถูกกำหนดให้กระทำ แม้กระทั่งเรื่องหัวใจ ที่เธอปล่อยให้มันอิสระเสรีอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งอยากจะเป็นกวีผู้ยิ่งใหญ่คนนี้คือ Chairil Anwar เขาถูกจำกัดความว่าเป็นกวีที่ใช้คำได้สวยงาม แต่ทว่ามีอิทธิพลอย่างรุนแรงกับผู้อ่าน และจากความหมายและสิ่งที่สะท้อนจากบทกวี ทำให้เขาถูกจำกัดความว่าเป็นกวีหัวรุนแรง ผู้มีอิทธิพลต่อความคิดในการปลดปล่อยอินโดนีเซียจากอาณานิคม เขาคงเป็นกวีที่ชาญฉลาด ระดับจีเนียสเลยทีเดียว แต่น่าเสียดายที่เสียชีวิตด้วยโรคซิฟิลิส เมื่ออายุเพียง 27 ปี ทว่าบทกวีของเขามีอิทธิพลต่อความคิดคนอินโดนีเซียในยุคนั้นอย่างมาก และสังคมอินโดนีเซียยกย่องในความยิ่งใหญ่ของเขา มีรูปปั้นเป็นอนุสรณ์ในสวนของอนุสาวรีย์แห่งชาติ หรือ Tugu Monas ที่บอกว่าเขาเป็นกวีที่ชาญฉลาด เพราะเมื่อเทียบกับอายุและความทรงอิทธิพลต่อความคิดของคนทั้งปวง เขาสามารถทำได้ ทั้งที่เป็นกวีเยาว์วัย เขาเติบโตในยุคของการเรียกร้องหาเสรีภาพจากการกดขี่ของพวกอาณานิคม สภาพการเมืองและสังคมช่วงนั้นจึงมีอิทธิพลต่อแนวคิดของเขาไม่น้อย เขาเรียนหนังสือในระบบการศึกษาน้อย แต่อ่านมาก เข้าโรงเรียนของดัตช์เมื่อครั้งอยู่มัธยมต้น แต่เรียนไม่จบ ออกมาทุ่มเทให้กับการอ่าน เดาเอาว่าภาษาอังกฤษน่าจะแตกฉานเพราะนักเขียนที่มีอิทธิพลต่อความคิดของเขา คือ Rilke, T.S.Eliot, Emily Dickinson, Mansman และเขาแปลงานของบุคคลเหล่านี้ด้วย รูปปั้น DRAIRIL ANWAR กวีผู้ยิ่งใหญ่ตั้งอยู่ในสวนของ Tugu Monasผลงานเขียนของเขาถูกตีพิมพ์ครั้งแรก ขณะที่เขามีอายุเพียง 13 ปีเท่านั้น โอ!! ทำไมบทกวีของกวีวัยเยาว์ท่านนี้จึงน่าหลงใหลยิ่งนัก เพราะต่อมาบทกวีต่างๆ ของเขาก็ทรงอิทธิพลต่อผู้คนนับล้านของอินโดนีเซีย เป็นความหวังแห่งเสรีภาพและการปลดปล่อย และสร้างชาติอินโดนีเซีย ทั้งที่ชีวิตส่วนตัวของเขา ใช้ชีวิตในรูปแบบที่อันตรายและ “ร้าย” ยิ่งนัก เขาเป็นนักรักตั้งแต่เริ่มรุ่นแตกเนื้อหนุ่ม หลังจากนั้นนับไม่ถ้วนกับจำนวนหญิงสาวข้างกาย และชีวิตลับที่ร้ายกาจคือ การแอบขโมยหนังสือจากร้านหนังสือ เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นกวีที่มีปัญหาทางด้านจิตใจ และใช้ชีวิตสุดขั้วในทุกเรื่อง แต่อย่างไรก็ตาม เขายังคงเป็นที่จดจำของคนอินโดนีเซียและคนทั้งโลกที่รักในกวี กวีของเขาถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ อ่านกันทั่วโลก และนักเรียนมัธยมของอินโดนีเซียยังใช้บทกวีของเขาเป็นบทเรียนในชั้นเรียนด้วย บทกวีที่ผู้คนจดจำ และเป็นตำนานคือ AKU (I think) ........
กอแก้ว วงศ์พันธุ์
