Skip to main content

                                           

มื่อปีก่อน การที่กระทรวงวัฒนธรรมได้สั่งห้ามไม่ให้ภาพยนตร์เรื่องอาบัติออกฉายจนกว่าผู้สร้างจะตัดบางฉากซึ่งสะท้อนถึงพฤติกรรมอันไม่ดีงามของนักบวชในพุทธศาสนาออกไป ทำให้ผมตระหนักถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์ที่มีต่อสังคมและการเมืองเกินกว่าที่ใครหลายคนจะสามารถคาดคิดได้

       เราสามารถแบ่งกลุ่มบุคคลที่มีปฏิกิริยากับภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ซึ่งขัดแย้งกัน กลุ่มแรกคือ พระบางรูปและกลุ่มชาวพุทธหลายกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาที่ถูกนำเสนอในภาพยนตร์  กลุ่มที่ 2 คือ พวกเสรีนิยมซึ่งมีความเห็นตรงกันข้ามกับกลุ่มแรกคือเห็นว่า เราควรแยกระหว่างภาพยนตร์ออกจากความจริงเพราะภาพยนตร์เป็นเพียงศิลปะอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นการเปิดทางให้มีการสร้างภาพยนตร์ที่สร้างสรรค์ แหวกแนว ไม่ถูกจำกัดจากรัฐ ที่สำคัญภาพยนตร์ที่ไม่มีการปิดกั้นทางความคิดก็จะสามารถสะท้อนความจริงให้สังคมได้รับรู้  สำหรับผมนั้นแน่นอนว่าไม่เห็นด้วยกับกลุ่มแรก แต่ผมเห็นว่าแนวคิดของกลุ่มที่ 2  หรือพวกเสรีนิยมเป็นการมองข้ามพลังและความสำคัญของภาพยนตร์ไป  หากมองในอดีต  ภาพยนตร์นับตั้งแต่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ก็ได้กลายเป็นส่วนสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์ทางสังคม การเมืองและของรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะภาพยนตร์ยังต้องแอบอิงและมีปฏิสัมพันธ์อยู่กับมวลชนอยู่เสมอ เพราะคงไม่มีใครสร้างภาพยนตร์มาให้ตัวเองดูคนเดียวหรือนำเสนอในเรื่องที่ไม่มีใครเข้าใจแม้แต่ภาพยนตร์ศิลปะก็ยังต้องมีทำให้ใครสักใครเข้าใจ (อย่างน้อยตามแง่มุมของตัวเอง) ยิ่งเทคโนโลยีในการสร้างภาพยนตร์ทวีความซับซ้อนในการนำเสนอเพื่อหลอกล่อประสาทสัมผัสของมนุษย์เท่าไร (เช่นมีคอมพิวเตอร์กราฟิก) ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อความคิดของคนดูไม่ว่าจะเป็นแนวคิดทางสังคม รสนิยม ทัศนคติ ความเชื่อ ฯลฯ ได้มากเท่านั้น และย่อมทำให้มนุษย์เกิดความหลงต่อภาพที่ปรากฏ ถึงแม้จะรู้อยู่กับใจตัวเองว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกสมมติขึ้นก็ตาม

 

      การชมภาพยนตร์จึงเป็นการนำตัวมนุษย์ไปสู่การสะกดจิตแบบกึ่งตื่นกึ่งหลับ ที่ตื่นคือมนุษย์ยังรู้ว่าตัวเองดูภาพยนตร์ สามารถวิเคราะห์ได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ดีอย่างไร ผู้แสดงเก่งหรือไม่ บทมีความประณีตมากน้อยเพียงใด วิเคราะห์กันได้อย่างหลากหลาย หลายคนยังชอบดูเบื้องหลังการถ่ายทำ แต่ที่หลับก็คือ ภาพยนตร์พามนุษย์ดำดิ่งไปสู่โลกและสังคมด้วยกันในแง่มุมที่มนุษย์ไม่เคยเข้าถึงมาก่อน แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นจะนำเสนอเนื้อเรื่องและวัตถุดิบคือเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของมนุษย์เสียส่วนใหญ่ แต่เป็นไปไม่ได้ที่ภาพยนตร์จะสามารถสะท้อนความเป็นจริงได้เหมือนกับความเป็นจริงทุกแง่มุม ภาพยนตร์จึงเป็นตัวกระตุ้นให้สมองของมนุษย์ได้สร้างความจริงที่เกิดขึ้นมาอีกปริมณฑล (sphere) หนึ่ง โดยการใช้วัตถุดิบก็คือความจริงของโลกผสมกับจินตนาการ ภาพยนตร์กลายเป็นเทคโนโลยีที่สร้างความจริงที่เหนือจริง (Hyper-reality) อีกแบบหนึ่งไปที่ทำให้เราเชื่อว่าจริงโดยไม่รู้ตัวแม้จะรู้ว่าไม่ใช่เรื่องจริง ที่สำคัญภาพยนตร์เป็นตัวปลูกฝังนิสัยให้มนุษย์เป็นโรคถ้ำมอง ชอบมองดูชีวิตของคนอื่น (ที่สมมติขึ้นมา) โดยที่ตนสามารถเลือกได้ว่าจะเอาตัวเข้าไปเกี่ยวข้องได้หรือไม่ แต่ความจริงแล้วภาพยนตร์ก็หลอกล่อให้มนุษย์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมันได้อยู่หลายครั้ง  ตัวอย่างได้แก่ Hachi เวอร์ชันฮอลลีวูด ซึ่งสร้างจากเรื่องจริงเกี่ยวกับสุนัขญี่ปุ่นผู้ภักดีต่อเจ้าของนั้น ผมเชื่อว่ามีน้อยรายที่ได้ดูแล้วจะไม่ร้องไห้ หรือชาวรัฐแคนซัสคนหนึ่งบ่นว่ามีคนชอบมาทักเขาว่าได้เจอดอโรธีหรือไม่ ดอโรธีนั้นคือตัวละครตัวหนึ่งในภาพยนตร์ Wizard of Oz อันแสนโด่งดังและเป็นที่รักที่สุดเรื่องหนึ่งของคนอเมริกัน โดยเธอมีนิวาสสถานอยู่ที่แคนซัส หรือภาพยนตร์อาบัติซึ่งแน่นอนว่าเราสามารถพบกับพฤติกรรมเช่นนี้หรืออาจยิ่งกว่าของพระได้ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นจริงๆ เช่น มีนาย ก. หน้าตาเช่นนี้มาบวชและได้พบนางเอกหน้าตาเช่นนี้ จนสุดท้ายได้พบกับผีเปรต เป็นต้น แต่ก็ทำให้คนสะเทือนใจกับพฤติกรรมของพระอย่างมากเช่นเดียวกับตอกย้ำความเชื่อเรื่องผี

 

    หลายคนอาจเข้าใจว่าตนนั้นเป็นเจ้านายในการเสพภาพยนตร์ นั่นคือสามารถเลือกหรือปฏิเสธสารที่ภาพยนตร์นำเสนอ ซึ่งความสามารถเช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นได้กับคนจำนวนไม่มากนักซึ่งผมก็ไม่มั่นใจอีกเหมือนกันว่าคนเหล่านั้นจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรทางความคิดหรืออารมณ์จากภาพยนตร์เลย และผมคิดว่าคนที่บอกว่า “หนังก็คือหนัง คนละเรื่องกับความจริง” เป็นคนที่ไม่สามารถชมภาพยนตร์ได้สนุกเท่าไรนัก  แต่สำหรับมวลชนแล้ว ภาพยนตร์คือเครื่องมือในการสะกดจิตอันแสนทรงพลัง ไม่ว่าพวกเสรีนิยมจะเชื่อมั่นถึงวุฒิภาวะของมนุษย์ก็ตาม (อันก่อให้เกิดคำถามที่ว่าหากมนุษย์มีวุฒิภาวะในการชมภาพยนตร์จริง ๆ เหตุใดจึงไม่มีรัฐบาลของประเทศไหนในโลก แม้แต่ที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ยอมให้ภาพยนตร์เข้าฉายในโรงทันทีโดยไม่มีการตรวจสอบของรัฐเลย)

 

