Skip to main content

องค์ บรรจุน


สำนวนไทยที่กล่าวถึงการแย่งศพมอญ นั่นคือ “แย่งกันเป็นศพมอญ” หากพิจารณาความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่มีความหมายว่า ยื้อแย่งกัน ซึ่งใช้ในเชิงเปรียบเทียบ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สำนวนนี้มีที่มาจากประเพณีมอญแต่โบราณ และคำว่า “แย่ง” นั้นก็เป็นแต่อุบาย ที่หมายให้ผู้คนทั้งหลายหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน


วัฒนธรรมประเพณีมอญหลายประการที่คนไทยยอมรับมาอย่างหน้าชื่นตาบาน เช่น ประเพณีสงกรานต์ ตักบาตรน้ำผึ้ง ล้างเท้าพระ ดนตรีปี่พาทย์นาฏศิลป์ เหล่านี้เป็นหัวใจของไทยที่รับมาจากมอญ และทำการปรับเปลี่ยนให้เป็นของตนอย่างกลมกลืน แนบเนียนเสียจนคนมอญรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ศึกษาลึกซึ้งอาจหลงลืมไปแล้ว


วัฒนธรรมประเพณีมอญล้วนมีที่มาที่ไปด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่คนเก่าเมื่อก่อนไม่ได้บอกเล่าหรืออธิบายกันตรงๆ เป็นแต่ทำกุศโลบายให้ลูกหลานปฏิบัติตาม เมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยปี อนุชนรุ่นหลังจึงไม่เข้าใจในวัฒนธรรมประเพณีของตนถ่องแท้ รู้แต่เพียงว่าเคยเห็นปู่ย่าตายายปฏิบัติสืบต่อกันมาก็ปฏิบัติสืบต่อกันไป หรือไม่ก็เห็นเป็นขบขัน เลิกล้มกันไป โดยไม่รู้ที่มา รวมทั้งมองไม่เห็นปริศนาธรรมที่ปู่ย่าตายายได้บรรจงแฝงแง่คิดเอาไว้ในพิธีกรรมเหล่านั้น หนึ่งในพิธีกรรมที่เข้าใจยากเหล่านั้น ได้แก่ พิธีแย่งศพ


แย่งศพเพื่ออะไร .....ทำไมต้องแย่งศพ?”


พิธีแย่งศพของมอญนั้น เชื่อกันว่ามีที่มาจากกษัตริย์มอญ คือ พระเจ้าธรรมเจดีย์ (ครองราชย์ พ.. ๒๐๑๓-๒๐๓๕) ดังปรากฏอยู่ในพงศาวดารมอญ ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รับสั่งให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลออกมาเป็นวรรณคดีไทยเรื่อง ราชาธิราช กล่าวถึงตอนที่พระนางตะละเจ้าท้าว (เช็งสอบู) นางกษัตริย์มอญเสด็จสวรรคต พระเจ้าธรรมเจดีย์ได้คิดกุศโลบาย เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระองค์ โดยแฝงไว้ในพิธี “แย่งศพ” ก่อนพระราชทานเพลิงศพพระมารดาเลี้ยง


อยู่มาตะละนางพระยาท้าวเสด็จทิวงคต พระชน มายุได้เจ็ดสิบเอ็ดปี อยู่ในราชสมบัติได้ห้าสิบเอ็ดปี ลุศักราช ๘๙๖ ปี พระเจ้าหงสาวดีจึงสั่งให้ทำพระเมรุมาศ โดยขนาดสูงใหญ่ในท่ามกลางเมือง ให้ตกแต่งด้วยสรรพเครื่องประดับทั้งปวงเป็นอันงามอย่างยิ่ง แล้วตรัสปรึกษาเสนาพฤฒามาตย์ทั้งปวงว่า สมเด็จพระราชมารดาเลี้ยงของเรานี้มีพระคุณเป็นอันมาก ทรงอุปถัมภ์บำรุงเรามาจนได้เป็นเจ้าแผ่นดิน เราคิดจะสนองพระเดชพระคุณให้ถึงขนาด ท่านทั้งปวงจะเห็นประการใด เสนาพฤฒามาตย์ทั้งปวงได้ฟังพระราชโองการตรัสปรึกษาดังนั้นก็กราบทูลว่า ข้าพเจ้าทั้งปวงเป็นทาสปัญญา การทั้งนี้สุดแต่พระองค์จะทรงพระดำริเถิด ข้าพเจ้าทั้งปวงจะทำตามรับสั่งทุกประการ พระเจ้าหงสาวดีจึ่งตรัสว่า เราจะทำไว้ให้เป็นอย่างในการปลงศพ จะได้มีผลานิสงส์ยิ่งขึ้นไป จึงสั่งให้ทำเป็นรูปเหรา มีล้อหน้าแลท้าย สรรพไปด้วยไม้มะเดื่อแลไม้ทองกวาว แล้วจึงทำเป็นรัตนบัลลังก์บุษบก ตั้งบนหลังเหรา ให้แต่งการประดับจงงดงาม เร่งให้สำเร็จในเดือนหน้าจงได้ เสนาบดีทั้งปวงรับสั่งแล้วก็ออกมาให้แจก หมายเกณฑ์กันเร่งกระทำทุกพนักงาน เดือนหนึ่งก็สำเร็จดังพระราชบัญชาทุกประการ ทั้งพระเมรุมาศซึ่งทำมาก่อนนั้นก็แล้วลงด้วย พระเจ้าหงสาวดีได้ทราบว่าการทั้งปวงเสร็จแล้ว จึ่งให้หมายบอกกำหนดงานในเดือนเก้า ขึ้นเก้าค่ำ จะเชิญพระศพไปยังพระเมรุมาศ…


