Skip to main content

บทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง 'ดาวคะนอง'

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

หลังจากที่ผมได้รับคำเชิญชวนจากมิตรสหายบางท่านให้ไปชมภาพยนตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ ๖ ตุลา เรื่อง 'ดาวคะนอง' ท่ามกลางเสียงโปรโมตในลักษณะที่ว่า 'ต้องดูสักครั้งก่อนตาย / เสียดายคนตายไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้' (ทราบเสียงร่ำลือจากมิตรสหายบางท่าน) ผมจึงตกลงใจไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ที่โรงภาพยนตร์ลิโด้ รอบเย็น ค่าตั๋ว ๑๒๐ บาท

ก่อนที่จะมีการฉายมหรสพ ก็ได้มีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีขึ้น ขณะนั้นผมนึกกระหยิ่มใจว่า "มันช่าง 'ย้อนแย้ง' เสียจริง สำหรับบรรยากาศก่อนการชมหนัง ๖ ตุลา"

เมื่อหนังเริ่มฉาย... เวลาประมาณ ๑๘.๔๕ น.

จนกระทั่งหนังจบลง เวลาประมาณ ๒๐.๓๐ น.

ตลอดทั้งเรื่องกินเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง ผมได้ครุ่นคิด 'สรรพเรื่องราว' ที่ปรากฏขึ้นในหนังเรื่องนี้ คงจะเป็นการไม่เคารพตนเองอย่างยิ่งหากผมจะชื่นชมหนังเรื่องนี้ ผมจึงขอแบ่งปันความคิดเห็นดังกล่าว (จะไม่กล่าวถึงทุกฉากเพราะจะใช้เวลามากเกินไปกว่าประโยชน์ที่พึงมีจากระยะเวลาที่จะต้องใช้นั้น) มีประเด็นดังจะกล่าวต่อไปนี้

๑. วิธีการนำเสนอภาพยนตร์ 'ดาวคะนอง'

หนังเรื่องนี้ใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบเบลอ ๆ นำเสนอเรื่องราวที่ไม่ปะติดปะต่อกัน การขบถต่อธรรมเนียมการเล่าเรื่องแบบเดิม เป็นวิธีการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่ง แต่การใช้วิธีการสื่อสารแบบนี้ เราไม่อาจใช้เป็นเกณฑ์วินิจฉัยคุณภาพของภาพยนตร์ได้ กล่าวคือ ภาพยนตร์อาจใช้วิธี'แปลก ๆ' (อันที่จริงวิธีการนำเสนอแบบเบลอๆ นี้ ปัจจุบันทำกันเกร่อมาก ๆ จะเรียกว่า 'แปลก' ก็ดูจะประหลาดอยู่)  นำเสนอเนื้อหาห่วย ๆ ก็ย่อมได้ ตามแต่กรณีไป ทั้งนี้ วิธีการนำเสนอแบบ 'เบลอๆ' นี้ ย่อมเปิดโอกาสให้ผู้ชมตีความได้ แต่การตีความนั้นจำต้องยึดโยงกับตัวบท มิเช่นนั้นจะเป็นการ "สร้างขึ้นใหม่" เกินไปกว่าพลังของตัวบทหนัง ตามวิสัยที่วิญญูชนสื่อสารกัน

๒. เนื้อหาของ 'ดาวคะนอง'

๒.๑  เปิดเรื่อง ภาพยนตร์เรื่องนี้ 'ผลิตซ้ำ' มายาคติเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองสมัย ๖ ตุลา ๒๕๑๙ กับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองไทยร่วมสมัยช่วง ๑๐ ปีนี้ ว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในยุค ๖ ตุลาเป็นไปเพื่ออุดมการณ์ ส่วนความขัดแย้งการเมืองในปัจจุบันเป็นไปเพราะม็อบถูกจ้างมาชุมนุม ดังนี้ สะท้อนการให้คุณค่าของเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีการสังหารโหดในเหตุการณ์ ๖ ตุลา กับเหตุการณ์สังหารโหดในเหตุการณ์ร่วมสมัย (เหตุการณ์พฤษภา ๕๓) มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ เหตุการณ์เมื่อปี ๑๙ นั้นน่าสะเทือนใจเพราะเป็นการฆ่าคนที่ต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ แต่เหตุการณ์ร่วมสมัย (พฤษภา ๕๓) เป็นการฆ่าคนโลภ ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์ทั้งสองล้วนเกิดขึ้นจาก 'ศูนย์กลางของปัญหา' เดียวกัน

