Skip to main content

ภิญญพันธุ์  พจนะลาวัณย์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

1.

ปี 2555 มังหงะ หรือการ์ตูนเรื่อง Buddha ผลงานอมตะของ เท็ตซึกะ โอซามุ ที่เขียนขึ้นในปี 1972/2515-1983/2526 ถูกแปลงร่างให้เคลื่อนไหวและตีความใหม่อีกครั้ง จากมังหงะจำนวน 14 เล่ม กลายเป็นอนิเมะ หรือการ์ตูนอนิเมชั่นความยาวเกือบ 2 ชั่วโมง ความสำคัญของผลงานการ์ตูนนี้ไม่ได้อยู่ที่การอธิบายพุทธประวัติหรือแก่นธรรมได้อย่าง “ถูกต้องตามไตรปิฎก” แต่การ์ตูนถูกตีความด้วยยุคสมัยที่วางทาบอยู่กับบริบทของประวัติศาสตร์สังคมการเมืองญี่ปุ่นหรือกระทั่งระดับโลกในขณะนั้น ยุคสมัยที่ตื่นตัวและอ่อนไหวในประเด็นความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ในวันที่อุดมการณ์ฝ่ายซ้ายยังหอมหวาน การ์ตูนเรื่องนี้จึงเริ่มเรื่องช่วงแรกด้วยคำถามของสิทธัตถะน้อยที่เห็นความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์อันเนื่องมาจาก ความไม่เท่าเทียมกันในชนชั้นของอินเดีย

 
ชุด set มังหงะ Buddha, volume 1-8


Buddha, volume 2, p.28-29

2.

พุทธศาสนาเกิดขึ้นเมื่อ 2 พันกว่าปีก่อนบนทวีปอินเดีย และได้เดินทางและเติบโตผ่านสภาพสังคมและการเมืองต่างๆ จนกลายเป็นน้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ เกิดเป็นเถรวาท, มหายาน, วัชรยาน ฯลฯ เราก็คงพอทราบอยู่แล้วว่า ความไม่ลงรอยในกลุ่มศาสนาเดียวกัน ดำรงอยู่เป็นเรื่องปกติของศาสนาใหญ่ๆของโลก

ด้านตรงกันข้ามกับความหลากหลายของโลกพุทธศาสนา อำนาจรัฐ พระสงฆ์และชาวไทยส่วนมาก กลับเห็นแต่ความตายตัวของศาสนา ราวกับว่า พุทธศาสนาแบบที่ตนนับถืออยู่บริสุทธิ์ที่สุด ดีที่สุด ไม่มีความขัดแย้ง และไม่เคยเป็นชนวนของสงครามหรือความรุนแรงใดๆของสังคม กระทั่งเชื่ออย่างสนิทใจว่า พุทธศาสนาไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง และที่สำคัญด้วยคาแรกเตอร์ของเถรวาท จึงเชื่ออย่างแรงกล้าว่า การประพฤติปฏิบัติของตนนั้นสืบเนื่องมาจากสมัยพุทธกาลมาอย่างไม่ขาดสายเป็นเวลากว่า 2 พันปี โดยมีคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์อย่างไตรปิฎกเป็นหัวใจของความเป็น “ดั้งเดิม”

ดังนั้นจุดบกพร่องอย่างร้ายแรงคือ การขาดภาพพลวัตของพุทธศาสนาในสังคม ไม่เห็นความเคลื่อนไหวของพุทธศาสนาที่ปรับตัวอยู่เสมอในสังคมไทย ที่มีร่องรอยอย่างชัดเจนว่าส่วนใหญ่พุทธศาสนายืนอยู่ข้างชนชั้นนำในสังคม หรืออาจกล่าวได้ว่าพุทธศาสนา เป็นเครื่องมือสำหรับจรรโลงและค้ำจุนอำนาจแนวดิ่งของผู้ปกครองเป็นอย่างดี

