Skip to main content

แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย เป็นการยืนยันถึงความเลื่อมใสศรัทธาอันเป็นเอกลักษณ์ทางพุทธศาสนาของชนชาติมอญแต่โบราณ

หลายคนอาจได้ยินเรื่องการ
สยายผมลงเช็ดพระบาท จากเพลงของ จรัล มโนเพชร ในบทเพลงที่ชื่อ มะเมี๊ยะ สาวมอญเมืองมะละแหม่ง ในตอนที่มะเมี๊ยะจะต้องอำลาจากเจ้าน้อยศุขเกษม รัชทายาทเจ้าเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้น เพื่อกลับบ้านเมืองของตนภายหลังผิดหวังในรักเพราะผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าน้อยปฏิเสธอย่างรุนแรง มะเมี๊ยะสยายผมลงเช็ดบาทเจ้าน้อยเพื่อแสดงความอาลัยรักและเคารพอย่างสูงสุด เนื้อร้องเพลงที่ว่านั้นคือ

...โอ๊ โอ้ ก็เมื่อวันนั้น วันที่ต้องส่งคืนบ้านนาง เจ้าชายก็จั๊ดขบวนจ๊าง ไปส่งนางคืนทั้งน้ำต๋า มะเมี๊ยะตรอมใจ๋ อาลัยขื่นขม ถวายบังคมทูลลา สยายผมลงเจ๊ดบาทบาทา ขอลาไปก่อนแล้วจ๊าดนี้


ประเพณี สยายผมลงเจ๊ดบาทบาทา ที่กล่าวถึงในเพลงของจรัล มโนเพชร เป็นประเพณีโบราณ ดังปรากฏหลักฐานเป็นภาพสลักนูนต่ำอยู่บนใบเสมาสมัยทวารวดี ซึ่งใบเสมานั้นมีความสำคัญต่อพุทธสถานอย่างยิ่ง การที่จะเรียกว่าเป็นวัดได้นั้น จะต้องมีหลักกำหนดเขตชัดเจนสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และหลักสำหรับปักเพื่อแบ่งเขตนี้มีชื่อเรียกว่าใบเสมา เป็นเขตกำหนดความพร้อมเพรียงของสงฆ์ หรือเขตชุมนุมของสงฆ์ หรือเขตที่สงฆ์ตกลงไว้สำหรับภิกษุทั้งหลายที่อยู่ภายในเขตนั้นจะต้องทำสังฆกรรมร่วมกัน


ใบเสมาสลักภาพนูนต่ำเล่าเรื่องพระนางพิมพาสยายผม รองพระบาทพระพุทธเจ้า


ใบเสมามีประวัติความเป็นมายาวนาน ในประเทศไทยสามารถสืบย้อนไปไกลถึงยุคสมัยแรกเริ่มของประวัติศาสตร์ นั่นคือ อารยธรรมทวารวดี อันเป็นที่ทราบกันแล้วว่าอารยธรรมทวารวดีเป็นอารยธรรมเก่าแก่ของมอญ มีศูนย์กลางความเจิญอยู่บริเวณภาคกลางของไทยในปัจจุบัน และเป็นอารยธรรมที่นับถือพระพุทธศาสนาไปพร้อมๆ กับศาสนาพราหมณ์ แต่ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองมากกว่า ดังปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น ศิลาจารึกและงานศิลปกรรมต่างๆ ส่วนในบริเวณภาคอีสานของไทย ก็พบร่องรอยอารยธรรมทวารวดีที่เผยแพร่มาจากภาคกลาง รวมทั้งใบเสมารูปพระนางพิมพาก็ค้นพบในเขตภาคอีสานเช่นกัน


ด้วยความที่ใบเสมาขนาดใหญ่ จึงนิยมสลักภาพเล่าเรื่องบนใบเสมาขึ้น เป็นความสวยงามที่บอกเล่าเรื่องราวในพุทธศาสนาแทนการอ่านที่จำกัดอยู่ในกลุ่มคนชั้นสูงเท่านั้น เรื่องราวที่นิยมสร้างขึ้นนั้น มักเป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ ชาดก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีภาพสถูปหรือหม้อปูรณฆฏะ อันเป็นอิทธิพลทางคติความเชื่อเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของอินเดีย


สำหรับภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ ส่วนมากเป็นตอนที่พระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรมโปรดเหล่าบุคคล ภาพสลักบนใบเสมาที่เชื่อว่ามีความงดงามและสำคัญอย่างที่สุดชิ้นหนึ่งนั้น คือ ภาพตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาจากกรุงกบิลพัสดุ์ พบที่เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดขอนแก่น เป็นภาพขณะพระนางพิมพาสยายผมรองรับพระบาทของพระพุทธเจ้า ซึ่งถือว่าเป็นท่าแสดงความเคารพอย่างสูงสุด การแสดงความเคารพในลักษณะเช่นนี้ โดยมากพบในศิลปะมอญและพม่า สะท้อนแนวความคิดทางพุทธศาสนาในแบบมอญที่แพร่ขยายความนิยมทางศิลปะสู่ดินแดนใกล้เคียง


บันทึกในหน้าประวัติศาตร์ไทยอย่างน้อย ๒ ครั้ง ที่สาวมอญได้ถวายสักการะอย่างสูงสุดต่อสมาชิกในราชวงศ์ของไทย ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เส็จพระราชดำเนินยกช่อฟ้าพระอุโบสถวัดคงคาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี สาวมอญได้หมอบรอรับเสด็จสองข้างทางตั้งแต่ประตูรถพระที่นั่งจอดเทียบไปจนถึงปะรำพิธี โดยปลดมวยผมสยายลงถวายสักการะให้แด่สมเด็จพระเทพฯได้เสด็จพระราชดำเนินผ่าน ครั้งที่สอง ชาวมอญตั้งใจปฏิบัติถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมาในงาน ไทยรามัญเทิดพระเกียรติพระมิ่งมณีจักรีวงศ์ ณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี เมื่อ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๗ แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้จัดงานเสนอปรับเปลี่ยนให้สาวมอญเพียงแต่ปลดผ้าสไบจากไหล่ปูลาดรองพระบาทให้พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินแทน

 


สาวมอญสยายผม รองพระบาทสมเด็จพระเทพฯ วัดคงคาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี พ.ศ. ๒๕๒๐

ประเพณีสยายผมรองพระบาทหรือเช็ดพระบาทของมอญนั้นมีมาช้านานแล้ว ชาวมอญถือเป็นการถวายความเคารพอย่างยิ่ง ด้วยการนำสิ่งสูงสุดของร่างกายตนที่ถือเป็น ศรี แด่เจ้าของกายสยายลาดปูให้สมณสงฆ์ กษัตริย์ ตลอดจนราชวงศ์เหยียบย่าง แม้สถาบันกษัตริย์ราชวงศ์ของมอญจะไม่ปรากฏอยู่แล้วในวันนี้ แต่ชาวมอญในเมืองไทยยังคงปฏิบัติบูชากับราชวงศ์ไทยสืบมาไม่เสื่อมคลาย
 


สาวมอญปลดสไบ จากไหล่รองพระบาทสมเด็จพระเทพฯ ณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี
พ.ศ. ๒๕๔๗

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
ภาสกร  อินทุมาร เหตุการณ์ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงบทความเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่มหาชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มาจากประเทศพม่า กล่าวว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้ามายึดครองพื้นที่ รวมทั้งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ห้ามมิให้แรงงานเหล่านี้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติสิ่งที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซึ่งอ้างว่า “รักชาติ” แต่เป็นการรักชาติแบบ “มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์” และได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อความรู้สึกนึกคิดของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัย…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด (นัด)ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีวันสำคัญวันหนึ่งของคนมอญไม่ว่าจะอยู่ไหนทั้งในประเทศไทย พม่า และต่างประเทศก็จะรวมตัวร่วมใจในการจัดงานสำคัญนี้ นั่นก็คือ “วันชาติมอญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้  วันชาติมอญก็จะเวียนมาบรรจบครบรอบเป็นครั้งที่ ๖๑ ถึงแม้ว่าวันชาติมอญถือกำเนิดเกิดขึ้นในกลุ่มคนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ก็ตาม จะด้วยเป้าหมายทางการเมือง หรือ อุดมการณ์ชาตินิยมมอญ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วันชาติมอญ” ได้สะท้อนความรู้สึกและสำนึกถึงรากเหง้าและจุดกำเนิด  ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนเชื้อชาติอื่น ภาษาอื่นที่พึงจะพูดถึงที่ไปที่มาของตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้น “วันชาติมอญ”…