Skip to main content
 

องค์ บรรจุน

 

๗ กรกฏาคม ที่ผ่านมาเป็นวันอาสาฬหบูชา รุ่งขึ้นก็เป็นวันเข้าพรรษา วันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เมื่อมีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน ผู้คนจึงออกต่างจังหวัดกันมาก ถนนช่วงนั้นจึงโล่งอย่างเทศกาลใหญ่ๆ ทุกครั้ง เปิดทีวีมีแต่ข่าวขบวนแห่เทียนเข้าพรรษากันทัวประเทศ ยิ่งใหญ่เท่าไหร่ แปลกเท่าไหร่ยิ่งดี บางจังหวัดไม่เคยจัดก็สู้อุตส่าห์ซื้อช่างแกะเทียนค่าตัวแพงลิบมาจากอุบลราชธานี กลายเป็นว่าทุกวันนี้คนทำเทียนเข้าพรรษาเพื่อขายการท่องเที่ยว ไม่ได้ถวายให้พระใช้งานจริง


ขณะนั้นเวลา ๑๐.๓๐ น. ผมนั่งอยู่โคนต้นอโศกอินเดียภายในวัดชนะสงคราม ความคลุกคลีกับวัดวามานานจึงพาลห่างวัด ไม่ได้คิดจะไปทำบุญทำทานอย่างชาวบ้านเขา นั่งดูชาวพุทธทุกเพศทุกวัยอุ้มลูกจูงหลานเข้าวัด เท่าที่ดูด้วยตาเปล่าประกอบกับพาหนะที่โดยสารมาส่วนใหญ่จะเป็นคนฐานะปานกลางไปจนถึงมีอันจะกินทั้งนั้น นับเป็นที่น่าปลาบปลื้มใจ พุทธศาสนาคงยืนยาวถึง ๕,๐๐๐ ปี ตามพุทธทำนาย

\\/--break--\>

ลานอโศกตรงที่ผมนั่งอยู่นั้นเป็นสี่แยกทางเดินสำหรับคนและรถยนต์ ที่ใช้เดินรถทางเดียว อยู่ตรงเกือบกึ่งกลางของวัด รถยนต์จำนวนมากที่แออัดอยู่เต็มลาดจอดและถนนทุกแยก เป็นภาพสะท้อนว่าน้ำมันราคาถูก คนพอมีพอกินและคนมีอันจะกินมาทำบุญกันมาก รถเก๋งคนละคัน รถตู้บางคันมีแค่ ๓-๔ คน นับไม่ถ้วนว่ามีรถทั้งหมดเท่าไหร่ พื้นที่วัดไม่พอสำหรับรถทั้งหมด ส่งผลให้รถภายในวัดติดอย่างหนัก ส่วนพระอุโบสถ สถานที่ใช้ในการทำบุญมีสาธุชนนั่งเบียดเสียดกันแทบต้องขี่คอ


ญาติโยมคงไม่ได้มีศรัทธาอย่างนี้กับทุกวัด การที่วัดชนะสงครามเกิดปรากฏการณ์อย่างนี้ขึ้น (และเกิดมานานแล้ว) คงเนื่องจากวัดชนะสงครามมีชื่ออยู่ในบรรดา ๙ วัด ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่มาไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล ด้วยความเชื่อว่า "วัดชนะสงคราม" มีชื่อเป็นมงคล ต่างจาก "วัดสังเวช" ที่อยู่ไม่ห่างกัน


ไม่กี่พรรษามานี้พุทธศาสนิกชนผู้มีปัญญา ชี้แนะสังคมให้ใช้วิจารณญาณ เลิกถวายเทียนพรรษา เพราะวัดทั้งหลายมีไฟฟ้าสำหรับพระเณรท่องบ่นตำรากันแล้ว ผู้คนคล้อยตามพากันถวายหลอดไฟ (เช่นเดียวกับเมื่อราว ๑๐ ปีที่แล้ว เมื่อมีผู้ตายแล้วฟื้นรายหนึ่ง อ้างว่าช่วงที่เดินอยู่ในนรกไม่มีน้ำกิน เพราะตอนยังมีชีวิตไม่เคยทำบุญตักบาตรน้ำเปล่า หลังจากนั้นผู้คนทั่วบ้านทั่วเมืองจึงตักบาตรพระสงฆ์ด้วยน้ำเปล่า บางคนใส่ถุงเล็กๆ นั้นพอทน บางคนใส่น้ำโพลาริสขวดขาวขุ่น ๒ ขวดเต็มบาตรพอดี ช่วงนั้นพระสงฆ์องค์เจ้าแบกน้ำเปล่ากลับวัดกันหลังแอ่น แต่ไม่ค่อยมีข้าวฉัน) เมื่อก่อนในหมู่บ้านผมที่ต่างจังหวัด วัดหนึ่งๆ ในแต่ละปีจะมีคนถวายเทียนพรรษากันอย่างมาก ๒-๓ ต้น ตามฐานะ ญาติพี่น้องทั้งตระกูลรวมเงินกัน แต่ในกรุงเทพฯคนมีฐานะถวายกันคนละต้น แต่นั่นยังนับว่าดี เพราะเทียนที่เหลือจากการใช้ทางความหมาย (ไม่ใช่ทางประโยชน์ใช้สอย) มีพ่อค้ามาขอซื้อถึงวัดนำกลับไปหลอมใหม่


ขณะที่หลอดไฟนีออนหลอดหนึ่งใช้กันนานจนลืม ปีนี้หลวงพี่ที่ผมเคารพได้รับประเคนหลอดไฟทั้งหลอดผอม ๒๐ วัตต์ ๔๐ วัตต์ และหลอดตะเกียบ ขนาดสามารถเปลี่ยนแทนหลอดไฟเก่าทั้งกุฏิได้ ๓ รอบ ซึ่งจริงๆ แล้วท่านก็ไม่รู้จะเอาไปให้ใคร เพราะเขาก็มีกันแล้วทั้งนั้น (ต่างจากโยมบางคนเจตนาบรรเจิด นำหลอดไฟไปถวายวัดต่างจังหวัดห่างไกล แต่ลืมดูว่าวัดยังไม่มีไฟฟ้าใช้) เมื่อนั่งพลิกดูหลอดไฟสังฆทานของหลวงพี่ยี่ห้อหนึ่ง มีรายชื่อวัด ๙ วัด นัยว่าจะให้ซื้อทีเดียว ๙ ชุด แล้วไปถวายทั้ง ๙ วัด สะดุดตาตรงที่ระบุว่า "วัดชนะสงคราม ถนนพระอาทิตย์" แสดงว่าคนทำข้อมูลต้องไม่เคยไปวัดชนะสงครามอย่างแน่นอน


กลับมาที่สี่แยกใกล้ลานอโศก รถยนต์ส่วนตัวเนืองแน่นเต็มลานและถนน ประกอบกับ รถของคนมีฐานะบางคันขับรถสวนทาง ไม่เคารพกติกาขับรถทางเดียว ถนนแคบรถหลีกกันไม่ได้ รถหลายคันรีบไปตักตวงกลัวบุญจะหมด รถบางคันได้บุญมาแล้วเกรงจะตกหล่นหายไป บีบแตรไล่รถคันหน้าสนั่นวัด บางคนลงจากรถเดินไปต่อว่ารถที่ย้อนศร ต่างระบายอารมณ์ใส่กัน คงต่างหลงลืมกันไปแล้วว่ามาวัดเพื่ออะไร


หรือต่างก็มาวัดเพื่อถวายหลอดไฟ อย่างโฆษณาในทีวี

 

พุทธพญากรณ์ ๑๖ ประการ ของพระพุทธเจ้าเมื่อสมัยพุทธกาล พระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งแคว้นโกศล ได้ทรงสุบินนิมิตประหลาดถึง ๑๖ ประการ ทรงเกรงว่าอันตรายจะเกิดกับพระองค์ จึงให้พราหมณ์ปุโรหิตทำนาย พราหมณ์ได้พยากรณ์ว่า อันตรายจะเกิดมีแก่พระชนม์ชีพของพระองค์ พระอัครมเหสีและราชสมบัติ และได้ทูลแนะนำให้ฆ่าสัตว์บูชายัญสะเดาะเคราะห์ตามความเชื่อในลัทธิของตน แต่โชคดีที่พระนางมัลลิกาเทวี พระมเหสี ได้แนะนำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลไปทูลถามพระพุทธเจ้าก่อน พระองค์ทรงทำนายว่า ผลของพระสุบินนิมิตจะไม่เกิดแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล แต่จะเกิดขึ้นในอนาคตกาล ถ้าผู้เป็นใหญ่ปกครองบริหารบ้านเมือง ไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม ชนทั้งหลายย่อหย่อนในศีลธรรม จิตใจเสื่อมคลายจากกุศล ก็จะเกิดเหตุวิปริตผิดธรรมชาติ บ้านเมืองจะเดือดร้อน แล้วทรงพยากรณ์พระสุบินนิมิตไว้เป็นข้อๆ ในที่นี้จะขอยกมาเฉพาะข้อที่ ๘ ซึ่งดูจะเข้ากับสถานการณ์ที่สุด


ข้อ ๘ ภาพสุบินนิมิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล คือ "ตุ่มน้ำเต็มเปี่ยมลูกใหญ่ใบหนึ่งตั้งอยู่ที่ประตูเมืองล้อมด้วยตุ่มเป็นอันมาก ชนทุกชั้นเอาหม้อตักน้ำมาจากทุกทิศ เทใส่ลงในตุ่มที่เต็มแล้ว น้ำก็ไหลล้นออกไป คนทั้งหลายก็ยังเทน้ำลงในตุ่มที่เต็มแล้วอยู่เรื่อยๆ ไม่มีใครสนใจในตุ่มที่ว่างเปล่าเลย" สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า


"ในอนาคตกาล โลกจะเสื่อม เมืองเล็กเมืองน้อยจะหมดความหมาย ทรัพย์สำรองของแผ่นดินจะถดถอยมีเหลือเพียงเล็กน้อย ผู้เป็นใหญ่ปกครองบริหารบ้านเมืองจะเกณฑ์ให้ชาวเมืองแสวงหาทรัพย์มาส่งให้กับผู้ปกครองเมืองใหญ่ๆ จนไม่มีใครสามารถที่จะสำรองทรัพย์ไว้ในบ้านเรือนของตน เป็นเหมือนกับการเติมน้ำใส่ตุ่มที่เต็มแล้ว ไม่เหลียวแลตุ่มเปล่าๆ บ้างเลยฉะนั้น"

 

 

 

ธรรมะบนลานอโศกที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้นึกถึงวัดต่างจังหวัดห่างไกล ไม่นับรวมถึงโรงเรียนด้อยโอกาสทุรกันดาร คนไข้อนาถาในโรงพยาบาล มีให้สร้างบุญสร้างกุศลได้อีกมาก อย่ายื้อแย่งกันทำบุญที่วัดชนะสงครามเลย มาทำบุญที่วัดชนะสงครามแล้ว ใช่ว่าทุกคนจะสอบติดมหาวิทยาลัย ได้รับการเลือกตั้ง ชนะคดีความ หรือสมหวังกลับไปทุกคนเสียเมื่อไหร่ ดูอย่างกกต.ชุดก่อนนั่นเป็นตัวอย่าง มาไหว้พระทำพิธีที่วัดชนะสงครามตอนเย็น รุ่งขึ้นเข้าคุก

 

 

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์