ภาพยนตร์ยังเป็นสิ่งที่สร้างชุมชนในจินตนาการได้อย่างยิ่งใหญ่เหนือกว่าข่าวหรือสารคดี (ซึ่งก็พยายามนำเสนอให้เหมือนภาพยนตร์เข้าไปทุกทีเพื่อให้เกิดความเร้าใจมากขึ้น)  ตัวอย่างเช่นภาพยนตร์ในรูปแบบละครซึ่งกลายเป็นอาจารย์ผู้มอบความรู้หรือส่งผ่านคติ ค่านิยมทางสังคมให้กับมวลชนได้ดีกว่าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเสียอีก อย่างเช่นคนจำนวนไม่น้อยต้องการเป็นหรือมีคู่ครองอย่างพระเอกหรือนางเอกในละครอย่างเช่นหล่อ สวย ร่ำรวย ฯลฯ  ชนชั้นล่างเป็นชนชั้นที่น่าสมเพศที่พึงได้รับความเมตตาชนชั้นสูงกว่า ผู้หญิงต้องพึ่งพิงผู้ชาย เช่นนางเอกยากจนแต่ก็ได้ดีเพราะพระเอกที่เป็นนักธุรกิจพันล้าน ฯลฯ  นอกจากนี้ภาพยนตร์สามารถทำให้มนุษย์ในแต่ละสังคมมองเห็นซึ่งกันและกันได้ดีกว่าสื่อทางวัฒนธรรมประชานิยมอื่นๆ (ไม่สารคดีการ์ตูน เพลง ฯลฯ)  แม้ว่าจะบิดเบือนจากความเป็นจริงก็ตามอย่างเช่น คนไทยหรือคนทั่วโลกจะเข้าใจสังคมอเมริกันโดยมากก็ผ่านภาพยนตร์ ยิ่งดูภาพยนตร์ต่อสู้หรืออาชญากรรมก็ทำให้ชาวโลกมองสังคมอเมริกันเป็นสังคมบ้านป่าเมืองเถื่อน (ตัวละครอยู่ในอพาร์ตเมนท์และมีเสียงหวอของตำรวจผ่านไป) หรือภาพยนตร์รักโรแมนติกก็ทำให้คนทั่วโลกเข้าใจว่าหนุ่มสาวอเมริกันนิยมเรื่องเพศอย่างเสรี คือมีอะไรกันเมื่อไรก็ได้ หรือเลิกกันเมื่อไรก็ได้ เพื่อนผมเคยบอกว่าผมว่าฝรั่งนี่เวลาเลิกกันมันคงไม่เจ็บปวดเท่าไร เพราะมันฟรีเหลือหลาย แต่การเคยพูดกับคนอเมริกัน เขาบอกว่าค่านิยมทางเพศของคนอเมริกันก็ไม่ค่อยต่างอะไรกับสังคมไทย และหลายรัฐหรือหลายเมืองของสหรัฐฯ ล้วนน่าอยู่กว่าประเทศไทยอีก ในทางกลับกัน คนอเมริกันก็เข้าใจประวัติของชาวสยามผ่านเรื่อง The King and I หรือ Anna and the King ว่านางแอนนา เป็นผู้นำความศรีวิลัยมาสู่สังคมสยาม  ภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่มาถ่ายทำในเมืองไทยในปัจจุบัน ก็ชวนให้ฝรั่งที่ไม่เคยมาเมืองไทยดูบ้านเรามันช่างป่าเถื่อนและอันตรายเหลือเกิน เต็มไปด้วยยาเสพติด หรือโสเภณี

 

   ที่สำคัญภาพยนตร์ยังสามารถทำหน้าที่เป็นภาพจริงที่เหนือจริงของอดีตในการช่วยให้คนในยุคปัจจุบันจะมองเห็นชีวิตของคนในยุคก่อนอันจะเป็นการสร้างอัตลักษณ์ของพวกเขาโดยการเชื่อมโยงเข้ากับสังคมในอดีต  คนไทยจะรู้จักคนในยุคกรุงศรีอยุธยาได้ก็ผ่านภาพยนตร์ เพราะแค่อ่านหนังสือกับดูภาพวาดก็ไม่เร้าใจเท่า  การจะมารอเข้าใจสังคมและประวัติศาสตร์ของชาตินั้น ๆ โดยผ่านการอ่านหนังสือ เป็นเรื่องที่ช้าและละเอียดอ่อนเกินไปสำหรับมวลชนที่จะเข้าถึง  วงวิชาการก้าวไปก้าวเดียว ภาพยนตร์ก้าวล่วงหน้าไปสิบก้าว ซึ่งก็คงเหมือนกับดังได้กล่าวไว้ข้างบนคือภาพอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงเท่าไร (อันเป็นเหตุที่ทำให้ มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคลใช้ชื่อว่า “ตำนาน” ก่อนหน้าคำว่า “สมเด็จพระนเรศวร” เพื่อป้องกันไม่ให้ภาพยนตร์ถูกโจมตีว่าใส่ใข่เสียเยอะ)

 

  แน่นอนว่ารัฐย่อมไม่พลาดโอกาสนี้ในการหยิบฉวยภาพยนตร์มาเพื่อล้างสมองเพื่อให้พลเมืองเกิดความเชื่อถือในตัวรัฐหรือถูกครอบงำโดยอุดมการณ์ของรัฐ ดังเช่นภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อของฮิตเลอร์ที่มีผู้กำกับอย่าง Triumph of the Will  ในขณะที่ภาพยนตร์ฝั่งตะวันตกอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาที่เชิดชูประชาธิปไตยก็จะสร้างภาพยนตร์ต่อต้านนาซี เช่นเรื่อง Casablanca ที่ฉากเด็ดคือให้บรรดาแขกที่อยู่ในผับของพระเอก ร้องเพลง La Marseillaise ประชันกับเพลงของเยอรมันนาซี หรือภาพยนตร์อย่าง It’s a Wonderful Life สร้างโดย แฟรงค์ คาปรา เป็นการสร้างภาพของชุมชนในจินตนาการของสังคมเพื่อเป็นการเชิดชูคุณค่าอันสูงส่งแบบอเมริกันเช่นครอบครัวและการอุทิศตนให้กับสังคม อันเป็นการต่อต้านค่านิยมของอุดมการณ์อื่นๆ เช่นฟาสซิสต์หรือคอมมิวนิสต์ ในช่วงสงครามเย็น ภาพยนตร์ฮอลลีวูดก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอำนาจแบบละมุน (soft power) ในการทำให้สหรัฐฯ ดูดีในสายตาชาวโลกแข่งกับคอมมิวนิสต์ แม้ว่าบทบาททางการเมืองและการทหารของสหรัฐฯ ในช่วงหลังอย่างการบุกรุกอัฟกานิสถานและอิรักจะทำให้ประเทศนี้ดูกลายเป็นรัฐอันธพาลก็ตาม แต่ผมคิดว่าคงมีคนไม่น้อยยังคงคิดว่าสหรัฐฯ นั้นยังดูน่าเชื่อถือกว่าประเทศอื่นๆ เช่น รัสเซีย จีน อิหร่าน เช่นถ้าจะให้อพยพไปอยู่หรือว่าส่งลูกหลานไปเรียนต่อก็คงเลือกสหรัฐฯ มากกว่าประเทศดังกล่าว (แม้จะกลัวอาชญากรรมหรือเรื่องทางเพศเสรีก็ตาม แต่ก็พอยอมได้)

 

เช่นเดียวกับภาพยนตร์ไทยในอดีตจนถึงปัจจุบันซึ่งมักจะปลูกฝังคนไทยในด้านอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ศาสนานิยม  อนุรักษ์นิยม หรือแม้แต่กองทัพนิยมอย่างเช่น สุริโยทัย ตำนานสมเด็จพระนเรศวร หรือ 4 แผ่นดินจึงได้รับการสนุนจากรัฐอย่างล้นพ้น ในทางกลับกัน รัฐก็จะระแวดระวังโดยการตรวจสอบ ควบคุม ตัดทอน หรือสั่งห้ามภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาอันไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์หลักของรัฐเพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความคิดหรือมีพฤติกรรมที่หันมาบั่นทอนความมั่นคงของรัฐ หรืออยู่นอกเหนือจากขอบเขตที่รัฐวางไว้ ตัวอย่างเช่นภาพยนตร์สะท้อนมุมมองที่แท้จริงของชาว 3 จังหวัดภาคใต้ต่อกองทัพ ภาพยนตร์ของพวกเสื้อแดง  หรือภาพยนตร์ที่กระทบกระเทือนศีลธรรมอันดีงาม (ซึ่งปัจจุบันเกณฑ์ดูเหมือนจะอิงกับระบบศักดินามาก ดังภาพยนตร์โป๊เปลือยของราชนิกูลอย่างหม่อมน้อยมักจะออกฉายได้ ในขณะที่เรื่องอื่นที่ถูกกำกับโดยพวกไพร่ก็ถูกสั่งห้ามหรือตัดบางฉากออกไปจนเสียภาพยนตร์อย่างจันดาราของนนทรีย์ นิมิบุตร) ทั้งที่ความจริงแล้ว ภาพยนตร์ที่มีสารดังกล่าวอาจสามารถทำให้มนุษย์ได้ตระหนักถึงมิติอันหลากหลายของตน หรือกระตุ้นให้เราได้เห็นความจริงได้ดีกว่าอุดมการณ์หลักของรัฐไม่รู้กี่เท่า และไม่เกี่ยวอะไรกับความมั่นคงของรัฐเลย นอกจากความมั่นคงของชนชั้นนำเอง

 

       ผมคิดว่าพวกอนุรักษ์นิยมหรือพวกที่ต่อต้านอาบัตินั้นเข้าใจถึงพลังของภาพยนตร์เช่นนี้ดี ถึงแม้พวกเขาจะทราบว่าพฤติกรรมของสงฆ์ (อันอาจจะรวมไปถึงพวกเขาบางคนด้วย) ในปัจจุบันจะย่ำแย่หรือเน่าเฟะยิ่งกว่าในภาพยนตร์ก็ตาม พวกเขาก็ปลงตกได้กับข่าวเช่นนี้ทางสื่อต่างๆ เพราะมันเป็นเพียงการนำเสนอภาพและข่าวสารอันแห้งแล้ง (กระนั้นมีพระหลายรูปออกมาด่าสื่ออยู่เรื่อยๆ) แต่สำหรับภาพยนตร์แล้วพวกเขาไม่แน่ใจว่าสารที่นำเสนอจากภาพยนตร์นั้นจะมีทิศทางไปทางใด แม้ว่าเจตนาของผู้สร้างภาพยนตร์จะเป็นการนำเสนอหลักธรรมของพุทธศาสนาทางอ้อมโดยการให้พระที่พฤติกรรมไม่ดีโดนลงโทษ แต่รูปแบบการนำเสนอของภาพยนตร์เช่นนี้แตกต่างจากภาพยนตร์หรือละครเชิดชูพุทธศาสนาตามแบบกระทรวงศึกษาธิการที่พวกเขาคุ้นเคย พวกเขาคงสงสัยว่าหลังจากชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบ คนไทยจำนวนไม่น้อยจะเสื่อมศรัทธาต่อพระและศาสนา เพราะพลังของสารที่ปะปนมากับแสงสีเสียงที่คนเหล่านั้นประสบพบในโรงภาพยนตร์ผสมกับภาพพจน์ของพระตัวจริงที่เห็นได้ชีวิตประจำวัน   ดังนั้นการปิดกั้นภาพยนตร์หรือไม่ก็ตัดบางฉากออกไปก็เป็นวิธีการที่สะดวกและง่ายดายที่สุด ในการดำรงไว้ซึ่งอำนาจนำทางความคิดแบบอนุรักษ์นิยมผสมศาสนานิยมเหนือสังคมไทยต่อไป เสียยิ่งกว่าจะหันมาแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมจริงๆ อย่างเช่นปฏิรูปองค์กรสงฆ์หรือการเลือกพระสังฆราชหรือผู้นำที่มีคุณภาพและความสามารถจริงๆ มานำองค์กรอันประกอบไปด้วยสมาชิกหลายแสนคนซึ่งมีบทบาทและอิทธิพลต่อสังคมไทย

 

 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.พลเอกประยุทธ์และคสช.มองว่าตัวเองเป็น  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้แปลมาจาก   www.counterpunch.org The Strategist and the PhilosopherLeo Strauss and Albert Wohlstetter
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  Concerto มาจากภาษาอิตาลีคือคำว่า Concerti หมายถึงการเล่นประสานกันระหว่างวงดนตรีขนาดใหญ่กับเครื่องดนตรีชนิดใดชนิดหนึ่ง (คำว่า Concerti จึงเป็นที่มาของคำว่า Concert ที่ใช้กันในปัจจุบัน) ถ้าเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 ตามความเข้าใจของเราที่ได้รับอิทธิพลจากยุควิคตอเรียนของอังกฤษ ผู้หญิงในสังคมของทุกชาติในอดีตมักเป็นช้างเท้าหลังที่สงบเสงี่ยม ทำตามคำสั่งของสามีอยู่ต้อยๆ แต่พวกเราเองก็ยอมรับว่ามีผู้หญิงไม่น้อยที่เข้ามามีอิทธิพลต่อสามีซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของโลกหรื