Skip to main content

 

ก่อนอื่นผมต้องขอขอบพระคุณ "3 องค์กรวิชาชีพสื่อฯ" 1 อันประกอบไปด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเป็นอย่างสูง ในความห่วงใยที่มีต่อเสรีภาพและสวัสดิภาพของสื่อมวลชน ที่ท่านได้กรุณาแสดงออกผ่าน "แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพ" 2 เนื่องในวันสื่อมวลชนโลก เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2551 ที่ผ่านมา

อนึ่ง ผมเขียนบทความนี้ จากการทึกทักเอาเองว่า นอกจากห่วงใยต่อ ‘สื่อมวลชน’ ด้วยกันเองแล้ว องค์กรอันทรงเกียรติทั้ง 3 นั้น มีความห่วงใยต่อเสรีภาพและสวัสดิภาพของประชาชน ด้วยเช่นกัน (อันเนื่องมาจากคำขวัญที่ผมยังประทับใจไม่รู้ลืม คือ "เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพประชาชน" และ "คุกคามสื่อ - คุกคามประชาชน") …อย่างไรก็ตาม หากข้อทึกทักของผมผิดพลาดไป ต้องขออภัยอย่างสูง

ที่สำคัญ ผมเห็นด้วยอย่างไม่มีข้อกังขาว่านายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันนั้น มักจะนิยมใช้วาจาที่ส่อไปในทางก้าวร้าว หยาบคายผ่านสื่อสาธารณะอยู่บ่อยครั้ง และไม่น่าแปลกใจถ้าหากผู้ที่เป็นคู่สนทนา จะรู้สึกว่าเป็นการคุกคาม บิดเบือน ชวนทะเลาะรวมทั้งเห็นด้วยว่า พฤติกรรมดังกล่าวไม่อาจเรียกว่าเหมาะสมได้ ไม่ว่าจะในฐานะนายกรัฐมนตรี หรือสื่อมวลชน (ผู้ดำเนินรายการวิทยุ) ก็ตาม

ผมจึงไม่รู้สึกมีปัญหาอันใดเลย กับการที่ "3 องค์กรวิชาชีพสื่อฯ" ได้ออกมาเขียนแถลงการณ์ตำหนิพฤติกรรมดังกล่าว กลับเห็นด้วยและรู้สึกขอบคุณ ดังที่ได้กล่าวไปในย่อหน้าแรก

 

 

ทว่า สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกเศร้าใจอย่างยิ่งก็คือ ขณะที่ "3 องค์กรวิชาชีพสื่อฯ" อ้างว่าห่วงใยต่อศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของสื่อ, ‘วัฒนธรรมประชาธิปไตย และคุณค่าของสื่อในสังคมประชาธิปไตย’ 3 รวมทั้งรังเกียจพฤติกรรมที่ก้าวร้าว หยาบคาย, คุกคาม บิดเบือน ชวนทะเลาะ, ‘โฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนเข้าใจผิด’ นั้น

ทั้ง 3 องค์กรเดียวกันนี้ กลับเพิกเฉย ไม่สนใจ มองไม่เห็นพฤติกรรมในทำนองเดียวกัน ทว่ารุนแรงยิ่งกว่า ของ "สื่อมวลชน" กลุ่มหนึ่ง

ซึ่งผมถือเป็นเรื่องน่าตระหนก


เพราะนอกจากพฤติกรรมของผู้ทำหน้าที่ "สื่อมวลชน" ในกลุ่มดังกล่าว’ จะเข้าข่ายก้าวร้าว หยาบคาย, คุกคาม บิดเบือน ชวนทะเลาะ, โฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนเข้าใจผิด ไม่น้อยไปกว่าสมัคร สุนทรเวช (ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ) แล้ว ถ้าหาก "3 องค์กรวิชาชีพสื่อฯ" จะถือว่ากริยามารยาทของสมัคร สุนทรเวช คือการ "สวนทางกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง" พฤติกรรมลักษณะเดียวกันของผู้ทำหน้าที่ "สื่อมวลชน" ในกลุ่มดังกล่าว ก็ย่อม "สวนทางกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง" ด้วยเช่นกัน โดยตรรกะเดียวกัน

