ประวิตร โรจนพฤกษ์: ปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยุติวัฏจักรรัฐประหาร

23 February, 2016 - 06:21 -- pravit

การรับร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหารรังแต่จะเป็นการสนับสนุนให้มีการก่อรัฐประหารปล้นอำนาจประชาชนซ้ำๆจนชั่วลูกชั่วหลาน วันที่ 31 กรกฎา ผมจะเป็นหนึ่งเสียงในการพยายามยุติวัฐจักรอุบาทว์ปล้นอำนาจประชาชนผ่านรัฐประหารโดยการโหวตโน


การให้นิ้วกลางแก่ร่างรัฐธรรมนูญที่สปอนเซอร์โดยเผด็จการทหาร คสช. กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายไปแล้วหรือ? หลังจากผู้เขียนถ่ายรูปตนเองให้นิ้วกลางแก่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่สปอนเซอร์โดยเผด็จการทหาร พร้อมอีกสองเวอร์ชั่นซึ่งรวมถึงรูปผู้เขียนยกนิ้วโป้งโอเคให้กับร่างฯเพื่อให้ผู้อ่านในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ตัดสินเอาเองว่าชอบแบบไหน ตัวแทนฝ่ายขาย คสช. คนเดิมก็ได้โทรมาบอกว่าเจ้านายไม่พอใจ สี่วันถัดมา (19 กุมภา 2559) ก็มาการกดดันองค์กรที่ผมทำงานผ่านนักข่าวสายทหารโดยมีพลเอกสองคนเรียกนักข่าวสายทหารของ นสพ.ข่าวสด ชื่อเอก ไปพบ (ฝากขออภัยคุณเอกมา ณ.ที่นี้ด้วย และฝากบอก คสช.ด้วยว่ามีอะไรก็มาหาผมโดยตรงได้เลย กรุณาอย่าทำให้ผู้ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ต้องเอือมไปด้วย)

แต่สิ่งเหล่านี้ รวมถึงการที่เผด็จการทหารขังผมโดยปราศจากข้อหาใดๆไปสองรอบรวม 10 วันตั้งแต่ก่อรัฐประหาร มิใช่เหตุผลที่ผมจำต้องปฎิเสธร่างรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการทหาร ผมจะไม่รอคุณมีชัยคลอดร่างสองก่อน และขอประกาศในวันนี้เลยว่าผมจะไปโหวต NO ให้กับร่างในวันลงประชามติเดือนกรกฎาคม

 

"ผู้เขียนขอเอารูปออกทั้งหมด
ซึ่งรวมถึงรูปที่ผู้เขียนชูนิ้วกลางใส่ร่างรัฐธรรมนูญ
เพื่อเป็นการประนีประนอมหลังมีการขอมา
จากทาง คสช. ผ่านผู้บริหารข่าวสด"

 

สาเหตุที่ผมปฏิเสธนั้นไม่จำเป็นต้องดูเนื้อหา 270 มาตราในร่างแรกหรือรอร่างสุดท้ายด้วย แต่นั่นมิใช่ว่าผมปฎิเสธเพราะผมเกลียดคุณ ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือกรรมาธิการร่างที่ พลเอก ประยุทธ์ เลือกและแต่งตั้งมากับมือ เพราะจะว่าไปแล้ว ผมก็รู้จักมักคุ้นกับสองโฆษกกรรมาธิการร่างฯ คนแรก ดร. อมร วาณิชวิวัฒน์ นั้น รู้จักมากว่า 15 ปีแล้วตอนติดอยู่ในมหาลัยแห่งเดียวกันที่อังกฤษในฐานะนักศึกษาไทยไม่กี่คนที่ออกซ์ฟอร์ด ส่วนอีกคน นรชิต สิงหเสนีย์ ผู้เป็นอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งยุคเผด็จการ คสช. ผู้เขียนเรียกว่า ‘อานรชิต’ ด้วยความรักและเคารพตั้งแต่ผู้เขียนอายุ 13 เพราะคุณอาแกเคยทำงานใต้การบังคับบัญชาของพ่อผู้เขียน ณ.สถานเอกอัครราชทูตไทย ในกรุงมะนิลา และเราก็เล่นบาสด้วยกันอาทิตย์ละสองสามครั้งเป็นเวลาหลายปีที่ทำเนียบทูต

ผมรู้สึกเจ็บปวดที่สองคนที่ผมรู้จักมานานกลับไปรับใช้เผด็จการทหาร แต่ก็เคารพสิทธิในการตัดสินใจของทั้งสองและมันก็ไม่เกี่ยวกับเหตุผลที่ผมต้องปฎิเสธร่างฯที่มีทั้งคนรู้จักและอาที่เคารพร่วมร่าง ทั้งนี้เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคำถามว่าเราอยากเห็นร่างรัฐธรรมนูญแบบไหนคือคำถามที่ว่าเราอยากจะอยู่ในสังคมไทยแบบใด เราอยากจะอยู่ในสังคมแบบที่มีทหารก่อรัฐประหารฉีกรัฐธรมนูญเป็นระยะๆแล้วก็แต่งตั้งคนมาร่างรัฐธรรมนูญและบอกให้เราตัดสินโดยดูแต่เนื้อหาเช่นนั้นหรือ?

ผมคนหนึ่งละที่ขอบาย

ผมไม่ใช่หมาที่จะวิ่งไล่เก็บกิ่งไม้ที่เผด็จการทหารโยนไปให้งับเก็บซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่ตระหนักว่าเล่นเกมส์วนไปวนซ้ำๆแบบนี้เพื่ออะไร

ผมไม่ใช่หมาวิ่งเก็บกิ่งไม้เพราะผมตระหนักว่า:

ประการแรก กระบวนการร่างทั้งหมดภายใต้เผด็จการทหาร คสช. ขาดความชอบธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับ ‘ถาวร’ ฉบับใหม่จำเป็นก็เพียงเพราะ คสช. ก่อรัฐประหารปี 57 ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ ‘รับไปก่อนค่อยแก้ทีหลัง’ ปี 50

แม้เทียบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการทหาร คมช.ปี 2550 ก็จะเห็นว่าตอนนั้นประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างยังสามารถรณรงค์ในที่สาธารณะได้ในระดับหนึ่งโดยใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ที่มีการริเริ่มโดยนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ต่างจากบรรยากาศภายใต้ คสช.ที่เร็วๆนี้มีการห้ามมิให้จัดถกที่นิด้า และที่โรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญและดูเหมือนไม่มีแนวโน้มว่าฝ่ายต้านรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ คสช. (ที่มักหลงเรียกกันไปว่าฉบับมีชัย) จะมีเสรีภาพในการชุมนุมแสดงออกบนถนนและในที่สาธารณะ

ปัญหา ประการที่สอง กระบวนการร่างไม่มีความมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง 21 อรหันต์ที่เป็นชายเกือบทั้งหมดได้รับการแต่งตั้งโดยเผด็จการ คสช.โดยปราศจากฉันทามติจากประชาชน

ประการที่สาม ซึ่งสำคัญยิ่ง การไปโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการทหารเท่ากับเป็นการส่งสัญญานให้ท้ายผู้ที่อยากก่อรัฐประหารในอนาคตว่าทำได้ ว่าประชาชนยอมรับวัฐจักร รัฐประหาร-ฉีกรัฐธรรมนูญ-และร่างรัฐธรรมนูญใหม่-เลือกตั้ง-และรัฐประหารได้อีก

บรรดานายพลที่คิดจะยึดอำนาจประชาชนจะย่ามใจหากเรายอมรับรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหารและเผด็จการทหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะหากมีการโหวตรับ พวกเขาก็จะคิดได้ว่าพวกเขาสามารถก่อรัฐประหารได้อีก เพราะประชาชนจะรอตัดสินร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยดูแต่เพียงเนื้อหา ดูแต่เนื้อหาโดยไม่สนใจบริบท มิต่างจากหมาที่วิ่งไล่เก็บกิ่งไม้ที่ถูกโยนโดยมิเคยถามตนเองว่าวิ่งวนๆซ้ำๆไปทำไม

มันสำคัญมากที่จะเราต้องมองบริบทหรือภาพรวมในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหาร เราไม่ควรไปติดยึดอยู่กับมาตราโน้นมาตรานี้ หากควรพิจารณาเหมือนเลือกซื้อรถมือสองโดยตรวจสอบว่ารถนี้ไปปล้นโขมยมาจากไหนหรือไม่เพื่อไม่เอื้อให้เกิดการปล้นโขมยอีก

การรับร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหารรังแต่จะเป็นการสนับสนุนให้มีการก่อรัฐประหารปล้นอำนาจประชาชนซ้ำๆจนชั่วลูกชั่วหลาน

วันที่ 31 กรกฎา ผมจะเป็นหนึ่งเสียงในการพยายามยุติวัฐจักรอุบาทว์ปล้นอำนาจประชาชนผ่านรัฐประหารโดยการโหวตโน

พอกันทีกับการส่งเสริมให้มีการปล้นอำนาจประชาชนอย่างซ้ำซาก

 

ปล. บทความนี้ถอดความปรับปรุงจากคอลัมน์ประจำวันเสาร์ของผู้เขียน (Pravit Rojanaphruk) ในข่าวสดอิงลิช (KhaosodEnglish.com) ลงวันที่ 20 กุมภา 2559 ภายใต้ชื่อ Reject the Draft Charter to Break the Cycle of Coups

 

 

ประวิตร โรจนพฤกษ์: จากประเทศไทยสู่ประเทศเผด็จการทหาร – แต่เรายังคงยืนหยัดขัดขืน

7 April, 2016 - 14:33 -- pravit

 

ลึกๆในจิตใต้สำนึกของบรรดาผู้นำเผด็จการทหาร พวกเขาคงตระหนักว่าเขาปราศจากความชอบธรรมใดๆ พวกเขาจึงออกอาการวิตกจริตและปราบปรามการขัดขืนทุกรูปแบบ ไม่ว่าในโลกเสมือนจริงของอินเทอร์เน็ตหรือในโลกแห่งความเป็นจริงประจำวัน

ประวิตร โรจนพฤกษ์: ปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยุติวัฏจักรรัฐประหาร

23 February, 2016 - 06:21 -- pravit

การรับร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหารรังแต่จะเป็นการสนับสนุนให้มีการก่อรัฐประหารปล้นอำนาจประชาชนซ้ำๆจนชั่วลูกชั่วหลาน วันที่ 31 กรกฎา ผมจะเป็นหนึ่งเสียงในการพยายามยุติวัฐจักรอุบาทว์ปล้นอำนาจประชาชนผ่านรัฐประหารโดยการโหวตโน