สำนักปฏิบัติและปริยัติสงฆ์ในสังคมไทยนั้น ได้แบ่งออกเป็นหลายสาย ทั้งกลุ่มสงฆ์เดิม กลุ่มสงฆ์ที่ถูกสถาปนาขึ้นใหม่เพื่อเป็นตัวแทนของชนชั้นนำ ที่ผ่านมาอาจนับได้ว่าอำนาจรัฐจารีตทำการควบคุมศาสนาอย่างหลวมๆ จนกระทั่งเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมานี้เองที่สถาบันสงฆ์ถูกผนึกอยู่กับโครงสร้างอำนาจรัฐอย่างใกล้ชิด พระสงฆ์ทำหน้าที่เป็นพนักงานของรัฐหรือข้าราชการ เช่นเดียวกับ การสถาปนาระบบราชการอันเป็นฐานการจัดการของรัฐสมัยใหม่อย่างสยาม นั่นจึงทำให้พุทธศาสนาที่หลากหลายถูกรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง และได้ทำลายความหลากหลายของการจัดการทรัพยากรของวัดและชุมชนในระดับย่อยไปโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เมื่อพุทธถูกผนวกอยู่กับอำนาจรัฐแล้ว การดำรงอยู่ของศาสนาอย่างไม่เหมาะสม จึงกระเทือนไปถึงอำนาจการปกครองของรัฐไปด้วย 

 

3. 

คำว่า “ราษฎร” ใน “พุทธศาสน์ของราษฎร” หมายถึงสามัญชน ความเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้จึงเป็นความพยายามในการตีความพุทธศาสนาให้กลับมาเป็นศาสนาแนวราบอีกครั้ง ถ้าพุทธศาสนาเคยเป็นเช่นนี้มาก่อนจริง ให้พุทธเป็นศาสนาที่เป็นดังเพื่อน มิตร สหาย มากกว่าจะเป็นเครื่องมือทางชนชั้น หรือเป็นการอุปโลกน์ให้พระสงฆ์หรือพระพุทธะเป็น มนุษย์ที่มีวรรณะเหนือกว่าเราๆ ท่านๆ การยกพระขึ้นไปเป็นเจ้า เป็นผู้มีฤทธิ์ศักดิ์สิทธิ์จนเหนือมนุษย์ คาดว่าคงมิใช่ไอเดียของพระพุทธ ที่ท่านได้แสดงความไม่เห็นด้วยต่อระบบชนชั้นที่เรียกว่า “วรรณะ”มาก่อน ดังนั้น พระสงฆ์จึงหาใช่ พราหมณ์ยุคใหม่ หรือจอมขมังเวทย์ที่ใช้อำนาจกดทับเบียดบี้ให้หน้าราษฎรหมอบราบแนบติดกับผืนดินด้วยความยำเกรงเช่นนั้นไม่ ขณะที่พระพุทธ ก็ไม่ใช่ พระเจ้า, หัวหน้าผี หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดที่มีฤทธิ์อันจะเป็นศัตรูต่อการเข้าถึงธรรม

 

4.

คนไทยที่ถือพุทธ จำนวนมากล้มเหลวที่จะเข้าใจความแตกต่างของมนุษย์ที่นับถือศาสนาที่ต่างไป แม้แต่ในพุทธศาสนาด้วยกัน ชาวไทยพุทธเองคับแคบจนแทบจะทำสงครามเย็นภายในเมืองไทยกันเอง ด้วยถือว่า ของตนดีกว่า ของตนถูกต้องกว่า และยิ่งแย่ที่สุดเมื่อพวกเขาใช้ความสูงส่งทางศีลธรรมที่คิดว่าตนเองมี ทำการตัดสินผู้ด้อยกว่าทางศีลธรรมด้วยความบ้องตื้น พวกเขาส่วนใหญ่ไม่เข้าใจความหลากหลายซับซ้อนของอารมณ์มนุษย์ ไม่เข้าใจโครงสร้างของความรุนแรงที่ไม่ใช่เกิดจากคนเลว คนเหี้ยไม่กี่คน พวกเขาที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติธรรม เข้าใจ “ศีล” ว่าเป็นเกราะกำบังความชั่วและบางครั้งก็ใช้เป็นข้ออ้างในการบดขยี้ผู้อื่นที่เป็นศัตรู แต่พวกเขาเมื่อถลำลึกไปจนเสพติดศีลแล้ว พวกเขากลับปฏิเสธสื่อและงานศิลปะที่สะท้อนความเป็นมนุษย์อย่าง วรรณกรรม ภาพยนตร์ ดนตรี ฯลฯ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้คือ ผัสสะที่มีผลต่อมนุษย์ และสังคม ด้วยเหตุที่ว่ามันละเมิดต่อศีลอันบริสุทธิ์เหลือแสนของพวกเขา

 

5.

