Skip to main content

เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี


นายบอน ผู้เป็นสามีมีรกรากอยู่ที่บ้านเกาะ ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร บรรพชนอพยพเข้าเมืองไทยในราวสมัยรัชกาลที่ ๒ และย้ายมาอยู่ย่านบ้านปากบ่อตรงปลายเขตแดนของตำบลเมื่อร้อยปีเศษที่ผ่านมา แต่สำหรับต้นตระกูลของเม้ยเผื่อนนั้น กว่าจะมาอยู่ย่านวัดน่วมกานนท์ หลังอพยพมาจากเมืองมอญได้ลงหลักปักฐานอยู่ในหลายแห่ง มีการแต่งงานกับคนมอญจากหมู่บ้านใกล้เคียงและห่างไกลอย่างค่อนข้างซับซ้อนในแต่ละชั่วอายุคนที่สัมพันธ์กันอย่างไม่น่าเชื่อ โดยที่ลูกหลานรุ่นปัจจุบันไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน แม้แต่เม้ยเผื่อนก็ยังพอจดจำได้บ้างจากสิ่งที่ได้รับการบอกเล่าเท่านั้น ดังนั้นลูกหลานรุ่นต่อไปก็อาจจะรู้เรื่องราวความเป็นมาของบรรพชนบางเบาลงไปทุกที อันเป็นธรรมดาของไพร่ปกติสามัญอย่างที่กล่าวกันว่า ชนชั้นไพร่นั้นจะรู้เรื่องสาแหรกของตนเองได้อย่างมากก็แค่ย้อนขึ้นไปไม่เกิน ๓ รุ่น และจะสามารถนับถัดไปจากตัวเองได้ไม่เกิน ๓ รุ่น เช่นเดียวกัน


ญาติทางแม่ของเม้ยเผื่อนมาจากบางด้วน จังหวัดเพชรบูรณ์ ภายหลังจากญาติที่ลงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางสมุทรสาครก่อนหน้าส่งข่าวขึ้นไปว่า ทางสมุทรสาครน้ำจืดสามารถทำนาทำสวนปลูกพืชผักได้แล้ว คุณตาของเม้ยเผื่อนจึงตั้งใจอพยพมายังสมุทรสาคร ใช้เส้นทางแม่น้ำป่าสัก ลัดเลาะเข้าคลองเล็กคลองน้อยมาออกแม่น้ำแควใหญ่ เมืองกาญจนบุรี ต่อด้วยแม่น้ำแม่กลอง แต่เกิดเปลี่ยนใจยังไม่ลงมายังสมุทรสาครในทันที กลับลงหลักปักฐานอยู่ที่ชุมชนมอญแถวโพธาราม จังหวัดราชบุรี ในขณะที่ญาติๆ และเพื่อนบ้านอีกจำนวนมากยังคงอยู่ที่บางด้วน จังหวัดเพชรบูรณ์ เม้ยเผื่อนไม่เคยไปบางด้วน แต่ครั้งหนึ่งเมื่อสมัยยังสาว เคยฝันไปว่าได้ไปหายายน้อย (น้องสาวของยาย) ที่บางด้วน จึงตั้งใจว่าจะไปหายายน้อยจริงๆ สักครั้งแต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีโอกาส และก็เชื่อว่าคงจะสืบเสาะหาญาติค่อนข้างยาก เพราะมีเพียงเรื่องเล่าเพียงเลือนลาง รวมทั้งเม้ยเผื่อนไม่รู้นามสกุล เนื่องจากคนไทยเพิ่งมีนามสกุลใช้กันในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ นี้เอง


ไม่ปรากฏว่าตาของเม้ยเผื่อนอพยพจากโพธารามมาอยู่สมุทรสาครเมื่อใด แต่เม้ยเผื่อนยืนยันว่าตนและน้องอีกสองคนเกิดที่สมุทรสาคร โดยเม้ยเผื่อนเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ตาของเม้ยเผื่อนอยู่อาศัยที่โพธารามระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๔๗๔ (ระยะเวลาการก่อตั้งโรงเรียนสอนศาสนาคริสต์ บ้านฝรั่งดงตาล จนถึงช่วงเวลาการเกิดของเม้ยเผื่อน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับชีวิตของเม้ยเผื่อน ดังจะได้เล่าต่อไปข้างหน้า) โดยที่พี่น้องของเม้ยสารภี (แม่ของเม้ยเผื่อน) ยังคงอยู่อาศัยที่โพธาราม เมื่อตาและยายของนางเผื่อนย้ายมาอยู่สมุทรสาคร ลูกๆ ของตายายเม้ยเผื่อนไม่ได้ย้ายตามมาทั้งหมด ส่วนพี่ชายคนโต (นายเทียบ) พี่สาวคนรอง (นางเรียบ) และพี่ชายคนถัดมา (นายเลื่อน) นั้นไม่แน่ใจว่ามาเกิดที่สมุทรสาครหรือโพธาราม เริ่มแรกตาของเม้ยเผื่อนมาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณแยกคลองปากบ่อที่จะตัดไปยังวัดน่วมกานนท์ ตรงข้ามบ้านนายหุ่นเดี๋ยวนี้ (โคกยายจงขายของชำ) ก่อนจะย้ายไปอยู่หลังวัดน่วมกานนท์


ญาติทางพ่อของเม้ยเผื่อนมาจากบางกระเจ้า ตำบลบางกระเจ้า อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร คาดว่าเป็นกลุ่มชาวมอญที่อพยพมาจากพระประแดงในสมัยรัชกาลที่ ๓ เนื่องจากรัชกาลที่ ๓ โปรดฯให้มาสร้างป้อมและขุดคลองสุนัขหอน เมื่อขุดคลองเสร็จแล้วชาวมอญกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งมีหน้าที่อยู่ดูแลป้อม บางส่วนได้ลงหลักปักฐานจับจองที่ดินบริเวณริมคลองดังกล่าวทำมาหากินสืบมาจนถึงทุกวันนี้


บรรพชนของเม้ยเผื่อนหนีพม่ามาจากเมืองมอญด้วยกัน๔ คน พี่น้อง หลังถึงเมืองไทยเกิดกระจัดกระจายหลงกันไปคนละทิศละทาง พี่ชายคนโต (จำชื่อไม่ได้) ได้ไปบวชพระ น้องชายคนถัดมา (จำชื่อไม่ได้) แต่งงานมีครอบครัวอยู่ละแวกเดียวกัน เม้ยหุ่น ยายของเม้ยเผื่อน เป็นน้องสาวคนที่สาม และน้องสาวคนสุดท้องชื่อ เม้ยแก้ว พี่น้องทั้ง ๔ คนมาได้พบกันอีกครั้งเมื่อน้องชายคนที่สองป่วยและไปหาพระที่วัดให้รักษาโรคจนได้พบกับพระพี่ชายซึ่งใช้คาถาอาคมและความรู้เรื่องสมุนไพรที่ติดตัวมาจากเมืองมอญรักษาคนป่วยทั่วไป ภายหลังเม้ยหุ่นแต่งงานกับตาของเม้ยเผื่อน (ไม่ทราบชื่อ) แล้วก็ย้ายมาอยู่โพธารามก่อนจะย้ายมาตั้งหลักแหล่งถาวรที่จังหวัดสมุทรสาคร ส่วนเม้ยแก้ว และพี่ชายทั้งสองยังคงอยู่ที่บางด้วน จังหวัดเพชรบูรณ์


นางเผื่อนเล่าว่า ช่วงที่ตั้งบ้านเรือนอยู่โพธารามนั้น ตาของเม้ยเผื่อนมีลูกด้วยกันหลายคน จดจำชื่อไม่ได้หมด ที่จำได้ คือ เม้ยลูกจันท์ (ตั้งรกรากอยู่ที่แม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม มีลูกชื่อ นายถาวร เม้ยยี่สุ่น และนายคร) นายคำ เม้ยกำ เม้ยมาเรีย เม้ยสารภี (แม่ของเม้ยเผื่อน) นายเพิ่ม และนายเทียน (ลูกสาวนายเทียนชื่อ นี ลูกชายเม้ยนีชื่อ ดอน ปัจจุบันอยู่ที่บ้านชีผ้าขาว ตำบลท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร) ในย่านบ้านโป่งซึ่งเป็นเขตติดต่อกับโพธารามได้มีชาติตะวันตกมาตั้งโรงเรียนสอนศาสนาคริสต์ เรียกชื่อกันโดยสามัญว่า บ้านฝรั่งดงตาล (ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ ที่ย่านวัดดอนกระเบื้อง ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง) ช่วงนั้นลูกหลานมอญเข้าเรียนในโรงเรียนฝรั่งกันหลายคนโดยเฉพาะครอบครัวที่มีฐานะยากจน รวมทั้งแม่และพี่สาวของแม่เม้ยเผื่อนด้วย ตาและยายทวดจึงให้ลูกสาว ๓ คน ได้แก่ เม้ยกำ เม้ยมาเรีย และเม้ยสารภี (แม่ของเม้ยเผื่อน) ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนดังกล่าว เม้ยกำและเม้ยมาเรียได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ ต่อมาได้สามีเป็นคริสต์ ย้ายไปอยู่ท่านา จังหวัดราชบุรี? และย้ายต่อไปอยู่ที่บางนกแขวก จังหวัดสมุทรสงคราม ขาดการติดต่อกันไป ส่วนเม้ยสารภีได้เรียนแค่ชั้นประถม ๒ จึงไม่ได้เปลี่ยนศาสนาอย่างพี่สาวทั้งสองคน


นายลิ กรังพาณิชย์ พ่อของเม้ยเผื่อน มีอาชีพค้าขายฟืนและถ่านไม้ ขึ้นล่องแม่น้ำท่าจีน แม่กลองและเจ้าพระยา ซึ่งมีรกรากมาจากมอญบางกระเจ้าดังที่กล่าวแล้ว นายลิเป็นลูกของทวดสุดกับเม้ยแงะ ซึ่งมีพี่น้องด้วยกัน ๕ คน ได้แก่ นายธรรม ดาราเย็น (เปลี่ยนนามสกุลเพราะขัดแย้งกันเรื่องมรดก มีลูกชายชื่อนายเยี่ยะฮ์ ดาราเย็น) นายงาม กรังพาณิชย์ นายเพียร กรังพาณิชย์ นายทองดี กรังพาณิชย์ และนายเมาะฮ์ กรังพาณิชย์ พี่น้องของนายลิส่วนใหญ่อยู่อาศัยที่บางกระเจ้าทั้งนั้น ยกเว้นครอบครัวของทวดสุดและเม้ยแงะที่ย้ายมาอยู่ย่านวัดน่วมกานนท์ ได้พบและแต่งงานกับเม้ยสารภี (แม่ของเม้ยเผื่อน) คาดว่าหลังแต่งงานแล้วเม้ยสารภีได้ย้ายมาอยู่ในหมู่บ้านของนายลิที่สมุทรสาคร

 


เม้ยเผื่อน ในงานรำผีมอญ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร พ.ศ. 2550


ปัจจุบันยังมีผู้ใช้นามสกุล กรังพาณิชย์ จำนวนหนึ่งย้ายครอบครัวขึ้นไปอยู่สมทบกับเครือญาติทางเม้ยสารภีที่โพธาราม จังหวัดราชบุรี


เส้นทางอพยพของตาเม้ยเผื่อนจากบางด้วน เพชรบูรณ์ ล่องเรือมาตามแม่น้ำป่าสัก ลัดเลาะเข้าคลองซอยจนถึงแม่น้ำแควใหญ่ กาญจนบุรี เข้าแม่น้ำแม่กลอง ผ่านราชบุรี กระทั่งถึงสมุทรสงคราม เข้าคลองสุนัขหอนที่เชื่อมแม่น้ำแม่กลอง สมุทรสงคราม กับแม่น้ำท่าจีนที่สมุทรสาคร จนไปตั้งบ้านเรือนอยู่ย่านวัดน่วมกานนท์ดังที่กล่าวแล้ว แม้ดูซับซ้อนเป็นไปได้ยากยิ่ง ต่างจากคนมอญครอบครัวอื่นที่มักมุ่งอพยพไปยังจุดที่ทางการไทยกำหนดหรือแหล่งที่มีเครือญาติอาศัยอยู่แล้วก่อนหน้า ความจริงข้อนี้อาจไม่สามารถบอกได้ว่าจริงเท็จเพียงใด เหตุเพราะเป็นแต่เรื่องเล่าจากความทรงจำของเม้ยเผื่อนเท่านั้น ยังต้องรอการพิสูจน์ด้วยการย้อนรอยสำรวจเส้นทางและเครือญาติที่ตกหล่นหลงเหลือ แต่เรื่องเล่าดังกล่าวนี้ ได้สะท้อนเรื่องราวของคนไทยเชื้อสายมอญครอบครัวหนึ่งที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนและมีการโยงใยทางระบบเครือญาติที่แตกสาขากว้างไกล แม้ระยะเวลาที่ผ่านมาจะไม่เคยได้รับการจดบันทึกเรื่องราวอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ทว่ายังคงชัดเจนในความทรงจำที่บ่งบอกรากเหง้าซึ่งได้รับการบอกเล่าจากรู่นสู่รุ่น แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล่าของของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง

 

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์