Skip to main content

ขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติคำนำหน้านามบุคคล ได้รับการยกร่างเสร็จเรียบร้อยเตรียมจะเข้าสภาแล้ว นอกจากจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่แต่งงานหรือหย่าแล้วใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว” ต่อไปได้ ร่างกฎหมายนี้ยังมีสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ เพราะในมาตราที่ 7 นั้น ระบุว่า ชายที่ผ่าตัดแปลงเพศเป็นหญิง โดยผ่านการรับรองจากแพทย์ และมีอายุ 15 ปีขึ้นไป จะใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว” ก็ได้ และมาตรา 8 ระบุว่า หญิงที่ผ่าตัดแปลงเพศเป็นชาย โดยผ่านการรับรองจากแพทย์ และมีอายุ 15 ปีขึ้นไปจะใช้คำนำหน้านามว่า “นาย” ก็ได้

เท่าที่ฉันติดตามข่าวดู ยังไม่เห็นมีใครลุกขึ้นมาโต้เถียงในประเด็น “นาง” กับ “นางสาว” คิดว่าเป็นเพราะข้อดีของกฎหมายนี้เปิดโอกาสให้คนได้เลือกใช้คำนำหน้านามตามที่ตัวเองต้องการ ใครใคร่ใช้ “นาง” ต่อไปก็ใช้ ใครไม่ต้องการเปลี่ยนก็ไม่ต้อง ส่วนมาตรา 8 นั้น มีคนพูดถึงน้อยมาก และยังไม่ได้ยินเสียงจากผู้ที่แปลงเพศจากหญิงเป็นชาย เลยทำให้ประเด็นนี้ยังเงียบ ๆ อยู่

ประเด็นที่ดูจะร้อนแรงและมีข้อถกเถียงกันมากนั้นอยู่ที่ มาตรา 7

ข้อถกเถียงมีตั้งแต่ ถ้าเปิดโอกาสเช่นนี้บรรดากะเทยจะไปหลอกลวงผู้ชายมาแต่งงานด้วย (เสียงนี้มาจากคุณเกย์นที จากกลุ่มเกย์การเมือง) แล้วจะเปิดโอกาสให้กับคนที่แปลงเพศแล้วเท่านั้นหรือ คนที่ยังไม่แปลง ไม่มีเงินพอที่จะแปลง หรือไม่ได้ต้องการแปลงเพศแต่มีรูปลักษณ์ภายนอกเป็นผู้หญิงนั้นเล่า ก็ต้องถูกเลือกปฏิบัติต่อไปหรือไร หรือถ้ากฎหมายออกมาเช่นนี้ ก็จะกดดันให้คนต้องไปแปลงเพศมากขึ้นเพื่อให้ได้รับสิทธิที่มาพร้อมกับกฎหมายนี้ อีกประเด็นก็คือว่า การใช้คำว่า “นางสาว” นั้น ก็ยังต้องเข้าไปผูกติดกับระบบสองเพศอยู่ดี และสาวประเภทสองบางคนก็บอกว่าตนไม่ได้อยากเป็นผู้หญิง แต่อยากได้รับการยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น

ฉันฟังดูแล้วก็ตัดประเด็นแรกทิ้งออกไปทันที เพราะความคิดที่ว่ากะเทยจะไปหลอกลวงผู้ชายนั้น เป็นความคิดที่เป็นมายาคติ ในความเป็นจริงไม่ใช่ว่ากะเทยทุกคนจะเป็นคนที่หลอกลวงคนอื่น ผู้ชายมีเมียแล้วก็หลอกลวงผู้หญิงมาแต่งงานได้ ส่วนผู้หญิงเองก็หลอกผู้ชายได้เช่นกัน

ฉันเองอยากบอกคุณเกย์นทีว่า ความคิดที่เป็นมายาคติเช่นนี้เป็นสิ่งเดียวกับที่เกย์ต้องเผชิญอยู่ เช่น คนทั่วไปมองว่า เกย์สำส่อน เกย์ชอบหลอกผู้หญิงมาแต่งงานบังหน้าความเป็นเกย์ เกย์เป็นผู้แพร่เชื้อเอดส์ ถ้าผู้ชายมีเพื่อนเป็นเกย์ล่ะก็ต้องระวังให้ดี เพราะเกย์อาจตุ๋ยคุณได้ทุกเมื่อ ฯลฯ

