Skip to main content

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร




พลันที่ ว.วชิรเมธี แสดงความเห็นแบบไม่ทันได้คิด ว่า "ลองจินตนาการดูว่า หากสตีฟ จ๊อบส์ ผู้ผลิตนวัตกรรมอัจฉริยะอย่างไอโฟน รู้จักการเจริญสติ เขาคงมีอายุยืนยาวมาอีกหลายปี แล้วโลกในวันนี้จะเป็นอย่างไร"  จิตผู้เขียนก็ปรุงแต่งไปสู่คำถามว่า ว.วชิรเมธี เข้าใจอะไรผิดหรือจำอะไรสับสนหรือไม่ในเรื่อง ศาสนา กับ ศาสตร์ทางการแพทย์ 

ในยุคที่ธรรมะถูกแปรสภาพให้เป็นยิ่งกว่าคำสอนเพื่อการบรรลุหรือกระทั่งการแสวงหาความสงบชั่วครั้งชั่วคราว คำว่า “ธรรมโอสถ” ในเชิงเปรียบเทียบและอุปมา จึงกลายเป็นคำที่มีความหมายตรงตัว นาทีนี้ ศาสนาไม่ได้เป็น “ยาฝิ่น” ที่ใช้ระงับปวดแบบที่ฝ่ายซ้ายเคยกล่าวถึง แต่ศาสนาพุทธกลายเป็นยาวิเศษ เพื่อเข้าสู่ความสุขกายสบายใจอันเที่ยงแท้ไปเสียแล้ว

หลังจากที่กระแสท้องถิ่นนิยม-อนุรักษ์นิยมฟื้นพลังกลับมา พร้อมกับความพังพินาศและความพ่ายแพ้ของทุนนิยมเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ขณะนั้นนับเป็นยุคที่ผู้คนเต็มไปด้วยความตึงเครียดกับความผันผวนทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะชนชั้นกลางและชนชั้นสูงผู้มีชีวิตผูกพันกับโลกเศรษฐกิจ เมื่อโลกใบใหญ่ของพวกเขาได้พังครืนลงมา นอกจากสุขภาพกระเป๋าเงินที่ย่อยยับแล้ว สุขภาพกายและสุขภาพใจก็ทรุดโทรมตามลงไปด้วย ในด้านหนึ่งพบว่าพวกเขาเข้าหาทางธรรม พร้อมไปกลับหันหลังกลับมาสู่การโหยหาอดีต ความเรียบง่ายในวิถีเก่าแก่โบราณ 

สิ่งหนึ่งที่งอกเงยในยุคนั้นก็คือ  กระแส“ชีวจิต” ที่หมายถึง การมองสุขภาพแบบองค์รวมคือ   ให้ความสำคัญต่อร่างกายและสภาพจิตใจร่วมกันในการป้องกันและรักษาโรค   เป็นการแพทย์แบบผสมผสานหรือพหุลักษณ์ซึ่งเน้นในการสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายหรือ  “ภูมิชีวิต”   ด้วยวิธีธรรมชาติ ได้แก่   การให้อาหารเป็นยา   การออกกำลังกาย   การทำสมาธิ  ตลอดจนการคิดในเชิงบวกรวมถึงการล้างพิษ [1]  การเกิดขึ้นนิตยสาร ชีวจิต ในเครืออมรินทร์ขึ้นในปี 2541 พิสูจน์ได้ชัดว่ามันกลายเป็นกระแสในสังคมที่เป็นโอกาสในเชิงธุรกิจไปแล้ว ความหวือหวาของกระแสเติบโตอย่างรวดเร็วพอๆกับอัตราการตายของคนไทยจากโรคมะเร็ง 