ยิ่งไปกว่านั้น บ่อยครั้ง สิ่งที่ ‘สื่อมวลชน’ กลุ่มนี้สื่อออกมานั้น เต็มไปด้วยการปลุกระดมสร้างความเกลียดชังระหว่างผู้คนในสังคม

ที่สำคัญคือ ยั่วยุ กระทั่งชี้นำให้เกิดการใช้กำลังตัดสินปัญหาความขัดแย้งในสังคม-ใช้ความรุนแรงลงทัณฑ์ผู้ที่เห็นต่าง4

พฤติกรรมของ ‘สื่อมวลชน’ กลุ่มนี้ จึงไม่เพียงเป็นอันตรายต่อ "ศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของสื่อ" เท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้คนในสังคม

พูดง่ายๆ คือ คุกคามเสรภาพและสวัสดิภาพของประชาชนเสียเอง โดยชัดแจ้งเปิดเผย

แต่กลับไม่ถูกตรวจสอบ ตำหนิ ตักเตือน จาก "3 องค์กรวิชาชีพสื่อฯ" - ไม่ปรากฏอยู่ใน "แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพ" เลย แม้แต่บรรทัดเดียว!

 

ย้ำอีกครั้งว่า ผมไม่มีปัญหาอันใดกับการที่สื่อมวลชนหรือใครจะวิพากษ์วิจารณ์ - ตรวจสอบนักการเมือง ไม่ว่าพรรคใด กลุ่มใด

ตราบที่วิธีการวิพากษ์วิจารณ์ - ตรวจสอบนั้นอยู่บนกติกาประชาธิปไตย โต้แย้งกันด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง ที่สำคัญคือ ต้องไม่ใช้วิธีการปลุกปั่นยั่วยุ - ชี้นำผู้คนในสังคมไปสู่การใช้ความรุนแรง

เพียงแต่ผมเข้าใจไม่ได้ว่า เหตุใด แถลงการณ์ร่วมของ "3 องค์กรวิชาชีพสื่อฯ" (ความยาว 2 หน้ากระดาษ) ซึ่งได้ทุ่มเทพื้นที่และเนื้อหาส่วนใหญ่ให้กับการวิพากษ์วิจารณ์และตำหนิพฤติกรรมของ ‘นักการเมือง’ จึงเพิกเฉยละเว้นต่อพฤติกรรมอันตรายของ "สื่อมวลชน" ด้วยกัน ?

 

 

ในตอนท้ายของแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว "3 องค์กรวิชาชีพสื่อฯ" ได้เอ่ยอ้างถึง "จารีตประเพณีอันดีงามของปวงชนชาวไทย"

ซึ่งอ่านแล้วก็ชวนให้ตั้งคำถามเหลือเกินว่า อะไรคือ ‘จารีตประเพณีอันดีงาม’ ของ ‘สื่อมวลชน’ ในทรรศนะขององค์กรอันทรงเกียรติทั้ง 3

"แมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวัน" ?

 

 

** ภาพประกอบจาก ‘แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพ วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก’, เวบไซต์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, http://www.tja.or.th/

1 ผู้สนใจสามารถดูแถลงการณ์นี้ได้ที่ http://www.tja.or.th/ หรือที่ http://www.prachatai.com/05web/th/home/12067

2 ข้อความที่เป็นสีน้ำเงินในบทความนี้ทั้งหมด คัดจาก ‘แถลงการณ์ร่วมเนื่องในวันสื่อมวลชนโลก’ http://www.tja.or.th/