ในความเป็นจริงก็คือ ไม่ใช่เกย์ทุกคนจะเป็นเช่นนั้น และผู้ชายและผู้หญิงก็ทำสิ่งต่าง ๆ ที่ว่ามาได้เหมือนกันฉันไม่อยากให้คุณเกย์นที ซึ่งลุกขึ้นมาพูดทีไรก็เป็นข่าว ตกอยู่ในกับดักของมายาคติเช่นนี้ ไม่เช่นนั้นคนในสังคมก็จะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อไป และในขบวนการความหลากหลายทางเพศเองก็จะมีความแตกแยกระหว่างฝ่ายเกย์กับฝ่ายสาวประเภทสองมากขึ้นไปอีก

สิ่งที่เราต้องต่อสู้ด้วยคือตัวมายาคติ ไม่ว่าจะเป็นมายาคติกับเกย์หรือกับสาวประเภทสอง พวกเราในฐานะคนที่เผชิญกับการเลือกปฏิบัติจากมายาคติที่คนอื่นมีต่อเรา ต้องทำความเข้าใจการทำงานของมายาคติให้ทะลุปรุโปร่ง เพื่อให้เราสามารถก้าวหลุดพ้นออกมาจากมัน และช่วยให้คนอื่นสามารถเห็นความจริงอย่างที่มันเป็นได้อย่างตรงไปตรงมา

ส่วนประเด็นถกเถียงข้อต่อมาที่ว่า ถ้ากฎหมายให้สิทธิเฉพาะกลุ่มผู้ที่แปลงเพศแล้ว นั่นจะทำให้คนที่ยังไม่แปลงถูกเลือกปฏิบัติต่อไป หรือไม่ก็จะทำให้คนพยายามแปลงเพศมากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่พร้อมด้านจิตใจ หรือด้านการเงินก็ตามเพื่อให้ได้รับสิทธิคุ้มครองตามกฎหมาย ดังนั้นข้อเสนอของฝ่ายนี้คือให้กฎหมายขยายไปครอบคลุมผู้ที่ไม่ได้แปลงเพศด้วย

ส่วนฝ่ายร่างกฎหมาย ยืนยันให้เปลี่ยนคำนำหน้านามเฉพาะผู้ที่แปลงเพศ โดยได้รับการรับรองจากแพทย์แล้วเท่านั้น หลายท่านให้ความเห็นว่า ถ้าทำเช่นนี้ ฝ่ายกฎหมายและฝ่ายมหาดไทยซึ่งเกี่ยวข้องกับงานทะเบียนจะยอมรับได้มากกว่า และตอนนี้เรามีเวลาไม่มากนักสำหรับการออกกฎหมายฉบับนี้ ถ้ารอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว เท่าที่ผ่านมา กฎหมายเรื่องเพศจะไม่ได้รับความสนใจแต่อย่างใด

ประเด็นนี้เป็นเรื่องถกเถียงกันระหว่างการให้เปลี่ยนคำนำหน้านามบนพื้นฐานของเพศ (sex) หรือบนพื้นฐานของเพศภาวะ (gender) คือฝ่ายที่ต้องการให้เฉพาะผู้ที่แปลงเพศแล้วนั้น ยืนอยู่บนพื้นฐานของการระบุเพศด้วยสรีระ ซึ่งเป็นอะไรที่ชัดเจน จับต้องได้ มีความแน่นอน สถาบันทางการแพทย์ให้การรับรองได้ และแม้จะเปลี่ยนแปลงเพศสรีระได้ แต่ก็เปลี่ยนได้ยาก เพราะต้องผ่านการผ่าตัด

ส่วนอีกฝ่ายนั้นเรียกร้องให้คำนำหน้านามมีพื้นฐานอยู่บนเพศภาวะ โดยไม่ต้องเปลี่ยนเพศสรีระ ฉันคิดว่ากรณีนี้รัฐคงยอมรับได้ยากกว่า เพราะการระบุเพศเช่นนี้เป็นอะไรที่เบลอ จับต้องไม่ได้ ยากแก่การคาดการณ์ มีความไม่แน่นอนมากกว่ากรณีผู้แปลงเพศแล้วที่สามารถบ่งชี้ความเป็นเพศหญิงได้ชัดจากหน้าอกและอวัยวะเพศยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางเป็นไปได้เลยนะคะ อาจารย์ดักลาส แซนเดอร์ส อาจารย์ด้านกฎหมายมหาวิทยาลัยมหิดลและจุฬาลงกรณ์ เสนอตัวอย่างว่าในประเทศอังกฤษนั้นรัฐให้สิทธิคนเปลี่ยนคำนำหน้านามได้โดยไม่ต้องผ่าตัด แต่ต้องผ่านการรับรองจากแพทย์ คือหากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าบุคคลนี้เป็น Gender Identity Disorder (ผู้ที่มีความผิดปกติทางอัตลักษณ์ของเพศภาวะ) และใช้ชีวิตอยู่ในเพศที่ตนเองต้องการ สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามรวมถึงเอกสารทางการต่าง ๆ ตามเพศภาวะของตนได้ โดยไม่ต้องผ่าตัดแปลงเพศ

วิธีนี้ยังอยู่บนพื้นฐานของระบบสองเพศ และต้องขึ้นอยู่กับอำนาจของสถาบันการแพทย์ โดยยอมรับให้แพทย์ระบุว่าบุคคลนี้เป็นผู้ที่มีความปกติ แต่ก็ทำให้คนสามารถระบุเพศของตัวเองได้โดยใช้เพศภาวะเป็นตัวกำหนด ไม่ต้องถูกกดดันให้แปลงเพศเพื่อที่จะได้รับการคุ้มครองสิทธิด้านต่าง ๆ และรัฐอาจจะยอมรับได้เพราะมีสถาบันทางการแพทย์เป็นผู้การันตี

ข้อดีอีกด้านหนึ่งของการให้แพทย์วินิจฉัยว่าเป็น Gender Identity Disorder ก็คือ อาจทำให้รัฐกำหนดให้การแปลงเพศต้องได้รับการคุ้มครองจากประกันสุขภาพได้ด้วย อาจารย์ดักลาสเป็นผู้ยกกรณีตัวอย่างจริงให้เห็นอีกเช่นกัน เรื่องนี้เกิดขึ้นในสหภาพยุโรปค่ะ ศาลด้านสิทธิมนุษยชนตัดสินให้การผ่าตัดแปลงเพศต้องได้รับการคุ้มครองจากประกันสุขภาพเมื่อปี พ.ศ. 2546 ดังนั้นคนที่พร้อมด้านจิตใจแต่ไม่พร้อมด้านการเงิน ก็สามารถให้ประกันสุขภาพจ่ายเงินค่าผ่าตัดแปลงเพศได้

ส่วนอีกประเด็นที่ว่า การใช้คำว่า “นางสาว”ไม่ว่าจะตัดสินที่เพศหรือเพศภาวะ ก็ยังเป็นการติดอยู่กับระบบสองเพศอยู่ดี เพราะก็ยังไปไม่พ้นคำว่า “นาย” และ “นางสาว” ยังไม่พ้นที่จะเป็นผู้ชายและผู้หญิงเท่านั้น สาวประเภทสองบางคนก็บอกว่าตนไม่ได้อยากเป็นผู้หญิง แต่อยากได้รับการยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น แต่ที่ต้องเรียกร้องคำว่า “นางสาว” เพราะนี่เป็นทางเลือกเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้

บางคนเสนอให้เราก้าวไปให้พ้นกรอบนี้ เช่นโดยการใช้คำนำหน้านามอย่างอื่นเพิ่มขึ้น มีคนเสนอชื่อ “นางสาวประเภทสอง” (ซึ่งฟังดูแล้วก็คิดว่าคงไม่มีใครอยากจะเขียนคำนี้นำหน้าชื่อตัวเอง) นั่งคิดไปคิดมา ก็ต้องกุมขมับเพราะนี่เป็นเรื่องใหญ่ ใหญ่กว่าการให้สิทธิใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว” กับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ผู้หญิงที่หย่าแล้ว และสาวประเภทสองทั้งที่ผ่าตัดและยังไม่ผ่าตัด เพราะเรื่องนี้สั่นคลอนฐานความคิดความเชื่อเรื่องระบบสองเพศที่เป็นรากฐานของสำคัญของรัฐ

