Skip to main content

มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ

\\/--break--\>
วัฒนธรรมมอญได้ส่งอิทธิพลทั้งต่อวัฒนธรรมไทยและพม่า เมื่อระยะเวลาผ่านไปวัฒนธรรมไทยและพม่าที่ได้รับอิทธิพลจากมอญได้มีพัฒนาการขึ้นตามลำดับ และได้ส่งผ่านคืนมาสู่มอญด้วย ปัจจุบันจึงจำแนกได้ยากว่ารูปแบบใดคือวัฒนธรรมมอญ ไทย หรือพม่า ที่ได้รับอิทธิพลจากมอญผ่านการปรับเปลี่ยนแล้ว การเรียนรู้เรื่องมอญในประเทศไทยมีผู้ศึกษาไว้ค่อนข้างมาก ในขณะที่ฝั่งประเทศพม่ายังไม่มีผู้ศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่งต้องยอมรับว่าวัฒนธรรมมอญมีอิทธิพลเหนือพม่า และได้ส่งผ่านไปยังชนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยระยะเวลาต่อมา ดังนั้นหากมีการศึกษาเรื่องมอญในประเทศพม่า จะทำให้สังคมไทยเกิดความเข้าใจพม่า ทั้งด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ตลอดจนชนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย ที่ปัจจุบันได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับสังคมไทยไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างเลี่ยงไม่ได้ การรู้จักเพื่อนบ้านอย่างประเทศพม่า จึงเท่ากับเป็นการเรียนรู้ตัวเอง อันจะเป็นประโยชน์ทั้งสองประเทศ


วรรณกรรมมอญมีอิทธิพลอยู่ในงานวรรณกรรมไทยหลายแง่มุม เป็นที่ทราบกันดีว่าไทยรับอิทธิพลพุทธศาสนาเถรวาทผ่านมอญ ที่เข้ามาพร้อมวรรณกรรม และภาษามอญ ซึ่งปัจจุบันผสมผสานอยู่ในสังคมไทย วัฒนา บุรกสิกร สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิจัยพบว่า มีภาษามอญปะปนอยู่ในภาษาไทยมากกว่า ๖๙๗ คำ ในส่วนของอิทธิพลจากวรรณกรรมมอญที่มีต่อวรรณคดีไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็นงานของ “พระอะเฟาะ” เช่น เรื่องพระนางภิมภาขอขมาพระพุทธองค์ ราชวงศ์ สุวรรณหงส์ ประวัติสงกรานต์ อธิบายราชาธิราช ศรีธนญชัย ธรรมทีปนี ปฐมสมโพธิ พระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์ ขุนช้างขุนแผน โรคนิทาน ธรรมศาสตร์ ศาสนวงศ์ ส่วนเรื่องที่สำคัญ คือ ราชาธิราช และขุนช้างขุนแผน


ราชาธิราช รัชกาลที่ ๑ โปรดฯให้แปลมาจากพงศาวดารมอญเป็นวรรณคดีไทย ได้รับการยกย่องเป็นวรรณคดีที่ควรค่าแก่การอ่าน กระทรวงศึกษาธิการตีพิมพ์เนื้อหาบางตอนเป็นแบบเรียน

 

 

แบบเรียนมอญตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ส่วนใหญ่ใช้ "หนังสือเด็กวัด" ของพระอาจารย์อะเฟาะ
วรรณกรรมร้อยกรองเป็นแบบฝึกหัดอ่าน


ขุนช้างขุนแผน เนื้อเรื่องเกิดในปลายสมัยอยุธยา เดิมเป็นบทขับเสภาของราษฎรทั่วไป ถูกนำมาแต่งเป็นวรรณคดีไทยสมัยรัชกาลที่ ๒ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมมอญเรื่อง ขุนแผนขุนช้าง คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้สรุปว่า ขุนไกร พ่อขุนแผน เป็นทหารในกองอาทมาตมอญเมืองกาญจนบุรี นอกจากนี้ ในเรื่องขุนช้างขุนแผน มีสำนวนภาษาและเนื้อหาเกี่ยวกับมอญจำนวนมาก เช่น การแสดงทะแยมอญ การละเล่น การแต่งกาย ประเพณี คติความเชื่อ คาถาอาคม และไสยศาสตร์