หายไปหลายอาทิตย์เพราะอาการเจ็บไข้และติดพันภารกิจการงาน กลับมาไม่นาน ได้ทราบข่าวจากเพื่อนสื่อชาวอินโดนีเซียว่า ผู้อาวุโสนักต่อสู้เพื่อสื่อเสรีและวิทยุชุมชนคนสำคัญคนหนึ่งของอินโดนีเซีย เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งผู้เขียนไม่อยากจะเชื่อว่าท่านจะไปเร็วด้วยโรคร้าย แม้ว่าอายุอานามของท่านจะ 70 กว่าๆ แล้ว แต่สมองของท่านเฉียบยังคมดีอยู่ ร่างกายแข็งแรง ปราดเปรียวเคลื่อนไหวคล่องตัวไม่เหมือนคนอายุ 70 ทั่วไป ทั้งยังท่วงท่าสง่างาม หลังไม่ค้อม เดินเหินคล่องแคล่ว สำคัญคือ ท่านลดอายุด้วยเสื้อผ้าที่สวมใส่ ขนาดวัยรุ่นยังอาย เพราะอินเทรนด์ ตลอดเวลา ผมและหนวดขาว ไม่ทำให้รู้สึกว่าท่านอายุเกิน 70 แล้ว เลย ซานอล ซูร์โยกูซูโม ท่านเป็นหนึ่งในสมาชิกอาวุโสของสมาคมผู้สื่อข่าวอินโดนีเซีย และเป็นที่ปรึกษาอีกหลายสมาคมหรือชมรมสื่อของอินโดนีเซีย ท่านเป็นคนพื้นเพดั้งเดิมจากเกาะมาดูลา ซึ่งเป็นเกาะที่แห้งแล้ง และขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุดของอินโดนีเซียและเป็นพื้นที่ติดอันดับยากจนของประเทศ ผู้คนจึงอพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาตั้งบ้านเรือนในแถบพื้นที่อื่นๆ ของอินโดนีเซีย แต่ท่านต่างจากคนอื่น เพราะเป็นตระกูลที่มีฐานะในมาดูลา จึงได้รับการศึกษาอย่างดีในโรงเรียนของดัชต์ ในยุคอาณานิคม แต่ที่เหมือนคนอื่นทั่วไปคือ ท่านอพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่จาการ์ตา และกลายเป็นบ้านถาวรของท่านและครอบครัวท่านเป็นนักคิด และนักเขียน สามารถเขียนได้ทุกช่วงเวลา ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีก้าวล้ำ ท่านมีแลปท้อปคอมพิวเตอร์ติดตัวไปทุกหนทุกแห่ง ด้วยประสบการณ์ด้านสื่อและความเป็นนักสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อ ทำให้บรรดาสื่อรุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลานมักเชิญท่านไปบรรยาย ไปเป็นที่ปรึกษา ไปช่วยเหลือ ไปเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับงานด้านสื่อ ทั่วอินโดนีเซีย หลังจากบรรยายและสนทนาปราศัยกับบรรดาสื่อรุ่นหลังแล้ว ช่วงกลางคืนท่านจะนั่งทำงานเขียนจนดึกดื่น งานเขียนของท่านไม่เพียงช่วยพัฒนาวงการสื่อเท่านั้น ยังเป็นการพัฒนาเชิงสังคมไปด้วยหลังจากสิ้นยุคซูฮาร์โต ท่านเป็นคนหนึ่งที่ให้การสนับสนุนและพัฒนาด้านสื่อวิทยุของอินโดนีเซีย ซึ่งก่อนหน้านี้สื่อวิทยุถูกปิดล้อมด้วยอำนาจมืดของรัฐบาล ไม่มีเสรีภาพในการสื่อข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เมื่อมาถึงยุคประชาธิปไตย ท่านจึงหันมาร่วมมือกับสื่อวิทยุรุ่นหลังพัฒนาสื่อวิทยุเชิงธุรกิจ นอกจากนี้ท่านยังให้การสนับสนุนและร่วมพัฒนาสื่อวิทยุชุมชร่วมกับชุมชนในจังหวัดต่างๆ ในทุกภาคของอินโดนีเซียเหตุผลในการเข้าไปพัฒนาสื่อวิทยุในเชิงธุรกิจ ท่านมองว่า การที่สื่อสามารถพึ่งตนเองได้ ธุรกิจของสื่อไปได้ด้วยดี ทำให้สื่อมีอำนาจทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้สื่อมีเสรีภาพทางด้านความคิดด้วย ทั้งนี้ต้องปราศจากการควบคุมของรัฐ ในแง่การต่อสู้กับอำนาจรัฐ ท่านได้ต่อสู้กับกฎหมายว่าด้วยสื่อวิทยุและโทรทัศน์ของอินโดนีเซีย ชื่อว่า the Broadcasting Act No. 32/2002 ในเรื่อง อายุในการครอบครองคลื่นความถี่ และกฎเกณฑ์ในการตัดสิทธิการครอบครองคลื่นความถี่ที่ยังให้อำนาจของหน่วยงานรัฐไว้มากผู้เขียนมองว่า วัฒนธรรมการต่อสู้ด้านเสรีภาพของสื่ออินโดนีเซียมีความเข้มข้นสูง สังเกตว่าพวกเขาจะกลัวการถูกกำหนดจากอำนาจรัฐบาล อำนาจของทหาร (หรืออำนาจของสถาบันต่างๆ) อย่างมาก เพราะประวัติศาสตร์ที่พวกเขาเคยอยู่ภายใต้มันในช่วงเผด็จการนั้น มีแต่เรื่องเลวร้าย การถูกสั่งปิดสื่อ สั่งห้ามพูด ห้ามทำ เป็นเรื่องที่พวกเขาไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกในยุคประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น อะไรที่สามารถดึงองค์กรสื่อออกมาเป็นองค์กรอิสระ หรือเป็นองค์กรธุรกิจที่เข้มแข็งได้ โดยไม่มีอำนาจรัฐอยู่เหนือขึ้นไป พวกเขายอมทำทั้งนั้น ท่านจึงเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมวิทยุเอกชนแห่งชาติ หรือ PRSSNI (Indonesian Private National Broadcasting Radio Association) คนในวงการสื่อให้การเคารพอยู่เสมอ การบรรยาย หรือเป็นที่ปรึกษาของแวดวงสื่อจึงเป็นงานสำคัญอีกงานหนึ่งนอกจากนี้ ท่านสามารถรวมสื่อวิทยุเอกชนในจังหวัดชวาตะวันออกได้จำนวนมากถึง 140 สถานี ชื่อแปลเป็นไทยๆ ว่า สมาคมวิทยุเอกชน จังหวัดชวาตะวันออก ประกอบด้วย เมืองสุราบายา เมืองจอมบัง เมืองมารัง นับว่าเป็นสมาคมวิทยุเอกชนที่เข้มแข็งแห่งหนึ่ง ที่ไม่เพียงแต่สะสมกำไรเท่านั้น ทุกปีสมาชิกของสมาคมจะมาประชุมประจำปีเพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะร่วมกัน จะต้องมีรายการเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนกี่นาที มีรายการบันเทิงกี่นาที มีการโฆษณากี่นาที โดยไม่ต้องให้สาธารณะต่อว่าต่อขานก่อนแล้วจึงมาปรับเปลี่ยนแก้ไข นอกจากนี้แล้ว สมาชิกของสมาคมวิทยุเอกชน จังหวัดชวาตะวันออกยังต้องแบ่งบันผลกำไร 5% เข้าสู่สมาคม เพื่อนำเงินเหล่านั้นไปทำประโยชน์และพัฒนาสมาคม รวมไปถึงพัฒนาบุคลากรต่อไป กองทุนดังกล่าวประธานสมาคมไม่เปิดเผยตัวเลข แต่บอกกับผู้เขียนว่า ครั้งหนึ่ง พวกเขาเช่าเหมาลำเครื่องบินให้สมาชิกไปประชุมกับกลุ่มวิทยุโทรทัศน์ระดับกลุ่มประเทศเอเชียที่สิงคโปร์มาแล้ว