Skip to main content

องค์ บรรจุน

หลายปีก่อนผู้เขียนเคยนั่งตากลม น้ำลายบูด หันซ้ายทีขวาที อยู่กลางวงสนทนาของผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมานุษยวิทยา ในวงนั้นมี รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม อยู่ด้วย ท่านพูดถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในเมืองไทยไว้ประมาณว่า สังคมไทยหลอมรวมมาจากผู้คนและวัฒนธรรมของคนหลายกลุ่ม ความเป็นไทยแท้นั้นจึงเป็นเรื่องโกหก โดยเฉพาะคนไทยที่ไม่มีสายเลือดอื่นเจือปนนั้นไม่มีจริงในโลก ในวันนั้นผมได้ยินคำอาจารย์ศรีศักรชัดถ้อยชัดคำเต็มสองหูว่า


"ที่ไหนมีคนไทยแท้ช่วยมาบอกที จะเหมารถไปถ่ายรูปคู่เก็บไว้เป็นที่ระลึก และจะกราบตีนงามๆ สักที อยากเห็นจริงๆ..."

อาจเป็นไปได้ที่ว่าชาวบ้านหนองขาวนี้เป็นคนไทยแท้ ที่ไม่มีการผสมกลมกลืนทางสายเลือดกับคนชาติพันธุ์อื่น แม้ชุมชนแห่งนี้จะอยู่บนเส้นทางเดินทัพแต่โบราณระหว่างด่านเจดีย์สามองค์และกรุงศรีอยุธยา ไม่ว่าพม่าจะยกเข้าโจมตีไทย หรือไทยจะยกไปโจมตีกลับ หากในอดีตไม่มีทหารและเชลยศึกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตกค้าง ไม่มีการเดินทางไปมาของพ่อค้าวานิช นักบวช รวมทั้งชาวบ้านตามแนวชายแดน คนบ้านหนองขาวก็คงจะยังธำรงความเป็นชาติพันธุ์บริสุทธ์เอาไว้ได้ แต่การที่ไม่เคยมีหลักฐานและเรื่องเล่าว่าบรรพชนเป็นใครมาจากไหน จึงต้องอนุโลมว่าชาวบ้านหนองขาวเป็นชาติพันธุ์ไทย แต่กระนั้นคนไทยแท้บ้านหนองขาวก็คงได้รับวัฒนธรรมของคนต่างอื่นๆ มาไว้ในวิถีชีวิตไม่น้อย เช่น ภาษา พุทธศาสนา ความเชื่อ การแต่งกาย และอาหารการกิน ซึ่งมาจากคนมอญ จีน อินเดีย พม่า ไทใหญ่ ไทยวน และลาว ดังที่ปรากฏให้เห็นในวิถีชีวิตทุกวันนี้


สภาพบ้านเรือนชุมชนบ้านหนองขาว

ความเป็นมาของบ้านหนองขาวนั้น มีเรื่องเล่าย้อนหลังไปถึงรัชกาลพระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์องค์สุดท้ายในแผ่นดินอยุธยา เมื่อพม่ายกกองทัพเข้าโจมตีจนต้องเสียกรุงศรีอยุทธยาเป็นครั้งที่ ๒ ขุนนางนักปราชย์ราชบัณฑิตช่างศิลป์ไพร่บ้านพลเมืองถูกกวาดต้อนไปพม่าจำนวนมาก ในส่วนของชาวบ้านท้องถิ่นเขตเมืองกาญจนบุรีที่อยู่รายทางผ่านกองทัพพม่าต่างกระจัดกระจาย หลบหนีภัยข้าศึกหลบซ่อนอยู่ตามป่าเขา ขณะที่ข้าศึกเดินทัพผ่านมานั้น ชาวบ้านดงรัง และ บ้านดอนกระเดื่อง (ปัจจุบันทั้งสองหมู่บ้านได้รวมเป็นบ้านหนองขาว) รวมกำลังเข้าต่อสู้กับข้าศึก แต่ไม่สามารถต้านกำลังทัพพม่าได้ วัดวาอารามและบ้านเรือนถูกเผาผลาญทำลาย ดังปรากฏ คูรบ เป็นหลักฐานให้เห็นร่อยรอยการสู้รบในครั้งนั้น ชาวบ้านเรียกบริเวณดังกล่าวว่า ทุ่งคู มาจนถึงในราวปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ต่อมาชาวบ้านได้ขยายพื้นที่ทำนาเข้าไปครอบคลุมพื้นที่แนวคูรบ ปัจจุบันบริเวณคูรบดังกล่าวถูกไถแปรเป็นนาข้าวไปหมดแล้ว ส่วนทางทิศใต้ของบ้านหนองขาวปัจจุบัน เดิมเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านดงรังยังคงปรากฏซากปรักหักพังของเจดีย์ พระอุโบสถ พระพุทธรูป และแนวกำแพงแก้วใบเสมา ปัจจุบันได้รับการบูรณะเป็นวัดขึ้นใหม่ชื่อว่า วัดใหญ่ดงรัง (วัดส้มใหญ่)

ภายหลังเมื่อบ้านเมืองกลับเข้าสู่ความสงบสุขแล้ว ราษฎรทั้ง ๒ หมู่บ้าน ที่ออกจากการซ่อนตัวและเล็ดลอดจากการถูกกวาดต้อน ได้รวมกันตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่ใกล้กับหนองน้ำใหญ่ เรียกกันว่า หนองหญ้าดอกขาว เนื่องจากมีหญ้าออกดอกสีขาวปกคลุมทั่วบริเวณหนองน้ำ ซึ่งชื่อหนองน้ำได้กลายเป็นชื่อของหมู่บ้านด้วย ต่อมาการเรียกกร่อนลงเหลือเพียง บ้านหนองขาว ทุกวันนี้ร่องรอยของหนองน้ำยังคงปรากฏอยู่ในหมู่ที่ ๓ หรือหนองคอกวัว แม้หนองจะถูกกลบถูกถมและกลายเป็นที่ตั้งบ้านเรือน แต่ก็ยังมีสภาพที่เป็นหนองน้ำอยู่ เพราะเมื่อทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง ก็จะปรากฏว่ามักมีน้ำเอ่อขังขึ้นมาอยู่เสมอ

บ้านหนองขาวเป็นหมู่บ้านใหญ่ ประชากรหนาแน่น จนมีคำกล่าวกันว่า "หมู่บ้านใหญ่ไก่บินไม่ตก" จึงมีสถานที่ราชการเข้าไปตั้งหลายแห่ง ได้แก่ สถานีอนามัย สถานีตำรวจ และโรงเรียนประถมขนาดใหญ่ มีถนนหลวงสายสุพรรณบุรี-กาญจนบุรีตัดผ่าน เป็นเส้นทางสัญจรที่สำคัญ ราชการได้จัดแบ่งการปกครองออกเป็น ๓ ตำบล คือ ตำบลบ้านกล้วย ตำบลบ้านดอนประดู่ และตำบลบ้านกรอกโพธิ์ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกครั้ง โดยได้จัดตั้งบ้านหนองขาวขึ้นเป็นตำบลหนองขาว ประกอบด้วย ๑๒ หมู่บ้าน แบ่งเป็นการปกครองในเขตเทศบาล และปกครองโดยองค์การบริหารส่วนตำบล มีวัดเก่าแก่ประจำชุมชนคือ วัดอินทาราม ต่อมาได้บูรณะวัดร้างขึ้นอีกแห่งคือ วัดใหญ่ดงรัง (วัดส้มใหญ่) วัดที่สร้างขึ้นใหม่บริเวณปลายแดนตำบลหนองขาว คือ วัดโมกมันขันธาราม และ สำนักสงฆ์เขาสามเงา