ในเวลานั้น เมื่อพูดถึงสุขภาพกายและสุขภาพจิต จึงหนีไม่พ้นที่จะผนวกภูมิปัญญาไทยๆที่รวมเอาพุทธศาสนาไปด้วย และนี่ก็คือเรื่องหลักที่จะพูดถึงในบทความนี้ที่ตั้งคำถามถึงการใช้ “ธรรมโอสถ” อย่างพร่ำเพรื่อดุจยาวิเศษที่จะปัดเป่าภัยร้ายจากโรคาพยาธิได้เสียทุกอย่าง อย่างไรก็ตามบทความนี้มิได้ปฏิเสธถึงคำสอนในไตรปิฎกที่พูดถึงการดูแลรักษาสุขภาพของตน หรือผลลัพธ์ของการปฏิบัติธรรมที่ส่งผลดีต่อสุขภาพเสียทีเดียว แต่เพียงต้องการชี้ให้เห็นว่า ธรรมและวินัยที่พุทธะทิ้งไว้เป็นมรดกนั้น “ธรรมโอสถ” ชนิดที่มุ่งรักษาโรคทางกายนั้นเป็นประเด็นรองลงมา และไม่ใช่จุดขายของพุทธศาสนามาตั้งแต่ต้น

ความเจ็บป่วยคือ ทุกขเวทนา

ผู้เขียนขอเริ่มต้นด้วยความเข้าใจกับคำบาลีที่เรียกว่า “เวทนา” เสียก่อน เวทนานับเป็นหนึ่งใน “ขันธ์ 5” อันเป็นสภาวะที่จำแนกสรรพสิ่งที่สัมพันธ์กับร่างกายและจิตของมนุษย์ 

ส่วนของเวทนาคือ ภาคทางจิตที่รับรู้อารมณ์ 2 ส่วนนั่นคือ ความรู้สึกเป็นสุข สบาย อันเป็นสัมผัสที่มนุษย์เดินดินทั่วไปพึงพอใจและถวิลหา และอีกสัมผัสหนึ่งคือ ความรู้สึกเป็นทุกข์เจ็บปวด อันปุถุชนย่อมจะต้องการผลักไสออกไป สภาวะเหล่านี้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบธรรมดาของชีวิตที่จะทำให้เราเข้าใจสภาวะของธรรมชาติ นำไปสู่เส้นทางหนึ่งเพื่อเข้าถึงสภาวะรู้ ตื่น และเบิกบาน

อาการเจ็บป่วยทางกาย เชื่อมโยงกับทุกขเวทนาโดยตรง ความต้องการที่จะหายจากโรคาพยาธิ ก็เนื่องมาจากความไม่สบายกายเป็นหลัก ซึ่งมีสาเหตุอันหลากหลายนับตั้งแต่ การเผชิญอุบัติเหตุ โรคภัยจากเชื้อ โรคภัยจากกรรมพันธุ์ โรคภัยจากพฤติกรรมการดื่มกิน รวมไปถึงกายเจ็บป่วยเพราะความทุกข์ทางจิต อย่างเช่นโรคเครียด ในความเข้าใจผู้เขียนธรรมโอสถน่าจะมุ่งเน้นการดับทุกข์ทางจิตเป็นสำคัญ

ความไม่สบายกายจากโรคและความเจ็บป่วย เป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่รักษาหายบ้างไม่หายบ้าง ไม่ละเว้นแม้แต่ผู้ใด ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ ประวัติการเจ็บป่วยอาพาธของพระสงฆ์รูปสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ พุทธทาสภิกขุ ที่อาพาธใหญ่ไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง, หลวงปู่ชา สุภัทโท ที่อาพาธทางด้านสมองจนมีอาการดุจอัมพาตไม่รู้สึกตัวอยู่ถึง 10 ปีกว่าจะมรณภาพ [2], หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อาพาธตั้งแต่หลังออกพรรษาปี 2492 ก่อนจะมรณภาพ [3] พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) ก็มีสุขภาพอ่อนแอมาตั้งแต่เล็กไม่ว่าจะเป็นหัวใจรั่ว ท้องเสีย ท้องอืด ต้องผ่าตัดถึงสองครั้ง หูเป็นน้ำหนวกอักเสบเข้าไปในกระดูกพรุนถึงโพรงศีรษะ แพ้อากาศ โรคปอด นิ่วในไต หลอดลมอักเสบ กล้ามเนื้อแขนอักเสบ ไวรัสเข้าตา สายเสียงอักเสบ เส้นเลือดไปเลี้ยงสมองข้างซ้ายเล็กลีบ [4]  จนถึงปัจจุบันก็ทนทุกขเวทนาจากโรคภัยต่างๆ เป็นอย่างมาก แม้กระทั่งสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบันก็อาพาธมาหลายปี

อาการเจ็บป่วย และการรักษาที่ไม่หายขาด จึงเป็นเรื่องปกติ ไม่เว้นแม้พระผู้ที่หลายคนเชื่อว่ามีธรรมชั้นสูง เชื่อหรือไม่ว่าสุขภาพของพระบางหมู่เหล่าที่มีความเสี่ยงกว่าปกติอีกด้วย เช่น พระธุดงค์ ที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะขาดการบริโภคอาหารประเภทกากใยซึ่งนำไปสู่สุขภาพการขับถ่ายที่ย่ำแย่นำไปสู่ระบบขับถ่ายที่มีปัญหาเรื้อรัง ฯลฯ

มิพักที่จะต้องกล่าวถึงอาการอาพาธของพุทธะ ก็เป็นเรื่องปกติตามสังขารและปัจจัยคุกคามร่างกายของพุทธะตามวัยที่ร่วงโรย และภาวะเจ็บป่วยที่มาเบียดเบียน แม้ว่าคัมภีร์ทางพุทธจะตีความว่าเป็นกรรมเก่าแต่ปางก่อนก็ตาม แต่ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นและถูกบันทึกในบาลีไตรปิฎกย่อมสะท้อนความปกติธรรมดาของโรคภัยไข้เจ็บ และความปกติธรรมดาที่แม้ผู้มีธรรมชั้นยอดก็มิอาจหนีความเจ็บป่วยนี้พ้นและไม่สามารถเยียวยาได้ในทุกกรณี

ธรรมโอสถ ถือธรรมเพื่อหนีโรค?

ในสังคมไทยที่เชิดชูพุทธศาสนาให้เป็นคำตอบสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อผสมผสานกับกระแสชีวจิตที่หันกลับมาให้ความสำคับกับสุขภาพกายใจ ธรรมโอสถในฐานะยารักษาโรคครอบจักรวาลจึงได้รับการเน้นความสำคัญอีกครั้ง สำหรับผู้เขียนจุดที่พีกที่สุดและล้มเหลวที่สุดก็คือ การตัดสินด้วยธรรมะพล่อยๆของว.วชิรเมธี ที่ทำให้ชาวพุทธและไม่พุทธเกิดความกังขาอย่างกว้างขวางกับคำสอนของพระรูปนี้ด้วยกรณีสตีฟ จ๊อบส์ที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น

ผู้เขียนเข้าไปค้นคำว่า "ธรรมโอสถ", "ธัมมโอสถ" หรือกระทั่ง คำสำคัญว่า "โอสถ" ในไตรปิฎกออนไลน์ www.84000.org กลับไม่พบคำเหล่านี้ในชั้นไตรปิฎก และอรรถกถา (คัมภีร์ชั้นรอง ที่แต่งภายหลังเพื่ออธิบายขยายความไตรปิฎกอีกที) แต่กลับพบคำว่า “ธรรมโอสถ” นี้ในประวัติของพระสำคัญอย่างหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตที่แต่งโดยพระมหาบัว ญาณสัมปันโน [5]  ขณะนั้นได้ธุดงค์มาพักบริเวณถ้ำแห่งหนึ่ง ในอดีตถ้ำดังกล่าวเคยมีประวัติว่า มีพระมรณภาพก่อนหน้านี้ถึง 4 รูป ปัญหาเกิดขึ้นในคืนที่สอง ท่านต้องทนทุกขเวทนาจากการเจ็บบริเวณท้องถึงขนาดถ่ายออกมาเป็นเลือดสดๆ บางครั้งฉันไปก็ไม่ย่อย ซึ่งก็พยายามรักษาด้วยยา ประเภทรากไม้แก่นไม้ แต่ยาก็ไม่ปรากฏผลจึงตั้งใจว่า จะระงับโรคนี้ด้วย ธรรมโอสถ คือหมายถึงการสู้เวทนาด้วยการภาวนา หากจะตายก็ปล่อยให้ตายไป เรื่องเล่าดังกล่าวจบลงด้วยการเอาชนะทุกขเวทนาได้ด้วยการภาวนา ซึ่่งคล้ายคลึงกับประวัติของพุทธะที่ปรารภความเพียรในคืนก่อนตรัสรู้ที่จะไม่ยอมลุกไปไหน หากมองในแง่นี้การภาวนาจึงถือเป็นสุดยอดของการรักษาโรค