ลองคิดดูนะคะว่า ระบบสองเพศนี้มีอิทธิพลต่อเราตั้งแต่ก่อนที่เราจะเกิดมาเสียอีก เวลาที่ผู้หญิงคนหนึ่งตั้งท้อง สิ่งที่คนเดี๋ยวนี้ทำกันก็คือ ต้องไปอุลตร้าซาวนด์ดูว่าเป็นเด็กผู้หญิงหรือเป็นเด็กผู้ชาย หรือถ้าไม่ทำอุลตร้าซาวนด์ เวลาเด็กเกิดมา คนก็จะถามด้วยคำถามแรกว่า “ผู้หญิงหรือผู้ชาย” สูติบัตรของเราก็ต้องระบุชัดว่า เราเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย

วิถีชีวิตของเราถูกกำหนดด้วยระบบสองเพศอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเข้าโรงเรียน จะพูดกับใคร จะทำบัตรประชาชน ทำงาน ไปหาหมอที่โรงพยาบาล จะแต่งงาน มีลูก ทำหมัน หย่า จะเดินทาง ทำพาสปอร์ต แข่งกีฬา เข้าห้องน้ำสาธารณะ หรือแม้แต่เวลาถูกจับเข้าคุก รัฐก็ต้องการรู้อัตตลักษณ์ทางเพศ (ที่มีอยู่เพียงสองทางเลือก) ของเราให้แน่ชัด เจ้าหน้าที่รัฐจะได้คาดการณ์การมีปฏิสัมพันธ์กับเราได้ถูก หรือรัฐจะได้วางแผนนโยบายต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายประชากร นโยบายสาธารณสุข นโยบายความมั่นคง ฯลฯ และคนธรรมดาอย่างเราก็ต้องการความชัดเจนด้วยว่า ลูกของเรา แฟนของเรา เพื่อน หรือคนที่เราเห็นอยู่นั้นเป็นเพศอะไร เพื่อเราจะได้สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเขาได้ถูก - ตามกรอบของระบบสองเพศ

ดังนั้นแล้ว การเปลี่ยนคำนำหน้านามที่ให้ผู้หญิงคงคำว่า “นางสาว” ไว้ได้ ก็ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ แม้จะให้สิทธิแก่ผู้หญิงมากขึ้น แต่ยังอยู่ในกรอบของระบบสองเพศเช่นกัน การให้โอกาสผู้ที่แปลงเพศหรือยังไม่แปลงใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว” แม้จะให้สิทธิแก่สาวประเภทสองมากขึ้น แต่ก็ยังคงอยู่ในกรอบของระบบสองเพศ เรื่องอย่างนี้รัฐคงยอมรับได้มากกว่าจะยอมรับเพศที่นอกเหนือจากเพศชายและเพศหญิง

หากแต่ในโลกของความเป็นจริง มันไม่ได้มีแค่สองเพศและสองเพศภาวะ ยิ่งอยู่ในแวดวงความหลากหลายทางเพศนี้มากเท่าไร ฉันก็ยิ่งเห็นความหลากหลายของเพศมากขึ้นเท่านั้น ยอมรับค่ะว่า บางทีทำเอาฉันงง และทำตัวไม่ถูก บางทีก็เห็นใจทางฝ่ายมหาดไทยเหมือนกัน ขนาดฉันที่อยู่ในแวดวงมาหลายปี ยังงง แล้วมหาดไทยที่อยู่ในกรอบอย่างนั้นจะไม่งวยงงมากกว่าฉันอีกหลายเท่าหรืองงงวยและซับซ้อน แต่ก็ไม่ใช่จะไม่มีทางออกเลย ยังพอมีหวังค่ะ เพราะเห็นได้จากการที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เกือบจะระบุให้ความคุ้มครองอัตตลักษณ์ทางเพศ (ซึ่งมีมากกว่าสองเพศ) ลงไปแล้ว

ฉันขอเสนอวิธีที่ไปพ้นคำนำหน้านาม คือ ไม่ต้องระบุคำนำหน้านาม และสามารถระบุเพศเองได้ นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นจากมหาวิทยาลัยที่ฉันเรียนในอเมริกา เวลากรอกเอกสาร เราไม่ต้องกรอกคำนำหน้านาม คือ ไม่ต้องใช้คำว่า Mr. หรือ Ms. แต่ในช่องที่ระบุเพศ จะมีช่องให้ติ๊กว่าเราเป็น ชาย หญิง หรือ อื่น ๆ ในช่องอื่น ๆ นั้น เราสามารถใส่ลงไปตามที่เราต้องการได้เอง หลายปีก่อนเคยเห็นโพลล์ของมหาวิทยาลัยรังสิตทำอย่างนี้เหมือนกัน

วิธีนี้อาจจะทำให้รัฐงงหน่อย และมีการเปลี่ยนแปลงมากหน่อยในกรณีที่คนเกิดเปลี่ยนเพศหรือเพศภาวะของตน แล้วต้องการไปแก้เอกสาร แต่ฉันคิดว่านี่จะช่วยให้ประชาชนมีอิสระในการเลือกเพศ มีโอกาสได้เป็นในสิ่งที่ตัวเองเป็นจริง ๆโดยไม่ต้องขึ้นกับสถาบันใด ๆ หรือขึ้นกับระบบสองเพศ และรัฐจะได้ข้อมูลประชากรที่เป็นความจริงมากกว่าด้วยซ้ำไป ซึ่งสามารถนำไปสู่การวางนโยบายต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับเพศอันหลากหลายของประชากร

ที่ทำได้มากกว่านั้นก็คือ เราต้องมีกฎหมายป้องกันการเลือกปฏิบัติออกมาควบคู่กันไปด้วย เช่น ขณะนี้สาวประเภทสองถูกเลือกปฏิบัติจากการรับสมัครงานมาก วิธีหนึ่งที่จะป้องกันได้คือมีกฎหมายที่ระบุว่าการรับสมัครงานต้องไม่ขึ้นอยู่กับเพศ ที่อเมริกามีกฎหมายเช่นนี้ ฉันรู้มาจากเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นนายจ้างกำลังจะรับสมัครงาน เพื่อนบอกกับฉันว่า ที่นี่เราไม่สามารถประกาศได้ว่าเราต้องการผู้หญิงหรือผู้ชาย เวลาคนส่งใบสมัครก็ไม่ต้องส่งรูปมา เพราะนายจ้างจะได้ไม่ตัดสินใจโดยมีอคติต่อรูปร่าง หน้าตา หรือเชื้อชาติ น่าจะเป็นทางออกที่ดี ทุกวันนี้เราจะเห็นแต่ประกาศรับสมัครงานที่บอกว่า ต้องการชาย อายุ..... หรือต้องการหญิง อายุ... ไม่เคยเห็นประกาศที่ต้องการสาวประเภทสองเลย ถ้ามีกฎหมายคุ้มครองเช่นนี้ สาวประเภทสองก็สามารถสมัครงานได้ตามความสามารถของตัวเอง

แน่นอนนะคะว่าเวลาเจอกันจริง ๆ ทำงานด้วยกันจริง ๆ แล้ว คนที่มีอคติอยู่ก็อาจจะเลือกปฏิบัติต่อสาวประเภทสอง ซึ่งกฎหมายนี้ต้องคุ้มครองไปถึงขณะที่ทำงานแล้วด้วย คือผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติก็สามารถมีสิทธิฟ้องร้องต่อศาลได้ นี่เป็นตัวอย่างบางส่วนในระดับกฎหมายที่เป็นทางเลือกได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีเพศที่แตกต่างอย่างมาก แต่จริง ๆ แล้ว เราไม่ต้องรอให้กฎหมายออกนะคะ เราสามารถช่วยกันแหวกกรอบของระบบสองเพศได้ทุกเมื่อ ถ้าคุณเป็นเจ้าของกิจการ หรือพนักงาน คุณสามารถผลักดันให้บริษัท องค์กร ของคุณออกนโยบายที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศได้ ไม่ว่าจะเป็นการรับคนโดยไม่ต้องระบุเพศ การส่งเสริมให้ทุกคนได้เรียนรู้เรื่องความแตกต่างหลากหลาย หรือออกข้อห้ามมิให้เกิดการเลือกปฏิบัติกันในองค์กรของคุณ

ในฐานะปัจเจก เราสามารถเปิดใจเรียนรู้ความหลากหลายทางเพศที่มีมากกว่าสองเพศได้เสมอ เหมือนกับ คนบางคนรักการเดินทาง เพราะทำให้ได้พบปะผู้คนที่หลากหลายวัฒนธรรม เชื้อชาติ ภาษา แม้บางทีเราจะเจอ Culture Shock แต่มันก็เป็นการเปิดให้เราเข้าใจโลก เข้าใจคนอื่นได้มากขึ้น เช่นกัน เราสามารถเดินทางข้ามผ่านพรมแดนทางเพศ ด้วยการเข้าไปพบปะผู้คนที่มีความหลากหลายทางเพศ คบเพื่อนที่เป็นเพศที่สามเพิ่มขึ้น หรือไปร่วมกับองค์กรที่ทำงานด้านนี้ แม้บางทีเราจะเจอ Gender Shock บ้าง แต่ว่าแต่ละคนที่เราได้พบจะช่วยให้เรามีความเข้าใจต่อความเป็นคนได้อย่างเป็นจริงมากขึ้น

ขอปิดท้ายด้วยตัวอย่างจากเรื่องจริงค่ะ

ขณะที่หมอคนหนึ่งกำลังทำคลอดเด็ก หมอสังเกตเห็นว่าเด็กที่เพิ่งเกิดคนนี้มีอวัยวะเพศของทั้งสองเพศ พยาบาลที่ยังไม่เห็นเด็กถามว่า “เด็กผู้หญิงหรือเด็กผู้ชายคะ” หมอไม่ตอบว่าเพศอะไร แต่ตอบว่า “นี่เป็นเด็กที่งดงามคนหนึ่ง”

หมอคนนี้มองทะลุผ่านความเป็นเพศ และมองเห็นความจริงอันงดงามที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าได้อย่างชัดเจน

------------------------------------------------------

* หมายเหตุ ข้อมูลเพิ่มเติมจากอาจารย์ดักลาส แซนเดอร์ส เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแปลงเพศในประเทศต่าง ๆ

- ในยุโรป

ปี พ.ศ. 2539 ศาลยุติธรรมของยุโรป ตัดสินว่าการเลือกปฏิบัติที่มีพื้นฐานอยู่บนการแปลงเพศ เท่ากับเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศ ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายของสหภาพยุโรป

ปี พ.ศ. 2545 ศาลสิทธิมนุษยชนของยุโรปตัดสินว่า ผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้วสามารถเปลี่ยนเพศในเอกสารประจำตัวต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงสูติบัตร ใบขับขี่ และหนังสือเดินทาง

ปี พ.ศ. 2546 ศาลสิทธิมนุษยชนของยุโรปตัดสินว่า การผ่าตัดแปลงเพศเป็นกระบวนการทางการแพทย์ที่กฎหมายรับรอง และควรได้รับการคุ้มครองโดยประกันสุขภาพ

ดังนั้น ทุกประเทศในยุโรปต้องมีการออกกฎหมายที่สอดคล้องกับคำตัดสินของศาลเหล่านี้

- ในประเทศออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกาและบางประเทศในอเมริกาใต้ อนุญาตให้บุคคลที่แปลงเพศแล้วเปลี่ยนเพศในเอกสารส่วนบุคคลได้

ปีนี้ ประเทศบราซิลกำหนดว่าการผ่าตัดแปลงเพศต้องเป็นสวัสดิการที่ผู้ผ่าตัดไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

- ในเอเชีย ประเทศที่อนุญาตให้ผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้วเปลี่ยนเพศในเอกสารส่วนบุคคลได้มี จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้

- ในประเทศมุสลิม การแปลงเพศได้รับการยอมรับตามกฎหมายใน อียิปต์ อิหร่าน อินโดนีเซีย ตุรกี

บล็อกของ หลิน

หลิน
ขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติคำนำหน้านามบุคคล ได้รับการยกร่างเสร็จเรียบร้อยเตรียมจะเข้าสภาแล้ว นอกจากจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่แต่งงานหรือหย่าแล้วใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว” ต่อไปได้ ร่างกฎหมายนี้ยังมีสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ เพราะในมาตราที่ 7 นั้น ระบุว่า ชายที่ผ่าตัดแปลงเพศเป็นหญิง โดยผ่านการรับรองจากแพทย์ และมีอายุ 15 ปีขึ้นไป จะใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว” ก็ได้ และมาตรา 8 ระบุว่า หญิงที่ผ่าตัดแปลงเพศเป็นชาย โดยผ่านการรับรองจากแพทย์ และมีอายุ 15 ปีขึ้นไปจะใช้คำนำหน้านามว่า “นาย” ก็ได้เท่าที่ฉันติดตามข่าวดู ยังไม่เห็นมีใครลุกขึ้นมาโต้เถียงในประเด็น “นาง” กับ “นางสาว”…