พระอะเฟาะเป็นชาวมอญเมืองหงสาวดี เกิดเมื่อราว พ.. ๒๒๔๓ ไม่มีหลักฐานว่าท่านเสียชีวิตเมื่อใด แต่จากหลักฐานงานวรรณกรรมของท่าน คาดว่าน่าจะมีอายุอยู่จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๑ หากนับเอาปีแรกของรัชกาลคือ พ.. ๒๓๒๕ จะเท่ากับว่าท่านมีอายุถึง ๘๓ ปี วรรณกรรมที่ระบุปีที่แต่งเรื่องสุดท้ายของท่านคือ บารมีการ (การสร้างบารมี) แต่งเมื่อ พ.. ๒๓๑๙ ซึ่งท่านให้ลูกศิษย์จารตามคำบอก เนื่องจากนิ้วมือของท่านถูกตัด ไม่สามารถจารหนังสือได้ งานวรรณกรรมของพระอะเฟาะส่วนใหญ่แต่งก่อน พ.. ๒๒๘๓ เพราะในปีนั้นขณะที่พม่าเกิดความอ่อนแอ สมิงทอพุทธเกษ กษัตริย์มอญถือโอกาสประกาศเอกราช ต่อมาเมืองมอญเกิดจราจล พม่าทำการปราบปรามอย่างหนัก พระอะเฟาะจึงพาชาวบ้านส่วนหนึ่งอพยพหนีภัยสงครามจากเมืองหงสาวดี ไปอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านพาเปรฺะ ปลายแดนหงสาวดี ส่วนชาวมอญกลุ่มใหญ่พากันอพยพเข้าไทยตอนปลายสมัยอยุธยาเมื่อ พ.. ๒๒๙๐


พระอะเฟาะแต่งวรรณกรรมไว้มากกว่า ๑๐๐ เรื่อง ส่วนใหญ่แต่งแบบร้อยกรอง เป็นวรรณกรรมทางด้านศาสนา มีทั้งพระไตรปิฎก หมวดพระอภิธรรม พระวินัย และพระสูตร คำสอน ชาดก ประวัติศาสตร์ โหราศาสตร์ ตำรา ตำนาน และกฏหมาย ส่วนนิยาย นิทาน จะพบน้อยมาก ส่วนเรื่องที่เลือกมาศึกษานี้เป็นแบบเรียนหัดอ่านสำหรับเด็ก คือ หนังสือเด็กวัด (เหลิจก์ปล่ายแพ่ฮ์)


หนังสือเด็กวัด ของพระอะเฟาะ ไม่ทราบปีที่แต่งแน่ชัด แต่เมื่อเทียบเคียงหลักฐานจากประวัติของพระอะเฟาะ และประวัติศาสตร์ของมอญและพม่าในช่วงเวลานั้น รวมทั้งสำนวนโวหารที่ใช้ในการแต่ง พออนุมานได้ว่า พระอะเฟาะน่าจะแต่งหนังสือเด็กวัดขึ้นก่อน พ.. ๒๒๘๓ เพื่อเป็นแบบเรียนสำหรับหัดอ่านของเด็กนักเรียนมานานกว่า ๒๕๐ ปี ปัจจุบันผู้ที่เริ่มเรียนภาษามอญทั้งในเมืองไทยและพม่าก็ยังคงใช้แบบเรียนเล่มนี้ ลักษณะการเขียนเป็นร้อยกรองที่เรียกว่า แล่งกาแจะโน่ก แปลว่า ฉันทลักษณ์ใหญ่ ที่ไม่จำกัดจำนวนวรรค สามารถแต่งต่อไปได้เรื่อย จนกว่าจะจบเรื่อง วรรคหนึ่งมีประมาณ ๘ คำ แบ่งอ่านเป็น ๒ จังหวะในแต่ละวรรค มีสัมผัสบังคับเพียง ๑ แห่ง คือ คำสุดท้ายของวรรคหน้าส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๔ ของวรรคต่อไป


หนังสือเด็กวัด แต่งตามขนบการแต่งของพระอะเฟาะ คือ เริ่มด้วยคำบูชาพระรัตนตรัย บทไหว้ครูอาจารย์ผู้สั่งสอนวิชา ตลอดจนเทพเทวาที่ครองพิภพ ขอให้ผู้แต่งหนังสือมีปัญญาเฉียบแหลม ระบุชื่อผู้แต่ง (หรือนามปากกา) สถานที่แต่ง และวัตถุประสงค์ในการแต่ง เช่น “หวังให้เกิดประโยชน์แก่ชาวมอญ ได้มีความรู้ มีแนวทางดำเนินชีวิต มีแนวทางแก้ปัญหา...”


ค่านิยมในเรื่อง เช่น เศรษฐีซื้อผ้านุ่งผ้าห่มให้ลูกก่อนส่งไปเรียน จะต้องเลือกซื้อผ้าที่ดีที่สุด ซึ่งมีทั้ง “ผ้ายันต์ ผ้า (ที่มาทาง) เรือ ผ้าไหมล้านช้าง...” แสดงให้เห็นค่านิยมในการแต่งกาย การใช้ผ้า และการเลือกซื้อสิ้นค้าสำหรับคนมีฐานะ ได้แก่ การใช้และพกผ้ายันต์ติดตัว ชื่อเสียงของผ้าอินเดีย (ผ้าที่มาทางเรือ) และผ้าไหมลาวในยุคนั้น