ครั้นถึงเดือนเก้าขึ้นเก้าค่ำ เสนาพฤฒามาตย์ราชกระวีมนตรีมุขทั้งปวง อีกเมืองเอกโทตรีจัตวาก็มาพร้อมกัน พระเจ้าหงสาวดีจึ่งให้ตั้งขบวนแห่อัญเชิญพระศพสมเด็จตะละนางพระยาท้าว ลงสู่บุษบกบัลลังก์เหนือหลังเหรา แล้วตรัสสั่งเสนาบดีให้แยกกันเป็นสองพวก จะได้แย่งชิงพระศพเป็นผลานิสงส์ เสนาบดีทั้งปวงก็แบ่งกันออกเป็นสองแผนก โดยพระราชบัญชาพระเจ้าหงสาวดีจึ่งเสด็จดำเนินด้วยพระบาท ทรงจับเชือกแล้วตั้งพระสัตยาธิษฐานว่า ข้าพเจ้ามีความกตัญญูรู้พระคุณสมเด็จพระราชมารดาเลี้ยง จึ่งคิดทำการให้ลือปรากฏไปทุกพระนคร ขอคุณพระรัตนตรัยจงเป็นที่พึ่ง ถ้าบุญข้าพเจ้าจะวัฒนาการสืบไปแล้ว ขอให้ชิงพระศพสมเด็จพระราชมารดาจงได้มาดังใจคิดเถิด ครั้นตั้งสัตยาธิษฐานแล้ว จึงตรัสสั่งให้จับเชือกชักพร้อมกัน…


ขณะนั้นเป็นการโกลาหลสนุกยิ่งนัก เสนาบดีแลไพร่พลทั้งปวงก็เข้าแย่งชักเชือกเป็นอลหม่าน พระศพนั้นก็บันดาลได้มาข้างพระเจ้าหงสาวดี เสียงชนทั้งปวงโห่ร้องพิลึกลั่นทั้งนคร พระเจ้าหงสาวดีก็ทรงพระโสมนัสนัก จึ่งให้ชักแห่พระศพไปพร้อมด้วยเครื่องสูงไสว ทั้งกรรชิง กลิ้งกลด อภิรุม ชุมสาย พรายพรรณ พัดโบก และจามรทานตะวันอันพรรณราย สล้างสลอนด้วยธงเทียวทั้งหลายเขียวเหลืองขาวแดงดารดาษ เสียงสนั่นพิณพาทย์เครื่องประโคมฆ้องกลองกึกก้องโกลาหล สะพรึบพร้อมด้วยหมู่พลอันจัดเข้าในขบวนแห่แหน ดูอเนกเนืองแน่นประหนึ่งจะนับมิได้ การแห่พระศพครั้งนี้ครึกครื้นเป็นมโหฬารดิเรก เปรียบประดุจการแห่อย่างเอกของนางอัปสรกัญญาทั้งเจ็ดองค์ ซึ่งแห่พระเศียรท้าวกบิล พรหมผู้เป็นปิตุรงค์ กับด้วยทวยเทพยเจ้าทั้งปวงอันเวียนเลียบเหลี่ยมไศลหลวงประทักษิณษิเนรุราช ครั้นถึงพระเมรุมาศ จึงให้เชิญพระศพขึ้นตั้งยังมหาบุษบกเบญจาสุวรรณ ให้มีงานมหรสพสมโภชเจ็ดวันเจ็ดคืน จุดดอกไม้เพลิงถวายพระศพ มีพระธรรมเทศนาและพระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมเปรียญอันดับสวดสดับปกรณ์ถวายไทยทานแก่พระสงฆ์ และโปรยทานกัลปพฤกษ์แก่ยาจกวนิพกเป็นอันมาก แล้วทรงอุทิศส่วนกุศลไปถึงบิดามารดา ครั้นครบเจ็ดวันจึ่งถวายพระเพลิง พร้อมด้วยเสนาบดีพระวงศานุวงศ์ผู้น้อยผู้ใหญ่ฝ่ายในฝ่ายหน้า อีกทั้งพระสงฆ์ฐานานุกรมเป็นอันมาก แล้วให้แจงพระรูปเก็บพระอัฐิใส่ในพระโกศทองประดับพลอยเนาวรัตน์ อัญเชิญเข้าบรรจุไว้ในพระมุเตา แล้วให้มีงานสมโภชอีกสามวันตามราชประเพณีกษัตริย์แต่ก่อน


