Skip to main content
สาละวิน,ลูกรัก


พ่อกับแม่ต่างเกิดขึ้นมาในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างริบลับ แม่นั้นแม้จะเกิดที่ภาคอีสานของประเทศ แต่ก็ซึมซับวัฒนธรรมอีสานได้เพียงน้อยนิด ก็ต้องมาใช้ชีวิตและเติบโตที่ภาคเหนือ


จนกระทั่งเมื่อเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ดูเหมือนจะตัดขาดกับฐานวัฒนธรรมของตัวเอง เพราะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่สังคมชั้นกลางเป็นกระแสหลักอยู่รายล้อม


ในขณะที่พ่อของลูกเกิดและเติบโตในสังคมวัฒนธรรมชาวกระยันตั้งแต่เด็กจนโต จนไม่สามารถแยกขาดจากความเชื่อ พิธีกรรมที่ฝังรากลึกอยู่ในสายเลือด


การเลี้ยงดูสาละวินท่ามกลางความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อนั้น แม่เองจึงต้องแบ่งรับแบ่งสู้กับพิธีกรรมต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวลูก และคิดว่ามันไม่เป็นผลเสียอะไรมากมาย กลับเป็นผลดีในทางจิตวิทยาเสียด้วยซ้ำ


เพราะความเชื่อนำไปสู่ความศรัทธา เมื่อคนมีจิตศรัทธา จิตที่อยู่เหนือกาย เช่นคำที่พระว่า "จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว" แล้วไซร้ เมื่อผ่านพิธีกรรมที่เกิดมาจากศรัทธาอันแรงกล้า ก็จะก่อให้เกิดผลดีตามไปด้วย


เช่นวันนี้ ที่แม่ยอมให้จัดพีธีเรียกขวัญลูก ด้วยย่าของลูกเชื่อว่า ลูกร้องไห้งอแงในยามค่ำคืนอยู่นานเกือบครึ่งเดือนแล้ว ทั้งยังเพิ่งสร่างไข้ จึงทำให้ไม่ยอมทานข้าวได้มากเช่นเคย


ชาวกระยันเชื่อว่า ขวัญของเด็กออกจากร่างหนีไปเที่ยวเล่นไกล หรือไม่ก็ขวัญหายระหว่างทาง และไม่สามารถกลับเข้าร่างของตนเองได้ จึงต้องมีพิธีเรียกขวัญขึ้น


ก่อนวันพิธีพ่อกับแม่ต้องจัดเตรียม สัตว์ไว้ทำพิธี ทั้งหมู และไก่อีกหลายตัว เมื่อถึงวันเรียกขวัญ หมูเจ้ากรรมก็ต้องถูกเชือด เพื่อนำเนื้อมาประกอบพิธีกรรม ในหลายขั้นตอน


ขั้นแรกเมื่อหมูเจ้ากรรมถูกชำแหละเนื้อ พ่อหมอจะดูที่ตับของหมู เพื่อทำนายในส่วนของภาพรวมของครอบครัว ว่าจะมีสิ่งดี หรือสิ่งไม่ดีอย่างไรเกิดขึ้นกับครอบครัวของเราบ้าง ต่อมาก็จะนำเนื้อหมูและเครื่องในที่สำคัญ ทั้งที่นำมาหุงต้มเรียบร้อยแล้ว และที่ดิบๆอยู่ ใส่ไว้ในก๋วยหรือตะกร้า ซึ่งจะนำไปเซ่นไหว้วิญญาณที่อยู่ตามถนนหนทางหรือป่าเขา ในทิศใดทิศหนึ่งที่ทำนายไว้ว่าขวัญของลูกจะไปตกอยู่ เพื่อเบิกทางให้ขวัญกลับเข้าร่าง

 

โดยในก๋วยดังกล่าวจะประกอบด้วย เครื่องเซ่นไหว้อื่นๆ เช่น หมากพู ยาสูบ เหล้าต้ม เหรียญเงิน มีด พร้า เป็นต้น ซึ่งอาจจะมีข้าวของมีค่าใส่ลงไปด้วยก็ได้ โดยในตอนกลับก็สามารถหยิบกลับมาด้วยได้เช่นกัน


พ่อหมอจะมีอาสาสมัครสองคน ซึ่งจะเรียกกันว่าหมา คนหนึ่งคอยช่วยหยิบยกของเซ่นไหว้ อีกคนจะคอยเห่าคอยหอน คือทำเสียงคล้ายหมา เวลาไปถึงจุดที่ตั้งของเซ่นไหว้


เมื่อพ่อหมอทำพิธีเซ่นไหว้เสร็จก็จะทิ้งก๋วยไว้ แล้วเรียกวิญญาณกลับตามมา ทุกคนในบ้านก็จะนั่งคอยอยู่ในบ้าน โดยเฉพาะลูกที่พ่อหมอจะต้องขานชื่อ ซึ่งผู้ถูกขานชื่อต้องรับว่า "เฮ๊ย" แปลว่าอยู่ ในกรณีลูกที่เล็กมากพ่อจึงต้องคอยขานรับแทน


นอกจากหมูแล้วยังต้องใช้ ไก่สดๆ และต้องเป็นไก่ตัวเมียในกรณีที่ลูกเป็นผู้ชาย และต้องเป็นไก่ตัวผู้ถ้าเป็นลูกสาว


พ่อหมอจะทำการเชือดคอ ให้เลือดไก่ออกมาที่ปาก แล้วใช้ปากไก่แตะมาที่หน้าผากของคนในบ้าน ให้เกิดเป็นรอยเลือดติดอยู่ ซึ่งรอยดังกล่าวต้องให้ติดไว้อย่างน้อยหนึ่งวันโดยไม่ลบออก


จากนั้นจะยกสำรับอาหารที่ปรุงจากเนื้อหมู ให้ทุกคนในบ้านล้อมวงทาน โดยต้องทานให้หมดเกลี้ยงชาม พ่อเฒ่าพ่อแก่ในหมู่บ้านก็จะขึ้นมาผลัดกันมัดข้อมือคนในบ้าน ด้วยฝ้ายสีขาวจนครบทุกคน


พ่อหมอจะใช้ไก่อีกตัวหนึ่งหลังจากเสร็จพิธีเพื่อทำนายว่า ขวัญลูกน้อยเข้าร่างเป็นที่เรียบร้อยแล้วหรือยัง โดยจะดูที่กระดูกหน้าแข้งของไก่ทั้งสองข้าง ซึ่งจะมีรูเล็กๆที่สามารถสอดไม้ไผ่แหลมๆ เข้าไปได้ ซึ่งต้องอาศัยความรู้จากการทำนายที่สืบต่อๆกันมา


พ่อหมอจะไว้ชีวิตไก่ตัวหนึ่งปล่อยไว้กลางบ้าน เป็นตัวแทนว่าขวัญของลูกกลับมาแล้ว โดยจะสาดเข้าสารไปทั่วบ้าน หากไก่กินข้าวสารดี ไม่ตื่นหนีแสดงว่าขวัญของลูกคืนร่างดีแล้ว ทั้งนี้เจ้าบ้านต้องสาดข้าวสารไปทั่วบ้านอย่างน้อยสามวันติดกัน หลังจากจบวันพิธีแล้ว


เมื่อพิธีกรรมสิ้นสุดลง ก็จะมีการจัดเลี้ยงอาหาร เครื่องดื่ม ให้กับชาวบ้าน และแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน ซึ่งถือว่าเป็นการทำบุญบ้านไปในตัว


พ่อหมอก็จะต้องเดินทางกลับบ้านโดยทันทีหลังจากเสร็จสิ้นพิธีทุกอย่าง โดยเจ้าบ้านจะต้องแบ่งเนื้อหมู น้ำส้ม น้ำหวาน เหล้า ฯลฯ ใส่ในถุงย่ามติดตัวให้พ่อหมอกลับด้วย รวมทั้งเงินค่าทำพิธีอีกจำนวนหนึ่ง


ทั้งนี้หมาทั้งสองตัว หรืออาสาสมัครที่คอยเป็นผู้ช่วยเหลือพ่อหมอในการทำพิธีก็จะได้รับส่วนแบ่งตามไปด้วย


กว่าพิธีต่างๆจะจบลงที่ล้างจานชามภาชนะก็เกือบเย็น ลูกมีท่าทีแจ่มใสขึ้น แม่คิดว่าลูก

คงสนุกกับผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาทักทาย ชลมุนอยู่ใต้ถุนบ้านกับแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน ตื่นเต้นกับพิธีกรรมแปลกๆ จนเหนื่อยล้าและหลับง่ายดายไม่ร้องสักแอะ


สมแล้วกับค่าทำขวัญที่เสียไปหลายตังค์ แม่คิดว่าขวัญของลูกคงคืนร่าง เมื่อได้สัมผัสกับโลกแปลกใหม่อีกอย่างหนึ่งของชีวิต.


รักลูก,แม่

 

 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
เจนจิรา สุ
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก เมื่อคืนเรานั่งดูรูปถ่ายเก่าๆ ที่เราไปเที่ยวกันมา นับตั้งแต่ครั้งแรกที่แม่พาลูกเดินทางไกล จากแม่ฮ่องสอนไปเชียงใหม่ ตอนนั้นลูกเพิ่งอายุได้เจ็ดเดือนเศษ  มีรูปตอนไปเที่ยวสวนสัตว์และเที่ยวงานพืชสวนโลก 2008 ที่เชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ สวยราวกับภาพถ่ายต่างเมืองที่ไหนสักแห่งที่ไม่ใช่เมืองไทย
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก   เมื่อคืนลูกมีไข้ขึ้นสูง แม้เช้านี้อาการไข้ของลูกจะลดลงแล้วแต่ตัวลูกก็ยังอุ่นๆ เหมือนเครื่องอบที่เพิ่งทำงานเสร็จใหม่ๆ แม่จึงตัดสินใจให้ลูกขาดโรงเรียนอีกหนึ่งวัน
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก หากมีคำถามจากใครสักคนถามแม่ว่า เดือนไหนของปีที่รู้สึกว่ายาวนานกว่าเดือนอื่นๆ คำตอบของแม่อาจจะแตกต่างออกไปจากคนอื่นๆ เพราะแม่คิดว่าเดือนที่มีจำนวนวันน้อยที่สุดเป็นเดือนที่แม่รู้สึกว่ายาวนานกว่าทุกๆเดือน
เจนจิรา สุ
สาละวิน, ลูกรัก  นานแล้วที่แม่ไม่ได้หอมกลิ่นดอกเหงื่อ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เราได้ลงทุนครั้งใหญ่เพื่อติดตั้งน้ำประปาหลวง ทำให้บ้านของเราที่เคยแห้งแล้งกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง ดอกเหงื่อที่เกิดจากการจับจอบเสียมเพื่อขึ้นแปลงผักและปลูกต้นไม้เล็กๆน้อยๆ ทำให้แม่มีความสุข เจริญอาหาร และอารมณ์ดีขึ้นไม่น้อย
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก   สิ่งที่ลูกต้องเรียนรู้ในชีวิตอีกบทหนึ่งก็คือ เมื่อมีพบก็ต้องมีการลาจาก และบางครั้งลูกก็อาจจะต้องเจอกับการพลัดพลาดจากบางสิ่ง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก สิ่งที่แม่เป็นกังวลใจมาตลอดในความเข้าใจถึง “ตัวตน” ของลูกเริ่มก่อแววให้เห็นขึ้นเรื่อยๆ ถึงตอนนี้ลูกอายุได้เกือบสามขวบแล้ว ซึ่งทุกวันแม่จะได้รับคำถามจากลูกมากมาย เช่น ทำไมแม่ไม่ใส่ห่วงที่คอ ทำไมกระเม (หมายถึงแขกที่มาเที่ยว) มาบ้านเราล่ะแม่ ฯลฯ
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก  ในยามเช้าที่สายหมอกยังไม่ทันจาง เราตื่นขึ้นด้วยเสียงเอะอะมะเทิ่งของนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ ที่เข้ามาในหมู่บ้านตั้งแต่ฟ้ายังไม่ทันสาง พวกเขาเดินมาพลางร้องเรียกไปพลาง เพื่อจะดูชาวกะเหรี่ยงคอยาวที่เขาหมายมั่นมาดู
เจนจิรา สุ
สาละวิน,ลูกรัก ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่แม่อยากจะเล่าให้ฟัง โดยเฉพาะเรื่องความรักระหว่างพ่อกับแม่ ที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องที่แปลกแตกต่างไปจากคนอื่นๆในสังคม
เจนจิรา สุ
เชียงใหม่ยามเช้าที่อาเขต พลุกพล่านไปด้วยผู้คนที่เดินทางมาและกำลังจะจากเมืองใหญ่ที่เป็นเสมือนศูนย์กลางความเจริญในภาคเหนือของประเทศ