ค่านิยมเรื่องการศึกษา สมัยก่อนลูกศิษย์ต้องออกแสวงหาฝากตัวยังสำนัก “ตักศิลา” ที่ “ครู” มีฝีมือ นำดอกไม้ธูปเทียนและของกำนัลไปไหว้ครูตามฐานะของศิษย์แต่ละคน ศิษย์บางคนกระพุ่มมือเปล่า ไม่มีแม้แต่ดอกไม้ธูปเทียน แต่อาจารย์ก็รับเป็นศิษย์และถ่ายทอดวิชาให้เท่ากัน


สำนวนโวหารสอดแทรกไว้จำนวนมาก เช่น “หากไม่รู้หนังสือจะโง่เหมือนลิงแก่ ปีนขึ้นยอดไม้นั่งตากฝน” เป็นสำนวนที่เกิดจากการเรียนรู้ธรรมชาติของลิงโดยแท้ กล่าวคือ เมื่อเมฆฝนตั้งเค้า บรรดาลิงแสมตามป่าชายเลนจะรวบยอดทางจากเข้าหากันแล้วมัดไว้เป็นกลุ่มคล้ายกระโจม แต่แทนที่จะเข้าไปหลบฝนอยู่ภายใน กลับขึ้นไปนั่งอยู่บนยอดทางจากที่มัดเอาไว้


ความรักในชนชาติ หรือชาติพันธุ์ ซึ่งนักวิจัยบางท่านกล่าวว่า ความเป็นรัฐชาติ ความเป็นชาติพันธุ์ของมอญและชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศพม่า เพิ่งมีขึ้นภายหลังอังกฤษเข้ามาเป็นเจ้าอาณานิคม ขีดแผนที่ และเขียนตำราสร้างค่านิยมแบบรัฐชาติเอาไว้ แต่ในงานวรรณกรรมของพระอะเฟาะหลายเรื่อง โดยเฉพาะหนังสือเด็กวัด ระบุไว้ชัดเจนว่าวัตถุประสงค์ในการแต่งนั้น


แต่งขึ้นด้วยความรักและเมตตา หวังให้เกิดประโยชน์แก่ชาวมอญ ด้วยภาษาของชาวเมาะตะมะ สำหรับลุกหลาน จะได้ฝึกฝนให้มีความรู้ …”


แม้ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการที่พระอะเฟาะนิ้วมือด้วน เกิดจากการตัดนิ้วตนเอง หรือถูกทางการพม่าตัดก็ตาม วัตถุประสงค์ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการแปลหรือแต่งหนังสือมอญเป็นภาษาพม่า แสดงให้เห็นว่า มอญกับพม่านับแต่อดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อนนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งพระอะเฟาะมีความรักในชนชาติมอญ จนเป็นบุคคลที่ทางการพม่าหมายหัว


หนังสือแบบเรียนที่มีการใช้งานมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ย่อมแสดงให้เห็นว่าเนื้อหาสาระสมบูรณ์ครอบคลุมทุกด้าน มีการใช้ภาษาสละสลวย บรรจุเนื้อหาและคำศัพท์ไว้หลากหลายทุกระดับเริ่มจากคำที่ง่ายไปหายาก สอดแทรกขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม สำนวนโวหาร คติสอนใจ ซึ่งปัจจุบันแบบเรียนเรื่องนี้ยังคงร่วมสมัย เหมาะสำหรับเยาวชนทุกยุคสมัย จึงได้รับความนิยมจากครูอาจารย์ผู้ถ่ายทอดภาษามอญ เลือกแบบเรียนของพระอะเฟาะให้เยาวชนได้หัดอ่านมานานกว่า ๒๕๐ ปี ทั้งสำหรับเยาวชนมอญในประเทศไทยและประเทศพม่า

 

 

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
ภาสกร  อินทุมาร เหตุการณ์ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงบทความเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่มหาชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มาจากประเทศพม่า กล่าวว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้ามายึดครองพื้นที่ รวมทั้งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ห้ามมิให้แรงงานเหล่านี้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติสิ่งที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซึ่งอ้างว่า “รักชาติ” แต่เป็นการรักชาติแบบ “มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์” และได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อความรู้สึกนึกคิดของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัย…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด (นัด)ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีวันสำคัญวันหนึ่งของคนมอญไม่ว่าจะอยู่ไหนทั้งในประเทศไทย พม่า และต่างประเทศก็จะรวมตัวร่วมใจในการจัดงานสำคัญนี้ นั่นก็คือ “วันชาติมอญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้  วันชาติมอญก็จะเวียนมาบรรจบครบรอบเป็นครั้งที่ ๖๑ ถึงแม้ว่าวันชาติมอญถือกำเนิดเกิดขึ้นในกลุ่มคนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ก็ตาม จะด้วยเป้าหมายทางการเมือง หรือ อุดมการณ์ชาตินิยมมอญ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วันชาติมอญ” ได้สะท้อนความรู้สึกและสำนึกถึงรากเหง้าและจุดกำเนิด  ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนเชื้อชาติอื่น ภาษาอื่นที่พึงจะพูดถึงที่ไปที่มาของตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้น “วันชาติมอญ”…