ครั้นการเสร็จแล้ว พระเจ้าหงสาวดีจึ่งตรัสแก่เสนาบดีทั้งปวงว่า เราทำการครั้งนี้เป็นผลานิสงส์สนุกยิ่งนัก แต่นี้ไป ใครจะทำการศพบิดามารดาผู้มีคุณ ก็ให้ชิงศพเหมือนเรา ซึ่งทำไว้เป็นอย่างฉะนี้ จึ่งได้เป็นประเพณีฝ่ายรามัญสืบกันมาจนบัดนี้”


ประเพณีการแย่งศพมอญ จึงมีปฐมเหตุมาจากกุศโลบายของพระเจ้าธรรมเจดีย์ปิฏกธร ที่ต้องการแสดงบุญญาภินิหารของพระองค์ ด้วยเหตุที่พระองค์นั้นเป็นเพียงสามัญชน เป็นพระราชโอรสเลี้ยง แม้ต่อมาจะได้เป็นพระราชบุตรเขย และพระนางตะละเจ้าท้าวจะสละราชสมบัติให้ขึ้น ครองราชย์ต่อจากพระองค์ก็ตาม กระทั่งพระนางตะละเจ้าท้าวสวรรคต อันเป็นธรรมดาที่คงจะยังมีเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง เสนาอำมาตย์ ที่ยังไม่ยอมรับพระเจ้าธรรมเจดีย์ในฐานะพระเจ้าแผ่นดินรามัญประเทศ พระองค์จึงคิดอุบายแย่งศพขึ้น โดยแบ่งทหารออกเป็น ๒ ฝ่าย โดยพระองค์เข้าไปอยู่ในฝ่ายหนึ่ง แล้วจับเชือกที่ผูกไว้กับราชรถรูปเหรา (นาค) ตั้งสัตยาธิษฐาน หากคิดดีคิดชอบ มีความจงรักภักดีกตัญญูรู้คุณในพระนางตะละเจ้าท้าวแล้วไซร้ ให้รถเหราเคลื่อนมาทางพระองค์ ครั้นออกแรงดึง ผลก็เป็นไปอย่างที่พอจะคาดหวังได้

การที่พระศพไหลมาข้างพระองค์ แสดงให้อาณาประชาราษฎร์เห็นว่า พระนางตะละเจ้าท้าวรับรู้ และอยู่ข้างพระองค์ และแน่นอนว่า ไพร่บ้านพลเมืองในแผ่นดินทั้งหลายก็ยอมรับในพระเจ้าธรรมเจดีย์มหาปิฎกธร พระมหากษัตริย์แห่งรามัญประเทศมากยิ่งขึ้น


ปราสาทตั้งศพศิลปะมอญ สร้างโดยชาวมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) งานพระราชทานเพลิงศพ พระครูสาครกิจโกศล (จ้อน วรุโณ) จังหวัดสมุทรสาคร พ.. ๒๕๓๐


ปัจจุบันประเพณีแย่งศพในหมู่ชาวมอญเมืองไทย เหลือแต่เพียงในกลุ่มคนเก่าแก่ที่เพียงปฏิบัติตาม “เคล็ด” ที่ ทำสืบกันมา กล่าวคือ ก่อนที่จะนำโลงศพขึ้นเชิงตะกอน หรือ ขึ้นเมรุเข้าเตาเผา ก็ทำทีดึงถอยหลังยื้อเดินหน้า กระทำ ๓ ครั้ง สมมุติเป็นการแย่งศพ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดก็ใช้เวลาเพียง ชั่วอึดใจ ทำไปตามธรรมเนียมโดยไม่รู้ความหมาย แต่สำหรับในหมู่ชาวมอญในเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ที่ยังคงเคร่งครัดในขนบธรรมเนียมและหลักทางศาสนา ยังคงสืบสานประเพณีดังกล่าว รวมทั้งได้พัฒนารูปแบบ จนเรียกได้ว่า เป็นการแสดงที่สวยงามอลังการ มีความพร้อมเพรียง และชมด้วยความเพลิดเพลิน

พิธีแย่งศพที่ชาวมอญเมืองมอญดัดแปลงเพิ่มเติม จนกระทั่งเป็นพิธี “วอญแฝะ” ในปัจจุบัน เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณอย่างหนึ่ง พิธีนี้จะทำกันเฉพาะในการปลงศพพระเถระ พระภิกษุสงฆ์ระดับเจ้าอาวาส ที่มีผู้คนนับหน้าถือตาลูกศิษย์ลูกหารักใคร่ ชาวบ้านในแต่ละคุ้มวัดทั้งใกล้ไกล จะช่วยกันสร้างโลงปราสาทบรรจุศพจำลอง
(ไม่ได้ใส่ศพจริง) ตกแต่งสวยงาม วางอยู่บนแคร่ หามที่ทำจากไม้ไผ่ ๑๖ ลำ ผูกเป็นตารางด้านละ ๘ ลำ (แฝง ความหมายถึงอาการ ๓๒ ของมนุษย์) ใช้ผู้ชายที่แข็งแรงแบก ๓๒ คน นอกจากนั้นยังแบ่งคนเป็น ๒ กลุ่ม แต่งตัวเป็นนางฟ้าสวยงาม และมนุษย์ธรรมดาสามัญอยู่คนละฟากของโลงปราสาท ทำท่ายื้อแย่งไปมา มนุษย์นั้นต้องการให้ศพพระ อาจารย์อยู่ในโลกมนุษย์ ส่วนนางฟ้าก็ต้องการนำศพพระอาจารย์กลับสวรรค์ (เมื่อกษัตริย์สวรรคต และ พระสงฆ์มอญมรณภาพ ชาวมอญจะเรียกว่า ปอ แปลว่า บิน หรือ จาวฟอ แปลว่า กลับสวรรค์) ซึ่งในการ “วอญแฝะ” นี้ เป็นการเยื้องย่างร่ายรำไปตามทำนองปี่พาทย์มอญ พร้อมเสียงร้องรำพรรณ เนื้อหามักกล่าวถึงคุณงามความดีของผู้ตาย ความอาลัยรัก ชักชวนกันมาร่ายรำ และ “วอญแฟะ” ของพระอาจารย์


ผู้ประกอบพิธี “วอญแฝะ” ร่ายรำไปตามจังหวะปี่พาทย์มอญและเสียงขับร้องพรรณนาคุณงามความดีของ “พระอาจารย์” บางช่วงผู้ทำพิธีทั้งผู้รำและผู้แบกโลงปราสาทก็ต้องทำหน้าที่ลูกคู่ด้วยซึ่งการทำพิธีแต่ละครั้งต้องยกโลงปราสาทไว้ตลอดเวลา อาจใช้เวลานานนับชั่วโมง


การ “วอญแฝะ” นี้ ในเมืองมอญมีการประกวดประชันกัน หากหมู่บ้านใดมีงานศพพระก็จะมีคนจากคุ้มบ้านใกล้เคียงและห่างออกไปเดินทางมาร่วมงานเป็นคณะ โดยอาจมีเจ้าอาวาสวัดหมู่บ้านนั้นๆ เป็นผู้นำมาส่งคณะ “วอญแฝะ” ของหมู่บ้านตนเข้าแข่งขัน ซึ่งถือเป็นการร่วมบุญ แข่งกันทั้งชุดแต่งกาย ท่ารำ ดนตรี เนื้อเพลง และความพร้อมเพรียง


มีเรื่องเล่ากันว่า ในงานศพพระผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียง เป็นที่รักของชาวบ้าน แคร่ตั้งโลงปราสาทนั้น แทบจะไม่แตะพื้นเลย ตั้งแต่เย็นวันสุกดิบจนถึงเวลาประชุมเพลิง เพราะจะมีคณะ “วอญแฝะ” จากหมู่บ้านอื่นๆ มารอรับเอาไปจากไหล่เสมอ