ส่วน วศิน อินทสระ [6] แสดงให้ว่าบทสวดบางครั้งก็เป็นยารักษาโรคได้ เขายกตัวอย่างคำแปลคำอาราธนาพระปริตรว่า การสวดพระปริตรนั้นเพื่อป้องกัน ต่อต้าน ทำลายวิบัติของทุกข์ โรคภัย และภัยทั้งปวง และยกเงื่อนไขความสำเร็จที่จะป้องกันได้ต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการนั่นคือ ต้องมีความเชื่อเสียก่อน, ต้องไม่มีกรรมมาบัง และต้องไม่มีกิเลสมาขวาง นี่เป็นคำตอบที่พระนาคเสน ตอบพระยามิลินท์ที่สงสัยว่า การสวดพระปริตรนั้นจะป้องกันภัยได้จริงหรือไม่ แต่องค์ 3 นั้นจะขึ้นอยู่กับใคร ผู้สวด ผู้ธรรมพิธี หรือผู้รับทำพิธี วศินก็ไม่ได้สรุป นั่นหมายความว่า ก็มิได้มีความหมายที่ตายตัวว่า พระปริตรจะป้องกันโรคภัยได้จริง

วศิน ยังได้นำตัวอย่างในพุทธกาลมาด้วย นั่นคือ กรณีที่พุทธะเดินทางไปเยี่ยมพระมหากัสสปะ และพระมหาโมคคัลลานะที่เจ็บป่วยอยู่ ก็แสดง “โพชฌงค์ 7 ประการ” ที่ประกอบด้วย สติ ธรรมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัทสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา ในไตรปิฎกระบุว่า ทั้งสองหายจากทุกขเวทนา แม้ตอนพุทธะอาพาธ ก็ระบุว่า พุทธะให้พระจุนทะ น้องชายพระสารีบุตรสวดจนพุทธะพอใจและหายป่วย จึงไม่แปลกที่ โพชฌงค์ 7 จะเป็นที่นิยมในการสวดให้ผู้ป่วยในบ้านเรา แม้ผู้ฟังส่วนหนึ่งอาจจะไม่เข้าใจความหมายบาลีก็ตาม ยังมีบทสวดอื่นๆที่ใช้รักษาโรคในไตรปิฎกอีกนั่นคือ กรณีพระคิริมานนท์ป่วยหนัก พุทธะให้พระอานนท์สวด สัญญา 10 ถึงกล่าวถึงความไม่เที่ยงและการเจริญอาณาปาณสติ ปรากฏว่าก็หายป่วย วศินไม่ได้สรุปว่า การสวดมนต์จะทำให้หายขาดจากโรคได้จริง แต่กล่าวว่า คุณค่าของการสวดมนต์คือ การสำรวมกายวาจาและทำให้จิตสงบ เพื่อเข้าใจความหมายบทสวดที่จะนำไปสู่ความเข้าใจและปัญญาที่แตกฉาน [7] 