ดังนั้น ในโลกที่ข้อมูลข่าวสารและผู้คนหลั่งไหลเข้าหากัน ความคิดต่างๆได้ปะทะกันซึ่งไม่ได้มีแต่ในทางบวก และผู้มองโลกสวยงามเท่านั้น สิ่งตามมาติดๆ นั่นก็คือ ทัศนวิพากษ์อย่างจริง การเห็นต่าง กระทั่งการล้อเลียน ในสังคมไทยได้ผูกใจกับสิ่งดังกล่าวไว้กับคำเชื่อปรัมปราว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ความเลวร้ายของการไม่อดทนอดกลั้นอย่างถึงที่สุดก็คือ มรณกรรมของชายนิรนามที่ทุบพระพรหมแถวแยกราชประสงค์ ได้เตือนใจเราอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด ไม่เพียงความอดทน แต่อารมณ์ขันก็จะเป็นพลังอีกด้านที่จะทำให้เราอยู่กันต่อไปได้

การบริกรรมว่า “สักว่าเห็น” “สักว่าได้ยิน” นั่นคือ เทคนิคโบร่ำโบราณในการปล่อยวางใจกับอารมณ์กระทบ ที่ผ่านมาเราไม่ได้ตีความเพื่อประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน มากไปกว่าการนั่งภาวนาในห้องปิดตาย แต่ที่น่ารันทดก็คือ ในสถานการณ์การเมืองที่ตึงเครียดในปี 2553 พบชาวพุทธนักปฏิบัติจำนวนมาก แสดงความเลือดเย็น ด้วยการไสส่งความตายไปสู่ผู้เห็นตรงกันข้ามอย่างน่าขนลุก

 

6.

ด้วยเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงการไลฟ์สไตล์ในยุคปัจจุบันที่การสื่อสารรูปแบบใหม่ มีผลต่อการเผยแพร่ธรรมะ การสนทนาธรรมกับคนในวงกว้างมากขึ้น และเริ่มมีบทบาทแทนที่ ศาสนาแบบ “บ้าขนาด” (religion of scale) ที่มุ่งเน้นการสร้างถาวรวัตถุใหญ่โต มาสู่ ศาสนาแบบ “บ้าความเร็ว” (religion of speed) ที่เน้นการสื่อสารเพื่อใช้ธรรมะเป็นสูตรสำเร็จเพื่อการดำรงชีวิตที่รีบเร่งมากขึ้น ดังที่ผ่านมาเราจะเห็นการสั่งสอนทางศีลธรรมผ่านทาง twitter, facebook, youtube ที่มีความรวดเร็ว ทันเหตุการณ์และปริมาณมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร จึงเปิดพื้นที่ไซเบอร์เพื่อสนทนา จุดประเด็นและแลกเปลี่ยนผ่านทางช่องทางใหญ่ๆ อย่างน้อย 2 ช่องทางก็คือ การเปิดเพจใน facebook ชื่อว่า “พุทธศาสน์ของราษฎร” และการได้รับความเอื้อเฟื้อจาก ประชาไทออนไลน์เปิดพื้นที่เว็บบล็อกให้ และเราก็ใช้ชื่อเดียวกันนี้


“พระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ”
พระพุทธรูปที่อ้างว่าใหญ่ที่สุดในโลก
ณ วัดม่วง ต.หัวตะพาน

 

 
ทวิตเตอร์อันลือลั่นของ ว.วชิรเมธี วันที่ 17 มกราคม 2553

7.

ปีนี้นับว่าเป็นปีแห่งการครบรอบและเฉลิมฉลอง นั่นคือ พุทธชยันตี 2600 ปีการตรัสรู้ของพระพุทธ โอกาสปฏิวัติสยาม 2475 ครบ 80 ปี ที่เป็นการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยสู่ท้องฟ้าที่อิ่มไปด้วยบรรยากาศของความเท่าเทียม หรือการที่สวนโมกข์ครบรอบ 80 ปี อันเป็นสัญลักษณ์ของการบุกเบิกของพุทธทาสที่มุ่งจะเปลี่ยนแปลงสังฆะในรูปแบบของท่าน ความเป็นศิริมงคลของปีนี้ ผสมผสานกับสถานการณ์ทางพุทธศาสนาของสังคมไทย ที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดความเคลื่อนไหวนี้ขึ้น โดยเฉพาะประเด็น ร่างพ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาฯ หรือที่ถูกมองในแง่ร้ายในชื่อเล่นว่า “กฎหมายหมิ่นพุทธศาสนา” ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนรอส่งเข้าพิจารณาในรัฐสภา หรือกรณีที่ คำ ผกา ต้องออกมา “ขอขมาพระรัตนตรัย” อย่างน่ากังขาและประกาศงดจัดรายการคิด เล่น เห็น ต่าง ในระยะเวลาหนึ่ง พุทธศาสนาเริ่มกลายเป็นประเด็นร้อน และกำลังมีบทบาทสำคัญต่อประเทศที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่บนรอยต่อแห่งยุคสมัยนี้