3 หลังจากที่ได้ฟังรายการ ‘Metro Life’ ซึ่งออกอากาศทางคลื่นยามเฝ้าแผ่นดิน ในวันที่ 30 เมษายน 2551 ทำให้ผมได้ทราบว่า สิ่งที่ปรากฏในข่าว ‘คลื่นยามเฝ้าแผ่นดินยั่วยุให้ทำร้ายร่างกายโชติศักดิ์’ ของประชาไทนั้น อาจถือได้ว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสิ่งที่ถูก ‘ออกอากาศ’ ที่สำคัญ ผมไม่คิดว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นนั้น จะเป็นอันตรายต่อ ‘โชติศักดิ์ อ่อนสูง’ เพียงคนเดียตามพาดหัวข่าวของประชาไท (ผมฟังจากไฟล์บันทึกเสียง (ความยาว 142 นาที) ที่ดาวน์โหลดจากเวบผู้จัดการ ซึ่งเพิ่งทราบมาว่าขณะนี้ไฟล์ดังกล่าวไม่สามารถดาวน์โหลดได้แล้ว)

บล็อกของ กานต์ ณ กานท์

กานต์ ณ กานท์
ใครที่ได้อ่านบทความ “นายกฯ ของวิกฤตการเมือง” [1] ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เพิ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คงรู้สึกงุนงงไม่น้อยว่า อาจารย์นิธิ “กำลังคิดอะไรอยู่”เพราะไม่เพียงในเนื้อหาของบทความดังกล่าว อาจารย์นิธิได้ประกาศไว้ชัดเจนว่า คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “เหมาะจะเป็นนายกรัฐมนตรีในยามนี้ที่สุด” แต่เหตุผลของความ “เหมาะสมที่สุด” คือ “นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องกล้าเผชิญกับแรงกดดันจากกองทัพ รวมทั้งแรงกดดันจากองค์กรอิสระอีกมากที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น อย่างอาจหาญและมีศักดิ์ศรีด้วย ดังที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้แสดงให้เห็นอย่างนุ่มนวล แต่สง่างามในครั้งนี้”…
กานต์ ณ กานท์
  โธ่เอ๋ย…ประเทศใด?เหมือนคนจับไข้นั่งไม่ติดหลอนตนว่าอยู่เมืองนิรมิตย้ำจำ ย้ำคิด กำกวมโธ่เอ๋ย… “ประชาธิปไตย”หลักการวางไว้ (หลวมๆ)ครึ่งใบ – ค่อนใบ (บวมๆ)รัฐธรรมนูญกองท่วมพานแล้ว!โธ่เอ๋ย… “ประชาชน”กี่ครั้ง กี่หน ทนแห้วแหงนคอรอฟ้าล้าแววมืดแล้ว ดึกแล้ว …ทนคอยอนิจจา… อนิจจัง…ความเอยความหวังอย่าถดถอยแม้กี่ผีซ้ำด้ามพลอยฝากรูปฝังรอยเกลื่อนเมือง โธ่เอ๋ย…ประเทศใด?หลอนตนว่าใครต่างลือเลื่องงามหรูตรูตรามลังเมลืองเฮ้ย! เมืองทั้งเมืองจะจมแล้ว!!
กานต์ ณ กานท์
  การอ้างว่าต้องเร่งผลักดันให้ "ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร"i ผ่านออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ เพื่อจะได้ยกเลิก "กฎอัยการศึก"ii ทั่วประเทศนั้น ฟังแล้วชวนให้รู้สึกทั้งขบขันและเศร้าใจ ผู้ที่ได้อ่านเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ นี้ ย่อมซาบซึ้งดีถึงนัยยะที่นำไปสู่ความว่างเปล่าของข้ออ้างนั้น แต่ที่น่าเศร้าใจไม่แพ้กันก็คือ การที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตอบข้อท้วงติงในประเด็นความชอบธรรมของรัฐบาลและสนช.ที่มาจากการรัฐประหาร ในการร่างและพิจารณาออกกฎหมาย ด้วยการย้อนว่า "...ที่ผ่านมาสนช.ได้ผ่านกฎหมายมาเป็น 100 ฉบับ ขนาดรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่ ยังออกจากสนช..."iii…
กานต์ ณ กานท์
  ฤาอีกกี่รำลึกคร่ำ- ครวญฝากคำผ่านแผ่นดิน กู่ร้องฟ้องแผ่นหิน …ก็เงียบสิ้นอยู่ฉะนี้?
กานต์ ณ กานท์