ความหมายอีกอย่างหนึ่งของชาวมอญเมืองมอญอันเป็นที่มาของการแย่งศพ คือ ในงานศพแต่ละงาน บางครั้งคณะของแต่ละคุ้มบ้านต่างสร้างโลงปราสาทของตนมาถวายให้ “อาจารย์” ด้วยความศรัทธาและต้องการผลานิสงส์ผลบุญ ผลัดกัน “วอญแฝะ” ไปทีละปราสาท แต่ละคุ้มบ้าน ต้องรอจนกว่าจะถึงรอบของตน ใครมาก่อนใครมาหลังบางครั้งก็สับสน จึงต้องมีการยื้อแย่งกันบ้างตามธรรมดา ซึ่งเป็นที่มาส่วนหนึ่งของการแย่งศพ

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น คือ พิธี “วอญแฝะ” ของชาวมอญเมืองมอญ
(ประเทศพม่า) หากแปลกันตรงๆ ตามตัวหนังสือก็จะแปลได้ว่า “เล่นศพ” ซึ่งคนเฒ่าคนแก่ชาวมอญในเมืองไทยรับไม่ได้ เพราะลำพัง “แย่ง” ก็สุดจะรับไหวแล้ว ถึงขนาดบางท่านพยายามแปลให้เป็น “ส่งศพ” ด้วยการแยกอ่านคำ ออกเป็นพยางค์ แทนที่จะอ่านควบกล้ำว่า ปล็อง กลับอ่านแยกพยางค์ออกเป็น ปะ-ล็อง ซึ่งหากจะเทียบกับ คำว่า “วอญแปะปุด” ถ้าแปลกันแบบตรงตัวก็ต้องแปลว่า “เล่นคดี” แต่เมื่อมีเรื่องถึงโรงถึง ศาลก็มักไม่มีใครเล่นคดี เอาแต่ “สู้คดี” กันทั้งนั้น นั่นเป็นอุทธาหรณ์อย่างหนึ่งว่า ศัพท์ต่างภาษาจะแปลออกมาอย่างซื่อตรงโดยไม่มีศิลป์นั้น “ไม่ได้ความ”


โลงปราสาทศิลปะมอญเมืองไทย ส่วนฐานรองและคานหามเป็นศิลปะมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) งานพระราชทานเพลิงศพศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สุเอ็ด คชเสนี อดีตนายกสมาคม ไทยรามัญ จังหวัดสมุทรปราการ พ.. ๒๕๕๑


วงปี่พาทย์มอญ ของชาวมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) บรรเลงประกอบการขับร้องในพิธี “วอญแฝะ”งานพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมเมธาภรณ์ (สนิท สุภาจาโร) อดีตเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี และเจ้าอาวาสวัดจันทน์กะพ้อ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๑

ดังจะเห็นว่าเพียงแต่ “แย่ง” แม้จะมีเหตุผลที่ดีก็ยังมีผู้ไม่ยอมรับ หากถึงขนาด “เล่น” ก็คงสุดจะทน หลายท่านถึงกับกล่าวว่า ปล็องแฝะ ของมอญเมืองไทย และ วอญแฝะ ของมอญเมืองมอญ เป็นคนละอย่างกัน ด้วยพิธีดังกล่าว แม้เฟื่องฟูคุโชนอยู่ในหมู่มอญเมืองมอญ แต่ในขณะเดียวกัน “เคล็ด” ที่เหลือเพียงน้อยนิดและถูกแช่แข็ง จนเกือบละลายหายไปในหมู่มอญเมืองไทย ทั้งที่มนุษย์เป็นผู้วางแบบแผนจารีตประเพณีกลับล้มตาย นับประสาอะไรกับจารีตประเพณีที่ผ่านยุคสมัย ย่อมถูกดัดแปลงแต่งเสริม หรือล้มเลิกก็สุดแท้แต่คนของยุคสมัยนั้นๆ จะเห็นดีเห็นงาม ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ สักวันหนึ่งทุกสิ่งต้องเปลี่ยนแปลง

ประเพณี และจิตใจของคนนั้นเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงเพียงสิ่งเดียวนั้นคือ “ความดื้อรั้น” ที่ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง

ราชบัณฑิตยสถาน. (๒๕๔๒). พจนานุกรมฉบับราช บัณฑิตยสถาน พ.. ๒๕๔๒. หน้า ๙๑๗.

กรมศิลปากร. (๒๕๔๖). วรรณกรรมสมัยรัตน โกสินทร์ (หมวดบรรเทิงคดี) : ราชาธิราช ของเจ้าพระยาพระ คลัง (หน) และคณะ. หน้า ๔๓๘-๔๔๐.


บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์