๒.๒ การนำเสนอเหตุการณ์ ๖ ตุลา ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ลดทอนให้เหลือเพียงการทำร้ายนักศึกษา ความเคียดแค้นของประชาชน โดยเฉยเมยต่อบริบท ว่า อะไรก่อให้เกิด "๖ ตุลา" ขึ้น นัยหนึ่ง ด้วยความเบลอของหนัง อาจตีความได้ว่า ผู้สร้างหนังอาจจะพยายามสื่อสารว่า ในสังคมไทยเราถูกลบเลือนความทรงจำต่อเหตุการณ์ ๖ ตุลา ... ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ คนที่ไม่ทราบประวัติศาสตร์ ๖ ตุลา ก็ยังคง 'ชินชา' กับภาพซ้ำ ๆ ที่จะจัดงานรำลึกกันทุกปีเป็นพิธีกรรม  ส่วนคนที่ทราบประวัติศาสตร์อยู่แล้ว ก็คง 'ยักไหล่' แล้วไง?

๒.๓ ภาพยนตร์เรื่องนี้ นำเสนอสิ่งที่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่า ข้อเท็จจริง ๖ ตุลา นั้น ถูกพูดถึงเพียงแต่เรื่องการทำร้ายนักศึกษา (เป็นภาพนักศึกษาถูกสั่งนอนคว่ำหน้า มือไขว้หลัง) เช่นนี้ หนังเรื่องนี้ แตกต่างอะไรกับ โฆษณาชวนเชื่อที่รัฐไทยผลิตซ้ำตลอด ๗ วัน ๒๔ ชั่วโมง ? มีอะไรให้น่ายกย่องไปกว่าใบปลิวทั้งหลายที่รัฐกรอกหูประชาชนทุกวันนี้

๒.๔ ในช่วง ๑๐ ปีตั้งแต่วิกฤติการณ์เมืองไทยมานี้ คนในสังคมพูดถึงเหตุการณ์ ๖ ตุลา 'มากกกกก' มากไปจนถึง 'ใจกลางปัญหาการเมืองของสังคมไทย' แต่ขณะที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังคงนำเสนอ 'ความมึนงง' ล้าหลังไปกว่าการตื่นรู้ในสังคมไทย 

๒.๕ หนังเรื่องนี้ เทียบเหตุการณ์ที่เพื่อนร่วมงานของ Peter ทราบว่า Peter ตายด้วยอุบัติเหตุ ทุกคนก็ตกใจแป๊บนึง แล้วก็ทำงานต่อ  ดังนี้ สะท้อนว่า สภาวะเช่นนี้เป็นเรื่องปกติในระดับปัจเจก คนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ทำงานต่อไป ไหว้พระสวดมนต์ ทุกชีวิตก็ยังมีกิจกรรมให้ทำทุกวัน

จากนั้น หนังก็จบ หลายคนถือโอกาสรีบวิ่งออกจากโรงหนัง...

๒.๖ การแสดงเนื้อหาเดียวกัน ด้วยตัวละครที่แตกต่างกัน : เรื่องเดียวกัน ชุดนึงใช้ตัวแสดงเป็นชาวบ้าน ใครก็ไม่รู้ กับอีกชุดนึงใช้ตัวแสดงเป็นนักแสดงชื่อดัง  เช่นนี้ จะสื่อว่า ความน่าสนใจของเนื้อหาอยู่ที่ตัวผู้เล่าเรื่อง (ความแข็งกระด้างของน้ำเสียง ความไม่เป็นมืออาชีพ) ซึ่งเรื่องนี้เชยมาก ๆ และใช้ระยะเวลาสื่อสารประเด็นนี้ประเด็นเดียว หลายนาที เป็นการบริหารเวลากับเนื้อหาที่ไม่คุ้มค่าเสียเลย

๓. การชื่นชม 'ดาวคะนอง' ตามเทศกาลบ้านเมือง

ผมรู้สึกประหลาดใจในคำโฆษณาชวนเชื่อให้มาดูหนังเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งกังขาในบรรดานักวิจารณ์หนังทั้งหลายที่ชื่นชมหนังเรื่องนี้ [ราวกับว่า หากมิได้ชื่นชมหนังเรื่องนี้ คงเป็นบุคคลที่ 'เข้าไม่ถึงแก่นสาร' เปรียบประหนึ่ง ชาวพุทธที่มากด้วยอวิชชาจึงไม่อาจนิพพานตามธรรมะของตถาคตได้  หรือเป็นบุคคลที่ไม่รู้จักวิธีการนำเสนอแบบเบลอๆ] กล่าวอย่างตรงไปตรงมา เมื่อได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ คนที่ไม่รู้เรื่อง ๖ ตุลาอยู่แล้ว ก็ยังคงไม่รู้ ไม่อยากสนใจต่อไป เพียงถลำตัวเข้ามาชมหนังเรื่องนี้ ยังเข็ดขนาดนี้ หากไปศึกษาข้อเท็จจริง มิยิ่งสยองหรอกหรือ อีกนัยหนึ่ง บรรดาหนังผู้ใหญ่ (เรท ๑๘+) ที่มีเนื้อหาเบลอ ๆ ไม่ปะติดปะต่อกัน ยังสื่อสารกับคนดูและบริหารเวลาได้ดีกว่า 'ดาวคะนอง'

๔. ทำไมต้อง 'ดาวคะนอง' ?

ผมขอใช้วิธิวิทยาเลียนแบบนักวิเคราะห์หนังสายมโนว่า 'ดาวคะนอง' ไม่ใช่ชื่อถนน ที่ปรากฏในหนังแต่อย่างใด หากแต่วิเคราะห์ศัพท์ตามนิรุกติศาสตร์ วงศาวิทยา สารพัดสรรพศาสตร์แล้ว ได้ความว่า

'ดาว' หมายถึง คอมมิวนิสต์ หรืออุดมการณ์แบบซ้าย
'คะนอง' หมายถึง ความฮึกเหิมกระหยิ่มใจ ความทรนง

ผมช่วยมโนให้ว่า เป็นความหมายของชื่อหนัง เผื่อจะได้เอาไปใช้เป็นมุขอวยกันต่อไป

หลังดู 'ดาวคะนอง' จบ ผมได้แต่ไต่ถามติดตลกกับมิตรสหายที่ชวนผมไปดูหนังวันนี้ว่า "ได้เคยก่อเรื่องบาดหมางแคลงใจไว้กับเพื่อนที่แนะนำให้มาดูหนังเรื่องนี้หรือเปล่าครับ ?"

#เสียเงิน #เสียเวลาดูหนัง แล้วก็ยัง #เสียเวลาวิจารณ์อีก 

ดูหนังเรื่องนี้ ได้ประโยชน์อยู่อย่างหนึ่งคือ ได้ตระหนักว่า "เวลาเป็นของมีค่า"  และ การชื่นชมหนังกลวง ๆ เนื้อหาแย่ ๆ เพื่อยกระดับว่าตนเองทรงภูมิปัญญา นั้น เป็นการไม่เคารพต่อตนเอง และยังร่วมสนับสนุนการผลิตซ้ำของรัฐไทยอีกด้วย

หลังจากหนังจบ ผมในฐานะผู้เสียหาย (จ่ายค่าตั๋วหนัง, สูญเสียเวลา ๒ ชั่วโมงในโรงหนัง) ได้ตระหนักว่า ผมควรจะวิพากษ์วิจารณ์หนังเรื่องนี้ และจะไม่แกล้งยุใครให้อยากดูด้วย ขอตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายว่า หนังเรื่องนี้ใช้ทรัพยากรบุคคลและสปอนเซอร์หลายรายมาก (ปรากฏรายละเอียดบนจอภาพ หลังหนังจบ) ช่างเป็นการใช้ทรัพยากรที่น่าเสียดาย

waste of money คำนี้ผมเคยใช้กับหนังสือในไวมาร์เยอรมันไปแล้วครั้งหนึ่ง (หากสนใจไวมาร์จริง ให้อ่านหนังสือสัญชัยจะถูกต้องแม่นยำกว่าครับ จะไม่ลอยๆมึนๆ ไม่รวบรัดตัดเหตุการณ์ สลับเหตุการณ์ก่อนหลัง/อันที่จริงไม่ควรนำหนังสือของสัญชัย สุวังบุตร มาเทียบด้วยซ้ำไป) --- ขอใช้คำนี้อีกครั้งสำหรับหนังเรื่องนี้ ทั้งในแง่สปอนเซอร์ และในแง่ผู้ชม.

จบ

บล็อกของ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
กระบวนการสร้างมโนทัศน์ต่อความผิดฐานหมิ่นกษัตริย์ ว่าด้วยเหตุยกเว้นความผิดพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล๑. ข้อพิจารณาเบื้องต้น
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ปัญหาบางประการเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของ(ร่าง)หลักเกณฑ์การประมูลดิจิตอลทีวี : กรณีให้เปิดเผยผู้ถือหุ้นตั้งแต่ลำดับที่ ๓ ขึ้นไปและทุกทอดตลอดสายนายพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
วิพากษ์สุรพล นิติไกรพจน์ (ภาค ๒)๑ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล คำอภิปรายในงานรำลึกครูกฎหมาย (อาจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม) โดย สุรพล นิติไกรพจน์ วันนี้๒  ถ้าอย่างในคัมภีร์ก็คงได้เพียงอุทาน "โมฆะบุรุษหนอ" หรือแปลเป็นภาษาลูกทุ่ง ก็คือ "อ้ายชิบหาย" ครับ
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ข้อน่าพิจารณาบางประการ : กรณีศาลฎีกายกฟ้อง"คดีถาวร เสนเนียม ฟ้องอดีต กกต."(๒๕๔๙) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล มูลเหตุของคดีนี้เริ่มต้นเพื่อ "สนับสนุนให้รัฐประหาร ๑๙ ก.ย.๒๕๔๙" (เพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง โจมตีการเลือกตั้ง) และเป็นชนวนในการสร้างสุญญากาศทางการเมือง  คดีนี้เริ่มต้น จะเห็นภาพพจน์ "ชัดแจ้งยิ่งขึ้น" เมื่อพิจารณาลำดับเหตุการณ์ก่อนพิเคราะห์รายละเอียดที่สำคัญของคดี เราจะเห็นได้ว่า "เหตุการณ์ ๒๕๔๙" นั้นเกิดขึ้นเป็นลูกระนาดเลย คร่าว ๆ ดังนี้[๑]
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ถึงสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล : เรื่องบันทึกการขออภัยโทษคดีสวรรคต พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
จอมพล ป. ในตำแหน่ง"ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และนายกรัฐมนตรี"โดยการทำรัฐประหาร พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
โต้บวรศักดิ์ อุวรรณโณ : การนิรโทษกรรมของคณะราษฎร (๒๖ มิ.ย.๒๔๗๕) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
อุปสรรคในการร่าง"ประมวลกฎหมายแบบตะวันตก"ฉบับแรกของสยาม พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
การใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญครั้งแรกของไทยเมื่อ ๒๔๗๖ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ชวนอ่าน "เรื่องเล่า" โดย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ (๒๕๑๑) หมายเหตุ : บังเอิญผมได้อ่าน ข้อเขียนของ "ราชินี" (ดังที่จะคัดให้อ่านด้านล่าง) ในคราวเสด็จเยือนประเทศออสเตรเลียกับในหลวง พบว่าน่าสนใจ จึงคัดมาให้ท่านทั้งหลายได้อ่านกัน - ข้อความด้านล่างนี้เป็นข้อเขียนของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ -------------------------------------------------------
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
บริบทของพระราชดำรัสสดวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘(อนุญาตให้วิจารณ์กษัตริย์?) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล หลายท่านที่คัดค้านการบังคับใช้ "ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๑๑๒" มักอ้างอิง (โดยขาดบริบท) พระราชดำรัส ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ ซึ่งในโอกาสนั้น "ในหลวง" ตรัสเกี่ยวกับ (ทรง)อนุญาตให้ประชาชนวิจารณ์พระองค์ได้ ขอให้สังเกตพระราชดำรัสดังกล่าวในความว่า :
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ดีเบตกรณีสวรรคต ร.๘ ระหว่าง จิตติ ติงศภัทิย์ vs หยุด แสงอุทัย พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๔๔/๒๔๙๗ (คดีสวรรคต ร.๘) กรณีนายเฉลียว จำเลย นั้น ศาลฟังข้อเท็จจริงว่า "ได้ช่วยปกปิดไม่เอาความนั้นไปร้องเรียนขึ้นจนมีเหตุบังเกิดการประทุษร้ายแด่พระองค์"