และไม่ใช่ปีเดียว ทำเป็นประจำเกือบทุกปีหากมีการประชุมระดับนานาชาติเช่นนี้ ซานอลกับสมาชิกวิทยุชุมชนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของเมืองจอมบังอีกงานที่หนักหนาไม่แพ้กัน คือ งานด้านวิทยุชุมชน ท่านศึกษาจากประเทศต้นแบบหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์และประเทศที่แยกตัวออกจากประเทศรัสเซีย เพราะประเทศเหล่านั้นใช้สื่อ (ทางเลือก) เป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อประกาศอิสรภาพ ความจริงแล้ววิทยุชุมชนที่อินโดนีเซียเริ่มเติบโต โดยภาคประชาชนและเอ็นจีโอ ที่อินโดนีเซียมีกลุ่มสื่อทางเลือกประเภทต่างๆ รวมไปถึงวิทยุชุมชนที่เข้มแข็งมาก เพราะความกดดันหลายอย่าง ทำให้ภาคประชาชนของอินโดนีเซียเข้มแข็ง ท่านเข้าไปเกี่ยวพันกับการทำงานเพื่อสื่อวิทยุชุมชนก็เนื่องจากประสบการณ์ความเป็นสื่อและเป็นหนึ่งในผู้ต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อ เป็นนักค้นคว้าหาความรู้ รู้จักเรียนรู้ประสบการณ์ของคนอื่นและนำมาปรับใช้ จึงได้รับความเชื่อใจจากชุมชน ในการเข้าไปเป็นที่ปรึกษา เพื่อกำหนดทิศทางและแนวทางการทำงานด้านสื่อชุมชนกับกลุ่มคนในชุมชน เมื่อสองปีที่แล้ว วิทยุชุมชนเกิดขึ้นทั่วประเทศอินโดนีเซีย ท่านจึงเดินสายประชุมร่วมกับสื่อวิทยุชุมชนโดยไม่เหน็ดเหนื่อย แท้จริงแล้ว หลังสิ้นยุคซูฮาร์โต สื่อในอินโดนีเซียเติบโตอย่างรวดเร็ว และแบ่งเป็นหลายสาย หลากกลุ่มแนวคิด มีทั้งแบบทุนนิยมจ๋าอย่างกลุ่ม Java post group แบบแนวเสรี อย่าง kompas group แบบ tradition อย่าง waspada แบบท้องถิ่นนิยมอย่าง Kedaulatan Rakyat แบบไม่ขวาแต่ไม่เชิงซ้ายอย่าง Tempo group แบบแนวอิงศาสนาอิสลามเป็นหลักก็มีหลายกลุ่มซึ่งผู้เขียนจำไม่ได้แล้วว่าชื่ออะไรบ้าง แต่มีสื่ออิงศาสนาอยู่มากในอินโดนีเซีย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความหลากกรุ๊ป หลายแนวทั้งหลายเหล่านี้ ต่างเปล่งเสียงเดียวกันว่า “ไม่เอารถถังและปืน” ไม่เด็ดขาดที่จะอยู่ภายใต้เผด็จการไม่ว่าจะเป็น เผด็จการทหารหรือเผด็จการในรูปแบบอื่นๆ (เช่น ทักษิโณมิก) ป๊าซานอลผู้ชี้แนะแนวทางและเปิดหูเปิดตาเรื่องสื่ออินโดนีเซียให้แก่ผู้เขียน ผู้เขียนเรียนรู้เรื่องสื่อของอินโดนีเซียได้ เพราะได้รับการช่วยเหลือจากท่าน ขอไว้อาลัยยิ่งต่อการจากไปของสื่อมวลชนที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของอินโดนีเซีย ผู้อาวุโสที่ใจดี ใจกว้าง ฉลาดลุ่มลึก อ่อนโยน และมีเมตตาต่อผู้เขียน ที่เป็นสื่อท้องถิ่นจากเมืองไทย ซึ่งท่านได้เปิดหูเปิดตากว้างแก่ผู้เขียนอย่างยิ่ง ขอไว้อาลัยอย่างสุดซึ้ง .....ในวันที่ท่านกลับไปสู่อ้อมอกของพระเจ้า