บ้านหนองขาวเริ่มเป็นที่รู้จักของบุคคลภายนอกทั่วไปเมื่อราว ๑๐ ปีที่แล้ว เมื่อคนต่างถิ่นเดินทางผ่านมาและพบเห็นเข้ากับขบวนแห่นาคของชาวบ้านที่ยิ่งใหญ่ยาวสุดลูกหูลูกตา นาคแต่งกายแปลกตาตามแบบวัฒนธรรมบ้านหนองขาว ชาวบ้านในขบวนต่างสวมใส่เสื้อผ้าหลากสี ซึ่งขบวนลักษณะนี้ยังรวมไปถึงงานโกนจุก ที่ชาวบ้านพร้อมใจกันจัดงานพร้อมเพรียงกัน แต่งกายลูกหลานที่เข้าพิธีอย่างสวยงาม และงานสงกรานต์ที่มีขบวนแห่เป็นเกวียนเทียมวัวนับ ๒๐ เล่ม สิ่งเหล่านี้เองได้นำมาซึ่งคณะทัวร์เข้าเยี่ยมชม และการเกิดขึ้นของโฮมสเตย์ การรวมกลุ่มทอผ้า (ผ้าขาวม้าร้อยสี) เพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวเป็นที่ระลึก การจัดงานแสดงแสงสีเสียงและละครเพลง "ไอ้บุญทองบ้านหนองขาว" ละครเพลงที่ถ่ายทอดเรื่องราวทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวบ้านหนองขาว จากบทประพันธ์ของอดีตผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เขต ๑ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวหมู่บ้านวัฒนธรรมบ้านหนองขาว เริ่มแสดงครั้งแรกในวันสงกรานต์เมื่อปี ๒๕๔๑ บนลานหน้าวัดอินทาราม ต่อมาในปี ๒๕๔๓ จึงมีการจัดสร้างบ้านเรือนไทย ๒ ชั้น บนลานหน้าวัด โรงละครกลางแจ้งแห่งนี้ ได้ชื่อว่า "บ้านไอ้บุญทอง" และการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน จำลองบรรยากาศครัวไทย การหุงต้มแบบโบราณ ห้องนอน เปลเด็ก และภาพถ่ายเก่าในอดีตของบ้านหนองขาว



ผ้าขาวม้าร้อยสี หัตถกรรมผ้าทอขึ้นชื่อ


งานเทศกาลสงกรานต์แบบดั้งเดิมและกิจกรรมสร้างสีสัน (นิทรรศการแสงสีเสียง) เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจอย่างเข้มแข็งของคนหนองขาวโดยมีหน่วยงานราชการระดับท้องถิ่นให้ความสนับสนุนอย่างที่ไม่พยายามลากจูง

สองสามเดือนก่อน ต่อเนื่องมาจนถึงงานสงกรานต์เมื่อ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๒ ที่ผ่านมามีโอกาสไปเที่ยวและวนเวียนเก็บข้อมูลที่บ้านหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ชาวบ้านดั้งเดิมที่นี่ยืนยันว่าตนเป็นคนไทยแท้ รวมทั้งผู้เขียนยังรู้อีกว่า ก่อนหน้านี้อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ในนามมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธ์ ได้เคยมาร่วมกิจกรรมจัดทำพิพิธภัณฑ์ชุมชนให้บ้านหนองขาวด้วย และได้รับการบอกเล่าความเป็นไทยแท้อย่างที่ผู้เขียนได้ฟังมาแล้ว จึงทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ได้มีการถ่ายรูปคู่และกราบกันไปแล้วหรือยัง...?

"คนบ้านหนองขาวอยู่กันมาที่นี่แต่โบราณ สมัยปู่ย่าตายาย สมัยอยุธยาโน่นแหละ ไม่ได้อพยพมาจากไหน เป็นคนไทยแท้ ไม่มีเชื้อสายอื่นปนเลย ลาวไม่มี จีนก็ไม่มี คนจีนก็มีแต่ที่เข้ามาทีหลัง ดั้งเดิมมีแต่คนไทยแท้... เราเชื่อว่าสำเนียงพูดใกล้กับคนใต้มากกว่า แต่นักวิชาการเขาบอกกันว่าไม่น่าจะมีปน บางคนเขาก็บอกว่าคงจะมีเชื้อมอญ เพราะสำเนียงพูดเหน่อแปลกๆ และความเชื่อเรื่องหม้อยาย (ผีบรรพชน)..."

ชาวบ้านช่วยกันประดับเกวียนเพื่อร่วมแห่ในงานสงกรานต์ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2552


ตติยา นักเวช บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนเทศบาลตำบลหนองขาว เล่าให้ผู้เขียนฟัง ซึ่งสอดคล้องกับคำบอกเล่าของพระครูถาวรกาญจนนิมิต (จีระศักดิ์ แซ่อึ้ง - ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น อึ้งตระกูล) เจ้าอาวาสวัดอินทารามรูปปัจจุบัน ที่กล่าวว่ามีนักวิชาการและบุคคลภายนอกสอบถามกันมากว่าชาวบ้านหนองขาวมีเชื้อชาติอะไร ท่านตอบในทำนองเดียวกันว่า เป็นคนพื้นถิ่นบ้านหนองขาวแต่โบราณ แต่วิถีชีวิตและวัฒนธรรมนั้นอาจเป็นวัฒนธรรมมอญ เช่น การแต่งกายนาคก่อนบวช ความเชื่อเรื่อง "หม้อยาย" ซึ่งเป็นความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผีบรรพชน แต่เนื่องจากไม่หลงเหลือภาษาพูด โบราณวัตถุโบราณสถาน และเรื่องเล่าของปู่ย่าตายายที่เกี่ยวกับมอญจึงไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน


ถึงวันนี้ ไม่ว่าคนบ้านหนองขาวจะมีเชื้อสายหรือชาติพันธุ์ใดก็คงไม่ใช่สิ่งสำคัญนัก เพราะหลักใหญ่ใจความนั้นอยู่ที่ว่าคนบ้านหนองขาวเลือกที่จะเป็นและอยู่ต่อไปอย่างไร โดยไม่ทิ้งรากเหง้าของตน รวมทั้งไม่ชูวัฒนธรรมตนจนกดทับให้วัฒนธรรมของคนกลุ่มอื่นด้อยค่า ชุมชนกึ่งชนบทกึ่งเมืองของบ้านหนองขาวอย่างที่เห็นนี้ หากเทียบกับชุมชนรอบข้างที่กำลังเคลื่อนตัวเองเข้าสู่ความทันสมัยก็อาจมองว่าบ้านหนองขาวหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่ขณะเดียวกันชาวบ้านหนองขาวต่างก็มีเหตุปัจจัยให้ต้องออกสู่สังคมภายนอกมากขึ้น ได้พบเห็นสิ่งต่างๆ แต่เลือกรับเพียงบางสิ่งบางอย่างเข้าสู่ชุมชน การดำเนินชีวิตอย่างมีสมดุลย์ระหว่างสังคมโลกาภิวัตน์กับรูปแบบชีวิตดั้งเดิมเช่นนี้ น่าจะเกิดจากความรู้สึกภูมิใจและหวงแหนในมรดกทางวัฒนธรรมของตน ทุกวันนี้ปฏิทินของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้บรรจุกิจกรรมทางวัฒนธรรมของคนบ้านหนองขาวเข้าไว้ด้วยแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่ต้องจับตามองก็คือ ความอ่อนโยนโดยธรรมชาติที่เป็นความโดดเด่นของคนบ้านหนองขาว ชนิดที่คนทั่วไปสัมผัสได้อย่างไม่น่าเชื่อในวันนี้ หวังว่าการท่องเที่ยวจะไม่ทำให้ความอ่อนโยนของคนบ้านหนองขาวจางหายไป

 

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์