ในอีกด้านหนึ่ง นอกจากธรรมะกับผู้ปฏิบัติธรรมล้วนๆแล้ว ธรรมโอสถยังสัมพันธ์กับวิชาชีพหมออีกด้วย หมอคนแรกที่มีบทบาทเกี่ยวข้องในสมัยพุทธกาลก็คือ หมอชีวกโกมารภัจจ์ เขาเป็นแพทย์ในราชสำนักของแคว้นมคธ มีบทบาทในการดูแลอาการเจ็บป่วยพุทธะอย่างมาก จนได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เป็นเลิศ (เอตทัคคะ) ในด้านเป็น “ผู้เลื่อมใสในบุคคล” ในปัจจุบันหมอชีวกโกมารภัจจ์กลายเป็นบุคคลสำคัญในสังคมไทย กล่าวคือ เป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับการบูชา โดยมีอานิสงส์อยู่ที่การพ้นจากโรคร้ายรวมไปถึง โรคเวร โรคกรรม ให้มีอายุมั่นขวัญยืน มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี เรามาดูคาถาบูชาหมอชีวกฯกัน

 

พระคาถา บูชาเอกอัครมหาบูรพปรมาจารย์ ชีวกโกมารภัจจ์ [8]
(แพทย์ ประจำองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า)

ก่อนสวดตั้งนะโม 3 จบ
นะโมตะสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)

 --------------------------------------------------------------------------------

บทสวด

โอมะ นะโม ชีวะโก สิระสา อะหัง กะรุณิโก

สัพพะ สัตตานัง โอสะถะทิพพะมันตัง

ปะภาโส สุริยาจันทัง โกมาระภัจโจ ปะภาเสสิ

วันทามิ บัณฑิโต สุเมธะโส อะโรคา สุมะนะโหมิ 

ผู้ใดได้กล่าวสรรเสริญคุณแห่งพระคาถาบทนี้ / ผู้ใดได้เจริญพระคาถาบทนี้ จะบังเกิดมีอานุภาพ ป้องกันสรรพโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งหลายทั้งปวง / จะเป็นผู้ไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ / หาได้ยาก และหากยิ่งได้ช่วยเผยแพร่ออกไป จะมีอานิสงส์บุญทำให้ปราศจากโรคร้ายภัยเวรต่างๆ

--------------------------------------------------------------------------------

บทอธิษฐาน

ขอบารมีแห่งบรมครูหมอชีวกโกมารกัจจ์ จงคุ้มครองให้ ข้าพเจ้า ........ (ชื่อ / นามสกุล) ........ พ้นจากโรคร้ายภัยเวร โรคเวร โรคกรรม ขอให้มีอายุมั่นขวัญยืน มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี ขอให้อานิสงส์แห่งแรงอธิษฐานนี้คุ้มครองข้าพเจ้านับตั้งแต่บัดนี้ล่วงไปเมื่อหน้าเทอญ ...


ไม่ทราบแน่ชัดว่า คาถาดังกล่าวใครเป็นคนผูกขึ้นมา แต่น่าจะเป็นไปได้ว่าพึ่งเกิดในสมัยหลังนี้เองที่สุขภาพกายของคนเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นทุกที การบูชาหมอชีวกฯ จึงเป็นไปท่ามกลางการแพทย์กระแสหลัก การแพทย์ทางเลือก ร้านขายยาทั้งถูกกฎหมายและลักลอบเปิด คลินิกแท้และเถื่อน หรืออาจกล่าวสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ แม้จะมีเทคโนโลยีที่ก้าวไกลเพียงใด แต่การกระจายการรักษาที่ไม่สามารถเป็นไปได้อย่างเท่าเทียม ก็ได้ทำให้ศาสตร์นี้ถูกโอบล้อมไปด้วย ทางเลือกในการรักษาทั้งด้วยระบบวิทยาศาสตร์ชาวบ้าน ไสยศาสตร์ กระทั่งสิ่งที่เรียกกันว่า “ธรรมโอสถ”

ธรรมโอสถ กับธรรมเพื่ออยู่กับโลก?

ธรรมโอสถนั้น หาได้เป็นยารักษาโรคทางกาย จนทำให้ชาวพุทธอยู่ยงเป็นอมตะอย่างนั้นไม่ ทุกคนล้วนมีเงื่อนไขกำกับที่จะทำให้เกิดโรคทั้งสิ้น การรักษาด้วยธรรมเอาเข้าจริงแล้วเป็นการเข้าไปจัดการกับสภาวะของจิตใจเสียมากกว่า แต่ธรรมโอสถได้มีความเปลี่ยนแปลงในการให้ความหมายของตัวมันเอง ไม่ว่าจะในยานขนาดย่อมเพื่อการบรรลุธรรมส่วนตัว หรือยานขนาดใหญ่ที่เป็นทางเลือกในการแสวงหาความสุขกายสุขใจที่ไร้ทิศทาง

คำถามของผู้เขียนคือ มันจะเป็นไปได้ไหมที่ธรรมโอสถนี้จะขยับจากทิศทางที่มุ่งสู่ใจกลางของตัวตนและพวกพ้องเพื่อรักษาอาการทางกายใจในกลุ่มแคบๆ มาสู่ธรรมโอสถที่รู้สึกรู้สากับทุกขเวทนา และสุขเวทนาของสังคม เป็น “ธรรมโอสถที่มีหัวใจ” ที่รับรู้ถึงความเจ็บปวดและป่วยไข้ของสังคมโดยเป็นผู้ฟังที่ดี เป็นผู้อดกลั้นต่อความเห็นต่าง เป็นผู้มีอารมณ์ขัน เป็นผู้ยอมรับถึงสภาวธรรมดา ธรรมชาติที่เกิดขึ้นบนโลกดีๆ ชั่วๆนี้.

..................................................
อ้างอิง

1. ธัญญาวรรณ กาญจนอลงกรณ์. การแพร่กระจายนวัตกรรมการแพทย์ทางเลือก "ชีวจิต" ในสังคมไทย : การศึกษาในแนวทัศนะแบบองค์รวม วิทยานิพนธ์ วารสารศาสตรมหาบัณฑิต (สื่อสารมวลชน)  คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542, บทคัดย่อ

2. มติชนออนไลน์. "2 ทศวรรษ มรณภาพ"หลวงปู่ชา" รำลึกคำสอน"สัจธรรม(ะ)" ที่มิเคยละคุณค่าตามสังขาร". http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1326690881&grpid=01&catid=&subcatid= (16 มกราคม 2555)

3. เว็บไซต์หลวงปู่มั่น. "ประวัติปฏิปทา : ๓ ปัจฉิมวัย". http://www.luangpumun.org/his3.html(21 มิถุนายน 2555)

4. วิกิพีเดีย. "พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)". http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C_(%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B9%8C_%E0%B8%9B%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%BA%E0%B9%82%E0%B8%95) (28 พฤษภาคม 2555)

5. หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน. "ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ : ตอน 10 ธรรมโอสถ 1". http://www.oknation.net/blog/stang/2009/08/07/entry-2 (7 สิงหาคม 2552)

6. บทที่เริ่มด้วย “วิปัตติปฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา...สัพพะโรคะวินาสายะ ปะริตตัง พรูถะ มังคลัง” วศิน อินทสระ. สวดมนต์เพื่ออะไร (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ธรรมดา, พิมพ์ครั้งที่ 5), 2553, น.19-21

7. วศิน อินทสระ. สวดมนต์เพื่ออะไร, น.35

8. VANCO. "พระคาถา บูชาเอกอัครมหาบูรพปรมาจารย์ ชีวกโกมารภัจจ์

(แพทย์ ประจำองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า)".  http://board.palungjit.com/f17/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%96%E0%B8%B2-%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%8C-%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B9%82%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B9%8C-%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89-75604.html (25 มีนาคม 2540)

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์​ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์พุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
สุรพศ ทวีศักดิ์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
วิจักขณ์ พานิชกลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร