Skip to main content

ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสังกัดพรรคการเมือง, ส.ส. มาจากระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม คือเป็นส.ส.แบ่งเขต ๒๕๐ คน และส.ส.แบบสัดส่วน ๒๐๐ คนโดยให้มีเขตเลือกตั้งสำหรับ ส.ส. แบบสัดส่วนเป็น ๘ กลุ่มจังหวัดตามภูมิภาค, และส.ว.ไม่เกิน ๒๐๐ คนมาจากการแต่งตั้งและคัดสรร ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง นั้น

อุปมาอุปไมยได้ดั่ง “พายเรือในอ่างที่กำลังรั่ว” และสะท้อนวิกฤตจินตนาการทางการเมืองของตัวแทนชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม/ปฏิกิริยาของไทย

สรุปก็คือไม่มีอะไรใหม่ ไม่ได้ไปเกินกว่าที่เคยพยายามทำมาแล้วตามรัฐธรรมนูญ คสช. พ.ศ. ๒๕๕๐ และระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบเมื่อสามสิบปีก่อน

เนื้อแท้ของข้อเสนอเหล่านี้คืออะไร? ผมคิดว่ามี ๓ ประการด้วยกัน กล่าวคือ

๑) ทำให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารอ่อนแอลง เพราะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนี่แหละที่เป็นหัวหาดของการเข้ายึดและควบคุมอำนาจรัฐจากพลังที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเสียงข้างมาก

๒) ด้วยการทำให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตกเป็นตัวประกันทางอำนาจต่อรองกำกับควบคุมของบรรดาสถาบันและองค์การทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากทั้งหลาย (non-majoritarian institutions) หรือที่เรียกกันว่า “อำมาตย์”

๓) และบ่อนเบียนจำกัดโอกาสความเป็นไปได้ในการสร้างแกนนำทางการเมืองระดับชาติอันเป็นทางเลือกที่อาจมาจากพรรคการเมือง และต่างหากออกไปจากระบบราชการประจำ

หลัก ๆ แล้วเป้าหมายทั้งหมดมีแค่นี้ ซึ่งล้วนแต่พิสูจน์ตัวมันเองว่าล้มเหลวในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองของสังคมไทยในระยะสิบปีที่ผ่านมาแล้วทั้งสิ้น และไม่ได้เป็นที่ยอมรับนับถือของกลุ่มพลังยุทธศาสตร์ใหม่ที่ปรากฎตัวขึ้น

ชะตากรรมเบื้องหน้าของร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “พายเรือในอ่างที่กำลังรั่ว” จึงเป็นที่คาดเดาได้

อันที่จริง ผมไม่คิดว่าเป็นภาระของผมที่ควรจะมาถกเสนออะไรเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีปัญหาความชอบธรรมแต่ต้น เพราะอำนาจปฐมสถาปนาในการร่างรัฐธรรมนูญ (pourvoir constituant originaire) ที่ชอบธรรมต้องมาจากประชาชนแหล่งเดียวเท่านั้น ไม่ใช่แหล่งอื่น อย่างไรก็ตาม ถ้าจะถามถึงเกณฑ์ประเมิน (benchmark) ของผมในการหาทางออกเรื่องกฎกติกาบ้านเมืองเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทยและปกป้องระบอบเสรีประชาธิปไตยไว้แล้ว ผมคิดว่ามีหลัก ๔ ประการคือ:

๑) ธำรงรักษาและขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพ

๒) ธำรงรักษาและขยายพื้นที่ประชาธิปไตย

๓) ไม่ดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมือง

๔) ไม่ดึงสถาบันกองทัพแห่งชาติเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง

สรุปก็คือถือรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ เป็นหลักหมาย ไม่ถอยหลังไปกว่านั้นในแง่ต่าง ๆ ทั้ง ๔ ที่กล่าวมา แล้วหาทางปรับปรุงติดตั้งกลไกสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยทางตรงต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการฉวยใช้อำนาจเสียงข้างมากที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาไปในทางมิชอบ (เช่น ร่างพรบ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง) และปัญหาการเคลื่อนไหวอนาธิปไตยนอกระบบสถาบันการเมืองของเสียงข้างน้อย (เช่น กปปส.)

 

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก ‘Kasian Tejapira’ 28 ธ.ค.2557

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
"ในฐานะผู้เคยทำการปฏิวัติด้วยความรุนแรง ผมใคร่บอกว่าเราต้องหาทางเจือผสมการปฏิวัติด้วยความไม่รุนแรงให้มากที่สุด เพราะเหตุใดน่ะหรือ? ก็เพราะว่าบรรดาไพร่ทาสราษฎรสามัญชนโดยทั่วไปนั้นหาได้มีอาวุธสงครามในมือเหมือนกลไกรัฐภายใต้การบังคับควบคุมของชนชั้นปกครองไม่.."    
เกษียร เตชะพีระ
กระบวนการเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ดังที่เป็นอยู่ จึงก่อผลสำคัญด้านความเหลื่อมล้ำทางโภคทรัพย์ที่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ไม่ใช่อุดหนุนเกื้อกูล, พลังประชาธิปไตยบนฐานอำนาจเสียงข้างมากของคนที่ขาดด้อยโภคทรัพย์ต้องหาทางคะคานถ่วงดุลอำนาจทุนมหาศาลของคนมั่งมีโภคทรัพย์เสียงข้างน้อยไว้ มิฉะนั้นประชาธิปไตยก็จะหมดความหมายในทางเป็นจริงไปในที่สุด
เกษียร เตชะพีระ
เฉพาะหนึ่งปีที่ผ่านมา รถยนต์ที่ขายในประเทศร่ำรวย อาทิ ญี่ปุ่นและอเมริกา กลับมียอดแซงหน้าในประเทศตลาดเกิดใหม่ จีนไม่ใช่ประเทศที่มีอัตรายอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นสูงสุดอีกต่อไป หากกลับเป็นไทย (ที่ ๖๐%!) และอินโดนีเซีย (ที่ ๓๕%) ในรอบปีที่ผ่านมา
เกษียร เตชะพีระ
ก้องกังวานสะท้านฟ้ามหาสมุทร ด้วยคลั่งแค้นแสนสุดประกาศกล้า เป็นแสนเสียงล้านเสียงมหาประชา สยบขวัญสั่นอุราเผด็จการ...
เกษียร เตชะพีระ
"ประชานิยม" "คนชั้นกลางนิยม" "คนรวยนิยม" "อำมาตย์นิยม" "ประชาธิปัตย์นิยม" "ม.๑๑๒ นิยม" "ราชบัณฑิตนิยม" "ยิ่งลักษณ์นิยม" "ทักษิณนิยม" "พันธมิตรนิยม" "นิติราษฎร์นิยม" "นิด้านิยม"