 
ตราสัญลักษณ์พุทธชยันตีของไทย


หนังสือ การปฏิวัติสยาม 2475

 

 

8.

พื้นที่แห่งนี้ ตั้งใจกันไว้ว่าจะเป็นเว็บบล็อกที่ครอบคลุมเนื้อหาที่หลากหลายทั้ง พุทธปรัชญา พุทธประวัติศาสตร์ พุทธนอกกระแส พุทธวิพากษ์ กระทั่งมุมมองต่อโลกที่หลากหลาย อันชาวพุทธอาจไม่เคยรู้จัก และคิดว่ามันมีอยู่ในโลกด้วยหรือ ผ่านงานด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยา กระทั่งผ่านวรรณกรรม ภาพยนตร์ ดนตรี ฯลฯ เว็บบล็อกแห่งนี้ เปรียบได้กับบ้านในฝัน ที่ประกอบด้วย สวนดอกไม้ ห้องนั่งเล่น ห้องเล่นเกมส์ โต๊ะหมากรุก ห้องครัว ห้องนอน กระทั่งส้วม บรรยากาศที่คาดหวังจึงจะสลับสับเปลี่ยนกันไปตามผู้เขียนบทความแต่ละท่าน และตามอารมณ์ความรู้สึกในช่วงต่างๆที่มีต่อสังคมในเวลานั้นด้วย รายนามผู้เขียนเบื้องต้น ของ “กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร” มีดังนี้ สุรพศ ทวีศักดิ์, ชาญณรงค์ บุญหนุน, วิจักขณ์ พานิช, ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ และ ภาณุ ตรัยเวช ซึ่งแต่ละคนมีความถนัดกันคนละด้าน มีรสนิยมที่แตกต่างกันไป


9.

ตามความเชื่อเก่าแก่เรื่อง “คติปัญจอันตรธาน” ได้บอกไว้ว่าพุทธศาสนาในสมัยของพระพุทธปัจจุบัน มีอายุขัย 5,000 ปี ศาสนาจะเสื่อมลงเรื่อยๆตามอายุ ในบั้นปลายคนจะเริ่มไม่รู้จักพุทธศาสนา แล้วก็จะหายสิ้นไปจากโลกมนุษย์ในที่สุด แต่หลังจากนั้นก็จะมีพระพุทธใหม่เกิดขึ้นมาที่เรารู้จักกันคือ พระศรีอาริยเมตไตรย ดังนั้นรอยต่ออีก 2500 ปีเป็นอย่างน้อยถ้าเชื่อตามนั้นจริง เราอาจพบว่า พุทธศาสนาเองก็อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวไปตามหลักการของความไม่เที่ยง ดังนั้นพุทธศาสนาในรูปแบบย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยดังกล่าว คำถามก็คือ การขืนและฝืนให้พุทธศาสนาอยู่สิ่งที่เราคิดว่าเป็น “ของแท้ดั้งเดิม” มาตั้งแต่พุทธกาล ไปอีก ร้อยปี พันปี โดยไม่ยอมปรับตัว มันจะเป็นการส่งเสริมหรือออกใบมรณบัตรให้กับพุทธศาสนาในสังคมไทยของเรากันแน่? 
 
10.
เสียดายที่ว่า ในช่วงเริ่มต้น ผู้เขียนทั้งหมดอยู่ร่างของ บุรุษเพศ หวังใจแต่ว่า เพศอื่นๆ จะได้มีบทบาทสร้างพุทธศาสน์ของราษฎร - ศาสนาที่มองเห็นหัวของคนสามัญ ความเชื่อที่เคารพกับความแตกต่าง
 

เชิญทุกท่านล้อมวงเข้ามา

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์​ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์พุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร